fbpx

ทหารเกณฑ์ไม่ได้ตายในค่าย แต่ตายภายใต้กระบวนการยุติธรรม

หากพิจารณาถึงการตายที่เกิดขึ้นกับฝ่ายทหารเฉพาะอย่างยิ่งกับทหารระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นทหารเกณฑ์ ทหารประจำการ และนักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งต้องถึงแก่ความตายแต่ไม่ใช่เป็นผลมาจากการออกไปปฏิบัติหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ หากเป็นความตายที่เกิดขึ้นภายในค่ายทหารแล้ว สำนักข่าวแห่งหนึ่งระบุว่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ. 2561 พบว่า “เท่าที่เป็นข่าวและสามารถเขียนข่าวได้” นั้น มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 14 ราย โดย 8 รายมีพยานหลักฐานเด่นชัดว่าถูกซ้อมทรมาน[1]

ตัวเลขดังกล่าวเป็นในส่วนที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะและมีการติดตามความคืบหน้าจากสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าได้ว่ายังมีทหารอีกจำนวนหนึ่ง (ซึ่งไม่อาจประมาณได้ว่าจะมีจำนวนมากน้อยเท่าใด) ที่ไม่ได้เป็นรายงานข่าวออกมา หรืออาจมีรายงานข่าวออกมาแต่ในภายหลังทางญาติพี่น้องก็ ‘ไม่ติดใจ’ ต่อการตายที่เกิดขึ้น

คำถามสำคัญก็คือว่าเพราะเหตุใดจึงยังมีการตายของทหารระดับล่างเกิดขึ้นมาให้เห็นบ่อยครั้ง ทั้งที่การตายของบุคคลเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการกระทำความผิดจนทำให้เกิดการตายขึ้น เช่น การใช้กำลังของผู้บังคับบัญชา การลงโทษของนายทหารระดับสูงต่อผู้ใต้บังคับบัญชาที่ผิดต่อกฎหมาย เป็นต้น กระบวนการยุติธรรมมีบทบาทมากหรือน้อยเพียงใดต่อการค้นหาความจริงและลงโทษต่อบุคคลที่กระทำความผิด

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีการตายหรือการเสียชีวิตของบุคคลเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการตายที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นการตายเพราะถูกคนอื่นฆ่า ตายเพราะอุบัติเหตุ การตายในลักษณะเช่นนี้ รัฐได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการตรวจสอบและค้นหาเหตุแห่งการตาย

การตรวจสอบการตายในระบบกฎหมายของไทยได้กำหนดขั้นตอนที่สำคัญไว้ 2 ประการ ประกอบด้วยการชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตาย การชันสูตรพลิกศพเป็นการตรวจศพเพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิตหรือเพื่อหาสาเหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดการตาย ในขั้นตอนนี้ได้มีความพยายามที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ มากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นความตายเกิดขึ้นโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง บุคคลที่เข้ามามีส่วนร่วมก็จะประกอบไปด้วยตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง แพทย์ และอัยการ

สำหรับการไต่สวนการตายโดยศาลเป็นขั้นตอนที่บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นการค้นหาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุการตาย กระบวนการไต่สวนการตายจะดำเนินการโดยอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ให้นำบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าไต่สวนและเรียกพยานหลักฐานต่างๆ เข้าประกอบการพิจารณา เพื่อให้ศาลออกคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไร สาเหตุและพฤติการณ์ของการตายเป็นอย่างไร

ประเด็นหนึ่งที่ศาลต้องวินิจฉัยก็คือ ‘เหตุและพฤติการณ์’ ที่ทำให้เกิดการตาย เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ว่า ‘เหตุและพฤติการณ์’ มีความหมายกว้างขวางมากน้อยเพียงใด ประเด็นนี้มีความสำคัญ เนื่องจากข้อถกเถียงที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมักจะอ้างว่าการกระทำของตนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ทางฝ่ายผู้สูญเสียจะต่อสู้ว่าการตายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ

ขั้นตอนการไต่สวนการตายจึงสามารถนำไปสู่การระบุว่าการตายนั้นเกิดขึ้นจากความผิดของฝ่ายใด ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ตาย

แต่เมื่อพิจารณาถึงคำสั่งที่เกิดขึ้นในการไต่สวนการตายจะพบว่าการใช้อำนาจของศาลจะมุ่งเน้นไปที่การบ่งชี้ถึงสาเหตุทางกายภาพที่ทำให้เกิดความตายแก่บุคคลนั้นเป็นสำคัญ แต่จะไม่ได้มีการพิจารณาไปถึงว่าความตายนั้นเกิดขึ้นโดยการกระทำที่โดยชอบกฎหมายหรือไม่ ในคดีหนึ่งศาลมีคำสั่งว่าผู้ตายถูกพลทหาร “ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง กระสุนเข้าที่ต้นแขนซ้ายด้านนอกทะลุต้นแขนซ้ายด้านในและกระสุนแตกทะลุเข้าไปในลำตัวบริเวณสีข้างด้านซ้ายเหนือราวนม กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย”

การวินิจฉัยไปในแนวทางดังกล่าวก็ปรากฏในอีกหลายคดี เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งจมน้ำตายจากการฝึกว่ายน้ำ ศาลก็จะมีคำสั่งระบุเหตุการณ์ตายว่าระบบหัวใจล้มเหลว สันนิษฐานว่าผ่านการจมน้ำ แต่จะไม่ได้ระบุว่าการจมน้ำนั้นเป็นเหตุจากการใช้อำนาจของครูฝึกที่เกินเลยไป หรือเป็นเพราะผู้ตายมีร่างกายอ่อนแอเกินไปกว่ามาตรฐานของคนทั่วไป

การไต่สวนการตายจึงกลายเป็นการบ่งชี้ถึงสาเหตุทางกายภาพที่ทำให้เกิดความตายแก่บุคคลนั้นเป็นหลัก แต่จะไม่ได้มีการพิจารณาไปถึงว่าการยิงโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเป็นการป้องกันตัวโดยชอบกฎหมายหรือไม่

การจำกัดความหมายของ ‘เหตุและพฤติการณ์’ เพียงสาเหตุทางกายภาพจึงทำให้ฝ่ายผู้สูญเสียต้องแสวงหาพยานหลักฐานมาสนับสนุนในการต่อสู้ หากต้องการที่จะดำเนินคดีกับผู้ก่อให้เกิดความตายขึ้นด้วยตนเอง

พยานหลักฐานที่มีจะช่วยยืนยันถึงข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างมาก มีอย่างน้อยในสองเรื่องคือ ภาพจากกล้องวงจรปิดและประจักษ์พยานในเหตุการณ์ มีคดีจำนวนหนึ่งที่สามารถนำพยานหลักฐานทั้งสองมาแสดงในการพิจารณาของศาล และทำให้ศาลตัดสินว่าการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้

ภาพจากกล้องวงจรปิดที่แสดงให้เห็นถึงภาพอย่างต่อเนื่องถึงการกระทำต่างๆ และไม่ได้ถูกปรับแก้จากบุคคลใด จะเป็นหลักฐานสำคัญได้เป็นอย่างดี รวมทั้งประจักษ์พยานที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ซึ่งสามารถให้ปากคำยืนยันว่าการกระทำนั้นๆ เกิดขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

แต่คำถามก็คือ มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดทั้งโอกาสที่จะเข้าถึงพยานหลักฐาน และการนำมาเสนอต่อศาลในการพิจารณาคดี

เนื่องจากการตายของทหารระดับล่างอยู่ภายในหน่วยงานที่เป็น ‘เขตทหารห้ามเข้า’ การจะเข้าถึงหลักฐานของฝ่ายผู้สูญเสียหรือแม้กระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย เพราะการบันทึกหรือการเก็บข้อมูลของกล้องวงจรปิดก็อยู่ในอำนาจควบคุมของต้นสังกัด หากมีภาพที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงอย่างไม่ชอบก็ย่อมส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงาน การคาดหวังว่าเมื่อมีการติดต่อหน่วยงานแล้วก็จะได้การตอบรับอย่างตรงไปตรงมาจึงอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ไม่น้อย

ตัวอย่างจากคดีชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตบริเวณด่านตรวจ ผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ให้สัมภาษณ์ว่าได้เห็นภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วมีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการป้องกันตัว แต่เมื่อทางฝ่ายผู้สูญเสียเรียกร้องให้นำหลักฐานดังกล่าวมาสู่การพิจารณาของศาล หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ปฏิเสธว่าไม่มีภาพดังกล่าวถูกบันทึกไว้แต่อย่างใด

แล้วภาพที่ผู้บังคับบัญชาดูมันมาจากไหน เป็นหนังจาก Netflix หรือว่าเป็นจินตนาการส่วนบุคคลใช่หรือไม่ ก็ไม่เคยมีคำตอบเกิดขึ้นแต่อย่างใด 

กรณีพยานในที่เกิดเหตุก็มีความยุ่งยากในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่บุคคลที่ร่วมเหตุการณ์ก็มักจะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ที่มีชั้นยศต่ำกว่า การคาดหวังว่าบุคคลที่อยู่ในฐานะดังกล่าวจะไปให้ปากคำที่เป็นการปรักปรำต่อผู้มีอำนาจเหนือกว่าและต้องมีวิถีชีวิตอยู่ภายในค่ายเดียวกัน เขาจะสามารถวางใจถึงความปลอดภัยของตนเองได้อย่างไร คนที่มีอำนาจต่ำกว่าก็ตายไปให้เห็นด้วยตาตนเองแล้ว

แทบไม่เคยมีนายทหารหรือผู้บังคับบัญชาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงถูกลงโทษทางอาญาให้เห็น กรณีที่เป็นเรื่องซึ่งพอจะมีหลักฐานยืนยันได้บ้าง ความรับผิดก็จะตกอยู่กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน หรือไม่ก็เป็นเพียงการโยกย้ายออกจากตำแหน่งเดิมให้ไปอยู่ในตำแหน่งอื่นจนกว่าเรื่องราวจะเงียบหายไปจากสาธารณะ

การหลุดลอยไปจากความรับผิดของการใช้ความรุนแรงคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความตายของทหารระดับล่างสามารถเกิดขึ้นให้ได้ยินบ่อยครั้ง ตราบเท่าที่ความตายดังกล่าวไม่ถูกตรวจสอบให้กระจ่างและนำไปสู่การลงโทษต่อผู้ที่ต้องรับผิด การตายของทหารเกณฑ์ ทหารระดับล่าง หรือแม้กระทั่งนักเรียนทหาร ก็ยังสามารถได้ยินต่อไปในอนาคต


หมายเหตุ – บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง ‘วิสามัญมรณะ : ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ’ โดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save