fbpx
The Lovers on the Bridge รักของคนบ้ากับคุณค่าของความเห็นแก่ตัว

The Lovers on the Bridge รักของคนบ้ากับคุณค่าของความเห็นแก่ตัว

 วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

แม้ว่าในช่วงที่ Les Amants du Pont-Neuf หรือ The Lovers on the Bridge ภาพยนตร์ของผู้กำกับฝรั่งเศส เลโอ การักซ์ (Leos Carax) ออกฉายในปี 1991 จะได้รับเสียงตอบรับไม่ดีนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมาก อาจเพราะความไม่สมจริงอย่างจงใจ การทุ่มเทเนรมิตฉาก บรรจงออกแบบงานภาพ ให้รสชาติแปลกเมื่อมาผสมกับเรื่องความรักของคนไร้บ้านที่เต็มไปด้วยความดิบเฝื่อน จึงมีสิ่งที่ทำให้ทั้งรักและชังได้

ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของคู่รักคนจรแห่งสะพานปงเนิฟต์ สะพานเก่าแก่ที่สุดในปารีส ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองเหนือแม่น้ำแซน อเล็กซ์ (Denis Lavant) คนไร้บ้านหนุ่มผู้หารายได้เล็กน้อยจากการแสดงกายกรรมเล่นไฟ ปักหลักอาศัยอยู่บนสะพานปงเนิฟต์ที่กำลังปิดปรับปรุงข้ามปีร่วมกับ ฮานส์ เพื่อนคนไร้บ้านรุ่นเก๋าผู้หยิบยื่นยากล่อมประสาทให้ทุกคืนที่อเล็กซ์นอนไม่หลับ

การปรากฏตัวของ มิเชลล์ (Juliette Binoche) ศิลปินหญิงตาใกล้บอดที่ซัดเซมานอนบนสะพานปงเนิฟต์สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของอเล็กซ์ เมื่อเขาแสดงออกทันทีว่าสนใจคนแปลกหน้าผู้มาใหม่ อเล็กซ์มีบุคลิกเหมือนเด็ก แสดงอารมณ์อย่างไม่ซับซ้อน เมื่อเขารู้ตัวว่าหลงรักมิเชลล์ก็พุ่งตัวเข้าไปในความหลงใหล ทุ่มตัวลงไปในความรักอย่างไม่ยื้อยั้ง ต่างจากมิเชลล์ที่มีการตัดสินใจซับซ้อน ยากจะคาดเดาอารมณ์ภายใน

The Lovers on the Bridge รักของคนบ้ากับคุณค่าของความเห็นแก่ตัว

เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวในปี 1991 การักซ์ได้รับเสียงวิจารณ์ไปในทางลบ โดยเฉพาะการใช้งบมหาศาลในการถ่ายทำ ขึ้นแท่นเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างสูงสุดในขณะนั้น ย้อนแย้งกับเนื้อเรื่องที่นำเสนอเรื่องคนไร้บ้าน ภาพยนตร์ใช้เวลาสร้างอยู่ 3 ปี การถ่ายทำต้องสะดุด 2 ครั้ง เมื่อ ลาวองต์ นักแสดงนำขาหัก และอีกครั้งเมื่อทุนสร้างหมด ทุนมหาศาลถูกทุ่มไปกับการสร้างฉากจำลองสะพานปงเนิฟต์ขึ้นทางตอนใต้ของฝรั่งเศสในขนาดเกือบเท่าจริง เนื่องจากไม่สามารถปิดถนนที่สะพานจริงกลางปารีสเป็นเวลานานได้

สะพานปงเนิฟต์เป็นฉากสำคัญ เรื่องราวเกือบทั้งเรื่องดำเนินอยู่บนสะพานปูนที่เต็มไปด้วยซากสิ่งก่อสร้างนี้ และเป็นภาพแทนการพบกันของสองตัวละครที่มาจากคนละชนชั้น อเล็กซ์เลือกมาเป็นคนไร้บ้านอยู่กับชีวิตเสรีที่เขาพึงพอใจ ส่วนมิเชลล์เป็นลูกนายพลที่มีบ้านอยู่ในย่านคนรวยทางตะวันตกของปารีส ความผิดหวังจากความรักซ้ำเติมหญิงสาวที่สายตากำลังมืดดับลงช้าๆ อย่างไร้ทางเยียวยา สำหรับศิลปินคงไม่มีอะไรย่ำแย่ไปกว่าการมองไม่เห็น มิเชลล์ทิ้งชีวิตออกมาอาศัยตามที่สาธารณะจนเจอกับอเล็กซ์

ช่วงฉากเปิดของเรื่องสามารถฉายภาพชีวิตคนไร้บ้านในปารีสได้อย่างชัดเจนจนคล้ายจะกลายเป็นสารคดีคนไร้บ้านที่มีลาวองต์เป็นคนดำเนินเรื่อง ภาพหนุ่มสาวในรถหรูตะบึงรถบดขยี้เท้าคนไร้บ้านที่นอนอยู่กลางถนนอย่างไม่ยี่หระเป็นภาพเปิดที่จะนำให้เราจินตนาการถึงสิ่งที่ต้องพบต่อไป อเล็กซ์ที่เมากลิ้งกลางถนนพร้อมข้อเท้าที่ใช้การไม่ได้ถูกลากขึ้นรถเทศบาลที่ตามเก็บคนไร้บ้านตามถนนต่างๆ ไปศูนย์พักพิงเพื่อทำความสะอาดเนื้อตัวและให้ที่นอน

ไม่มีใครสังเกตว่าอเล็กซ์ขาหัก เอาเข้าจริงคือไม่มีใครสนใจกันเลย มีแต่คนเมา สติไม่ดี สกปรก เละเทะไม่น่ามองจนยากจะคิดว่านี่เป็นภาพในหนังโรแมนติก

ภาพยนตร์สร้างความเข้าใจบางส่วนเรื่องคนไร้บ้านที่คนอาจคิดว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นคนถูกทอดทิ้งหรือไร้โอกาส แต่คนไร้บ้านจำนวนมากเลือกออกมาอยู่ในที่สาธารณะด้วยตัวเองทั้งที่มีทางเลือกอื่น หากเขาอยากอยู่อย่างเสรีก็ไม่มีใครบังคับให้เขานอนในเตียงอุ่นของครอบครัวหรือไปอยู่ในศูนย์พักพิงของรัฐได้ คนไร้บ้านบางคนก็ทำงาน(เท่าที่จำเป็น) เพื่อมีเงินเล็กน้อยไว้ใช้จ่าย เช่นที่อเล็กซ์โชว์กายกรรมพ่นไฟเปิดหมวกเพื่อหาไวน์ถูกๆ ดื่ม

The Lovers on the Bridge เป็นหนังที่มีสไตล์โดดเด่นและทำชีวิตคนไร้บ้านออกมาเท่อย่างนึกไม่ถึง (ซึ่งก็อาจเป็นจุดที่โดนค่อนแคะ) ฉากอันเป็นที่จดจำของเรื่องคือฉากงานเฉลิมฉลอง 200 ปีการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นฉากผลาญทุนสร้างมหาศาล ภาพคนไร้บ้านเมามายเนื้อตัวมอมแมมเต้นรำอย่างบ้าคลั่งท่ามกลางดอกไม้ไฟที่ถูกจุดไม่สิ้นสุด การักซ์เนรมิตฝันของคนจนให้ได้โลดแล่นในภาพเหนือจริง อเล็กซ์และมิเชลล์ปีนอนุสาวรีย์พระเจ้าเฮนรีที่ 4 กราดยิงปืนไปรอบตัว ขโมยเรือสปีดโบ๊ทไปเล่นสกีน้ำอย่างสุดเหวี่ยงท่ามกลางไฟประดับประดาสองฝั่งน้ำแซน เป็นครั้งแรกที่ชายบ้ากับสาวตาบอดได้หัวเราะเต็มเสียง

The Lovers on the Bridge รักของคนบ้ากับคุณค่าของความเห็นแก่ตัว

ท่ามกลางภาพแสนตระการตาที่ทำให้ผู้ชมเริ่มเกิดคำถามว่าการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้จำเป็นกับการเล่าเรื่องแค่ไหน ฉากการเฉลิมฉลองนี้น่าจะเป็นข้อความที่การักซ์เขียนถึงปารีส อิสรภาพนั้นหอมหวานเช่นเดียวกับที่คนไร้บ้านรักความเป็นเสรี การเฉลิมฉลองอันสุรุ่ยสุร่ายแด่ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” เกิดขึ้นใจกลางปารีส เมืองสุดหรูหราที่ผลักคนจนออกไปนอกเมือง เหลือคนจนที่ยังนอนอยู่ในปารีสได้ คือคนไร้บ้านที่ไม่ถูกมองเห็น

ท่ามกลางผู้คนขวักไขว่ในปารีสเมืองแฟชั่นและประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ มีดวงตาที่คุณจะสบตาได้ทุกมุมถนนคือตาคู่นั้นของคนไร้บ้าน การักซ์สะท้อนความโดดเดี่ยววังเวงของเมืองผ่านสายตาคนไร้บ้านที่เป็นเหมือนตัวแทนปารีสในมุมมืด

กลับมาที่คำถามว่า ทำไมความรักของคนที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ยังชายขอบโลกจึงถูกนำเสนอผ่านภาพการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ คำตอบอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้วว่าภาพเหล่านี้ไม่มีวันเป็นจริง

อเล็กซ์และมิเชลล์เป็นคนที่อยู่กึ่งกลางจากสองโลก ชีวิตวิ่งวนอยู่บนสะพานระหว่างแผ่นดินสองฝั่ง ระหว่างผิวน้ำกับท้องฟ้า ระหว่างความปกติกับความบ้า และระหว่าง ‘การเดินทาง’

สะพานอาจเป็นได้เพียงที่พักผ่อนชั่วคราวของใครบางคน ไม่ใช่บ้านที่จะอาศัยอยู่ไปตลอดชีวิต แต่สำหรับคนซึ่งไม่มีสถานที่ไหนในโลกนี้ที่เขาเรียกว่า ‘บ้าน’ ไม่มีสถานที่ซึ่งเขาเพิ่งจากมา ไม่มีปลายทางที่เขามุ่งหมาย ไม่มีสถานที่ใดเป็นของเขา สะพานของคนผ่านทางอาจเป็นที่ซึ่งเหมาะสมที่สุดในการหย่อนชีวิตที่ไม่มีใครนึกถึง

The Lovers on the Bridge รักของคนบ้ากับคุณค่าของความเห็นแก่ตัว

การักซ์ยังใช้ภาพแทนของไฟและน้ำมาแทนตัวละครทั้งสอง อเล็กซ์เลี้ยงชีพด้วยการหารายได้เล็กน้อยจากการเป็นนักแสดงโชว์เล่นไฟข้างถนน เปิดเผย ตรงไปตรงมา และดูอันตราย มิเชลเป็นดั่งน้ำ เยียบเย็น ลึกลับ ยากจะดำดิ่งลงไปหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ ฉากที่ทั้งคู่ขโมยสปีดโบ๊ทไปเล่นสกีน้ำกลางแม่น้ำแซน การักซ์จัดโชว์ไฟเคียงผืนน้ำแซนอย่างตระการตาในฉากสุดโลดโผนและมีความสุขที่สุดของตัวละครทั้งคู่ และเมื่อดวงตาของมิเชลเริ่มย่ำแย่มากขึ้น เธอไปดูอเล็กซ์โชว์เล่นไฟ และพบว่าเปลวเพลิงที่เขาพ่นโชว์อย่างน่าตื่นตานั้นทำร้ายดวงตาเธอจนไม่สามารถมองมันตรงๆ ได้

มิเชลล์เป็นหญิงสาวตาบอดที่กล้าเสี่ยงไปกับความรักอันเกรี้ยวกราดของอเล็กซ์ในยามที่เธอมองโลกอย่างพร่ามัว แต่พลันที่เธอเริ่มมองเห็นโลกอย่างชัดเจนก็เริ่มถอยห่างออกจากความรักที่มีต่อเล็กซ์ และใช้เหตุผลมากขึ้น

ตัวละครอเล็กซ์สะท้อนภาพความเป็นการักซ์ไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่ชื่อตัวละครที่มาจากชื่อจริงของผู้กำกับ รูปร่างหน้าตาของลาวองต์ นักแสดงคู่บุญของเขาที่เป็นผู้ชายตัวเล็กหน้าตาไม่หล่อเหลา และความบ้าของตัวละครที่ทับซ้อนกับการักซ์ที่เผยความบ้าออกมาผ่านผลงานของตัวเอง

บอกไม่ได้ว่าฉันชอบทั้งหมดของ The Lovers on the Bridge แต่สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์นี้กลับมาวิ่งวนในหัวหลังดูจบคือรสชาติประหลาดของการดูหนังรัก เพราะมันเต็มไปด้วยความดิบ ขมเฝื่อน แต่โรแมนติกพิกล เช่น ฉากไปเที่ยวทะเลของคู่รักที่ควรจะเป็นจุดโรแมนติกที่สุดของเรื่อง กลับทิ้งภาพจำของคนแก้ผ้าวิ่งไล่จับกันและเงาร่างเปลือยที่ยากจะลืมลง

ดิบเกินจะฝันถึงอ้อมกอดอุ่นตระกองกอดกันบนเตียงนุ่ม

แม้ว่าเวลาจะผ่านมาเกือบสามสิบปี แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงไม่ตกยุค และยัง ‘เท่’ แทบจะทุกกระเบียดนิ้ว

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดรสชาติเฉพาะตัวคือวิธีการพูดถึงความรัก เมื่อตัวละครอเล็กซ์ที่กึ่งดีกึ่งบ้าแสดงออกต่อความรักอย่างตรงไปตรงมา ความรักสำหรับอเล็กซ์ไม่มีอะไรซับซ้อน กอดคือรัก ตบคือเกลียด ปรารถนาการครอบครองอีกฝ่ายโดยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

รักก็คือรัก

รักของอเล็กซ์เป็นความโรแมนติกแบบพุ่งพล่าน รักแบบเกินลิมิต ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพอเล็กซ์ที่วิ่งตามไปเผาโปสเตอร์ที่ครอบครัวประกาศตามหามิเชลล์ตามเมโทรและกำแพงทั่วปารีส เป็นภาพกระทบใจที่ทำให้เราทั้งเห็นใจและโกรธอเล็กซ์ไปพร้อมกัน

ชายที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อยื้อโอกาสที่จะได้อยู่กับคนรัก ทั้งที่เหลือโอกาสเพียงน้อยนิดจนแทบเป็นไปไม่ได้–น่าเห็นใจ

ชายที่ฝืนเก็บหญิงสาวไว้กับตัวเองทั้งที่รู้ว่าเป็นการตัดโอกาสรักษาตาที่มืดบอดของหญิงสาว–ช่างเห็นแก่ตัว

ฉันตบเข่าฉาดโอดครวญคำด่า เป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แน่นอนว่าการกระทำของตัวละครเป็นเรื่องไม่เข้าท่าสักนิด แต่น่าลำบากใจที่ต้องยอมรับว่าเราเข้าใจเหตุผลและเห็นใจอเล็กซ์

อเล็กซ์แสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวของคนที่ไม่มีอะไรจะเสีย เมื่อความรักเป็นสิ่งเดียวที่เขาคว้าไว้ได้ในชีวิตที่ไม่มีอะไรเลย ความรักทำให้ชีวิตที่ไม่มีใครมองเห็นของเขามีความหมายขึ้นมา และเธอเป็นคนเดียวในโลกนี้ที่พูดภาษาเดียวกับเขา โอบกอดเขาท่ามกลางความแปลกแยกทั้งหลายบนโลก

ความรักที่เสียสละมักถูกยกย่องเสมอ เพราะมันคือความยินยอมที่จะสูญเสียเพื่อบูชาความรัก มันดูบริสุทธิ์และสูงส่ง แต่ใช่ว่าความรักที่เห็นแก่ตัวจะไม่มีคุณค่าอะไร

เราไม่สามารถมองคนที่เรียกร้องความต้องการสุดท้ายของตัวเองแยกออกจากคนที่ฉกฉวยสิ่งนั้นจากเขาไปได้

เราไม่สามารถเรียกร้องต่อคนที่ไม่เหลืออะไรให้เสียสละได้ มันโหดร้ายเกินไป

The Lovers on the Bridge รักของคนบ้ากับคุณค่าของความเห็นแก่ตัว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save