fbpx
บันไดสวรรค์? The Housemaid

บันไดสวรรค์? The Housemaid

‘นรา’ เรื่อง

 

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม (เสาร์ที่ 29 และอาทิตย์ที่ 30) ที่ผ่านมา โครงการ ‘ทึ่ง! หนังโลก’ โดยหอภาพยนตร์ ได้จัดฉายหนังเรื่อง The Housemaid ผลงานปี 1960 ของคิมคียอง

กิจกรรมดังกล่าวผ่านพ้นไปแล้วนะครับ แต่ก็มีข่าวดีสำหรับท่านที่สนใจ นั่นคือ หนังเรื่อง The Housemaid ยังสามารถหาดูได้ (ฟรี) ทาง YouTube โดย search คำว่า The Housemaid (1960)

ฉบับที่เผยแพร่ใน YouTube เป็นฉบับเดียวกันกับที่หอภาพยนตร์นำมาฉาย คุณภาพดีมาก ภาพ-เสียงคมชัด และมี subtitle ภาษาอังกฤษ

 

 

The Housemaid เป็นงานขึ้นหิ้งคลาสสิก ได้รับการยกย่องและเป็นที่ยอมรับจากหลายๆ ฝ่าย ว่าเป็นหนึ่งในสามหนังเกาหลีที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างกันมา ขณะเดียวกันสไตล์การทำหนังของคิมคียองก็มีอิทธิพลต่อบรรดาผู้กำกับเด่นๆ ในปัจจุบันอย่าง พักซานวุก (Old Boy), คิมคีด็อก (Spring, Summer, Fall, Winter…and Spring), อิมซางซู (A Good Lawyer’s Wife และ The Housemaid ฉบับปี 2010)

รวมถึงบองจุนโฮซึ่งประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า หนังเรื่อง Parasite ของเขา ได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจส่วนหนึ่ง (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ) มาจาก The Housemaid

The Housemaid ประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์ นับตั้งแต่แรกเริ่มออกฉายในปี 1960 แต่หลังจากนั้นกลับกลายเป็นงานตกสำรวจถูกหลงลืม กระทั่งค่อยๆ เลือนหายไปจากการรับรู้ของผู้คน จนล่วงเข้าสู่ปลายทศวรรษ 1990 จึงมีการนำหนังเรื่องนี้ออกฉายในโปรแกรม retrospective ของเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ส่งผลให้งานชิ้นนี้หวนคืนกลับมาเป็นที่รู้จักของผู้ชมในวงกว้างอีกครั้ง รวมทั้งยังเป็นการเปิดตัวไปสู่ระดับนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม ความเก่านานของหนัง ส่งผลให้ฟิล์มต้นฉบับบางส่วนสูญหาย และเท่าที่เหลืออยู่ก็มีสภาพทรุดโทรม จนกระทั่งถึงปี 2008 The Housemaid จึงได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ โดย World Cinema Project ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2007 และมีมาร์ติน สกอร์เซซีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เพื่ออนุรักษ์หนังเก่าอันทรงคุณค่าจากทั่วโลก

นับจากนั้นมา The Housemaid ในสภาพใกล้เคียงกับเมื่อแรกสร้าง ก็มีโอกาสเผยแพร่หลากหลายช่องทาง ทั้งการจัดฉายวาระพิเศษ หรือในรูปแบบของ DVD, Blu-ray มาจนถึงการดูแบบ streaming ในปัจจุบัน

ผมนั้นไม่เคยได้ยินชื่อ ไม่รู้จักหนังเรื่อง The Housemaid มาก่อนเลยนะครับ และเข้าไปดูแบบไม่ทราบอะไรเลย แรงจูงใจที่ทำให้นึกอยากดูก็มีเพียงแค่ ได้ยินสรรพคุณคำร่ำลือ ยกย่องสรรเสริญต่างๆ นานา จนอยากพิสูจน์ว่าเท็จจริงประการใด ถัดมาคือ ความอยากรู้อยากเห็นถึง ‘ราก’ และ ‘เมล็ดพันธุ์’ ซึ่งต่อมาได้เติบโตงอกงามกลายเป็นหนังเรื่อง Parasite

ดูจบแล้ว ก็ดีใจที่มีโอกาสได้เปิดหูเปิดตา ได้ผ่านประสบการณ์แปลกใหม่ในการดูหนัง ซึ่งเปี่ยมไปด้วยอรรถรสพิเศษเฉพาะตัวแบบที่ผมไม่เคยพบเจอมาก่อน (ตรงนี้ผมลอกความเห็นของมาร์ติน สกอร์เซซีมาเต็มๆ แต่ก็รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ)

The Housemaid เป็นหนังที่น่าทึ่งชวนตื่นตะลึงอย่างยิ่ง

ความน่าทึ่งอันดับแรกสุดคือ ทางของหนังนั้นเป็นเมโลดรามาเต็มตัว ตั้งแต่เนื้อเรื่องเหตุการณ์ไปจนถึงวิธีการนำเสนอ

พล็อตคร่าวๆ เล่าถึงครอบครัวหนึ่ง ประกอบไปด้วยคุณคิมและคุณนายคิมสองสามีภรรยา ฝ่ายชายมีอาชีพเป็นครูสอนดนตรีในโรงงานทอผ้า (ซึ่งมีกิจกรรมแบ่งเป็นชมรมต่างๆ สำหรับคนงานหลังเวลาเลิกงาน) ส่วนภรรยารับจ้างเย็บเสื้อผ้าหารายได้เสริม พร้อมๆ กับรับผิดชอบดูแลงานบ้าน ทั้งคู่มีลูกสองคน คนโตเป็นเด็กหญิงที่มีปัญหาป่วยไข้ ต้องเดินโดยใช้ไม้ค้ำยัน คนสุดท้องเป็นเด็กชายซุกซน มีนิสัยและพฤติกรรมในแบบที่นิยามด้วยภาษาไม่สุภาพแต่เข้าใจตรงกันได้ว่า ‘เด็กเปรต’

ครอบครัวคิมกำลังอยู่ในช่วงย้ายบ้านจากหลังเดิมมายังที่ใหม่ เป็นบ้านสองชั้นซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางมากขึ้น ส่งผลให้สองสามีภรรยาต้องขวนขวายหารายได้เพิ่มเติม

คุณคิมเป็นผู้ชายหน้าตาดี มีสาวโรงงานมาแอบชอบ ถึงขั้นเขียนจดหมายสารภาพรัก แต่เขาก็แสดงความซื่อสัตย์มั่นคงต่อภรรยา ตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการนำจดหมายดังกล่าวไปมอบให้ฝ่ายบุคคล ส่งผลให้หญิงสาวที่เขียนจดหมายโดนทำโทษพักงาน จนต้องหลบหนีกลับบ้านที่ชนบท เพราะความอับอาย

อย่างไรก็ตาม จดหมายสารภาพรักนั้นไม่ได้เขียนขึ้นโดยลำพัง ยังมีหญิงสาวอีกคนชื่อโช ร่วมสมคบคิดด้วย หลังจากพบว่า วิธีดังกล่าวไม่ได้ผล จึงเปลี่ยนมาเสาะหาหนทางอื่น ประจวบเหมาะกับที่คุณคิมเคยเกริ่นกับบรรดาลูกศิษย์ที่โรงงาน ว่าเขากำลังมีภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องเปิดสอนเรียนเปียโนที่บ้านของเขา เพื่อหารายได้เสริม

โชจึงสมัครมาเรียนเปียโนที่บ้านของครู แต่ยังไม่ทันจะได้ใกล้ชิดสนิทสนมหรือเกิดเหตุไม่เหมาะไม่ควร คุณนายคิมก็เกิดอาการไม่สบาย และพบว่าตนเองตั้งครรภ์ ไม่สามารถฝืนทนทำงานหนัก สองสามีภรรยาจึงคิดแก้ปัญหาด้วยการหาสาวใช้มาช่วยแบ่งเบางานบ้าน

คุณคิมไหว้วานให้โชช่วยติดต่อหาสาวใช้ เธอชักชวนหญิงสาวชื่อเมียงซุก ซึ่งเป็นคนทำความสะอาดที่โรงงานทอผ้า

ตัวละครเมียงซุกนั้น ปรากฏให้เห็นตั้งแต่เริ่มเรื่อง แต่ผู้ชมได้เห็นผ่านๆ เพียงแค่ด้านหลัง และฉากเปิดตัวเธอจริงๆ นั้นก็สะท้อนชัดแบบเห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่า ‘ไม่ปกติ’ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปสูบบุหรี่ในตู้เสื้อผ้า หรือสีหน้าแววตา วิธีการพูดจา (รวมถึงฉากต่อมาที่เธอตกลงปลงใจรับงาน และมายังบ้านของครอบครัวคิม เดินสำรวจครัว เจอหนู และจับหนูด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ก่อนจะกำจัดมันด้วยวิธีโหด)

 

 

การเข้ามาของเมียงซุก คือ จุดสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางหายนะ เธอแอบดูคุณคิมสอนเปียโนโชด้วยท่าทีเหมือนหึงหวง และรบเร้านายจ้างให้สอนเธอบ้าง

พูดง่ายๆ คือ นับตั้งแต่เข้ามาทำงานและพำนักอาศัยที่บ้านของนายจ้าง เมียงซุกแสดงตัวแบบ ‘ให้ท่า’ ฝ่ายชายอยู่เนืองๆ แต่ก็โดนปฏิเสธทุกครั้ง จนกระทั่งสบโอกาสเหมาะ เมื่อมีข่าวว่าหญิงสาวที่แอบเขียนจดหมายรักตัดสินใจฆ่าตัวตาย ส่งผลให้โชสารภาพความจริง จนเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับคุณคิมอย่างรุนแรง และข่มขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย พร้อมทั้งทิ้งบันทึกกล่าวหาคุณคิมว่าเป็นต้นเหตุเรื่องอื้อฉาวทั้งหมด

เมียงซุกแอบดูแอบฟัง และนำความลับดังกล่าว มาแบล็กเมล์คุณคิม จนกระทั่งคุณคิมไม่อาจขัดขืนต้านทาน (หนังไม่ได้เล่าชัดถึงเหตุผลที่แท้จริง แต่มีความคลุมเครือปนกันอยู่ ว่าเป็นการยินยอมมีสัมพันธ์เพราะกลัวโดนแฉเปิดโปง หรือเป็นเพราะคุณคิมอ่อนแอจนไม่อาจทนต่อแรงปรารถนาเย้ายวน)

เรื่องราวทั้งหมดที่ผมเล่ามา เป็นพล็อตเท่าที่จะสามารถเปิดเผยได้ กินเวลาในหนังประมาณครึ่งชั่วโมง ที่เหลือถัดจากนั้นไปจนจบ เต็มไปด้วยสถานการณ์พลิกผันหักมุมและ ‘ช็อก’ คนดูครั้งแล้วครั้งเล่า กล่าวอย่างกว้างๆ ได้ว่า มันบอกเล่าถึงผลลัพธ์ที่ติดตามมา จากการล่วงถลำมีความสัมพันธ์ต้องห้าม ซึ่งมีค่าชดใช้ราคาแพง และนำไปสู่หายนะ ครอบครัวพังพินาศยับเยิน

 

 

จนถึงปัจจุบัน พล็อตเรื่องชิงรักหักสวาทแบบ The Housemaid ถูกนำมาทำหนังทำละครนับครั้งไม่ถ้วน จนผู้ชมสามารถคาดเดาล่วงหน้าได้เมื่อติดตามไปสักพัก แต่สิ่งที่เป็น ‘ความลับ’ ของหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์ แต่เป็น ‘วิธีทำ’ ที่ตัวละครปฏิบัติต่อกัน

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ความน่าทึ่งอันดับแรกของ The Housemaid คือ การนำเสนอออกมาเป็นเมโลดรามา

ขยายความเพิ่มเติมก็คือ งานกลุ่มนี้มักมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การเน้นความเข้มข้นจัดจ้านของเรื่องราว และการเร้าอารมณ์แบบตั้งหน้าตั้งตาบีบคั้น ส่งผลให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ หลีกหนีจากความจริง ขาดแคลนความเป็นเหตุเป็นผล ตัวละครขาดมิติความลึก และอ่อนด้อยในแง่ชั้นเชิงวิธีการนำเสนอ

The Housemaid น่าทึ่งตรงนี้ครับ ตรงที่เนื้อเรื่องและวิธีการเล่าเรื่องยังคงความเป็นเมโลดรามาตามแบบฉบับทุกประการ แต่ผลลัพธ์กลับออกมาตรงกันข้าม ดีงามอย่างน่าอัศจรรย์

คิมคียองทำให้ความเป็นเมโลดรามาของหนัง ข้ามเส้นความไม่สมจริงไม่น่าเชื่อถือ กลายเป็นเรื่องเล่าในเชิงเปรียบเปรย เต็มไปด้วยการอุปมาอุปไมย เพื่อสะท้อนเนื้อหาสาระ หลายสิ่งหลายอย่างได้รับการขับเน้นให้ ‘เกินจริง’ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแสดง, การจัดองค์ประกอบภาพที่ประดิดประดอยกันอย่างพิถีพิถัน, การใช้ดนตรีประกอบท่วงทำนองเร้าใจอึกทึกครึกโครม และรบกวนความรู้สึกของผู้ชม, การเคลื่อนกล้องที่ยอดเยี่ยมและลื่นไหล (และยังคงแลดูทันสมัยมาก) เพื่อดึงผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด, การถ่ายภาพที่เล่นกับแสงเงาจนเกิดบรรยากาศแบบหนังฟิล์มนัวร์, การใส่ฉากเปิดเรื่องปิดเรื่อง ด้วยฉากเดิมตัวละครเดิม แต่สถานการณ์แตกต่าง จนเกิดเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า และทำให้ผู้ชมเกิดคำถามว่า เหตุการณ์ใดกันแน่ที่เป็นเรื่องเกิดขึ้นจริง

และที่โดดเด่นมากๆ คือ งานออกแบบฉาก ซึ่งทำให้บ้านที่มีบทบาทเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญ (เรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังเกิดขึ้นภายในบ้าน) แฝงไว้ด้วยบรรยากาศไม่ชอบมาพากล ตั้งแต่ผนังห้องที่มีพื้นผิวขรุขระและลวดลาย ประตูที่เปิดปิดโดยการเลื่อนไปด้านข้าง ไม่ใช่การผลักหรือดันเข้าออก รวมทั้งยังแบ่งเป็นประตูที่มีลักษณะทึบ และประตูที่เป็นกระจกใสมองเห็นทะลุทะลวงได้ (และส่งผลให้การจัดภาพในหลายฉากหลายตอน สร้างความรู้สึกคล้ายว่า ตัวละครถูกกักขังอยู่ในคุก) รวมทั้งสิ่งสำคัญคือ บันได ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีความหมายเป็นสัญลักษณ์

บันไดในบ้านถูกขับเน้นอยู่บ่อยครั้ง จนเกิดความสำคัญและเป็นภาพจำของหนัง ยิ่งไปกว่านั้นคือ เหตุการณ์สำคัญระดับคอขาดบาดตายทั้งหมด ล้วนเกิดขึ้นที่บันได

ผมจับสังเกตถึงการเน้นย้ำเรื่องบันไดได้จากการดูรอบที่สองนะครับ (รอบแรกจับใจความอะไรไม่ได้เลย เพราะมัวแต่ตื่นเต้นไปกับเรื่องราว) แต่ยังไม่ทันได้คิดอ่านถอดรหัสว่าหมายถึงสิ่งใด ก็เผอิญไปได้ดูคลิปที่บองจุนโฮ พูดถึง The Housemaid และตีความเกี่ยวกับบันไดนี้ว่า มันสะท้อนถึงการเลื่อนสถานะทางชนชั้นของตัวละคร ครอบครัวคิมย้ายจากบ้านชั้นเดียวมาเป็นบ้านสองชั้น ซึ่งมีสภาพดีขึ้นกว่าเดิม และบ่งบอกว่า ครอบครัวคิมมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในทางกายภาพ บันไดยังเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง เป็นเส้นทางเดินขึ้นเดินลง

การที่เหตุร้ายทุกครั้งในหนังเกิดขึ้นที่บันได สอดคล้องเข้ากันได้ดีกับแก่นเรื่องหลัก ว่าด้วยความพยายามยกระดับเลื่อนสถานะทางสังคม ไปสู่ความเป็นชนชั้นกลาง กระทั่งกลายเป็นสาเหตุนำไปสู่ความพังพินาศในบั้นปลาย

พูดแบบเล่นสำนวนโวหาร บันไดนี้เป็นสิ่งที่ตัวละครคิดเข้าใจไปว่า สามารถนำพาไปสู่สรวงสวรรค์ ไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่แล้วความเป็นจริงที่เกิดขึ้น มันกลับกลายเป็นบันไดพาไปนรก

การตีความหนังนี้ไม่มีคำตอบถูกผิดตายตัวแน่ชัดนะครับ อยู่ที่เหตุผลอธิบายประกอบว่ามีน้ำหนักน่ารับฟังมากน้อยเพียงไร แต่ที่แน่ชัดคือ การตีความเกี่ยวกับบันไดของบองจุนโฮนั้น ในเวลาต่อมาเขาก็นำแง่มุมเหล่านี้ไปใช้กับหนังเรื่อง Parasite

ผมคิดว่าใน The Housemaid น่าจะมีสัญลักษณ์อะไรต่อมิอะไรซ่อนแฝงไว้อยู่มากมาย แต่เท่าที่ผมจับสังเกตได้ บันไดกับตัวละครสาวใช้ น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่เด่นชัดสุด

 

 

หนังไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครสาวใช้มากนัก เธอเป็นตัวละครที่คลุมเครือ ดูไร้ที่มาที่ไป ปราศจากภูมิหลัง กระทั่งว่า ไม่มีคำอธิบายเสียด้วยซ้ำว่า ทำไมเมียงซุกจึงมุ่งมั่นเอาเป็นเอาตายในการมีสัมพันธ์สวาทกับนายจ้าง (ซึ่งค่อนข้างแน่ชัดว่า ทั้งสองปราศจากความรักต่อกันและกัน)

ภาพกว้างๆ เกี่ยวกับตัวละครนี้ที่หนังเล่าไว้ คือ หญิงสาวที่ไม่ปกติ มีความป่วยไข้ทางจิตใจ หมกมุ่นลุ่มหลงกับบางสิ่งบางอย่างเข้าขั้นรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ร่องรอยเพียงน้อยนิดผ่านบทพูดที่เล่าผ่านๆ 2-3 ครั้ง ก็ทำให้ผมเข้าใจว่า แรงขับเคลื่อนและแรงจูงใจในการกระทำต่างๆ ของตัวละครสาวใช้ เกี่ยวโยงไปยัง ‘การเลื่อนสถานะ’ จากล่างสุด ไปสู่จุดที่สูงขึ้นตามลำดับ ขั้นต่ำสุดของเธอคือ เมื่อเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงงาน (ซึ่งได้รับการสอนให้สูบบุหรี่ เพื่อที่จะได้บังคับใช้งาน แลกเปลี่ยนกับบุหรี่) มาเป็นสาวใช้ในบ้านที่มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น จากนั้นก็เลื่อนขั้นมาเป็นเมียเก็บ (ตอนหนึ่งที่คุณคิมแสดงท่าทีร้ายกาจ เมียงซุกตัดพ้อว่า “ตอนนี้ฉันเป็นเมียน้อยคุณแล้ว คุณทำตัวกับฉันดีกว่านี้ได้ไหม?”) และในขั้นสูงสุด เมื่อเธอใช้ความลับเป็นเครื่องมือบีบบังคับให้สองสามีภรรยาทำตามคำสั่ง

ความคลุมเครือไม่ชัดเจนของตัวละครสาวใช้ เมื่อประกอบกับพล็อตเรื่องแบบ fatal attraction รวมถึงสไตล์ทางด้านภาพ ยังทำให้หนังออกมาได้อีกหน้า คือ กลายเป็นงานเชิงจิตวิเคราะห์ตัวละครที่แหลมคม ไม่ว่าจะเป็นการตกอยู่ในความหมกมุ่นลุ่มหลง ทุกคนล้วนเต็มไปด้วยกิเลศตัณหา การแก่งแย่งชิงดี มีความอ่อนแออยู่ในเบื้องลึก (คุณคิมเป็นตัวละครที่เด่นชัดสุดในแง่มุมนี้)

พูดง่ายๆ คือ เข้าสูตรเป็นหนังฟิล์มนัวร์ที่เน้นการสะท้อนด้านมืดของมนุษย์ทุกประการ และทำให้งานที่มีความเป็นเมโลดรามาสมบูรณ์แบบอย่าง The Housemaid หลุดพ้นจากข้อด้อยอย่างเช่น ตัวละครแบนขาดมิติ มีลักษณะขาวจัดดำจัด แบ่งฝ่ายคนดีคนเลวชัดเจน กลายเป็นตัวละครที่ไม่สมจริง แต่เปี่ยมด้วยความลึก ทำให้ทุกคนในหนังเจือปนด้วยความดีความเลว เป็นสีเทา

ตรงนี้ทำให้ผมนึกเชื่อมโยงไปถึงจุดเด่นอย่างหนึ่งที่ปรากฏใน Parasite นั่นคือ ความรู้สึกแปรเปลี่ยนไปมาต่อตัวละคร บางครั้งรังเกียจในพฤติกรรม แต่แล้วก็หันมาเอาใจช่วยและรู้สึกสงสาร รวมทั้งสถานการณ์ผลัดเปลี่ยนสลับกันอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าด้อยกว่า The Housemaid เก่งแบบร้ายกาจมากในแง่มุมเหล่านี้

โดยเนื้อเรื่องแล้ว The Housemaid เป็นหนังชีวิตเข้มข้น อุดมไปด้วยดรามารสจัด แต่ในระหว่างทาง ด้วยการปรุงแต่งของผู้กำกับ ก็ทำให้มีอารมณ์เหลื่อมซ้อนเข้ามา กลายเป็นหนังตื่นเต้นระทึกขวัญที่ทำให้หายใจไม่ทั่วท้องอยู่ตลอดเวลา

ที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นคือ หลายครั้งหลายครา หนังก็ไปไกลถึงขั้นกลายเป็นหนังสยองขวัญน่าสะพรึงกลัว โดยปราศจากภูติผีปีศาจ ไม่มีฉากสังหารโหด แต่ความสยดสยองนั้น เกิดจากการกระทำที่ชวนให้รู้สึกขนหัวลุก ในสิ่งที่มนุษย์สามารถกระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน และเกิดจากฝีมือการทำหนังอันยอดเยี่ยมของคิมคียอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save