fbpx

ความลับของ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ชายผู้ชังคนชังชาติสุดชีวิต

คนไทยอาจไม่คุ้นชื่อ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ (J. Edgar Hoover) สักเท่าไหร่ แต่ต้องบอกว่าผู้ชายคนนี้คือ ‘ปรากฏการณ์’ สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมการเมืองสหรัฐอเมริกายาวนานถึงราว 5 ทศวรรษ

เขาคือผู้อำนวยการคนแรกของเอฟบีไอที่ทำงานต่อเนื่องถึง 48 ปี หลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1972

ถ้าใครเคยดูละครหรือหนังเรื่อง Les Miserable ก็อาจพอเดาบุคลิกของคนแบบฮูเวอร์ได้ไม่ยาก เขาเป็นเหมือนฌาแวร์ (Javert) ตัวละครนักสืบตำรวจผู้ยึดมั่นใน ‘ความดี’ อย่างเหลือแสน เพลงเอกในละครเพลง Les Miserable ที่ฌาแวร์ร้อง คือเพลง Stars ซึ่งมีเนื้อร้องเหมาะสมกับ ‘ความเป็นคนดี’ ประเภทที่ดีเหนือดีมาก เขาร้องเพลงนี้ขณะที่จะต้องออกล่า ‘คนชั่ว’ โดยบอกว่าคนชั่วที่มีบาปผิดเริ่มต้นจากแค่การขโมยขนมปังนั้น เป็นพวกที่ ‘ร่วงหล่นจากพระเจ้า’ และจะต้องร่วงหล่นลงไปในเปลวไฟและคมดาบ แบบเดียวกับที่ปีศาจลูซิเฟอร์เคยร่วงหล่นมาแล้ว

จะเห็นว่าโลกของฌาแวร์เป็นขาวกับดำชัดเจนมาก

ที่น่าสนใจก็คือสำนึก ‘คนดี’ แบบที่ฌาแวร์มีนั้น เป็นสำนึกที่เหล่า ‘คนดี’ จำนวนมากทั่วโลกมีร่วมกัน มันคือสำนึกของการดีเหนือดีจนถือเป็นสิทธิอำนาจของตัวเองในอันที่จะ ‘กำจัด’ คนอื่นๆ ออกไปจากโลกนี้

เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ก็เช่นเดียวกัน

คนคนหนึ่งที่ฮูเวอร์เคยพยายาม ‘กำจัด’ ออกไปจากประเทศสหรัฐอเมริกาให้ได้ด้วยความจงเกลียดจงชัง และตามล่าล้างผลาญมานานหลายปีก็คือ ดาวตลกชื่อดังอย่าง ชาร์ลี แชปลิน

เขาเชื่อว่าแชปลินเป็นพวก ‘ชังชาติ’ เป็นคน ‘ขายชาติ’ เพียงเพราะแชปลินมีแนวคิดทางการเมืองแบบ ‘ซ้าย’ และไม่รีรอจะนำเสนอแนวคิดเหล่านั้นไว้ในหนังของเขา หนังของแชปลินนั้นแม้เป็นหนังตลก แต่ก็มีมุมวิพากษ์สังคมอเมริกันหลายด้านที่เจ็บแสบและทิ่มแทง ฮูเวอร์คิดว่าแชปลินเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และพยายามเผยแพร่แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ไปทั่ว ดังนั้น เมื่อแชปลินเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปถ่ายทำหนัง เขาจึงหาช่องทางกฎหมายทำให้แชปลินกลับเข้าประเทศได้ยาก นั่นคือถ้าจะกลับเข้ามา ต้องผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Naturalization ซึ่งสำหรับคนทั่วไปคือการสมัครเข้ารับสัญชาติ แต่แชปลินรู้ดีว่า เขาต้องเผชิญกับการสอบสวนอย่างหนักหน่วงว่าเหมาะสมจะเป็นพลเมืองอเมริกันหรือไม่ เขาจึงไม่กลับไปสหรัฐอเมริกาอีกเลยเป็นเวลานานหลายสิบปี จนออสการ์เชิญให้เขาไปรับรางวัลเกียรติยศนั่นแล้ว เขาจึงยอมไป

นั่นทำให้อเมริกาสูญเสียทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สำคัญมากไปอย่างประเมินค่ามิได้

ฮูเวอร์เกิดที่วอชิงตัน ดีซี ไม่ใช่แค่ในเขตเมืองหลวงนี้เท่านั้น แต่เขายังเกิดในย่าน Capitol Hill หรือย่านรัฐสภาอเมริกันอีกต่างหาก เป็นไปได้ว่านี่อาจมีส่วนสร้างเลือดรักชาติและเลือด ‘คนดี’ ของเขา เขาอาศัยอยู่ในวอชิงตัน ดีซี ตลอดทั้งชีวิต เกิดที่นั่น ตายที่นั่น เรียนหนังสือในโรงเรียนประถมและมัธยมที่นั่น และระหว่างเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน เขาก็ทำงานไปด้วยกับห้องสมุดของสภาคองเกรส

เมื่อเรียนจบ ฮูเวอร์เข้าทำงานในกระทรวงยุติธรรมเพื่อทำงานในแผนกสถานการณ์ฉุกเฉิน (War Emergency Division) แล้วไม่นานนัก ด้วยความที่เขามุ่งมั่นจริงจัง ก็ได้เลื่อนขึ้นมาเป็นหัวหน้าส่วนที่เหมาะสมกับนิสัยของเขาอย่างยิ่ง นั่นคือ Alien Enemy Bureau ซึ่งมีหน้าที่ในการเฝ้าจับตาดูพวก ‘ศัตรูของชาติ’ ทั้งหลาย

แผนกพวกนี้อาจจะมีชื่อที่ฟังดูแปลกๆ แต่มันมีอยู่จริง โดยเฉพาะในยุคนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน จึงให้อำนาจกับงานทำนองนี้เป็นพิเศษ มีการออกกฎหมายจารกรรมที่เรียกว่า 1917 Espionage Act ซึ่งให้อำนาจหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ในการทำอะไรๆ ได้หลายอย่าง เช่นจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าจะเข้ามาทำมิดีมิร้ายกับชาติเป็นต้น ในปี 1921 ฮูเวอร์ผงาดขึ้นมาเป็นผู้ช่วยของสำนักสอบสวนหรือ Bureau of Investigation ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นคล้ายๆ สันติบาล แล้วไม่นานนักก็ขึ้นเป็นหัวหน้า โดยต้องควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ 650 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่สืบสวน 441 คน

ที่น่าสนใจก็คือ เขาไล่เจ้าหน้าที่สืบสวนที่เป็นผู้หญิงออกไปทั้งหมด แล้วสั่งห้ามการจ้างเจ้าหน้าที่สืบสวนหญิงอีกโดยไม่มีใครรู้เหตุผลว่าทำไม

เราอาจรู้สึกว่า ฮูเวอร์เป็น ‘คนดีเหนือดี’ (ที่ในปัจจุบันฟังดูน่ารังเกียจไม่น้อย) แบบนี้มาตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่สถานที่เกิด จนถึงการทำงานในยุคแรกเริ่มของชีวิต ซึ่งเป็นยุคที่เกิดการ ‘ฟอร์ม’ ตัวตนของเขาขึ้นมา แต่การวาดภาพเขาแบบนั้นอาจไม่ยุติธรรมกับเขาสักเท่าไหร่ เพราะการเติบโตและการฟอร์มตัวตนของฮูเวอร์ยังขึ้นอยู่กับ ‘ภาพใหญ่’ อีกหลายเรื่อง

ใช่ – เรื่องแรกคือสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งอุบัติขึ้นในช่วงที่เขาเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่พอดี เรื่องถัดมาก็คือสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ The Great Depression ซึ่งส่งผลต่อทุกภาคส่วนของสังคม เมื่อคนไม่มีจะกิน ไม่มีเงินทอง ก็เกิดอาชญากรรมแพร่กระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในแถบมิดเวสต์ เกิดแก๊งอาชญากรรมแบบมาเฟีย หรือที่เรียกว่า organized crime เต็มไปหมด

อาชญากรรมเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรรมเล็กๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นอาชญากรรมที่กระทำต่อมลรัฐ เช่นการปล้นชิงหน่วยงานต่างๆ ของมลรัฐ การปล้นธนาคาร หรือปล้นรถไฟและรถบรรทุกที่ขนส่งสิ่งมีค่าต่างๆ โดยมักเกิดขึ้นตามเส้นรอยต่อของมลรัฐต่างๆ เรียกว่าพอปล้นแล้วหนีข้ามรัฐไป มลรัฐนั้นๆ ก็ไม่มีอำนาจที่จะติดตามต่อ ต้องประสานงานกันอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ยากต่อการควบคุมดูแล นั่นทำให้รัฐบาลกลางต้องยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง

สภาวะที่บีบคั้นเหล่านี้ทำให้ฮูเวอร์ค่อยๆ ฟอร์มตัวตนของ ‘คนดี’ เหนือดีขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ เขาจัดการปราบอาชญากรรมเหล่านี้ ควานหาตัวผู้ร้ายต่างๆ โดยเฉพาะกับ จอห์น ดิลลิงเจอร์ (John Dillinger) ที่ขึ้นชื่อเรื่องเป็นจอมโจรปล้นธนาคาร โดยฮูเวอร์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการหาข้อมูลต่างๆ ที่ทำให้จับกุม (ที่จริงคือทำวิสามัญฆาตกรรม) ได้สำเร็จ เขายังได้รับเครดิตในการทำงานอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสืบสวนเรื่องการปล้นธนาคาร

ในปี 1935 Bureau of Investigation ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Federal Bureau of Investigation หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ FBI องค์กรนี้ทำงานที่มีความก้าวหน้าหลายอย่างภายใต้การดูแลของฮูเวอร์ เช่นการนำระบบจัดเก็บลายนิ้วมือมาใช้เพื่อระบุตัวผู้ต้องหา การขยายและสร้างห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์หลักฐาน ทำให้เอฟบีไอเป็นหน่วยงานที่ก้าวล้ำนำหน้าในเรื่องการสอบสวนมาก

ถ้าย้อนกลับไปดูผลงานและเกียรติภูมิในการทำงานของฮูเวอร์ เราจะพบว่ามีอยู่มากมายนับไม่ถ้วนที่เขาช่วยปกป้องประเทศให้พ้นภัยได้จริงๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ฮูเวอร์ก็มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อ ‘ภัยคุกคามชาติ’ ที่อ่อนไหวและไวเกินไป โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้คนธรรมดาๆ ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากเขา

ฮูเวอร์ไม่ได้มีอะไรต่างจากพวก ‘ฝ่ายขวา’ ทั่วไปในยุคนี้เลย โดยเฉพาะความไม่ไว้วางใจกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย เขาจับตามองคนทำงานด้านนี้จำนวนมาก และเขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อกดดันคนเหล่านี้ โดยบอกว่าการที่คนเหล่านี้ทำงานเรียกร้องสิทธิและมีลักษณะที่ ‘ซ้าย’ นั้น เป็นเรื่องที่ ‘ไร้ความรับผิดชอบ’ ต่อบ้านเมือง

เขาสั่งจับตามองคนอย่าง จอห์น เลนนอน (แน่ละ – เลนนอนเขียนเพลงอย่าง Imagine นี่นา) คนอย่างมัลคอล์ม เอ็กซ์ ที่เรียกร้องสิทธิของคนผิวสี และแม้กระทั่งคนที่ปฏิเสธไม่ยอมเป็นทหารโดยอ้างบทบัญญัติทางศาสนาของตนอย่าง โมฮัมหมัด อาลี

แต่คนที่ถูกจับตามองและเป็น ‘เป้าหมาย’ ของฮูเวอร์มากที่สุดก็คือ มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์

ครั้งหนึ่ง แจ็กเกอลีน เคนเนดี้ บอกว่าฮูเวอร์เคยแจ้งกับประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ว่า มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ พยายามจะจัด ‘ปาร์ตี้เซ็กซ์หมู่’ ในการเดินขบวนประท้วงที่วอชิงตัน หรือไปบอกกับโรเบิร์ต เคนเนดี้ ว่าคิงไปพูดจาดูถูกอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ในงานศพของเขาเอง

แต่ที่ทำให้หลายคนอึ้งมากที่สุดก็คือ ฮูเวอร์จัดทำจดหมายแบล็กเมล์แบบนิรนาม (คล้ายๆ บัตรสนเท่ห์) ส่งไปหาคิงเป็นจำนวนมาก โดยวางเป้าหมายไว้ว่าจะกดดันและทำให้คิงฆ่าตัวตาย

อีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลังมากก็คือ การกระทำประเภท ‘ปกปิด’ หรือ ‘สร้างข่าว’ (ถ้าเป็นปัจจุบันก็ต้องบอกว่าเป็น ‘เฟกนิวส์’ ที่ฝ่ายรัฐเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง) โดยเฉพาะข่าวจากเอฟบีไอภายใต้การดูแลของฮูเวอร์ ที่สร้างขึ้นเพื่อป้ายสีคนอื่น

ครั้งหนึ่ง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองหญิงคนหนึ่งถูกกลุ่มคูคลักซ์แคลนสังหาร การสืบสวนพบว่า สมาชิกของกลุ่มคูคลักซ์แคลนคนหนึ่งทำงานอยู่กับเอฟบีไอ นั่นทำให้เอฟบีไอตอบโต้ด้วยการเผยแพร่ข่าวลือว่า นักเคลื่อนไหวหญิงคนนั้นเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ รวมทั้งเป็นหญิงชั่วที่ทิ้งลูกตัวเองเพื่อไปสมสู่อยู่กับคนผิวดำในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง แต่ไม่ได้อธิบายอะไรเลยกับการที่เอฟบีไอมีพนักงานเป็นสมาชิกของคูคลักซ์แคลน

คุณคุ้นกับวิธีการทำนองนี้ไหม?

มันคือการนำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องมาใช้เพื่อ ‘ทำลาย’ อีกฝ่าย แม้ว่าอีกฝ่ายจะตายไปแล้วและโต้ตอบอะไรไม่ได้เลยก็ตาม

ตอนที่ริชาร์ด นิกสัน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 1969 นั้น ฮูเวอร์อายุมากแล้ว เขาอายุ 74 ปี และเริ่มมีเสียงพูดกันในวอชิงตันว่า น่าจะถืงเวลาเกษียณได้แล้ว แต่กระนั้น ฮูเวอร์ก็ยังมีอำนาจและเพื่อนพ้องในสภาคองเกรสจำนวนมาก นั่นทำให้นิกสันไม่กล้าตัดสินใจทำอะไร

มีบันทึกในปี 1971 บอกว่านิกสักพูดออกมาเองว่า หนึ่งในเหตุผลที่เขาไม่ปลดฮูเวอร์ออก ก็เพราะเขากลัวว่าฮูเวอร์จะโต้ตอบเขากลับ และที่จริง ย้อนกลับไปในยุคของประธานาธิบดีแฮรี ทรูแมน กับจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ทั้งสองคนก็เคยพิจารณาเรื่องปลดฮูเวอร์อยู่เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่กล้า เพราะ ‘ผลลัพธ์ทางการเมือง’ ที่จะเกิดขึ้นกับการทำเช่นนั้นใหญ่หลวงเกินไป

ฮูเวอร์อาจเป็นคนน่ากลัว แต่กระนั้นเขาก็ยังมี ‘เพื่อน’ ที่ผู้คนร่ำลือว่าอาจมีความสนิทสนมเกินเพื่อน

ฮูเวอร์ไม่เคยแต่งงาน เขาอาศัยอยู่กับแม่จนถึงอายุ 40 กว่าปี ผู้คนร่ำลือว่า เพื่อนคนหนึ่งชื่อ ไคลด์ โทลสัน (Clyde Tolson) ซึ่งกลายมาเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการของฮูเวอร์ช่วงที่เขาอายุ 40 กลางๆ คือ ‘คนรัก’ ของฮูเวอร์ โทลสันอยู่กับเขาไปจนตาย รวมทั้งได้เป็นทายาทสืบมรดกลำดับแรกของฮูเวอร์ด้วย

มีรายงานว่า ฮูเวอร์เคยขู่จะไล่ล่าและคุกคามใครก็ตามที่พูดเรื่องเพศของเขา คนหนึ่งที่ชอบทำเช่นนั้น ก็คือนักเขียนปากจัดอย่าง ทรูแมน คาโพที (Truman Capote) ที่พยายามทำทุกอย่างให้ฮูเวอร์โกรธ

ฮูเวอร์กับโทลสันทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ฮูเวอร์ถึงขั้นบอกว่า โทลสันนั้นเป็น ‘อีกร่างหนึ่ง’ (Alter Ego)​ ของเขาเลยทีเดียว ทั้งคู่โสด ไปกินข้าวด้วยกันบ่อยๆ ไปเที่ยวไนต์คลับ และไปพักร้อนด้วยกัน แต่คนที่ทำงานในเอฟบีไอต่างออกมาปฏิเสธ บอกว่าทั้งคู่แค่มีความรักกันฉันพี่น้องที่สนิทสนมชิดใกล้เท่านั้นเอง แต่ก็เคยมีผู้พบเห็นว่า ฮูเวอร์ขณะทั้งคู่ไปพักร้อนด้วยกันในบ้านริมชายหาดที่แคลิฟอร์เนีย ฮูเวอร์ได้ทาเล็บเท้าให้กับโทลสัน อันเป็นกิริยาที่น่าจะเกินความเป็นเพื่อน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนประวัติของฮูเวอร์อย่างริชาร์ด แฮ็ก ไม่เชื่อว่าฮูเวอร์จะเป็นคนรักเพศเดียวกัน เขาบอกว่ามีหลักฐานว่าฮูเวอร์เคยมีความสัมพันธ์โรแมนติกกับนักแสดงสาวในช่วงยุค 1930s-1940s รวมทั้งยังเคยออกงานร่วมกับผู้หญิงอย่าง ลีลา โรเจอร์ส (Lela Rogers) ซึ่งเป็นแม่ของจินเจอร์ โรเจอร์ส (Ginger Rogers) นักเต้นชื่อดังในยุค 1940s-1950s ด้วย

ไม่ว่าชีวิตทางเพศของเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม ฮูเวอร์ยังคงเรืองอำนาจอยู่ต่อมาไม่เสื่อมคลายจนถึงช่วงท้ายๆ ของชีวิต เขาครองอำนาจและปกป้องชาติอันเป็นที่รักของตัวเอง รวมถึงผูกขาดความรักชาติเอาไว้กับตัวเหนือคนอื่นๆ ราวกับตัวเองจะเป็นอมตะ ไม่มีวันตาย

แต่แล้วในวันที่ 2 พฤษภาคม 1972 จู่ๆ ฮูเวอร์ก็เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวที่บ้านในวอชิงตัน และเสียชีวิตลงทั้งที่งานหลายอย่างยังดำเนินอยู่

มันคือความตายที่กะทันหัน แม้เขาจะอายุมากแล้ว แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะจากไปรวดเร็วถึงเพียงนี้

พิธีศพของฮูเวอร์ยิ่งใหญ่มาก จัดขึ้นในส่วนหนึ่งของอาคารรัฐสภา ร่างของเขาถูกนำไปฝังในสุสาน Congressional Cemetery อันเป็นสุสานเก่าแก่ของชาติที่มีมาตั้งแต่ก่อนสงครามกลางเมือง และในปัจจุบันถือเป็นสุสานสำคัญแห่งหนึ่งของอเมริกา

ฮูเวอร์จึงผูกพันกับแผ่นดินแม่ของเขาอย่างเหลือเกิน จนอาจพูดได้ว่า ชีวิตของฮูเวอร์เป็นหนึ่งเดียวกับชาติและความพยายามรักษาความมั่นคงของชาติมาตลอด

เขาจากไป พร้อมกับคำถามที่ว่า การ ‘แลก’ ระหว่างความมั่นคงของชาติกับเสรีภาพของประชาชนนั้น มันเป็นสิ่งที่ ‘คุ้ม’ ไหม

บางทีคำถามนี้อาจมีแต่เพียงฮูเวอร์เท่านั้นที่ตอบได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save