fbpx

การแก้แค้นให้กับหัวใจที่ถูกแทงด้วยเงี่ยง

1

ในช่วงปลายปี 2006 หลังจากรัสเซล โครว์ นักแสดงชื่อดังชาวออสเตรเลียได้กล่าวไว้อาลัยให้กับการจากไปของชายผู้หนึ่งไม่นาน ก็มีการพบศพปลากระเบนหลากหลายสายพันธ์ุกระจายเกลื่อนอยู่ตามชายหาดในออสเตรเลีย

เจ้าหน้าที่พบว่า ปลากระเบนเหล่านี้ถูกตัดหางที่มี ‘เงี่ยง’ ของมันออก แล้วก็ปล่อยซากศพของปลากระเบนพวกนี้ทิ้งเอาไว้ สองตัวพบที่ชายหาดทางตอนเหนือของเมืองบริสเบน อีกแปดตัวพบที่ชายหาดอีกแห่งหนึ่ง

เวลาชาวประมงจับปลาแล้วมีปลากระเบนติดแหขึ้นมาด้วย บางครั้งชาวประมงก็จะตัดหางของปลากระเบนออก เพราะหางของพวกมันพันกับแห และเงี่ยงของมันอาจเป็นอันตรายต่อชาวประมงได้ แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เพราะชาวประมงจะทำเช่นนี้ก็เมื่อเห็นว่าเป็นอันตรายต่อตัวเองจริงๆ ถ้าปลากระเบนหลุดจากแหได้ ก็ไม่ได้ทำอะไรพวกมัน

คำถามก็คือ – เกิดอะไรขึ้นกับปลากระเบนเหล่านี้ที่ถูกตัดหางทิ้งและปล่อยซากศพเอาไว้ราวกับผู้ก่อเหตุเคืองแค้นพวกมัน

คำตอบต่อคำถามนี้ไม่ยากเลย เพราะย้อนกลับไปในวันที่ 4 กันยายน 2006 ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงถึงแก่ชีวิตขึ้นกับชายคนหนึ่ง ชายผู้ได้รับฉายาว่าเป็น ‘จิตวิญญาณ’ แห่งพงไพรออสเตรเลีย

เขาคือ สตีฟ เออร์วิน ผู้มีคำขยายความต่อท้ายชื่อว่า The Crocodile Hunter หรือ ‘นักล่าจระเข้’

2

สตีฟโตมากับเหล่าจระเข้และสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ เขาเรียนรู้เรื่องของสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ผ่านพ่อของเขา – บ๊อบ เออร์วิน บ๊อบเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชีวิตสัตว์ป่า เขาสนใจในศาสตร์ที่เรียกว่า Herpetology หรือ ‘วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก’ ซึ่งมีตั้งแต่กบ เขียด ไปจนถึงงูและจระเข้

ที่จริงแล้วสตีฟเกิดที่เมลเบิร์น แต่พ่อกับแม่ของเขาเลือกย้ายไปอาศัยอยู่ในเขตที่อากาศร้อนกว่า นั่นคือรัฐควีนสแลนด์ที่อยู่ทางตอนเหนือ ภูมิอากาศที่แตกต่างทำให้มีความหลากหลายของชีวิตสัตว์มากกว่า โดยเฉพาะสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

ที่ควีนสแลนด์ พ่อและแม่ของสตีฟเปิดสวนสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ เรียกว่า Queensland Reptile and Fauna Park และสตีฟก็เติบโตมากับสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น กับสัตว์เลื้อยคลานและจระเข้ เขาคลุกคลีกับพวกมัน ให้อาหารพวกมัน ดูแลพวกมัน

สตีฟมีงูเหลือมขนาดยาว 4 เมตรเป็นสัตว์เลี้ยงมาตั้งแต่อายุหกขวบ งูใหญ่ขนาดนั้นอาจจะกินเขาก็ได้ แต่เขากับงูและสรรพสัตว์กลับกลายเป็นเพื่อนกัน พอเก้าขวบ เขาเริ่มจับจระเข้ด้วยมือเปล่า ปล้ำกับมัน โดยมีพ่อของเขาคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเมื่อเติบโตขึ้นสตีฟจึงรักงานด้านนี้ เขาเข้าร่วมโครงการจัดการจระเข้ของควีนสแลนด์ (Queensland’s East Coast Crocodile Managment Program) เขาจับจระเข้มากกว่าร้อยตัว บางส่วนก็นำไปปล่อยที่อื่นเพื่อกระจายปริมาณจระเข้ให้สมดุล และบางส่วนเขาก็นำไปเลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ของที่บ้าน ซึ่งต่อมาเขาเปลี่ยนชื่อเป็น Australian Zoo

แม้แต่เมื่อแต่งงานกับเทอรี (Terri) ภรรยาของเขา ทั้งคู่ก็ฮันนีมูนด้วยการไปดักจับจระเข้ด้วยกัน และเป็นการฮันนีมูนครั้งนั้นนั่นเองที่ทำให้เขาโด่งดังขึ้นมา เพราะมีการถ่ายทำการฮันนีมูนพร้อมจับจระเข้ แล้วนำมาออกอากาศเป็นตอนแรกของซีรีส์ The Crocodile Hunter ซีรีส์ที่สร้างชื่อเสียงให้สตีฟ

รายการนี้ออกอากาศครั้งแรกในปี 1996

สตีฟไม่รู้เลยว่า เขาจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกเพียงสิบปีเท่านั้น

3

สตีฟโด่งดังมาก เพราะรายการที่เขาจัดนั้นไม่เหมือนใคร ดูเหมือนเขามีมนต์ขลังบางอย่างกับสัตว์ คล้ายว่าเขาสื่อสารกับพวกมันได้ รายการของเขาจึงไม่ได้มีชื่อเสียงเฉพาะในออสเตรเลียเท่านั้น ทว่ายังเผยแพร่ไปถึงสหรัฐฯ อังกฤษ และอีกกว่า 130 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ประมาณกันว่ามีคนชมผลงานของเขาราว 500 ล้านคน เขาจึงกลายเป็นคนดังระดับโลก

ความที่สตีฟมีความ ‘ออสเตรเลียน’ แท้ๆ เช่น พูดด้วยสำเนียงออสซี่ แถมการแต่งเนื้อแต่งตัวก็ยังดูเป็นแบบนักตะลุยป่า ใส่เสื้อผ้าสีกากี กางเกงขาสั้น แล้วก็มีคำพูดติดปากว่า Crikey! ซึ่งเป็นคำแบบออสซี่ ทำให้คำนี้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก แม้แต่นักทำสารคดีชีวิตสัตว์ป่าชื่อก้องโลกตลอดกาลอย่างเซอร์เดวิด แอทเทนโบโรห์ก็ยังเคยยกย่องชมเชยสตีฟ ว่าเขาทำให้คนจำนวนมากรู้จักและรักชีวิตธรรมชาติ เหมือนกับว่า สตีฟเป็นตัวแทนของมนุษยชาติ เป็นผู้พาเราไปพบกับความมหัศจรรย์และน่าตื่นเต้นของชีวิตสัตว์ป่ากระนั้น

แต่แล้วในวันที่ 4 กันยายน 2006 สิบปีหลัง The Crocodile Hunter ออกอากาศเป็นครั้งแรก สตีฟก็เสียชีวิตลงอย่างไม่คาดฝัน เขาเสียชีวิตด้วยฝีมือของสัตว์ในแดนเถื่อนที่เขารัก สัตว์ที่เป็นอิสระและไม่มีวันที่ใครจะควบคุมมันได้ นี่อาจเป็นอุบัติเหตุที่เราไม่อาจโทษใคร แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

4

ในตอนนั้น สตีฟกำลังถ่ายทำสารคดีซีรีส์ที่มีชื่อว่า Ocean’s Deadliest หรือสัตว์ที่อันตรายร้ายแรงที่สุดในมหาสมุทร เขาไปถ่ายทำที่แบตรีฟ (Batt Reef) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเดอะเกรตแบริเออร์รีฟ ใกล้กับพอร์ตดักลาสในควีนสแลนด์

สตีฟกำลังว่ายน้ำอยู่ในน้ำที่ลึกแค่อก เขาเข้าไปหาปลากระเบนหางสั้น (Short-Tail Stingray) ตัวหนึ่งที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ลำตัวของมันแผ่กว้างถึง 2 เมตร โดยเข้าหาจากทางด้านหลังเพื่อจะถ่ายภาพปลากระเบนตัวนั้นว่ายน้ำจากไป

แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เพราะจู่ๆ ปลากระเบนตัวนั้นกลับสะบัดตัวหันมาเผชิญหน้า แล้วเริ่มแทงสตีฟด้วยเงี่ยงที่โคนหางของมัน เงี่ยงเป็นอาวุธสำคัญประจำตัวปลากระเบนที่มีพิษอยู่แล้ว แต่สตีฟก็ไม่หวาดหวั่น แรกทีเดียวเขาคิดว่าเงี่ยงนั้นแทงทะลุปอด เขาบอกทีมงานอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วเงี่ยงนั้นทะลุผนังทรวงอก แล้วแทงเข้าที่หัวใจของสตีฟโดยตรงอย่างแม่นยำด้วยฝีมือของพระเจ้า แม้ทีมงานจะรีบพาเขาขึ้นเรือและปฐมพยาบาล แต่เมื่อพาเขาขึ้นไปบนเกาะใกล้เคียงได้แล้ว ทีมแพทย์ก็พบว่าเขาเสียชีวิตแล้ว สตีฟไม่ได้เสียชีวิตเพราะพิษร้าย แต่เสียชีวิตเพราะเสียเลือด และหัวใจของเขาก็ยับเยิน

ว่ากันว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพผู้ที่ถูกเงี่ยงของปลากระเบนแทงจนเสียชีวิตได้ แต่กระนั้นก็จะไม่มีใครได้เห็นภาพนี้ เพราะกระทั่งจัสติน ลีออนส์ (Justin Lyons) ซึ่งเป็นช่างภาพของสารคดีชุดนี้ก็บอกว่าเขาจะไม่เผยแพร่ภาพเหล่านี้ออกมาเป็นอันขาดเพื่อเป็นการเคารพต่อผู้วายชนม์ เทอร์รี ภรรยาของสตีฟให้สัมภาษณ์ว่า ฟุตเทจ ณ ขณะนาทีที่สตีฟได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ถูกทำลายไปแล้ว

การตายของสตีฟทำให้แฟนรายการมากมายอยู่ในอาการช็อกและไม่เชื่อในข่าวนี้ ไม่เฉพาะในออสเตรเลีย แต่ทั่วโลก รวมถึงแฟนๆ รายการของสตีฟในประเทศไทยด้วย มีการลดธงครึ่งเสาที่สะพานซิดนีย์ฮาร์เบอร์ มีการกล่าวไว้อาลัยโดยนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาของออสเตรเลีย และมีรายการพิเศษออกอากาศเพื่ออุทิศให้กับสตีฟโดยเฉพาะมากมายหลายรายการ

ที่สำคัญ แฟนๆ ของสตีฟหลายพันคนไปที่ Australia Zoo ของเขาเพื่อไปเคารพศพ โดยนำดอกไม้ เทียน ตุ๊กตาสัตว์ต่างๆ และข้อความไว้อาลัยไปวางให้เขาที่นั่น พิธีฝังศพสตีฟจัดขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2006 ที่ Australia Zoo ร่างของเขาถูกฝังไว้ที่นั่น ในส่วนของสุสานส่วนตัว

ในตอนนั้น นายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ด ยื่นข้อเสนอจะจัดงานศพแบบรัฐพิธีให้สตีฟ แต่ครอบครัวของสตีฟปฏิเสธ นั่นเพราะครอบครัวของเขาเชื่อว่า สตีฟปรารถนาจะเป็นที่จดจำของโลกในฐานะ ‘คนธรรมดาๆ’ (Ordinary Bloke) คนหนึ่งเท่านั้น เขาไม่ต้องการเกียรติยศใดๆ

ในวันที่ 20 กันยายน 2006 รัสเซล โครว์ ได้ลุกขึ้นเป็นโต้โผจัดพิธีไว้อาลัยครั้งใหญ่ให้สตีฟที่ Australia Zoo โดยถ่ายทอดสดไปทั่วทั้งออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และหลายประเทศในเอเชีย ประมาณกันว่ามีผู้ร่วมไว้อาลัยทั่วโลกมากกว่า 300 ล้านคน และนักร้องชื่อดังของออสเตรเลียอย่าง จอห์น วิลเลียมสัน ก็ร้องเพลงโปรดของสตีฟในงานนั้นด้วย มันคือเพลงที่ชื่อว่า True Blue และสุดท้าย พนักงานทั้งหมดของ Australia Zoo ก็เปล่งเสียงคำว่า Crikey ออกมาพร้อมๆ กันเพื่อให้สตีฟได้ยินเป็นครั้งสุดท้าย

5

เชื่อกันว่า การที่มีซากศพปลากระเบนนับสิบตัวอยู่ตามชายฝั่งควีนสแลนด์ในปลายปี 2006 นั้น เป็นเพราะผู้คนคลั่งแค้นที่ต้องสูญเสียคนที่ตนรักไป แต่กระนั้นก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนใดๆ ว่าใครเป็นผู้กระทำ ทางการระบุว่า แม้ยังหาความเชื่อมโยงระหว่างซากศพปลากระเบนกับการแก้แค้นไม่ได้ แต่กระนั้นก็เชื่อได้ว่าน่าจะไม่ได้เกิดจากเหตุอื่นใดนอกจาก ‘การแก้แค้น’

เพื่อนคนหนึ่งของสตีฟออกแถลงการณ์ว่า เขาคิดว่าทั้งตัวสตีฟและครอบครัวจะไม่ยอมรับการกระทำเช่นนี้เด็ดขาด และนั่นน่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่สตีฟต้องการด้วย เพราะสตีฟทำงานเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่ามาโดยตลอด ต่อให้เขาต้องจากไปเพราะสิ่งนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะต้องการให้ใครแก้แค้นให้เขา โดยเฉพาะแก้แค้นปลากระเบน

ที่จริงแล้ว เรื่องทั้งหมดนี้น่าจะยิ่งทำให้มนุษย์ต้องปกป้องชีวิตสัตว์ป่ามากขึ้นกว่าที่เคยด้วยซ้ำ เพราะทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่สตีฟเป็นมาตลอดชีวิต

เนื้อหาตอนหนึ่งของเพลง True Blue เพลงที่สตีฟรัก บอกเราว่า

            Hey True Blue

            True Blue

            Give it to me straight

            Face to face

            Are you really disappearing

            Just another dying race

            Hey True Blue

มันคล้ายกับว่า สตีฟไม่อยากให้เชื้อชาติสายพันธุ์ใดในโลกต้องปลาสนาการไปอีก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใดก็ตาม

ดังนั้น การแก้แค้นจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save