fbpx

“ต้องแก้ไข 112” เสียงจาก ‘กลางใจราษฎร์’ ที่ไม่ถูกรับฟัง

หนึ่งในกฎหมายที่มีเสียงในสังคมเสนอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายครั้งหลายคราคือ กฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเฉพาะเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งสูง กฎหมายนี้ถูกหยิบใช้โจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและปิดกั้นการแสดงความเห็น

การออกมาเรียกร้องของประชาชนระลอกล่าสุดก็เช่นกัน เมื่อมีการเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่และให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็มีการพูดถึงเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 แต่ผลที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมคือฝ่ายรัฐและผู้สนับสนุนนำ 112 กลับมาใช้อย่างกว้างขวาง ทำให้ตัวเลขผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ พุ่งทะยาน

หลายครั้งที่ความเห็นสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการมุ่งร้ายต่อสถาบันฯ ทั้งที่จริงแล้วประเด็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเคยพูดถึงและยอมรับว่าการบังคับใช้มีปัญหา สมควรปรับให้รัดกุมเพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อันจะส่งผลร้ายกลับมาสู่สถาบันฯ เสียเอง

กฎหมายอันเป็นเครื่องมือในการอำนวยความยุติธรรมในสังคม สมควรมีการเปิดกว้างให้วิพากษ์วิจารณ์เพื่อพัฒนาตามความเปลี่ยนแปลงของกาลสมัย รวมถึงการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็ต้องมีการปรับตัวไปพร้อมกัน และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการรับฟังเสียงจากสังคม

การนำ 112 มาใช้อย่างไม่ระมัดระวังเช่นที่เกิดในปัจจุบัน มีแต่จะทำให้เสียงวิจารณ์ภายใต้ความเงียบกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ ในห้วงเวลาอันแหลมคมทางการเมืองเช่นนี้ น่าจะถึงเวลาที่สังคมต้องเปิดกว้างยอมรับว่าการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์สมควรเป็นสิ่งที่กระทำได้ และเปิดให้มีการพูดคุยถึงภาพฝันที่สังคมต้องการเห็นร่วมกัน

ถ้อยคำในกฎหมาย

ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

ปัจจุบันมีการตีความและบังคับใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวางมากในหลากหลายสาเหตุ จนมีการตั้งคำถามว่าเข้าองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 หรือไม่ เช่น การกดแชร์บทความพระราชประวัติบนเฟซบุ๊ก, การโพสต์ข้อความพระราชดำรัส “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ”, การพูดถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต, การสวมชุดไทยในที่ชุมนุม, การสวมเสื้อครอปท็อป, การแขวนป้ายผ้าเรื่องวัคซีนโควิด-19

คำอธิบายในตำราของ จิตติ ติงศภัทิย์[1]  อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และอดีตองคมนตรี เขียนถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ว่า “องค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำตามมาตรานี้ คือ (1) หมิ่นประมาท ได้แก่การกระทำความผิดตามมาตรา 326 (2) ดูหมิ่น ได้แก่ การกระทำความผิดตามนัยแห่งมาตรา 136 แต่ไม่จำต้องเกี่ยวกับหน้าที่ราชการอย่างใด หรือตามนัยแห่งมาตรา 393 แต่ไม่จำต้องกระทำซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา หรือ (3) แสดงความอาฆาตมาดร้าย ได้แก่ การขู่เข็ญโดยแสดงออกด้วยกิริยาหรือวาจา ว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณก็ตาม อันมิใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม นับเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้ทั้งสิ้น เมื่อมีการกระทำที่เป็นหมิ่นประมาทขึ้นแล้ว จะอ้างข้อแก้ตัวตามมาตราต่างๆ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท เช่นการแจ้งข่าวสารตามมาตรา 329 (4) หาได้ไม่ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่พึงเคารพสักการะอยู่ในฐานะที่จะละเมิดมิได้ ย่อมอยู่เหนือการติชมใดๆ ทั้งสิ้น พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็เป็นอุปกรณ์ประกอบสถาบันนั้นเช่นเดียวกัน”

ส่วนคำอธิบายของ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ[2] ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงมาตรา 112 ไว้ในหนังสือหลักกฎหมายอาญา ภาคความผิด ว่าการกระทำมาตรานี้รวมเอาหมิ่นประมาทและดูหมิ่นไว้ด้วยกัน

การหมิ่นประมาท ตามความหมายในมาตรา 326 นั่นเอง แต่จะอ้างข้อแก้ตัวตามมาตรา 329 (4) ไม่ได้ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่พึงเคารพสักการะ ย่อมอยู่เหนือการติชมใดๆ ทั้งสิ้น พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันนี้ เช่นกัน การดูหมิ่น หมายถึงการดูถูกเหยียดหยามตามมาตรา 393 การไม่แสดงความคารวะตามที่ควร ไม่ถือเป็นการดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย คือแสดงความมุ่งร้ายหรือเกลียดชังพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็เช่นขู่ว่าจะปลงพระชนม์ ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำตามที่ขู่หรือไม่ก็ตาม เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายแล้ว”

ดังที่ทวีเกียรติอธิบายไว้ว่าการไม่แสดงความเคารพตามที่ควร ไม่ถือเป็นการดูหมิ่น หยุด แสงอุทัย[3] ก็อธิบายมาตรา 112 ไว้ในลักษณะเดียวกันว่า “คำว่า ‘หมิ่นประมาท’ มีความหมายอย่างเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 326 คำว่า ‘ดูหมิ่น’ หมายถึง การแสดงเหยียดหยาม ให้ดูคำอธิบายมาตรา 134 มาตรา 136 และมาตรา 393 เช่น ด่าด้วยคำหยาบ หรือแสดงกิริยาเหยียดหยามอย่างอื่น เช่น ถ่มน้ำลายรด การไม่แสดงความคารวะตามที่ควร ไม่ถือว่าเป็นการ ‘ดูหมิ่น’”

แม้ตำรากฎหมายต่างๆ อธิบายการตีความไว้พอสังเขป แต่การตีความขยายเกินบทบัญญัตินั้นไม่ควรเกิดขึ้น ในแวดวงนักวิชาการด้านกฎหมายเองก็มีการถกเถียงถึงเรื่องการแก้ไขกฎหมายนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

เมื่อปี 2552 ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ไว้ว่า เรื่องการคงกฎหมาย 112 ไว้นั้นพอฟังได้ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ได้มีปัญหาในตัวเอง เพราะประเทศอื่นที่มีพระมหากษัตริย์ก็มีกฎหมายนี้ แต่การลงโทษของประเทศไทยสูงเกินไป

“โดยเหตุที่ประเทศไทย ตำรวจค่อนข้างพันกับการเมืองมาก จะอยู่จะไปขึ้นอยู่ที่การเมืองเยอะ และตำรวจทำหน้าที่เป็นต้นทางของการดำเนินคดีที่เป็นความผิดต่อรัฐ มันเลยเกิดปัญหาขึ้นมา เนื่องจากอาจถูกแทรกแซงได้มาก กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลยถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเยอะ อีกทั้งเรื่องนี้เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ใครก็ฟ้องร้องได้”

ซึ่งปริญญายืนยันว่า การมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหาคือการลงโทษแรงเกินไปและกระบวนการในการฟ้องร้องมีปัญหา

ในปี 2563 ระลอกล่าสุดที่มีการดำเนินคดี 112 กับผู้ชุมนุมจำนวนมาก คณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มุนินทร์ พงศาปาน ก็เห็นว่ากฎหมายที่ให้ความคุ้มครองประมุขของรัฐยังมีความจำเป็น แต่ 112 มีการลงโทษรุนแรงเกินไป โดยเขามีข้อสังเกต 4 ประการ ดังนี้

“1. กฎหมายควรให้ความคุ้มครองประมุขของรัฐจากการดูหมิ่น หรือการอาฆาตมาดร้าย ตราบใดที่บุคคลทั่วไปยังได้รับความคุ้มครอง ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่กฎหมายจะไม่คุ้มครองประมุขของรัฐ

“2. อย่างไรก็ตามโทษของมาตรา 112 รุนแรงเกินไปและไม่ได้สัดส่วนกับความผิดของมาตรานี้และความผิดอาญาฐานอื่น ควรมีการพิจารณาแก้ไขบทกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของความผิด

“3. การดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ควรใช้มาตรฐานเดียวกับการดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสันนิษฐานความเป็นผู้บริสุทธิ์และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้านอื่นๆ ของผู้ถูกกล่าวหา การใช้มาตรฐานการดำเนินคดีอาญาที่แตกต่างกันเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม

“4. การดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ตลอดจนความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐฐานอื่นไม่ควรถูกใช้เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองหรือเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะการปิดปากผู้ที่เห็นต่าง นอกจากจะไม่ประสบผลสำเร็จแล้ว จะเป็นการยั่วยุให้เกิดการต่อต้านมากขึ้น หากแม้นสำเร็จ ก็จะเป็นความสำเร็จระยะสั้นเท่านั้น แต่จะไม่มีทางแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังอาจซ้ำเติมปัญหาให้ร้ายแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก”

จะเห็นได้ว่าทั้งปริญญาและมุนินทร์ต่างเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐ แต่เรื่องการดำเนินคดีและการลงโทษสมควรปรับแก้ และแม้เขาทั้งสองจะให้ความเห็นไว้ในระยะเวลาห่างกันสิบปี แต่ปัญหาในการใช้กฎหมายนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไข

นอกจากประเด็นเรื่องการลงโทษแล้ว ปัญหาที่ถูกพูดถึงคือการใช้เกินขอบเขตกฎหมาย รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อต้นปี 2564 ว่าต้องมีการกำหนดเส้นความผิดของ 112 ให้ชัดเจน

“กฎหมายอาญาต้องชัดเจน แน่นอน เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรคือเส้นทางที่เราเดินไม่ได้ เดินไปแล้วติดคุก ปัญหาของการใช้ 112 ในปัจจุบัน คือใช้แบบไม่มีขอบเขต สิ่งที่เราสอนกันในโรงเรียนกฎหมาย ว่า 112 หมายความว่าอย่างไร แต่เวลาที่เกิดการใช้จริง เราจะเห็นการใช้แบบเกินขอบเขตของกฎหมาย แบบที่เราไม่สามารถคาดหมายได้ว่า ทำแบบนี้ได้ หรือไม่ได้

“การใช้ 112 ประหลาดด้วยตัวเอง ไม่ใช่ในเรื่องการบังคับใช้ แต่คือการขยายความย้อนไปถึงอดีต ซึ่งนักกฎหมายระดับปรมาจารย์อาญา หรือโรงเรียนกฎหมายทั่วประเทศ เวลาเราสอนเรื่องนี้ เราบอกว่าใช้เฉพาะสมัยปัจจุบันเท่านั้น ไม่รวมถึงอดีต ไม่เช่นนั้นจะวิพากษ์บุคคลในประวัติศาสตร์ไม่ได้ คุณจะอธิบายพระเจ้าตากไม่ได้

“พอไม่แน่นอน เราจะไม่รู้ว่า การที่คุณระบายสีอันนี้ พูดประโยคนี้ แชร์ข้อความนี้ ผิด 112 หรือไม่ ต่อให้เรียนกฎหมาย เป็นศาสตราจารย์กฎหมาย ก็ตอบไม่ได้ เพราะโดยทฤษฎีไม่ควรเป็น แต่อาจจะเป็นก็ได้ ผลคือคนจะไม่กล้าทำอะไร ซึ่งสังคมที่เป็นประชาธิปไตยควรจะสนับสนุนให้คนกล้าและทำสิ่งที่ตนเองคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อชีวิตและสังคม ตราบใดที่ไม่เป็นความผิด ฉะนั้นเส้นของความผิดจึงต้องชัด ในการทำให้กฎหมายไม่ชัด คนจะไม่กล้า และจะมีปัญหา” รณกรณ์กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์

‘แก้กฎหมาย’ ไม่เท่ากับ ‘ล้มล้าง’

ความเห็นว่าสมควรให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้พูดกันเฉพาะในฝ่ายเสรีนิยม แต่ฝ่ายกษัตริย์นิยมหรือรอยัลลิสต์ก็มีการตระหนักถึงปัญหานี้เช่นกัน เมื่อการใช้ 112 เพื่อกำจัดผู้เห็นต่างอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สถาบันฯ

สิ่งสำคัญที่ต้องยอมรับคือการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้เกิดการพัฒนานั้นสมควรกระทำได้ การปิดกั้นให้ปลอดจากการวิจารณ์มีแต่จะทำให้สังคมเคลื่อนห่างออกจากความศรัทธา

ในปี 2519 ช่วงที่ฝ่ายรัฐพยายามสู้กับคอมมิวนิสต์ กระทรวงศึกษาธิการตีพิมพ์หนังสือ พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย[4] ซึ่งปรับปรุงจากคำบรรยายของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเมื่อ 1 ธ.ค. 2518 ช่วงที่เขียนถึงเรื่อง ‘บุคคลผู้ไม่หวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์’ ธานินทร์ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการวิจารณ์สถาบันฯ ในทางสร้างสรรค์ โดยเขาย้ำว่าต้องพิจารณาถึงเจตนา

“การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไปในทางสร้างสรรค์ ให้สถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันหลัก คู่กับระบอบประชาธิปไตยและประเทศไทยต่อไป เป็นสิ่งที่กระทำได้และพึงกระทำ แต่ถ้าวิจารณ์เพื่อมุ่งทำลายโดยใช้อคติเป็นที่ตั้ง พึงสังวรไว้ว่าการวิจารณ์นั้น ตรงกับความเป็นจริงและมติมหาชน และวิจารณ์ด้วยความเป็นธรรมหรือไม่ การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์นั้น นอกจากจะพิจารณาจากถ้อยคำที่ปรากฏภายนอกแล้ว จึงต้องพิจารณาถึงเจตนาอันแท้จริงที่แฝงอยู่ภายในด้วยว่า ต้องการติเพื่อก่อหรือมุ่งทำลาย”

ธานินทร์ยังกล่าวเสริมว่า “อนึ่ง สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ตกอยู่ภายใต้หลักความจริงที่ว่า สิ่งใดก็ตามจะไม่ดีเสียทั้งหมดโดยไม่มีส่วนดี หรือจะดีเสียทั้งหมดโดยไม่มีส่วนไม่ดีเลยนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้…”

กฎหมาย 112 ถูกวิพากษ์กว้างขวางว่ามีจุดบกพร่องในการบังคับใช้และโทษรุนแรงเกินไป จนกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้การแสดงความเห็นเรื่องสถาบันฯ กลายเป็นเรื่องต้องห้าม แม้ว่าจะเป็นการ ‘ติเพื่อก่อ’

การสนับสนุนให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ ไม่ควรเป็นเหตุที่จะทำให้ถูกกล่าวหาได้ว่ามีแนวคิดล้มล้าง ดังที่รอยัลลิสต์จำนวนมากก็ต้องการให้แก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างความมั่นคงแก่สถาบันฯ

ในปี 2552 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาการบังคับใช้ ม.112, 133, 134 ให้คำปรึกษาแก่ตำรวจ ดีเอสไอ และกระทรวงไอซีทีในการดำเนินคดี โดยมีคำสั่งระบุว่าการละเมิดดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งและอาจมีผลกระทบในเชิงลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ

ประธานคณะกรรมการดังกล่าวคือ กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ซึ่งขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2554 ถึงเรื่อง ม.112 ว่า “คดีพวกนี้มีน้อยมากในอดีต แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งส่งผลที่ทำให้เกิดกระแสความเข้าใจที่เหมือนกับว่า มีความเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งในแง่ที่ส่งเสริมให้เกิดการกล่าววิจารณ์มากขึ้น แล้วก็ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า มีฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จากกระบวนการตรงนี้

“ผมคิดว่าในความเป็นจริง เรื่องนี้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และประเด็นหลักจริงๆ ของกฎหมาย ผมคิดว่าตัวกฎหมายไม่ได้มีปัญหานัก ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าเราไม่เอาความขัดแย้งทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง และก็เทิดทูนพระองค์ท่านไว้อยู่เหนือกฎหมาย ก็จะคลี่คลายลงไปได้ และก็จะน้อยยิ่งกว่าน้อยที่จะเกิดเหตุวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น”

กิตติพงษ์ระบุถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวว่า “ความพยายามของคณะกรรมการชุดผม พยายามที่จะเทียบกับต่างประเทศคือใช้ระบบที่ไม่ให้ประชาชนเข้าไปฟ้องคดีเองได้ ก็จะมีการกลั่นกรอง สิ่งที่เราพยายามจะทำคือจัดระบบกฎหมายให้ตำรวจ อัยการสามารถรวบรวมคำร้องทุกข์ต่างๆ เข้ามาอยู่ในจุดๆ เดียว แล้วก็ให้สิทธิเสรีภาพกับผู้ที่ถูกกล่าวหาเต็มที่ รวมทั้งพยายามแยกแยะว่าอะไรที่เป็นเรื่องที่มีเจตนาจะดูหมิ่นล้มล้างสถาบัน และอะไรที่เป็นเรื่องที่ทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็น่าจะเป็นเรื่องอีกแบบหนึ่ง อะไรที่เป็นการทำโดยวิชาการก็เป็นอีกแบบหนึ่ง หรืออะไรที่ทำโดยคนต่างชาติซึ่งอาจจะไม่รู้ก็ต้องเป็นเรื่องอีกแบบหนึ่ง ขณะนี้ความพยายามก็เกิดขึ้นในการจัดระบบแบบนี้

“ผมก็เชื่อว่าโดยสรุป ตัวกฎหมายไม่ได้มีปัญหา เป็นเรื่องที่มีทั่วไป ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ ปัญหาจากการบังคับใช้เกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านเลย ก็คือเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองและก็นำมาสู่สิ่งที่เราก็พยายามจัดระบบในส่วนนี้” กิตติพงษ์กล่าว

อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เห็นพ้องกับกิตติพงษ์เรื่องปัญหาการบังคับใช้ เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงมาตรา 112 ไว้เมื่อปี 2554 ว่า “การดำรงอยู่ของกฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการบังคับใช้และเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้ เนื่องจากใครก็ได้มีสิทธิกล่าวโทษ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนใช้ประโยชน์จากตัวกฎหมายและสถาบันกษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง หากแก้ปัญหาดังกล่าวได้ก็คงจะลดปัญหาที่เกิดขึ้น”

เขายังเสริมว่า “คนไทยส่วนใหญ่รัก เคารพ และเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคนจากประเทศอื่นๆ อาจมองว่าคนไทยรักและเคารพสถาบันกษัตริย์แบบแปลกๆ แต่ไม่ว่าภายนอกจะมองว่าอย่างไร นี่เป็นวัฒนธรรมของเรา เช่นเดียวกับในหลักการพหุวัฒนธรรม ผู้อื่นก็ควรจะเคารพในความหลากหลาย และไม่ควรตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี”

ในหนังสือ กลางใจราษฎร์[5] ที่มี อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะที่ปรึกษา เขียนถึงเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า ตามปกติแล้ว พระมหากษัตริย์หรือพระราชินีนาถผู้เป็นประมุขของประเทศจะได้รับการปกป้องจากการทำอันตรายและการดูหมิ่นโดยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขณะที่เนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวมักมีความคล้ายคลึงกัน แต่การนำไปใช้จริงนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละอาณาจักร

“ในประเทศไทย คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทวีจำนวนขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้คนหันมาสนใจกฎหมายดังกล่าว ที่มา และความอ่อนไหวอันมีลักษณะเฉพาะต่อการนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม”

หนังสือยังระบุถึงข้อสังเกตว่ากฎหมายของไทยลงโทษรุนแรงที่สุดและถูกใช้บ่อยที่สุดเมื่อเทียบกับกฎหมายลักษณะเดียวกันในประเทศอื่น

 “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดังกล่าวเป็นกฎหมายที่หนักที่สุด และเท่าที่ผ่านมา มีการนำมาใช้บ่อยครั้งที่สุดในบรรดากฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ในโลกปัจจุบัน

“มีเพียงไม่กี่ปีหลังมานี้ระหว่างช่วงที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองอย่างรุนแรง ที่เกิดการถกเถียงกันขึ้นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก่อนหน้านี้ความคิดทั่วไปมีอยู่ว่าเพียงการวิจารณ์กฎหมายดังกล่าวก็อาจถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว อย่างไรก็ตาม จำนวนคดีที่พุ่งสูงขึ้นได้ดึงความสนใจมายังกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งเพียงหนึ่งทศวรรษก่อนหน้านั้นดูเหมือนจะไม่มีการนำมาใช้อีกต่อไปแล้ว และทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีการโต้เถียงกันมาที่สุดประเด็นหนึ่งในปัจจุบัน

“โดยทั่วไปแล้ว ฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายนี้ให้เหตุผลว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมายเอง แต่อยู่ที่ตัวบุคคลที่ไม่ยึดถือหลักการซึ่งนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้เพื่อเหตุผลแอบแฝง ส่วนฝ่ายตรงข้ามมองว่านี่เป็นกฎหมายที่สืบมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย”

มาตรา 112 ไม่ได้มีบทลงโทษเช่นนี้แต่แรกเริ่ม แต่มีการเพิ่มโทษให้รุนแรงภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

 “ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่รุนแรงที่สุดกว่าที่ใดๆ ในช่วงกว่าศตวรรษที่ผ่านมา จะเทียบได้ก็แต่กับกฎหมายญี่ปุ่นในช่วงสงครามเท่านั้น โดยโทษขั้นต่ำสุดเทียบเท่ากับโทษขั้นสูงสุดในประเทศจอร์แดน และโทษขั้นสูงสุดก็คิดเป็นสามเท่าเมื่อเทียบกับประเทศในระบอบประชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญในยุโรปส่วนใหญ่” ถ้อยคำจากหนังสือกลางใจราษฎร์

“พระมหากษัตริย์เดือดร้อน”

ปัญหาจากการบังคับใช้ทำให้คนจำนวนหนึ่งเห็นพ้องว่าต้องแก้ไขกฎหมายให้รัดกุม เช่น ไม่เปิดกว้างให้ใครก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ แม้ไม่ใช่ผู้เสียหาย

ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ในปี 2554 ว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาคือเรื่องกระบวนการใช้กฎหมาย โดยเขาให้ข้อสังเกตว่ามีเรื่องการตีความกว้างกว่ากฎหมายและการร้องทุกข์กล่าวโทษที่ไม่มีการกลั่นกรอง

“1.บางทีมีการใช้คำที่ไม่ปรากฏในตัวบทกฎหมาย หากไปเปิดในตัวบทกฎหมายจะไม่มีคำว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย มาตรา 112 ไม่มี แต่เป็นความรู้สึกเป็นความเข้าใจของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน และตีความกว้างกว่า สิ่งที่อยู่ในมาตรา 112 จึงมีความรู้สึกกระทำความผิด ‘ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ อยู่เสมอ หรืออยู่เนืองๆ และไกลเกินบทบัญญัติโดยแท้ในประมวลอาญาของเรา

“2.กระบวนการการดำเนินคดีพบว่า การกล่าวหาว่าใครทำความผิด ตามมาตรา 112 กระบวนการปัจจุบันไม่มีการกรอง ใครก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษในส่วนนั้นได้ สุดท้ายก็ส่งผลให้มีมิติทางการเมืองเกิดขึ้น ยิ่งในยุคสมัยที่เรามีความแตกต่าง และมีความเห็นที่ไม่ลงรอยทางการเมือง สุดท้ายการกล่าวหากันว่าเป็นการทำผิดตามมาตรา 112 จริง เท็จ ผิด ถูก เบื้องปลายไม่รู้ เพียงแค่การกล่าวหากันก็กินแดน กินเนื้อไปตั้งเยอะแล้วในส่วนนี้ กระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษ น่าจะมีการคุยกันว่าจะทำอย่างไร

“พอมาถึงการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน โดยปกติจะมีการกรอง ผ่านพนักงานสอบสวน ไปที่พนักงานอัยการ ในที่สุดขึ้นสู่ศาล บางทีอาจเกิดความรู้สึกนี้ในสังคมไทยหรือไม่ คือทุกคนเล่นบทปลอดภัยของตัวเอง ยังไงส่งไปท่อนต่อไปก่อนแล้วกัน ตำรวจทำสำนวนดุลยพินิจไม่จำเป็นต้องไปรอบคอบอะไรมากนัก ส่งไปให้อัยการใช้ พอถึงอัยการก็บอกฟ้องซะก่อน ปลอดภัยดี พอถึงศาลก็ลงโทษไว้ก่อนปลอดภัยดี แต่จะไม่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทั่วๆ ไป”

ธงทอง ย้ำถึงพระราชดำรัสรัชกาลที่ 9 ในปี 2548 ที่ว่า การลงโทษคดีเหล่านี้ เบื้องปลายแล้วพระราชภาระก็หนีไม่พ้นที่ทรงต้องถูกวิจารณ์เพิ่มมากขึ้น

ย้อนไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2548 ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ ความว่า

“วันนี้ตั้งใจจะพูดอะไร ที่ไม่พาดพิงใครเลย ไม่ติเตียนใครเลย เพราะการติเตียนใคร พาดพิงใครก็เกิดความไม่สบายใจ แต่ที่เห็นอยู่ข้างหน้ามีคนที่พูด ก็คงรู้ว่าใครพูด มีคนพูดว่าข้าพเจ้าไม่ดี พระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ดี ทำอะไรผิด แต่เขาต้องแสดงออกมาว่า พระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ผิด ผิดไม่ได้ เป็นตามความจริงในระบอบประชาธิปไตย ในระบอบรัฐธรรมนูญ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระเจ้าอยู่หัวฯ ผิดไม่ได้ เขาพูดอย่างนั้น The King can do no wrong…”

“…ความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัว ถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์ เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์ แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร…”

“…มีที่เกิดเรื่องเข้าคุก แต่อย่างไรก็ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน…เขาหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนที่ไม่ดี อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นคนที่จั๊กจี้ ใครว่าไรสักนิด ก็บอกให้เข้าคุก ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก…”

“…คนที่ละเมิดพระมหากษัตริย์ และถูกทำโทษไม่ใช่คนนั้นเดือดร้อน พระมหากษัตริย์เดือดร้อน นี่ก็แปลก คราวนี้นักกฎหมายก็ชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก อันนี้นักกฎหมายก็สอนนายกฯ ว่าต้องฟ้อง ต้องลงโทษ ก็สอนนายกฯ ว่าใครบอกว่าให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี ลงท้ายไม่ใช่นายกฯ เดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน”

พระราชดำรัสดังกล่าวถูกหยิบยกมาพูดถึงในสังคมบ่อยครั้ง เมื่อมีการพูดถึงการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ปัจจุบันเวลาล่วงมา 16 ปีแล้ว สังคมควรกลับมาพิจารณาผลร้ายของการใช้กฎหมายนี้โดยไม่มีการกลั่นกรอง เพราะแม้ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไม่ใช่ทางสถาบันฯ เอง แต่หากมีการลงโทษอย่างรุนแรง ความคิดเห็นในสังคมที่มีต่อการลงโทษนั้นย่อมไม่พ้นที่จะเกี่ยวพันกับการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์


[1] จิตติ ติงศภัทิย์.  คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา (ภาค 2 ตอนที่ 1).  กรุงเทพฯ : สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2510.

[2] ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ.  หลักกฎหมายอาญา ภาคความผิด.  พิมพ์ครั้งที่ 12.  กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2560.

[3] หยุด แสงอุทัย.  กฎหมายอาญา ภาค 2-3.  พิมพ์ครั้งที่ 11.  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553.

[4] ธานินทร์ กรัยวิเชียร.  พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2519.

[5] คริส เบเคอร์และคนอื่นๆ.  กลางใจราษฎร์.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : เอเซียบุ๊คส์, 2556.

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save