fbpx
อุทยานหมอกสนธยา กับการลืมหรือจดจำบาดแผลจากอดีต

อุทยานหมอกสนธยา กับการลืมหรือจดจำบาดแผลจากอดีต

ธร ปีติดล เขียน

Tan Tan Eng, The garden of evening mists

“ทั้งที่มีเทพธิดาแห่งการจดจำ แต่กลับไม่มีเทพธิดาสำหรับการลืม ที่จริงแล้วทั้งสองควรจะเป็นดั่งฝาแฝดกัน เป็นพลังที่คอยอยู่เคียงข้าง เดินไปกับมนุษย์เราพร้อมกัน แก่งแย่งกันมีอำนาจเหนือตัวตนของเรา จนกว่าเราจะพบกับความตาย”

‘อุทยานหมอกสนธยา’ (The Garden of Evening Mists) เป็นนวนิยายที่แต่งโดยนักเขียนชาวมาเลเซีย ตัน หวัน อัง (Tan Twan Eng) นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลระดับสากล เช่น Man Asian Literary Prize และ Walter Scott Prize และกำลังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2019 ถือเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปี

เรื่องราวเล่าถึง เตียว ยุนหลิง (Teoh Yun Ling) ผู้หญิงที่ใช้ชีวิตผ่านช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของมาเลเซีย ในวัยเกือบหกสิบปียุนหลิงดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาในศาลฏีกา แต่เธอก็กลับพบว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคที่จะทำให้ต้องสูญสิ้นการรับรู้และความทรงจำทั้งหมด ในภาวะนี้เอง ยุนหลิงพาตัวเองกลับสู่เหตุการณ์ต่างๆ ที่สร้างรอยแผลในความทรงจำของเธอมาตลอดชีวิต

“…มีไม่กี่คนในวันนี้ที่รู้ว่าตอนเธออายุสิบเก้าปี เธอเคยเป็นนักโทษในค่ายกักกันของทหารญี่ปุ่น”

บาดแผลสำคัญในชีวิตยุนหลิง เกิดขึ้นเมื่อญี่ปุ่นบุกยึดคาบสมุทรมาลายูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในฐานะที่เป็นทายาทของนักธุรกิจจีนที่มีบทบาทต่อต้านญี่ปุ่น เธอและยุนหงพี่สาวถูกพลัดพรากจากครอบครัวไปอยู่ในค่ายกักกัน

ในช่วงเวลาที่ตกเป็น ‘แขกของจักรพรรดิ’ (guests of the emperor) นี้เอง เธอและพี่สาวถูกใช้แรงงานและทรมานอย่างโหดร้าย ประสบการณ์ดังกล่าวทิ้งบาดแผลที่ไม่อาจเยียวยาทั้งทางร่ายกายและจิตใจไว้กับเธอ ความโกรธแค้นฝังลึกลงจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของยุนหลิงนับจากนั้น

หลังจากเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวจากค่ายกักกัน ยุนหลิงหาหนทางชำระความแค้นในใจ เธออาสาทำหน้าที่หาหลักฐานมาเอาผิดเหล่าทหารญี่ปุ่นในฐานะอาชญากรสงคราม แต่เวลาในค่ายกักกันก็ยังทิ้งอีกสิ่งหนึ่งค้างคาไว้ คือคำมั่นสัญญากับยุนหงพี่สาวที่ตายไป ว่าวันหนึ่งเธอจะสร้าง ‘สวนญี่ปุ่น’ ขึ้นเป็นที่ระลึกให้กับความทรงจำของทั้งสอง

“ความรักในสวนญี่ปุ่นของยุนหงพาให้เราใช้ชีวิตผ่านค่ายกักกันมาได้…ยุนหงคอยพาเราหนีจากโลกแห่งความโหดร้าย หล่อเลี้ยงจิตใจของเราให้ดีขึ้น ด้วยการย้อนจินตนาการถึงสวนที่เราเคยเดินอยู่ด้วยกันที่เกียวโต”

หลายปีนับจากสงครามจบลง มาเลเซียเข้าสู่ช่วงเวลาของการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษ กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ คำมั่นสัญญากับพี่สาวพายุนหลิงมาสู่ ‘อุทยานหมอกสนธยา’ ท่ามกลางหุบเขาคาเมรอนทางตอนเหนือของมาเลเซีย เธอต้องการพบชายชาวญี่ปุ่นเจ้าของสวนดังกล่าว นามว่า อะริโตโมะ ผู้มีชื่อเสียงว่าเคยเป็นคนจัดสวนให้กับจักรพรรดิ ยุนหลิงหวังจะขอให้เขาช่วยสร้างสวนญี่ปุ่นให้พี่สาวของเธอ

“เธอกำลังนำเอาปัญหาภายในจิตใจเข้ามาที่นี่” อะริโตโมะกล่าวกับยุนหลิงเมื่อแรกพบ เขาไม่ยอมสร้างสวนให้ แต่ก็ยอมให้เธอเป็นศิษย์เพื่อเรียนรู้วิธีการสร้างสวนจากเขา ช่วงเวลาของยุนหลิงในอุทยานหมอกสนธยากลายเป็นอีกความทรงจำที่ตราตรึง พร้อมกับที่เธอสัมผัสความสวยงามของสวนญี่ปุ่น และได้เข้าใจถึงศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังความงามนั้น

ความสัมพันธ์กับอะริโตโมะยังช่วยเยียวยาจิตใจเธอ เธอกลายเป็นคนรักของเขา ตราบจนวันหนึ่งที่อยู่ๆ เขาก็เดินหายไปในขุนเขาและสายหมอก

อุทยานหมอกสนธยาถ่ายทอดทั้งเรื่องราวของความโหดร้าย หัวใจที่แตกสลาย ความแค้นที่ฝังลึก รวมไปถึงเรื่องราวลึกลับมากมายในประวัติศาสตร์ แม้ส่วนหนึ่งจะเล่าถึงความโหดร้ายที่คนญี่ปุ่นได้เคยกระทำ แต่นวนิยายเรื่องนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความงดงามที่โยงใยกับคนญี่ปุ่นเช่นกัน ทั้งศิลปะความงามของสวนของญี่ปุ่น และศิลปะจิตรกรรมที่ถูกถ่ายทอดผ่านตัวอะริโตโมะ ตัวละครที่กุมปริศนาสำคัญของเรื่องเอาไว้

บาดแผลทางประวัติศาสตร์

ตัน หวัน อัง กล่าวถึงการเขียนอุทยานหมอกสนธยาว่า เขาต้องการนำเอาเรื่องราวที่คนในปัจจุบันไม่ค่อยรับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมาเลเซียมาเล่าถึง ช่วงเวลาเช่นการยึดครองประเทศของญี่ปุ่นนั้น ไม่เพียงแต่จะไม่ถูกพูดถึงในชนรุ่นหลัง แต่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นเต็มไปหมด

ในจำนวนบาดแผลทางประวัติศาสตร์หลายประการ เรื่องราวเลวร้ายที่สุดที่ถูกเล่าถึงในนวนิยายเรื่องนี้ คือเรื่องของผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกบังคับให้เป็นหญิงบริการ (comfort women) ให้กับทหารญี่ปุ่น พวกเธอถูกคาดการณ์ว่าน่าจะมีจำนวนหลายแสนคน และถูกเกณฑ์มาจากจีน เกาหลี รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเซีย ความเลวร้ายไม่เพียงเกิดกับพวกเธอในช่วงสงคราม แต่ยังเกิดขึ้นหลังสงครามจบลง เมื่อพวกเธอต้องถูกตีตราไม่ให้กลับไปอยู่ร่วมสังคมได้ดังเดิม

“เมื่อยุนหงรู้ว่าญี่ปุ่นกำลังจะแพ้สงคราม เธอกลับเงียบเฉย ฉันบอกเธอว่าพวกมันกำลังจะต้องปล่อยเราและเราจะได้กลับบ้าน…แล้วผู้คนจะกล่าวถึงฉันอย่างไร ยุนหงบอกฉัน …ในที่สุดก็จะต้องมีคนรู้และพูดถึงเรื่องนี้ อย่างน้อยที่สุดเธอก็รู้ ถึงเราจะไม่พูดถึงมันอีกเลย แต่มันก็จะอยู่ในดวงตาของเธอ ทุกครั้งที่ฉันมองเธอ”

ยุนหลิงโชคดีกว่าพี่สาวของเธอมากที่ไม่ได้ถูกเลือกให้ทำหน้าที่เป็นหญิงบริการในค่ายกักกัน แต่ความโชคดีก็มาพร้อมกับเรื่องสะเทือนใจ ในขณะที่หญิงสาวหลายคนรับไม่ได้กับหน้าที่อันแสนอัปยศ และตัดสินใจจบชีวิตตนเองลงในค่าย แต่พี่สาวของเธอสารภาพว่าเหตุที่ยังยอมมีชีวิตอยู่ ก็เพราะกลัวว่าหากตัวเองตายไป ยุนหลิงจะต้องถูกเลือกมาแทนที่ตน

จุดเด่นสำคัญของอุทยานหมอกสนธยา คือการสะท้อนประสบการณ์ที่หลายชาติในเอเชียอาคเนย์ต่างมีร่วมกัน เรื่องราวของการผสมผสานทางวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันและความขัดแย้งในชนชาติที่หลากหลายของภูมิภาค ทั้งระหว่างคนจีนอพยพรุ่นเก่ารุ่นใหม่ คนท้องถิ่นทั้งชั้นสูงและชั้นล่าง ประวัติศาสตร์การต่อสู้กันระหว่างรัฐและประชาชน และที่สำคัญคือเรื่องราวของการอยู่กับบาดแผลทางประวัติศาสตร์

ประเทศในเอเชียอาคเนย์มีประสบการณ์ที่คล้ายกันอยู่ประการหนึ่ง คือเรื่องเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับผู้คน มักจะถูกจัดการด้วยการเพิกเฉย จนอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าแทบทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ล้วนแต่มีประวัติศาสตร์ของอาชญากรรมครั้งใหญ่ที่ตามมาด้วยการลอยนวลพ้นผิด (impunity)

เรื่องราวของหญิงบริการในกองทัพญี่ปุ่นอาจถือเป็นเรื่องแรกๆ ของการลอยนวลพ้นผิดต่ออาชญากรรมที่เกิดในภูมิภาคนี้ แต่หลังจากนั้นก็ยังมีเรื่องราวการกดขี่และเข่นฆ่าประชาชนอีกนับล้าน โดยรัฐบาลเผด็จการในประเทศ เช่น อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า รวมถึงประเทศไทย อย่างเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็นับเป็นบาดแผลที่ถูกกดทับไว้ไม่ต่างกัน

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) นักวิชาการที่ศึกษาวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการลอยนวลพ้นผิดต่อเหตุการณ์ที่เป็นบาดแผลแห่งประวัติศาสตร์เหล่านี้ โยงใยกับลักษณะของผู้มีอำนาจรัฐที่คอยมุ่งปกป้องตัวเองและพวกพ้อง รวมถึงการปฏิเสธความสำคัญของกระบวนการแสวงหาความจริงและความยุติธรรม

เมื่อเผชิญกับข้อเรียกร้องให้เกิดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง การไต่สวนหาผู้กระทำผิด รวมถึงเยียวยาผู้ที่ถูกละเมิด คำกล่าวอ้างต่างๆ ก็มักจะถูกหยิบยกมาตอบโต้ โดยผู้ที่ปฏิเสธการชำระเหตุการณ์เลวร้ายในประวัติศาสตร์ มักจะอ้างเหตุผลอยู่สองแบบ แบบแรกก็คือ หากจะต้องการให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นก็ควรจะต้องถูกก้าวข้ามไป ด้วยเพราะการมุ่งรื้อฟื้นข้อเท็จจริงและหาคนผิด อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมต่อไปไม่จบสิ้น

คำอ้างอีกแบบที่มักจะพบได้ก็คือ การรื้อฟื้นเรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น อาจเป็นการทำร้ายเหยื่อที่เคยถูกละเมิดเสียเอง เพราะอาจไปเปิดบาดแผลที่พวกเขาต้องการลืมเลือนขึ้นอีกครั้ง พาพวกเขากลับสู่ความทรงจำที่ทรมานและโหดร้าย ฉะนั้นจึงอาจเป็นการดีกว่าที่จะร่วมกันลืมเลือนเพื่อให้ชีวิตพวกเขาก้าวเดินต่อไปได้

แต่จริงหรือที่การเลือกลืมเลือนบาดแผลทางประวัติศาสตร์นั้นจะดีไปกว่าการจดจำ ?

ปัญหาของการลืมหรือจดจำ

ปัญหาของการลืมและจดจำบาดแผลทางประวัติศาสตร์ เป็นประเด็นหลักที่ถูกถ่ายทอดไว้ในอุทยานหมอกสนธยา อันที่จริงเนื้อหาในนวนิยายเรื่องนี้ยังช่วยชี้แนะการคลี่คลายปมปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

“ไม่มีคำพูดใดจะช่วยเยียวยาบาดแผลในจิตใจของฉันได้ หรือพาพี่สาวของฉันให้กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง อะริโตโมะเข้าใจเรื่องนี้ เรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าใจ”

แม้จะถูกคนรอบข้างบอกให้ลืมอดีตอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับเธออยู่เสมอ แต่ยุนหลิงก็ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะตอบว่าเธอจะสามารถลืมเลือนมันได้ เธอกล่าวยอมรับว่าแม้จะสร้างสวนญี่ปุ่นให้กับพี่สาวได้สำเร็จดังคำสัญญา แต่ความเจ็บปวดของเธอก็คงจะไม่หายไปอยู่ดี

คำตอบของยุนหลิงชี้ให้เห็นถึงสภาพสำคัญที่โยงใยอยู่กับปัญหาของการลืมและจดจำ ว่าที่จริงแล้วการลืมเรื่องราวต่างๆ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นไปได้เลยด้วยซ้ำสำหรับผู้ถูกกระทำ

เช่นนี้แล้ว คำขอให้พวกเขาลืมสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นเพื่อให้สังคมก้าวต่อไปนั้น อาจเป็นดั่งการทำร้ายซ้ำเติม สำหรับผู้ถูกกระทำแล้วพวกเขาจะลืมอะไรได้หากความจริงยังไม่เคยปรากฏ หากความเจ็บปวดที่เกิดยังไม่เคยถูกยอมรับว่าได้เกิดขึ้นจริง

การขอให้ลืมจึงไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นไปได้ สิ่งที่เป็นไปได้ก็คือการ ‘จำเพื่อลืม’ หากต้องการให้ผู้ถูกกระทำลืมความเจ็บปวด สังคมก็ควรยอมรับและจดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพวกเขาให้ได้เสียก่อน

นอกจากนี้ เมื่อคำนึงว่าการลืมนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการดูแลรักษาความทรงจำที่เป็นบาดแผล ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก ในระดับสังคมนั้นการมีความทรงจำเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเพิกเฉยกับอดีตที่โหดร้าย ปล่อยให้การลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้คนในสังคมจะไม่สามารถมีความจำเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้เลย ท้ายที่สุดแล้วความทรงจำบางอย่างจะยังแทรกอยู่ในสังคมต่อไป คอยถ่ายทอดเรื่องราวของความอยุติธรรม หรือแม้กระทั่งคอยยืนยันความเป็นไปได้ที่คนที่ทำเรื่องเลวร้าย จะไม่ต้องรับผิดชอบใดๆต่อการกระทำของตนเอง

เพราะฉะนั้น สิ่งที่สังคมจะต้องเลือก แท้จริงแล้วจึงไม่ใช่การลืมหรือจดจำ แต่เป็นการเลือกว่าจะมีความทรงจำแบบใด จะเลือกแสร้งทำเป็นลืมเพื่อสร้างความทรงจำแบบที่สนับสนุนให้เหตุการณ์อันเลวร้ายเกิดขึ้นอีก หรือจะเลือกการพยายามจดจำเพื่อเน้นย้ำไม้ให้เรื่องเลวร้ายนั้นเกิดขึ้นซ้ำ

ประการที่สอง ความทรงจำของมนุษย์แท้ที่จริงแล้วก็ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ยังมีเส้นทางที่มันเดินต่อไปอยู่เสมอ ความทรงจำถูกผสมผสานตลอดเวลา ด้วยอารมณ์และประสบการณ์ที่แวดล้อมการเดินทางนั้นๆ

เมื่อได้เรียนรู้จากอะริโตโมะถึงศาสตร์สำคัญเบื้องหลังความงามของสวนญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ‘ชักเกอิ’ (Shakkei) ซึ่งก็คือวิธีการหยิบยืมความงามจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง ยุนหลิงกล่าวเปรียบเทียบว่า

“สวนแห่งหนึ่งอาจจะยืมความงามได้จากดิน ฟ้า และทุกสิ่งรอบๆ แต่เราเองก็ยืมเรื่องราวจากเวลาเช่นกัน ความทรงจำถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการหยิบยืมความงาม เรายืมเรื่องราวจากเวลามาทำให้ชีวิตรู้สึกว่างเปล่าน้อยลงอยู่เสมอ”

หากเข้าใจว่าความทรงจำไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ยังต้องก้าวผ่านเรื่องราวใหม่ๆ ที่คอยแต่งเติมมัน สิ่งที่สำคัญสำหรับการจัดการบาดแผลในประวัติศาสตร์ จึงเป็นการสร้างเส้นทางที่เหมาะสมให้กับความทรงจำที่เลวร้ายได้เดินต่อ เพื่อเปิดโอกาสให้ความเจ็บปวดของผู้ถูกกระทำได้รับการดูแล ให้พวกเขาก้าวผ่านสู่ช่วงเวลาใหม่ ที่เรื่องราวต่างๆ จะเป็นความงามให้ได้หยิบยืมมาเยียวยาความทรงจำของตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น การข้ามพ้นอดีตอันเจ็บปวดเพื่อให้สังคมเดินต่อไปข้างหน้าถึงจะเป็นไปได้จริง

เชิงอรรถ

  1. Tan Twan Eng (2012) The Garden of Evening Mists, Newcastle upon Tyne: Myrmidon Books Ltd ฉบับแปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า อุทยานหมอกสนธยา แปลโดย นิรัติศัย หล่ออรุโณทัย สำนักพิมพ์: นาคร
  2. อ่านบทบรรยายของไทเรล ฮาเบอร์คอร์น เรื่องวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย ได้จาก “ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น กับงานศึกษาหัวเลี้ยวหัวต่อ ‘การนิรโทษกรรม’ ช่วง 6 ตุลา” https://prachatai.com/journal/2016/10/68292
  3. ผู้เขียนได้แนวคิดเรื่องปมปัญหาของการลืมและจดจำประวัติศาสตร์บาดแผล จากการอ่านงานที่พูดถึงปัญหาเดียวกันในบริบทของประเทศชิลี คือบทความ Lira, Elizabeth (2009). Reconciliation, Memory and Forgetting: Political and Ethical Dilemmas. The Case of Chile. Psyke & Logos, 2009, 30, 56-64

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save