fbpx

การปลูกฝีของจักรพรรดินีผู้แทงม้าตัวเดียว

ภาพจาก ‘Wellcome Collection

หนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การแพทย์ของรัสเซียในศตวรรษที่ 18 อาจคือการปลูกฝีให้จักรพรรดินีแคทเธอรีนมหาราชก็ได้

ทุกวันนี้ เรารู้จักคำว่า ‘วัคซีน’ กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 18 คำว่า ‘วัคซีน’ และกระบวนการฉีดวัคซีนหรือ Vaccination ยังไม่เกิดขึ้น เพราะคนแรกที่คิดค้นกระบวนการนี้ขึ้นมาในปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ก็คือเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) ที่เราทุกคนรู้จักกันดีเพราะมีอยู่ในตำราเรียนสมัยประถม

ในสมัยนั้น โรคที่ร้ายกาจที่สุดชนิดหนึ่งคือโรคฝีดาษ (Smallpox) และผู้คนเริ่มรู้ว่า วิธีป้องกันโรคฝีดาษ ก็คือการ ‘หนามยอกเอาหนามบ่ง’ นั่นคือให้คนปกติธรรมดาได้รับ ‘หนอง’ จากคนป่วยในปริมาณเล็กน้อย เพื่อให้คนคนนั้นเกิดอาการป่วยขึ้นมาเล็กน้อย แล้วหลังจากนั้นคนคนนั้นก็จะไม่ป่วยเป็นโรคฝีดาษร้ายแรงอีก

ในปัจจุบัน เรารู้ว่าโรคฝีดาษมีที่มาจากเชื้อโรค แต่ ‘คอนเซ็ปต์’ เรื่องเชื้อโรคยังไม่เกิดขึ้น แม้แต่เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ก็ไม่ได้มีคอนเซ็ปต์เรื่องเชื้อโรคอยู่ในหัว เพราะต้องรอจนถึงกลางศตวรรษที่ 19 หลุยส์ ปาสเตอร์ ถึงจะสร้างสรรค์คอนเซ็ปต์เรื่องนี้ขึ้นมาให้กับวงการวิทยาศาสตร์

วิธีให้ ‘หนอง’ แก่คนปกตินั้น เป็นวิธีที่ทำกันมาแต่โบราณ ทั้งในจีน อินเดีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง แล้วค่อยๆ แพร่เข้ามาในยุโรป แต่ดั้งเดิมอาจใช้วิธีนำผ้าชุบหนองมาแหย่เข้าไปในจมูก แต่เมื่อพัฒนามาเรื่อยๆ ก็เกิดวิธีที่เรียกว่า ‘การปลูกฝี’ (Inoculation) ขึ้นอย่างเป็นระบบ ด้วยการ ‘ผ่า’ ผิวหนังให้แยกเป็นรอยแตกเล็กๆ แล้วนำหนองจากผู้ป่วยไป ‘ป้าย’ ลงบนแผลนั้น

และหมอคนหนึ่งที่เก่งกาจเรื่องนี้มาก ก็คือหมอชาวอังกฤษแห่งฮาร์ตฟอร์ด (Hertford) ที่มีชื่อว่า โธมัส ดิมสเดล (Thomas Dimsdale)

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยนั้น การรักษาด้วยวิธีที่ชวน ‘อี๋แหวะ’ นี้ จำกัดอยู่ในหมู่คนชั้นล่างเท่านั้น คนชั้นสูงไม่นิยม (คงเพราะมันแลดูไม่ถูกสุขอนามัยอย่างยิ่ง) และผลการรักษาก็ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่มาก ทว่าในปลายศตวรรษที่ 17 เกิดการระบาดของโรคฝีดาษ ทำให้คนตายกันมาก และโรคระบาดก็คือโรคระบาด มันไม่เว้นหน้าให้กับใคร ไม่เลือกปฏิบัติกับคนในชนชั้นไหน ดังนั้น เมื่อ ‘ควีนแมรี’ หรือราชินีแมรีที่สองแห่งอังกฤษ (Mary II of England) สิ้นพระชนม์ในวัยเพียง 32 ปีเพราะโรคฝีดาษในปี 1694 ตามมาด้วยปี 1700 เมื่อเฮนรี สจ๊วร์ต ดยุคแห่งกลอสเตอร์ (Duke of Gloucester) ซึ่งเป็นโอรสของควีนแอนน์สิ้นไปเพราะโรคฝีดาษเช่นกัน ก็ทำให้คนชั้นสูงเริ่มแสวงหาวิธีรักษาหรือป้องกันตัวจากโรคฝีดาษในรูปแบบต่างๆ โดยเลิกสนใจเรื่องเพศ อายุ และสถานะทางสังคม เพราะตระหนักดีแล้วว่า โรคระบาดนั้นหมอบกราบใครไม่เป็น

โธมัส ดิมสเดล เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 1712 เขาเป็นบุตรของจอห์น ดิมสเดล ซึ่งเป็นหมอเช่นเดียวกัน ทั้งครอบครัวเป็นชาวเควกเกอร์ที่เคร่งศาสนามาก ดิมสเดลเจริญรอยตามพ่อด้วยการร่ำเรียนเป็นหมอเช่นเดียวกัน และได้ทำงานที่โรงพยาบาลเซนต์โธมัสในกรุงลอนดอน ก่อนจะมารับใช้กองทัพของดยุคแห่งคัมเบอร์แลนด์ (Duke of Cumberland) ที่ยกทัพขึ้นเหนือไปปราบขบถจาโคไบต์

ดิมสเดลไม่ใช่แพทย์ธรรมดาๆ แต่เขามีชื่อเสียงเรื่องการ ‘ปลูกฝี’ เพื่อป้องกันโรคฝีดาษ (เรียกวิธีการปลูกฝีสำหรับโรคฝีดาษว่า Variolation) โดยการนำหนองจากแผลพุพองของผู้ป่วยโรคฝีดาษที่ป่วยไม่หนักมากมาป้ายลงบนแผลผ่าของคนปกติเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

แน่นอน ดิมสเดลย่อมไม่ใช่คนแรกที่คิดค้นเทคนิคนี้ขึ้นมา แต่เขารับวิธีรักษานี้มาจากโรเบิร์ต ซัตตัน (Robert Sutton) ในเอสเซ็กซ์​ซึ่งไม่ใช่หมอ แต่ก็ใช้วิธีนี้รักษาคนทั่วไปจนมีชื่อเสียง ดิมสเดลซึ่งร่ำเรียนการแพทย์มาน่าจะมีความ ‘เปิดกว้าง’ พอสมควร เพราะเขาไปศึกษาวิธีของซัตตัน แล้วนำมาเขียนเป็นตำราชื่อ The Present Method For Inoculating For the Smallpox ตีพิมพ์ในปี 1767

และนั่นเอง – ที่สร้างชื่อเสียงให้เขาจนลือกระฉ่อนไกลไปจนถึงรัสเซีย

รัสเซียในเวลานั้น อยู่ใต้การปกครองของจักรพรรดินีผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรอย่างแคทเธอรีนมหาราช แต่ต่อให้เป็นกษัตริยายิ่งใหญ่เพียงใด ราชสำนักรัสเซียก็หนีไม่พ้นโรคระบาดเหมือนราชสำนักอื่นๆ ในยุโรปขณะนั้น

หลังขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน แคทเธอรีนก็ต้องตระหนกตกใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้พบกับสัจธรรมแห่งโรคระบาดว่า มันไม่ ‘เลือกปฏิบัติ’ ต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ยิ่งใหญ่แค่ไหน โรคฝีดาษก็ระบาดแพร่เข้าไปได้ เริ่มจากการที่ข้าราชสำนักคนสนิทอย่างเคาน์เตสเชเรเมเตฟ (Countess Sheremetev) ซึ่งเป็นคู่หมั้นของเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศเสียชีวิตลงอย่างปัจจุบันทันด่วนด้วยโรคฝีดาษ พระนางจึงตระหนักว่า โรคร้ายนี้ได้เข้ามา ‘ใกล้ตัว’ อย่างมาก และที่สุด กระทั่งพระสวามีของพระนางก็ยังป่วยเป็นโรคนี้ และผู้คนก็ล้มตายเพราะโรคนี้มากถึงสองหมื่นคนภายในปีเดียว

พระนางจะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว

และแล้ว – พระนางก็เลือก ‘แทงม้าตัวเดียว’ ด้วยม้าจากฮาร์ตฟอร์ด ผู้เขียนตำรา ‘วิธีปลูกฝี’ อันลือลั่น

แต่ดิมสเดลไม่ใช่คนทั่วไป เขาเป็นหมอที่มีชื่อเสียง แถมยังร่ำรวยมีเงินทอง อายุอานามในตอนนั้นก็มากแล้วคือ 56 ปี แถมความเคร่งศาสนาแบบเควกเกอร์ของเขาทำให้เขาลังเลที่จะเดินทางไกลไปยังดินแดนยุโรปตะวันออกที่มีนิกายแตกต่างออกไปด้วย แน่นอน การได้ ‘รับเชิญ’ จากผู้หญิงที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกตอนนั้นย่อมทำให้เขายินดี แต่ดิมสเดลก็ลังเลใจ แคทเธอรีนต้องส่งคนมาเชิญถึงสองครั้งสองครา รวมทั้งต้องมอบเงินล่วงหน้าให้ถึง 1,000 ปอนด์ เขาถึงยอมออกเดินทางทรหดยาวไกลถึงสองพันไมล์ไปยังกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

การเดินทางนั้นใช้เวลายาวนานถึงหนึ่งเดือน แล้วดิมสเดลก็พบว่า – ตัวเองละม้ายถูก ‘ขัง’ อยู่ในคฤหาสน์ใหญ่ใกล้กับพระราชวัง

ถามว่าจักรพรรดินีไม่ให้เกียรติเขาเลยหรือ ถึงได้กักตัวเขาเอาไว้อย่างนั้น คำตอบอาจคือ – ใช่, นั่นแหละ

เพราะอย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าโรคฝีดาษเป็นโรคอาจถึงตายได้ และดิมสเดลเองก็รับประกันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกว่าจักรพรรดินีผู้ยิ่งใหญ่จะตายอย่างทรมานหรือรอดชีวิตได้ด้วยฝีมือของเขา เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมเขา แล้วบอกเขากึ่งเตือนกึ่งขู่ว่า หากเกิดอะไรขึ้นกับ ‘ซารินา’ (Tsarina หรือองค์จักรพรรดินี) ก็คงเกิดสภาพอันเลวร้ายสุดขีดขึ้นมา

ในเวลานั้น ดิมสเดลคงถามตัวเองนับร้อยครั้ง ว่าเขาคิดผิดหรือเปล่าที่ยินยอมเดินทางไกลมาถึงนี่ มันจะเป็นการ ‘ทำคุณบูชาโทษ’ หรือเปล่าก็ไม่รู้

แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ทำอะไรไม่ได้ ดิมสเดลต้องตกบันไดพลอยโจนไปตามเพลง เขาได้เข้าเฝ้าแคทเธอรีนที่พระราชวังฤดูร้อนในพุชกิ้น (Pushkin) ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมือง เป็นการพบปะกันที่ดำเนินไปด้วยดี เขาเล่าให้ฟังว่ากระบวนการปลูกฝีจะต้องทำอย่างไรบ้าง และซารินาก็ถามไถ่ในรายละเอียดอย่างเฉลียวฉลาดและเจาะลึก

เขาขอให้หมอหลวงของแคทเธอรีนมาช่วยเขา แต่แคทเธอรีนปฏิเสธ นั่นยิ่งทำให้ดิมสเดลกังวลมากขึ้นไปอีกว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น เขาจะเป็นคนเดียวที่ตกอยู่ในความ ‘ซวย’ แต่เขาก็ทำอะไรไม่ได้

ดิมสเดลเริ่มต้นงานด้วยการปลูกฝีให้กับเด็กชายชาวนาคนหนึ่งชื่อ อเล็กซานเดอร์ มาร์คอฟ (Aleksandr Markiv) เพื่อให้เด็กชายผู้น่าสงสารคนนี้เป็นเหมือนแหล่งเพาะไวรัสที่จะนำไปใช้กับจักรพรรดินี

เมื่อวันนั้นมาถึง เขาถูกนำตัวไปยังห้องบรรทมด้วยวิธีลับที่สุด แล้วเขาก็ผ่าแผลเล็กๆ บนต้นแขนทั้งสองข้างของแคทเธอรีน ก่อนจะนำหนองที่ได้จากเด็กชายชาวนาป้ายลงไปบนแผลแห่งพระวรกายสูงส่งนั่น แล้วเช้าวันรุ่งขึ้น เขาก็แนะนำให้แคทเธอรีนออกจากวังหลวงไปพักที่พระราชวังฤดูร้อนเพื่อพักฟื้น ปรากฏว่า แคทเธอรีนเป็นไข้และมีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย รวมทั้งเกิดฝีขึ้นตามตัวด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ ดิมสเดลบันทึกเอาไว้ว่า จักรพรรดินีได้มอบพาสปอร์ตและรถม้าพร้อมม้าเร็วเตรียมพร้อมเอาไว้ให้ เพื่อเป็นการรับประกันว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เขาจะได้ ‘หนี’ ออกไปจากรัสเซียได้ทันท่วงที แต่เขาอาจไม่รู้ว่าพระเจ้าซาร์คนก่อน คืออิวานที่สาม ก็ได้จัดหาแพทย์ชาวเยอรมันสองคนมารักษาด้วยเหมือนกัน แต่รักษาไม่สำเร็จ จึงถูกจับประหารในทันที หากดิมสเดลรู้ ก็นับว่าเขาเป็นคนกล้าหาญมากทีเดียว เพราะเขาไม่อาจแน่ใจได้หรอกว่า สิ่งที่แคทเธอรีนสัญญาไว้กับเขาจะลงเอยอย่างไร

โชคดี ที่สุดท้ายแล้วแคทเธอรีนก็ค่อยๆ หายป่วย เมื่อถึงปลายเดือน พระนางฟื้นตัวและเดินทางกลับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พร้อมทั้งให้ดิมสเดลจัดการปลูกฝีคนอื่นๆ อีก รวมถึงโอรสของพระนางด้วย

ข่าวความสำเร็จของดิมสเดลแพร่ไปทั่ว เขาต้องปลูกฝีคนอีกหลายร้อยคน ซึ่งก็ปรากฏว่าคนทั้งหมดฟื้นตัวปลอดภัยดี อย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะดิมสเดลใช้เทคนิคที่ใหม่กว่าการปลูกฝีแบบเดิมๆ ด้วยการคัดเลือกหนองจากผู้ป่วยที่ไม่ได้ป่วยหนักมาก ซึ่งก็เท่ากับเลือกเชื้อที่ ‘อ่อนแรง’ กว่าเชื้อทั่วไป อันเป็นเทคนิคแบบเดียวกับการฉีดวัคซีนยุคใหม่นั่นเอง

จักรพรรดินีแต่งตั้งให้เขาเป็นบารอนแห่งจักรวรรดิรัสเซีย และมอบเงินรางวัลให้มากถึง 12,000 ปอนด์ พร้อมกับเงินปีอีก 500 ปอนด์ตลอดชีวิต แถมยังได้รับภาพวาดของจักรพรรดินีที่มีเพชรประดับล้อมรอบ รวมถึงถุงใส่ทองคำที่หนักจนแบกไม่ไหวด้วย ถ้าเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน ประมาณว่าเขาได้รับรางวัลราว 10 ล้านปอนด์ จากความสำเร็จในการรักษา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จักรพรรดินีที่ยิ่งใหญ่ในราชสำนักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกหวาดกลัวโรคระบาดอย่างฝีดาษมากเพียงใด เมื่อป้องกันโรคได้จึงยินดียิ่งนัก

ดิมสเดลจึงได้กลับบ้านด้วยอาการครบสามสิบสอง เขายังคงทำอาชีพหมออยู่ แต่ก็เปิดธนาคารไปด้วย เขามีชีวิตที่ดีงามต่อมาจนสิ้นใจเดือนธันวาคมปี 1800 เมื่ออายุได้ 88 ปี พร้อมความภาคภูมิใจในการเป็นหมอที่น่าจะประสบความสำเร็จมากที่สุดในศตวรรษนั้นในเรื่องของการปลูกฝี

อย่างไรก็ตาม ก่อนสิ้นใจ ดิมสเดลอาจรู้หรือไม่ก็ได้ว่าเทคนิคการปลูกฝีที่เขาใช้นั้นกำลังเสื่อมความนิยมลง เพราะมันถูก disrupt ด้วยเทคนิคใหม่ของนักวิทยาศาสตร์หน้าใหม่อย่างเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์

ดิมสเดลใช้วิธีเลือกหนองจากผู้ป่วยที่ไม่ได้ป่วยหนัก ซึ่งแสดงว่าเชื้อไม่ได้ ‘แรง’ (แต่อย่าลืมว่ายุคนั้นยังไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่องเชื้อโรค) แต่สิ่งที่เจนเนอร์ทำยิ่งแหวกแนวไปกว่านั้นอีก เพราะเขาเลือกเชื้อประเภทเดียวกันที่มาจากสัตว์อื่น นั่นก็คือเชื้อที่มาจากวัวที่ป่วยเป็นโรค ‘ฝีดาษวัว’ (Cowpox) เมื่อนำหนองจากวัวมาปลูกฝีให้กับคน ก็ทำให้คนมีอาการป่วยน้อยกว่า เป็นไข้และเจ็บปวดน้อยกว่า

เจนเนอร์เรียกเทคนิคของเขาว่า Vaccination และเทคนิคนี้ได้กลายเป็นเทคนิคที่ช่วยผู้คนอีกมากมายนับล้านๆ ในโลกให้รอดพ้นจากโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นคนต่ำต้อยในสถานภาพทางสังคมมากแค่ไหน หรือสูงส่งศักดินามากเพียงไรก็ตาม

ถ้าหากดิมสเดลจะเป็น ‘ม้าตัวเดียว’ ที่จักรพรรดินีแห่งรัสเซียเคยแทงเอาไว้ และทรงใช้ชีวิตของพระนางเองเพื่อเดิมพัน ก็นับได้ว่าเป็นม้าตัวเดียวที่ประสบความสำเร็จ และถือได้ว่าเป็นบันไดก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งวัคซีนที่ส่งผลมาจนถึงวงการวัคซีนในปัจจุบันสมัย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save