fbpx

อนาคตของ ‘ระบอบปูติน’ จะถูกม้วนด้วย ‘หิรันตยักษ์’ หรือไม่

ข่าวการก่อ ‘กบฏ’ ของกองกำลังทหารรับจ้าง ‘วากเนอร์’ ที่อยู่ภายใต้การนำของนายเยฟเกนี ปริโกชิน อดีตพ่อครัวประจำตัวของนายวลาดิมีร์ ปูติน ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะต้องหันมามองความเป็นไปและผลกระเทือนของสงครามรัสเซียบุกยูเครนอย่างเป็นระบบ แม้ว่าการทำ ‘ยุทธการพิเศษ’ ในยูเครนปีกว่ามานี้จะยังไม่ประสบผลสำเร็จ และมีทีท่าว่าจะถูกฝ่ายยูเครนตีกลับได้ในระยะหลังมานี้ แต่ก็ไม่มีใครคิดและเชื่อว่าจะเกิดการยึดอำนาจโค่นล้มระบอบปูตินได้

ลึกๆ แล้วผมคิดและเชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีการยึดอำนาจจากปูติน หากปฏิบัติการทางทหารของเขายิ่งเพลี่ยงพล้ำและถูกโจมตีอย่างมีนัยสำคัญทางยุทธศาสตร์จากกำลังยูเครน ทั้งนี้โดยอาศัยการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของรัสเซียเป็นพื้นฐาน

กล่าวโดยรวม ภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียตั้งแต่สมัยจักรวรรดิพระเจ้าซาร์มาถึงยุคสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 18 ตั้งอยู่ในส่วนตะวันออกสุดของทวีปยุโรป จึงเป็นทั้งส่วนหนึ่งของยุโรปและตะวันออก ทำให้เผชิญปัญหาทิศทางการพัฒนาสังคมและอาณาจักรให้ทันสมัยและก้าวหน้าว่าจะไปทางไหน เมื่ออาณาจักรในยุโรปซึ่งกำลังก่อตัวเปลี่ยนแปลงเป็นประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่ รัสเซียก็ดิ้นรนพัฒนาให้เป็นตะวันตกด้วย

สิ่งที่ยากกว่าการสร้างระบบเศรษฐกิจ คือการสร้างระบบการปกครองที่มีอุดมการณ์ชุดหนึ่งกำกับมาด้วย นั่นคือระบบการเมืองแบบเสรีนิยมและประชาธิปไตย ที่มีอุดมการณ์เสรีภาพปัจเจกบุคคลและการปกครองโดยกฎหมาย ไม่ใช่โดยอำนาจเด็ดขาดของพระเจ้าซาร์ ผลคือไม่สำเร็จ หนทางการสร้างอาณาจักรแบบตะวันตกถูกต่อต้านและโจมตีโดยปัญญาชนและข้าราชการในระบบจักรวรรดิที่พากันสร้างระบบชาตินิยมรัสเซียขึ้นแทน นวนิยายเรื่อง ‘อันนา คาเรนินา‘ ของตอลสตอยเสนอการต่อสู้ทางความคิดในปัญหาระหว่างชาตินิยมสลาฟกับลัทธิตะวันตกได้เป็นอย่างดี

เมื่อหนทางในแนวทางเสรีนิยมปิดตัน คนรุ่นใหม่ของรัสเซียก็หันไปหาทางเลือกอื่น พวกเขาค้นพบลัทธิมาร์กซ์และการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพที่กำลังแพร่หลายและปฏิบัติในยุโรป กรรมกรโรงงานประท้วงหยุดงานในเมืองใหญ่ของรัสเซียมากขึ้น ในที่สุดเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลพระเจ้าซาร์ก็นำประเทศเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการทหาร เปิดโอกาสให้แก่การปฏิวัติโดยพรรคบอลเชวิกภายใต้การนำของวลาดิมีร์ เลนิน ที่ยกระดับพรรคการเมืองชนชั้นกรรมกรให้เป็นกองหน้าของการปฏิวัติสังคมนิยม

หลังจากชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ สหภาพโซเวียตภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างระบอบการปกครองใหม่ที่ยั่งยืนสันติและเป็นที่ยอมรับของประชาชน โชคร้ายเลนินอายุสั้น มีผลให้พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียหมดภูมิปัญญาไปสิ้น โจเซฟ สตาลินแย่งชิงขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคด้วยการใช้กำลังจัดการกับแกนนำในพรรคที่มีความคิดเห็นต่างกัน อันเป็นแนวทางปกติทั่วไปของพรรคคอมมิวนิสต์ต่อมา กลายเป็นการสร้างระบบอำนาจนิยมเผด็จการพรรคเดียวขึ้นมา นี่คือพัฒนาการด้านลบอันน่าเสียดายของการปฏิวัติใหญ่ในรัสเซียปี 1917 ที่ความพยายามในการสถาปนารัฐสังคมนิยมไม่ดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น ในที่สุดก็พังทลายลงในปี 1989 ด้วยมือของมิคาอิล กอร์บาชอฟ ซึ่งแสดงอย่างชัดเจนถึงการยึดถือและยอมรับหลักคิดของระบบเสรีนิยม ที่นำมาสู่การสลายระบบสังคมนิยมลงโดยสิ้นเชิง

ความปั่นป่วนระส่ำระสายทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมนิยมขณะนั้น ไม่อำนวยให้รัสเซียหลังยุคคอมมิวนิสต์มีโอกาสในการสร้างหนทางที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมทุนนิยมที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วโลก เพราะการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบทุนหรือสังคมกระฎุมพีนั้นต้องกระทำในกระบวนการที่เลนินเคยบอกไว้ก่อนแล้วว่า “ประเทศระบบนายทุนทุกประเทศก้าวผ่านการปฏิวัติกระฎุมพีซึ่งสร้างระบบประชาธิปไตยที่แน่นอนขั้นหนึ่งขึ้นมา…จารีตประเพณีเฉพาะของมันแทรกซึมไปทั่วชีวิตทางการเมืองและสังคม” (every capitalist country goes through an era of bourgeois revolution which produces a specific degree of democracy…a particular tradition permeating all political and social life” (‘Old Truths that Are Ever New,’ Zvezda, 11 June 1911, in Collected Works, London, 1963, vol. 17, p. 215.)

คำสอนและเตือนของเลนินนี้ แม้เขาไม่ได้ตั้งใจให้รัสเซียทำ หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่เขาสรุปมาจากประเทศยุโรปว่า การเป็นประเทศนายทุนต้องมีระบบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่แสดงออกในทางความคิด ในทางเศรษฐกิจและการเมือง พร้อมหมดในทุกอณูของชีวิตคน นั่นแหละระบบกระฎุมพีและทุนนิยมจึงสามารถดำรงอยู่ได้

คำเตือนของเลนินเป็นความจริงทุกประการ รัสเซียหลังคอมมิวนิสต์ไม่มีประเพณีของเสรีนิยมรองรับเลยสักอย่าง การเริ่มสร้างประเทศจึงดำเนินไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ก่อนที่ปูตินจะก้าวเข้ามาในแวดวงของแกนนำรัฐบาลเยลต์ซินที่ปกครองรัสเซียยุคหลังคอมมิวนิสต์ โดยเปิดประเทศและสังคมให้การเข้ามาดำเนินกิจการของระบบทุนนิยมและเผยแพร่ลัทธิเสรีนิยมอย่างเต็มที่ แทนที่จะสร้างระบบการเมืองและเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีประสิทธิภาพและขยายบทบาทของภาคประชาสังคมออกไป เยลต์ซินกลับส่งเสริมระบบเครือข่ายทุนสามานย์เรียกว่า oligarch ขึ้นมา การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบทุนและเสรีนิยมล้มเหลว สร้างสิ่งตรงข้ามที่เป็นด้านลบให้แก่ประชาชน จนปูตินขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขาจัดการปราบเครือข่ายทุนสามานย์เยลต์ซินลงไปได้ พร้อมสร้างเครือข่ายทุนสามานย์ใหม่ที่อยู่ภายใต้การบงการของเขาแทน

สุดท้ายแล้วปูตินและพรรคพวกก็ไม่ได้สร้างระบบเสรีนิยมขึ้นมา หากแต่ดำเนินการตามรอยเยลต์ซิน นั่นคือที่มาและพัฒนาการของระบอบปูติน ที่ในที่สุดนำมาสู่ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ เพื่อผนวกรวมเอายูเครนกลับเข้ามาภายใต้การควบคุมของมอสโกต่อไป

เมื่อเห็นภาพและโครงสร้างของรัสเซียภายใต้ระบอบปูตินแล้วก็จะเข้าใจการเกิดขึ้นของกองกำลังวากเนอร์ รวมไปถึงความพยายามก่อกบฏของนายปริโกชิน เพราะปรากฏการณ์ของการกบฏเป็นตรรกะที่ประกอบสร้างอยู่ในระบอบปูติน ที่ความชอบธรรมในการปกครองวางอยู่บนการยึดกุมอำนาจทางทหารอย่างสัมบูรณ์ ระบบการเมืองไม่ทำงานตามปกติ โชคดีที่รัสเซียมีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานมากมหาศาล กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้และกำไรให้แก่รัฐ ระบบทุนสามานย์จึงเติบใหญ่และเป็นที่มาของการจัดตั้งกองกำลังพิเศษมากมายภายใต้กระทรวงกลาโหม วากเนอร์เป็นหนึ่งในกองกำลังนอกแบบหลายองค์กรที่ใช้ปฏิบัติการทางทหารทั้งในและนอกประเทศ โดยไม่อยู่ภายใต้กฎกติกาของใครในโลก นอกจากระบอบปูติน

นายเยฟเกนี ปริโกชินไม่ใช่เป็นหัวหน้าหรือผู้ก่อตั้งกลุ่มวากเนอร์ดังที่ปรากฏในข่าวทั่วไป หากแต่เขาเป็นเพียงมือปืนรับจ้างในการบรรลุภารกิจของปูติน ทั้งสองคนมีความสัมพันธ์กันมานานจนกลายเป็นคนใกล้ขิดและไว้ใจได้ นี่เป็นลักษณะของระบอบปูตินที่เหมือนกับระบบอำนาจนิยมทั่วไปที่ความสัมพันธ์ส่วนตัวสำคัญกว่าสัมพันธภาพในทางสถาบัน ความไว้ใจสำคัญกว่าความรอบรู้ในการงาน ปริโกชินรับใช้งานหลายอย่างกระทั่งงานความมั่นคงกับกระทรวงกลาโหม เขาได้หลายโครงการและโกงเงินคนอื่น มีการฟ้องร้องกัน ตอนที่กลุ่มวากเนอร์ได้งานจากกลาโหมยังสามารถใช้ฐานที่มั่นทางทหารสำหรับปฏิบัติการพิเศษของกองทัพในการซ้อมและตระเตรียม เมื่อเข้าทำสงครามกลาโหมยังส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กลุ่มวากเนอร์อีกด้วย ทำเหมือนกับเป็นกองทหารประจำการ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่

ดังนั้นปริโกชินจึงไม่ใช่คนนอกหน้าใหม่ต่อผู้นำทางทหาร ตรงกันข้ามเขาหากินกับกระทรวงกลาโหมรัสเซียมาโชกโชนด้วยการสนับสนุนของปูติน การที่ล่าสุดปริโกชินออกมาโจมตีวิพากษ์ผู้นำกองทหารอย่างนายเซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกวาเลอรี เกราซิมอฟ หัวหน้าเสนาธิการร่วมทั่วไป จึงเข้าใจได้จากบทบาทและอิทธิพลของปริโกชินในระบอบปูติน โดยเฉพาะปัญหาการที่กลาโหมไม่ส่งอาวุธและยุทธภัณฑ์สนับสนุนอย่างที่เขาเคยได้รับในการรบที่หนักหน่วงในเมืองบักห์มุต ที่ทหารรัสเซียตายไปหลายหมื่นรวมกำลังวากเนอร์ที่เสียไปสองหมื่นคน

การที่วากเนอร์ยึดเมืองรอสตอฟ-ออน-ดอนซึ่งเป็นหัวเมืองทางใต้สำหรับส่งกำลังบำรุงการรุกรานเข้าไปในยูเครน โดยไม่เสียเลือดเนื้อ ทำให้ปรากฏการณ์ป่วนเมืองของปริโกชินเป็นเรื่องเป็นราวที่มากกว่าการคิด ‘กบฏ’ โดยหัวหน้ากองกำลังทหารรับจ้างแบบง่ายๆ หากแต่มีสายสนกลในโยงไปถึงแกนนำกองทัพรัสเซียอย่างเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลที่ออกมาจากแหล่งข่าวทั้งในและนอกรัสเซีย ระบุว่างานนี้มีแกนนำระดับนายพลหลายคนร่วมและรับรู้แผนอยู่ด้วย นี่เองเป็นเหตุผลที่ทำให้ปริโกชินตัดสินใจเคลื่อนกำลังมุ่งหน้าเข้าหากรุงมอสโก ระหว่างทางหลายร้อยกิโลเมตร ไม่มีการตอบโต้และขัดขวางการเคลื่อนกำลังจากกองทหารรัสเซียซึ่งประจำการอยู่ทั่วประเทศ จึงเป็นสิ่งน่าประหลาดใจยิ่ง ทำให้ข่าวที่ว่ามีทหารใหญ่หนุนหลังวากเนอร์มีน้ำหนักมากขึ้น

คนหนึ่งที่มีการกล่าวถึงได้แก่พลเอกเซอร์เก ซูโรวิคิน ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ซึ่งมีความสามารถในการรบทำให้ได้สมญาว่า Armageddon (การสู้รบครั้งใหญ่ยิ่งและถึงที่สุด) ชื่อของเขาปรากฏในสื่อมวลชนทั่วโลกเมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งจากปูตินให้เป็นผู้บัญชาการทหารในยูเครน แทนคนเก่าที่ทำให้ปฏิบัติการพิเศษของปูตินประสบความเพลี่ยงพล้ำไม่บรรลุผลตามแผนแต่แรก นายพลซูโรวิคินได้รับเหรียญสดุดีเซนต์จอร์จจากปูติน อันเป็นเครื่องหมายของความสามารถและความสำเร็จของเขา แต่ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา เขากลับถูกถอดออกจากตำแหน่งในยูเครนหลังจากปฏิบัติการไม่คืบหน้าไปเท่าที่ควร กล่าวในด้านกองทัพ นายพลซูโรวิคินยังเป็นคนที่ทหารทั่วไปให้ความเคารพและนับถืออย่างมาก

นายพลซูโรวิคินรู้จักกับนายปริโกชินเมื่อทำปฏิบัติการทหารด้วยกันในประเทศซีเรีย ทั้งสองมีความใกล้ชิดกันมากและมีทรรศนะสายเหยี่ยวในกระทรวงกลาโหม ทั้งคู่มีความเห็นต่อการใช้ยุทธวิธีทางทหารในการรบในยูเครนเหมือนกัน คือใช้มาตรการเด็ดขาดหนักหน่วง ไม่เหมือนกับของนายชอยกูและพลเอกเกราซิมอฟ ความขัดแย้งระหว่างแกนนำกองทัพจึงมีมานับตั้งแต่วันแรกที่ปูตินยกกำลังบุกยูเครน

การเคลื่อนกำลังวากเนอร์เป็นสัญญาณของการขับเคลื่อนกำลังที่ตรงข้ามและเริ่มต่อต้านระบอบปูติน หลังจากนั้นปูตินก็ออกมาแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์อย่างขึงขังว่าการกระทำของกลุ่มวากเนอร์นั้นเป็น ‘การทรยศ’ จะทำให้เกิดสงครามกลางเมือง เขากล่าวขอบใจทหารที่ยืนหยัดอยู่กับเขาในการสร้างความสงบ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีปฏิบัติการพิเศษใดๆ ในการเล่นงานหรือลงโทษนายปริโกชิน กลับปล่อยให้เขาเดินทางไปเบลารุส อันเป็นข้อเสนอของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อในรัสเซีย นี่ก็แปลกอีกเหมือนกันที่ปูตินต้องอาศัยลูกาเชนโกมาไกล่เกลี่ยไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ แต่ลึกลงไปน่าจะเป็นเพราะปูตินยังไม่อาจมีมาตรการจัดการนายทหารที่ต่อต้านเขาได้ ทางออกเฉพาะหน้าจึงปล่อยให้ปริโกชินลอยนวลไปก่อน ข่าวล่าสุดที่ไม่ยืนยันบอกว่า พลเอกซูโรวิคินถูกสอบสวนโดย รมต.ชอยกู และไม่ปรากฏตัวให้เห็นอีกเลย แม้งานวันเกิดภรรยาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมเขาก็ไม่มางานเช่นเคย ทำให้เกิดข่าวลือว่าเขาอาจถูกปูตินทำให้สูญหายไปแล้วเหมือนหลายคนก่อนนี้

ฝ่ายที่จะดีใจต่อการพังทลายของระบอบปูติน ได้แก่ กลุ่มประเทศทุนนิยมเสรีตะวันตกและญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ฝ่ายที่ไม่ค่อยดีใจนัก ได้แก่ ประเทศทุนนิยมไม่เสรี เช่น จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ บางประเทศในลาตินอเมริกา รวมถึงไทย ลาว เมียนมา และกัมพูชา การประกาศสงครามต่อยูเครนที่มีจุดหมายระยะยาวในการบ่อนทำลายพลังและความสามัคคีของกลุ่มประเทศทุนนิยมเสรีลงไป เริ่มมีน้ำหนักและทิศทางแจ่มชัดมากขึ้นเมื่อจีน อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ค่อยๆ ให้ฉันทมติเงียบๆ ต่อปฏิบัติการพิเศษของปูตินในยูเครน

แต่ปรากฏการณ์กบฏของวากเนอร์และปริโกชิน อันเป็นความขัดแย้งภายในรัสเซียเอง ทำให้อนาคตที่กำลังจะสดใสของปูตินเริ่มหมองคล้ำและไม่แจ่มใสเสียแล้ว อนาคตของระบบโลกใหม่ที่ไม่เดินไปตามตรรกะของทุนนิยมเสรีตะวันตกก็เริ่มสั่นคลอน ฤาว่าระบอบปูตินจะถูกหิรันตยักษ์ม้วนหนีบรักแร้ไป

ปูตินจะต่อต้านและทำลายระบบทุนนิยมเสรีของตะวันตกอย่างที่นักปฏิวัติรุ่นพ่อรุ่นปู่อย่างเลนินทำมาก่อนได้หรือไม่ และเกียรติภูมิของรัสเซียอย่างที่เคยได้รับมาในอดีตจะโชติช่วงในจักรวาลได้อีกหรือไม่ แค่การไปแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลอาชญากรรมระหว่างโลกเรื่องกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครนก็กระอักเลือดแล้ว ไม่ต้องคิดถึงอนาคตอะไรให้เหนื่อย


หมายเหตุ: หิรันตยักษ์ (หิ-รัน-ยัก) เป็นพญายักษ์แห่งยอดเขาจักรวาล ได้รับพรจากพระอิศวรให้มีฤทธิ์เดชมหาศาลสามารถม้วนแผ่นดินได้ ด้วยความกำเริบคิดว่าตนเองมีฤทธิ์เดชไม่มีผู้ใดทัดเทียม หิรันตยักษ์แสดงฤทธิ์เดชให้ทั้งสามโลกได้รับรู้ด้วยการจับผืนพสุธา (แผ่นดิน) ม้วนแล้วหนีบเข้ารักแร้เหาะไปยังเมืองบาดาล เกิดเดือดร้อนไปทั่ว พระอิศวรจึงมีบัญชาให้พระนารายณ์ (พระวิษณุ) ไปปราบหิรันตยักษ์จนตัวขาดสิ้นใจตาย จากนี้ไปเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์รามเกียรติ์ต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save