fbpx
เมื่อนักการเมือง “อนาคตใหม่” ขึ้นสกายวอล์ค แฟลชม็อบแล้วไงต่อ?

เมื่อนักการเมือง “อนาคตใหม่” ขึ้นสกายวอล์ค แฟลชม็อบแล้วไงต่อ?

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ปีพุทธศักราช 2562 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ต้องนับเป็นอีกปีหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยเหตุการณ์บ้านเมืองอันมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีทั้งดี-ชั่ว บวกและลบ ให้ยุวชนคนรุ่นหลังในวันข้างหน้าได้ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินคุณค่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในราชสำนัก ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส, ข่าวใหญ่ว่าด้วยเจ้าคุณพระฯ และพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม เป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562

ความเป็นไปทางการเมือง ตั้งแต่กรณีพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งนำไปสู่การยุบพรรค, การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม กับการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, ปรากฏการณ์พรรคอนาคตใหม่ ตลอดจนการคืบคลานเข้ามาครอบงำของระบอบปกครองแบบไฮบริด หรือลูกผสมกึ่งเผด็จการทหารกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์

หรือด้านเศรษฐกิจ-สังคม กับปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงระหว่างชนชั้นนำกับคนทั่วไปในท่ามกลางความถดถอยแทบทุกด้าน, ความขัดแย้งแตกร้าวของเพื่อนร่วมชาติ, ปรากฏการณ์ที่ผู้คนหันมาพึ่งพาเตาอั้งโล่แก้ปัญหาให้กับตัวเอง ฯลฯ

นอกเหนือไปจากประเด็นหลักๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีเหตุการณ์บ้านเมืองอีกมากมายที่มีความสำคัญเกี่ยวพันกับประโยชน์ของสาธารณะ แต่ประชาชนไม่สามารถจะพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นเปิดเผยได้ แม้จะเป็นความจริงโดยแท้ก็ตามที

ทำได้ก็เพียงแค่ซุบซิบนินทากันไป ตามประสาประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า ทั้งราษฎร พ่อค้าข้าราชการ ทหาร ตำรวจหรือนักการเมือง แต่ขณะเดียวกันหลายคนก็พร้อมที่จะหลอกตัวเอง ปกป้องความเท็จแลกเปลี่ยนกับประโยชน์ที่ตนได้รับ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน เกียรติยศชื่อเสียง อำนาจวาสนา ทรัพย์สินเงินทอง ความมั่นคงมั่งคั่งในชีวิต

การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่ยาก ปฏิรูปกี่ครั้งกี่หนก็เป็นแบบ “ฉี่ไม่สุด” จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็มีเงื่อนไขข้อแม้ว่าต้องไม่แตะต้องตรงนั้น ห้ามข้องแวะตรงนี้

กี่คนกี่องค์กรมาแล้วที่ถูกกลืนกินเมื่อตัดสินใจไปเกลือกกลั้วกับระบอบที่เป็นอยู่ บางคนเป็นฮีโร่อยู่ดีๆ เข้าทำเนียบฯ เข้าสภาฯ กลายเป็นฮีลวงไป ไม่ช้าไม่นาน

ล่าสุดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองซึ่งเป็นแหล่งรวมของนักวิชาการ ฝ่ายซ้าย แอคติวิสต์ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม ซึ่งต้องมีความเชื่อมั่นในแนวทางรัฐสภาอยู่ระดับหนึ่ง โดยหมายมั่นปั้นมือว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ด้วยการเข้าไปกุมอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง

เป็นความหวังของหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย รวมถึงผู้คนต่างวัย ซึ่งอาจเคยผิดหวังจากพรรคการเมืองอื่นๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปีสองปีที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่แต้มแต่งสีสัน สร้างบรรยากาศความแปลกใหม่ให้การเมืองบ้านเราได้หลุดพ้นไปจากความน่าเบื่อหน่ายจำเจ โดยเป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่ง “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” แท้ๆ ย้อนกลับมาทิ่มแทง ปูพรมแดงให้นักกิจกรรมทางการเมือง แอคติวิสต์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม เข้าสู่สภากัน ทั้งๆ ที่มิได้มุ่งหมาย ไม่ได้เจตนาจะยกร่างมาเพื่อพวกเขาเลยแม้แต่น้อย

กลายเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้คนซึ่งเชื่อมั่น หรือมีความคาดหวังต่อระบบรัฐสภา

ชังสีเขียว เบื่อสีแดง หน่ายสีฟ้า ระอาสีเหลือง ฯลฯ ก็มีสีส้มเพิ่มเติมมาเป็นตัวเลือก สุดแท้แต่รสนิยม

ผ่านมาเกือบสองปี ต้องยอมรับว่าพรรคอนาคตใหม่ช่ำชองเชี่ยวชาญการสร้างประเด็นทางการเมือง ทำอีเวนต์ รังสรรค์วาทกรรมได้ถูกจริตหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลางในเมือง

ทำเอา กปปส. – นปช. ถึงกับหมอง พรรคการเมืองเก๋า หรือกลางใหม่กลางเก่า ต่างเฉาไปตามๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มกิจกรรมทางการเมืองในภาคประชาชน

ช่วงหาเสียงเลือกตั้งก็สร้างกระแสไวรัล รณรงค์ประชาชนเข้าคูหาฆ่าเผด็จการ หรือจับปากกาฆ่าเผด็จการ ให้เป็นที่เอิกเกริกครึกโครม ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งเป็นกระบวนการฟอกตัวเผด็จการ คสช. โดยแท้ ซึ่งในที่สุดทุกคนก็กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา พร้อมกับอีลีทใหม่อีกคณะหนึ่ง

และก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็เกิดวาทกรรมอยู่เป็น-อยู่ไม่เป็น ให้เป็นที่ฮือฮาปนหมั่นไส้ในหมู่นักการเมืองด้วยกัน

เที่ยวเมล์ล่าสุดเวลานี้ ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนพูดถึงแฟลชม็อบ กับการระดมผู้สนับสนุนชุมนุมบนลานสกายวอล์ค สยามสแควร์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้นัดหมายล่วงหน้าด้วยตัวเอง สร้างความงุนงงสงสัยให้กับหลายคนว่า นอกจากการชุมนุมบนสกายวอล์คแทนที่จะเป็นท้องถนน และเลิกเร็วใช้เวลาไม่นานแล้ว แฟลชม็อบมีนิยามความหมายอย่างไร แตกต่างไปจากม็อบทั่วไปตรงไหน

ท่าทีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตลอดจนแกนนำพรรคอนาคตใหม่บนสกายวอล์ควันนั้น ก่อให้เกิดคำถามซึ่งยากจะตอบได้ ถึงบทบาทการทำหน้าที่ของพรรคการเมืองซึ่งมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร กับความเชื่อมั่นที่มีต่อระบบรัฐสภา อันจะเป็นปัญหาตามมาโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อุปสรรคขวากหนามทั้งหลายที่พรรคอนาคตใหม่เผชิญ หาใช่เรื่องของความบังเอิญไม่ แต่เป็นสิ่งที่สามารถคาดหมายได้อยู่แล้วว่าจะต้องตกเป็นฝ่ายถูกกระทำทุกวิถีทาง จนกว่าจะล้มหายตายจากกันไปข้าง หรือเลือกสยบยอมต่อระบอบที่เป็นอยู่

แม้บางเหตุบางปัจจัยเป็นเรื่องเปรียบเสมือนลื่นหกล้ม หรือสะดุดขาตัวเองอยู่ด้วยเหมือนกัน

ประทานโทษเถอะ ลองหัวหน้าพรรคไม่ใช่ไพร่หมื่นล้าน ไม่ร่ำรวยให้พรรคกู้ยืมทีละร้อยสองร้อยล้าน ไม่มีเงินไปลงทุนทำสื่อก่อนจะมาลงการเมือง ไม่หุนหันพลันแล่นไปชักชวนคนออกมาม็อบด้วยตัวเอง ก็คงไม่มีเงื่อนไขเปิดช่องให้ใครมาวุ่นวายได้

น่าเสียดายกับโอกาสที่ผ่านมา เพราะแทนที่จะได้สำแดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและแรงพยายามที่จะพลิกโฉมหน้าสังคมกึ่งเผด็จการทหารกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง จุดประกายความหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศอย่างจริงจังในภายภาคหน้า กลับไปแสดงท่าทีผ่อนปรน ประนีประนอมให้เกิดความเคลือบแคลงว่าจะสู้ไปกราบไป เหมือนกับนักการเมืองหน้าเก่าๆ คนก่อนๆ หรือไม่

ไม่ยอมอยู่เฉย ต้องออกมายืนยันว่าจะไม่แตะต้องรัฐธรรมนูญหมวดนั้น ไม่ข้องแวะกับกฎหมายมาตรานี้ วันดีคืนดีก็ไปยืนกุมสะดือ ยิ้มหัวกับราชนิกูลให้ผู้คนหัวร่อไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออก

เคยสร้างความหวือหวาฮือฮา เมื่อครั้งโหวตไม่เห็นชอบด้วยกับพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม เป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 นั่นก็เป็นเพราะไม่เห็นชอบกับการตราเป็นพระราชกำหนดเท่านั้นเอง มิใช่ไม่เห็นด้วยในเนื้อหาสาระของพระราชกำหนดแต่ประการใด

ที่แลดูดุดันขึงขัง ตั้งท่าราวกับจะท้าตีท้าต่อยทหาร จ้องทุบหม้อกองทัพ แต่เอาเข้าจริงก็คงทำได้เพียงแค่สร้างความหงุดหงิดรำคาญให้เจ็บๆ คันๆ เหมือนเช่นมดกัดอวัยวะเบื้องล่าง โดยหาได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรจริงๆ จังๆ ขึ้นมาไม่ ตราบเท่าที่โครงสร้างอำนาจยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเรื่องที่แกนนำพรรคอนาคตใหม่ต่างรู้อยู่แก่ใจ

รู้ดีทุกอย่างว่าปัญหาของประเทศชาติอยู่ตรงไหน ไม่เชื่อลองไปย้อนดูท่าที จุดยืน บทความ ข้อเขียน หรือโพสต์แสดงความคิดเห็นตามเว็บบอร์ดในอดีต

แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่ออยากลิ้มรสผลไม้พิษกับเขาบ้าง ตัดสินใจเลือกแนวทางรัฐสภา เข้าไปเป็นตราประทับรับรองระบอบปกครองปัจจุบัน ตั้งพรรค ลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมใจนึก ใส่สูทผูกเนคไท สวมเสื้อขาวคอตั้งประดับเหรียญตราให้เป็นที่โก้หรู

ถึงตอนนี้ยามที่ถูกอำนาจรัฐบดขยี้อย่างหนักเจียนอยู่เจียนไป สุดท้ายก็กลับมาพึ่งม็อบ เอาหลังพิงประชาชน

บางคนอาจเพ้อฝันไปถึงม็อบฮ่องกง ทั้งๆ ที่เนื้อหา เป้าหมายแตกต่างกัน หนุ่มสาวฮ่องกงกำลังต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระจากระบอบปกครองเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ใช่เพียงแค่ม็อบไล่ป้า นางแคร์รี่ หลัม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตยในบ้านเมืองเขา

ขณะที่บ้านเรากระเหี้ยนกระหือไล่ “ลุงตู่” ไม่ต่างไปจากที่เคยไล่ผู้ปกครองเผด็จการ-ทรราชกันมาแล้วไม่รู้กี่คน แต่ก็ไม่เคยได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะที่ไล่ๆ ไป เป็นเพียงแค่ตัวแทนฝ่ายหนึ่งใน proxy crisis ของพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์

แต่เอาเถอะ ในฐานะที่ไม่เคยเชื่อมั่นระบบรัฐสภา ในชีวิตไม่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็ขอเอาใจช่วย

ว่าแต่แฟลชม็อบแล้วยังไงต่อไปละ เดือนนี้ของปลอมเดือนหน้าของจริง มันเป็นอย่างไร

ลำพังเพียงแค่แสดงสัญลักษณ์อันเป็นกิจกรรมที่ถนัด จะกอด จูบ ยืน นอน นั่ง หรือวิ่งไล่อย่างไร คงยากที่จะเอาชนะระบอบปกครองปัจจุบันได้

MOST READ

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

Politics

12 Sep 2018

ความจริง ความเชื่อ และความเจ็บป่วยของ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงชะตากรรมของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในฐานะนักวิชาการผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์มาร่วม 40 ปี แต่กลับต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย (และล้มป่วย) อยู่ในต่างแดน

อายุษ ประทีป ณ ถลาง

12 Sep 2018

Politics

14 Jul 2020

การเกิดอีกครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ธนาพล อิ๋วสกุล เขียนถึงการเปลี่ยนความหมายของจอมพล ป. พิบูลสงครามจาก ‘ผู้ร้ายในประวัติศาตร์การเมืองไทย’ มาเป็นนายทหารฝ่ายคณะราษฎรที่สามารถกำราบฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างราบคาบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแหลมคมการเมืองร่วมสมัยของไทย

ธนาพล อิ๋วสกุล

14 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save