fbpx

พลังแห่งเหตุผลของคำพิพากษาในคดีการเมืองไทย

1

ว่าด้วยพลังแห่งเหตุผลของคำพิพากษา

คำพิพากษาของศาลในคดีต่างๆ อาจไม่ได้เป็นแต่เพียงการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายเพื่อกำหนดผลทางกฎหมายหรือเพื่อทำให้ข้อพิพาทระงับลงเท่านั้น แต่การพิพากษาคดีของศาลในหลายกรณีเป็นการชี้ขาดในเรื่องผลประโยชน์ด้านต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางการเมือง รวมถึงในหลายกรณีเป็นการชี้ขาดที่กระทบอารมณ์ความรู้สึกของคู่ความหรือประชาชนเป็นการทั่วไปด้วย การตัดสินคดีของศาลจึงถูกเรียกร้องให้ต้องเป็นคำพิพากษาที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนหรือเป็นคำพิพากษาที่ชอบธรรม

ลักษณะสำคัญของคำพิพากษาที่จะได้รับการยอมรับจากประชาชนหรือมีความชอบธรรม ได้แก่ คำพิพากษาที่มีการให้เหตุผลที่ได้รับการยอมรับและสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสังคมเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่ รวมถึงการที่เหตุผลตามคำพิพากษานั้นต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ สามารถอภิปรายได้ รวมถึงถูกตรวจสอบได้ เมื่อคำพิพากษามีความเป็นเหตุเป็นผลก็จะนำไปสู่สภาพบังคับในทางความเป็นจริงที่ได้รับการยอมรับจากคู่ความและสาธารณชน และสามารถใช้ในการกำหนดพฤติกรรมของบุคคลทั้งหลายในสังคมได้อย่างแท้จริง

ปัญหาการยอมรับนับถือในคำพิพากษาโดยประชาชนนั้นเป็นปัญหาทั้งในทางกฎหมายและในทางสังคมวิทยา และเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดแรงปะทะกันระหว่างความคิดในเรื่องการรักษาไว้ซึ่งความเป็นที่สุดเด็ดขาดของคำพิพากษาและความคิดเกี่ยวกับความเชื่อในความถูกต้องของคำพิพากษาโดยประชาชน ทฤษฎีเกี่ยวกับการสร้างความยอมรับนับถือในคำพิพากษาจึงถือว่าเป็นกรอบที่คอยกำกับการใช้ดุลพินิจของศาลในการใช้และตีความกฎหมายไม่ให้หลุดลอยไปจนถึงขนาดที่ไม่อาจได้รับการยอมรับในความถูกต้องได้เลย

ปัญหาการยอมรับนับถือในคำพิพากษาของศาลนั้นเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษในกรณีของข้อพิพาททางการเมือง หรือความขัดแย้งที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งข้อพิพาทใดที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคุณค่าที่ประชาชนฝ่ายต่างๆ ยึดถือ คำพิพากษาของศาลในเรื่องเช่นว่านี้ย่อมมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นที่จะเกิดปัญหาความยอมรับนับถือจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่ต้องเสียประโยชน์ทางการเมืองโดยผลของคำพิพากษานั้น ในหลายประเทศนั้นกรณีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองของประชาชนฝ่ายต่างๆ และเป็นตัวอย่างของคำพิพากษาที่อาจเกิดปัญหาความยอมรับนับถือจากประชาชนได้มากที่สุด

ในทางทฤษฎี คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะของศาลรัฐธรรมนูญ จะได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนหรือไม่เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 3 ประการด้วยกัน

ประการแรก ข้อพิพาททางการเมืองในรัฐนั้นๆ จะต้องไม่มีลักษณะที่มีความขัดแย้งรุนแรงจนเกินไปถึงขนาดที่ไม่มีฝ่ายใดที่อาจยอมพ่ายแพ้ในข้อพิพาทนั้นได้เลย เพราะการพ่ายแพ้ในคดีใดคดีหนึ่งอาจหมายถึงการเสียผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างรุนแรงจนถึงขนาดทำให้ประชาชนบางฝ่ายต้องสูญเสียพื้นที่ทางการเมืองไปโดยสิ้นเชิง กล่าวอีกนัยหนึ่ง คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายทางการเมืองก็ต่อเมื่อ คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำให้ฝ่ายที่ชนะคดีเป็นผู้ชนะในทางการเมืองและผูกขาดอำนาจทางการเมืองเอาไว้ได้แต่ฝ่ายเดียว และทำให้ฝ่ายที่แพ้คดีรู้สึกว่าตนเองสูญเสียสิทธิหรือโอกาสในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองไปโดยสิ้นเชิง

ประการที่สอง ในสังคมการเมืองหนึ่งๆ จะมีต้องฉันทมติพื้นฐานในทางการเมืองร่วมกันเกี่ยวกับความยุติธรรมทางการเมืองว่า ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทหรือความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนในสังคมการเมืองนั้นได้ยินยอมพร้อมใจอย่างแท้จริงในการมอบข้อพิพาททางการเมืองให้กับองค์กรที่ทุกฝ่ายเชื่อว่ามีความเป็นกลางอย่างแท้จริงในการทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทนั้น เงื่อนไขในประการนี้มีความหมายว่า ประชาชนจะให้การยอมรับในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก็ต่อเมื่อ มีฉันทมติพื้นฐานร่วมกันอย่างแท้จริงเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญและภารกิจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการชี้ขาดข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

ประการสุดท้าย คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญจะได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนก็ต่อเมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนหรือมีแรงหนุนหลังจากประชาชน (public support) ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพัฒนาตนเองให้ได้รับการยอมรับนับถือผ่านคำพิพากษาของตนเองตั้งแต่เริ่มต้นในการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญในรัฐนั้นขึ้นมา และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะทางการเมืองที่เข้มแข็งในหมู่ประชาชนเมื่อเปรียบเทียบกับความเชื่อถือที่ประชาชนมีให้ต่อรัฐสภาหรือรัฐบาล ก็มีโอกาสมากยิ่งขึ้นที่คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญจะได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน แม้ว่าคำพิพากษานั้นจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียผลประโยชน์ทางการเมืองก็ตาม

เงื่อนไขในการสร้างความยอมรับนับถือในคำพิพากษาของศาลที่กล่าวข้างต้นนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียง ‘ปัจจัยภายนอก’ เท่านั้น แต่เงื่อนไขสำคัญที่สุดหรือที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ปัจจัยภายใน’ ที่คำพิพากษาของศาลในข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจะได้รับยอมรับนับถือจากประชาชน ได้แก่ ‘พลังแห่งเหตุผล’ ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษานั้นๆ ทั้งนี้คำพิพากษาที่มีพลังแห่งเหตุผลย่อมได้แก่คำพิพากษาที่สามารถทำให้คู่ความและประชาชนเป็นการทั่วไปเชื่อมั่นว่าเป็น ‘คำพิพากษาที่ถูกต้อง’ หรือเป็น ‘คำพิพากษาที่ยุติธรรม’ และเมื่อเกิดความเชื่อมั่นดังกล่าวในหมู่ประชาชน สภาพที่เรียกว่า ‘ความสงบสุขในทางการเมือง’ และ ‘ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ’ ระหว่างรัฐกับประชาชนก็จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

อาจกล่าวได้ว่า ‘คำพิพากษาที่ยุติธรรมและมีเหตุมีผล’ คือเป้าหมายที่สำคัญของการพิจารณาคดีของศาลในทุกคดี คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายทางการเมือง รวมถึงความรับรู้รับทราบที่แตกต่างกันในข้อเท็จจริงหรือมูลเหตุที่นำมาสู่การพิจารณาคดีของศาลนั้น ศาลจะสามารถผลิตคำพิพากษาที่มีพลังแห่งเหตุผลได้อย่างไร ในเรื่องดังกล่าวมีคำตอบอยู่ว่า คำพิพากษาของศาลในคดีทั้งหลายจะมีพลังแห่งเหตุผล รวมถึงได้รับการยอมรับจากคู่ความและประชาชนก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไข 2 ประการ ซึ่งได้แก่ ‘เงื่อนไขในทางกระบวนการ’ ประการหนึ่ง และ ‘เงื่อนไขในทางเนื้อหาของคำพิพากษา’ อีกประการหนึ่ง

1) ในเรื่องเงื่อนไขในทางกระบวนการนั้น การพิจารณาคดีของศาลจะต้องเป็นกระบวนการที่ยุติธรรม (fair process) ซึ่งหมายถึง เป็นกระบวนการที่ให้โอกาสคู่กรณีทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันในการต่อสู้คดี และมอบเครื่องไม้เครื่องมือในการต่อสู้คดีที่เท่าเทียมกันให้กับคู่ความทั้งสองฝ่ายด้วย นอกเหนือจากนั้น เพื่อให้เกิดกระบวนพิจารณาคดีที่ยุติธรรม ศาลจะต้องยึดถือหลักการ ‘ฟังความทุกฝ่าย’ อย่างแท้จริงด้วย คู่ความและประชาชนทั้งหลายจึงจะยอมรับในผลแห่งคำพิพากษาอย่างแท้จริง

2) เงื่อนไขในทางเนื้อหาที่จะทำให้คำพิพากษาของศาลได้รับการยอมรับนับถือมีอยู่ว่า คำพิพากษานั้นจะต้องมีการให้เหตุผลที่ทำให้คู่ความและประชาชนเป็นการทั่วไปเชื่อว่ามีความยุติธรรม ในการที่จะทำให้เกิดความเชื่อถือในความยุติธรรมของคำพิพากษานั้น ศาลจะต้องให้เหตุผลแห่งคำพิพากษาที่คู่ความสามารถเข้าใจได้ง่ายว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นยุติที่ศาลใช้ในการพิพากษามีอยู่อย่างไร และศาลกำหนดผลทางกฎหมายสำหรับข้อเท็จจริงนั้นด้วยเหตุผลที่ชัดเจนอย่างไร นอกเหนือจากนั้น ในคำพิพากษาของศาลจะต้องเปิดช่องให้คู่ความที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษามีโอกาสในการโต้แย้งคำพิพากษานั้นไปยังศาลในลำดับชั้นสูงขึ้นไปได้อีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคู่ความย่อมมีโอกาสในการที่จะยอมรับคำพิพากษาของศาลมากยิ่งขึ้น

2

ทฤษฎีความถูกต้องหนึ่งเดียวของคำพิพากษา

(‘One Right Answer’ Thesis)

แม้ว่าโดยหลักแล้วคำพิพากษาของศาลทั้งหลายจะต้องมีความยุติธรรมและเป็นคำพิพากษาที่มีพลังแห่งเหตุผลที่ทำให้เกิดความเชื่อถือในความถูกต้องก็ตาม แต่นักกฎหมายโดยทั่วไปย่อมทราบดีว่า การชี้ขาดว่าการตัดสินคดีของศาลในคดีหนึ่งๆ เป็นคำพิพากษาที่ถูกต้องหรือยุติธรรมหรือไม่นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายดายแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะในข้อเท็จจริงเดียวกันและในหลักกฎหมายเดียวกันนั้น ศาลในลำดับชั้นทั้งหลายอาจตัดสินคดีไม่เหมือนกันหรือให้เหตุผลแตกต่างกันได้เสมอ ปัญหาในทางปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความยากลำบากมากยิ่งขึ้นในการพิจารณาว่าคำพิพากษาของศาลถูกต้องและยุติธรรมหรือไม่ ได้แก่กรณีที่เรียกว่า ‘คดีที่มีความยุ่งยาก’ (hard case) คือคดีที่เมื่อพิจารณาจากหลักกฎหมายที่มีอยู่ในระบบกฎหมาย ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนแน่นอนหรือไม่สามารถสรุปผลทางกฎหมายที่ชัดเจนแน่นอนได้โดยง่าย ผลที่ตามมาก็คือมีโอกาสเป็นอย่างมากที่ประชาชนทั่วไปจะไม่ยอมรับหรือเชื่อถือในคำพิพากษานั้น

แม้ในทางปฏิบัติจะเป็นเรื่องยากที่จะชี้ขาดว่าคำพิพากษาของศาลถูกต้องและชอบธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะในคดีที่มีความยุ่งยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่นักกฎหมายทั้งหลาย โดยเฉพาะศาล จะปฏิเสธหน้าที่ในการสร้างคำพิพากษาที่มีความถูกต้องและชอบธรรมมากที่สุด ทั้งนี้ มีนักทฤษฎีกฎหมายคนสำคัญ 2 ท่านที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของการสร้างคำพิพากษาที่ถูกต้อง ซึ่งนักกฎหมายทั้งสองท่านนี้เห็นตรงกันว่า ในข้อพิพาททางกฎหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่งย่อมมีคำตอบหรือคำวินิจฉัยที่ถูกต้องอยู่เพียงประการเดียวเท่านั้น และเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องตัดสินคดีให้ถูกต้องหรือให้คำตอบที่ถูกต้องเท่านั้น นักกฎหมายทั้งสองท่านนี้ได้แก่ Ronald Dworkin และ Jürgen Habermas

‘ทฤษฎีความถูกต้องหนึ่งเดียวของคำพิพากษา’ (‘One Right Answer’ thesis) ของ Ronald Dworkin มีคำอธิบายสำคัญอยู่ว่า ความถูกต้องหนึ่งเดียวของคำพิพากษาในข้อพิพาทต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่หรือปรากฏตัวอยู่แล้วในความเป็นจริงโดยไม่ขึ้นอยู่กับความรับรู้ของมนุษย์ และดังนั้นศาลจึงมีหน้าที่ในการค้นหาความจริงที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวในข้อพิพาทนั้นให้ได้ ความถูกต้องของคำพิพากษาในความหมายนี้จึงมีลักษณะที่เป็นภววิทยา (ontology) หรือสภาวะตามธรรมชาติของความจริง และแม้แต่ในคดีที่มีความยุ่งยาก คำพิพากษาย่อมมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงประการเดียวเท่านั้น ทฤษฎีนี้เป็นเครื่องเตือนใจศาลในการใช้อำนาจตัดสินคดีว่า ศาลจะต้องตัดสินโดยคำนึงอยู่เสมอว่าคำตอบที่ถูกต้องที่สุดมีเพียงคำตอบเดียวเท่านั้น

ในขณะที่ Jürgen Habermas อธิบายทฤษฎีความถูกต้องหนึ่งเดียวของคำพิพากษา (‘One Right Answer’ thesis) ไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับ Dworkin โดยเห็นว่า คำอธิบายของ Dworkin ที่เน้นย้ำว่าความถูกต้องของคำพิพากษามีลักษณะที่เป็นภววิทยา (ontology) หรือสภาวะตามธรรมชาติของความจริง และเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาที่จะต้องค้นหาความจริงหรือความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวให้ได้นั้น ไม่สามารถสร้างความยอมรับนับถือในความถูกต้องโดยคู่ความและประชาชนทั้งหลายได้อย่างแท้จริง ในทางตรงกันข้าม Habermas กลับเห็นว่าหนทางที่จะสร้างความยอมรับนับถือในคำพิพากษาโดยคู่ความและประชาชนทั้งหลาย ได้แก่การสร้างฉันทมติ (consensus) ให้เกิดขึ้นให้ได้ เขาเห็นว่าฉันทมติในความถูกต้องของคำพิพากษาย่อมเกิดจาก ‘การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น’ (discourse) ซึ่งตามทฤษฎีการอภิปรายถกเถียงถึงความถูกต้องนี้มีวิธีการสำคัญอยู่ว่า จะต้องเปิดโอกาสให้คู่ความหรือคู่อภิปรายใช้เครื่องมือทั้งหลายอย่างเท่าเทียมกันในการที่จะให้เหตุผลที่ดีกว่าหรือข้อโต้แย้งหักล้างที่มีน้ำหนักมากกว่าในการเอาชนะเหตุผลหรือข้อโต้แย้งของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหากกระบวนพิจารณาคดีของศาลมีลักษณะที่เปิดโอกาสเช่นว่านั้นให้กับคู่ความอย่างแท้จริง ก็จะเกิดฉันทมติร่วมกันเกี่ยวกับความถูกต้องและเป็นธรรมของคำพิพากษานั้นระหว่างคู่ความและประชาชนทั่วไปด้วย

จะเห็นได้ว่าทฤษฎีความถูกต้องหนึ่งเดียวของคำพิพากษา (‘One Right Answer’ thesis) ของนักคิดทั้งสองท่านนี้ต่างมีลักษณะที่เรียกร้องให้ศาลพิพากษาหรือตัดสินคดีให้ถูกต้องชอบธรรมมากที่สุด แม้จะเป็นคดีที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนเพียงใดก็ตาม และแม้จะไม่อาจคาดหวังให้ประชาชนทั้งหลายยอมรับร่วมกันถึงคำตอบหรือเหตุผลที่ถูกต้องของคำพิพากษาก็ตาม แต่ก็เป็นเครื่องเตือนใจและกรอบในการตัดสินคดีของศาลว่า จะต้องไม่เขียนคำพิพากษาที่ประชาชนหรือบุคคลเป็นการทั่วไปไม่อาจเชื่อมั่นหรือให้การยอมรับนับถือในความถูกต้องชอบธรรมได้เลย

กล่าวให้ถึงที่สุด ในการพิพากษาคดีของศาลนั้น ผู้พิพากษาถูกเรียกร้องให้เขียนคำพิพากษาที่มีพลังแห่งเหตุผลให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

3

คดีการเมืองไทยในฐานะคดีที่มีความยุ่งยาก (hard case)?

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า โดยปกตินั้นข้อพิพาททางการเมืองมักจะเป็นข้อพิพาทที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองของประชาชนฝ่ายต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้การชี้ขาดข้อพิพาททางการเมืองโดยเฉพาะของศาลรัฐธรรมนูญนั้นย่อมที่จะคาดหวังให้เกิดความยินยอมพร้อมใจในการยอมรับนับถือในคำพิพากษาได้ยาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองทั้งหลายที่มีการมอบข้อพิพาททางการเมืองให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด อย่างไรก็ตามข้อพิพาททางการเมืองในประเทศไทยในปัจจุบันถูกยกระดับให้มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อข้อพิพาททางการเมืองและในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นถูกโยงเข้ากับปัญหาเรื่อง ‘คุณค่า’ (values) ที่ประชาชนฝ่ายต่างๆ ยึดถือแตกต่างกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมที่เกิดการปะทะกันของคุณค่า 2 ประการที่ประชาชนยึดถือแตกต่างกันออกไป ได้แก่ คุณค่าหรือความเชื่อในการนำสังคมไปข้างหน้าตามแนวคิดที่เชื่อถือในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความมีอิสระเสรี และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน กับการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าดั้งเดิมหรือจารีตประเพณีของสังคมไทย ซึ่งการยึดถือในคุณค่าที่แตกต่างกันของประชาชนทั้งสองฝ่ายนี้นำไปสู่ปัญหาความยุ่งยากในการชี้ขาดข้อพิพาททางการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือแม้กระทั่งเสรีภาพในทางวิชาการก็ตาม และเมื่อข้อพิพาทเช่นว่านี้เป็นคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลแล้วย่อมเป็นเรื่องที่ยากลำบากแก่ศาลในการพิจารณาพิพากษาคดี เพราะนอกจากศาลจะต้องตัดสินชี้ขาดคดีให้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว คำตัดสินนั้นย่อมกระทบต่อผลประโยชน์ทางการเมือง คุณค่าที่ยึดถือ และอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนฝ่ายต่างๆ ด้วย

ในทางทฤษฎีนั้น ‘คดีที่มีความยุ่งยาก’ (hard case) คือคดีที่ไม่อาจตัดสินชี้ขาดได้โดยง่ายเพราะเหตุที่กฎเกณฑ์ในทางกฎหมายที่จะใช้กับคดีหรือข้อพิพาทนั้นมีความไม่ชัดเจน และทำให้ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนสำหรับข้อพิพาทนั้นได้ หรืออาจให้คำตอบได้เป็นหลายแนวทางด้วยกัน คำถามประการสำคัญมีอยู่ว่าคดีการเมืองทั้งหลายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคดียุบพรรคการเมือง คดีเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ถือเป็น ‘คดีที่มีความยุ่งยาก’ (hard case) ที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลทั้งหลายไม่อาจให้คำตอบที่ถูกต้องชัดเจนได้โดยง่ายใช่หรือไม่

ในเรื่องดังกล่าวผู้เขียนมีความเห็นว่า จะต้องพิจารณาระหว่าง ‘คดีที่มีความยุ่งยาก’ (hard case) ซึ่งหมายถึงคดีที่ไม่อาจตัดสินชี้ขาดได้โดยง่ายเพราะเหตุที่กฎเกณฑ์ในทางกฎหมายที่จะใช้กับคดีหรือข้อพิพาทนั้นมีความไม่ชัดเจน ออกจาก ‘คดีที่ศาลมีความไม่สะดวกสบายใจ’ ในการที่จะยืนยันคำตอบที่ถูกต้องของข้อพิพาทหรือคดีนั้น ทั้งนี้ คดีที่ศาลอาจมีความไม่สะดวกสบายใจที่จะยืนยันคำตอบที่ถูกต้องหนึ่งเดียวของข้อพิพาท ได้แก่ คดีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการพิทักษ์รักษาคุณค่าดั้งเดิมหรือจารีตดั้งเดิมในสังคมไทย ซึ่งคดีดังกล่าวนี้เป็นคดีที่ศาลมีแนวโน้มที่จะดึงตัวเองออกมาจากหน้าที่ในการให้พลังแห่งเหตุผลในคำพิพากษาเพื่อให้ได้มาซึ่งคำพิพากษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อพิทักษ์คุณค่าบางประการที่ศาลเองหรือประชาชนบางกลุ่มยึดถือหรือให้ความเคารพนับถือ

ดังนั้นหากกล่าวด้วยใจเป็นธรรม คดีการเมืองในประเทศไทยหลายกรณียังไม่ใช่ ‘คดีที่มีความยุ่งยาก’ (hard case) ในความหมายที่เข้าใจกัน แต่เป็นเพียงคดีหรือข้อพิพาทที่ศาลต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากเพื่อยืนยันเหตุผลที่ถูกต้องของหลักกฎหมายและความชอบธรรมในระบบกฎหมายและในระบอบประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่แล้วเท่านั้น

4

ปัญหาพลังแห่งเหตุผลในคำพิพากษาของศาลไทยในคดีการเมือง

ปัญหาทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมานั้นศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นๆ เข้าไปทำหน้าที่ในการชี้ขาดข้อพิพาทอยู่หลายต่อหลายครั้งด้วยกัน และปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามถึงความถูกต้องชอบธรรมของคำพิพากษาของศาล รวมถึงในหลายๆ กรณีที่คู่ความหรือประชาชนทั่วไปต้องแปลกประหลาดใจกับการให้เหตุผลของศาลด้วย คงไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปนักที่จะสรุปว่า ในคดีการเมืองนั้นคำพิพากษาของศาลไทยมีปัญหาพลังแห่งเหตุผลของคำพิพากษาอย่างมาก ซึ่งอาจสรุปสาเหตุได้อย่างน้อย 3 ประการด้วยกัน


1) ระบบแห่งเหตุผลถูกแทนที่ด้วยความพยายามในการรักษาคุณค่า

ในการทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทของศาลนั้น ศาลจะต้องทำหน้าที่ในการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายเพื่อกำหนดผลทางกฎหมายในข้อพิพาทนั้นให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนั้นๆ แม้ในการตัดสินคดีของศาลนั้น ศาลอาจคำนึงถึงคุณค่าบางประการอันเป็นอุดมการณ์ที่ครอบระบบกฎหมายทั้งระบบอยู่ เช่น คุณค่าของระบอบประชาธิปไตยหรือการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้ก็ตาม แต่ศาลไม่อาจปล่อยให้คุณค่าในประการอื่นๆ อันเป็นคุณค่าที่ไม่ใช่คุณค่าพื้นฐานในการก่อตั้งระบอบการปกครองปัจจุบันให้กลายเป็นธงนำในการใช้การตีความกฎหมายของศาล เช่น การพิทักษ์รักษาคุณค่าในทางจารีตดั้งเดิมของสังคม ความเชื่อในทางศาสนาของประชาชนส่วนใหญ่ หรือสถาบันหลักบางประการของประเทศ เพราะการนำคุณค่าในประการหลังทั้งหลายมาผูกพันเข้ากับการใช้การตีความกฎหมายของศาลนั้น ย่อมทำให้ระบบการให้เหตุผลของศาลเกิดความพร่าเลือนและทำให้เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกหรือความปรารถนาเข้ามาแทนที่ระบบแห่งเหตุผลที่ควรต้องเป็น

ในทางปฏิบัติเราจะพบว่า เมื่อศาลต้องวินิจฉัยข้อพิพาททางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูเหมือนว่าพลังแห่งเหตุผลในคำพิพากษาของศาลจะดูอ่อนตัวลงในทันที ในคดีของศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 19/2564 (ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564) ซึ่งศาลต้องชี้ขาดและให้เหตุผลว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง (การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์) เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการต่อต้านความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปเป็นการปกครองรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวจะต้องชี้ขาดและให้เหตุผลที่มีพลังว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปเป็นการปกครองรูปแบบอื่นหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวกลับให้เหตุผลในทำนองที่ว่าหากจะต้องเลือกระหว่างการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนกับการรักษาคุณค่าดั้งเดิมของสังคมไทยนั้น ศาลย่อมเลือกที่จะคุ้มครองคุณค่าดั้งเดิมเท่านั้น ดังเนื้อความของคำพิพากษาที่ว่า

“การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเรียกร้องเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะอันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์กับชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องร่วมกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสถาบันหลักคู่ชาติไทยและถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้”

จากเนื้อหาดังกล่าวผู้ที่มีเหตุผลตามสมควรย่อมไม่อาจเข้าใจได้ว่า เหตุผลตามคำพิพากษาของศาลจะสร้างความยอมรับนับถือให้กับประชาชนได้อย่างไร เพราะเนื้อหาเกือบทั้งหมดเป็นเพียงกล่าวย้ำถึงคุณค่าที่ศาลยึดถือและเห็นว่าถูกต้อง และเห็นสมควรให้ประชาชนทั้งหมดยึดถือตามด้วยเท่านั้น ทั้งนี้ศาลไม่อาจให้เหตุผลจนสาธารณชนเชื่อถือได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นอันตรายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างไร กรณีดังกล่าวจึงเป็นตัวอย่างของการใช้คุณค่าหรืออารมณ์ความรู้สึกเข้าแทนที่การสร้างพลังแห่งเหตุผลในคำพิพากษา


2) การทำลายโอกาสในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองโดยคำพิพากษา

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายทางการเมืองก็ต่อเมื่อ คำพิพากษานั้นไม่ทำให้ฝ่ายที่ชนะคดีเป็นผู้ชนะในทางการเมืองและผูกขาดอำนาจทางการเมืองเอาไว้ได้แต่ฝ่ายเดียว และทำให้ฝ่ายที่แพ้คดีรู้สึกว่าตนเองสูญเสียสิทธิหรือโอกาสในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วคำพิพากษาที่มีโอกาสที่จะทำลายสิทธิในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองโดยสิ้นเชิงได้แก่ คำพิพากษาในคดียุบพรรคการเมือง ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนฝ่ายข้างน้อย คำพิพากษาที่เป็นการยุบพรรคการเมืองจึงต้องถูกใช้ในกรณีที่เป็นข้อยกเว้นอย่างแท้จริงเท่านั้น และจะต้องให้เหตุผลที่ทรงพลังว่าเหตุใดพรรคการเมืองหนึ่งจำเป็นต้องถูกทำลายไปจากระบอบการเมืองของประเทศนั้นๆ แนวทางที่ถูกต้องในการยุบพรรคการเมืองมีอยู่ว่า พรรคการเมืองต่างๆ จะถูกยุบได้เฉพาะในกรณีที่ได้กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง และไม่มีหนทางอื่นใดที่จะทำได้นอกจากการยุบพรรคการเมืองนั้นเสีย เพื่อเป็นการปิดโอกาสที่พรรคการเมืองนั้นๆ จะสร้างอันตรายหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต่อไป

เหตุการณ์ยุบพรรคการเมืองครั้งสำคัญสองครั้ง ได้แก่ การยุบพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่ เป็นการยุบพรรคที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่ามีเหตุอันถึงที่สุดหรือไม่มีหนทางอื่นแล้วใช่หรือไม่ ในการที่จะต้องใช้มาตรการยุบพรรคการเมืองอันเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้ในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนเป็นจำนวนมาก การยุบพรรคด้วยเหตุที่ยังไม่ถึงขนาดนั้นย่อมส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียพื้นที่ทางการเมือง รวมถึงสูญเสียโอกาสในการก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองของฝ่ายตนลงโดยสิ้นเชิง และต้องตกเป็นผู้พ่ายแพ้โดยสิ้นเชิงในการแข่งขันกันเพื่อกำหนดทิศทางทางการเมืองภายประเทศ อาจกล่าวได้ว่าการตัดสินของศาลในกรณีเช่นว่านี้มีลักษณะที่ไม่ประนีประนอม และไม่อาจทำให้เกิดการประสานประโยชน์ทางการเมืองของประชาชนทุกฝ่ายได้ ประกอบกับการที่ศาลไม่สามารถให้เหตุผลได้อย่างชัดแจ้งและเป็นที่ยอมรับนับถือในความถูกต้องของคำพิพากษา ดังนั้นคำพิพากษาในปริมณฑลเช่นว่านี้จึงเป็นอีกตัวอย่างของคำพิพากษาซึ่งขาดไปซึ่งพลังแห่งเหตุผล


3) ปัญหาสิทธิในการต่อสู้คดีของฝ่ายที่ใช้เสรีภาพทางการเมือง

เงื่อนไขประการสำคัญในการสร้างความยอมรับนับถือและการสร้างความถูกต้องหนึ่งเดียวของคำพิพากษาได้แก่ การที่การพิจารณาคดีของศาลจะต้องเป็นกระบวนการที่ยุติธรรม (fair process) ซึ่งหมายถึงเป็นกระบวนการที่ให้โอกาสคู่กรณีทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันในการต่อสู้คดีและมอบเครื่องไม้เครื่องมือในการต่อสู้คดีที่เท่าเทียมกันให้กับคู่ความทั้งสองฝ่ายด้วย ในคดีทางการเมืองในประเทศไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคดีเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถ้ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคุณค่าดั้งเดิมดัง เช่น คดีตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ดูเหมือนว่าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวจะไม่ได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม เมื่อมีการจับกุมตัว การตั้งข้อกล่าวหา หรือการฟ้องในคดีดังกล่าว โอกาสที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวเพื่อการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ดูเหมือนจะน้อยลงไปด้วย และท้ายที่สุดเมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โอกาสที่สาธารณชนจะให้ความยอมรับนับถือในเหตุผลตามคำพิพากษาของศาลย่อมน้อยลงด้วย เพราะเหตุที่กระบวนพิจารณาของศาลในคดีเช่นว่านี่ยังไม่ใช่กระบวนการที่เป็นธรรม (fair process) อย่างแท้จริง

5

บทสรุป

ปัญหาเรื่องพลังแห่งเหตุผลเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำคำพิพากษาของศาล และเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้คำพิพากษาได้รับการยอมรับนับถือจากคู่ความและประชาชน และเมื่อคำพิพากษาของศาลได้รับการยอมรับนับถือว่ามีเหตุผลที่ถูกต้องย่อมทำให้สังคมการเมืองนั้นๆ เป็นสังคมการเมืองที่สงบสุขอย่างแท้จริง ทั้งนี้คดีการเมืองในประเทศไทยนั้น ยังไม่ใช่คดีที่มีความยุ่งยาก (hard case) อันเป็นคดีที่ไม่สามารถหาคำตอบที่ถูกต้องได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้เพราะมักเป็นคดีที่มีหลักกฎหมายไม่ได้ยุ่งยากและสลับซับซ้อนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามคำพิพากษาของศาลไทยในคดีการเมืองกลับมีปัญหาเรื่องความยอมรับนับถือในเหตุผลที่ถูกต้องเป็นอย่างมาก เพราะศาลมักมี ‘คำตัดสินที่ผูกพันกับคุณค่า’ และนำคุณค่าสูงสุดเด็ดขาดนั้นเข้ามาใช้แทนที่ระบบการให้เหตุผลในทางกฎหมาย

ดังนั้นศาลในคดีการเมืองจึงถูกเรียกร้องว่า ในอนาคตต่อไปนั้นศาลจะต้องตัดสินชี้ขาดคดีการเมืองโดยความกล้าหาญที่จะยืนยันเหตุผลที่ถูกต้อง เพื่อให้คำพิพากษามีพลังแห่งเหตุผลและได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปอย่างแท้จริง

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save