fbpx
‘ทหาร’ เงามืดของประชาธิปไตย: บทเรียนจากลาตินอเมริกา

‘ทหาร’ เงามืดของประชาธิปไตย: บทเรียนจากลาตินอเมริกา

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อเกือบสี่ปีที่แล้ว อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เขียนบทความ ‘ทหารมีไว้ทำไม’ เผยแพร่ทางสื่อ ซึ่งได้ตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ของกองทัพในปัจจุบัน ครั้งนั้นบทความดังกล่าวได้รับการตอบรับและปฏิกิริยาทั้งในทางบวก ชวนคิดต่อ และในทางวิพากษ์ โดยเฉพาะจากคนในเครื่องแบบจำนวนไม่น้อย ในบทความนี้ผมจะขอทดลองตอบคำถามอาจารย์นิธิ ผ่านบทเรียนและประสบการณ์จากลาตินอเมริกา

ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของกองทัพกับการเมืองในลาตินอเมริกา เป็นข้อหัวที่ได้รับการศึกษาวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง ส่วนมากแล้วมักเป็นเรื่องบทบาทของกองทัพกับการเปลี่ยนผ่านกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ไม่ก็เป็นเรื่องบทบาทของกองทัพกับระบอบประชาธิปไตย[1] Barany ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าถ้าหากประเทศๆ หนึ่งไม่มีทหารชนชั้นนำที่สมาทานระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จะอย่างไรเสียประชาธิปไตยไม่มีทางแข็งแรงเป็นปึกแผ่นเป็นแน่ [2]

ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 2000 การศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ในช่วงต่อๆ มาความสนใจในประเด็นดังกล่าวค่อยๆ ลดน้อยลง สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ขึ้นมา ปัญหากองทัพก่อการรัฐประหารยึดอำนาจดูเหมือนว่าจะลดน้อยลงแล้ว อีกทั้งบทบาทของกองทัพบนเวทีการเมืองก็หายเข้าไปในเงามืดมากขึ้นด้วย ปัจจัยภายนอกอย่างสงครามเย็นก็สิ้นสุดลงแล้วเช่นกัน ปัญหาสงครามกลางเมืองในหลายๆ ประเทศถือว่ายุติลงไปมากหากเทียบกับทศวรรษก่อนๆ

ดังนั้น โจทย์สำคัญที่นักวิชาการหันมาถกเถียงและให้ความสำคัญกันมากกว่าคือ ด้วยสภาพการณ์ที่สงบลงแล้วเช่นนี้ กองทัพจะมีบทบาทต่อไปเช่นใดได้บ้าง ในรายงานดัชนีสันติภาพโลกประจำปี ค.ศ. 2015[3] ซึ่งเป็นการจัดลำดับระดับความสงบสุขของแต่ละประเทศโดยมีปัจจัยข้อหนึ่งคือเรื่องระดับการแพร่กระจายวัฒนธรรมและระเบียบวินัยทหารในสังคมนั้นๆ (Militarization) พบว่าประเทศแถบอเมริกากลางและในทะเลแคริบเบียนมีอัตราการลดตัวลงของการแพร่กระจายวัฒนธรรมและระเบียบวินัยทหาร (Demilitarization) ที่สูงมาก เรียกได้ว่าสูงว่าค่าเฉลี่ยของทุกประเทศในโลกช่วง ค.ศ. 1990-2013 รวมกันเสียอีก ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการเมืองโลกเปลี่ยนและนโยบายด้านความมั่นคงภายในภูมิภาคดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

อันที่จริงแล้วตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 นโยบายด้านความมั่นคงในอเมริกากลางพลิกโฉมหน้าอย่างมาก จากที่เคยเป็นภูมิภาคที่เน้นความมั่นคงเป็นหลักจากปัญหาสงครามกลางเมือง กลายเป็นว่าหันมาเน้นเรื่องการทำงานร่วมกันอย่างสันติ การประนีประนอมกัน การสร้างประชาธิปไตย และการรักษาไว้ซึ่งความสงบในภูมิภาคแทน ในทางกลับกันดัชนีสันติภาพโลกชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเวเนซุเอลาใช้งบประมาณในสัดส่วนที่เยอะขึ้นมากในการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2011-2015 ซึ่งในรายงานกล่าวว่าเป็นช่วงที่ระดับการแพร่กระจายวัฒนธรรมและระเบียบวินัยทหารเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ไม่นานมานี้อย่างเช่นการรัฐประหารในฮอนดูรัส ค.ศ. 2009 ตลอดจนบทบาทของกองทัพเอกวาดอร์ในเหตุการความไม่สงบเมื่อ ค.ศ. 2010 จนถึงบทบาทของกองทัพในหลายประเทศที่ก้าวเข้ามามีพื้นที่มากขึ้นในฐานะผู้รักษาความสงบและความมั่นคงของประเทศ ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้ข้อถกเถียงในวงวิชาการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทหารกับการเมืองของพลเมืองกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง[4]

โดยมากแล้ว การเปลี่ยนผ่านจากระบอบทหารกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยของหลายประเทศในลาตินอเมริกามักมีลักษณะที่ฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารหันมานั่งโต๊ะเจรจาหาข้อตกลงกัน หรือไม่ก็คือฝ่ายทหารเป็นผู้ยอมถอยเองให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นโจทย์สำคัญสำหรับรัฐบาลพลเรือนในช่วงเปลี่ยนผ่านคือการเฟ้นหาวิธีเพิ่มอำนาจในการปกครองให้กับฝ่ายตนและลดบทบาทฝ่ายทหาร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเลี่ยงไม่ ‘กระตุกหนวดเสือ’ ให้ทหารกลับมาล้มรัฐบาลอีก

สิ่งที่รัฐบาลพลเรือนทำเพื่อให้เกิดสมดุลทางอำนาจกับกองทัพในช่วงนี้คือการยกประเด็นปัญหาทางการเมืองที่เร่งด่วน ณ ขณะนั้นขึ้นมาเป็นวาระสำคัญในการบริหารประเทศและเลือกพักประเด็นเรื่องการจัดการ ‘เช็คบิล’ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารในช่วงก่อนหน้าเอาไว้ก่อน

อันที่จริงแล้ว ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่เป็นตัวกำหนดลักษณะความสัมพันธ์ของรัฐบาลทหารที่กำลังจะลงจากอำนาจกับรัฐบาลพลเรือนที่กำลังจะเข้ามาคือเรื่องว่ารัฐบาลพลเรือนจะจัดการกับมรดกการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารเข้มข้นมากน้อยเพียงใด ดังนั้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เองจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน’ (Transitional Justice) ซึ่งหมายถึงกระบวนการเฟ้นหาความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นใช่ว่าการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจะเป็นเรื่องง่ายแต่อย่างใด ความท้าทายสำหรับรัฐบาลพลเรือนในประเด็นนี้อยู่ที่ว่า รัฐบาลจะทำเช่นไรให้ทั้งฝ่ายประชาชนผู้เสียหายจากรัฐบาลทหารพึงพอใจและได้รับความยุติธรรม แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องรักษาเสถียรภาพไม่ให้กองทัพเข้ามาทำให้สมดุลอำนาจเสียหายอีก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการหลีกเลี่ยงยังไม่ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารในชั้นศาลก็ดี หรือการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง’ (Truth Commission) ขึ้นมาแทนก็ตาม[5]

ในประเทศบราซิลพบว่าไม่ค่อยมีข้อขัดแย้งมากนักระหว่างฝ่ายทหารกับรัฐบาลพลเรือนในประเด็นเรื่องการจัดการอดีตสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่อย่างในกรณีอาร์เจนตินาข้อขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายมีสภาวะตึงเครียดอย่างถึงที่สุด[6] ถึงแม้ว่ากองทัพทั้งในบราซิลและอาร์เจนตินาช่วงรัฐบาลเผด็จการทหารจะกระทำการ ‘อุ้มหาย’ ประชาชนในลักษณะที่คล้ายกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหานี้ในอาร์เจนตินาเลวร้ายกว่าในบราซิลเป็นอย่างมาก ในช่วงหลังจากรัฐบาลเผด็จการทหารลงจากอำนาจใหม่ๆ ผู้ที่กระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนมักไม่ได้ถูกนำตัวมาดำเนินคดีหรือต้องรับผิดชอบใดๆ แต่ปัจจุบันสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้ที่กระทำความผิดถูกนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ถึงแม้ว่ากระบวนการจะเดินไปอย่างเชื่องช้าหรือไม่ทั่วถึงไปบ้างก็ตาม[7] ปรากฏการณ์นี้เองที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ‘การเมืองเรื่องความทรงจำ’ (Politics of Memory) ซึ่งหมายถึงการไม่ลืมมรดกความโหดร้ายทารุณของรัฐบาลเผด็จการทหาร ยังคงทำหน้าที่เป็นปัจจัยที่ทรงอิทธิพลต่อทัศนคติและภูมิทัศน์ทางการเมืองของหลายประเทศอยู่เสมอจวบจนปัจจุบัน[8]

ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ของลาตินอเมริกา สถาบันทหารทำหน้าที่เป็น ‘ผู้การันตี’ ความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมมาเสมอ ที่น่าสนใจคือทหารมักอ้างถึงรัฐธรรมนูญเพื่อหาความชอบธรรมให้แก่การยึดอำนาจและการปกครองอันไม่เป็นประชาธิปไตยของพวกตน แต่ในงานของ Loveman [9] มีการตั้งข้อสังเกตว่าจริงๆ แล้วข้อกล่าวอ้างของกองทัพที่ว่าตนมีสิทธิและอำนาจในการสวมบทบาทเป็น ‘ผู้พิทักษ์ทางการเมือง’ ในลักษณะนี้ขัดกับมโนทัศน์เรื่องประชาธิปไตยและความหมายของประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ในทางกลับกัน Loveman ชี้ว่าสิ่งนี้คือ ‘ประชาธิปไตยหุ้มเกราะ’ (Protected Democracy) ซึ่งเป็นคุณลักษณะเด่นข้อหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาจนถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1990

งานของ Hunter [10] ทำการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่ลงรอยกันระหว่างกองทัพกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โจทย์ใหญ่ที่ Hunter ต้องการไขให้ออกคือการหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลพลเรือนในช่วงเปลี่ยนผ่านจึงไม่สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ ปัญหาที่ Hunter พบก็เช่น

– การกำหนดให้มี ‘อำนาจพิเศษของรัฐ’ (Institutional Prerogatives) สิ่งนี้เป็นการกรุยทางให้กองทัพเข้ามาก้าวก่ายในกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการทหารหรือความมั่นคงอย่างถูกกฎหมาย โดยมากมักกระทำผ่านการประกาศ ‘สภาวะยกเว้น’ (Regimes of Exception) อันเป็นการ ‘ยกเว้น’ สิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายของประชาชนในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมือง อาทิ การประกาศใช้กฎอัยการศึก (Martial law) การประกาศสภาวะฉุกเฉิน (State of emergency)

– กองทัพมีอำนาจโดยพฤตินัยในหลายมิติ

– เกิดสภาพการณ์ที่ทำให้กองทัพต้องเข้ามามีบทบาทในการบริหารกิจการภายในประเทศมากขึ้น

อีกประเทศหนึ่งที่มีช่วงระยะการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจคือชิลี นับตั้งแต่รัฐบาลทหารลงจากอำนาจ รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ มีลักษณะเทอำนาจไปให้กับฝ่ายกองทัพมาโดยตลอด ส่วนฝ่ายพลเรือนมีอำนาจและอิสระน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด จุดเปลี่ยนใหญ่ของชิลีเริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางปี ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็น 15 ปีเต็มหลังจากรัฐบาลทหารลงจากอำนาจพอดี วุฒิสภาของประเทศให้การรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประเด็นหนึ่งที่ผ่านการรับรองคือการคืนอำนาจการปลดผู้บัญชาการกองทัพให้แก่ประธานาธิบดี ทางการชิลีสามารถนำตัวอดีตเจ้าหน้าที่ทหารที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนหลังการรัฐประหารปี ค.ศ. 1973 มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เป็นการสำเร็จเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วการดำเนินการเป็นไปอย่างเชื่องช้าพอสมควร

ส่วนในกรณีฮอนดูรัส กลุ่มผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เป็นแกนนำการทำรัฐประหารประธานาธิบดีมานูเอล เซลายาเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2009 กล่าวอ้างว่าที่ตนก่อการรัฐประหารก็เพราะต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญจากประธานาธิบดีหัวแข็งอย่างเซลายา ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าในช่วงก่อนเกิดการรัฐประหาร เซลายาได้สั่งปลดพลเอกโรเมโร บาซเกซ เบลัซเกซ (Gen. Romeo Vásquez Velásquez) ออกจากตำแหน่งผู้บัญชากองทัพเพราะบาซเกซปฏิเสธไม่จัดสรรกำลังพลไปช่วยจัดส่งอุปกรณ์การลงคะแนนเสียงประชามติแก้รัฐธรรมนูญที่เซลายาเป็นคนสั่งจัด (หน้าที่หนึ่งของกองทัพฮอนดูรัสคือช่วยเหลือคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่องการขนส่ง เช่น การขนส่งหีบเลือกตั้ง ใบลงคะแนนเสียง ฯลฯ) บาซเกซกล่าวว่าศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินไปแล้วว่าการลงประชามติที่เซลายาสั่งจัดขัดต่อกฎหมาย จึงปฏิเสธไม่ส่งกำลังพล

เราพบเช่นกันว่ากองทัพของหลายประเทศในลาตินอเมริกายังคงมีส่วนเกี่ยวกับกิจการภายในของรัฐอยู่มากทั้งที่ปัญหาความไม่สงบลดลงไปเยอะมากแล้ว[11] กองทัพประเทศต่างๆ ตั้งแต่เม็กซิโกมาจนถึงเวเนซุเอลาเริ่มเปลี่ยนจากการทำหน้าที่รักษาประเทศจากภัยภายนอกเป็นกองกำลังรักษาความสงบภายในดังเช่นตำรวจ ปรากฏการณ์นี้เองที่นักวิชาการเรียกว่าเป็นการสร้างให้หน่วยงานความมั่นคงสาธารณะ (Public Security) ‘มีวัฒนธรรมและระเบียบวินัยแบบทหาร’[12] ให้ประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงมาก่อนกลายเป็นประเด็นด้านความมั่นคง (Securitization) อยู่บ่อยครั้ง เป็นการขยายคำอธิบายและคำจำกัดความของ ‘ความมั่นคง’ เพื่อที่จะได้เชื่อมเข้ากับการวางแนวนโยบายให้กว้างขึ้น ตัวอย่างเช่นงานของ Tickner [13] ซึ่งพูดถึงมโนทัศน์ของนโยบาย ‘ความมั่นคงสาธารณะภายใต้ประชาธิปไตย’ (Democratic Security) เอาไว้ เขาอธิบายว่าแนวทางนี้เกิดขึ้นในลาตินอเมริกาช่วงหลังสงครามเย็น เป็นการนำเอาแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยเข้ามาผูกกับประเด็นเรื่องความมั่นคงสาธารณะผ่านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับฝ่ายพลเรือนรูปแบบใหม่ แต่ Tickner ชี้ว่าแท้จริงแล้วแนวนโยบายนี้เป็นปัญหา ซ้ำแล้วยังทำลายกระบวนการทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยอีกเสียด้วย

การที่รัฐบาลของหลายประเทศในลาตินอเมริกาเริ่มหันกลับมาใส่ใจปัญหาสังคมและพยายามหาทางแก้ปัญหานั้นๆ อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นตอหนึ่งที่กรุยทางให้กองทัพสามารถขยายอำนาจกลับเข้ามาสู่กิจการภายในที่ควรเป็นของพลเรือนได้ ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสังเกตว่าอิทธิพลของกองทัพจริงๆ แล้วไม่ได้จางหายไปหมดเสียทีเดียว ถึงแม้ว่ากองทัพจะคืนอำนาจการควบคุมการบริหารประเทศทางตรงให้แก่รัฐบาลพลเรือนไปแล้วก็ตาม

Diamint [14] ตั้งข้อสังเกตว่าปรากฎการณ์เช่นนี้คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ลัทธิทหารนิยมใหม่’ (New Militarism) โดยมากสถานการณ์ที่มักเกิดขึ้นคือ สังคมประสบปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงสูง ประธานาธิบดีจึงหาทางแก้ปัญหาด้วยการขอให้กองทัพยื่นมือเข้ามาช่วยดูแลจัดการความสงบและความปลอดภัย ฝ่ายทหารและรัฐบาลพลเรือนจึงกลับมามีสถานะเป็นมิตรที่ทำงานร่วมกัน แต่ในเวลาเดียวกันต้องไม่ลืมว่าถึงแม้กองทัพอาจช่วยแก้ไขปัญหาความสงบได้ ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือรัฐบาลอาจกลายเป็นฝ่ายที่พึ่งพิงกองทัพมากไปจนช่วยตัวเองไม่ได้ งานของ Diamint ชี้ไว้อย่างน่าสนใจว่าที่กองทัพในลาตินอเมริกาช่วงหลังสงครามเย็นมีอำนาจและทรงอิทธิพลไม่ใช่เพราะว่าถือปืนเข้ายึดอำนาจแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพราะประธานาธิบดีต่างหากที่เป็นผู้มอบอำนาจให้แก่กองทัพเอง

ฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการทำสงครามต่อต้านยาเสพติด (War on Drugs) ก็ดี หรือการทำสงครามต่อต้านผู้ก่อการร้าย (War on Terror) ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11 มาก็ดี มักมีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันว่านโยบายเหล่านี้ส่งผลเสียต่อการสร้างประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาอย่างรุนแรง สาเหตุเป็นเพราะนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาข้างต้นเน้นการใช้กำลังทหารเข้าต่อสู้จัดการเป็นหลัก หลายประเทศในลาตินอเมริกาจึงถูกสหรัฐอเมริกากดดันให้นำงบประมาณจำนวนมากไปใช้กับการทหารและปฏิบัติการกวาดล้างปัญหายาเสพติด ทำให้เส้นแบ่งว่าหน้าที่ใดควรเป็นของตำรวจหรือของทหารค่อยๆ จางหายไป โดยเฉพาะในประเทศที่ปัญหายาเสพติดอยู่ในขั้นรุนแรงมาก เช่น เม็กซิโก โคลอมเบีย[15] มิติการมองประเด็นความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา อย่างเช่นเรื่อง ‘พื้นที่ที่ไร้อำนาจรัฐ’ (Ungoverned Space) หรือเรื่อง ‘รัฐล้มเหลว’ (Failed State) ได้หมายรวมเข้ามาถึงลาตินอเมริกาด้วย ส่งผลทำให้ตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 กองทัพสหรัฐอเมริกาขยายฐานทัพประจำการเข้ามาอยู่ในหลายประเทศในลาตินอเมริกามากขึ้น[16]

กล่าวโดยสรุปจากประสบการณ์และประวัติศาสตร์ของกองทัพในลาตินอเมริกาจะพบกับคำตอบที่อาจารย์นิธิถามไว้ว่า “ทหารมีไว้ทำไม” ประเด็นที่ผมอยากจะชวนคิดต่อคือ “แล้วจะเอาไว้ทำไม” ซึ่งผมหวังว่าคงไม่ใช่เอาไว้ช่วยเหลือใครเวลาเกิดน้ำท่วม ตามที่ ‘ลุง’ ได้พูดไว้ครับ

 


[1] David Pion-Berlin (ed.), Civil–Military Relations in Latin America: New Analytical Perspectives (Chapel Hill: University of North Carolina Press, 2001).

[2] Zoltan Barany, The Soldier and the Changing State: Building Democratic Armies in Africa, Asia, Europe, and the Americas (Princeton: Princeton University Press, 2012).

[3] IEP, Global Peace Index 2015 (Sydney: Institute for Economics and Peace (IEP), 2015).

[4] David R. Mares, and Rafael Martínez (eds.), Debating Civil–Military Relations in Latin America (Eastbourne: Sussex Academic Press, 2013).

[5] Luis Roniger, “Transitional Justice and Protracted Accountability in Re-democratised Uruguay, 1985–2011,” Journal of Latin American Studies 43, no. 4 (2011): 693–724.

[6] Juan Linz, and Alfred Stepan (eds.), Problems of Democratic Transition and Consolidation: Southern Europe, South America, and Post-Communist Europe (Baltimore: Johns Hopkins University Press, 1996) ; David Pion-Berlin, Through Corridors of Power: Institutions and Civil–Military Relations in Argentina (University Park: Pennsylvania State University Press, 1997).

[7] Thomas C. Wright, Impunity, Human Rights, and Democracy: Chile and Argentina, 1990–2005 (Austin: University of Texas Press, 2014).

[8] Steve Stern, Reckoning with Pinochet: The Memory Question in Democratic Chile, 1989–2006 (Durham: Duke University Press, 2010).

[9] Brian Loveman, “Protected Democracies” and Military Guardianship: Political Transitions in Latin America 1978–1993,” Journal of Interamerican Studies and World Affairs 36, no. 2 (1994): 105–189.

[10] Wendy Hunter, “Civil–Military Relations in Argentina, Brazil, and Chile: Present Trends, Future Prospects,” in  Felipe Agüero, and Jeffrey Stark (eds.), Fault Lines of Democracy in Post-Transition Latin America (Coral Gables, Florida: North-South Center Press, 1998).

[11] Maiah Jaskoski, Military Politics and Democracy in the Andes (Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2013).

[12] Sarah Kinosian, “Militarised Public Security in Latin America in Venezuela,” Sustainable Security, 12 November 2013, online: https://sustainablesecurity.org/2013/11/12/militarisation-of-public-security-in-venezuela/ [accessed April 25, 2019].

[13] Arlene B. Tickner, “Securitization and the Limits of Democratic Security,” in David R. Mares, and Arie M. Kacowicz (eds.), Routledge Handbook of Latin American Security (London: Routledge, 2016).

[14] Rut Diamint, “A New Militarism in Latin America,” Journal of Democracy 26, no. 4 (2015): 155–168.

[15] John Pilger, and Christopher Martin, The War on Democracy: Documentary (Australia: Youngheart Entertainment, 2007) ; WOLA, “WOLA Expresses Concerns on Palanquero Base,” Letter to US Secretary of State, 7 August 2009 (Washington: Washington Office on Latin America (WOLA), 2009).

[16] Gary Prevost, and Harry E. Vanden, “Introduction,” in Gary Prevost, et al. (eds.), US National Security Concerns in Latin America and the Caribbean: The Concept of Ungoverned Spaces and Failed States (New York: Palgrave Macmillan, 2014).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save