fbpx
จากชายแดนใต้ถึงเราทุกคน "ความรุนแรงต่อผู้หญิงจะต้องยุติ"

จากชายแดนใต้ถึงเราทุกคน “ความรุนแรงต่อผู้หญิงจะต้องยุติ”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่องและภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

ผู้หญิงบางคนซุกซ่อนความเจ็บช้ำไว้ใต้ใบหน้าหวาน แต่ผู้หญิงบางคนซุกซ่อนไว้ใต้ผ้าคลุม

ออกมาจากความรุนแรงพวกนั้นสิ – เราอาจส่งเสียงบอกง่ายๆ แต่มันง่ายเช่นนั้นจริงหรือ ในเมื่อพ้นจากเหตุผลทางจิตใจที่ทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในความเงียบแล้ว ก็ยังมีกลไกทางสังคมที่ทำให้พวกเธอเลือกจะเงียบต่อไป

ที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สถานที่ที่ผู้คนเลือกมองความรุนแรงในพื้นที่เป็นภาพหลัก แต่อีกความรุนแรงที่ดำเนินไปควบคู่กันคือความรุนแรงต่อผู้หญิง บริบทของพื้นที่นี้มีทั้งความไม่สงบที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนสูญเสียครอบครัว ปัญหายาเสพติดเรื้อรังในพื้นที่ส่งผลให้คู่ชีวิตของพวกเธอเลือกลงไม้ลงมือต่อกัน รวมถึงหลักการทางศาสนาที่ทำให้การเดินออกจากความรุนแรงไม่เคยง่าย

เมื่อแต่งงานตามระเบียบศาสนา การหย่าก็ต้องกระทำตามระเบียบด้วย หากผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง พวกเธอต้องร้องเรียนต่อผู้นำศาสนาในพื้นที่ และให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดช่วยดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการฯ ล้วนแต่เป็นผู้ชาย พวกเขาไม่อาจตรวจสอบร่างกายของเธอได้ และไม่อาจเข้าจิตเข้าใจความบอบช้ำของพวกเธอในบางแง่มุม ผู้หญิงในสามจังหวัดจึงต้องต่อสู้กับความรุนแรงบนข้อจำกัดมากมายมาโดยตลอด กระทั่งในปี 2560 ความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตาก็ได้เกิดขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาสที่เคยมีแต่ผู้ชาย เกิดมุมเล็กๆ ของผู้หญิงที่คอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ในนาม ‘ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี’

พื้นที่ปลอดภัยเล็กๆ นี้ทำให้ผู้หญิงมากมายตรงเข้ามาส่งเสียง ได้ไกล่เกลี่ยกับสามี และบ้างดำเนินการหย่าได้สำเร็จ จนสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลาเริ่มดำเนินการตามโมเดลนี้ในปีถัดมา

นับแต่นั้น ความบอบช้ำที่เยียวยาได้ด้วยกลไกของร่างกาย ก็ได้รับการเยียวยาด้วยกลไกของสังคม

-1-

ผู้หญิง มุสลิม อิสลาม ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี

 

สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เป็นตึกขนาดใหญ่ งามพร้อยด้วยลายเรขาคณิตและดอกไม้อะราเบสก์แบบอิสลาม มีห้องเล็กๆ ตั้งอยู่มุมหนึ่ง ด้านบนมีป้ายขนาดใหญ่ประกาศตัวว่าเป็น ‘ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี’ ภายในมีหญิงสาวสวมฮิญาบทำงานอย่างแข็งขัน และมีท่าทีเป็นมิตร

ศูนย์ให้คำปรึกษาเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของผู้หญิงสองกลุ่มคือ ‘ชมรมมุสลีมะห์’ ซึ่งมีสมาชิกชมรมหลายคนเป็นภรรยาของโต๊ะอิหม่ามในพื้นที่ และทีม ‘เครือข่ายผู้หญิง’ ซึ่งดูแลผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อทั้งสองกลุ่มมีเป้าหมายการทำงานเพื่อผู้หญิงเหมือนกัน จึงร่วมมือผลักดันขอตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแห่งนี้ขึ้น

ก่อนหน้านี้ ในพื้นที่มีกรณีความรุนแรงเยอะมาก แต่ไม่สามารถระบุตัวเลขอย่างชัดเจนได้ ปัญหาที่มีอยู่จึงไม่ฉายชัดว่ารุนแรงแค่ไหน แต่เมื่อมีศูนย์ให้คำปรึกษา ผู้หญิงที่เป็นอาสาสมัครก็เก็บข้อมูล จัดทำสถิติของแต่ละเดือนส่งต่อให้คณะกรรมการฯ เพื่อตอกย้ำความรุนแรงของปัญหา

“ช่วงแรกไม่มีห้อง เขาอนุเคราะห์โต๊ะตัวนึงมาให้ อาสาสมัครก็นั่งทำงานอยู่ได้ประมาณสองเดือน เราจดบันทึกข้อมูลจนสามารถติดตามเรื่องราว และเช็คย้อนหลังได้ แล้วก็มีผู้หญิงมารับคำปรึกษาเยอะ คณะกรรมการฯ ก็เริ่มเห็นประโยชน์ของกลุ่มผู้หญิง เขาก็เลยยกห้องให้หนึ่งห้องเลย” รูสลีนา สาเล็ง หนึ่งในอาสาสมัครที่ทำงานอย่างแข็งขันในห้องเล็กๆ เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศแรกเริ่มของการก่อตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา

“แรกๆ เขาก็สงสัยว่าผู้หญิงจะทำงานได้หรือเปล่า ท่านบาบอ (คำใช้เรียกผู้นำทางศาสนา อิหม่าม และพ่อ)  บางคนก็อนุญาตให้อยู่ บางคนก็ไม่ชอบให้ผู้หญิงมาเพ่นพ่าน แต่กลุ่มผู้หญิงยืนยันว่า ไม่เป็นไร เราอยู่มุมไหนก็ได้ ขอแค่สามารถช่วยเหลือผู้หญิงด้วยกัน” เธอเอ่ยด้วยรอยยิ้ม

รูสลีนา สาเล็ง อาสาสมัครศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี
รูสลีนา สาเล็ง อาสาสมัครศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี

อาสาสมัครที่ทำงานในศูนย์ให้คำปรึกษาจะทำหน้าที่ในการจดบันทึกข้อมูล เพื่อติดตามผลและเป็นหลักฐานประจักษ์ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาผู้หญิงทั้งด้านจิตใจ และช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยหรือหย่าร้าง โดยทีมอาสาสมัครจะต้องเข้าอบรมเรื่องการให้คำปรึกษา การใช้คำพูด การตั้งคำถามกับผู้หญิงที่มาขอความช่วยเหลือ และทุกๆ สองเดือนอาสาสมัครก็จะประชุมกันเองเพื่อระดมความคิด แชร์กรณีความรุนแรงที่มีปัญหาเป็นพิเศษ แล้วหาทางจัดการร่วมกัน

อีกเหตุผลหลักที่ทำให้ศูนย์ให้คำปรึกษามีบทบาทสำคัญคือ ตามหลักศาสนา ผู้ชายไม่สามารถมองเรือนร่างของผู้หญิงได้ เจ้าหน้าที่ผู้หญิงจึงมีส่วนสำคัญในกระบวนการพิสูจน์หลักฐาน คอยตรวจสอบรอยช้ำหรือบาดแผลบนร่างกาย

“บางเคสมีรูปที่ถ่ายให้เห็นรอยช้ำบนเรือนร่าง คณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้ชายก็จะดูไม่ได้ เลยไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง กลุ่มผู้หญิงก็เป็นคนดูให้ การดำเนินการขั้นต่อไปของคณะกรรมการฯ ก็ง่ายขึ้นด้วย ไม่ต้องซักถามผู้ร้องเรียนอีกครั้ง สามารถอ่านตามที่บันทึกเพื่อเข้าใจรายละเอียดความรุนแรงได้เลย”

ศูนย์ให้คำปรึกษายังสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรให้แก่ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายมาด้วย เพราะอาสาสมัครที่คอยรับฟังเป็นผู้หญิงด้วยกัน

“สังเกตว่าผู้หญิงเวลาเข้ามาร้องเรียนกับอิหม่ามเขาจะไม่บอกรายละเอียดทั้งหมด แต่ถ้าเป็นผู้หญิงกับผู้หญิงเขาสามารถบอกทุกอย่าง ร้องไห้โดยไม่ต้องกลัว ไม่ต้องยั้ง มีการถ่ายทอดอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่า” รูสลีนาเล่า

ในพื้นที่ปลอดภัยนี้ เราจะได้พบกับซารีนา เจ๊ะเลาะ ประธานชมรมมุสลีมะห์นราธิวาส อีกหนึ่งอาสาสมัครและผู้ผลักดันศูนย์ให้คำปรึกษา เธอเล่าว่าก่อนมีศูนย์ฯ เคยมีผู้หญิงมาทุบประตูบ้านของเธอยามดึก เพราะทะเลาะกับสามีและโดนตบตี เมื่อไม่มีที่ไปจึงมาหาอิหม่ามที่เป็นสามีของซารีนา เธอเองในฐานะผู้หญิงก็ทำหน้าที่รับฟังเป็นอย่างดี สถานการณ์เช่นนี้ตอกย้ำว่าสถานที่ที่คอยรองรับผู้หญิงเหล่านี้ เป็นเรื่องจำเป็น

“พอเปิดประตูมาเจอหน้าเราคือร้องไห้กอดกันเลย คืนนั้นก็ต้องให้ผู้หญิงนอนที่บ้าน เช้ามาก็ไปเรียกสามีมาคุย แต่หลังจากมีศูนย์ให้คำปรึกษา ก็เป็นหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีที่ไปหากเจอเหตุการณ์ความรุนแรง

“ศาสนามีหลักการซอร์บา คือผู้หญิงต้องอดทน แต่ความอดทนก็มีขอบเขตของมัน ไม่ใช่ว่าสามีจะทุบตีขนาดไหนก็ต้องทน ไม่ใช่ ต้องออกมาบอกใครซักคน”

ซารีนา เจ๊ะเลาะ ประธานชมรมมุสลีมะห์นราธิวาส และอาสาสมัครศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี
ซารีนา เจ๊ะเลาะ ประธานชมรมมุสลีมะห์นราธิวาส และอาสาสมัครศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี

-2-

จากการเก็บข้อมูล รูสลีนาพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีทั้งแบบที่เห็นจากร่างกาย เช่น ตาบวม มือหัก มีรอยช้ำ หรือบางเคสก็เป็นความรุนแรงรูปแบบอื่น เช่น สามีถ่ายรูปภรรยาตอนเปลือย แล้วขู่ว่าหากภรรยาหนีจะกระจายภาพออกไป สิ่งที่น่าตกใจอีกอย่างคือผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เข้ามาขอคำปรึกษา กว่า 90% จะทนกับการทำร้ายร่างกายมานานถึง 5-6 ปี

“เคสที่เพิ่งเจอความรุนแรงเพียงปีสองปีไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่ทนมานานทั้งนั้นเลย ผู้หญิงที่ถูกกระทำก็หลายวัย เด็กที่สุดคือ 13 ปี ไปจนถึง 60”

ปัญหาอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายทำร้ายร่างกายผู้หญิงคือ ปัญหายาเสพติด ที่ยังส่งผลกระทบไปถึงเรื่องค่าเลี้ยงดู ค่าใช้จ่ายในครอบครัว เป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานพยายามแก้ไขมาหลายปี แต่ในมุมของซารีนา เธอคิดว่า หากรอต้นตอปัญหาหมดไป แล้วผู้หญิงที่ถูกทำร้ายระหว่างรอล่ะ จะทำอย่างไร พวกเธอไม่ต้องการนั่งรอให้ความรุนแรงดำเนินต่อไป แต่เลือกลุกขึ้นมาแก้ไข โดยเน้นไปที่การเสริมพลังให้ผู้หญิงแทน

“คนพยายามแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดจนมีโครงการหลายร้อยโครงการ แต่ก็ยังมีผู้หญิงถูกทำร้าย พวกเราก็ต้องมาเน้นเรื่องนี้ ทำให้ผู้หญิงเข้มแข็ง มีพลังมากพอที่จะออกมา ไม่ต้องทนอยู่ในจุดนั้น แต่แน่นอน มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”

ขั้นตอนการดำเนินงานหลังจากผู้หญิงมาร้องเรียนนั้น เป็นไปได้หลายทาง อาสาสมัครมักจะยึดความต้องการของผู้หญิงเป็นหลัก หากผู้หญิงไม่อยากหย่าก็จะพยายามแก้ไขด้วยการส่งสามีไปบำบัด หรือเรียกสามีมาเคลียร์ ในกรณีที่ผู้หญิงต้องการหย่าหรือความรุนแรงนั้นถูกประเมินว่าอาจถึงชีวิต อาสาสมัครก็จะดูแลดำเนินการไปตามหลักการทางศาสนา

ตามหลักอิสลาม ผู้หญิงจะหย่ากับสามีได้ใน 3 กรณีคือ  1.ไม่ได้อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาเป็นเวลา 4 เดือน  2.สามีไม่ได้ให้ค่าเลี้ยงดู 4 เดือนเป็นต้นไป และ 3.การทำให้เจ็บช้ำน้ำใจหรือทำร้ายร่างกาย  ในสามข้อนี้หากผิดเพียงข้อเดียวก็หย่าได้ โดยไปขอใบรับรองจากโต๊ะอิหม่าม หรือให้โต๊ะอิหม่ามมาที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามเอง

เมื่อข้อกำหนดเป็นเช่นนั้น หากบนร่างกายของผู้หญิงไม่มีร่องรอยฟกช้ำปรากฏ หรือร่องรอยได้จางไปแล้ว อาสาสมัครก็จำต้องแนะนำให้ผู้หญิงออกจากบ้าน เพื่อห่างจากสามีให้ครบ 4 เดือนตามข้อตกลง

“ก็นับว่ามีประจำเดือนครบ 3 ครั้ง แล้วค่อยมาฟ้องอย่า ที่ต้องรอ 4 เดือน ก็เผื่อว่าผู้หญิงคนนั้นจะท้อง เพราะถ้าท้องก็ไม่สามารถหย่าได้อีก ต้องรอให้คลอดก่อน

“แต่บางเคสไม่ต้องรอถึง 4 เดือนเลย รอไม่ได้ บางคนมีแผลบีบคอ โดนกระทำถึงขั้นจะตาย เราพิจารณาว่ามันรุนแรง กลับไปแล้วอาจจะเสียชีวิตได้ ก็สามารถทำเรื่องหย่าได้เลย แต่ต้องมีพยานสองคน เป็นคนที่รู้เห็น รู้ว่าเกิดขึ้นจริง”

รูสลีนาแชร์ว่าหลายครั้งที่การทำงานอาสาสมัคร ทำให้เธอเก็บเอาปัญหาของผู้หญิงเหล่านั้นมาคิดกังวล ไม่ใช่เพียงเพราะเข้าใจหัวอกผู้หญิง แต่ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ นอกจากนั้นพวกเธอยังเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งเข้าใจข้อจำกัดหรือความยากลำบากของคนบ้านเดียวกันเป็นอย่างดี

“มันยากนะ เราอยากให้เขาออกมาแต่ก็ลำบากใจ บางเคสเขามีลูก ทำให้ไม่สามารถออกมาจากตรงนั้นได้ เราก็ไม่สามารถไปบังคับให้เขาตัดสินใจ หรือไปจับวางว่า เอาลูกคนนี้ไว้กับยายสิ ลูกอีกคนทำอย่างนั้นสิ หรือในบางครั้งสิ่งที่เราจะช่วยกลับเป็นด้านที่เคสไม่ต้องการก็มี”

“ตามหลักแล้วศาสนาไม่สนับสนุนให้หย่า หย่าเป็นทางออกสุดท้าย แต่เราก็ลำบากใจ ถ้าสามีพูดว่า ฉันจะหย่ากับเธอแล้ว แค่นี้ก็จบ หย่าได้เลย แต่ปัญหาส่วนมากคือผู้ชายไม่ยอมหย่าไง ผู้หญิงก็ต้องมาดำเนินเรื่อง บางเคสแม้จะให้คำปรึกษาจบไปแล้วก็ยังตามไปดู Instagram เขาว่าชีวิตเป็นยังไง ยังอยู่กับสามีไหม คือมันทุกข์ใจเหมือนเป็นปัญหาของเราเอง” รูสลีนากล่าว

-3-

ซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส
ซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส

“ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน” คือคำที่ ซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสกล่าวกับฉัน ในประเทศไทยมี 40 จังหวัดที่มีสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม แต่เหตุใดนราธิวาสจึงเป็นจังหวัดแรกที่เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานร่วมกับคณะกรรมการฯ เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

สันติสุขในรูปแบบนี้ เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นได้หรือไม่ คือคำถามที่ฉันมีต่อเขา

“ที่จริงแล้วตามหลักศาสนาก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไร เพราะเรื่องความรุนแรงและครอบครัวจำเป็นต้องมีผู้หญิงทำงานด้วย ในจังหวัดที่ไม่มีผมก็ไม่อยากไปถามหรอกว่าเพราะอะไร ทำไมไม่ให้ผู้หญิงเข้ามา”

“บางครั้งคนมาร้องเรียน แต่มาไม่ถึงห้องไกล่เกลี่ยนะ พอผู้หญิงเจอกับผู้หญิง เขาได้ระบายแล้วสบายใจ บางคนกลับบ้านไปเลยก็มี การมีผู้หญิงทำให้ภารกิจในห้องไกล่เกลี่ยของคณะกรรมการฯ เบาลงด้วยซ้ำ”

ซาฟีอีอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอื่นมีผู้หญิงคอยทำหน้าที่แบบเดียวกันนี้ โดยเฉพาะปัตตานี ที่มีสภาพสังคมคล้ายกัน จำนวนประชากรผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเหมือนกัน

“ผมคอยพูดคุยกับคณะกรรมการฯ จังหวัดปัตตานี เขาก็อยากจะมีเหมือนกัน เพราะเขามาดูมาสัมผัสแล้วว่า ผู้หญิงสร้างการเปลี่ยนแปลงให้การทำงานและประเด็นความรุนแรงจริงๆ”

ในเดือนมกราคม – ตุลาคม ปี 2562 จังหวัดนราธิวาสมีผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงและเข้ามารับคำปรึกษาที่ศูนย์ฯ จำนวน 333 ราย และดำเนินการฟ้องหย่าได้ทั้งหมด 186 ราย (55.8%)

“บางพื้นที่อาจคิดว่าการมีผู้หญิงมาเพ่นพ่านมันไม่ดี แต่ถ้าเป้าหมายเราชัด ถ้าเข้าใจว่าผู้หญิงมาเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงด้วยกัน ก็ไม่น่ามีปัญหา”

เมื่อเทียบตัวเลขกับคำกล่าวของรูสลีนา การทำงานของกลุ่มผู้หญิงนอกจากจะไม่มีปัญหาแล้ว ยังทำให้ปัญหาถูกแก้ไขอย่างสง่างาม

-4-

ไม่ไกลจากนราธิวาส ที่จังหวัดปัตตานี เครือข่ายผู้หญิงได้รวมตัวกันเพื่อประชุมสถานการณ์ความรุนแรงประจำปี ภาพของพวกเธอที่เดินแถวเป็นหน้ากระดาน กู่ร้องว่า “เราจะไม่ยอมให้ใครมาทำร้าย – เราจะไม่ให้ใครทำร้ายผู้หญิง” ยังคงติดตรึงในใจ ไม่ใช่เพราะเสียงที่ดังก้อง หรือป้ายข้อความที่พวกเธอถือ แต่เพราะภาพเหล่านี้สะท้อนว่าพวกเธอเข้มแข็งและทุ่มเทใจแค่ไหนกับการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่

และเมื่อพวกเธอนั่งลงเพื่อแบ่งปันเรื่องราวของชุมชนตัวเอง บางเรื่องเล่าก็ทำเราทั้งหมดเสียน้ำตา ทั้งผู้หญิงต่างอำเภอในปัตตานี จนถึงคนกรุงเทพฯ อย่างฉัน ไม่สำคัญอีกแล้วว่าเราเป็นใคร อยู่ที่ไหน เมื่อได้รับฟังปัญหาตรงหน้า

“เราเลี้ยงน้องสาวมาตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ส่งให้น้องเรียนตามปกติ พอน้องอายุ 15 ปี ก็เริ่มไม่ไปเรียน เราก็ได้แต่ตักเตือน โดยไม่คิดว่าที่น้องไม่ไปเรียนจะมีปัญหาอะไร

“อยู่มาวันนึงน้องบอกว่าปวดท้อง ขอไม่ไปโรงเรียน เราซักถามจนรู้ว่าท้องที่ปวดคือท้องจะคลอดลูก และน้องถูกข่มขืน ตอนได้ฟังเรารู้สึกเหมือนล้มทั้งยืน

“ไม่มีวันไหนที่น้ำตาไม่ไหลเมื่อคิดถึงเรื่องนี้ ไม่โทษน้องสาวนะ เราโทษตัวเองที่ไม่ถาม ไม่พูดคุยกับน้องจนเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ที่มาเล่าวันนี้ก็เพื่อบอกว่า เวลาผู้หญิงมีปัญหา เขาอาจจะกลัวผลลัพธ์ กลัวใครจะโทษเขา ดังนั้นเราต้องพูดคุยกับคนใกล้ตัวของเราให้ดี สอนลูกเราหลานเราให้กล้าที่จะเปิดเผย

“เราอย่าไปมองว่าปัญหามันไกล มันอยู่แค่นี้เอง”

ฉันรู้ว่าล้วนมีบางใครกำลังต่อสู้อยู่เสมอ ไม่ว่านราธิวาส ปัตตานี กรุงเทพมหานคร หรือที่ไหน ปัญหาอยู่ใกล้แค่นี้ และเราทั้งหมดล้วนเป็นกลไกที่จะทำให้ความรุนแรงยุติลง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save