fbpx

The Taste of Things สูตร ‘สมรส’ ชาย-หญิง จากปลายติ่งจะงอยจวัก

การประกวดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์แต่ละปี มักจะมีการแอบจับคู่ชกโต้วาที เอาหนังที่เล่าประเด็นเดียวกัน แต่มองต่างมิติต่างมุมมาประชันวิวาทะ เฉลิมฉลองสมรภูมิแห่งขั้วทรรศนะตามวิถีประชาธิปไตย อย่างเมื่อปีกลาย ก็มีหนังที่ใช้ประเด็นเกี่ยวกับ ‘อาหารการกิน’ มาเป็นตัวเดินเรื่องหลักอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือ Club Zero (2023) ของผู้กำกับหญิง เยสสิกา เฮาส์แนร์ (Jessica Hausner) ว่าด้วยเรื่องของลัทธิต่อต้านบริโภคนิยม (anti-consumerism) ผ่านคารมของ โนวัค ครูพิเศษสาว ที่โน้มน้าวให้ลูกศิษย์วัยมัธยมมองการรับประทานอาหารเป็นสิ่งโสมม รมยาความศรัทธาชวนให้เชื่อว่ามนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการ ‘กินทิพย์’ โดยไม่ต้องหยิบตักอะไรใส่ปากเลยตลอดกาล หนังเข้าโรงฉายในบ้านเราไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา

อีกเรื่องที่มาท้าชกความคิดแสนตลกของ Club Zero คือ La passion de Dodin Bouffant (ความปรารถนาแห่งเมอซิเออร์ โดแดง บูฟองต์) ซึ่งเดิมใช้ชื่ออังกฤษติดคำฝรั่งเศสว่า The Pot-au-Feu (โปโตเฟอ-เธอ คือสตูว์เนื้อ) แต่เมื่อจะเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ก็เปลี่ยนฉายาให้น่ากินขึ้นว่า The Taste of Things ซึ่งจะเป็นชื่อที่ taste ดีจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ อาจจะถูกจริตคนดูอเมริกัน หนังกำกับโดยผู้กำกับสัญชาติเวียดนามเดิม ตรัน อันฮ์ ฮุง (Tran Anh Hung) ผู้ถ่ายทอดความสำคัญของ ‘อาหาร’ และ ‘การปรุงอาหาร’ กับการใช้ชีวิต อุทิศเวลาของหนังเกือบตลอดทั้งความยาว 134 นาที ให้วิถีการปรุงอาหารแต่ละตำรับแต่ละจานตามสูตรโบราณของต้นเครื่องชาวฝรั่งเศส เบิกเนตรให้เราคอยเช็ดน้ำลายกับภาพกระยาหารแปลกพิสดารมากมาย จนอยากทะลุจอเข้าไปช่วยเป็นฝ่ายทดสอบเป่าชิมให้ได้ลิ้มรสติดปลายลิ้นก็ยังดี! เป็นหนังแบบที่คุณครูโนวัคในเรื่อง Club Zero ดูแล้วนางจะต้องร้องกรี๊ดกับภาพวิตถารผีทะเลเมื่อทุกคนเห่กันพรักพร้อม ล้อมวงจกกินกินกินกินแล้วก็กิน จนจานสะอาดปาดเช็ดแล้วเก็บคืนเข้าตู้ได้โดยไม่ต้องขัดเขี่ยอะไรเลย!

เคยเห็นอยู่เหมือนกันว่าเวลาผู้กำกับรายไหนใช้ฉากการปรุงและรับประทานอาหารมายั่วน้ำลายคนดูผ่านจอใหญ่ นักวิจารณ์ปากร้ายก็จะขนานนามให้เสียจมดินว่ามันคือหนัง ‘food porn’ ที่ต้องค่อนแคะแซะหลู่ดูถูกว่าช่างด้อยค่าไร้ราคาเยี่ยงหนังโป๊โนอาภรณ์ ก็เพราะขั้นตอนการสร้างไม่ต้องใช้ฝีมืออะไรมาก ยากแค่ตอนหานักแสดงที่ยอมมาเล่น จากนั้นก็ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติ คาดว่าคนดูอยากเห็นส่วนสัดไหนก็ถ่ายๆ ไปไม่เห็นต้องใช้ฝีมือเลยสักนิด หนังที่ถูกแปะป้ายว่าเป็น food porn ก็เช่นกัน แค่เธอไปหาร้านหรูๆ ดูดี จัดอาหารให้มีลุคปลุกความหิวชวนทาน บอกนักแสดงให้กำซาบซ่านกับทุกๆ รสที่ผ่านลิ้น ก็จะได้เป็นหนัง ‘ชวนกิน’ ชวนอินจนน้ำลายหกเรื่องหนึ่งแล้ว! แต่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เขาก็จะแนวๆ นี้แหละ คือพยายามแซะกลับอยู่ตลอดเวลาว่าไม่มีหนังตระกูลไหน ‘ด้อยค่า’ ไปกว่าใคร และไม่ว่าจะแนวทางไหนมันก็สามารถเป็นงานวิจิตรจนติดโผชิงรางวัลปาล์มทองคำได้ อย่าง The Taste of Things เรื่องนี้ที่มีความเป็น food porn อย่างชัดจนไม่รู้ว่าจะชัดอย่างไร ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นหนังที่คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไปได้จากฝีมือการปรุงของ ตรัน อันฮ์ ฮุง!

หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วผู้กำกับเชื้อสายเวียดนามไปยุ่งอะไรกับตำรับกับข้าวของชาวฝรั่งเศสเขา สู้มาทำหนังอาหารเอเชียสไตล์บ้านเราอย่างที่เขาเคยแพลมๆ ไว้ใน The Scent of Green Papaya (1993) จะดูถนัดจัดเจนกว่าไหม ซึ่งถึงแม้ว่าตรัน อันฮ์ ฮุง จะเกิดและเติบโตในประเทศเวียดนาม แต่เขาก็ข้ามน้ำข้ามทะเล อพยพลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสตั้งแต่อายุ 12 ปี ชีวิตในวัยเรียนนับตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาของเขาจึงได้รับการกล่อมเกลาผ่านวัฒนธรรมฝรั่งเศสกระทั่งได้รับสัญชาติ และแม้ไม่อาจเรียกตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญนำเสนอความประณีตในการปรุงอาหารแบบคนฝรั่งเศสจากประสบการณ์ตน ตรัน อันฮ์ ฮุงก็ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้เรื่อยมา กระทั่งเขาได้ไปอ่านนิยายเล่าเรื่องราวชีวิตของพ่อครัวชาวฝรั่งเศสเล่มสำคัญชื่อ The Life and Passion of Dodin Bouffant, Gourmet (1924) ของ มาร์เซล รูฟ (Marcel Rouff) แล้วหยิบยืมตัวละครคู่ขวัญ โดแดง (Dodin) และ เออเฌนี (Eugénie) พ่อครัวแม่ครัวหัวป่าก์ที่อาศัยอยู่ด้วยกันเพื่อรังสรรค์มื้ออาหารจานต่างๆ จากสูตรเด็ดที่สะสมไว้ โดยไร้พันธะของการเป็นคู่สามี-ภรรยา เอกสารบริการสื่อหรือ press kit ของเทศกาลยังได้แถลงไว้ด้วยว่า ตรัน อันฮ์ ฮุงไม่ได้เล่าเรื่องราวตามเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้โดยตรง เพราะมาร์เซล รูฟเจาะจงเล่าห้วงเวลาชีวิตหลังจากที่โดแดงเสียเออเฌนีไปแล้ว ผู้กำกับจึงเปลี่ยนแนวการเล่าจากการดัดแปลงเนื้อหาตรงๆ เป็นการลงมือเขียน ‘แฟนฟิค’ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้าสถานการณ์ในตัวนิยาย ดังนั้น The Taste of Things จึงเน้นการถ่ายทอดห้วงเวลาชีวิตที่โดแดงและเออเฌนีอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกันและสร้างตำนาน ‘จักรพรรดิ’ แห่งวงการอาหารด้วยกันในช่วงปี 1885 โดยฝ่ายโดแดงพยายามเกลี้ยกล่อมให้เออเฌนีตอบรับคำขอแต่งงานหลังจากทั้งคู่ทำงานด้วยกันมามากกว่าสองทศวรรษ!

ทรรศนะมุมมองต่อวัฒนธรรมสำคัญของชาวฝรั่งเศสทั้งเรื่องการปรุงอาหารและการเกี้ยวพาราสีกันในหนังเรื่องนี้จึงมีสายตาของความเป็น ‘คนนอก’ อยู่ในที เพราะเชื่อเหลือเกินว่าถ้าให้ผู้กำกับที่มีสัญชาติฝรั่งเศสมาแต่อ้อนแต่ออกทำ ก็คงจะไม่นำเสนอหนังออกมาในลักษณะนี้  ซึ่งพอตรัน อันฮ์ ฮุงมีโอกาสได้มากำกับ เขาก็ปล่อยให้กล้องจับจ้องทุกสิ่งอย่างตามแนวทางของคนที่ไม่เคยพบเห็นหรือสัมผัสอะไรเหล่านี้มาก่อน คือจะใช้ ช้อน ตะหลิว มีด จวัก ตัก แล่ หั่น คน บนเตากันอย่างไร ก็ล้วนเป็นรายละเอียดน่ามองไปเสียทุกอิริยาบถ เห็นเบื้องหลังการปรุงแต่ละจานแล้วอยากลิ้มรสตามที่ได้โหมโรงไว้ ซึ่งก็คงไม่ต้องมาร่ายกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานว่าแต่ละสำรับมันขับน้ำย่อยปล่อยน้ำลายให้ไหลทะลักกันอย่างไร นอกจากจะเชิญชวนให้ทุกท่านได้ไปสัมผัสบนจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์กันด้วยตนเอง  ในส่วนของความเคร่งและไม่เคร่งศีลธรรมที่ทำให้โดแดงพยายามทุกวิถีทางในการสร้างครอบครัวตามกฎหมายกับเออเฌนีผ่านพิธีวิวาห์ แม้ว่าในทางพฤตินัยพวกเขาก็ได้เสียด้วยความสมยอมกันมาตั้งนานแล้ว ก็ดูจะไม่ใช่แนวทางของคู่ตุนาหงันสัญชาติฝรั่งเศสสักเท่าไหร่ ยิ่งดูก็เลยยิ่งสงสัยว่าฝ่ายโดแดงเขาจะแคร์อะไรกับการได้เป็นเจ้าบ่าว ในขณะที่ว่าที่เจ้าสาวก็ ‘ให้’ เขาจนหมดทุกอย่างมาตั้งนานแล้ว ซึ่งโชคดีเหลือเกินที่นักแสดงแถวหน้าแห่งวงการอย่าง เบอนัวต์ มาฌิเมล (Benoît Magimel) และ ฌูเลียตต์ บิโนช (Juliette Binoche) ต่างรู้งานและจัดการตีความอารมณ์ปรารถนาแห่งหัวใจของแต่ละฝ่ายออกมาได้อย่างน่าเชื่อถือ ชวนให้รู้สึกว่าคนฝรั่งเศสเมื่อปี 1885 ก็อาจยังศรัทธาต่อพิธีรีตองและมองจารีตสำคัญกว่าอัตตา ปลอดจากสำนึกที่ว่าข้ามีอิสระที่จะคิดทำอะไรอย่างไรก็ได้  เงื่อนไขมัดใจที่ไม่ปรกติธรรมดาระหว่างโดแดงและเออเฌนีในหนังเรื่องนี้ จึงมีนัยยะในการนำเสนอภาพ ‘ครอบครัว’ ที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาได้ต้อนรับสมาชิกใหม่อย่าง โปลีน (Pauline) นักเรียนฝึกปรุงอาหารตัวน้อย มาสมทบกับรุ่นพี่อย่าง วิโอเล็ตต์ (Violette) สร้างเป็นตระกูล บูฟองต์ (Bouffant) ที่มองเผินๆ เหมือนเป็นบ้านที่มีทั้ง พ่อ แม่ และบุตรี ต่างกันตรงที่พวกเขามิได้เชื่อมจิตเชื่อมวิญญาณกันผ่านระบบสืบพันธุ์ หากอยู่ด้วยกันเพราะต้องมนต์เสน่ห์จากปลายจวักที่พวกเขาต่างหลงรักเยี่ยงชีวิต!

แนวคิดว่ามนุษย์เรานั้น ‘อยู่เพื่อกิน’ มิใช่ ‘กินเพื่ออยู่’ และความสามารถในการรับรู้รสชาติผ่านต่อมประสาทชิวหาซึ่งถือเป็นพรอันล้ำค่าตั้งแต่เกิดมาใน The Taste of Things จึงยิ่งขับเน้นว่าเรื่อง ‘อาหารการกิน’ อาจเป็นเสมือน ‘วิญญาณ’ ในการสืบเผ่าพงศ์พันธุ์ของมนุษย์ ผ่านจุดหมายปลายทางในการสร้าง ‘ครอบครัว’ แม้แต่คำไทยว่า ‘ครอบครัว’ ก็ยังใช้คำว่า ‘ครัว’ เป็น ‘สัมพจนัย’ หรือ ‘synecdoche’ ที่ใช้แทนทั้งบ้าน ด้านสำนวนไทยก็มักจะใช้เรื่อง ‘กิน’ นี่แหละในการอุปมาอุปมัยการใช้ชีวิตด้วยกันระหว่างคนรักคู่ผัวตัวเมีย อย่างชุดคำที่ว่า ‘สมรส’ ‘อยู่กิน’ ‘ข้าวใหม่ปลามัน’ ‘น้ำต้มผักยังหวาน’ ‘กัดก้อนเกลือ’ ‘น้ำพริกถ้วยเก่า’ ฯลฯ  การที่คนเราจะช่วยกันหุงหาอาหารมันจึงเป็นสัญลักษณ์เชิงบุคลาธิษฐานของการเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นความผูกพันที่ลึกซึ้งได้มากกว่าการสืบทอดทางสายเลือดเสียด้วยซ้ำ

ตรัน อันฮ์ ฮุง จึงทอดเวลาให้การทำอาหารในแต่ละวโรกาสในหนังอย่าง ‘ปล่อยไหล’ โดยไม่ต้องคอยสั่งคัต! แล้วจัดเซ็ตให้กล้องเคลื่อนไหลไปรอบๆ ครัวและรอบตัวผู้แสดงได้อย่างอิสระ สร้างจังหวะภาพที่มีความเป็นพลวัตชวนทัศนา อวดบรรยากาศธรรมชาติของเมืองชนบทในอดีตอย่างประณีตบรรจง กล่อมคนดูให้หลงใหลไปกับกลิ่นรสอันเย้ายวนของกระบวนสำรับอาหารต่อเนื่องยาวนาน เพราะมันคือ ‘วิญญาณ’ สำคัญของหนังทั้งเรื่อง หนังที่แทบไม่ต้องอาศัยข้อพิพาทหรือความขุ่นเคืองใดๆ มาสร้างปมขัดแย้ง ไม่ต้องแบ่งภาคการเล่าเป็นองก์ๆ หรือมาสงสัยกันอีกว่าตรงไหนคือจุดไคลแมกซ์ วิธีการเล่าใน The Taste of Things จึงออกจะแปลกพิสดารไปจากหนัง food porn ตำรับดังเรื่องก่อนๆ อย่าง Tampopo (1985), Babette’s Feast (1987), Like Water for Chocolate (1992), Eat Drink Man Woman (1994), Big Night (1996), A Simple Life (2011), Little Forest: Summer/Autumn (2014), Little Forest: Winter/Spring (2015) หรือ ‘Hunger คนหิวเกมกระหาย’ (2023) แต่เรื่องการถ่ายภาพอาหารที่ถูกจับแก้ผ้าเรียงใส่จานให้ดูน่าจกตักมารับประทาน อันนี้ก็ชวนให้ทรมานได้ไม่แพ้หนังเรื่องไหนที่ว่ามาเลยจริงๆ!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save