fbpx
ผลพวงแห่งความโกรธเกลียด : The Hate U Give

ผลพวงแห่งความโกรธเกลียด : The Hate U Give

‘นรา’ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

ผมมักจะตื่นเต้นดีใจเป็นพิเศษ ทุกครั้งที่เจอะเจอหนังแปลกหน้า ซึ่งไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อน ปราศจากข้อมูล ไม่ทราบรายละเอียดใดๆ ว่าเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร? และเมื่อติดตามจนจบก็พบว่า มันเป็นหนังดีเหลือเกิน

The Hate U Give คือหนังแบบนั้น ตอนที่เห็นภาพหน้าปกแผ่นดีวีดี (ไม่มีลิขสิทธิ์) แทบจะไม่มีอะไรดึงดูดให้นึกอยากดูเลย ยกเว้นชื่อหนังที่ตั้งได้สะดุดใจ (และชวนให้คาดหวังล่วงหน้าว่า น่าจะเป็นงานที่หนักหน่วงจริงจังและตึงเครียด)

การคาดคะเนนี้ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนนะครับ เพียงแค่เปิดฉากเริ่มเรื่อง ผู้ชมก็สามารถทราบได้ทันทีว่า นี่เป็นหนังสะท้อนปัญหาความขัดแย้งและความอยุติธรรมระหว่างสีผิว ซึ่งเป็นหนึ่งในกระแสนิยมของหนังอเมริกันเมื่อปีที่ผ่านมา

แต่ความเป็นหมอดูเก๊ๆ ของผม ก็ทำนายทายทักถูกต้องแม่นยำเพียงแค่นั้น ส่วนอื่นๆ ที่เหลือตลอดทั้งเรื่อง ผมกะเก็งผิดกระจุยกระจายหมดจดสมบูรณ์แบบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ว่า ‘ไม่มีอะไรดึงดูด’ นั้น ผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้ามสุดขั้ว นี่คือหนังสะท้อนปัญหาสีผิวที่มีเสน่ห์ชวนติดตาม มีคุณสมบัติเพียบพร้อมจะเป็นผลงานที่ทำให้ผู้ชมวงกว้างชื่นชอบและตกหลุมรัก ไม่ยิ่งหย่อนน้อยหน้าไปกว่าผู้ชนะรางวัลออสการ์สาขาหนังเยี่ยมอย่าง Green Book

The Hate U Give สร้างและดัดแปลงจากนิยายขายดีประจำปี 2017 ในชื่อเรื่องเดียวกัน เป็นผลงานการเขียนของแอนจี โทมัส (มีฉบับแปลภาษาไทยออกมาแล้ว ชื่อ ‘เกลียด’ โดยแพรวสำนักพิมพ์ ขณะเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผมยังไม่มีโอกาสได้อ่าน)

หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวเอกเด็กสาววัย 16 ปี จากครอบครัวคนผิวสีชื่อสตาร์ร คาร์เตอร์ (ชื่อตัวละครสะกดด้วยตัวอาร์ 2 ตัวนะครับ ผมไม่ได้เขียนผิด) เธอเติบโตและใช้ชีวิตในย่านการ์เดน ไฮท์สอันเสื่อมโทรม (เป็นสถานที่สมมติ ไม่ได้มีอยู่จริง แต่ผสมรวมขึ้นจากหลายๆ แห่ง) แวดล้อมไปด้วยอาชญากรรมและยาเสพติด สภาพชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่เลวร้าย ปราศจากโอกาสและทางเลือก จนแทบจะกล่าวได้ว่า อนาคตของทุกคนถูกกำหนดล่วงหน้าไว้เสร็จสรรพเรียบร้อยในทางร้าย

‘มันเป็นถิ่นย่านที่จะทำให้คุณเติบโตกลายมาเป็นคนขี้เหล้า ติดยา ตั้งท้องหรือไม่ก็ถูกฆ่าตายก่อนวัยอันควร’

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวคาร์เตอร์โดยผู้เป็นพ่อและแม่ก็พยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้หลุดพ้นจากวังวนเดิมๆ ดังกล่าว ทั้งการปลูกฝังสั่งสอนลูกๆ อย่างจริงจังเข้มงวดตั้งแต่อายุยังน้อย เกี่ยวกับการตระเตรียมรับมือและปฏิบัติตัวให้ปลอดภัย เมื่อถูกตำรวจเรียกตรวจ (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในละแวกนั้น) การเน้นย้ำให้ลูกๆ ท่องจำบทบัญญัติ 10 ข้อของ Black Panther Party (องค์กรทางการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นในทศวรรษ 1960 เพื่อปกป้องชาวแอฟริกัน-อเมริกันจากการคุกคามทำร้ายโดยตำรวจเหยียดผิว และรณรงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนผิวสี) รวมถึงการให้ลูกๆ ย้ายจากโรงเรียนซอมซ่อใกล้บ้าน ไปยังโรงเรียนที่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งเด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวที่มีฐานะดี

2-3 ย่อหน้าข้างต้น กินเวลาในหนังแค่ไม่กี่นาที ถัดจากนั้นทิศทางและอารมณ์ของเรื่องก็มีทีท่าว่าจะเป็นหนังรักวัยรุ่นทั่วๆ ไป ยามเมื่ออยู่ที่โรงเรียน สตาร์รต้องวางตัวเป็นอีกคน (เสียงบรรยายเล่าเรื่องโดยตัวเธอระบุว่า ‘เธอต้องทำตัวเป็นสตาร์รในเวอร์ชันสอง’) เพื่อให้แลดูใกล้เคียงหรือกลมกลืนกับบรรดาคนผิวขาวที่รายล้อม

The Hate U Give

ชีวิตในโรงเรียนใหม่ เป็นไปอย่างราบรื่น สตาร์รคบหาเป็นแฟนกับหนุ่มผิวขาวรูปหล่อฐานะดีชื่อคริส ความรักหวานชื่น อาจมีทะเลาะแง่งอนกันบ้างเล็กน้อย แล้วก็ปรับความเข้าใจคืนดี ผูกพันกันยิ่งกว่าเดิม มีกลุ่มเพื่อนสาวที่สนิทสนมกลมเกลียว จนสามารถปรึกษาหารือเล่าความลับสู่กันฟัง

ถึงกระนั้น ด้านบวกทั้งหลายประดามี ก็เป็นเรื่องดีๆ สำหรับสตาร์รเวอร์ชันสองเท่านั้น ตัวตนแท้จริงหรือสตาร์รเวอร์ชันแรก ยังคงเป็นความลับที่ต้องปกปิดไม่ให้ใครๆ ในโรงเรียนล่วงรู้ และที่สำคัญคือ ยิ่งนานวันความแตกต่างระหว่างโลก 2 โลกที่เธอใช้ชีวิต ก็ยิ่งมีช่องว่างขยายใหญ่ จนยากที่จะบรรจบพบกัน

ณ จุดนี้ของหนัง ผมเข้าใจและคาดคะเนไปว่า The Hate U Give คงจะเป็นหนังรักวัยรุ่น ที่มีความแตกต่างด้านพื้นเพ ฐานะทางสังคม และสีผิวของตัวละครเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่แล้วเรื่องก็พลิกผันอีกครั้ง

The Hate U Give

ในค่ำคืนหนึ่ง สตาร์รไปร่วมงานปาร์ตี้ของกลุ่มวัยรุ่นผิวสีในละแวกไม่ไกลจากบ้านมากนัก และได้พบกับคาลิลเพื่อนรักที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก ทั้งสองห่างเหินไม่ได้เจอกันนานพอสมควร ฝ่ายหนึ่งเป็นเพราะย้ายไปเรียนในเมือง ส่วนอีกฝ่ายโดนความยากจนขัดสนผลักไส ต้องทำงานผิดกฎหมาย ขายยาเสพติด

ปาร์ตี้ดังกล่าว จบลงกลางคัน เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาท ตามด้วยเสียงปืนดังขึ้น จนทุกคนต่างแตกตื่นหลบหนีออกจากงาน คาลิลขับรถพาสตาร์รมาส่งบ้าน ระหว่างทางได้แวะจอดพูดคุยกัน ทั้งรื้อฟื้นความหลังแสนสุขที่เคยมีร่วมกัน ทั้งถามไถ่ถึงทุกข์สุขในปัจจุบันของแต่ละฝ่าย และจบลงด้วยการเลียบเคียงขอความรักจากคาลิล แต่สตาร์รไม่ปิดบังว่าเธอมีแฟนแล้ว

ผมอดไม่ได้ที่จะสันนิษฐานประมาณการณ์ล่วงหน้าอีกเช่นเคย ว่า The Hate U Give มีแนวโน้มที่จะเป็นหนังรักวัยรุ่น 3 เส้า ที่ตัวนางเอกอยู่ตรงกึ่งกลาง ต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างผู้ชายและวิถีชีวิตในโลกแท้ๆ ที่หญิงสาวสังกัดอยู่ กับชายอีกคนที่แตกต่างตรงข้ามทุกด้าน แต่เป็นเส้นทางชีวิตในแบบที่เธอวาดหวังใฝ่ฝัน

แล้วเหตุการณ์ก็พลิกผันขนานใหญ่ หลังจบการสนทนา ด้วยความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีต่อกัน คาลิลออกรถเพื่อพาสตาร์รไปส่งบ้าน เขาโดนตำรวจเรียกจอด ด้วยข้อหาขับคร่อมเลนโดยไม่เปิดไฟสัญญาณ แต่แล้วเรื่องราวก็บานปลายแบบ ‘น้ำผึ้งหยดเดียว’ การปฎิบัติหน้าที่ตามปกติของตำรวจ เมื่อห่อหุ้มด้วยประวัติการเกิดเหตุอาชญากรรมที่ผ่านมาในอดีตของถิ่นเถื่อนย่านนั้น อคติและความขัดแย้งระหว่างสีผิว ท่าทีระมัดระวังปนเปกับความหวาดระแวงจนกลายเป็นก้าวร้าว เข้มงวด ตึงเครียด และการพูดจาคุกคามของตำรวจ กระทั่งส่งผลให้อีกฝ่ายเริ่มต่อต้านแข็งขืน

ทั้งหมดนี้เร่งเร้าให้ความไม่เข้าใจต่อกันทวีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนถึงที่สุดก็ลงเอยด้วยการที่ตำรวจยิงคาลิลเสียชีวิต เพื่อป้องกันตัว เพราะเห็นอีกฝ่ายคว้าปืนจากเบาะที่นั่งในรถ

แต่ความจริงที่ปรากฏก็คือ คาลิลหยิบแปรงหวีผม

เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติ สื่อต่างๆ พากันประโคมจนเกรียวกราว และแน่นอนว่า มันลุกลามกลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างสีผิว โดยมีสตาร์รเป็นประจักษ์พยานผู้รู้เห็นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดียว

The Hate U Give

ผมเดาอีกเป็นครั้งสุดท้ายนะครับ ว่า The Hate U Give น่าจะเป็นหนังจำพวกขึ้นโรงขึ้นศาล เป็นการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความจริง การยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง ท่ามกลางอิทธิพลซ่อนเร้น และระบบที่เต็มไปด้วยอคติความลำเอียง ปราศจากความยุติธรรม

ก็เดาผิดอีกแบบไม่ใกล้เคียงเลยนะครับ ตัวหนังพาผู้ชมไปกว้างและไกลกว่านั้นเยอะ แง่มุมต่างๆ ที่กะเก็งไว้ ยังมีอยู่ครบครัน แต่ไม่ใช่ใจความหลัก เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในหลายๆ เนื้อหาของหนัง

สิ่งที่หนังเล่าสะท้อนก็คือ ผลกระทบและการใช้ชีวิตถัดจากนั้นของสตาร์ร ซึ่งเป็นพยานที่ได้รับการปกปิดเป็นความลับ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน เด็กสาวต้องแรงกดดันจากครอบครัวผู้ตายและชาวบ้านในชุมชนละแวกนั้น (ซึ่งคาดหวังว่าเธอจะยินยอมให้ปากคำในศาล) การเก็บงำอำพรางไม่ให้เพื่อนและคนรักที่โรงเรียนล่วงรู้ เพราะเป็นไปได้มากเหลือเกินว่า ความจริงนี้อาจทำลายชีวิตและแวดวงสังคมในโรงเรียนของเธอจนย่อยยับ รวมทั้งต้องโดนหัวหน้าแก๊งค้ายาเสพติดข่มขู่อาฆาตมาดร้าย เพื่อหวังให้เธอหวาดกลัวจนไม่กล้าให้การ (ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะต้องพาดพิงโยงใยมาถึงขบวนการค้ายาเสพติด)

แต่สิ่งที่สำคัญและเป็นเรื่องยากสุดคือ ความขัดแย้งว้าวุ่นภายในใจของสตาร์ร ทั้งความโศกเศร้าจากการสูญเสียเพื่อนรัก การพบเห็นความไม่เป็นธรรมชนิดจะแจ้งตำตา การประคับประคองตัวเองให้สามารถก้าวเดินต่อใช้ชีวิตและคงความสัมพันธ์กับทุกฝ่ายให้เป็นปกติ รวมถึงการตอบคำถามให้กับตัวเองว่า อะไรคือการกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

ท่ามกลางแง่มุมปลีกย่อยมากมายเหล่านี้ หนังก็เสนอภาพรวมเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างสีผิวได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

พูดตามตรง เนื้อหาเหล่านี้ ไม่ได้มีอะไรผิดแผกแปลกใหม่ แตกต่างไปจากที่หนังและวรรณกรรมจำนวนมากเคยเล่าไว้ แต่ความโดดเด่นของ The Hate U Give ก็คือ การสะท้อนให้เห็นภาพรวมทั้งหมดแบบเทาๆ ไม่ได้แบ่งแยกเป็นขาวจัด-ดำจัด ผู้ชมได้เห็นทั้งอคติและการเหยียดผิวที่คนขาวกระทำอย่างโหดร้ายไม่เป็นธรรม ได้เห็นพฤติกรรมสร้างปัญหาสารพัดที่คนผิวสีก่อขึ้น ได้เห็นวงจรซ้ำซากแบบงูกินหางในการสืบสาวต้นตอสาเหตุว่าแท้จริงแล้วใครเป็นฝ่ายผิด จนแทบจะกลายเป็นทางตันในการเยียวยาแก้ไขปัญหา ได้เห็นทั้งความโกรธแค้นชิงชังที่เลยเถิดกลายเป็นความรุนแรง ได้เห็นการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตนด้วยท่าทีแข็งกร้าว ได้เห็นความพยายามที่จะประนีประนอมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน

ขยายความอย่างง่ายๆ แม้ว่าจะเป็นหนังในแบบเรื่องแต่ง มีกลิ่นอายเป็นนิยาย ซึ่งมีตัวเอก ตัวโกง คนดี คนร้าย แต่ก็ถือได้ว่า The Hate U Give เป็นหนังสะท้อนปัญหาสีผิว ที่เจตนาจะลดทอนอคติและฉันทาคติ มองตัวละครทุกฝ่ายอย่างพยายามให้เกิดความสมจริง เป็นมนุษย์ปุถุชน มีเหตุผลรองรับสนับสนุนการกระทำของตนเอง มีความ fair และให้ความยุติธรรมแก่ตัวละครทั้งหมด

ตัวอย่างฉากหนึ่งที่โดดเด่นมาก คือ ตอนที่สตาร์รพูดคุยกับน้าชายชื่อคาร์ลอส ซึ่งมีอาชีพเป็นตำรวจ โดยสมมติยกตัวอย่างกรณีทำนองเดียวกับที่คาลิลถูกยิงตาย

คาร์ลอสชี้แจงว่า ถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับตัวเขา และได้เห็นท่าทีมีพิรุธของผู้ต้องสงสัยที่มีรูปพรรณสีผิวเช่นเดียวกับคาลิล เขาก็คงจะตัดสินใจฉับพลันในสถานการณ์เฉพาะหน้า ที่มีเวลาให้ไตร่ตรองพิจารณาไม่มากนัก ด้วยการยิงป้องกันตัวไว้ก่อนเช่นเดียวกัน

เมื่อสตาร์รซักถามต่อไปอีก ว่าหากเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นกับเด็กหนุ่มผิวขาว คาร์ลอสจะเลือกทำอย่างไร? ระหว่างการยิงผู้ต้องสงสัยกับการตะโกนตักเตือนว่า ‘ยกมือขึ้น’

คำตอบแบบยอมรับสารภาพของตำรวจผิวสีก็คือ หากผู้ต้องสงสัยเป็นคนผิวขาว เขาเลือกหนทางอย่างหลัง

หนังมีแง่มุมแจกแจงถึงการซึมซับอคติความเคยชินในการเหยียดผิว แบบไม่เลือกฝักฝ่าย แต่ขึ้นอยู่กับบทบาทหน้าที่ ในท่วงทำนองเช่นนี้อยู่หลายฉาก

ความน่าสนใจอีกประการก็คือ การเล่าสะท้อนเนื้อหาประเด็นหนักๆ บนเค้าโครงแบบมองผ่านสายตา ‘เด็กในโลกของผู้ใหญ่’ นี่เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ เนื้อหาสาระเดิมๆ ที่ผู้ชมคุ้นเคย เกิดรสชาติแปลกใหม่

ประการต่อมา หนังเสนอปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นเงื่อนตาย ไร้วิธีสะสางคลี่คลาย แต่ก็ไม่ละทิ้งความพยายามที่จะเสนอทางออก โดยเน้นย้ำผ่านแก่นเรื่องสาระสำคัญว่าด้วย ‘การให้อภัยต่อกัน แล้วก้าวเดินใช้ชีวิตไปข้างหน้า’ หรือหากจะพูดอีกแบบคือเปลี่ยนจาก hate มาเป็น hope

The Hate U Give

กล่าวได้ว่า The Hate U Give เป็นหนังที่พูดถึงปัญหาสังคมใหญ่โตสลับซับซ้อน ด้วยทัศนคติที่ดีและมองโลกในแง่บวก ส่วนที่น่าประทับใจมาก คือ รายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างสมาชิกครอบครัวของตัวเอก วิธีคิดและการปลูกฝังสั่งสอนที่พ่อแม่มอบให้ลูกๆ ความขัดแย้งระหว่างพ่อที่พยายามอบรมบ่มเพาะให้ลูกมุ่งสู่การต่อสู้เพื่อความถูกต้อง กับแม่ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของลูกก่อนสิ่งอื่นใด และท้ายสุดคือ ความคิดว่าด้วยการเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นโดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ตัวเองในขอบเขตที่สามารถทำได้

ตรงส่วนนี้ มีหลายฉากที่เต็มไปด้วยบทสนทนาดีๆ น่าประทับใจ อยู่มากมายเต็มไปหมด

พร้อมๆ กับที่เป็นหนังว่าด้วยปัญหาความขัดแย้งระหว่างสีผิว The Hate U Give ก็เจือไว้ด้วยความเป็นหนังรักวัยรุ่น หนังดรามาครอบครัวที่นุ่มนวลอ่อนโยน และที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ ความเป็นหนังประเภท coming of age หรือหนังว่าด้วยการที่ตัวละครต้องเผชิญกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง จนนำไปสู่การได้พบบทเรียนชีวิตครั้งสำคัญ และเกิดการเติบโตเปลี่ยนแปลทางความคิด

การเติบโตและความเปลี่ยนแปลงของสตาร์ร จากต้นเรื่องไปสู่บทสรุปบั้นปลายนั้น มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป มีการคลี่คลายได้สละสลวยแนบเนียน และทรงพลังมาก

หนังมีพล็อตเรื่องและเนื้อหาที่หนักแน่น เข้มข้น จริงจัง ตึงเครียด แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ผลลัพธ์โดยรวมกลับอุดมไปด้วยความบันเทิงอย่างล้นเหลือ สนุกชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ และครบครันทุกอรรถรส ไม่ว่าจะเป็นความซาบซึ้งโรแมนติก ดรามาที่น่าประทับใจ อารมณ์ขันน่ารักๆ ความโศกเศร้าสะเทือนใจ ความเจ็บปวดสูญเสีย ความโหดร้ายน่าสะพรึงกลัว ความตื่นเต้นลุ้นระทึก ความหดหู่มืดหม่น และความหวังที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกที่ดี

เป็นหนังที่เก่งกาจมากในการรักษาน้ำหนักความสมดุลระหว่างลีลาเคร่งเครียดสลับกับรื่นรมย์ผ่อนคลาย ทำให้ผู้ชมดูไปยิ้มไปสลับกับการติดตามด้วยความวิตกกังวล หวาดหวั่นไม่มั่นใจอยู่เนืองๆ ว่าอาจจะเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นกับตัวละคร รวมถึงการผสมผสานพล็อตแบบเรื่องแต่งพาฝันกับความจริงอันโหดร้ายได้อย่างเหมาะเจาะกลมกลืน

พ้นจากสาระและความบันเทิงแล้ว บทหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายดัง เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับคำยกย่องชื่นชมมาก ตรงนี้ผมมีข้อจำกัด ยังไม่ได้อ่านหนังสือ จึงพูดอะไรได้ไม่ถนัดปาก แต่เท่าที่ประเมินเฉพาะตัวหนัง ไม่มีข้อกังขานะครับว่า เป็นงานเขียนบทดัดแปลงที่อยู่ในเกณฑ์ดี และชวนให้คาดเดา (อีกแล้ว) ว่า เรื่องเดิมต้นทางน่าจะดีงามไม่แพ้กัน

แต่คำชื่นชมสูงสุดที่หนังได้รับอย่างเป็นเอกฉันท์คือ การแสดงอันยอดเยี่ยมของอมานด์ลา สเตนเบิร์กผู้สวมบทบาทเป็นสตาร์ร ซึ่งเป็นตัวละครศูนย์กลางที่แบกรับหนังทั้งเรื่อง

ผมคิดว่านี่เป็นบทที่เล่นยาก มีส่วนผสมระหว่าง ‘ทีเล่นทีจริงหนักเบา’ สลับไปมาอยู่ตลอด มีบ่อยครั้งที่อารมณ์ต้องปรับเปลี่ยนข้ามฟากแบบฉับพลันในเสี้ยววินาที และเธอก็เล่นได้ดีไร้ที่ติ

การแสดงในบทนี้ มีผลชี้ชะตาต่อตัวหนังมหาศาล พูดง่ายๆ คือ ถ้าเล่นไม่ได้ แสดงไม่ถึง หนังก็อาจพังล้มคว่ำไม่เป็นท่า แต่ถ้าแสดงได้ดี หนังก็ยอดเยี่ยมดีงามไปด้วย

ผลลัพธ์นั้น อาจต้องยืมปากนักวิจารณ์ฝรั่งที่ผมอ่านเจอ และเขียนตั้งคำถามแสดงความข้องใจไว้ว่า ทำไม The Hate U Give ถึงไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ในสาขาหนังเยี่ยม บทภาพยนตร์ดัดแปลง และดารานำหญิง

เป็นหนังที่ผมขอแนะนำอย่างยิ่งเลยนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save