fbpx
ความรักของบุปผา และปีศาจแห่งความเฉยชา

ความรักของบุปผา และปีศาจแห่งความเฉยชา

ธร ปีติดล เรื่อง

 

คนหลังฉากในประวัติศาสตร์รางเลือน

บุปผา

“หากสีดาต้องตายไป อย่าลืมแต่งตัวให้สีดาในชุดราตรียาวเพื่อที่สีดาจะได้ออกมาแก้แค้นคนเลวเหล่านั้นในนรก เมื่อสีดาตายและกลายเป็นภูตผี ความต้องการแก้แค้นของสีดาจะกรุ่นอยู่ในอก และสีดาจะทำการแก้แค้นอย่างถึงที่สุด”

สีดาไม่ใช่ชื่อที่แท้จริงของผู้หญิงเจ้าของประโยคข้างต้น ชื่อที่แท้จริงของเธอคือ ‘บุปผา’ หนึ่งในคนนับล้านที่ตายไปภายใต้การปกครองที่โหดร้ายของเขมรแดง

เรื่องราวของบุปผาถูกเล่าไว้ในหนังสือสารคดีประวัติศาสตร์ ‘คนหลังฉากในประวัติศาสตร์รางเลือน’[1] เขียนโดย อนุสรณ์ ติปยานนท์ หนังสือดังกล่าวเล่าถึงผู้คนที่แม้ไม่ได้ถูกกล่าวถึงเป็นคนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ แต่เรื่องราวชีวิตของพวกเขากลับถ่ายทอดสภาวะของแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี อนุสรณ์เล่าถึงชีวิตของผู้ประสบเคราะห์กรรมเช่นบุปผา ชายที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ชาวยิวนามว่าอดอล์ฟ ไอค์แมน (Adolf Eichmann) และศรีโหม้ ชาวเชียงใหม่ผู้ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเป็นคนแรก และกล่าวถึงคนเหล่านี้ว่า

“…บุคคลเหล่านี้เหมือนคนที่อยู่ในหลังฉากประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ พวกเขาเป็นเสมือนเงาที่เคลื่อนไหวและทำให้ตัวละครอื่นโดดเด่นขึ้น แจ่มชัดขึ้น เราจำได้ถึงพอลพตในสงครามเขมรแดง เราจำนายแพทย์แมคคิลวารีได้ในงานด้านการเผยแผ่ศาสนา แต่เมื่อคนเหล่านี้ยังถูกลืม ใครเล่าจะจำได้ถึงบุปผา ใครเล่าจะจำได้ถึงศรีโหม้”

หลังจากอ่านงานของอนุสรณ์ เรื่องราวที่ผู้เขียนยังจดจำได้ตรึงตราก็คือเรื่องราวของบุปผา ชีวิตของเธอเป็นเรื่องแสนเศร้าที่สะท้อนความเลวร้ายของการเข่นฆ่ากันเองระหว่างคนในชาติเดียวกัน และความทุกข์ยากที่เกิดจากระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่อ้างอุดมคติแสนยิ่งใหญ่มาปกครองผู้คน

บุปผาเกิดในหมู่บ้านชนบทในกัมพูชา เธอเกิดมามีหน้าตาสวยสดงดงาม และเพียงเข้าสู่วัยแรกรุ่นก็พบรักกับชายหนุ่มที่ชื่อ สิทธา ทั้งสองวางแผนจะแต่งงานกัน ชีวิตของบุปผาและสิทธาดูจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย แต่ความผันผวนทางการเมืองก็นำพาชะตากรรมของทั้งสองให้ต้องผกผัน

เมื่อครั้งสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลของจอมพลลอน นอล ที่มีสหรัฐฯ คอยสนับสนุน กับกองทัพเขมรแดงเริ่มต้น บุปผาก็ต้องพลัดพรากจากสิทธา เธอจำเป็นต้องหนีจากบ้านเกิดไปอาศัยในเมืองใหญ่เพื่อความอยู่รอด ในขณะที่สิทธาตัดสินใจหนีอันตรายด้วยการบวชเป็นพระ จนเวลาผ่านไปนับสิบปี บุปผาได้มีโอกาสทำงานกับมูลนิธิระหว่างประเทศ ได้เรียนภาษาอังกฤษ กลายเป็นสาวชาวเมืองที่มีความรู้

แล้ววันหนึ่งบุปผาก็ได้พบกับสิทธาในร่วมผ้ากาสาวพัสตร์โดยบังเอิญ แต่ก่อนที่ทั้งสองจะได้สร้างสัมพันธ์ใดที่มากไปกว่าการรับรู้ว่าอีกฝ่ายยังมีชีวิต การรุกเข้าสู่กรุงพนมเปญของกองทัพเขมรแดงก็ทำให้ทั้งคู่ต้องจากกันอีกครั้ง บุปผาและผู้คนจำนวนมหาศาลถูกอพยพออกจากเมืองหลวง เขมรแดงอธิบายการอพยพครั้งนั้นว่าเพื่อหลบหนีการทิ้งระเบิดของสหรัฐ

หากแต่ในความจริงแล้ว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกเขาก็คือกระบวนการรื้อสร้างสังคมเขมรขึ้นใหม่ ผู้คนที่ถูกอพยพอย่างเร่งรีบจนล้มตายไปมากมาย แท้ที่จริงจะไม่มีโอกาสได้กลับ พวกเขากำลังเข้าสู่กระบวนการทำให้สังคมปราศจากชนชั้น เขมรแดงเริ่มทำลายระบบต่างๆ ที่ถูกมองได้ว่าโยงอยู่กับชนชั้นนายทุน ระบบการศึกษาถูกทำลาย โรงเรียนและวัดถูกปิด คนที่มีฐานะและการศึกษาถูกกำจัด

คนจำนวนมากรวมทั้งบุปผาถูกอพยพไปสู่ชนบท พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบคอมมูน กลายเป็นแรงงานในระบบการผลิตแบบนารวม บุปผาถูกใช้งานอย่างหนักเพราะเธอถูกมองว่าเคยมีหน้าที่การงานที่ดีในเมืองหลวง การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เธอแทบจะสิ้นหวังในชีวิต

แต่แล้ว อยู่ดีๆ บุปผาก็ได้พบกับสิทธาอีกครั้ง ครั้งนี้เขากลับมาปรากฏตัวในฐานะสมาชิกระดับสูงของกองทัพเขมรแดง สิทธาให้การช่วยเหลือบุปผาให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และแม้จะไม่มีโอกาสอยู่กับบุปผาตลอด แต่ความรักที่ทั่งสองมีให้กันก็ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม ทั้งสองก็เขียนจดหมายรักถึงกันอยู่สม่ำเสมอ

ความตายของความรู้สึก

“ในที่สุดฉันก็ได้พบสามีของฉันภายหลังจากการพลัดพรากอันเนิ่นนาน การปฏิวัติในกัมพูชาได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราทั้งคู่ จากเพื่อนสู่คนรัก และสู่การเป็นสามีภรรยา หลังจากเหตุการณ์เลวร้ายทั้งมวล…ฉันก็ได้เดชกลับมาเคียงข้างอีกครั้ง…จากภรรยาผู้ซื่อสัตย์ของเธอ บุปผาแห่งความรักอันแสนทรมาน”

เราอาจคาดหวังให้เรื่องราวของบุปผาและสิทธาลงเอยด้วยดี แต่ประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของพวกเขาก็ไม่มีความเมตตาขนาดนั้น เมื่อเวลาผ่านไป เหล่าผู้นำเขมรแดงเริ่มรู้สึกได้ว่าแผนการปฏิวัติสังคมของพวกเขากำลังล้มเหลว สิ่งที่เกิดขึ้นมีแต่ความอดอยากและการบาดเจ็บล้มตาย แต่พวกเขาก็ไม่ได้มองไปที่การบริหารของตนว่ามีปัญหาใด กลับมองว่าปัญหานั้นเกิดมาจากการมีคนทรยศในหมู่พวกตน

การไล่ล่าคนทรยศเริ่มต้นขึ้น และเจ้านายของสิทธาก็ตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา การถูกกล่าวหาในบริบทเช่นนี้หมายถึงการถูกจองจำและทรมานเพื่อเค้นข้อมูลและคำสารภาพ โดยผู้ถูกกล่าวหามักจะตายไปเสียก่อนที่ความจริงใดจะถูกพิสูจน์

ไม่นานก็เป็นคราวของสิทธา แม้การสอบสวนเขาจะไม่พบหลักฐานใดของการทรยศ แต่โชคชะตากลับเล่นตลก ผู้สอบสวนเอาหลักฐานอื่นมาเอาผิดกับเขาแทน หลักฐานนั้นก็คือจดหมายรักระหว่างเขาและบุปผา จากการเขียนบอกเล่าความรักความในใจต่อกัน สิทธาถูกตั้งข้อหาฉกรรจ์หลายประการ ความผิดของเขามีตั้งแต่การปกปิดว่าแท้จริงแล้วตนเองเป็นคนมีการศึกษา เนื่องจากบางส่วนของข้อความในจดหมายนั้นเขียนเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงการแอบใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนเองให้ความช่วยเหลือบุปผา

ข้อหาที่น่าสนใจยิ่งของสิทธาก็คือ การมีจดหมายที่แสดงความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งยังเป็นหลักฐานที่แสดงว่าเขาให้ความสำคัญกับความรักส่วนตน มากกว่าอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติ

หลังถูกส่งเข้าคุกตวลแสลงเพื่อสอบสวนเพียงไม่นานสิทธาก็ตาย และบุปผาก็ถูกนำไปสอบสวนเป็นรายต่อไป ความรักที่เป็นทุกข์พาให้เธอเรียกตัวเองด้วยชื่อใหม่ว่าสีดา เพื่อเปรียบตนเองไปกับนางในนิยายที่ต้องทนทุกข์กับการจากลาคนรักอย่างยาวนาน

บุปผาถูกทรมานอยู่ที่ตวลแสลงนานอยู่ห้าเดือน เธอถูกบังคับให้สารภาพว่าเป็นสายลับให้กับซีไอเอ และหลอกลวงความรักจากสิทธาเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตน เธอปฏิเสธการรับสารภาพทั้งที่ถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆ นับตั้งแต่โบยตี ช็อตด้วยไฟฟ้า กดน้ำ ความงามยังทำให้เธอถูกกล่าวหาว่าเคยเป็นโสเภณี และถูกทรมานด้วยการกรีดทรวงอกและเอาเหล็กร้อนแดงนาบที่อวัยวะเพศ

เมื่อเทียบกันคนอื่นๆ ที่ถูกทรมานอยู่พร้อมกัน บุปผาคือคนที่อดทนที่สุด แต่สุดท้ายเธอก็ตายลง และร่างของเธอก็ถูกทิ้งไว้กับเครื่องจองจำจนกลายเป็นโครงกระดูก

เรื่องเศร้าของบุปผาชักชวนให้เราระลึกถึงความโหดร้ายอย่างที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ ด้วยเงื้อมมือของมนุษย์ด้วยกัน ทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแค่เพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตรจากประเทศของเราเอง

ยังมีคำถามหนึ่งที่ค้างคาอยู่ในใจของผู้เขียนจากเรื่องราวของบุปผา ว่าเหตุอันใดการแสดงความรู้สึกของตนเอง การให้ความสำคัญกับความรักของตนเอง ถึงกลายมาเป็นความผิดถึงตายได้ในรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ เช่นการปกครองโดยเขมรแดง?

ในการตอบคำถามนี้ ผู้เขียนจะขอหยิบเอาอีกเรื่องราวหนึ่งที่อยู่ใน ‘คนหลังฉากในประวัติศาสตร์รางเลือน’ มาสำรวจ ก็คือเรื่องราวการไต่สวนความผิดของอดอล์ฟ ไอค์แมน เรื่องราวนี้จะช่วยอธิบายได้ว่าเหตุอันใดรัฐเผด็จการถึงไม่ต้องการให้ผู้คนที่อยู่ภายใต้การปกครองของตนเองนั้นมีความรู้สึกที่ลึกซึ้งอันใด

ปีศาจแห่งความเฉยชา

อดอล์ฟ ไอค์แมน เป็นอดีตนายทหารระดับสูงในนาซีเยอรมัน ผู้มีหน้าที่จัดการลำเลียงคนยิวจำนวนมหาศาลไปสู่ความตายในเกตโต้และค่ายกักกัน เขาหนีรอดการถูกจับกุมอยู่ได้เป็นระยะเวลานานหลายสิบปี แต่แล้วก็ถูกหน่วยลับของอิสราเอลลักพาตัวจากอาร์เจนตินากลับมาขึ้นศาลที่เยรูซาเลม

การไต่สวนไอค์แมนกลายเป็นเหตุการณ์ที่ถูกติดตามจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากผู้มีเชื้อสายยิวซึ่งเคยเป็นเหยื่อการกระทำของเขา นักปรัชญาชื่อดัง ฮันนาห์ อาเรนดท์ (Hannah Arendt) ก็เป็นหนึ่งในคนที่เข้ามาติดตาม เธอลงทุนเดินทางจากนิวยอร์กมาที่อิสราเอลเพื่อฟังการไต่สวนอย่างใกล้ชิด และเขียนรายงานกลับไปลงนิตยสารเดอะนิวยอร์กเกอร์

อาเรนดท์ผู้ซึ่งเคยเขียนผลงานหลายชิ้นเพื่อสร้างความเข้าใจกับระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ หวังว่าจะได้เข้าใจถึงแรงจูงใจของไอค์แมนในการกระทำสิ่งที่แสนจะเลวร้าย เช่นเดียวกับคนยิวนับล้าน เธอคาดว่าไอค์แมนจะต้องมีจิตใจเปรียบดังเช่นปีศาจ แต่เมื่อได้ติดตามสังเกตตัวตน และได้ฟังเขาอธิบายการกระทำของตนเองอยู่เป็นเวลานาน เธอกลับพบสิ่งที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง

เธอพบว่าไอค์แมนแท้จริงแล้วเป็นเพียงคนธรรมดาทั่วไป เขาน่าจะจัดอยู่ในประเภทคนที่สติปัญญาไม่ได้มีอะไรดีเด่นเลย ไม่มีความคิดที่ลึกซึ้ง ไม่เป็นตัวของตัวเอง และยังไม่มีประวัติที่แสดงถึงความสามารถใดที่โดดเด่นเลยอย่างสิ่นเชิง แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนที่แสนธรรมดาอย่างไอค์แมนทำเรื่องที่เลวร้ายได้ขนาดนั้น อาเรนดท์ให้ข้อสังเกตว่า

“มันคือความไม่มีสำนึกคิดที่ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในฆาตกรที่เลวร้ายที่สุดแห่งยุคสมัย”

ข้อค้นพบดังกล่าวนำมาซึ่งการนำเสนอแนวคิด ‘ปีศาจแห่งความเฉยชา’ (Banality of Evil)[2] อาเรนดท์อธิบายว่าการกระทำที่ชั่วร้ายนั้นไม่จำเป็นจะต้องมาจากการมีความคิดที่ชั่วร้ายเป็นพื้นฐาน หากแต่เกิดขึ้นได้ด้วยความ ‘ความเฉยชา’ ต่อการกระทำ มนุษย์ทุกคนก็สามารถจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่เลวร้ายได้ หากว่าเขาผู้นั้นหยุดใช้ความคิดของตนเองไตร่ตรองการกระทำ

ดังเช่นที่อนุสรณ์เล่าถึงเรื่องราวของบุปผา ครั้งหนึ่งเมื่อนักข่าวอเมริกันสงสัยว่าทหารเขมรแดงผู้เคยสังหารเพื่อนร่วมชาติไปเป็นจำนวนมากมาย จะรู้สึกอย่างไรกับการกระทำของตน เขาได้รับคำตอบจากทหารผู้นั้นว่า

“หนแรก ข้าก็กลัว…พอฆ่าอีกสองสามคน ข้าก็เฉยๆ” 

แนวคิดปีศาจแห่งความเฉยชา ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า เหตุใดระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จอันโหดร้าย ไม่ว่าจะเป็นเขมรแดง นาซีเยอรมัน หรือแม้กระทั่งเกาหลีเหนือ จึงไม่ต้องการให้ผู้คนมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตนเอง ไม่ต้องการให้ผู้คนมีความรู้สึกผูกพันลึกซึ้งต่อกัน เพราะนั่นอาจทำให้พวกเขาไม่สามารถด้านชากับการกระทำของตนเองได้อีกต่อไป เลิกมองตนเองเป็นกลไกที่จงรักภักดีต่อรัฐ กระทั่งไม่พร้อมที่จะทำลายชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพื่ออุดมการณ์ที่รัฐปลูกฝัง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือแม้กระทั่งความรักแบบที่บุปผาและสิทธามีต่อกันนั้น เป็นภัยโดยตรงกับระบบเผด็จการเพราะมันอาจไปทำลายปีศาจแห่งความเฉยชา ซึ่งเป็นปีศาจที่ระบบเผด็จการต้องคอยอาศัยความร่วมมือเพื่อความอยู่รอด

อาจมีคำถามได้ต่อไปว่า แล้วปีศาจแห่งความเฉยชาจะเกิดขึ้นมาจากแห่งหนใดได้บ้าง ปีศาจตนนี้เกิดขึ้นได้จากสภาพอย่างน้อยสองประการ[3]

ประการแรกคือ การสมยอมต่อผู้มีอำนาจโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ เป็นที่สังเกตได้ว่าผู้ที่กระทำเรื่องเลวร้ายภายใต้ระบบเผด็จการนั้น มักจะให้คำอธิบายว่าตนเองจำเป็นต้องทำสิ่งเหล่านั้นเพราะไม่สามารถปฏิเสธอำนาจที่เหนือกว่าได้ แม้กระทั่งคนอย่างไอค์แมนเอง ก็ให้คำอธิบายความผิดของตนว่าเป็นเพราะตนเองมุ่งมั่นทำตามคำสั่งอย่างแข็งขัน เราอาจบอกได้ว่า ยิ่งสังคมใดบังคับให้คนต้องเชื่องต่ออำนาจ ไม่กล้าตั้งคำถามใดๆต่อคำสั่งการของผู้ที่ถืออำนาจ สังคมนั้นๆ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดปีศาจแห่งความเฉยชามากขึ้นตามไปด้วย

ประการที่สองคือ กระบวนทรรศน์แบบแบ่งแยก ‘เรา’ และ ‘เขา’ ให้เป็นอื่น ก่อนที่ผู้คนใดจะกระทำการอันเลวร้ายใดๆ กับเพื่อนมนุษย์ได้นั้น พวกเขามักจะต้องปรับมุมมองตนเองว่า คนที่เขากำลังกระทำสิ่งเลวร้ายอยู่นั้น ไม่ได้เป็นดั่งญาติพี่น้องเพื่อนฝูงใดๆ ของเขา แต่เป็นเพียงคนอื่นที่มีความเป็นมนุษย์น้อยกว่า หรือเป็นภัยอันตรายต่อคนในกลุ่มของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าคนทรยศของเขมรแดง หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี ก็ล้วนผ่านการปลูกผังว่าคนที่ถูกฆ่านั้นเป็นดั่งเชื้อโรคที่ควรถูกกำจัดให้หายไป

แน่นอนว่าสังคมไทยของเราทุกวันนี้ คงเปรียบไม่ได้กับยุคสมัยอันโหดร้ายที่บุปผาต้องประสบ แต่เราก็คงไม่สามารถละเลยที่จะหมั่นตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้ในสังคมเราเองยังมีสภาพที่คอยบ่มเพาะปีศาจแห่งความเฉยชาอยู่หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น พวกเราเองก็คงไม่ปลอดภัยนักจากการกระทำที่เลวร้ายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

อ้างอิง

[1] อนุสรณ์ ติปยานนท์ 2557 “คนหลังฉากในประวัติศาสตร์ลางเรือน” กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน

[2] Arendt, Hannah. (2006, originally published 1963). “Eichmann in Jerusalem: A Report on the Banality of Evil”. London: Penguin Books

[3] Wang, Nina, (2017). Exploring the Banality of Evil. Hufftington Post. https://www.huffingtonpost.com/nina-wang/exploring-the-banality-of_b_8186018.html

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save