fbpx

The Great Resignation: ‘การลาออกอันยิ่งใหญ่’ คือเครื่องมือต่อสู้สุดท้ายของกรรมกร

‘The Great Resignation’ คือศัพท์ใหม่ที่ผมเจอในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ คอลัมนิสต์คนดังที่เขียนถูกใจมากคือพอล ครุกแมนและคนอื่นอีกที่เริ่มพูดถึงศัพท์ใหม่นี้ แปลง่ายๆ ว่า ‘การลาออกอันยิ่งใหญ่’ วลีนี้เกิดจากข่าวที่ทางการพบว่าหลังเกิดวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตามมากระทบไปทุกประเทศทั่วโลกไม่มีเว้น คือการที่คนงานไม่ยอมกลับไปทำงานเดิมในโรงงานเดิมกับเจ้านายคนเดิมอีกต่อไป ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรมและการผลิตต่างๆ ที่เจอมากคือด้านบริการที่ใช้อารมณ์และกริยามารยาท รวมถึงกติกาจิปาถะเพื่อสนองตอบความต้องการทางอัตวิสัยของลูกค้า เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สถานดูแลคนสูงอายุ ฯลฯ 

ไม่เพียงภาคบริการทั้งหลายเท่านั้น ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ประสบปัญหาเดียวกันคือคนงานไม่ยอมกลับหรือหาคนงานใหม่มาแทนที่คนเก่าไม่ได้ ปัญหาทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเกิดมาแล้วในหลายวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมักคลี่คลายตัวมันเองในเวลาต่อมา ทำไมคราวนี้ผู้สังเกตการณ์และนักวิจารณ์ถึงให้ความสนใจต่อปรากฏการณ์นี้มากเป็นพิเศษ ทำให้ผมก็หันมาพิจารณาปัญหาเรื่องการทำงานของคนงานมากกว่าปกติ จนทำให้เกิดคำถามในใจว่า “ทำไมต้องทำงาน?” เราจะมีชีวิตในโลกนี้ได้โดยไม่ต้องทำงานอย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันได้ไหม นั่นคือการไปทำงานในที่ทำการของบริษัท โรงงาน สำนัก หน่วยงาน หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่อยู่ในบ้านของเราเองและในเวลาที่นายจ้างเป็นผู้กำหนด สรุปคือการทำงานในความหมายปัจจุบันคือ การไปทำงานนอกบ้าน ตามกำหนดเวลาและระเบียบของนายจ้างหรือเจ้านาย

หลายคนเริ่มคิดอย่างจริงจังว่า ผลสะเทือนจากโรคติดต่อร้ายแรงครั้งแรกก็ว่าได้นี้ที่สร้างผลสะเทือนอย่างเท่าเทียมกันในขอบเขตทั่วโลกและในเวลาที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากโควิด-19 มีพลานุภาพความสามารถในการขยายตัวมันเองในเซลล์มนุษย์ได้อย่างอัศจรรย์ ทำให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรงล่าสุดที่ยังหาเครื่องมือและวิธีการที่ดีที่สุดในการกำจัดและรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดอีกต่อไปได้ เรายังหาทางออกนั้นไม่พบ แม้จะเจอบางวิธีการ ได้วัคซีนจำนวนหนึ่ง ดีมาก ดีน้อยและไม่ค่อยดีนักก็ตาม มียาเม็ดและสมุนไพรจำนวนหนึ่งสนองความเชื่อและความสบายใจของคนได้อีกกลุ่มหนึ่ง แต่ก็เท่านั้น ยังกำจัดและป้องกันไม่ให้ระบาดและขยายต่อไปไม่ได้ อาจทำให้ช้า ลดและระบาดในขอบเขตที่จำกัดได้

สาเหตุใหญ่ที่ทำให้โรคระบาดนี้แพร่ได้เร็วและไปทั่วถึงทุกที่นั้น นอกจากตัวไวรัสเองแล้ว ปัจจัยอีกอันที่สำคัญไม่น้อยในการทำให้อาการและการแพร่กระจายของมันไปได้ไม่หยุดก็คือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ครอบงำทั่วทุกปริมณฑลของพื้นโลกนี้ แทบไม่มีพื้นที่ซึ่งมนุษย์ใช้อาศัยอยู่จะไม่ถูกแทรกซึมและครอบคลุมด้วยระบบทุนและสินค้า การเคลื่อนไหวของคนกับวัตถุดำเนินไปอย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกที่ทุกเวลา ไม่มีการหยุด กระทั่งโควิด-19 มาถึง

ทันทีที่การระบาดครั้งแรกปรากฏขึ้นในเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน แม้มีความพยายามในการปิดและทำให้โควิด-19 เป็นเพียงเรื่องภายในและปกติธรรมดาของโรคติดต่อ แต่เมื่อความรุนแรงของมันปรากฏชัดมากขึ้น ทางการจีนก็ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด นั่นคือการปิดเมืองปิดกิจกรรมทางสังคมทุกอย่าง เพื่อโดดเดี่ยวคนไข้และไวรัสไม่ให้แพร่กระจายต่อไป ผลคือมันนำไปสู่การยุติอย่างกะทันหันในระบบการผลิต การบริโภคของงานทุกประเภทที่ใช้คนอื่นมาทำ เรียกว่าเป็นงานสาธารณะซึ่งอาจเป็นของเอกชนหรือรัฐและชุมชนก็ได้ สะดุดหยุดกระทันหันและยาวนานกว่าครั้งใดๆ

คงไม่มีใครสังเกตว่าการตัดสินใจ ‘ปิดเมือง’ หรือล็อกดาวน์ปิดกิจการทั้งหลายลงนั้น เริ่มใช้ในเมืองจีนก่อนเพื่อน แม้ต่อมาประเทศในยุโรปและอเมริกาจะทำตามบ้าง แต่ก็ทำอย่างลังเลใจ กึ่งปิดกึ่งเปิด ต้องทะเลาะกันระหว่างฝ่ายต่างๆ เช่นในอเมริการะหว่างพรรครีพับลิกันกับเดโมแครต ระหว่างประธานาธิบดีกับผู้ว่าการมลรัฐ ไม่มีประเทศไหนตัดสินใจ ‘ปิดบ้านปิดเมือง’ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเท่าจีน เพราะสื่อมวลชนไม่สามารถรายงานคนเห็นต่างจากรัฐได้ เหตุที่การปิดเมืองมันยากเพราะมันเท่ากับปิดระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไปโดยอัตโนมัติ คนที่บริหารและจัดการชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนย่อมรู้แก่ใจว่าการปิดระบบเศรษฐกิจทุนนั้นคือการปิดท่อหายใจและหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงสังคมและประชากรทั้งหมด จะไม่มีใครอยู่รอด กินอิ่ม นอนหลับได้อีกต่อไป เพราะจะไม่มีอะไรให้กินและนอน

ผมคิดเล่นๆ ว่า เหตุที่จีนภายใต้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงซึ่งยึดกุมอำนาจรัฐและพรรคคอมมิวนิสต์จีนไว้ได้อย่างรวมศูนย์ที่สุดในหลายปีที่ผ่านมาสามารถทำได้ เพราะโดยเนื้อแท้ระบบทุนแบบเสรีนิยมนั้นไม่กล้าต่อกรหรือแข็งข้อกับระบบตลาดเสรี แต่จีนคอมมิวนิสต์สามารถใช้ประโยชน์จากระบบทุนในการผลิตและสร้างความมั่งคั่งได้ในระดับที่ดีกว่าคิดไว้เยอะ จนทำให้หน่อเนื้อเชื้อไขของระบบทุนเริ่มก่อตัวและพยายามจะทำตัวเป็นทุนโลกด้วยการเชื่อมต่อกับทุนสากล โควิด-19 ส่งกระบองอาญาสิทธิ์ให้แก่ฝ่ายนำพรรคฯ ทดลองใช้กำกับและควบคุมเล่นงานระบบตลาดด้วยความจำเป็น แต่ผลที่น่าพอใจคือมันไม่ทำให้ระบบการผลิตแบบทุนจำกัดต้องพังทลายและสร้างความปั่นป่วนอะไรแก่ชีวิตคนในประเทศและต่างประเทศ จริงๆ คือระบบผลิตทั่วโลกชะงักและหยุดเดินเครื่องไปมากจากการขาดสินค้าและเครื่องมือต่างๆ จากโรงงานในจีนที่เป็นแหล่งส่งออกใหญ่ให้แทบทุกสาขา แต่บทเรียนที่ทำให้ทางการจีนปลื้มคือการที่เขาสามารถเล่นงานไปจนถึงขัดขวางแทรกแซงระบบตลาดทุนได้ อันนี้ถือว่าเป็นนวัติกรรมที่ประเทศทุนใหญ่ๆ อย่างอเมริกาหรือยุโรปยังไม่กล้าทำได้เท่า เพราะมันคนละธรรมชาติกัน

สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่เมื่อโรคระบาดโควิดแสดงอิทธิฤทธิ์ออกมาเรื่อยๆ ทำให้การปล่อยให้คนกลับเข้าไปทำงานและใช้ชีวิตในที่สาธารณะทั้งหลายอย่างเดิมนั้นทำไม่ได้ หรือไม่ได้อย่างเต็มที่จนกว่าแต่ละประเทศจะค้นหามาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพของตนขึ้นมาก่อน เป็นการโจมตีไปยังหัวใจของระบบทุนอย่างแรง ไม่เคยมีวิกฤตการณ์อะไรในอดีตที่นำไปสู่การหยุดทำงานในโรงงานได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะในหลายทศวรรษกระทั่งศตวรรษก็ว่าได้ นับแต่เมื่อระบบการผลิตแบบทุนนิยมถือกำเนิดและพัฒนาต่อมาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเริ่มต้นในประเทศอังกฤษโดยเฉพาะนับตั้งแต่ที่เจมส์ วัตต์ ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำขึ้นมาและนำไปประยุกต์เข้าในระบบโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดระบบโรงงานอุตสาหกรรมขึ้น จึงไม่แปลกใจที่ทั้งพระราชินิเอลิซาเบธและนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวถึงประวัติศาสตร์ช่วงนี้ของเมืองกลาสโกว์ในการประชุมโลกร้อน COP26 ว่านี่คือแหล่งให้กำเนิดเคริ่องจักรไอน้ำที่เปลี่ยนระบบการผลิตโดยสิ้นเชิง และพลังของมันนำความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างไกลและลึกซึ้งกว่าที่มนุษยชาติตระหนัก กระทั่งถึงวันนี้ที่ผู้นำทั้งโลกต้องมานั่งปรึกษากันว่าจะหาทางลดโลกร้อนจากระบบอุตสาหกรรมกันได้อย่างไร

กล่าวถึงปัญหาเฉพาะหน้าที่ทุกประเทศต้องหาทางแก้ไชคือการทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับไปเดินเหมือนปกติ นั่นคือการทำให้คนงานกลับเข้าไปทำงานทั้งหลายอย่างเดิม ซึ่งกำลังประสบปรากฏการณ์ของการยอมลาออกดีกว่ากลับเข้าไปทำงานแบบเดิมอีก การที่คนทำงานรุ่นนี้เริ่มคิดอะไรไม่เหมือนก่อนนี้ มาจากสภาพแวดล้อมหลายอย่างเปลี่ยนไป และตัวอย่างของการให้ไปทำงานที่บ้านได้ก็ทำให้คนเริ่มคิดได้ว่า ถ้าจัดการให้ดี การทำงานในบ้านหรือจากบ้านก็สามารถสร้างผลงานที่น่าพอใจแก่ทั้งสองฝ่ายได้เหมือนกัน ในทางความคิดและปรัชญาของการทำงาน การวิพากษ์และสลายเส้นแบ่งอย่างตายตัวระหว่างงานในบ้านกับงานนอกบ้าน ถือว่าเป็นการปฏิวัติทางความคิดครั้งยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน เพราะว่าในประวัติศาสตร์แต่โบราณมาของมนุษยชาติ เราไม่ได้แบ่งแยกพื้นที่ของงานและการทำงานอย่างตายตัว กระทั่งถึงยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 นี้เท่านั้น ในเมืองไทยยิ่งไม่นานมานี้ด้วย

กล่าวได้ว่าพื้นที่ทำงานในสังคมสมัยใหม่แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือพื้นที่ส่วนตัว คืองานในบ้านของครอบครัวของเราเอง ในเวลาที่เรากำหนดและในปริมาณที่เราต้องการ แค่นี้ก็คงเดาได้ว่าหมายถึงงานดูแลจัดการบ้านช่องตั้งแต่ทำอาหารไปถึงซักล้างเสื้อผ้า ถ้ามีลูกก็เลี้ยงลูก คือมีงานในบ้านให้ทำได้ทั้งวันหรือเกือบ 24 ชั่วโมงจนกว่าจะหมดแรงแล้วนอน ถามคนส่วนมากว่าอยากทำงานบ้านไหม คำตอบที่ได้คือไม่อยาก นอกจากเป็นงานน่าเบื่อ ซ้ำซาก ไม่สนุกไม่เจอคนอื่น ที่สำคัญยิ่งคือเป็นงานที่ไม่มีค่าจ้าง คืองานที่ไม่จ่าย ก็ใครจะจ่ายให้เราเล่า นอกจากเราเองคือสามีหรือภรรยาก็ตาม ดังนั้นจึงไม่สร้างรายได้

งานประเภทที่สอง คืองานนอกบ้านหรือในพื้นที่อันเป็นส่วนรวมหรือสาธารณะที่คนอื่นๆ มาร่วมทำด้วย แม้เจ้าของอาจเป็นเอกชนหรือทางการอะไรก็ตาม ตรงนี้คือจุดที่การผลิตสมัยใหม่ตั้งแต่ระบบทุนนิยมก่อกำเนิดขึ้นมาและเติบโตในศตวรรษที่ 19 เริ่มสร้างและปรุงแต่งให้กลายเป็นพื้นที่อันทรงพลังและความหมายยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของคนสมัยใหม่ ทว่าวิธีการในการได้มาซึ่งความก้าวหน้าในการผลิตระบบอุตสาหกรรมนั้น ไม่ได้มาด้วยฉันทมติและความเข้าใจร่วมกัน ตรงกันข้ามมันเป็นกระบวนการของการหักล้างและกระทั่งทำลายแบบแผนและวิธีการผลิตแบบก่อนหน้าให้สูญสลายไป เพื่อให้ระบบทุนสามารถก้าวขึ้นมาได้ ดังอรรถาธิบายของนักวิพากษ์ระบบทุนผู้ยิ่งใหญ่เคยกล่าวไว้ดังนี้

“การผลิตของระบบนายทุน ด้วยการรวบรวมประชากรเข้าไว้ในศูนย์กลางใหญ่ และนำไปสู่การมีฐานะเหนือกว่าของประชากรในเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดตลอดเวลา ในด้านหนึ่งรวมศูนย์พลังในการขับเคลื่อนทางประวัติศาสตร์ของสังคมไว้ ในอีกด้านหนึ่ง มันขัดขวางการหมุนเวียนทางวัตถุระหว่างมนุษย์กับผืนดิน ตัวอย่างเช่น ป้องกันไม่ให้ปัจจัยต่างๆ ที่คนบริโภคแล้วในรูปแบบของอาหารและเครื่องนุ่งห่มหวนกลับไปยังผืนดิน ฉะนั้นมันทำลายเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของผืนดิน ด้วยการกระทำเช่นนี้ ในเวลาเดียวกันมันทำลายสุขภาพของผู้ใช้แรงงานในเมืองและชีวิตทางภูมิปัญญาของผู้ใช้แรงงานในชนบท”

ลำพังแค่การแบ่งแยกงานออกเป็นสองพื้นที่ก็ยังไม่สามารถบังคับให้คนต้องออกไปทำงานในที่สาธารณะได้ จนกว่ากระบวนการแยกกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตได้รับผลสำเร็จ นั่นคือการสลายระบบการผลิตของผู้ผลิตน้อยที่เป็นอิสระเช่นชาวนาชาวไร่ในชนบท แล้วทำให้พวกเขาเสียที่ดินและบ้านช่องไป จนต้องกระเสือกกระสนเข้ามาทำงานในโรงงานในเมืองเพื่อไม่ให้อดตาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินและทุนตกอยู่ในกำมือของคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจมาก และนี่คืออำนาจที่ทำให้งานในที่สาธารณะมีพลังเหนือความเป็นส่วนตัว

ในโลกของการทำงานสมัยใหม่ เราเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยไม่ได้ถามตัวเองเลยว่าเราทำเพื่ออะไร เพราะคำตอบที่สังคม — อันเป็นผีตัวใหญ่ในชุมชนที่กำกับวิธีคิดและการประพฤติตนของคนส่วนใหญ่เอาไว้ — ได้ให้แก่เราคือ เพื่อเงิน เพื่อรายได้มาเลี้ยงครอบครัวและถ้าโชคดีอาจสะสมเป็นความมั่งคั่งสำหรับอนาคตอีกด้วย หลายคนเริ่มวิพากษ์วิถีชีวิตการทำงานในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ว่า มันมากกว่าการทำงานเพื่อเงิน หากแต่ในทุกวันมันทำให้คนทำงานไม่อาจคิดถึงเรื่องอื่นใดได้นอกจากเรื่องงานในที่ทำงานเท่านั้น มันควบคุมความคิด อารมณ์และความรู้สึกของคนงานเอาไว้ในสถานที่ทำงานสาธารณะ แม้แต่การเลี้ยงดูปลูกฝังลูกแต่เยาว์วัยซึ่งเป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งของการสร้างคุณภาพของคนรุ่นใหม่ ครอบครัวส่วนใหญ่ก็ต้องจ้างหรือเอาไปฝากให้สถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล กระทั่งมัธยม ฯลฯ ทำหน้าที่ร้อยแปดพันประการของชีวิตในระยะฟักตัวให้แก่คนงานในระบบทุนที่ไม่อาจมีเรื่องส่วนตัวได้

อาจพูดได้ว่า เป็นครั้งแรกในหลายปีมานี้ ผ่านหลายวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโลก ที่เริ่มมีการมองเห็นสภาพการณ์บางอย่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่กำลังเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19  มีคนให้คำตอบต่อการแก้ไขหรือทำนายไม่ว่าอนาคตจะจบลงอย่างไร ต้องรวมปัญหาเรื่องแรงงาน เรื่องคนทำงานเข้าไว้ด้วย ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นปัญหาเก่า ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งอเมริกาก็กำลังเสนอนโยบายฟื้นฟูประเทศอย่างมโหฬาร เรียกว่านโยบายโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งบวกนโยบายปฏิรูปสังคมไว้ด้วย ที่ทำให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งภายในพรรคเดโมแครตอย่างหนัก จนคนกลัวว่าอาจทำให้นโยบายใหญ่ด้านโครงสร้างไม่ประสบความสำเร็จได้ เรื่องหลักๆ ในนโยบายปฏิรูปสังคมคือปัญหาครอบครัวของคนชั้นล่างที่ต้องทำแต่งาน โดยไม่มีเวลาและเงินที่จะเลี้ยงดูลูกได้ ปัญหาสวัสดิการรักษาพยาบาล โรงเรียน แสดงว่ารัฐบาลอเมริกันกำลังทำหน้าที่แทนนายทุนอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าของคนงาน แต่นโยบายสังคมนี้กำลังทำให้พรรคเดโมแครตแตก แสดงว่าฝ่ายการเมืองในประเทศประชาธิปไตย เมื่อเทียบกับประเทศคอมมิวนิสต์แล้ว มีความสามารถไม่มากนักในการแก้ปัญหาปากท้องพื้นฐานของคนชั้นล่าง

ประเด็นที่ผมสนใจและเห็นว่ามีประเด็นบางอย่างที่ ‘ใหม่’ อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ การทำลายป้อมปราการและฐานอุดมการณ์ของฝ่ายนายจ้างลงไปได้หลายขุม อันแรกคือการสลายเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะของการทำงานลงไป ทำให้ปัญหาที่ต่อเนื่องมาเป็นลูกโซ่คือการที่นายจ้างต้องหันมาปรับปรุงสภาพแวดล้อมของที่ทำงานและลักษณะงาน รวมถึงค่าจ้าง ให้เป็นธรรมมากขึ้น ไม่ทำให้คนงานเป็นเสมือนทาสสมัยใหม่ ที่ไม่มีสิทธิมีเสียงในเครื่องมือในการผลิตและอื่นๆ อีกได้เลย ดังที่บทความนี้ตั้งคำถามว่า “งานคืออะไร ทำไมถึงต้องทำงาน?”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save