fbpx

เจ็ดคำสุดท้ายของ ‘จอร์จ ฟลอยด์’ : ลมหายใจที่ถูกพรากไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ภาพจาก TWITTER/RUTH RICHARDSON

1

เมื่อพระเยซูกำลังจะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน กล่าวกันว่าพระองค์ตรัสถ้อยคำสุดท้ายออกมาด้วยกัน 7 ครั้ง แต่ถ้อยคำที่สำคัญที่สุดคือ

“พระบิดาเจ้าข้า โปรดยกโทษให้เขาด้วย เพราะเขาไม่รู้ว่าเขากำลังทำอะไร ” (ลูกา 23:34)

2

ก่อนตาย จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำวัย 46 ปี ผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาใช้ธนบัตรปลอมราคา 20 เหรียญมีช่วงเวลาทุกข์ทรมานกับการขาดลมหายใจนานทั้งหมด 8 นาที 46 วินาที จากการถูกกดคอด้วยเข่านาน 9 นาที 29 วินาที ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2020

เขาไม่ได้พูดถ้อยคำสุดท้ายเพียงเจ็ดครั้ง ทว่าจอร์จ ฟลอยด์ พูดคำว่า “Please” หรือ “ได้โปรดเถิด” มากกว่าห้าสิบครั้งตามการถอดเทปเสียงสนทนาจากฟุตเทจที่ได้จากกล้องของตำรวจ

ไม่ใช่เพียงคำขอร้องนี้เท่านั้น แต่ฟลอยด์ยังพูดอะไรอีกมากมาย รวมถึงการร้องบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าเขาหายใจไม่ออกมากกว่า 20 ครั้ง และวิงวอนร้องขอเจ้าหน้าที่ว่าอย่ายิงเขา

“Please don’t shoot me, Mr. Officer. Please, don’t shoot me, man. Please. Can you not shoot me, man?”

ตำรวจไม่ได้ยิงเขา แต่กดเขาเอาไว้ด้วยเข่า และดังที่เรารู้กันอยู่ว่าเขาขาดใจตาย

และนี่คือเจ็ดคำสำคัญที่ปรากฏในคำร้องขอของเขา

Sir  (แสดงการยอมรับในความเหนือกว่าเชิงอำนาจ)

Please (แสดงการยอมรับในความด้อยกว่าของตัวเอง)

I cannot breathe (พูดเช่นนี้อย่างน้อย 16 ครั้ง

Water (คือการวิงวอนของน้ำ)

Mama (คือการเพรียกหาผู้ให้กำเนิด)

Don’t kill me…I’m about to die… (นี่อาจเป็นการยอมรับความตายก็ได้)

Everything hurts…Mama (นี่อาจคือที่สุดแล้วแห่งชีวิต)

หากใช้มาตรฐานศีลธรรมตามแบบแผน ไม่ว่าจะศีลธรรมแบบใดก็ตาม จอร์จ ฟลอยด์ ไม่อาจนับได้ว่าเป็น ‘คนดี’ ที่ผ่องแผ้วของสังคม ในช่วงปี 1997-2005 เขาถูกกล่าวหาว่าประกอบอาชญากรรมถึงแปดครั้ง และเคยติดคุกอยู่นานถึง 4 ปี หลังจากยอมรับว่าเคย ‘ปล้น’ และบุกรุกบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งนั่นคืออาชญากรรมร้ายแรง

ฟลอยด์เกิดที่นอร์ธแคโรไลนาในวันที่ 14 ตุลาคม 1973 เมื่ออายุได้สองขวบ พ่อแม่ของเขาแยกทางกัน แม่พาเขาไปอยู่ในบ้านพักสำหรับคนยากจนของทางการ เรียกได้ว่าชีวิตวัยเด็กของเขาไม่ค่อยสุขสบายเท่าไหร่นัก แต่ด้วยความที่เขาเล่นฟุตบอลและบาสเกตบอลเก่ง สุดท้ายจึงได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยด้วยทุนนักกีฬา ด้วยความที่เขาสูงมากถึง 198 เซนติเมตร จึงได้เปรียบในเรื่องนี้

ตอนที่มีการชันสูตรพลิกศพเขา ร่างของเขาหดเล็กลงกว่าที่เคยเป็น ทางการวัดความสูงที่เคยปราดเปรียวของเขาได้เพียง 193 เซนติเมตร และหนัก 101 กิโลกรัม

3

รายละเอียดในชีวิตของคนเพียงหนึ่งคนนั้น แท้จริงแล้วมากมายเกินกว่าเราจะรับรู้ทั้งหมดได้ในชั่วครู่ เราจึงอาจไม่รู้ว่าฟลอยด์เคยเป็นนักร้องแร็พมาก่อน เขาใช้ชื่อในการแสดงว่า Big Floyd สมัยร่วมอยู่กับวงฮิปฮอปชื่อ Screwed Up Click นิวยอร์กไทม์ส ยังเคยเขียนบรรยายถึงเสียงอันทุ้มต่ำของเขาว่าเป็นเสียงที่ ‘มีเป้าหมาย’ หรือ purposeful มาแล้ว

แม้จะอยู่ในย่านที่มีอาชญากรรมสูง แต่ย่านที่เขาอยู่ก็เป็นย่านที่ ‘เคร่งศาสนา’ มากด้วยเช่นกัน ฟลอยด์จึงมีโอกาสทำงานเป็นพี่เลี้ยงเยาวชนให้กับองค์กรศาสนา เขาใช้โอกาสที่ตัวเองเคยมีประสบการณ์ติดคุกมาก่อนมาสอนเด็กๆ เป็นข้อเตือนใจ โดยบอกว่าตัวเขาเองก็มีความ ‘บกพร่องเว้าแหว่ง’ บางประการอยู่ด้วย (เขาใช้คำว่า shortcomings และ flaws ในการบรรยายถึงอดีตเลวร้ายของตัวเอง) เขาบอกทุกคนว่าสิ่งที่เขาและผู้คนในละแวกนั้นทำได้ก็คือการวางปืนและความรุนแรงลง และร่วมกันรำลึกให้ได้ว่า ไม่ว่าชีวิตจะยากลำบากเพียงใด พวกเขาล้วนได้รับความรักจากพระเจ้าหรือพระบิดาองค์เดียวกัน

นั่นเป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างยิ่ง

พร้อมกับการเป็นพี่เลี้ยงเยาวชน ในช่วงเวลาวัยหนุ่มอันยาวนาน ฟลอยด์ทั้งครอบครองยาเสพติด ลักเล็กขโมยน้อย บุกรุก และงัดแงะ พร้อมกับที่เขาสอนคนอื่นๆ ให้วางอาวุธ ครั้งเมื่อบุกรุกเข้าไปในอพาร์ตเมนต์หลังหนึ่ง เขาไม่ได้เข้าไปมือเปล่า แต่เข้าไปพร้อมกับอาวุธปืนที่ร้ายแรงถึงตาย และจี้อาวุธนั่นไปที่ผู้หญิงคนหนึ่งขณะค้นหาข้าวของที่กำลังขโมย

นั่นเองที่ทำให้เขาถูกจับหลังจากนั้น 7 เดือน และติดคุกอยู่นาน 4 ปี

หลังออกจากคุก ฟลอยด์กลับไปทำงานให้กับโบสถ์อีกครั้งโดยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเยาวชนหนุ่มๆ และยังคงพูดเรื่องคล้ายๆ เดิม นั่นคือการต่อต้านการใช้ความรุนแรงในโซเชียลมีเดีย เขายังทำหน้าที่นำอาหารไปให้ผู้สูงวัยด้วย เพื่อนหลายคนเชื่อว่า เขาอาจเคยทำผิดพลาดมาแล้วในอดีต แต่เขากำลังพยายาม ‘เปลี่ยน’ ชีวิตของตัวเองโดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องนำทาง

ศาสนา ความรุนแรง ความยากจน และโอกาสในชีวิต

สิ่งเหล่านี้คลุกเข้าหากันราวเป็นเนื้อเดียว

4

ถ้าชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงได้ง่ายดังที่เราต้องการก็คงดีใช่ไหม แต่น้อยครั้งเหลือเกินที่มันเป็นเช่นนั้น

ฟลอยด์ย้ายมามินนีอาโพลิสในปี 2014 ด้วยความหวังจะเปลี่ยนแปลงชีวิตและงานของเขาทั้งหมด เขาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์พักพิงคนไร้บ้านแห่งหนึ่ง เขาวาดหวังว่าจะสามารถสอบใบขับขี่เชิงพาณิชย์เพื่อจะได้รับงานขับรถบรรทุกได้ เขาผ่านการทดสอบยาเสพติด และอดีตที่เคยติดคุกก็ไม่ตามมาแผ้วพานเขา สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ปัญหาเลย แต่ปัญหาก็คือชั้นเรียนเพื่อสอบใบขับขี่ที่ว่านี้เปิดสอนในช่วงเช้า แต่ช่วงนั้นฟลอยด์ต้องทำงานในไนต์คลับจนดึกดื่นเพื่อหาเงิน เขาจึงพลาดโอกาสนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

ฟลอยด์ยังคงวนเวียนกับงานพนักงานรักษาความปลอดภัยในที่ต่างๆ ระหว่างนั้น เขาต้องต่อสู้กับอาการติดยาไปด้วย เขาพยายามหาเงินเพิ่มด้วยการรับจ็อบเป็นพนักงานขับรถส่งของ แต่ด้วยความที่เขาไม่ได้มีใบขับขี่เชิงพาณิชย์ สุดท้ายเขาก็เสียงานนี้ไป

เมื่อคลื่นแห่งโรคระบาดกระหน่ำมินเนสโซตาในปี 2019 คลับที่เขาทำงานประจำเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยต้องปิดตัวลง ฟลอยด์จึงตกงาน สถานการณ์ทางการเงินของเขาย่ำแย่ลง ร้ายไปกว่านั้นก็คือฟลอยด์ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย แต่โชคดีที่เขาฟื้นตัวเร็วเนื่องจากร่างกายแข็งแรง

ฟลอยด์ไม่รู้เลยว่า หลังรอดจากโควิด-19 แล้ว ในอีกหนึ่งเดือนถัดมา เขาจะตาย

ไม่ใช่เพราะโรคร้ายหรือความยากจน

แต่ตายเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้เขาขาดไร้ซึ่งลมหายใจ

5

              แล้วพระเจ้าทรงเอาดินจากพื้นดินปั้นให้เป็นชาย ทรงระบายลมหายใจเข้าสู่จมูกชายที่ทรงปั้นขึ้น ทำให้รูปปั้นนั้นมีชีวิต ชายนั้นจึงมีชีวิตขึ้นมา (ปฐมกาล 2:7)

ในคริสตศาสนา กล่าวกันว่าลมหายใจของเราไม่ใช่ลมหายใจของเรา แต่เพราะพระเจ้าทรงระบายลมหายใจให้กับเรา เราจึงมีชีวิต และไม่มีใครมีสิทธิพรากลมหายใจนี้ไปจากเรา แม้กระทั่งตัวของเราเอง

เมื่อจอร์จ ฟลอยด์ ร้องเรียกหามารดาของเขาเพราะทุกสิ่งในร่างกายล้วนเจ็บปวด ท้อง ลำคอ และปอด – ปอดที่ไม่อาจสูดลมหายใจเข้าไปได้อีกแล้วนั้น เขากำลังร่ำร้องบอกผู้ให้กำเนิด ผู้ให้ชีวิตของเขาว่า เขากำลังจะตาย เขากำลังจะจากไป เขารู้ว่าอีกเพียงนิดก็จวนเจียนแล้วที่ใจจะขาด

เสียงร้องนั้นของจอร์จ ฟลอยด์ อาจเป็นเสียงของคนที่เคยก่ออาชญากรรมมาก่อน เคยติดคุก เคยหันปืนไปขู่ผู้อื่น เคยขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง เคยเสพยา แต่มันคือเสียงร้องเดียวกันของมนุษย์ เสียงที่ร้องถามว่าความยุติธรรมอยู่ที่ไหน และทำไมมนุษย์จึงไม่สามารถจะเพรียกหาความเท่าเทียมในเสรีภาพ การเยียวยา พละกำลัง ความแข็งแกร่ง อาหาร ที่พำนัก น้ำ และกระทั่งความเข้าอกเข้าใจได้อย่างเสมอหน้ากันเล่า

จอร์จ ฟลอยด์ อาจสงสัยในนาทีสุดท้ายก็ได้ว่าพระเจ้าสร้างโลกเช่นนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

รัฐ ได้สร้างเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้ขึ้นมาได้อย่างไรกัน

และทำไมเขาจึงต้องอาศัยอยู่ในโลกเช่นนี้

6

เราไม่รู้หรอกว่า ในขณะจิตสุดท้าย จอร์จ ฟลอยด์ ได้ให้อภัยคนที่กำลังฆ่าเขาเหมือนที่พระเยซูพยายามอธิษฐานต่อพระบิดาของพระองค์ให้ยกโทษให้คนเหล่านั้น เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ไหม

บ่อยครั้งเมื่อสถานการณ์ในโลกอันโหดร้ายนี้บีบคั้นและทำร้ายผู้คนมากมายจนคับแค้นและแทบระเบิดพลุ่งจนหัวใจกลายเป็นผุยผงอันไร้ค่าใต้ส้นตีนของอำนาจ เราจะสงสัยเสมอว่าพระเยซูทำอย่างนั้นได้อย่างไร

และเราจะมีหนทางทำอย่างที่พระองค์สอนได้ไหม

หรือเราอยากทำสิ่งตรงข้าม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save