fbpx
ความหลอนของความหลัง The Haunting of Hill House

ความหลอนของความหลัง The Haunting of Hill House

‘นรา’ เรื่อง

 

The Haunting of Hill House เป็นซีรีส์ที่สร้างเพื่อเผยแพร่ทาง Netflix ดัดแปลงแบบตีความใหม่และขยายรายละเอียดเพิ่มเติม จากนิยายสยองขวัญคลาสสิกปี 1959 ชื่อเรื่องเดียวกันของเชอร์ลีย์ แจ็คสัน

นิยายเรื่องนี้ เคยสร้างเป็นหนังสำหรับฉายตามโรงมาแล้ว 2 ครั้ง (ในชื่อเรื่องว่า The Haunt) หนแรกเมื่อปี 1963 กำกับโดยโรเบิร์ต ไวส์ ซึ่งมีผลงานเด่นที่นักดูหนังรู้จักกันดีอย่าง West Side Story และ The Sound of Music และครั้งต่อมาในปี 1999 โดย แจน เดอ บองท์ อดีตผู้กำกับภาพที่เลื่อนขั้นมาเป็นผู้กำกับ และประสบความสำเร็จจากหนังแอ็คชันอย่าง Speed และ Twister

ฉบับของโรเบิร์ต ไวส์ ได้รับคำชมว่าดัดแปลงออกมาได้ใกล้เคียงกับต้นฉบับ มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ฉบับของแจน เดอ บองท์ล้มเหลวเละเทะ และโดนถล่มยับเยิน

พล็อตคร่าวๆ ในฉบับนิยาย เล่าถึงผู้คนกลุ่มหนึ่ง เดินทางเข้าไปพำนักอาศัยในบ้านเก่าแก่โบราณอายุร่วมๆ ร้อยปีชื่อ Hill House (สร้างโดยฮิวจ์ เครนผู้ล่วงลับ) ซึ่งมีประวัติและคำร่ำลือสยดสยองมากมาย เพื่อทำการพิสูจน์ว่าผีและวิญญาณมีจริงหรือไม่ แล้วก็ประสบกับเรื่องราวเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากล แบบเจอดีไปตามๆ กัน

ฉบับซีรีส์ ผูกเรื่องสร้างเหตุการณ์ใหม่เกือบหมด ที่ยังคงไว้ตามเดิมคือรายละเอียดเกี่ยวกับฉากสยองขวัญ บรรยากาศหลอกหลอนภายในบ้านผีสิง รวมทั้งบรรดาตัวละครหลักที่ยังใช้ชื่อและมีบุคลิกนิสัยใจคอเหมือนกัน (แต่เปลี่ยนอาชีพการงานเสียใหม่และสร้างความเกี่ยวโยงให้ทุกคนเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน)

ตามขนบทั่วไปของหนัง-นิยายประเภทบ้านผีสิง (หรือที่มีศัพท์เรียกขานว่า Gothic Horror) มักจะเน้นรายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ขนหัวลุกที่ตัวละครต้องพบพาน ตั้งแต่แรกเริ่มโยกย้ายเข้ามาอยู่ด้วยความหวังเต็มเปี่ยมถึงชีวิตที่สดใสสวยงาม ไม่นานต่อมาก็ค่อยๆ เจอะเจอเหตุการณ์ประหลาดชวนสงสัยที่ไม่แน่ชัดในเบื้องต้น แล้วก็จะแจ้งหนักหน่วงดุร้ายขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งนำไปสู่จุดแตกหัก ซึ่งอาจเป็นการเผชิญหน้าต่อสู้กัน หรือการไล่ล่าและหลบหนีอันลุ้นระทึกระหว่างเจ้าถิ่นกับผู้มาเยือน โดยท้ายที่สุดตัวละครก็สามารถหลุดพ้นออกจากบ้านผีสิงได้สำเร็จ

ตรงนี้ผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า หนังบ้านผีสิงตามขนบ เมื่อดูจบแล้ว ความรู้สึกหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ชมโดยปริยายก็คือ โล่งอก ปลอดภัย รวมทั้งเกิดความเชื่อและตีความนอกเหนือตัวหนัง คิดเผื่อบรรดาตัวละครว่าจะปลอดภัย พ้นเคราะห์หมดโศก เรื่องสยองต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นแค่ ‘ ฝันร้าย’ ที่ผ่านพ้นไปแล้ว และจะกลายเป็น ‘ความหลัง’ ที่ค่อยๆ รางเลือนไปตามกาลเวลา

จริงเท็จประการใดไม่ยืนยันนะครับ ไม่ใช่กฎหรือหลักเกณฑ์ เป็นเพียงข้อสังเกตกว้างๆ ที่วัดจากความรู้สึกของผมเป็นที่ตั้ง รวมทั้งเป็นเรื่องที่เพิ่งมานึกขึ้นได้หลังจากดูซีรีส์เรื่องนี้จบลง

ที่ผมนึกเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจาก The Haunting of Hill House ตั้งใจจะเล่นกับช่วงเวลาและเหตุการณ์หลังจากตัวละครผ่านพ้นบ้านผีสิงไปแล้ว

พูดง่ายๆ คือ เรื่องสยองขวัญยังไม่ได้ยุติจบลงหลังตัวละครหลบหนีได้สำเร็จ ตรงกันข้าม เคราะห์ร้ายหายนะสารพัดสารพันเพิ่งจะเริ่มต้น

เรื่องราวคร่าวๆ ของ The Haunting Hill House แบ่งเหตุการณ์ออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ปี 1992 และปี 2018

ในปี 1992 ครอบครัวเครนประกอบไปด้วย ฮิวจ์ (พ่อ) โอลิเวียร์ (แม่) และลูกๆ ทั้ง 5 คือ สตีเวน, เชอร์ลีย์, ธีโอดอรา, ลุค และเนล (2 คนหลังนี้เป็นคู่ฝาแฝด) โยกย้ายมาพำนักชั่วคราวที่บ้านฮิลเฮ้าส์ (ซึ่งโดยขนาดและสภาพแล้ว ควรเรียกว่าคฤหาสน์จะตรงกับความจริงมากกว่า)

ครอบครัวเครนทำธุรกิจซื้อบ้านเก่าหรือบ้านร้างในราคาถูก แล้วเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงจนสภาพดี แล้วจึงปล่อยขายทำกำไร

ส่วนเรื่องราวในปัจจุบันปี 2018 (หรือ 26 ปีต่อมาหลังผ่านเหตุการณ์ฝันร้ายในบ้านผีสิง) เล่าถึงชีวิตและความเป็นไปของสมาชิกครอบครัวเครน ซึ่งบรรดาเด็กๆ ต่างเติบเป็นผู้ใหญ่ มีสภาพเหมือน ‘บ้านแตก’ ต่างแยกย้ายกระจัดกระจายไปตามวิถีทางของตนเอง มีความสัมพันธ์ต่อกันค่อนข้างเหินห่าง (และแฝงด้วยความขัดแย้งไม่ลงรอยกันอยู่ลึกๆ)

ที่สำคัญคือ พี่น้องครอบครัวเครนทั้ง 5 คน ต่างมีปัญหาและพบกับวิกฤตหนักหน่วงในชีวิตที่ยากจะสะสางคลี่คลายกันทั่วหน้า เป็นปัญหาที่ผิดแผกแตกต่างกัน แต่สืบเนื่องมาจากต้นตอที่มาเดียวกัน คืออดีตหนหลังช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ฮิลเฮ้าส์

โครงสร้างหลักในการดำเนินเรื่อง ใช้วิธีเล่าตัดสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และเพียงแค่ไม่กี่นาทีใน episode 1 หนังก็บอกเล่าต่อผู้ชมเสร็จสรรพ ถึงความเฮี้ยนแบบจัดหนักเต็มอัตราที่เกิดขึ้นในบ้านเก่าแก่หลังนั้น รวมถึงเหตุการณ์ในค่ำคืนสำคัญที่ฮิวจ์ผู้เป็นพ่อ ปลุกลูกๆ ตื่นขึ้นมากลางดึก เพื่อหนีตายออกจากบ้านอย่างฉุกละหุกฉับพลัน ทิ้งคำถามข้อใหญ่ไว้ว่า เกิดอะไรขึ้นในค่ำคืนดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโอลิเวียผู้เป็นแม่ ซึ่งเป็นเพียงคนเดียวที่ไม่ได้หลบหนีออกมาด้วย

เส้นเรื่องหลักๆ ถัดจากนั้นคือ การเล่าสลับชีวิตของแต่ละคน เทียบเคียงกับเหตุการณ์อดีตอยู่เป็นระยะๆ เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยความลับทีละเปลาะ

The Haunting of Hill House มีความลับ (ซึ่งเป็นไคลแม็กซ์) อยู่หลายช่วง แรกสุด เกี่ยวโยงกับชะตากรรมของตัวละครสำคัญคนหนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งชักนำให้คนอื่นๆ ที่เหลือต้องเข้าไปเกี่ยวโยงพัวพันกับบ้านผีสิงที่ทุกคนอยากลืมอีกครั้ง จนกระทั่งนำไปสู่การเฉลยความลับสำคัญเมื่อครั้งอดีต (นั่นคือ เกิดอะไรขึ้นในค่ำคืนที่ทุกคนหลบหนี) รวมถึงการเผชิญหน้ากับวิญญาณร้ายในปัจจุบัน

เรื่องคร่าวๆ ที่ผมเล่ามา เป็นแนวโน้มทิศทางกว้างๆ ที่ผู้ชมสามารถคาดคะเนได้ไม่ยาก หลังจากเริ่มติดตามดูไปสักตอนสองตอน ส่วนที่เป็นความลับอันไม่พึงแพร่งพรายคือ รายละเอียดตามรายทางในทุกๆ ตอน (ซีรีส์เรื่องนี้มีทั้งหมด 10 ตอน) ซึ่งเต็มไปด้วยความลับและการล่อหลอกเพื่อสร้างความประหลาดใจอยู่เกือบตลอดเวลา

ปัจจัยเบื้องต้นที่ทำให้ The Haunting of Hill House ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทั้งความเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชมวงกว้าง และคำยกย่องชื่นชมจากนักวิจารณ์ก็คือ ความสดและแปลกใหม่

ความใหม่นี้เห็นได้ปรากฏชัดใน 2 ส่วน คือ วิธีการเล่าเรื่อง และอารมณ์หลักๆ โดยรวม

นอกเหนือจากการเปลี่ยนมาเน้นและให้น้ำหนักความสำคัญกับตัวละครในช่วงหลังผ่านเหตุการณ์ในบ้านผีสิง ซึ่งเป็นการเล่าสถานการณ์ในแง่มุมที่แตกต่างจากหนังบ้านผีสิงส่วนใหญ่แล้ว วิธีการเล่าเรื่องโดยตัดสลับระหว่างอดีตกับปัจจุบัน (ที่เหนือชั้นกว่านั้นคือ ทั้งในส่วนของอดีตและปัจจุบัน ยังเล่าแบบไม่เรียงลำดับก่อนหลังตามลำดับเวลาอีกต่างหาก) ก็มีผลอย่างมาก ในการเร่งเร้าสร้างปมให้ชวนติดตาม ทำให้พล็อตอันคุ้นเคยที่มีเค้าโครงตามกรอบหรือท่าบังคับแน่ชัดตายตัว มีความเป็นอิสระ ทำให้ยากแก่การที่ผู้ชมจะคาดเดา

ที่ผมชอบมากและติดใจเป็นพิเศษ คือช่วง 5 ตอนแรก ใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านมุมมองแบบบุคคลที่ 1 (คือ ตัวละครพี่น้องครอบครัวเครนทั้ง 5 แต่ละตอนคือเรื่องเล่าของแต่ละคน ถ้าเป็นนิยาย มุมมองแบบนี้มักจะนิยมและพบเห็นบ่อย โดยเล่าผ่านตัวละคร ‘ผม’ หรือ ‘ฉัน’ หรือเล่าผ่านโดยระบุชื่อตัวละครอย่างเจาะจง เช่น ในนิยายชุด A Song of Ice and Fire ของจอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน ซึ่งใช้มุมมองบุคคลที่ 1 ตลอดทั้งหมด ผ่านตัวละครจำนวนมาก)

ในหนังหรือนิยายโดยทั่วไป นิยมใช้มุมมองการเล่าเรื่องแบบบุคคลที่ 3 นะครับ พูดอีกอย่างคือ เป็นมุมมองที่ไม่ระบุชัดว่าคือใคร (หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นมุมมองของผู้ชมในฐานะผู้สังเกตการณ์) episode ที่ 6 อันลือลั่นใน The Haunting of Hill House เป็นการเล่าด้วยมุมมองนี้ ตอนอื่นๆ ถัดจากนั้นไปจนจบ เป็นการเล่าผสมปนระหว่างมุมมองทั้ง 2 แบบ

ถึงตรงนี้ อาจมีคนสงสัยว่า มีมุมมองการเล่าแบบบุคคลที่ 2 หรือไม่? คำตอบคือ มีนะครับ แต่ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก เท่าที่ผมนึกออกคือ นิยายเรื่อง ‘หมาเน่าลอยน้ำ’ ของชาติ กอบจิตติ และหลายๆ บทใน ‘ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ’ ของเกาสิงเจี้ยน

มุมมองการเล่าแบบบุคคลที่ 2 โดยมาก คือ การเล่าผ่านตัวละครที่ระบุสรรพนามว่า ‘คุณ’ ทำให้ผู้ชมมีสถานะกลายเป็นตัวละครในเรื่องเล่าโดยปริยาย

ประโยชน์หน้าที่ของการใช้มุมมองแบบบุคคลที่ 1 ใน The Haunting of Hill House ก็คือ ช่วยจำแนกแยกแยะว่าใครเป็นใครในช่วงเกริ่นปูเรื่อง ทำให้ผู้ชมรู้สึกใกล้ชิดผูกพันกับตัวละครที่เป็นเจ้าของเรื่องเล่านั้นๆ รวมถึงผลลัพธ์พิเศษคือ บางเหตุการณ์เมื่อเล่าผ่านมุมมองของตัวละครหนึ่ง ให้ความรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่เหตุการณ์เดียวกัน เมื่อเล่าผ่านมุมมองของอีกตัวละคร กลับกลายเป็นความแตกต่างไปได้ไกล

มีฉากเหตุการณ์เดิมที่เล่าผ่านมุมมองของหลายตัวละครในซีรีส์เรื่องนี้อยู่หลายครั้ง และออกมาดีทุกครั้ง

มุมมองการเล่าเรื่องของ The Haunting of Hill House เป็นตัวอย่างที่ดี เด่นชัด จนสามารถนำไปใช้สอนในชั้นเรียนวิชาภาพยนตร์ได้สบายๆ เลยนะครับ

ความแปลกใหม่ต่อมาของ The Haunting of Hill House ก็คือ อารมณ์หลักๆ โดยรวมซึ่งมุ่งไปทางดรามาอย่างเต็มที่ เต็มไปด้วยความเศร้าสะเทือนใจ ความหดหู่หม่นหมอง ความกดดันตึงเครียด

พูดง่ายๆ ว่า เป็นการใช้พล็อตเรื่องแบบบ้านผีสิงบังหน้า แต่เนื้อแท้แล้วเป็นหนังชีวิตเข้มข้น สะท้อนถึงปัญหาต่างๆ นานาของตัวละคร การพูดถึงปัญหารอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัว การสะสางคลี่คลายข้อยุ่งยากในชีวิตของแต่ละคน รวมทั้งแง่มุมให้อ่านความหมายกันในทางจิตวิทยา

รวมความแล้วมีฉากดรามาดีๆ อยู่มากมายเต็มไปหมด ตั้งแต่ต้นจนจบ

อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นหนังผีที่เน้นความสำคัญไปยังอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครอย่างถี่ถ้วน ต่างจากงานแนวเดียวกันส่วนใหญ่ที่มุ่งเป้าหมายในการเร่งเร้าผู้ชมให้เกิดความรู้สึกสะพรึงกลัว (จนบ่อยครั้งก็กลายเป็นละเลยมองข้าม ความมีชีวิตเลือดเนื้อของตัวละคร)

ฉากผีหลอกและการเล่นงานผู้ชมใน The Haunting of Hill House ยังคงมีในปริมาณหนาแน่นชุกชุมนะครับ แต่ผลลัพธ์นั้นไม่เป็นเอกฉันท์ หลายคนที่ผมรู้จัก ดูจบลงด้วยความรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่ากลัวเลย ขณะที่อีกฟากหนึ่งก็ยืนกรานว่าน่ากลัวมาก

ผมอยู่ในฝั่งที่รู้สึกว่า ‘น่ากลัวมาก’ แต่ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า เพราะเหตุใด ความเห็นในประเด็นนี้จึงผิดแผกแตกต่างกันไกล

เหตุผลแรกคือ ฉากสยองขวัญทั้งหลายประดามีในงานชิ้นนี้ เลือกใช้วิธีการที่แตกต่างจากที่ผู้ชมคุ้นเคย ไม่มีจังหวะล่อหลอกให้ตายใจ แล้วก็จู่โจมเล่นงานฉับพลันให้สะดุ้งเฮือก (จริงๆ แล้วมีอยู่แค่ครั้งเดียว และได้ผลเอามากๆ ด้วยครับ) ไม่มีการออกแบบเพื่อสร้างภาพน่ากลัวติดตา ตลอดจนไม่พยายามเร้าอารมณ์ไปในทิศทางน่ากลัว (ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางตื่นเต้นเร้าใจเสียมากกว่า)

วิธีที่ใช้กับฉากผีหลอกในงานชิ้นนี้ สาธยายรายละเอียดค่อนข้างยาก เนื่องจากใช้วิธีหลากหลายไม่ค่อยซ้ำกัน แต่อาจสรุปรวมๆ ได้ว่า ความน่ากลัวนั้นอยู่ที่ตัวเรื่องเหตุการณ์ รวมทั้งปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับตัวละครเสียมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่มขู่คุกคามจนสัมผัสได้ไม่ยากว่าผีดุมาก

ความกลัวของผมนั้น ไม่ได้เกิดจากผีหลอกสยองขวัญโดยตรง แต่เป็นผลมาจากการถูกโน้มน้าวให้ผูกพันเอาใจช่วยตัวละคร และผลพวงหนักหน่วงสาหัสที่เกิดขึ้นกับทุกคน จนกระทั่งรู้สึกอยู่ทุกชั่วขณะ ว่าไม่มีตัวละครรายใดมีความมั่นคงปลอดภัย  พร้อมที่จะเกิดเรื่องราวเหตุการณ์ไม่คาดฝันในทางร้ายได้ทุกเมื่อ

อาจกล่าวได้ว่า เป็นความน่ากลัวโดยวิธีทางอ้อม ไม่ได้ทำให้ผู้ชมหวาดหวั่นขวัญผวาตรงๆ แต่ทำให้เชื่อสนิทใจ ว่าเป็นฉากผีหลอกที่สร้างความกลัวขั้นสติแตกกับตัวละคร แล้วจึงเผื่อแผ่แบ่งปันความหลอนลงรากลึกมาสู่ผู้ชมอีกทอดหนึ่ง

แต่ที่ผมชอบมากสุดคือ ฉากสยองขวัญทั้งหมดใน The Haunting of Hill House ไม่เพียงแต่จะทำงานตามบทบาทหน้าที่อันควรสำหรับหนังผีเท่านั้น ทว่ายังเป็นส่วนเสริมอุ้มชูให้ฉากดรามาต่างๆ ทวีความโดดเด่น ช่วยขยายความปมปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของตัวละครจนกระจ่างชัด

ตรงนี้ทำให้ The Haunting of Hill House ได้รับคำยกย่องชื่นชมจากนักวิจารณ์จำนวนมาก ว่าเป็นหนึ่งในงานแนวทางสยองขวัญที่โดดเด่นมากสุดในรอบปี (หรือหลายปี) อีกทั้งยังสยองขวัญอย่างมีคลาส เปี่ยมไปด้วยชั้นเชิง

พ้นจากความแปลกใหม่ และรสชาติที่แตกต่างแล้ว คุณงามความดีต่อมาของ The Hauning of Hill House ก็คือ เป็นซีรีส์ที่ดูสนุกชวนติดตามมากๆ ทั้งที่โดยจังหวะลีลาแล้ว ไม่น่าจะสนุกได้เลย มีการดำเนินเรื่องแบบช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป เต็มไปด้วยฉากที่ตัวละครพูดคุยสนทนากันยาวๆ อยู่เนืองๆ แต่การสร้างปริศนาชวนสงสัย การเฉลยคลี่คลายอันเหมาะเจาะ การทิ้งปมเร่งเร้าความอยากรู้อยากเห็น การสร้างบุคลิกนิสัยของตัวละครที่เก่งกาจ (รวมถึงคุณภาพการแสดงแบบเล่นดีเป็นหมู่คณะ) วิธีการเล่าที่วางโครงสร้างสลับซับซ้อนแยบยล จนทำให้คาดเดาล่วงหน้าได้ยาก ทั้งหมดนี้ก็ทำให้สนุกถึงขั้นเริ่มดูแล้วติดงอมแงม จนต้องตะลุยดูจนจบในเวลาอันรวดเร็ว

ผู้กำกับและเขียนบท The Haunting of Hill House คือ ไมค์ ฟลานาแกน ผมไม่เคยดูผลงานของเขาเลย ทราบแต่เพียงว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยทำหนังสำหรับออกฉายทางโทรทัศน์เรื่อง Gerald’s Game และถัดจากนี้ก็มีโครงการจะทำเรื่อง Doctor Sleep (กำหนดออกฉายหรือเผยแพร่ในปี 2020)

ทั้ง 2 เรื่องนี้ เป็นงานเขียนของสตีเฟน คิง

ข้อมูลปลีกย่อยนี้ ทำให้ผมนึกขึ้นได้อีกนิดนะครับว่า The Haunting of Hill House มีกลิ่นอายและอิทธิพลของสตีเฟน คิงอยู่เยอะทีเดียว โดยเฉพาะนิยายเรื่อง It ซึ่งเล่าเรื่องโดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือภาคเด็กและภาคผู้ใหญ่เหมือนๆ กัน ใช้มุมมองแบบบุคคลที่ 1 ของหลายๆ ตัวละครผลัดกันทำหน้าที่เล่าเรื่องเหมือนกัน อีกทั้งช่วงห่างระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ยังใกล้เคียงกัน The Haunting of Hill House ห่างกัน 26 ปี ขณะที่ It  ห่างกัน 27 ปี

2-3 ย่อหน้าข้างต้น ถือว่าเล่าสู่กันฟังเล่นๆ นะครับ เผื่อใครมีแรงเหลือ จะดูเพื่อสังเกตค้นหาร่องรอยเพิ่มเติม ก็เชิญได้ตามอัธยาศัย

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save