fbpx

การเมืองเรื่องไอโฟน 15: ตัวประกันคนสำคัญ

“เราเปิดรับบริษัทต่างชาติมาโดยตลอด และยินดีต้อนรับพวกเขาเพื่อคว้าโอกาสและแบ่งปันผลของการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน”  นี่คือประโยคที่ เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวขึ้นในงานแถลงข่าว ณ กรุงปักกิ่ง ต่อกรณีการแบนไอโฟน

การเปิดตัวไอโฟนรุ่นที่ 15 (ซึ่งจริงๆ ต้องบอกว่าเป็นรุ่นที่ 17 ถึงจะถูก) ด้วยหน้าตาที่เกือบจะเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเทคโนโลยีด้านในตัวเครื่องที่อัพเกรดขึ้น (นิดหน่อย) และหน้าจอรูปแบบใหม่สำหรับไอโฟน 15 ซึ่งสำหรับรุ่นราคาแพงอย่าง iPhone 15 Pro และ 15 Pro Max จุดขายสำคัญน่าจะอยู่ที่ความสามารถของการถ่ายวีดีโอ และการเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ดูล้ำยุคขึ้นไปอีกขั้นอย่างไทเทเนียมที่ดูจะเรียกความสนใจจากแฟนๆ สาวกไอโฟนได้ไม่น้อย ไปจนถึงการเปลี่ยนมาใช้พอร์ต USB-C ที่น่าจะทำให้การใช้งานสะดวกขึ้น (แต่เอาจริงๆ ผมว่าหากไม่โดนบีบจาก EU ก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไหม) ซึ่งแอปเปิลหวังว่าฟังก์ชันเหล่านี้ที่ใส่มาในตัวเครื่อง พร้อมอัพเกรดระบบปฎิบัติการใหม่ ฟังก์ชันทั้งหมดนี้น่าจะสามารถดึงเงินออกจากกระเป๋าของเหล่าผู้บริโภคได้ ซึ่งก็อาจเป็นอย่างนั้น หากดูจากยอดจองของผู้ให้บริการที่เครื่องรุ่นแพงนั้นหมดอย่างรวดเร็ว  

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลการเติบโตของแอปเปิลในช่วงปี 2022-2023 ถือว่าผลประกอบการอยู่ในระดับทรงๆ มีช่วงเวลาที่ผลประกอบการแอปเปิลไม่เติบโตเลยถึง 3 ไตรมาสติดต่อกันในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และมีช่วงที่ทำกำไรได้เล็กน้อยจากที่คาดการณ์ไว้ แต่โดยรวมถือว่าเป็นทิศทางไปในทางทรงตัว แม้กระทั่งตอนนี้ที่มีผลิตภัณฑ์เรือธงขายดีที่สุดของบริษัทออกมา ก็ยังไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำแอปเปิลกระโดดขึ้นมามากนัก และอาจต้องรอดูกันต่อไปอีกนิด 

ตั้งแต่ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา ยอดขายฮาร์ดแวร์ของแอปเปิลไม่ค่อยดีนัก ส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อในช่วงโควิด-19 ที่ผู้บริโภคต้องการอุปกรณ์เสริมต่างๆ เอาไว้ใช้ทำงานที่บ้าน แม้สาวกแอปเปิลหลายคนจะเพิ่งซื้ออุปกรณ์ทั้งหมดไปไม่ถึงสองปีดีดัก จึงอาจทำให้ยอดขายไม่ได้เติบโตมาก โดยข้อมูลจาก Statista ระบุว่า แม้แอปเปิลจะเป็นเจ้าตลาดการขายไอแพด และในช่วงปี 2021-2022 ไอแพดขายได้มากขึ้น 40 ล้านเครื่อง (จาก 52 ล้านเครื่องในปี 2021) แต่พอมาปีนี้ ในครึ่งปีแรกยอดขายของไอแพดกลับยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งจากที่เคยทำได้ในปีที่ผ่านมา จนมีข่าวลือออกมาว่าเราอาจได้เห็นการยกเครื่องครั้งใหญ่ของไอแพดเพื่อกระตุ้นตลาดอีกครั้ง

ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่ทำให้ผลประกอบการแอปเปิลอาจไม่ได้สดใสอย่างที่คิดไว้ ไม่ได้มาจากที่ว่าพวกเราต่างทยอยซื้อสินค้าของแอปเปิลไปมากมายแล้วในช่วงก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่ประเด็นหลักอยู่ที่เรื่องการเมืองระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ดูเหมือนจะตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ และพยายามข่มกันในทุกรูปแบบ ดังจะเห็นได้จากก่อนหน้านี้ก็มีการปล่อยข่าวเรื่องของการห้ามส่งออกแร่ Rare Earth ของจีน และก่อนหน้าการเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่ไม่กี่วันก็มีการปล่อยข่าวเรื่องที่ว่า รัฐบาลจีนออกกฎห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลใช้ไอโฟนอีกต่อไป เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย ทั้งยังเกรงว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจได้ข้อมูลของจีนผ่านการขอข้อมูลจากแอปเปิลก็เป็นได้ 

ข่าวนี้แม้ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จมากแค่ไหน (แม้ภายหลังจีนจะออกมาบอกว่าเป็นข่าวปลอม แต่ก็ใช่ว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ในอนาคต) และต้องยอมรับว่าปล่อยออกมาได้ถูกจังหวะที่ก็ทำให้ตลาดเกิดความอ่อนไหวมากพอสมควร ซึ่งหากเราไปดูข้อมูลการลงทุนของแอปเปิลซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในประเทศจีน เราจะเข้าใจว่านัยของการปล่อยข่าวลือของจีนนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อน หักเหลี่ยมพญาเหยี่ยว และเป็นเหมือนหนังกำลังภายในอย่างมาก  

เป็นไปได้ว่า หากวันหนึ่งคนจีนเลิกใช้ไอโฟนจะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของแอปเปิลมากแบบที่มูลค่าบริษัทอาจหายไปมากกว่าครึ่ง อ้างอิงข้อมูลจาก Counter Point บริษัทวิจัยทางการตลาด ระบุว่าในปีที่แล้วแอปเปิลขายไอโฟนเฉพาะในประเทศจีนได้ประมาณ 20 ล้านเครื่อง แม้ว่ายอดขายจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2021 แต่จีนก็ยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกนอกสหรัฐอเมริกาของไอโฟน รายได้ที่ได้จากลูกค้าในประเทศจีน ถือเป็น 1 ใน 5 ของรายได้ที่บริษัททำได้ ปัจจุบันแนวโน้มของการจำหน่ายไอโฟนในประเทศจีนนั้นลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากแบรนด์สมาร์ตโฟนสัญชาตจีนนั้นแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ และมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ดีในราคาที่เหมาะสม 

กรณีพิพาทกันของจีนและสหรัฐอเมริกาจึงเป็นเรื่องที่จัดการลำบากมากสำหรับแอปเปิล เนื่องจากฐานการผลิตไอโฟนที่ใหญ่และเชี่ยวชาญที่สุดของแอปเปิลอยู่ที่ประเทศจีน การย้ายฐานการผลิตที่เคยมีความพยายามในช่วงที่โดนัล ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีนั้น แม้แอปเปิลจะมีท่าทีในการสนองตอบต่อนโยบาย ‘American First’ แต่ผมคิดว่าอาจเป็นเพียงการรักษาท่าที เพราะแอปเปิลรู้ดีว่าการตอบสนองนโยบายนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

แอปเปิลลงทุนพัฒนาไอโฟนตั้งแต่สมัยที่ สตีฟ จอปส์ ยังมีชีวิตอยู่ และ ทิม คุก ทำหน้าที่ดูแลเรื่องห่วงโซ่อุปทานและการผลิตไอโฟน ทั้งยังเป็นผู้ดูแลเรื่องต้นทุนสินค้ามาตั้งแต่ครั้งนั้น ในหนังสือที่ชื่อว่า สตีฟ จ็อบส์ : Steve Jobs ของวอลเตอร์ ไอแซคสัน เขียนไว้ว่าสตีฟ จอปส์เคยกล่าวว่า ทิม คุก จะเป็นคนที่บินมาเมืองจีนทุกครั้งเมื่อสายพานการผลิตมีปัญหา รวมถึงการรักษาสายสัมพันธ์อันยาวนานกับโรงงานผู้ผลิตและประกอบไอโฟนอย่างฟอกซ์คอน (Foxxcon) ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงงานประกอบไอโฟนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองเจิ้งโจว และปัจจุบันยังสร้างเพิ่มมาอีกสองบริษัทเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น นั่นคือ เพกาตรอน (Pegatron) และวิสตรอน (Wistron) ที่ผลิตและประกอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแอปเปิล  

เพราะหน้าฉากของการเปิดตัวไอโฟน เราอาจเห็นแต่ความเป็นแคลิฟอร์เนียและความเป็นอเมริกัน แต่ทว่าในความเป็นจริงเนื้อในของแอปเปิลต้องพึ่งพิงทรัพยากรจากจีน และเรื่องนี้รัฐบาลทั้งสองประเทศต่างรู้ดี นอกจากนี้ แอปเปิลยังมีทีมวิจัยและพัฒนาของตัวเองที่อยู่ในประเทศจีน ถือเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานอกประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใหญ่ที่สุดของแอปเปิล เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมาแอปเปิลก็เพิ่งประกาศการลงทุนมูลค่ามากกว่า 1.2 พันล้านดอลาร์สำหรับการเสริมสร้างความแข็งแรงของห่วงโซ่อุปทานในจีนของบริษัทแอปเปิล

พูดได้ว่าแอปเปิลกับคู่ค้าในจีนมีความสัมพันธ์กันดีมาก มากเสียจนแอปเปิลแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันนวัตกรรมหลายอย่างในประเทศจีน ทั้งการเติบโตของสมาร์ตโฟนในจีนเอง โดยเฉพาะความรู้เรื่องกระบวนการผลิต การผลิตส่วนประกอบต่างๆ และร่วมพัฒนาระบบคลาวด์ในประเทศซึ่งแอปเปิลลงทุนมานานแล้วเป็นทศวรรษแล้ว

อีกทั้งปี 2018 แอปเปิลก็ประกาศเปิดตัวศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของแอปเปิลภายนอกสหรัฐฯ ณ เมืองกุ้ยโจวทางตอนใต้ของจีน ซึ่งได้สร้างงงานให้กับคนในพื้นที่นั้นจำนวนไม่น้อย และทำให้เมืองกุ้ยโจวเป็นที่รู้จักในนามศูนย์กลางของการพัฒนา Big Data และระบบคลาวด์ของจีน และไม่ได้มีแต่แอปเปิลเท่านั้นที่เข้าไปลงทุน เพราะทั้งอเมซอนและไมโครซอฟต์ก็เข้าไปลงทุนใน Big Data ที่กุ้ยโจวด้วยเช่นกัน เพราะทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการได้เข้าถึงลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก   

นอกจากนี้ ข่าวการห้ามใช้ไอโฟนสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐยังตามมาด้วยการประกาศความสำเร็จของหัวเหว่ยในการผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรและสามารถใช้ 5G ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา และตามมาอีกระลอกด้วยการเปิดตัวสมาร์ตโฟนเรือธงของหัวเหว่ยรุ่นใหม่อย่าง Huawei Mate 60 Pro+ ที่นอกเหนือจากใช้ 5G ได้แล้วยังสามารถโทรผ่านดาวเทียมได้เหมือน iPhone 14 Pro อีกด้วย (ซึ่งฟังก์ชั่นนี้ยังใช้ได้เฉพาะในเขตอเมริกาเหนือ)

Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์จาก TF International Securities คาดไว้ว่า Huawei Mate 60 Pro+ อาจเป็นสมาร์ตโฟนที่มาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของไอโฟนในจีน ทั้งยังอาจมียอดจัดส่งอยู่ที่ 5.5 ถึง 6 ล้านเครื่องภายในครึ่งปีหลังของปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้น 20% จากยอดจำหน่ายที่มีการวางแผนไว้ก่อนหน้านี้ หรืออาจสูงถึง 12 ล้านเครื่องภายใน 1 ปี หลังการเปิดตัวเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมาก็เป็นได้ ทั้งหมดถือเป็นเกมที่จีนเดินหมากได้เก่งและสร้างสิ่งกวนใจให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะอาจเชื่อแน่ว่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแอปเปิลคงต้องเจรจาเรื่องนี้กับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพราะหากจะเล่มเกมแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นอันตรายกับบริษัทสัญชาติอเมริกันซึ่งไม่ใช่แค่แอปเปิลเท่านั้นที่เข้าไปลงทุนในจีนอย่างมากมายมหาศาล ไม่เช่นนั้น แอปเปิลอาจต้องรีบคิดถึงการย้ายฐานการผลิต ซึ่งทางเลือกนี้ก็ไม่ง่าย และการขวานหาลูกค้ารายใหม่ที่มีกำลังการซื้อพอๆ กับจีนนั้นก็ยากมากเช่นกัน 

รวมไปถึงแอปเปิลยังต้องวางกลยุทธ์ให้ดีในการบล็อคคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นซัมซุงจากเกาหลีใต้ หรือเสียวหมี่ (xiaomi) จากประเทศจีนที่นับวันยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคงไม่ยอมแพ้ในสนามประลองนี้เป็นแน่ เพราะผู้บริหารของเสียวหมี่ถึงกับประกาศว่า ในอนาคตอันไม่ไกลจากนี้เขาจะขอเป็นผู้ท้าชิงคนสำคัญของแอปเปิลในตลาดสมาร์ตโฟนโลก และหวังใจว่าจะเอาชนะไอโฟนได้ โดยเฉพาะตลาดในประเทศและในอินเดีย ซึ่งทั้งเสียวหมี่และแอปเปิลต่างเป็นคู่แข่งกันโดยตรงในตลาดสมาร์ตโฟนราคาปานกลางไปจนถึงราคาแพง แม้ฟังดูจะเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับเสียวหมี่ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ในอนาคต 

ยิ่งเมื่อมองดูปัจจัยของภายในของประเทศจีน ทั้งการรณรงค์ลดการพึ่งพาตะวันตก การโปรโมตตัวเองของจีนว่าจะเป็นทางเลือกของการคานอำนาจกับโลกตะวันตก และที่สำคัญกว่านั้น ตั้งแต่หลังโควิด-19 เป็นต้นมา คนจีนจนลงอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อในประเทศ ไปจนถึงการเป็นหนี้ของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การจับจ่ายอาจไม่คล่องมือเหมือนก่อน 

ทั้งหมดที่ว่ามา จึงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้หนทางของไอโฟน 15 และแอปเปิลในประเทศจีนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนที่คาดหวังกันไว้ก็เป็นได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save