fbpx

กระดูกของดันเต้: ว่าด้วยอำนาจวรรณกรรม – จากสันตะปาปาถึงมุสโสลินี

1

มหากวีดันเต้ (Dante) เขียนงานอย่าง Divine Comedy ขึ้นในปี 1308 และสำเร็จลงในปี 1320 ถือเป็นมหากาพย์ยักษ์ใหญ่ของโลกวรรณกรรมตะวันตกด้วยความยาว 14,233 บรรทัด ยาวกว่ามหากาพย์โอดิสซีย์ของโฮเมอร์ แต่สั้นกว่ามหากาพย์อีเลียดอยู่ 1,500 บรรทัด

เขาเป็นคนสำคัญมากเสียจนนักเขียนดังของศตวรรษที่ 19 ต่อ 20 อย่าง ที.เอส. เอเลียต (T.S. Eliot) เคยบอกเอาไว้ว่า ใน ‘โลกสมัยใหม่’ ด้านวรรณกรรมนั้น ดันเต้และเชกสเปียร์สามารถแบ่งกันได้คนละครึ่งเลย

นอกจากนี้ ยังมีคนอีกมากที่บอกว่าถ้าอ่านเชคสเปียร์แล้วไม่เข้าใจ ให้ไปอ่านดันเต้ – ความยิ่งใหญ่ของเขามีมากมายถึงเพียงนั้น

แต่กระนั้น ชีวิตของดันเต้ก็ยังไม่ประหลาดพิสดารมากเท่ากับความตายของเขา

ความตายที่โยงใยเกือบพันปีมาถึงมุสโสลินี จอมเผด็จการแห่งอิตาลี!

2

เราเรียกชื่อดันเต้ว่าดันเต้จนอาจลืมนึกไปว่าเขาก็มีนามสกุล

ดันเต้เกิดที่ฟลอเรนซ์ ในตอนนั้นฟลอเรนซ์ถือเป็นรัฐอิสระที่เรียกว่า ‘สาธารณรัฐฟลอเรนซ์’ (Republic of Florence) ชื่อเต็มๆ ของเขาคือ Durante di Alighiero degli Alighieri แต่คนเรียกเขาด้วยชื่อเล่นว่าดันเต้แทนดูรานเต้ และนั่นก็เป็นชื่อที่ทุกคนรู้จัก

ดันเต้ได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่งภาษาอิตาเลียน’ เพราะในขณะที่โลกตะวันตกกำลังฮิตภาษาละติน บทกวีแทบทั้งหมดต้องเขียนด้วยภาษาละติน ดันเต้กลับเขียนงานอย่าง De Vulgari Eloquentia หรือ On Eloquence in the Vernacular ซึ่งประมาณว่าเป็นการปกป้อง ‘ภาษาถิ่น’ โดยบอกว่าภาษาถิ่นหรือ vernacular language ก็มีความงามของมันเองแตกต่างกันไปเหมือนกัน ถ้าเปรียบไปก็เหมือนคนไทยสมัยนี้ที่ยกภาษาถิ่นของภาคต่างๆ ขึ้นมาเทียบเท่ากับภาษาไทยภาคกลางนั่นเอง

ดันเต้เองก็ใช้ภาษาถิ่นแบบทัสคาน (Tuscan dialect) ในการเขียนงานด้วยเหมือนกัน การรวบรวมภาษาถิ่นแบบต่างๆ ของดันเต้นั้น ทำให้เกิดภาษาอิตาเลียนขึ้นมา โดย Divine Comedy งานชิ้นใหญ่ที่สำคัญยิ่งนั้นถือกันว่าเป็นงานที่ช่วยสร้าง ‘มาตรฐาน’ ภาษาอิตาเลียนขึ้นอย่างสำคัญ

ที่จริงแล้ว ดันเต้น่าจะเป็นผู้ชายที่โรแมนติกเอามากๆ คนหนึ่งเลยทีเดียว เพราะถ้าคุณไปอ่านประวัติดันเต้ ทุกที่จะต้องบันทึกเรื่อง ‘รักแรก’ ของดันเต้เอาไว้เสมอ

ดันเต้เล่าว่า เขาได้พบกับหญิงผู้เป็นที่รักชั่วชีวิตของเขาเมื่อตอนเขาอายุแค่เก้าขวบเท่านั้นเอง ผู้หญิงคนนั้นคือ เบียทริซ ปอร์ทินารี (Beatrice Portinari) เขาบอกว่ามันคือ ‘รักแรกพบ’ แต่ปัญหาก็คือ ดันเต้เห็นเบียทริซจากที่ไกล และไม่ได้เข้าไปพูดคุยอะไรกับเธอ

พออายุได้สิบสองขวบ ดันเต้ก็ถูกจับหมั้นกับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง คือ เจมมา ดิ มาเน็ตโต้ โดนาติ (Gemma di Manetto Donati) ซึ่งเป็นตระกูลนายธนาคารที่มีอำนาจและร่ำรวย การที่พ่อแม่หมั้นหมายลูกเอาไว้ล่วงหน้าแบบนั้นถือเป็นเรื่องปกติของยุคสมัย แต่กระนั้นก็ดูเหมือนดันเต้จะปักใจรักแต่เบียทริซ เขาบอกว่าหลังอายุสิบแปดปี เขาได้พบเบียทริซอีกหลายหนตามท้องถนนของฟลอเรนซ์และถึงขั้นได้ทักทายเธอด้วย แต่กระนั้นทั้งคู่ก็เรียกไม่ได้ว่ารู้จักมักจี่กัน

ดันเต้เขียนบทกวีแบบซอนเน็ต (Sonnet) ให้กับเบียทริซหลายชิ้น แต่เขาไม่เคยเขียนอะไรให้เจมมาเลย แม้ว่าจะแต่งงานกันแล้วก็ตาม แต่แล้วเมื่ออายุได้ 24 ปี เบียทริซก็เสียชีวิต เธอเสียชีวิตโดยอาจไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าดันเต้รู้สึกอย่างไรกับเธอ แต่ดันเต้ก็ทำให้เบียทริซกลายเป็นอมตะด้วยการเขียนบทกวีถึงความงามของเธอเอาไว้

กระทั่งในมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง Divine Comedy เบียทริซก็อยู่ในนั้น กับในภาคสวรรค์ (Paradiso) ภาคสุดท้ายของมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ดังเกล่า เพราะเขาหาได้เงยหน้าขึ้นมองจักรวาลและฟ้าสวรรค์อันงดงามยิ่งใหญ่ไม่ เขาเลือกจะมองแต่เธอเท่านั้น ในขณะที่เจมมาผู้น่าสงสารไม่มีซีนอะไรในบทกวีไหนเลยของดันเต้

3

ในยุคของดันเต้ ฟลอเรนซ์มี ‘การเมือง’ ใหญ่อยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือการแบ่งแยกระหว่างฝั่ง ‘เกลฟ์’ (Guelphs) และ ‘กิเบลลิเน’ (Ghibellines)

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องที่สืบทอดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ลากยาวมาจนถึงศตวรรษที่ 12 และ 13 โดยสืบเนื่องมาจากสองตระกูลที่ขัดแย้งกัน กิเบลลิเนสนับสนุนจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่นำโดยจักรพรรดิฟรีดริช บาร์บารอซซา ซึ่งแผ่ขยายอำนาจมาในอิตาลี แต่ตระกูลเกลฟ์เป็นตระกูลที่ต่อต้านการขยายอำนาจนี้ โดยสนับสนุนพระสันตะปาปาหรือ ‘รัฐสันตะปาปา’ (Papal State)

โปรดสังเกตว่า ทั้งศาสนาทั้งรัฐในยุคนั้นมันปนเปยุ่งเหยิงกันไปหมด ไม่มีแนวคิดที่ว่า ศาสนากับรัฐควรจะแยกขาดออกจากกัน แต่ศาสนาเองกลับมีสถานเป็น ‘รัฐ’ แห่งหนึ่งด้วยซ้ำ โดยรัฐสันตะปาปานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 โดยถือกันว่า พระสันตะปาปาทรงถือดาบสองเล่ม คือดาบทางโลกและดาบทางศาสนา นั่นคือต้องมีอำนาจในการปกครองทางการเมืองและเป็นประมุขของศาสนาไปด้วยในเวลาเดียวกัน พระสันตะปาปาจึงเป็นทั้งสังฆราชและกษัตริย์ไปในตัว ซึ่งน่าจะเป็นคอนเซ็ปต์ที่แปลกประหลาดอยู่ในปัจจุบันไม่น้อย

แม้ว่าความขัดแย้งของเกลฟ์กับกิเบลลิเนจะไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงในฟลอเรนซ์เท่านั้น แต่ความขัดแย้งนี้เข้มข้นเป็นพิเศษในฟลอเรนซ์ ซึ่งก็ส่งผลมาถึงดันเต้ด้วย โดยดันเต้นั้นสนับสนุนฝ่ายเกลฟ์ แต่ต่อมาในปี 1289 หลังจากฝ่ายเกลฟ์ได้รับชัยชนะเหนือกิเบลลิเนแล้ว เกลฟ์ก็ต่อสู้กันเอง

เกลฟ์ในฟลอเรนซ์แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายขาวกับฝ่ายดำ (White และ Black Guelphs) โดยที่ฝ่ายดำนั้นยังสนับสนุนอำนาจของพระสันตะปาปาอยู่เหมือนเดิม แต่เกลฟ์ขาวต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะเริ่มจะไม่สนับสนุนพระสันตะปาปาขึ้นมา โดยเฉพาะพระสันตะปาปาโบนิเฟซที่แปด เนื่องจากโป๊ปองค์นี้พยายามครองอำนาจในทางโลกมากขึ้นจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นโป๊ปที่ ‘แข็งแกร่ง’ ที่สุดองค์หนึ่ง โดยเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการทางโลกหลายอย่างมาก แม้กระทั่งในสงครามประกาศอิสรภาพของสก็อตแลนด์ครั้งแรก และโป๊ปโบนิเฟซที่แปดก็วางแผนจะบุกยึดฟลอเรนซ์ด้วยกำลังทหารด้วยซ้ำ

แน่นอน ดันเต้เป็นเกลฟ์ขาว คือไม่สนับสนุนพระสันตะปาปา แต่ปัญหาก็คือเกลฟ์ดำกลับได้ชัยขนะในฟลอเรนซ์ในช่วงที่ดันเต้อยู่ในโรม นั่นทำให้เขาถูกประณามและถูกตั้งข้อหาว่าฉ้อฉล จนในที่สุด ดันเต้ก็ถูกเนรเทศจากฟลอเรนซ์ และต้องอาศัยอยู่ในกรุงโรมแทน ทรัพย์สินบ้านช่องของเขาในฟลอเรนซ์ถูกพวกเกลฟ์ดำยึดไปหมด ถ้าเขากลับฟลอเรนซ์ ก็มีโอกาสเสี่ยงที่ดันเต้จะถูกเผาทั้งเป็น

ดันเต้กับเกลฟ์ขาวพยายามร่วมมือกันรื้อฟื้นอำนาจกลับคืนมาแต่ก็ล้มเหลว ว่ากันว่า ในช่วงก่อนหน้าที่เขาจะเขียน Divine Comedy ดันเต้ออกเดินทางมากมาย บางคนถึงกับอ้างว่าเขาเดินทางไปปารีสและไปถึงออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ และเป็นช่วงนี้นี่เองที่เขาเกิดแนวคิดในการเขียน Divine Comedy ขึ้นมา

ใน Divine Comedy เขาก็เขียนให้พระสันตะปาปาเป็นหนึ่งใน ‘ตัวร้าย’ ด้วยเช่นกัน โดย Divine Comedy นั้น เริ่มต้นในนรก ก่อนจะพาทัวร์ขึ้นไปที่ไฟชำระ แล้วไปจบที่สวรรค์ ซึ่งในนรกนั้น เขาเล่าถึงคนที่ชั่วร้ายทั้งหลาย มีทั้งโจร พวกหน้าไหว้หลังหลอก ศาสดาปลอม พ่อมดหมอผีต่างๆ พวกนกต่อยั่วยวน นักเล่นแร่แปรธาตุ รวมไปถึงพวกที่ขาย ‘ใบแก้บาป’ ด้วย และแน่นอน ดันเต้ย่อมไม่พลาดเขียนถึงพระสันตะปาปาบางองค์ (รวมถึงโบนิเฟซที่แปด) ว่าอยู่ในนรกด้วย

เรื่องที่ย้อนแย้งมากเรื่องหนึ่งก็คือ ในปี 1312 จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ คือเฮนรีหรือไฮน์ริกที่เจ็ดแห่งลักเซมเบิร์ก ได้บุกอิตาลี ดันเต้เชียร์เฮนรีให้บุกยึดฟลอเรนซ์ด้วยเพื่อจะได้ทำลายพวกเกลฟ์ดำเสีย ว่ากันว่าในยุคนั้น ใครไม่เลือกข้างคือพวกเห็นแก่ตัวเสียจนไม่ควรค่าแก่การสนับสนุน ชาวฟลอเรนซ์ต้องเป็นเกลฟ์ดำหรือขาวเท่านั้น แม้แต่ดันเต้ก็ยังเคยเขียนไว้ว่า “The darkest places in hell are reserved for those who maintain their neutrality in times of moral crisis” ซึ่งหมายความว่า ในยามที่เกิดวิกฤตทางศีลธรรมนั้น พวกที่ไม่เลือกข้างจะต้องตกนรกหมกไหม้ขั้นลึกที่สุดอะไรทำนองนั้น แต่เมื่อจักรพรรดิเฮนรีบุกฟลอเรนซ์ พระองค์กลับชิงชังการแบกข้างเลือกฝักฝ่ายแบบนี้ยิ่งนัก

ในปี 1315 ฟลอเรนซ์ถูกบีบให้ต้องนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกเนรเทศ ซึ่งก็รวมถึงดันเต้ด้วย แต่การจะกลับมาฟลอเรนซ์ก็ยังต้องเสียค่าปรับ ดันเต้จึงไม่ยอมกลับฟลอเรนซ์และเขาไม่ได้กลับไปบ้านเกิดเมืองนอนอีกเลยจนกระทั่งเสียชีวิต

4

ดันเต้เสียชีวิตที่เมืองราเวนนา (Ravenna) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลีในปี 1321 เมื่ออายุราว 56 ปี เขาตายเพราะโรคมาลาเรียหลังกลับจากเวนิซ ความตายของดันเต้ไม่มีอะไรแปลกพิสดาร ร่างของเขาถูกฝังเอาไว้ที่โบสถ์ในเมืองราเวนนานั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในปี 1329 แรงแค้นของศาสนจักรที่มีต่อดันเต้ยังไม่หมดไป คาร์ดินัลรูปหนึ่งได้ประกาศว่าดันเต้เป็นพวกนอกรีต และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหากระดูกของซากร่างดันเต้ที่ยังเหลืออยู่ เพื่อนำมาเผาทำพิธีคล้ายๆ สาปส่ง แต่ก็มีผู้คัดค้าน เพราะไม่อยากจะให้เกิดการทำลายซากร่างของดันเต้ทั้งที่เขาก็เสียชีวิตไปแล้ว

ต่อมาภายหลังอีกนับร้อยปี เมื่อ Divine Comedy กลายเป็นสมบัติสำคัญของโลกไปแล้ว เมืองฟลอเรนซ์ก็เริ่มเสียใจที่ได้เนรเทศดันเต้ไป ทางการพยายามอย่างยิ่งที่จะร้องขอให้มีการนำศพของดันเต้ กลับมาฝังที่บ้านเกิดของเขา

ในปี 1513 โป๊ปลีโอที่สิบ ซึ่งถือว่าทรงอำนาจมากเพราะเป็นโป๊ปที่มาจากตระกูลเมดิซีด้วย ได้ส่งตัวแทนไปยังเมืองราเวนนาเพื่อขอกระดูกดันเต้คืนบ้านเกิด โดยมีมิเกลันเจโลเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ โป๊ปลีโอออกคำสั่งเรียบร้อยแล้วให้นำศพของดันเต้กลับฟลอเรนซ์ แต่พระนิกายฟรานซิสกันที่ดูแลโบสถ์อยู่ไม่ยอม มีการขุดกระดูกของดันเต้ขึ้นมา แล้วนำไป ‘ซ่อน’ ด้วยการโบกทับเอาไว้บนผนังของอารามเพื่อป้องกันไม่ให้พวกฟลอเรนซ์มาชิงกระดูกของดันเต้ไป ขบวนพระจากโป๊ปลีโอที่สิบจึงมาพบแต่ความว่างเปล่า

ในปี 1677 มีการรื้อกำแพงแล้วนำกระดูกของดันเต้มาใส่โลงใหม่ แล้วเมื่อถึงปี 1781 ก็นำกระดูกนั้นคืนสู่โลงดั้งเดิม รวมทั้งมีการสร้างอนุสรณ์สถานสำหรับดันเต้ด้วย แต่พอถึงปี 1810 ก็มีการนำกระดูกของดันเต้กลับไปซ่อนอีกครั้งเนื่องจากถูกฝรั่งเศสบุก

ฟลอเรนซ์เองก็พยายามอย่างยิ่งที่จะขอศพดันเต้กลับคืนบ้านเกิด มีการสร้างหลุมศพของดันเต้อย่างสวยงามในมหาวิหาร Basilica of Santa Croce เมื่อปี 1829 โดยเขียนคำอุทิศไว้ให้ว่า Onorate I’altissimo poeta หรือ Honour the Most Exalted Poet แต่ที่จริงแล้วหลุมศพนั้นว่างเปล่า

กระดูกของดันเต้ถูกนำไปซ่อนเอาไว้เป็นอย่างดีจนในที่สุดก็ไม่มีใครรู้ว่าซ่อนอยู่ที่ไหน จนกระทั่งในปี 1865 คนงานที่มาปรับปรุงโบสถ์เพื่อฉลองวันเกิดครบ 600 ปี ของดันเต้จึงได้ค้นพบที่ซ่อนนั้น กระดูกของดันเต้ถูกเก็บใส่ไว้ในกล่อง และเกือบถูกนำไปฝังรวมกับหลุมศพทั่วไปแล้ว แต่บังเอิญที่ฝากล่องเขียนเอาไว้ว่า Ossa Dantis หรือ Dante’s Bones และพบว่ากระดูกของดันเต้ที่เก็บอยู่ในกล่องนั้นแทบจะสมบูรณ์ จึงมีการนำมาใส่โลงกระจกเพื่อแสดงแก่สาธารณชนอยู่สองสามเดือน ก่อนจะนำกลับไปใส่ในโลงไม้วอลนัต แล้วฝังไว้ใต้อนุสรณ์สถานอีกทีหนึ่ง โดยที่ฟลอเรนซ์ไม่มีโอกาสได้รับกระดูกของดันเต้กลับคืนไป

อย่างไรก็ตาม ‘ศึกชิงกระดูก’ ที่ร้ายกาจที่สุด ได้เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อจอมเผด็จการฟาสซิสต์อย่างมุสโสลินี – ผู้เป็นแฟนพันธุ์แท้งานเขียนของดันเต้ (ถึงขั้นที่มุสโสลินีส่งหนังสือของดันเต้ไป ‘แลกกันอ่าน’ กับฮิตเลอร์) เกิดมีดำริขึ้นมาว่าอยากจะนำกระดูกของดันเต้ไปไว้ในกรุงโรม ก็เป็นภาระของพระอีกครั้งที่จะต้องนำกระดูกของดันเต้ไปซ่อนอีกหน ไม่ใช่แค่ซ่อนจากมุสโสลินีเท่านั้น แต่ต้องป้องกันไม่ให้ถูกทำลายจากระเบิดในสงครามด้วย โดยมีการฝังกระดูกของดันเต้เอาไว้ในสวนตั้งแต่เดือนมีนาคม 1944 ก่อนจะขุดขึ้นมาอีกครั้งในวันที่ 19 ธันวาคม 1945 แล้วนำกลับไปคืนยังอนุสรณ์สถาน

จะเห็นได้ว่า ดันเต้ – มหากวีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งตลอดกาลของโลกตะวันตกนั้น มีชะตากรรมในชีวิตหลังความตายที่พิสดารอย่างยิ่ง เนื่องจากถูกฝังแล้วขุด ขุดแล้วฝังอยู่หลายต่อหลายรอบเนื่องเพราะ ‘อำนาจวรรณกรรม’ ที่ดันเต้ได้สร้างขึ้นนั่นเอง

ไม่น่าเชื่อเลยว่า – อำนาจวรรณกรรมจะสร้างกรรมให้แก่กระดูกของดันเต้ได้มากถึงเพียงนี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save