fbpx
The Brexit Election : เกมพนันพลิกแผ่นดินของเด็กอีตัน

The Brexit Election : เกมพนันพลิกแผ่นดินของเด็กอีตัน

สมชัย สุวรรณบรรณ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคมนี้ ประชาชนสหราชอาณาจักรทั่วประเทศจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อกำหนดอนาคตครั้งสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลต่อเอกภาพของสี่ชนชาติที่รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้สหราชอาณาจักร (United Kingdom) ได้แก่ อังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ และเผลอไผลอาจจะลามไปถึงยิบรอลตา แผ่นดินอังกฤษที่ติดกับสเปนด้วย

มีเรื่องน่าเป็นห่วงว่า การยุบสภาแบบสุ่มเสี่ยงของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แล้วนำประเด็น Brexit มาเป็นหัวใจของการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปโดยใช้สโลแกน Get Brexit Done ในทุกครั้งที่เอ่ยปาก อาจนำไปสู่เสียงเรียกร้องขอแยกตัวเป็นเอกราชของสองแคว้นใหญ่คือ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ส่วนเวลส์ซึ่งแนบแน่นกับอังกฤษมายาวนาน ก็เริ่มมีริ้วรอยของกลุ่มชาตินิยมเกิดขึ้น

เค้าลางของความยุ่งเหยิงเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อบอริส จอห์นสัน เร่งรัดให้ยุบสภาและจัดเลือกตั้งก่อนวาระ โดยกำหนดวันเลือกตั้งใกล้เทศกาลศริสต์มาส นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบร้อยปีที่กำหนดจัดเลือกตั้งทั่วไปในฤดูหนาว ซึ่งถือว่าผิดประเพณีทางการเมือง เพราะตามธรรมเนียมแล้ว การเลือกตั้งมักจะจัดขึ้นในฤดูร้อน เว้นแต่ว่ามีวิกฤตร้ายแรงจริงๆ เท่านั้น นอกจากนี้ การยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ยังถูกเปรียบว่าเป็นการเล่นเกมการพนันที่เดิมพันสูงมาก เพราะ Brexit เป็นประเด็นที่สร้างความร้าวฉานในประเทศ ถึงขั้นแบ่งแยกแบ่งฝ่ายกล่าวหากันด้วยโวหารเผ็ดร้อนแบบ hate speech จนถึงขนาดมีข่าวมือมืดขู่เอาชีวิตนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเลยด้วยซ้ำ

การแบ่งขั้วทางการเมืองในกรณี Brexit เห็นได้ชัดเจนจากการรณรงค์ประชามติ Brexit Referendum เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 ที่ฝ่ายขอถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ Leaver ได้เสียงข้างมาก 51.89% หรือประมาณ 17.4 ล้านคน ส่วนฝ่ายที่ต้องการคงอยู่กับสหภาพยุโรป หรือ Remain ได้เสียง 48.11% หรือประมาณ 15.1 ล้านคน โดยมีผู้ใช้สิทธิทั้งสิ้น 72.21% แต่หลังจากการทำประชามติ การแบ่งขั้วยิ่งรุนแรงมากขึ้น โดยฝ่ายที่แพ้โหวตพบว่า ฝ่ายตรงข้ามใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จหลอกลวงให้ประชาชนเข้าใจผิด รวมทั้งมีการใช้งบประมาณในการรณรงค์เกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้เป็นชัยชนะสีเทา

 

ไอร์แลนด์และสก็อตแลนด์ : เดิมพันทางการเมืองของ Brexit

 

การถกเถียงในสังคมการเมืองสหราชอาณาจักรยิ่งร้อนแรงขึ้นไปอีก เมื่อพบความผิดปกติมากขึ้นในช่วงเวลาการเจรจาทำข้อตกลงถอนตัวจากสหภาพยุโรป หรือ Withdrawal Deal ซึ่งกำหนดระยะเวลาให้เจรจาเสร็จภายในสองปี ปัญหาใหญ่คือ เมื่อมีข้อมูลการเจรจาต่อรองต่างๆ เปิดเผยกันออกมาเป็นระยะ สังคมกลับพบว่า การเจรจาส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีการถกแถลงถึงข้อดี-ข้อเสียต่อสาธารณะระหว่างการรณรงค์ประชามติเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีพรมแดนระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และแคว้นไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นดินแดนในอธิปไตยของสหราชอาณาจักร

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพราะเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตย บูรณภาพทางดินแดน และอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนลึก โยงใยถึงประวัติศาสตร์และความเจ็บแค้นที่เกิดจากการเสียชีวิตเลือดเนื้อของชาวไอริชพื้นเมืองที่ต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักร ตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ของศตวรรษที่ 20 ไอร์แลนด์และอังกฤษมีความขัดแย้งกันมาโดยตลอด เนื่องจากไอร์แลนด์ถูกแบ่งแยกดินแดนส่วนเหนือหกจังหวัดให้เป็นดินแดนของเจ้าอาณานิคมตั้งแต่ปี 1922 และหลายสิบปีหลังจากนั้น มีการต่อสู้ในลักษณะก่อการร้ายจากกลุ่มรักชาติติดอาวุธไอริชที่เรียกว่า IRA ทำให้ทั้งอังกฤษและไอร์แลนด์ต่างต้องสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ จนกระทั่งมีการทำข้อตกลงสงบศึกที่เรียกว่า Good Friday Agreement มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคม 1999 ทำให้สันติภาพคืนกลับมา

ข้อตกลงนี้ทำให้สองแผ่นดิน คือสาธารณรัฐไอร์แลนด์กับไอร์แลนด์เหนือ กลมเกลียวและกลมกลืนเหมือนไม่มีเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างกัน เพราะต่างก็เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยกัน อยู่ภายใต้ข้อบังคับเรื่องการไหลเวียนเสรีของประชากรและสินค้าและบริการแบบเดียวกัน จึงไม่มีด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือด่านศุลกากร เปรียบเหมือนอยู่ในประเทศเดียวกัน การเรียกร้องดินแดนก็หมดความจำเป็น ผลพลอยได้ของข้อตกลงสันติภาพดังกล่าว หรือ Peace Dividend ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเจริญมั่งคั่งขึ้น ประชาชนที่เคยแร้นแค้นกลับมามีมาตรฐานการครองชีพดีขึ้นตามลำดับ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผลการลงประชามติ Brexit เมื่อปี 2016 ชาวไอร์แลนด์เหนือโหวต Remain ถึง 55.8%

บัดนี้ การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรกำลังทำให้บรรยากาศที่ไอร์แลนด์เหนือเปลี่ยนไป เพราะเมื่อสหราชอาณาจักรไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ปัญหาการตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรที่พรมแดนก็จะกลับมา ไม่มีความกลมเกลียวและกลมกลืนของผู้คนในภูมิภาคนี้อีกต่อไป แต่ทว่าประเด็นนี้ไม่เคยมีการนำมาเปิดเผยให้มีการถกแถลงกันในที่สาธารณะระหว่างการรณรงค์ประชามติเมื่อสามปีก่อน เพราะหมกมุ่นอยู่กับปัญหาคนเข้าเมือง และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมจอห์น เมเจอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเลเบอร์ ต่างออกมาคัดค้าน Brexit อย่างเปิดเผยเต็มตัว เพราะว่าทั้งสองเคยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันข้อตกลงสันติภาพ Good Friday Agreement จนสำเร็จ โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อกันอีก

ประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องด่านตรวจพรมแดนกลายเป็นหนามแหลมที่ทำให้ข้อตกลงถอนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ถูกโหวตคว่ำในสภาถึงสามครั้ง โดยบอริส จอห์นสัน ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ กับพรรคพวกในกลุ่มเอียงขวาในพรรค รวมหัวกันโหวตสวนรัฐบาลถึงสามครั้ง เพราะไม่พอใจมาตรการ Back Stop ซึ่งสหภาพยุโรปยืนยันว่าต้องใช้ ถ้าหากว่าข้อตกลงทางการค้าระยะยาวภายในสองปีต่อจากนี้ไม่สำเร็จ ทำให้ Brexit ที่ทุกคนรอคอยมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ต้องล่าช้าไป เพราะเทเรซา เมย์ ลาออก ต้องมีการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรครัฐบาลกันใหม่ ใช้เวลาเกือบสองเดือน บอริส จอห์นสัน ที่ใฝ่ผันตำแหน่งสำคัญนี้ตั้งแต่สมัยเรียนที่วิทยาลัยอีตัน ก็ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

อดีตนายกรัฐมนตรี จอห์น เมเจอร์ ถึงกับเรียกร้องผู้สนับสนุนพรรคคอนเซอร์เวทีฟให้เลือกผู้สมัครพรรคการเมืองอื่น เพื่อสกัดไม่ให้บอริส จอห์นสันได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา และสกัดนโยบายถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปทั้งแบบ with deal หรือ no deal ทั้งนี้เพราะฝ่าย remain เชื่อว่าไม่มีข้อตกลงใดๆ ที่ดีกว่าการคงอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป โดยขอให้จัดลงประชามติที่ใสสะอาดกันใหม่

ส่วนปัญหาใหญ่ที่ทำให้ฝ่าย leaver ชนะประชามติครั้งที่แล้ว ก็คือเรื่องการไหลเวียนอย่างเสรีของแรงงานในสหภาพยุโรป ทำให้ชาวอังกฤษผิวขาวที่รังเกียจคนต่างชาติเข้ามาแย่งงาน แย่งที่อยู่อาศัย พากันออกไปลงประชามติกันเป็นจำนวนมาก ส่วนฝ่ายสนับสนุนสหภาพยุโรปกล่าวว่าการถอนยวงออกจากสหภาพยุโรปในลักษณะนี้เปรียบเสมือนจุดไฟเผาบ้านทั้งหลัง เพื่อจับหนูตัวเดียว

ด้านสก็อตแลนด์นั้น มีความชัดเจนในเรื่องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป เพราะในการลงประชามติ Brexit นั้นชาวสก็อตเทเสียงให้คงอยู่ถึง 62% ถ้าหากสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ก็เหมือนเป็นการหักหาญใจของชาวสก็อตส่วนใหญ่ ดังนั้นในการหาเสียงเลือกตั้งคราวนี้ พรรคพื้นเมืองชาวสก็อต หรือ Scottish National Party (SNP) ซึ่งเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาปกครองแคว้น และมี ส.ส.ประจำที่สภาเวสมินสเตอร์ถึง 35 เสียง มากเป็นอันดับสาม จึงประกาศนโยบายหาเสียงว่าจะขอให้มีการจัดประชามติแยกสก็อตแลนด์ออกเป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่ง ถ้าแยกตัวสำเร็จจะสมัครกลับเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยเร็วที่สุด

ในการลงประชามติขอแยกประเทศของชาวสก็อตเมื่อปี 2014 ในสมัยรัฐบาล เดวิด คาเมรอน ฝ่ายที่ไม่ต้องการแยกตัวได้คะแนนเสียงถึง 55% นับเป็นชัยชนะที่งดงามของคาเมรอนที่สามารถรักษาเอกภาพของสหราชอาณาจักรไว้ได้ เขาประกาศว่าประเด็นการเรียกร้องเอกราชของสก็อตแลนด์จบแล้ว หลังจากนั้นหนึ่งปี คาเมรอนก็ชนะเลือกตั้งทั่วไป ได้เก้าอี้ 330 ที่นั่งจากทั้งหมด 650 ที่นั่ง นับว่าได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ไม่ต้องตั้งรัฐบาลผสมแบบเดิมอีกต่อไป

 

การเมืองของ Brexit : เดิมพันใหญ่ของเด็กอีตัน

 

ด้วยความฮึกเหิมที่ชนะประชามติสก็อตแลนด์ และชนะเลือกตั้งทั่วไปไล่ๆ กัน คาเมรอน ซึ่งเป็นศิษย์เก่าอีตันรุ่นน้องจอห์นสัน ก็เลยประกาศให้จัดลงประชามติ EU Referendum แล้วตัวเองประกาศเป็นหัวหอกรณรงค์ให้ฝ่าย Remain แต่ประสบความพ่ายแพ้จนต้องเดินออกจากทำเนียบบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ตอนนั้นมีสื่อมวลชนวิจารณ์ว่าคาเมรอนคำนวณผิดพลาดในเกมพนันสุ่มเสี่ยงทางการเมืองมากเกินไป

ส่วนหัวหอกกลุ่มรณรงค์ให้ฝ่าย Leave ได้ชัยชนะก็ไม่ใช่ใครที่ไหน บอริส จอห์นสัน ศิษย์เก่าอีตันรุ่นพี่ที่จ้องจะเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนั่นเอง แต่เกิดการหักหลังกันเองในกลุ่ม Conservative Leaders จอห์นสันขอถอนตัวในนาทีสุดท้าย ปล่อยให้เทเรซา เมย์ ชนะการคัดเลือกเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เทเรซ่า เมย์ เดินเข้าทำเนียบบ้านเลขที่ 10 เพียงปีเดียว ก็เล่นเกมพนันผิดพลาดอีก ด้วยการประกาศยุบสภาและจัดเลือกตั้งทั่วไปในปี 2017 ผลการเลือกตั้งทำให้รัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟได้คะแนนเสียงลดลงเหลือ 317 ที่นั่งในสภา กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ต้องอาศัยเสียงจากพรรค Democratic Unionist Party-DUP จากแคว้นไอร์แลนด์เหนือมาค้ำจุนรัฐบาลเวลาโหวตร่างกฎหมายสำคัญๆ เช่นกัน

เทเรซ่า เมย์ คำนวณผิดเนื่องจากหลงเชื่อการทำโพลหลายสำนักที่มีตัวเลขบ่งชี้ว่า คะแนนเสียงของพรรคคอนเซอร์เวทีฟได้รับความนิยมนำโด่ง เลยต้องรีบยุบสภา และต่อมา การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทำให้ข้อตกลง May’s Deal ไม่ผ่านสภาเวสต์มินสเตอร์ถึงสามครั้งจนต้องลาออก เนื่องจากภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟเสียงแตก โดยกลุ่มฝ่ายขวาในพรรครวมตัวกันหนุนให้บอริส จอห์นสัน ชนะการคัดเลือกเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ใฝ่ฝันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมได้สำเร็จ

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์สัน ก็ประสบปัญหาเดียวกับเทเรซ่า เมย์ เพราะพรรคตัวเองเสียงแตก เขาเองก็รู้ตัวดีว่า ไม่ว่าจะเจรจาต่อรองอย่างไรกับสหภาพยุโรปมา ข้อตกลงของตนก็ย่อมมีข้อบกพร่องที่ ส.ส. ปีกต่างๆ ของพรรคตัวเองและพรรคฝ่ายค้านจะไม่ยอมรับ จะไม่ได้เสียงข้างมากให้ผ่าน ข้อตกลง Boris’s Deal ก็ไม่มีอะไรต่างไปจาก May’s Deal เท่าไรนักในหลักการใหญ่ มีเพียงการตกแต่งภาษาให้ฟังดูดีขึ้นเท่านั้นจอห์นสันก็เลยพยายามวางกลยุทธ์ไถกลบให้ผ่านสภาให้ได้ด้วยลูกไม้ต่างๆ รวมทั้งไปขอให้สมเด็จพระราชีนีตราพระราชกฤษฎีกาหยุดพักการประชุมสภา (Proroguing Parliament) ถึงห้าสัปดาห์โดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ ส.ส. ในสภามีเวลาชำแหละข้อตกลงไล่รายมาตราแบบที่อดีตนายกรัฐมนตรีเมย์เคยโดนมาแล้ว แต่ปรากฏว่าศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าผิดรัฐธรรมนูญ เกมการเมืองในสภาก็เลยหวนกลับมาเล่นโต้ตอบกันอย่างเผ็ดร้อน ระเบิด hate speech ใส่กันในสภา ออกอากาศทางทีวีไปทั่วประเทศ

เมื่อหาทางออกไม่ได้ ก็เลยต้องเล่นเกมยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่ เพราะผลโพลหลายสำนักบ่งชี้ว่าพรรครัฐบาลมีเสียงนำถึงสองหลัก มีความหวังว่าจะได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ด้วยการตอกย้ำโวหาร Get Brexit Done แล้วก็ฟ้องประชาชนว่าคนอื่นขัดขวางการปฏิบัติตามผลประชามติเมื่อปี 2016 เอาความดีใส่ตัว เอาความชั่วใส่คนอื่น ทั้งๆ ที่ตัวเองและพรรคพวกเป็นคนโหวตสวน May’s Deal ถึงสามครั้ง ทำให้เทเรช่า เมย์ ร่ำไห้ลาออก และทำให้ Brexit ล่าช้าออกไปสามเดือน

แต่ทว่าการยุบสภาจัดเลือกตั้งทั่วไปคงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา Brexit ความจริงมันเป็นเกมพนันการเมืองแบบสุ่มเสี่ยงอีกครั้งหนึ่งของนักการเมืองพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เพราะต้องไม่ลืมว่าผลการสำรวจความคิดเห็นที่เรียกกันว่าโพล สร้างความเจ็บปวดให้กับเทเรซา เมย์ มาแล้ว อีกทั้งในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนหลากหลายก็ลอยขึ้นมา ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ใช้นโยบายหาเสียงแบบลดแลกแจกแถม เอามาหลอกล่อหาคะแนนกัน ทั้งเรื่องการลดภาษี การศึกษาฟรี สาธารณสุขฟรีถ้วนหน้า การขนส่งมวลชน อาชญากรรม การก่อการร้าย ไปจนถึงบรอดแบนด์ฟรี ประเด็นว่าจะอยู่หรือจะออกจากสหภาพยุโรป ก็ถูกใส่รวมลงไปในกระจาดคละเคล้ากัน เอาออกไปเร่ขายกันอย่างชุลมุน

ส่วนประเด็นใหญ่ที่บอริส จอห์นสัน กล่าวหา ส.ส. ฝ่ายค้านว่าขัดขวาง Brexit ทำให้ชาวบ้านเอือมระอานั้น ตัวจอห์นสันเองก็โหวตขวาง Brexit ถึงสามครั้ง ทำให้ล่าช้าอยู่หลายเดือนเพียงเพื่อบีบให้หัวหน้าพรรคตัวเองลาออก อันเป็นเกมชิงอำนาจของเด็กอีตัน

หากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ออกมาว่า พรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เสียงข้างมากสำเร็จตามความประสงค์ สหราชอาณาจักรก็สามารถถอนตัวออกจากอียูได้ทั้งแบบ Boris’s Deal หรือแม้กระทั่ง No Deal ตามเป้าหมายของฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัด แต่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกแผ่นดิน เพราะกระแสขอแยกดินแดนของสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ จะเริ่มร้อนแรงมากขึ้นตามลำดับ

แต่ถ้าหากผลออกมาว่า ไม่มีพรรคใดได้เสียงเด็ดขาดในสภาที่เรียกกันว่าสภาถูกแขวน (hung parliament) แบบที่เทเรซา เมย์ เคยเจ็บปวดเมื่อปี 2017 เด็กอีตัน ก็จะเสียพนันหมดตัว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save