fbpx

เรียบร้อยโรงเรียนสตอคโฮล์ม

ตลอดเดือนกันยายนปีนี้ ภาคประชาชนสวีเดนมีการจัดกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มข้นเข้มแข็งในหลากหลายสถานที่ และหลากหลายเมือง งานเหล่านี้ไม่ใช่งานรำลึกเหตุการณ์ 911 ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา หากแต่เป็นการหันมาทบทวนและประเมินเหตุการณ์รัฐประหารในชิลีเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

สถานการณ์ในวันที่ 11 กันยายน 1973 ซึ่งมีการรัฐประหารรัฐบาลของ ซัลบาดอร์ อาเยนเด (Salvador Allende) โดยนายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) และการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาและ CIA พร้อมๆ กับการขึ้นมาของเสรีนิยมใหม่ของเหล่าเด็กๆ ผู้ชายโรงเรียนชิคาโก อันอาจมิต้องเล่ารายละเอียดกัน ณ ที่นี้

สิ่งที่ผมจะเล่าในวันนี้ อาจจะเกี่ยวบางส่วนกับเรื่องราวของชาวชิลีที่มีอันต้องเดินทางลี้ภัยและหลบหนีออกจากระบอบการเมืองในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเรื่องราวของพวกเขาและเธอถูกนำมาเล่าถึง และมีการจัดงานทั่วไปในประเทศสวีเดน

เนื่องจากจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกา และลูกสมุนจักรวรรดินี้ในลาตินอเมริกา สร้างบรรยากาศที่ทำให้คนจำนวนมากในชิลี รวมทั้งคนทั่วภูมิภาค ต้องอพยพออกไปนอกประเทศทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร หนึ่งในจุดหมายปลายทางของผู้คนเหล่านี้คือประเทศสวีเดน

บรรยากาศในช่วงทศวรรษ 1970

อูลอฟ พัลเมอ
อูลอฟ พัลเมอ (ที่มาภาพ)

คงจะต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ถึงกลางทศวรรษที่ 1970 คือช่วงเวลาจุดสูงสุดของรัฐสวัสดิการสวีเดน ในขณะเดียวกัน จะต้องพิจารณาไปด้วยว่า มีกระบวนการวิภาษวิธี ซึ่งจุดสูงสุดที่ว่านี้ก็ได้ผลิตพลังที่ปฏิเสธตัวมันเองขึ้นมาด้วย (มีตัวอย่างในกรณีเรื่องการพิจารณา นิยายแนวนอร์ดิค นัวร์)

ในช่วงเวลาดังกล่าว โลกมักจะจำนายกรัฐมนตรีของสำคัญที่สุดคนหนึ่งของสวีเดน คือ อูลอฟ พัลเมอ (Olof Plame, 1927-1986) ซึ่งแทบจะเป็นตัวแทนของความสำเร็จของรัฐสวัสดิการสวีเดนทั้งมวล

สวีเดนในเวลานี้เปิดรับผู้อพยพทางการเมืองจากทั่วโลก ภายใต้นโยบายมนุษยธรรม และโดยเฉพาะการต่อต้านสงครามสหรัฐอเมริกาในที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งผู้คนจำนวนมากที่อพยพเข้าสวีเดนภายใต้ช่วงเวลาของอูลอฟ พัลเมอ คือชาวชิลี นั่นจึงทำให้ความทรงจำของผู้เป็นเหยื่อระบอบปิโนเชต์มีพัลเมอเป็นดั่งวีรบุรุษ ดังที่เห็นในการจัดงานรำลึก 50 ปีรัฐประหารครั้งนั้นในสวีเดนปีนี้

ปฏิปักษ์ปฏิรูป

เมื่อสิ้นทศวรรษที่ 1970 เป็นรัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (SAP) ของอูลอฟ พัลเมอ นี่เอง ที่เป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการเซาะกร่อนระบบรัฐสวัสดิการที่ตนเองและประชาชนผู้เสียภาษีร่วมสร้างกันมาหลายทศวรรษก่อนหน้า

วิกฤตที่สำคัญในเวลานั้นคือ ภาคการส่งออกของสวีเดนถูกท้าทายจากกลุ่มประเทศที่มีแรงงานราคาถูกกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอถูกผลักออกไปจากตลาดโดยสิ้นเชิง และเมื่อว่ากันไปที่อุตสาหกรรมการต่อเรือ ป่าไม้ และโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก สวีเดนก็พ่ายแพ้ให้กับผู้ผลิตจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นั่นจึงทำให้คนรู้สึกว่างานของตัวเองมีความไม่มั่นคงเป็นอย่างยิ่ง อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบหลายปี

และด้วยการต้องการแก้ไขวิกฤตนี้ รัฐบาลพรรค SAP พร้อมไปกับการเจรจากับสหภาพแรงงาน อันเป็นสองเสาหลักที่ค้ำจุนประเทศเอาไว้ ก็ตกลงกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องคงค่าจ้างเอาไว้ไม่ให้สูงไปกว่านี้ พร้อมๆ ไปกับการที่จะต้องหากำไรให้สูงขึ้น

เครื่องมือที่จะทำอย่างนี้ได้คือ ทันที่ที่รัฐบาล SAP เข้าบริหารประเทศในปี 1982 มีการประกาศลดค่าเงินทันที 16%

โรงเรียนสตอคโฮล์ม

แชล-อูลอฟ เฟลด์ต (ที่มาภาพ)

ในทศวรรษที่ 1980 เหล่านักเศรษฐศาสตร์ของพรรค SAP ก็เริ่มรวมตัวการจัดสัมมนาความเป็นไปได้ของการรับความคิดจากโรงเรียนชิคาโก ซึ่งในที่สุดก็เปิดเทอมกันอย่างเรียบร้อย ด้วยการนำของหัวหน้านักเรียนอย่าง แชล-อูลอฟ เฟลด์ต (Kjell-Olof Feldt, 1931-) ผู้ที่เป็นทั้งรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของสวีเดนในเวลาดังกล่าว

ในที่สุดการมุ่งผลิตเพื่อตลาดและการควบคุมอัตราเงินเฟ้อกลายเป็นวาระหลักของการดำเนินการทางการคลังของรัฐบาล และเมื่อถึงช่วงกลางทศวรรษก็ค่อยๆ เกิดการผ่อนคลายและลดกฎระเบียบ (deregulation) เพื่อการเคลื่อนย้ายของทุนอย่างสะดวก

ทั้งหมดนี้เปิดประตูให้เงินลงทุนระยะสั้นไหลทะลักเข้ามาในตลาดหุ้นสวีเดน โดยตลาดหุ้นพุ่งจาก 12% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในปี 1980 ไปเป็น 68% ในปี 1989 และเป็น 128% ในปี 2012 สูงกว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร

นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 1991 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของภาวะที่มีการจ้างงานเต็มที่ในสวีเดน พร้อมๆ กับต้องใช้เงินถึง 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจากผู้เสียภาษีทั้งหลายเพื่อมาอุ้มธนาคารเอาไว้เพื่อไม่ให้ล้มระเนระนาด

ตลาดหลักทรัพย์ในสตอคโฮล์ม (ที่มาภาพ)

เปลี่ยนประเด็น

พรรค SAP แก้ไขด้วยการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด (austerity) ขนานใหญ่ ลดค่าใช้จ่ายรัฐในภาคสาธารณะ มีการลดภาษีมรดก ลดภาษีความมั่งคั่งและภาษีที่อยู่อาศัย ทําให้อัตราภาษีของภาคการลงทุนลดลง เก็บได้ยากกว่าโดยเปรียบเทียบ ภาษีคนทํางาน เงินสวัสดิการจากรัฐลดลง ฯลฯ

ไม่ต้องนับเรื่องการพุ่งขึ้นของความไม่เท่าเทียม ในปี 2002 คนรวยที่สุดของสวีเดนมีความมั่งคั่งรายครัวเรือนร้อยละ18 ต่อทั้งประเทศ พอมาถึงปี 2017 คนรวยที่สุดมีความมั่งคั่งร้อยละ 42 ของทั้งประเทศ ฯลฯ

พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของระบบบำนาญผู้เกษียณอายุ ทั้งๆ ที่ความตั้งใจคือเพื่อให้ระบบมีเสถียรภาพเมื่อประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ผลคือทําให้เกิดสภาวะยากจนของประชาวัยเกษียณ (pensioner poverty) สูงอย่างยิ่งโดยเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในยุโรป และในสแกนดิเนเวียเอง ฯลฯ

NRM หนึ่งในผู้มาช่วยเปลี่ยนประเด็น (ที่มาภาพ)

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ คนก็ย่อมอยู่ในสภาพระแวดระวัง หน้าตาไม่แจ่มใส ไม่มีความสุข เมื่อมีคนสร้างภาพว่า ความผิดพลาดและความตกต่ำทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศเป็นความผิดของผู้อพยพ ประเด็นเรื่องการถกเถียงสาธารณะก็เปลี่ยนไปโดยพลัน กลายเป็นเรื่องเชื้อชาติ แทนที่จะเป็นเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งผลของมันมักจะไม่แสดงออกภายในทันที

คงจะเป็นอะไรที่เห็นได้ทั่วไปสำหรับพรรคชาตินิยมทั่วโลกว่า อะไรเลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศ ย่อมจะเป็นความผิดของชาวต่างชาติเสมอ

และนี่ก็เป็นสิ่งที่ชาวชิลีอพยพในสวีเดนบางส่วน – รวมทั้งผู้อพยพจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก – ประสบหลังจากที่พวกเขาและเธออยู่มาหลายทศวรรษตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970

เพราะส่วนใหญ่เรามักจะเห็นเรื่องราวที่ผู้อพยพที่ประสบความสำเร็จ สามารถบูรณาการเข้าไปในสังคมของประเทศยุโรปต่างๆ ได้

และเรามักจะหันหลัง พยายามไม่มองเห็นเรื่องราวล้มเหลวของเหล่า ‘ผู้แพ้’ ซึ่งไม่ใช่มีแต่กับผู้อพยพเท่านั้น แต่รวมถึงคนสวีเดนชนชั้นคนทำงานผู้หาเช้ากินค่ำด้วยเช่นกัน


อ้างอิง

https://abfstockholm.se/evenemang/50-ar-sedan-militarkuppen-i-chile/

– Göran Therborn, “Twilight of Swedish Social Democracy”, NLR,Sep/Oct 2018

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save