fbpx
Black Lives Matter – การปฏิวัติอเมริกาครั้งที่ 3 ?

Black Lives Matter – การปฏิวัติอเมริกาครั้งที่ 3 ?

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ เรื่อง

 

สหรัฐอเมริกาเคยผ่านการปฏิวัติมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือการปฏิวัติเอกราช ปี 1776 ครั้งที่ 2 คือสงครามกลางเมืองระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ในปี 1861-1865 ทำไมผมถึงคิดว่าคลื่นการประท้วงเหยียดเชื้อชาติและสีผิวในปี 2020 นี้จะกลายเป็นการปฏิวัติอเมริกาครั้งที่ 3 ไปได้

หากใช้ความรู้ทางรัฐศาสตร์แบบที่เข้าใจกันทั่วไป การปฏิวัติหมายถึงการที่กลุ่มคณะหรือชนชั้นหนึ่งทำการโค่นล้มอำนาจรัฐและรัฐบาลในประเทศด้วยการใช้กำลังอย่างเด็ดขาด ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ เหตุการณ์ที่จัดเป็นต้นแบบและตัวอย่างคลาสสิกของการปฏิวัติได้แก่ (1) การปฏิวัติอเมริกา 1776 (2) การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 (3) การปฏิวัติรัสเซีย 1917 (4) การปฏิวัติจีน 2 ครั้ง 1911 และ 1949 ทั้งนี้ ลักษณะร่วมของการปฏิวัติเหล่านั้น คือการล้มรัฐบาลเก่าแล้วก่อตั้งสถาปนาอำนาจรัฐแก่รัฐบาลใหม่ ตามมาด้วยการสร้างระบอบปกครองใหม่แทนที่อันเก่า

ผมคิดว่า การนิยามและให้ความหมายกับ “การปฏิวัติ” แบบดั้งเดิมนั้นล้าสมัยไปแล้ว เรากำลังอยู่ในโลกที่พ้นสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่มาแล้ว ถึงเวลาปรับเปลี่ยนนิยามและให้ความหมายใหม่แก่การปฏิวัติเสียที

ก่อนอื่นมาพิจารณาถึงลักษณะและจุดหมายของการปฏิวัติอเมริกาทั้ง 2 ครั้งก่อน

ในการปฏิวัติเอกราช จุดหมายคือชาวอาณานิคมอเมริกันขณะนั้นลุกขึ้นต่อสู้กับจักรภพอังกฤษเพื่อต้องการอิสรภาพและความเป็นเอกราชของอาณานิคม เป็นการแยกดินแดน และต้องการปกครองตนเอง เป็นการโค่นทำลายอำนาจปกครองของจักรภพอังกฤษที่มีเหนือคนอเมริกันที่เป็นอาณานิคม แล้วสถาปนารูปแบบรัฐใหม่ที่เป็นสาธารณรัฐแห่งแรกในโลกขึ้นมา

นักประวัติศาสตร์อเมริกันจึงสรุปว่า เป้าหมายของการปฏิวัติอเมริกาคือ Home Rule หรือการปกครองในอาณานิคม แล้วจะให้ใครมาปกครอง? คำตอบคือราษฎรกันเองนั่นแหละที่จะมาปกครองบ้านเมืองของพวกเขากันเอง ไม่ใช่ขุนนางที่อังกฤษแต่งตั้งมา ส่วนในทางอุดมการณ์นั้น คือเสรีภาพกับทรัพย์สินส่วนตัว นี่เป็นหัวใจของความเป็นปัจเจกชนแบบอเมริกัน

ส่วนการปฏิวัติอเมริกาครั้งที่สอง เป็นผลต่อเนื่องของสงครามกลางเมืองระหว่างภาคเหนือกับใต้ หัวใจของความขัดแย้งคือระบบทาสผิวดำ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคใต้ เป็นสงครามภายในประเทศ ซึ่งภาคเหนือและภาคใต้เริ่มมีระบบปกครอง นโยบายเศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ ที่แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะระบบทาสผิวดำมีมากในภาคใต้ แต่มีน้อยหรือไม่ค่อยมีในภาคเหนือ

นักการเมืองทั้งสองภาคและสองพรรคการเมืองใหญ่คือเดโมแครตกับวิก และสุดท้ายเป็นรีพับลิกัน มีความพยายามประนีประนอมและรักษาให้ระบบทาสสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ แม้จะกีดกันไม่ให้ขยายตัวออกไปในมลรัฐใหม่ๆ หลายครั้ง แต่ในที่สุดความพยายามเหล่านี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ กระแสการต่อต้านและคัดค้านการมีทาสและระบบทาสในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในภาคเหนือเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีการปะทะกันระหว่างมวลชนคนผิวขาวฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายสนับสนุน กระทั่งศาลสูงสุดก็ถูกแรงเหวี่ยงของการเมืองระบบทาสทำให้ต้องออกมาตัดสินอย่างถือฝ่ายด้วยการตีความคดีประวัติศาสตร์ ‘เดรด สก็อต’ ให้เป็นผลดีต่อบรรดาเจ้าของทาสภาคใต้

เดรด สก็อต เป็นทาสผิวดำที่เจ้าของนำขึ้นภาคเหนือ ต่อมาสก็อตหลบหนีจากนายทาส อ้างว่ามลรัฐภาคเหนือไม่มีกฎหมายรองรับการมีทาส แต่ในที่สุดศาลสูงสุดกลับตัดสินว่าสก๊อตไม่สามารถอ้างกฎหมายภาคเหนือได้ เพราะเขาไม่มีฐานะของการเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ดังนั้นจึงไม่อาจอ้างสิทธิว่าได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในภาคเหนือได้ ประเด็นเรื่องการไม่ใช่พลเมืองอเมริกันจะเป็นกุญแจที่ขังคนผิวดำไว้ไม่ให้มีสิทธิและเสียง ไม่ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในสังคมอเมริกันต่อมาอีกยาวนานจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ปมเงื่อนของความขัดแย้งดังกล่าว ในที่สุดก็ปะทุออกไปเป็นการประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐฯ ของบรรดามลรัฐภาคใต้ในวันที่ลิงคอล์นแห่งพรรครีพับลิกันได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เพราะคนใต้เชื่อว่านโยบายของรีพับลิกันคือการเลิกระบบทาส

ชัยชนะของภาคเหนือแม้มีส่วนในการปลดปล่อยและให้เสรีภาพและสิทธิพลเมืองแก่อดีตทาสผิวดำ แต่ก็ไม่ได้รับอย่างเต็มที่ เพราะคนผิวขาวในภาคใต้หาทางต่อต้านและกีดกันไม่ให้คนผิวดำขึ้นมาเท่าเทียมกับคนขาวได้ในทุกๆ ทาง หากพิจารณาเรื่องจุดหมายของเสรีภาพของคนผิวดำ การปฏิวัติอเมริกาครั้งที่ 2 ถือว่าล้มเหลวและไม่บรรลุจุดหมาย จนนำไปสู่การลุกขึ้นต่อสู้ของคนผิวดำในอีกศตวรรษต่อมาอย่างดุเดือด และยังหลงเหลือมรดกของระบบทาสสืบต่อมาในระบบเหยียดเชื้อชาติสมัยใหม่ ที่จุดประกายให้แก่การประท้วงครั้งยิ่งใหญ่และยืดเยื้อหลังการตายของจอร์จ ฟลอยด์ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์อเมริกันคิดว่าการปฏิวัติอเมริกาครั้งที่ 2 ก็สร้างผลสะเทือนสำคัญในการผลักดันประเทศไปในอีกระนาบ ซึ่งอาจเชื่อมต่อกับการปฏิวัติครั้งแรกได้ นั่นคือการปลดเปลื้องพันธนาการของระบอบทรัพย์สินและการผลิตที่มีซากเดนของระบบทาสและเจ้าของที่ดินแบบฟิวดัลลงไปจนหมด เปิดทางให้แก่การเติบใหญ่และการพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัดของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ซึ่งได้แก่ทุนอุตสาหกรรม ผลพวงอันแรกของสงครามกลางเมืองคือการขยายการสร้างทางรถไฟที่เชื่อมต่อภาคเหนือกับภาคใต้และตะวันตกได้สำเร็จ

กล่าวโดยสรุป การปฏิวัติอเมริกาทั้งสองครั้ง ปลดปล่อยคนผิวขาวจากการกดขี่และขูดรีดของอังกฤษ อีกทั้งสถาปนาระบบทุนนิยมที่มีระบบการเมืองประชาธิปไตยเสรีเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมและประเทศ ปมเงื่อนของปัญหาการสร้างอเมริกาคือความล้มเหลวในการคลี่คลายและบูรณาการคนผิวดำซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานสร้างประเทศตั้งแต่แรกถึงปัจจุบัน แต่ถูกนโยบายแบ่งแยกทางเชื้อชาติทำให้ไม่เท่าเทียมกับคนขาวมาโดยตลอด หากมองจากเส้นทางของการปฏิวัติอเมริกาดังกล่าว การปฏิวัติอเมริกาครั้งที่สาม จึงสมควรที่จะแก้ไขและบูรณาการปัญหาเก่าให้เรียบร้อยอย่างจริงจังเสียที

แล้ว Black Lives Matter จะนำไปสู่การปฏิวัติอเมริกาได้อย่างไร? – นี่เป็นคำถามร้อยล้าน ถ้าใครสามารถทำได้

ขบวนการประท้วงการเหยียดเชื้อชาติครั้งนี้ไม่เหมือนและไม่ใช่การปฏิวัติในแบบคลาสสิกก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน ความแตกต่างประการแรกคือ ลักษณะและองค์กรนำในการต่อสู้ ครั้งนี้ไม่มีองค์กรจัดตั้งแบบที่เรียกว่าพรรคหรือคณะบุคคลซึ่งทำหน้าที่เป็นมันสมองคอยชี้นำและวิเคราะห์การต่อสู้ว่าจะดำเนินไปอย่างไร จะใช้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างไร จะยึดใจกลางเมืองเลย หรือยึดชนบทแล้วค่อยมาล้อมเมือง จะใช้กำลังและความรุนแรง หรือใช้อหิงสาสันติวิธีหรืออารยะขัดขืน ทั้งหมดนี้ไม่มีข่าวว่ามีการปรึกษาหารือและวางแผนการอะไรกัน ตรงกันข้ามการประท้วงนี้มีแต่บรรดาแกนนำหรือนักกิจกรรมทางสังคมในแต่ละเมืองและชุมชน ทำการนัดหมายผู้สนใจเข้าร่วมการประท้วงเท่านั้น ไม่มียุทธศาสตร์และยุทธวิธีอะไรที่ซับซ้อนและปิดลับ

ดังนั้น การดำเนินการครั้งนี้จึงเป็นแบบแนวราบ ไม่ใช่แนวดิ่งแบบพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย และที่ตรงกันข้ามกับการนำการปฏิวัติในอดีต ครั้งนี้มีการติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิดและรู้ถึงกันหมด จากแกนนำด้วยกันเองถึงผู้เข้าร่วมขบวน ทำให้แม้ไม่มีองค์กรนำแต่มวลประชาชนที่เข้าร่วมก็เดินไปอย่างมีระเบียบ สันติ และอดทน ด้วยการที่ทุกคนเป็นผู้นำขบวนด้วยกันทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ไม่อาจทำได้ในอดีตก่อนยุคมือถือและโซเชียลมีเดียทั้งหลาย — เครื่องมืออันมีประสิทธิภาพยิ่งท่ามกลางฝูงชนที่ไร้ผู้นำ

ปรากฏการณ์ที่สำคัญในสายตาของผมคือ การเข้าร่วมแสดงออกทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยเสรีอย่างแข็งขันและมีน้ำหนัก ทั้งทางปริมาณและทางความคิด โลกทรรศน์ของผู้เข้าร่วมการประท้วงมีความน่าสนใจมาก แทบไม่ต้องการคนมาชี้นำหรือโฆษณาชวนเชื่อให้เข้าร่วมขบวนการ ทุกคนมาด้วยสำนึกและอารมณ์ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี เชื่อมั่นในเสรีภาพและความเท่าเทียม ซึ่งนี่คืออุดมการณ์ของการปฏิวัติในโลกยุคสมัยใหม่ นับแต่การปฏิวัติใหญ่อเมริกาและฝรั่งเศส จนถึงปฏิวัติรัสเซียและจีน

ประการต่อมาคือการสร้างจุดหมายของการประท้วงที่ไม่เหมือนกับการปฏิวัติคลาสสิก ซึ่งกำหนดไว้ตายตัวก่อนแล้วว่าจะโค่นอำนาจรัฐเก่าแล้วสถาปนาอำนาจรัฐใหม่และผู้กุมอำนาจรัฐใหม่ขึ้นมา คราวนี้กลุ่มผู้ประท้วงค่อยๆ สะสมประสบการณ์และความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมและผู้สนับสนุน ประมวลออกมาเป็นวิสัยทัศน์ของขบวนการ แล้วจึงลงรายละเอียดไปที่ประเด็นหลักๆ ที่พวกเขาต้องการนำไปสู่การเป็นนโยบายและการปฏิบัติต่อไป ทั้งหมดนั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบ สถาบัน และกฎหมายต่างๆ ที่รองรับลัทธิเหยียดเชื้อชาติสีผิว ไปสู่การสร้างระบบทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ให้ความเท่าเทียมแก่พลเมืองทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติสีผิว เพศสภาพ และศาสนา

อีกประการหนึ่งคือ การลุกลามของการต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากใน 140 กว่าเมืองทั่วทั้งสหรัฐฯ จากนั้นยังแพร่ขยายจุดประกายให้กับการประท้วงเพื่อความยุติธรรมของคนเล็กคนน้อยไปทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปด้วย นับว่าเป็นการประท้วงที่ข้ามชาติข้ามพ้นประเทศและทวีป นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นสากลอย่างยิ่ง ในอดีตมีแต่ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่อาจอ้างความเป็นสากลในการต่อสู้และการปฏิวัติของพวกเขาได้ เพราะระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมขยายไปทั่วทุกประเทศ แต่คราวนี้ขบวนการชีวิตคนดำไม่ได้อ้างลักษณะชนชั้น แต่ถือเอาความเป็นคนและการเหยียดเชื้อชาติขึ้นมาเป็นหลักคิดนำ ซึ่งจากการตอบสนองทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าบัดนี้ลักษณะทางสังคมมีความเหนือกว่าลักษณะทางชนชั้นไปแล้ว

ผมมีโอกาสได้เห็นเอกสารที่พูดถึงวิสัยทัศน์และโครงการที่กลุ่ม Black Lives Matter ต้องการ คิดว่าน่าสนใจมาก เอกสารเริ่มด้วยการแสดงจุดยืนของขบวนการว่า “Black humanity and dignity requires Black political will and power” (มนุษยภาพและศักดิ์ศรีของคนผิวดำเรียกร้องต้องการเจตจำนงและอำนาจทางการเมืองของคนผิวดำ) จากนั้นพูดถึงความต้องการ 6 ประการ กล่าวคือ (1) การยุติรูปแบบของความรุนแรงและความไม่ยุติธรรมที่กระทำต่อคนผิวดำทั้งมวล (2) การชดเชยค่าเสียหายแก่คนผิวดำ ตั้งแต่ระบบทาส ระบบอาณานิคม และการแบ่งแยกในสมัยใหม่ ด้วยการนำเงินนั้นมาบูรณะและฟื้นฟูชุมชนคนผิวดำที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงของคนผิวขาวมานับศตวรรษ (3) การโยกย้ายทรัพยากรทั้งหลายจากคุกตารางและการทหารไปสู่การศึกษา สุขภาพ และความปลอดภัย (4) การสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และกำกับด้วยกระบวนการประชาธิปไตย (5) การให้ชุมชนปกครองตนเอง มีระบบความปลอดภัยที่ชุมชนจัดการกันเอง และ (6) การให้อำนาจการเมืองแก่คนผิวดำอย่างแท้จริง ในระบบประชาธิปไตยที่ไม่กีดกัน

เอกสารวิสัยทัศน์นี้เป็นผลงานร่วมกันของ 30 องค์กรที่ร่วมประชุมและปรึกษาหารือกัน เช่น Black Youth Project 100, Million Hoodies, Black Alliance for Just Immigration, Dream Defenders, The Organization for Black Struggle, Southerners on New Ground (SONG) เป็นต้น การประชุมเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว นำโดยการประชุมของขบวนการ Black Lives ในเมืองคลีฟแลนด์

อ่านทั้งหมดแล้วจะเห็นว่า ความต้องการของขบวนการไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องปลีกย่อย เฉพาะกลุ่ม เฉพาะเรื่อง หากแต่ในระยะยาวมีผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมทีเดียว และอาจมีผลสะเทือนไปทั่วโลกได้ด้วย ดังคำกล่าวของ Thenjiwe McHarris หนึ่งในแกนนำและผู้ประสานงานหลักของ M4BL ที่สรุปได้อย่างดีว่า

“เราหวังว่าสิ่งที่ได้สร้างขึ้นมาจะนำพามรดกของบรรพบุรุษและผู้อาวุโสของพวกเราไปสู่วันข้างหน้า ขณะที่จินตนาการถึงโลกและประเทศที่เปลี่ยนไปกว่าที่เคยเป็น สำหรับพวกเรา และสำหรับผู้คนที่จะเดินตามหลังมา”

ผมกำลังคิดว่าปรากฏการณ์ของคลื่นมหาชนที่ประท้วงต่อต้านระบบการเหยียดผิวและเชื้อชาติในอเมริกา น่าจะเป็นตัวแบบใหม่ของการปฏิวัติยุคพ้นสมัยใหม่ได้บ้างตามสมควร ลักษณะเด่นที่ต่างออกไปคือการไม่นำเอาการยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังเพื่อล้มระบอบเก่าแล้วสร้างระบอบใหม่ขึ้นมาเป็นเป้าหมาย หากแต่เสนอแนวคิดใหม่และจุดหมายของประชาชนที่เน้นความยุติธรรมที่เท่าเทียมกันของคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา และเพศสภาพ เป็นประชาธิปไตยทางตรงและกระจายอำนาจไปอยู่ที่ประชาชนรากหญ้า โดยยอมให้ดำเนินไปภายใต้อำนาจรัฐและระบอบการเมืองที่กำลังบริหารและปกครองอยู่

ทั้งหมดนี้เป็นการเรียกร้องผ่านการประท้วงของประชาชนจำนวนไม่น้อย เพื่อให้ระบอบและรัฐดำเนินการแก้ไขปรับปรุง แล้วดำเนินต่อไปบนเส้นทางของมโนทัศน์และจุดหมายทางสังคมตามแนวคิดปฏิวัติ ทางออกดังกล่าวนี้เกิดได้และมีความเป็นไปได้สูงมากก็แต่ในสังคมและระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบอเมริกาเท่านั้น สังคมและระบอบการเมืองอื่นๆ อาจนำความคิดและวิธีการต่อสู้ไปปรับใช้ได้บ้าง แต่ไม่รับประกันว่าจะได้ผลลัพธ์เหมือนกับในอเมริกาหรือไม่ เพราะทุกสังคมล้วนมีกรรมคือการกระทำในอดีตของคนและสังคมกำกับอยู่ อเมริกามีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่มีความขัดแย้งและประท้วงกันมานานนับศตวรรษ ดังที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวถึงการประท้วงเหยียดผิวครั้งนี้ว่า “สหรัฐอเมริกาถือกำเนิดมาจากการประท้วง” และการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ในหลายเรื่องหลายประเด็นของประชาชนกลุ่มคนส่วนน้อยต่างๆ ก็ได้มาด้วยการต่อสู้ยืนหยัดประท้วงจากเล็กไปสู่ใหญ่ กระทั่งได้รับชัยชนะในที่สุด

นี่อาจเป็นการเขียนและตีความ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” ครั้งสำคัญต่อจากที่ ‘เดอ ต็อกเกอวิลล์’ (Alexis de Tocqueville) ได้เขียนไว้เมื่อเกือบสองศตวรรษมาแล้ว.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save