fbpx
รัฐฆาตกรรม สมชาย ปรีชาศิลปกุล

รัฐฆาตกรรม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในสังคมแห่งนี้ มีผู้คนที่ต้องสูญเสียชีวิตไปโดยมีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและปรากฏให้เห็นในหลายรูปแบบ

หากไม่นับรวมความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน, ปรากฏอย่างชัดเจน, ด้วยเหตุผลที่สัมพันธ์กับปมประเด็น ‘การเมือง’ อย่างใกล้ชิด ดังที่ปรากฏให้เห็นในเหตุการณ์สำคัญหลายครั้ง นับตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา 19, พฤษภาคมวิปโยค 2535, พฤษภาคมอำมหิต 2553 แล้ว ยังมีความรุนแรงของรัฐอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การฆ่าผู้ต้องสงสัยในระหว่างการเข้าจับกุมของตำรวจ, การทำร้ายหรือการหายตัวไปของบุคคลที่มีจุดยืนตรงกันข้ามกับอำนาจรัฐ และตัวอย่างอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ที่ผ่านมา มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้อำนาจของรัฐและความรุนแรงต่อประชาชนในเหตุการณ์ ‘ฆาตกรรมหมู่’ เกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย การทำความเข้าใจต่อความรุนแรงในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น หากต้องการที่จะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุในแบบที่ ‘อาชญากรยังลอยหน้า ฆาตกรยังลอยนวล’ เฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลที่ครองอำนาจในห้วงเวลานั้นๆ

อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจต่อความรุนแรงของรัฐที่เกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นบุคคลหรือกลุ่มย่อย, ด้วยเหตุผลในแง่มุมอื่นที่ไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งอาจปรากฏอย่างชัดเจนหรือเป็นการกระทำแบบหลบเร้น ก็ควรเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องมีการทำความเข้าใจไปพร้อมกันด้วย การตายในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งผ่านสื่อมวลชนหรือรายงานข่าวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อาจกล่าวได้ว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็น ‘ความรุนแรงในชีวิตประจำวันโดยรัฐ’

ผู้เขียนอยากเรียกสภาวะในลักษณะเช่นนี้ว่า ‘รัฐฆาตกรรม’ อันหมายถึงรัฐที่มีความสามารถและกลไกหลายระดับซึ่งพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงที่ถึงแก่ชีวิตไม่ว่าจะเป็นการกระทำอย่างเปิดเผยหรือโดยหลบเร้น อันจะช่วยทำให้สามารถมองเห็นการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนที่ครอบคลุมมากขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงความรุนแรงของรัฐในแบบที่ก่อให้เกิดความตายขึ้น โดยไม่นับรวมการฆาตกรรมแบบกลุ่มขนาดใหญ่ เราอาจจำแนกได้อีกหลากหลายรูปแบบ

 

พหุลักษณ์แห่งฆาตกรรม

 

แบบที่หนึ่ง เป็นความรุนแรงของรัฐซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปและถูกเรียกว่า ‘วิสามัญฆาตกรรม’ (extrajudicial killing หรือ extrajudicial execution) อันหมายถึงการเสียชีวิตของบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือการตายของบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอ้างว่าเป็นการปฏิบัติราชการ เช่น การยิงผู้ต้องสงสัยจนเสียชีวิตในระหว่างการเข้าจับกุม หรือผู้ต้องหาตายในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

การวิสามัญฆาตกรรมในสังคมไทยมักเกี่ยวพันอย่างมากกับนโยบายหรือการกำหนดทิศทางของรัฐบาล เช่น ในยุคที่รัฐบาลประกาศสงครามกับยาบ้าก็จะพบว่ามีการวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มผู้ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเกี่ยวพันกับยาเสพติดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หรือกรณีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยว่าเป็น ‘ผู้ก่อความไม่สงบ’ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ก็มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อแนวทางการจัดการในพื้นที่ของรัฐบาล

หากกล่าวอีกนัยหนึ่ง การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการวิสามัญฆาตกรรมก็เป็นการฆาตกรรมประเภทหนึ่งที่มีเป้าหมายรองรับ หรือในงานศึกษาความรุนแรงของรัฐได้เรียกว่า ‘การฆ่าโดยมีเป้าหมาย’ (targeted killing)

แต่พึงต้องตระหนักว่าการกำหนดเป้าหมายที่นำมาสู่การปลิดชีวิตผู้คนนั้นมิได้เป็นการชี้เป้าในเชิงปัจเจกที่เป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่หากเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐซึ่งกำหนดว่ามีการกระทำในรูปลักษณะใดที่ถูกจัดว่าเป็น ‘ภัย’ ในระดับรุนแรง การจัดประเภทการกระทำให้เป็นภัยต่อรัฐก็จะนำมาซึ่งการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าตำรวจหรือทหารสามารถใช้ความรุนแรงต่อประชาชนได้โดยปราศจากการตรวจสอบ หรือหากตรวจสอบว่าเป็นความผิดก็อาจไม่มีการลงโทษอย่างรุนแรงเกิดขึ้น

ฆาตกรรมอีกประเภทหนึ่งที่สัมพันธ์กับการใช้อำนาจรัฐอย่างมากแต่อาจไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันได้แน่ชัด หรืออาจเรียกว่า ‘ฆาตกรรมนอกระบบ’ เช่น การลอบสังหารบุคคลสำคัญ, การอุ้มหายผู้ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจรัฐ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศเฉพาะที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เป็นต้น แต่การฆาตกรรมในลักษณะนี้อาจเป็นสิ่งที่อยู่พ้นไปจากบรรทัดฐานที่จะกล่าวอ้างในทางสาธารณะได้อย่างชัดเจน จึงทำให้ต้องมีความพยายามในการ ‘จัดฉาก’ หรือกลบเกลื่อนร่องรอยให้มากที่สุด รวมทั้งปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ

แต่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าฆาตกรรมเช่นนี้ยากจะเกิดขึ้นหากหน่วยงานรัฐไม่ให้ความร่วมมือและมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งมิใช่เป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในธรรมดาๆ โดยลำพัง หากเป็นอำนาจรัฐในระดับสูงที่สามารถประสานให้กลไกรัฐทั้งหมดทำงานหรือหยุดทำงานได้อย่างพร้อมเพรียง การลอบสังหารอดีตผู้นำเสื้อเหลืองกลางเมืองเมื่อหลายปีก่อนโดยจับมือใครดมไม่ได้เป็นตัวอย่างตำตาจนกระทั่งทุกวันนี้

เห็นได้ชัดเจนว่าฆาตกรรมนอกระบบมักจะเกิดอย่างบ่อยครั้งภายใต้ห้วงเวลาที่การเมืองตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม

นอกจากการตายของผู้คนในลักษณะดังกล่าว ก็ยังปรากฏการเสียชีวิตในลักษณะอื่นซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งเป็นกรณีของ ‘ฆาตกรรมเชิงโครงสร้างอำนาจภายใน’ อันเป็นการเสียชีวิตของผู้คนที่สัมพันธ์กับกลไกในอำนาจรัฐอย่างชัดเจน เช่น การเสียชีวิตของทหารชั้นผู้น้อยหรือทหารเกณฑ์ในค่ายทหาร, การเสียชีวิตของนักเรียนนายร้อยในระหว่างการฝึกซ้อม เป็นต้น

การเสียชีวิตประเภทนี้อาจไม่ได้เป็นการ ‘ฆาตกรรม’ ซึ่งถูกกำกับโดยนโยบายของรัฐบาล หรือนโยบายอันเป็นทางการของหน่วยงานความมั่นคง บุคคลที่มีส่วนต่อการฆาตกรรมก็อาจเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับทั่วไปได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีอำนาจระดับสูง เมื่อเกิดการฆาตกรรมในลักษณะนี้ขึ้นก็มักจะมีการชี้แจงว่าเป็นการกระทำที่มีสาเหตุมาจากส่วนตัว หรือเกิดขึ้นเพราะเป็นความบกพร่องเฉพาะบุคคลโดยที่ไม่ได้เป็นนโยบายหรือความต้องการของหน่วยงานนั้นๆ

ลองนึกถึงคำอธิบายที่มีต่อกรณีนักเรียนเตรียมทหารซึ่งเสียชีวิตจากการ ‘ซ่อม’ ของนักเรียนรุ่นพี่เมื่อ พ.ศ. 2560 การลงโทษต่อรุ่นพี่ในประเพณีซ่อมนักเรียนรุ่นน้องก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องของอำนาจรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้อาจไม่ได้ถูกกำหนดด้วยนโยบายรัฐจนกลายเป็นเป้าหมายแห่งความรุนแรง แต่การฆาตกรรมเหล่านี้เป็นผลมาจากโครงสร้างอำนาจที่ดำรงอยู่ภายในองค์กรนั้น โดยผู้ถูกกระทำต้องตกอยู่ในสถานะของอีกฝ่ายหนึ่งแบบไม่อาจต่อรองได้ ดังเช่น ระหว่างนายทหาร-ทหารชั้นผู้น้อย, ผู้บังคับบัญชา-ผู้ใต้บังคับบัญชา, รุ่นพี่-รุ่นน้อง ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ความรุนแรงในแบบที่ถึงแก่ชีวิตให้สามารถเกิดขึ้นได้

ต้องไม่ลืมว่าการเสียชีวิตของผู้คนที่ปรากฏให้เห็นก็เป็นเพียงส่วนบนของภูเขาน้ำแข็งที่ยังคงมีความรุนแรงอีกมากมายที่ถูกซุกซ่อนอยู่ไว้ข้างล่าง

 

ฆาตกรรมที่ไร้ความรับผิด

 

ดูราวกับว่าความตายอันเป็นผลมาจากรัฐฆาตกรรมแทบจะไม่ได้ทำให้เกิดความรับผิดขึ้นกับบุคคลหรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

การวิสามัญฆาตกรรม โจ ด่านช้างและพวก 6 คน เมื่อ พ.ศ. 2539 ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าพวกเขาได้ขัดขืนต่อสู้ในระหว่างที่นำตัวกลับไปค้นหาหลักฐานเพิ่ม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแม้ทางตำรวจสามารถควบคุมตัวและใส่กุญแจมือผู้ต้องหาไว้ได้เรียบร้อย ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุโดยไม่ปรากฏชัดเจนว่าภายหลังจากนั้นมามีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดต้องรับผิดชอบ แต่ที่ชัดเจนคือผู้บังคับบัญชาระดับสูงในปฏิบัติการนี้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่อง

ชัยภูมิ ป่าแส ถูกทหารยิงเสียชีวิตคาด่านตรวจเมื่อ พ.ศ. 2560 ด้วยข้ออ้างว่าขัดขืนการจับกุม ทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงในพื้นที่ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากได้ดูกล้องวงจรปิดแล้วว่าถ้าเป็นตนเองก็คงต้องยิงเหมือนกัน แต่เมื่อทนายของฝ่ายผู้เสียชีวิตร้องขอภาพจากกล้องวงจรปิดก็ได้รับการปฏิเสธจากทางหน่วยงานว่าไม่มีภาพดังกล่าวในกล้องวงจรปิดแต่อย่างใด

ไม่ใช่เฉพาะกับกรณีผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรเช่น โจ ด่านช้าง หรือคนชายขอบเยี่ยง ชัยภูมิ ป่าแส กรณีนักเรียนเตรียมทหารที่เป็นลูกหลานของชนชั้นกลางในเมือง เมื่อญาติพี่น้องต้องการต่อสู้เพื่อให้การเกิดความรับผิดชอบก็ต้องประสบความยากลำบากไม่ใช่น้อย การนำศพไปตรวจโดยไม่ให้ผู้มีอำนาจรับรู้ซึ่งได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญต่อการพิสูจน์ถึงสาเหตุการตาย แต่ก็ยังไม่ปรากฏบทสรุปเกิดขึ้นแม้กรณีนี้ผ่านไปเป็นเวลาเกือบ 3 ปี เช่นเดียวกัน ผลบั้นปลายสามารถคาดเดาได้โดยไม่ยากว่าจะลงเอยเช่นไร

ตัวอย่างที่หยิบยกมาเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของปรากฏการณ์ดังกล่าวในสังคมแห่งนี้

มักเป็นที่เข้าใจว่าในห้วงเวลาปัจจุบัน ระบบกฎหมายและอำนาจรัฐได้ให้ความคุ้มครองต่อสิทธิในชีวิตของผู้คนได้อย่างมั่นคงพอสมควรโดยไม่อนุญาตให้มีการใช้อำนาจกำจัดผู้คนแบบ ‘ป่าเถื่อน’ มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างมากในหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการก่อตั้งหน่วยงานและกลไกเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนขึ้นจำนวนมากจนท่วมบ้านท่วมเมือง เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของศาลและอัยการ, สภาทนายความ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, กองทุนยุติธรรม และอีกหลากหลายหน่วยงาน

แต่องค์กรเหล่านี้ก็อาจจำกัดบทบาทไว้เฉพาะกับความรุนแรงในระหว่างประชาชนด้วยกันเอง หากเมื่อใดที่เป็นความขัดแย้งโดยที่ฝ่ายหนึ่งเป็นอำนาจรัฐโดยเฉพาะในความรุนแรงที่ถึงแก่ชีวิต ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็สามารถที่จะหยุดนิ่งลงได้อย่างพร้อมเพรียง

ทั้งหมดก็คือภาพสะท้อนให้เห็นได้ว่าภายใต้ระบบกฎหมายและโครงสร้างอำนาจรัฐของไทยที่ดูราวกับให้ความสำคัญและให้ความสนใจกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เอาเข้าจริงแล้วกลับมี ‘รัฐฆาตกรรม’ คอยยืนกำกับอยู่เบื้องหลังและพร้อมจะแสดงตนให้เห็นเมื่อต้องเผชิญกับการท้าทายที่อาจสั่นคลอนต่อความชอบธรรมและอำนาจของตนเอง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023