fbpx
แมนฯ ยูไนเต็ด – ลีดส์ ยูไนเต็ด : เวทีใหม่ของ ‘สงครามดอกกุหลาบ’

แมนฯ ยูไนเต็ด – ลีดส์ ยูไนเต็ด : เวทีใหม่ของ ‘สงครามดอกกุหลาบ’

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

‘สงครามดอกกุหลาบ’ เป็นหนึ่งในสงครามที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างยากจะปฏิเสธ โดยเฉพาะตั้งแต่ซีรีส์เกมออฟโธรนส์เริ่มฉายทาง HBO เนื่องจากจอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน ผู้แต่งเรื่อง A Song of Ice and Fire (เป็นชื่อเล่มแรกจาก 7 เล่มของวรรณกรรมชุดเกมออฟโธรนส์) ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากสงครามดอกกุหลาบครั้งนี้ และเรื่องราวของมันก็ยังถูกเล่าขานมาจวบจนปัจจุบัน

สงครามดอกกุหลาบเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์สมัยยุคกลางของอังกฤษราวศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการล่าบัลลังก์กันระหว่างราชวงศ์ ‘แลงคาสเตอร์’ กับ ‘ยอร์ก’ ซึ่งเวลาแห่งการต่อสู้กันของทั้งสองฝ่ายนั้นยาวนานหลายสิบปี ก่อนที่เฮนรี ทิวดอร์จะขึ้นครองราชย์และสถาปนาราชวงศ์ทิวดอร์ขึ้น ซึ่งเป็นการจบสงครามดอกกุหลาบลงอย่างสมบูรณ์

แต่สิ่งที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับสงครามดอกกุหลาบ คือแท้จริงแล้วชื่อนี้เพิ่งเป็นที่รู้จักและแพร่หลายกันหลังจากสงครามจบลงไปแล้ว และในช่วงเวลาจริงที่มีการรบกันระหว่างฝั่งแลงคาสเตอร์กับฝั่งยอร์ก ทั้งสองฝ่ายไม่เคยรบกันภายใต้นามของกุหลาบแดงและกุหลาบขาวเลย ว่ากันว่าจริงๆ แล้วเรื่องกุหลาบแดงและกุหลาบขาวนั้นถูกเสกสรรปั้นแต่งขึ้นหลังจากที่เฮนรี ทิวดอร์สถาปนาราชวงศ์ทิวดอร์นี่เอง เนื่องจากตราราชวงศ์ทิวดอร์มีทั้งกุหลาบแดงและกุหลาบขาวในนั้น

อย่างไรก็ตาม คำว่าสงครามดอกกุหลาบก็ยังกลายมาเป็นภาพจำต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและวิวัฒนาการต่อมา จนปัจจุบันก็ยังเข้ามาอยู่ในโลกของกีฬาอย่างฟุตบอลเช่นกัน เมื่อมีทีมหนึ่งอยู่ในพื้นที่แถบแลงคาเชียร์ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นเดิมของฝั่งกุหลาบแดงแห่งแลงคาสเตอร์ แถมมีสีเสื้อเป็นสีแดงเหมือนกัน ทีมนั้นคือ ‘แมนเชสตอร์ ยูไนเต็ด’ กับอีกทีมหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ยอร์กเชียร์ ดินแดนกุหลาบขาวแห่งยอร์ก ซึ่งพวกเขาใส่เสื้อสีขาวเช่นกันคือ ‘ลีดส์ ยูไนเต็ด’

ดังนั้นแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่เมื่อทั้ง 2 ทีมเจอกันจึงกลายเป็นเกมสงครามดอกกุหลาบไปโดยปริยาย ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะไม่ได้รวมความขัดแย้งจากในอดีตเมื่อยุคกลางมาสะสางกันในสนามฟุตบอล แต่การเจอกันของแมนฯ ยูไนเต็ดกับลีดส์ ยูไนเต็ด ก็เป็นเกมสุดเดือดอีกเกมหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของฟุตบอลอังกฤษซึ่งมีเรื่องราวอันยาวนาน และที่สำคัญทั้งคู่เพิ่งเจอกันในเกมเปิดฤดูกาลฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2021/22 ไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 สิงหาคม 2021) ด้วย

และนี่คือเรื่องราวของ 2 คู่ปรับจาก 2 พื้นที่อันมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ที่ถูกขนานนามว่า ‘คู่ปรับแห่งดอกกุหลาบ’ (Roses Rivalry) หรือเกมดาร์บีแห่งเทือกเขาเพนไนน์ส (Pennines Derby) เรื่องราวการพบกับของ 2 ทีมดังอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกับลีดส์ ยูไนเต็ด

ยุคกลาง – สงครามดอกกุหลาบ

แน่นอนว่าเรื่องราวของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกับลีดส์ ยูไนเต็ด มักจะถูกโยงกลับไปยังสงครามดอกกุหลาบ หรือ War of the Roses เนื่องจากสัญญะต่างๆ ที่ดูคล้ายคลึงและเชื่อมโยงกันได้อย่างพอดิบพอดีแบบที่เรียนไปแล้ว ดังนั้นการมาทำความรู้จักและความเข้าใจเกี่ยวกับสงครามดอกกุหลาบกันแบบพอสังเขป ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะเข้าใจพื้นเพและความเกี่ยวข้องระหว่างทั้ง 2 สโมสรกับสงครามอันมีชื่อเสียงนี้

สงครามดอกกุหลาบคือสงครามกลางเมืองเพื่อแยงชิงอำนาจเหนือราชบัลลังก์ของอังกฤษที่กินเวลายาวนานที่สุด ระหว่าง 2 ตระกูลใหญ่ในตอนนั้นคือแลงคาสเตอร์และยอร์ก โดยไมเคิล ฮิกส์ ผู้เขียนหนังสือ The War of Roses ยืนยันว่าเหตุการณ์นี้ในส่วนที่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างแลงคาสเตอร์และยอร์ก มีระยะเวลาราว 30 ปี ระหว่างปี 1455-1485 แม้จะมีนักวิชาการอีกหลายคนที่เชื่อว่าสงครามดอกกุหลายควรมีความยาวมากกว่านั้นเพราะอาจจะต้องนับย้อนไปถึงสมัยของบรรพบุรุษก่อนหน้าอีกนับร้อยปีซึ่งจะรวมเหตุต่างๆ ไว้ทั้งหมด ซึ่งนั่นก็แล้วแต่ว่าใครจะอ้างอิงแบบไหน 

แรกเริ่มเดิมทีทั้งแลงคาสเตอร์และยอร์กควรจะเป็นญาติกัน เพราะทั้ง 2 ฝ่ายสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 โดยพระองค์มีพระโอรสหลายพระองค์ แต่ 4 พระองค์ที่ส่งผลต่อมาในสงครามดอกกุหลาบคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เดอะแบล็ก พรินซ์, เจ้าชายลิโอเนล ดยุกแห่งคลาแรนซ์, เจ้าชายจอห์นแห่งกอนต์ ดยุกแห่งแลงคาสเตอร์ และเจ้าชายเอ็ดมุนด์ ดยุกแห่งยอร์ก

สงครามดอกกุหลาบไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ หากเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่เป็นพระราชโอรสองค์โต ไม่รีบสิ้นพระชนม์ไปก่อน ส่งผลให้พระโอรสอย่างพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ที่มีพระชนมายุเพียง 10 พรรษาต้องขึ้นครองราชย์ ทำให้เจ้าชายจอห์นแห่งกอนต์ที่เป็นพระเจ้าอา ต้องมาช่วยดูแลราชบัลลังก์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทน จนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ไปอีกราย และอำนาจมาอยู่ในมือลูกชายอย่างเฮนรีที่ 4 ซึ่งเฮนรีคนนี้ได้สำเร็จโทษพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 พร้อมขึ้นครองราชย์แทน ทำให้บัลลังก์ตกเป็นของราชวงศ์แลงคาสเตอร์นับแต่นั้นมา

เวลาผ่านมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งแลงคาสเตอร์ พระองค์มีสติไม่ค่อยปกติ ขณะที่มีคนช่วยดูแลราชบัลลังก์นั่นคือริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์ก โดยริชาร์ดสืบเชื้อสายมาจากเจ้าชายเอ็ดมุนด์ พระราชโอรสในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 และยังมีเชื้อสายของเจ้าชายลิโอเนล ดยุกแห่งคลาแรนซ์ ลูกคนที่สองของเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ด้วย เนื่องจากการแต่งงานกันเองในราชวงศ์ ทำให้หลายคนมองว่าริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์กคนนี้ เป็นหนึ่งในคนที่เหมาะสมที่จะครองราชบัลลังก์หากพระเจ้าเฮนรีที่ 6 เป็นอะไรไป 

เรื่องดังกล่าวทำให้ผู้สนับสนุนฝั่งแลงคาสเตอร์ ไม่พอใจอย่างมาก แม้เจ้าเฮนรีที่ 6 จะสติไม่ค่อยดี แต่พระมเหสีอย่างมาร์กาเร็ตแห่งแอนจู ก็คอยเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านเรื่องนี้ ทำให้ท้ายที่สุดฝั่งแลงคาสเตอร์และยอร์ก ก็ต้องเริ่มรบกันเพื่อแย่งพระราชบัลลงก์ โดยผลการรบกันแบบคร่าวๆ ฝั่งยอร์กได้เปรียบและมีชัยในสงคราม แต่ริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์กกลับเสียชิวิตไปทำให้บัลลังก์ตกเป็นของลูกชายอย่างพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ขึ้นมาครองราชย์แทน อย่างไรก็ตามในตอนนั้นบัลลังก์ก็ตกเป็นของฝั่งยอร์กแล้ว

ชัยชนะของฝั่งยอร์กทำให้เรื่องควรจะจบแต่จบไม่ได้เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ไปแต่งงานกับผู้หญิงชื่อว่าเอลิซาเบธ วูดวิลล์ ที่เป็นทั้งหญิงม่ายและเป็นแลงคาสเตอร์ สร้างความไม่พอใจให้กับขุนนางและผู้มีอำนาจ จนนำมาสู่การเสียบัลลังก์ให้กับ พระเจ้าเฮนรีที่ 6 และมาร์กาเร็ตแห่งแอนจูอีกครั้ง ทว่าแลงคาสเตอร์ครองราชย์ได้ไม่นาน พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ที่หนีไปซ่องสุมกำลังก็กลับมาทวงตำแหน่งของพระองค์คืน พร้อมกับสำเร็จโทษพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ด้วย

เวลาผ่านมาจนถึงในยุคของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ทรงมีพระชันษาเพียงแค่ 12 พรรษา แถมพระองค์ยังเป็นโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 กับ เอลิซาเบธ วูดวิลล์ ทำให้น้องชายของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเจ้าอาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 จับพระองค์ไปขังไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอน ก่อนขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 3

ในปีเดียวกับที่พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็มีชายที่ชื่อว่าเฮนรี ทิวดอร์ ปรากฏตัวขึ้น โดยเขาอ้างว่าตัวเองสืบเชื้อสายมาจากจอห์นแห่งกอนต์ และเป็นหนึ่งในคนจากแลงคาสเตอร์ เข้ามาเปิดศึกเพื่อชิงบัลลังก์ก่อนเอาชนะพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ได้ที่สมรภูมิบอสเวิร์ธในเลสเตอร์เชียร์ ทำให้เฮนรี ทิวดอร์ ขึ้นครองราชย์และเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ทิวดอร์เป็นราชวงศ์ใหม่อย่างเป็นทางการโดยใช้พระนามว่า พระเจ้าเฮนรีที่ 7

พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ราชาภิเษกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก เพื่อเป็นการรวบอำนาจและแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ทรงให้ใช้ตราสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์เป็นตรากุหลาบขาวในกุหลาบแดง ซึ่งนั่นเองที่น่าจะเป็นจุดเริ่มของเรื่องราวการโฆษณาชวนเชื่อที่ยกให้แลงคาสเตอร์เป็นกุหลาบแดงและยอร์กเป็นกุหลาบขาว

เรื่องของกุหลาบแดงและกุหลาบขาวที่ถูกยกให้เป็นตัวแทนของแลงคาสเตอร์กับยอร์ก แพร่หลายหลังจากปี 1613 เมื่อวิลเลียม เช็กสเปียร์แต่งบทละครเรื่องเฮนรีที่ 6 และเป็นที่รู้จักในวงกว้างช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เมื่อเดวิด ฮูมเขียนหนังสือ ประวัติศาสตร์ของอังกฤษ (The History of England) และมีการใช้กุหลาบแดงแทนแลงคาสเตอร์และกุหลาบขาวแทน ยอร์กในนั้น ทำให้สงครามดอกกุหลาบกลายเป็นชื่อที่ถูกส่งต่อมาตามยุคสมัยและยังเป็นที่รู้จักจวบจนปัจจุบัน 

ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม – จุดเริ่มต้นแห่งความเกลียดชัง

แม้สงครามดอกกุหลาบจะเป็นการรบกันของแลงคาสเตอร์ที่อยู่บริเวณแลงคาเชียร์กับยอร์กซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่บริเวณยอร์กเชียร์ แต่การรบกันของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้สร้างความเกลียดชังกันระหว่างคนในพื้นที่สักเท่าไหร่ เพราะนี่เป็นศึกของการแย่งชิงอำนาจมากกว่าเรื่องของดินแดน อีกทั้งการรบกันของทั้งสองฝ่ายเป็นการรบของชนชั้นปกครองที่มีทหารเป็นของตัวเอง ไม่ได้เกณฑ์ไพร่พลในพื้นที่ไปรบกัน ทำให้สงครามดอกกุหลาบถูกจดจำในฐานะสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในอังกฤษมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งจะหว่างชาวแลงคาเชียร์กับยอร์กเชียร์ ก็ปะทุขึ้นอยู่ดีในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม และมันเป็นเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้คนทั้ง 2 พื้นที่ไม่ถูกกันมากกว่าเรื่องของสงครามดอกกุหลาบที่แม้จะมีรากที่ยาวนานกว่า ทว่าไม่ได้มีส่วนกับผู้คนสักเท่าไหร่ ต่างกับเรื่องของเศรษฐกิจ ที่เชื่อมโยงกับปากท้องของคนในพื้นที่ ความกินดีอยู่ดี และมีเงินใช้ ทำให้คนไม่พอใจกันได้ง่ายกว่าการรบที่ผ่านมาหลายร้อยปีมากทีเดียว

ราวกลางศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อแมนเชสเตอร์แห่งแลงคาเชียร์คือหนึ่งในเมืองที่ได้รับประโยชน์จากยุคสมัยมากที่สุด พวกเขากลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบเบอร์ต้นๆ ของโลก และจากจุดนั้นพวกเขาแทบไม่มีคู่แข่ง โดยเฉพาะเมื่อเขี่ยลิเวอร์​พูลเจ้าของความมั่งคั่งเดิมออกจากตำแหน่ง ด้วยการขุดคลองแมนเชสเตอร์ตัดตรงจากทะเลไอริชมาสู่ตัวเมือง ศูนย์กลางความเจริญก็ย้ายมาสู่เมืองแห่งนี้อย่างเต็มตัว

ไม่ใช่แค่ลิเวอร์พูลที่ได้รับผลกระทบจากแมนเชสเตอร์อยู่เพียงเมืองเดียว เพราะห่างออกไปอีกราว 80 กิโลเมตรทางตะวันออกของแมนเชสเตอร์ เมืองลีดส์แห่งยอร์กเชียร์ก็เป็นอีกเมืองที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางธุรกิจเสื้อผ้า จากการมีฝ้ายเป็นสินค้าสำคัญ เพราะสินค้าขึ้นชื่อของเมืองแห่งนี้คือขนสัตว์และเสื้อผ้าจากขนสัตว์นั่นเอง

แม้จะมีมูลค่ามากกว่า แต่ฝ้ายที่มีราคาและต้นทุนการผลิตถูกกว่าขนสัตว์ ได้เข้ามาตีตลาดเครื่องนุ่งห่มโดยที่ผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์ไม่มีทางสู้เรื่องราคาได้เลย ทำให้ความมั่งคั่งที่ควรจะแบ่งกันเชยชม กลับไปกระจุกตัวอยู่ที่เมืองแมนเชสเตอร์ที่เดียว นั่นสร้างความไม่พอใจมาสู่ชาวเมืองลีดส์โดยอัตโนมัติ และหาทางโจมตีคู่แข่งทางเศรษฐกิจไปต่างๆ นานา แม้แต่การสร้างศาลากลางก็ยังถูกหยิบยกมาโจมตีกัน โดยทางลีดส์กล่าวหาว่าแมนเชสเตอร์ลอกแบบศาลากลางของพวกเขาไปเสียอย่างนั้น

เรื่องปากท้องนี่เอง ที่ทำให้ชาวเมืองแมนเชสเตอร์และ ลีดส์มองหน้ากันไม่ติดอย่างแท้จริง และเมื่อเวลาผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคสมัยของฟุตบอล จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายเลย หากชาวเมืองจะพกความเป็นอริต่อกันติดตัวไปในสนามฟุตบอลด้วย

ยุคฟุตบอล – การเผชิญหน้าในสนามและความเป็นอริ

แคว้นยอร์กเชียร์เป็นสถานที่ตั้งของสโมสรเชฟฟิลด์ เอฟซี ที่ก่อตั้งในปี 1857 ซึ่งได้รับการรองรับจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟาให้เป็นสโมสรฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นั่นหมายความว่ายอร์กเชียร์เป็นพื้นที่ที่มีประวัตศาสตร์อันยาวนานเกี่ยวกับฟุตบอล และนั่นทำให้คนในพื้นที่เองก็ภาคภูมิใจในเรื่องราวและประวัติศาสตร์ในแง่นี้อย่างมาก

ขณะที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เองก็อย่างที่รู้กันว่า แรกเริ่มเดิมทีพวกเขามีชื่อว่านิวตัน ฮีธ และมีสีประจำสโมสรคือเขียว-เหลือง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือสโมสรแห่งนี้ดันไปเกี่ยวข้องกับความเป็นยอร์กเชียร์ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เพราะอย่าลืมว่าสโมสร นิวตัน ฮีธ ถูกก่อตั้งโดยพนักงานการรถไฟสายแลงคาสเตอร์ – ยอร์กเซียร์ แต่ถึงประวัติศาสตร์จะเป็นเช่นนั้นแต่เอาเข้าจริงทั้ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดกับลีดส์ ยูไนเต็ด ก็ไม่ได้มีเรื่องราวความบาดหมางกันมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของฟุตบอลอังกฤษสักเท่าไหร่

เรื่องราวการเผชิญหน้ากันของทั้งสองสโมสรมาเริ่มต้นเอาจริงๆ ก็ในช่วงปลายของยุคเซอร์แมตต์ บัสบี ตำนานกุนซือของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดแล้ว โดยตอนนั้นลีดส์มีผู้จัดการทีมมากฝีมืออย่างโดนัลด์ ‘ดอน’ รีวี นักเตะของลีดส์ ที่เลิกเล่นกับสโมสรแล้วมารับงานต่อเป็น ‘โค้ช แอนด์ เพลเยอร์’ ก่อนกลายมาเป็นผู้จัดการทีมเต็มตัว และเขาเองก็คุมลีดส์ ยาวนานกว่าทศวรรษ

หลังจากที่เซอร์แมตต์ บัสบี สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับ ‘ปีศาจแดง’ วางมือไปพร้อมกับแชมป์ลีกสูงสุด 5 สมัย, เอฟเอ คัพ 2 สมัย และยูโรเปียนคัพ อีก 1 สมัย ก็ถึงเวลาของยุคสมัยแห่ง ‘ยูงทอง’ ผ่องอำไพเสียทีหลังจากที่พวกเขาก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ครั้งแรกในฤดูกาล 1968-69 และอีกครั้งในฤดูกาล 1973-74 แถมยังมีแชมป์อื่นๆ อย่างเอฟเอ คัพ, ลีกคัพ และ อินเตอร์ ซิตีส์ แฟร์คัพ อีก 2 สมัยภายใต้การคุมทีมดอน รีวี

นั่นเองที่ทำให้แฟนบอลของแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งตอนนั้นกำลังอยู่ในยุคถดถอยไม่ค่อยชอบใจที่เห็นทีมจากแคว้นยอร์กเชียร์ที่อยู่ห่างออกไปราว 80 กิโลเมตรทีมนี้ได้ดิบได้ดี แต่นั่นก็ทำได้เพียงแค่เก็บมันไว้ในใจ เพราะหลังจากนั้นแมนฯ ยูไนเต็ดก็มีอันต้องตกชั้นไป และเมื่อขึ้นมาอีกครั้งก็ไม่ได้มีปากเสียงเท่าไหร่ ขณะที่ลีดส์ก็ถึงเวลาถดถอยเช่นกัน เมื่อรีวีลาทีมไปรับงานกับทีมชาติอังกฤษ ทำให้หลังจากนั้นทีมก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเลยจนกระทั่งอีก 18 ปีต่อมา

ลีดส์ ยูไนเต็ดได้ชื่อว่าเป็นสโมสรสุดท้ายที่สามารถคว้าแชมป์ดิวิชัน 1 ได้ เพราะหลังจากนั้นลีกสูงสุดของอังกฤษก็เปลี่ยนหน้าตากลายมาเป็นพรีเมียร์ชิป ก่อนจะเป็นพรีเมียร์ลีกแบบในปัจจุบัน แล้วในการคว้าแชมป์ดิวิชัน 1 ในฤดูกาล 1991-92 ของลีดส์นั้น คิดว่าพวกเขาเอาชนะใครในอันดับที่ 2… ใช่แล้ว ทีมนั้นคือแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ทีมจากยอร์กเชียร์เอาชนะไปด้วยคะแนนเพียง 4 แต้ม คว้าแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 3 และเป็นสมัยล่าสุดจวบจนปัจจุบัน

หลังจากเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคพรีเมียร์ลีกในปี 1992 ลีดส์และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดขับเคี่ยวกันบ่อยครั้ง และแน่นอนว่าเมื่อ ‘ปีศาจแดง’ มีบรมกุนซืออย่างเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อยู่ข้างสนาม ความสำเร็จของแมนยูฯ ย่อมมีมากกว่าลีดส์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความเดือดในเกมระหว่างนักเตะและแฟนบอลจะลดลง พวกเขาทั้งสองฝ่ายยังทนเห็นอีกฝ่ายยิงประตูหรือเอาชนะตัวเองไม่ได้เหมือนที่ผ่านมาๆ จนกระทั่ง ลีดส์มีปัญหาทางการเงินและตกชั้นไปในปี 2004 เรื่องราวระหว่างทั้งคู่ก็หายตามไปด้วย

ยุคปัจจุบัน – คู่ปรับแห่งดอกกุหลาบ 

การกลับขึ้นชั้นกลับมาสู่พรีเมียร์ลีกของลีดส์ ยูไนเต็ด ในฤดูกาลที่ผ่านมา ทำให้ใครหลายๆ คนหวนคิดถึงความเกลียดชังระหว่างคู่อริสองทีมนี้อีกครั้ง และนั่นหมายถึงการกลับมาเจอกันของสองคู่ปรับแห่งดอกกุหลาบที่จะได้ทำสงครามกุหลาบกันบนสนามหญ้าอีกครั้ง สำหรับแมนฯ ยูไนเต็ดที่อริเยอะ ทั้งลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี และอาจจะรวมไปถึงอาร์เซนอลในยุคสมัยหนึ่ง แต่พวกเขาไม่เคยลืมว่าลีดส์ก็เป็นอีกหนึ่งคู่แค้นเสมอมา

ตรงกันข้ามกับแมนฯ ยูไนเต็ด เพราะลีดส์มีความจงเกลียดจงชังที่ชัดเจนกว่า เพราะอริของพวกเขาคือ ‘ปีศาจแดง’ ต้องมาเป็นอันดับ 1 เท่านั้น แม้จะมีชื่อของมิลล์วอลล์หรือเชลซี รวมไปถึงทีมเล็กๆ น้อยๆ ในยอร์กเชียร์ตะวันตกตามมา แต่ก็ไม่เคยมีทีมไหนเลยที่แฟนบอลของลีดส์จงเกลียดจงชัง และจ้องจะแช่งเช้าแช่งเย็นเท่ากับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดอีกแล้ว 

และแม้ว่าเรื่องของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับลีดส์ ยูไนเต็ด อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับสงครามกุหลาบเมื่อเกือบ 500 ปีที่แล้ว แม้จะมีเรื่องของพื้นที่แลงคาเชียร์กับยอร์กเชียร์ และสีเสื้อของทั้งสองทีมที่เหมือนกันกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์โดยบังเอิญ แต่ไม่ผิดเลยที่จะเรียกการเจอกันของทั้งสองทีมว่า ‘สงครามดอกกุหลาบ’ เพราะแม้จะเป็นคนละบริบทกัน แต่นี่คือการต่อสู้ที่มีศักดิ์ศรีและความยิ่งใหญ่เป็นเดิมพันไม่ต่างกันอยู่ เพียงแค่ย้ายสมรภูมิมาเป็นบนสนามหญ้าเท่านั้นเอง…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save