ปรีดี หงษ์สต้น เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ว่าไปแล้วหากจะกล่าวถึงการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์สแกนดิเนเวียในการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ คงจะไม่มียุคไหนเหมาะสมกว่าการย้อนกลับไปพิจารณาถึงยุคแสงสว่างของยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17-19 ที่ส่งผลอันไพศาลต่อมาในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาโดยรวมของโลก
ผมจะขอเล่าถึงช่วงเหตุการณ์สั้นๆ เพียงเหตุการณ์เดียวในเดนมาร์กคือในรัชสมัยของกษัตริย์คริสเตียนที่ 7 (1766-1808) เพื่อแสดงให้เห็นว่ากระแสความคิดของยุคแสงสว่างได้เดินทางเข้าปะทะกับความสัมพันธ์ทางอำนาจราชสำนักที่เป็นอนุรักษนิยมอย่างไร
แต่ผมจะขอสำทับด้วยเรื่องเล่าอีกชั้นหนึ่ง เป็นงานวรรณกรรมของนักเขียนชาวสวีเดนที่ว่าด้วยเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งตีพิมพ์ในหลายร้อยปีถัดมา แต่แสดงให้เห็นว่าเส้นทางการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่คงจะเป็นโครงการอันไม่จบสิ้นของสังคมสแกนดิเนเวียและสังคมยุโรปโดยรวม
เดนมาร์กช่วงศตวรรษที่ 18
ตั้งแต่ยุคฟิวดัลเริ่มต้นมาประมาณเกือบสองศตวรรษก่อนหน้าช่วงเวลาที่ผมจะเล่า มีการคานอำนาจกันระหว่างสถาบันกษัตริย์และสถาบันขุนนางมาโดยตลอด (รวมถึงวัดที่สูญเสียอำนาจไปจากการปฏิรูปศาสนาจากเยอรมนีที่ส่งผลมายังดินแดนสแกนดิเนเวีย)
โดยเฉพาะการเป็นเจ้าของที่ดินและความสัมพันธ์กับทาส นี่ทำให้การดำเนินการต่อรองในราชสำนักสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจของกษัตริย์เดนมาร์กแต่ละพระองค์ว่ามีอำนาจแท้จริงหรือไม่อย่างไร
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของอำนาจสถาบันกษัตริย์ในเดนมาร์กเราอาจจะดูได้จากรัชสมัยของกษัตริย์คริสเตียนที่ 7 นี่แหละ
กษัตริย์องค์นี้เท่าที่ท่านผู้รู้เล่ามาในประวัติศาสตร์ คือพระองค์มีสติวิปลาส จนไม่สามาถว่าราชการได้ ทำให้เกิดสูญญากาศและเกิดการสั่นคลอนของอำนาจ
ปี 1768 คริสเตียนที่ 7 เดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลา 8 เดือนทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส ในการเดินทางนี้ทำให้เขารู้จักกับแพทย์ผู้หนึ่งมีนามว่าโยฮัน ฟรีดิช สตรูเอนซี (Johan Friedrich Struensee, 1737–1772) แพทย์ราชสำนักจากเยอรมันตอนเหนือซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มารักษาอาการของเขาขณะเดินทางในยุโรปและอังกฤษ
ฝีมือการรักษาของสตรูเอนซีเป็นที่ถูกใจของคริสเตียนที่ 7 เป็นอย่างยิ่ง จนในที่สุดเมื่อเขากลับมาเดนมาร์กแล้ว สตรูเอนซีก็เดินทางติดตามมาด้วย และในเวลาไม่นานสตรูเอนซีก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์

อิทธิพลของเยอรมนีต่อเดนมาร์ก
ตั้งแต่ในยุคสมัยของการปฏิรูปศาสนาซึ่งนำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ในศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา เยอรมนีถือว่าเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญของการเดินทางของภูมิปัญญาเข้าสู่ภูมิภาคสแกนดิเนเวีย
นี่ยังรวมถึงนายทุนอุตสาหกรรม วิศวกรและช่างเทคนิคชาวเยอรมันทั้งหลายที่บุกเบิกและประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งช่วยให้ภูมิภาคสแกนดิเนเวียเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหนักได้อย่างรวดเร็วที่จากเดิมเคยเป็นเพียงสังคมเกษตรกรรม
การเดินทางของสตรูเอนซีเข้าไปในเดนมาร์กเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวอื่นๆ ของความสัมพันธ์นี้ และที่สำคัญ นี่เป็นช่วงเวลาที่ความคิดของนักปรัชญายุคแสงสว่างได้สาดแสงไปทั่วยุโรปตะวันตก สตรูเอนซีเองก็เป็นผู้ศรัทธาในปรัชญายุคนี้ด้วย
แต่สตรูเอนซีสามารถไปได้ไกลกว่าที่คิด คือแทบจะขึ้นนั่งบัลลังก์เองเลยทีเดียว
การเข้าสู่อำนาจ
สตรูเอนซีมีสัมพันธ์ลับๆ กับราชินีแคร์โลไลน์ มาทิลดา (Caroline Matilda, 1751-1775) และมีลูกด้วยกันอีกต่างหาก ขณะเดียวกันก็ยิ่งน่าสนใจว่าเขายังได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ผู้กำลังต่อสู้กับอาการทางจิตอยู่ และเขาเองยังต้องทำหน้าที่แพทย์ประจำราชสำนักให้ไม่ขาดตกบกพร่อง
สตรูเอนซีเข้าสู่อำนาจผ่านการสนับสนุนจากสถาบันกษัตริย์และคนกลุ่มเล็กๆ บางส่วน เขาดำเนินบทบาทแทบจะเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเองเลยทีเดียว ในปลายปี 1770 เขาเป็นดั่งผู้นำโดยพฤตินัยของเดนมาร์ก
สตรูเอนซีเป็นผู้ศรัทธาความคิดของยุคแสงสว่าง เขาเชื่อถึงความก้าวหน้า แม้ว่าตนเองจะไม่มีผู้สนับสนุนใดเลยตั้งแต่ต้น แต่เขาอาศัยอำนาจในการออกพระราชบัญญัติเป็นหลัก คือเน้นอยู่ที่ตัวบทกฎหมายในการเปลี่ยนแปลงสังคม
เขาเป็นคนหนึ่งที่พยายามทำให้ปรัชญาของยุคแสงสว่างเกิดขึ้นในเดนมาร์ก ตั้งแต่ปฏิรูประบบบริหารงานของรัฐบาล เลิกระบบทาส ปลดปล่อยการเข้มงวดตรวจตราสื่อมวลชน ออกคำสั่งห้ามทรมานนักโทษ ปฏิรูประบบยุติธรรม ยกเลิกอุปสรรคการค้าทั้งในและต่างประเทศ เปลี่ยนรัฐบาล และสร้างระบบสาธารณสุขแก่สาธารณะ ฯลฯ
ในช่วงเวลาสั้นๆ เขาออกพระราชบัญญัติถึง 1,880 ฉบับ
แต่ผลลัพธ์ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง เพราะขณะที่เขาเคลื่อนไหวผลักดันเดนมาร์ก ‘จากข้างบน’ และจากตัวบทกฎหมายเท่านั้น เขาก็ต้องรับมือกับแรงเสียดทานจากพลังอนุรักษนิยมภายในโครงสร้างอำนาจราชสำนักและขุนนางเดนมาร์กเอง
ทั้งนี้เพราะเขาไม่ได้มีแรงสนับสนุนมากพอในสังคมเดนมาร์ก อันเป็นที่เข้าใจได้เพราะเขาเป็นคนนอก และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับราชสำนักเดนมาร์กมาก่อน แถมยังมาคบชู้กับราชินีอีกด้วย นี่คือข้อหาก่อกบฏที่เขาได้รับ
เพียง 2 ปีที่เขาเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง เขาก็ถูกยึดอำนาจคืนและถูกประหาร เพราะมีขุนนางมากมายที่ไม่ต้องการจะสูญเสียอำนาจไปจากระบอบเก่า
ช่วงเวลาสั้นๆ ของสตรูเอนซีทำให้เราเห็นโครงสร้างของชนชั้นนำเดนมาร์กอันมีความเป็นอนุรักษนิยมอย่างสูง แต่ขณะเดียวกัน เราก็เห็นการผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวหน้า ในนามของการปกปักรักษาแสงสว่าง
การมาเยือนของแพทย์ประจำราชสำนัก
ยุคร่วมสมัยได้สิ้นสุดลงไปล่วงถึงยุคปัจจุบัน ปัญญาชนและนักประวัติศาสตร์ต่างให้ความสนใจกับช่วงเวลาสั้นๆ นั้น มีการนำเรื่องราวนี้กลับมาเล่าใหม่ในสื่อรูปแบบต่างๆ ออกไป
อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง En kongelig affære (A Royal Affair) ในปี 2012 ซึ่งเน้นไปที่เรื่องความสัมพันธ์และอำนาจในราชสำนักของกษัตริย์คริสเตียนที่ 7
แต่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจและเป็นความพยายามในการเชื่อมโยงสตรูเอนซีในฐานะผู้ปกปักรักษาแสงสว่างอย่างชัดเจนตรงไปตรงมาที่สุดกว่าการนำเรื่องดังกล่าวกลับมาเล่าใหม่ครั้งใดๆ นั่นคือ Livläkarens Besök (1999) (แปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 2001 ชื่อ The Visit of the Royal Physician) เขียนโดยแพร์ อูลอฟ เอนควิสต์ (P.O. Enquist, 1934 – ปัจจุบัน) นักเขียนสวีเดนคนสำคัญ ผู้พำนักอยู่ในโคเปนเฮเกน
หนังสือเล่มนี้เล่าถึงช่วงเวลาที่สตรูเอนซีเข้าไปในราชสำนักเดนมาร์ก ความสัมพันธ์ของเขากับพระราชินี การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา และความตื่นตระหนกไม่พึงพอใจของเหล่าขุนนางอนุรักษนิยมสุดโต่ง ที่รู้สึกว่าแพทย์ผู้ศรัทธาในแสงสว่างผู้นี้กำลังโยกคลอนสำนักพระราชวังและโครงสร้างสังคมที่เหล่าขุนนางได้ควบคุมยึดสูบเอาประโยชน์ไว้
เอนควิสต์เปิดด้วยข้อเขียนของเอมมานูเอล คานท์ (1783) ว่า “ยุคแสงสว่างคือชัยชนะของมนุษย์เหนือความอ่อนประสบการณ์ของตน ความอ่อนประสบการณ์นี้ได้แก่การขาดความสามารถในการใช้ปัญญาของตนเองโดยปราศจากผู้อื่นชี้นำ”
“ความอ่อนประสบการณนี้มิได้มาจากการขาดซึ่งปัญญาแต่อย่างใด หากแต่มาจากการขาดซึ่งความกล้าหาญ ยุคแสงสว่างมิได้ต่อสู้เพื่อสิ่งใดไปมากกว่าเสรีภาพ เสรีภาพที่มนุษย์จะใช้เหตุผลของตนในสาธารณะ ไม่ว่าจะภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นใด เพราะการคิดด้วยตนเองเป็นสิทธิแต่กำเนิดของมนุษย์”
และการดำเนินเรื่องทั้งหมดของเอนควิสต์คือการทำให้ช่วงเวลาสั้นๆ ของสตรูเอนซีในราชสำนักเดนมาร์กคือการปรากฏตัวของความคิดในยุคแสงสว่างซึ่งต่อสู้เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้เหตุผลของตน
หนังสือเล่มนี้เขียนหลายร้อยปีให้หลังจากการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ของยุคแสงสว่าง ซึ่งหลายร้อยปีที่ผ่านมาเราจะเห็นพลังสองพลังประจัญกันเสมอ
ด้านหนึ่งคือความต้องการรักษาระบบระเบียบอำนาจเดิม อีกด้านหนึ่งคือการจัดตั้งต่อสู้เปลี่ยนแปลงอำนาจดั้งเดิมนั้น
ในนามของการปกปักรักษาแสงสว่าง
อ้างอิง
Susan Brantly, P.O. Enquist, Postmodernism, and the Defense of the Enlightenment, Scandinavian Studies, Vol. 79, No. 3 (Fall 2007), pp. 319-342