วันหมดอายุของนักคิด

วันหมดอายุของนักคิด

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

“มึง ความแก่มันน่ากลัวนะ” นักเขียนรุ่นพี่คนหนึ่งเคยบอกผมไว้อย่างนั้น

“ทำไม” ผมถาม

“พอมึงอายุเข้าสี่สิบ มึงก็จะเริ่มรู้สึกตัวว่าสมองช้า คิดอะไรไม่ได้กระจ่างเหมือนแต่ก่อน ความจำก็จะเริ่มไม่ค่อยดี พูดง่ายๆ คือรู้สึกตัวเลยว่าโง่ลง”

ความโง่ที่รู้สึกตัวก็ยังดี ผมคิด ที่น่ากลัวคือการโง่ลงโดยที่ไม่รู้ตัวต่างหาก หากไม่สามารถเทียบได้ว่าตนตอนนี้โง่กว่าตนตอนที่แล้ว ไม่สามารถเทียบได้ว่าตนโง่เมื่อเทียบกับโลกที่เคลื่อนที่ไป เมื่อเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร เปลือกที่สั่งสมมาในแต่ละช่วงชีวิตที่เคยให้ความอบอุ่นและความปลอดภัยกลับกลายเป็นคุกที่ขัง และกั้นขวางเรากับการผจญภัยครั้งใหม่ นั่นแหละคือความน่ากลัว และผมก็กลัวมันจับใจ

 

เมื่อเรามองความสงบเรียบร้อยและความไม่เปลี่ยนแปลงว่าเป็นความมั่นคง มันเป็นความมั่นคงจอมปลอมหรือเปล่า?

 

วันนี้ผมอายุสามสิบห้าปี ผ่านช่วงเวลาอกหักมาหลายครั้ง ทั้งในเชิงความรักและเชิงความคิด เชิงความรักคงไม่ต้องพูดถึง แต่เชิงความคิดสิ – ในวัยยี่สิบ ผมเคยนับถือคนมากมายเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา พวกเขามอบประตูสมอง ฉายภาพฉากที่ผมไม่เคยได้เห็นให้ได้รู้

ไม่แน่ใจว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายที่ผมมีโอกาสได้เข้าใกล้บุคคลอันเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาขึ้นเรื่อยๆ จนได้เห็นว่าบ้างพวกเขาก็คล้ายกับดวงจันทร์ – มองดูไกลๆ สวยสว่างและชวนให้เคลิ้มฝัน มองใกล้ๆ – เต็มไปด้วยหลุมบ่อผุพัง อาจเป็นความผุพังที่สั่งสมจากประสบการณ์ หรือความผุพังที่สั่งสมจากตัวตน และบ้างพวกเขาก็คล้ายกับตึกสูงที่ผู้รับเหมาแอบกินค่าต๋งมากเกินไป เมื่อเวลาผ่านไปจึงทรุด จึงทลายลงมา

ยิ่งพวกเขาคิดด้วยเสียงดังเท่าเดิมในโลกโซเชียล ยิ่งคล้ายกับเป็นการเร่งให้ตึกนั้นผุพังเร็วขึ้น ใช่ ต้องหมายเหตุไว้ตัวโตๆ หน่อยว่า นี่เป็นการสังเกตการณ์ของผม ผมคนเดียวเท่านั้น ความจริงแล้วพวกเขาอาจเป็นตึกสูงตระหง่านคงกระพันเท่าเดิมก็ได้หากมองจากจุดสังเกตการณ์อื่น แต่การสังเกตส่วนตัวครั้งนี้ก็ชวนให้ผมฉงนสงสัย อะไรคือสาเหตุของวันหมดอายุของนักคิดสาธารณะ และเราจะยืดเวลาหมดอายุ – อย่างน้อย – ของตัวเราเองได้ไหม

ตัวอย่างในประเทศมีให้เห็นชัดเจน คุณก็อาจผ่านตาบทความของเขา และหากคุณผ่านตา ผมก็แทบไม่ต้องเอ่ยปากว่าเขาคือใคร – นักเขียนที่มีฝีไม้ลายมือชัดเจนและเคยถูกนับถือว่าเป็นนักเขียนหัวก้าวหน้าลำดับต้นๆ ของประเทศ – แต่ยิ่งเวลาเดินหน้า กลับคล้ายว่าเขาถอยหลัง

การถอยหลังนี้อาจเป็นการถอยหลังอย่างสัมพัทธ์ก็ได้ เขาอาจยืนอยู่นิ่งๆ ตรงนั้นมานานแล้ว แต่เมื่อสังคมเคลื่อนไป จึงคล้ายกับว่าเขาหลุดไปจากกรอบปัจจุบัน วิธีการที่เขาเคยฉาบและตกแต่งเค้กไว้สวยงามอาจใช้ไม่ได้แล้วในวันนี้ คนมีความสามารถในการเห็นมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลชุดที่แตกต่างมากขึ้น เข้าถึงวิธีการที่สร้างสรรค์มากขึ้น ความคิดของเขาจึงไม่แปลก ไม่ใหม่ ไม่แนว ไม่ฮิป ไม่อินเทรนด์ และไม่สัจจริงโดยเปรียบเทียบอีกแล้ว

บทความ “ทำไมนักคิดสาธารณะจึงอายุสั้น” ในบล็อก The Scholar’s Stage พูดถึงปรากฏการณ์นี้ โดยยกตัวอย่างนักเขียนชื่อดังอย่าง Thomas Friedman ผู้เขียนหนังสือ The World Is Flat (ใครว่าโลกกลม – นี่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่ผมอ่านเป็นเล่มแรก) หนังสือเล่มนี้โด่งดังเป็นพลุแตก – มันเปิดโลกคนอ่านนับไม่ถ้วน

แต่ปัจจุบัน “ฟรีด์แมนกลับกลายเป็นตัวตลกให้คนได้หัวร่อ เขายังดำรงตำแหน่งที่ New York Times อยู่ แต่นั่นก็เป็นผลจากความเฉื่อย [สิ่งใดดำรงอยู่ สิ่งนั้นจะดำรงต่อไป] เท่านั้น”

“ผลงานของฟรีด์แมนกลับกลายเป็นการพูดเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า คอลัมน์ของเขาคล้ายกับอาหารเก่าที่เอามาอุ่นใหม่ เป็นผลผลิตจากความคิดที่เกิดขึ้นหลายทศวรรษที่แล้ว เราไม่อาจพบความสำคัญใดได้ในหนังสือเล่มใหม่ๆ ของเขาได้อีก เขายังขายหนังสือพอได้ ยังหาเลี้ยงชีพจากยอดขายนี้ได้ แต่คุณคงไม่พบใครที่อายุต่ำกว่า 50 ที่ยังอ่านหนังสือของเขาอยู่”​ (ผมอ่านหนังสือเล่มล่าสุดของฟรีด์แมนอย่าง Thank you for being late และพบว่าสายธารนี้แห้งเหือดแล้วจริง)

“ความคิดของเขาไม่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครอีก”

แต่อะไรล่ะคือเหตุผล?

ผู้เขียนบทความเสนอสมมติฐานสองข้อ ข้อหนึ่งเป็นสมมติฐานทางจิตวิทยา อีกข้อทางสังคม

สมมติฐานทางจิตวิทยานั้นโหดร้าย – กล่าวว่าปรากฏการณ์ความคิดสร้างสรรค์หดหายนั้น เป็นเรื่องปกติเมื่อก้าวเข้าสู่บันไดท้ายๆ ในช่วงชีวิต เป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์นี้มีเบื้องหลังเป็นการสูญเสียเซลล์สมอง นักประสาทวิทยาประเมินว่าผู้ใหญ่จะเสียเซลล์สมองถึง 150,000 ต่อวัน นั่นทำให้ยิ่งแก่ตัวลง ความคิดก็ยิ่งหดตาม

นี่เป็นสมมติฐานที่สะท้อนคำเตือนของนักเขียนรุ่นพี่ของผมด้วย เมื่อพิจารณาจากมุมที่กว้างขึ้น สมมติฐานนี้ก็ยังสะท้อนแนวคิดว่า “วงการวิทยาศาสตร์รุดหน้าขึ้นทุกงานศพ” กล่าวคือ เมื่อนักคิดสูงวัยเสียชีวิต แนวคิดของพวกเขาที่เคยเป็นดังปราการกั้นขวางไม่ให้นักคิดรุ่นเยาว์ก้าวไปสู่พรมแดนใหม่ๆ (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามแต่) ก็จะเสียชีวิตตามไปด้วย และนั่นก็เป็นดังคำอนุญาตให้เราในแต่ละรุ่นเดินหน้าไปได้ในแต่ละก้าว

สมมติฐานทางสังคมพูดถึงตำแหน่งแห่งที่อันเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงวัยของนักคิด เมื่อนักคิดไปรเวตกลายเป็นนักคิดสาธารณะ ความคิดของเขาถูกยอมรับในวงกว้าง นั่นย่อมเลื่อนเขาขึ้นตามลำดับขั้นทางสังคมไปด้วย ตัวอย่างเช่น ฟรีด์แมนผู้ริเริ่มก้าวแรกบนสายอาชีพด้วยการเป็นนักข่าวในสนามรบ ประสบการณ์กอบและปั้นเขาขึ้นมาให้เขาเป็นเขาอย่างทุกวันนี้

แต่ปัจจุบัน เขาได้รับการนับหน้าถือตา และใช้ชีวิตอยู่ในห้องประชุมในฐานะที่ปรึกษา “ฟรีด์แมนในศตวรรษที่ 20 ใช้ชีวิตในสนามรบ ฟรีด์แมนในศตวรรษที่ 21 ใช้ชีวิตอยู่บนเวทีสัมมนา คำถามคือ เราจะหวังให้เขาเรียนรู้อะไรใหม่ได้เล่า และคำถามที่สำคัญกว่านั้นก็คือ แล้วเขามี ‘แรงจูงใจ’ ให้เรียนรู้อะไรใหม่อีกไหม”

บทความนี้ลงท้ายด้วยข้อสรุปที่ไม่ชื่นชูใจนัก ผู้เขียนบอกว่า พวกเราทั้งหลายควรทำความเข้าใจว่าเราต่างแข่งขันกับเวลากันทั้งนั้น เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา เราจึงควรค้นพบว่าเราต้องการช่วยแก้ปัญหาอะไรในโลกตั้งแต่ยังเยาว์ และใช้ช่วงวัยสามสิบแก้ปัญหานั้น “ช่วงอายุห้าสิบหกสิบเป็นช่วงที่คุณควรใช้เพื่อสอน ตัดสิน จัดการ เป็นผู้นำ และมอบปัญญา วัยรุ่นและวัยยี่สิบเป็นช่วงเวลาที่คุณควรฝึกฝนเพิ่มพูนทักษะ และตัดสินใจว่าปัญหาที่สำคัญควรค่าแก่การแก้คืออะไร และวัยสามสิบคือวัยที่ควรใช้เพื่อแก้ปัญหานั้น”

คุณเห็นด้วยกับบทความนี้ไหม?

ผมนึกค้านด้วยสมอง (ข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ The Formula วิทยาศาสตร์แห่งความสำเร็จของ Albert-László Barabási ผุดขึ้นมา –  เขาบอกว่าวัยไม่ใช่ปัจจัยของความสำเร็จ ตราบใดที่เรายังพยายามด้วยความถี่ที่เท่าเดิม ที่ดูเหมือนว่าความสำเร็จระดับ breakthrough เป็นเรื่องของคนหนุ่มสาว เป็นเพราะเมื่อแก่ตัวลงเราพยายามน้อยครั้งลงต่างหาก) แต่ถึงอย่างนั้น ใจผมก็ออกไปในทางยอมรับ

คนเราตายสองครั้ง ตายครั้งแรกเมื่อหมดลมหายใจ และตายครั้งที่สองเมื่อไม่มีใครจดจำ

สำหรับผม การตายที่น่ากลัวที่สุด คือการตายโดยไม่รู้ตัว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save