fbpx
'ฟ้าเดียวกัน' กับการเมืองไทย : คุยกับ ธนาพล อิ๋วสกุล ว่าด้วยยุคสมัยที่ใครๆ ก็ 'ฟันธง' ได้

‘ฟ้าเดียวกัน’ กับการเมืองไทย : คุยกับ ธนาพล อิ๋วสกุล ว่าด้วยยุคสมัยที่ใครๆ ก็ ‘ฟันธง’ ได้

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

“ตั้งแต่ให้สัมภาษณ์มา แทบไม่เคยมีใครชวนผมคุยเรื่องหนังสือเลย คุณน่าจะเป็นเจ้าแรก”

แปลก, คือความรู้สึกเมื่อได้ยิน ‘ปุ๊’ ธนาพล อิ๋วสกุล เปรยประโยคนี้ออกมา

อาจเพราะความคุ้นเคยในฐานะคนทำหนังสือ ประกอบกับชื่อของเขาที่ปรากฏในนามของบรรณาธิการบริหาร ‘ฟ้าเดียวกัน’ มาเนิ่นนาน

พ้นไปจากงานสำนักพิมพ์ เขารับจ้างปลุกปั้นนิทรรศการตามวาระ ควบคู่ไปกับการปิดทองหลังพระขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน

แล้วคนส่วนใหญ่มาคุยกับคุณเรื่องอะไร ผมสงสัย

“การเมือง”

ไม่แปลก, เพราะหากใครที่ได้ติดตามเฟซบุ๊กของเขาอยู่บ้าง ย่อมคุ้นเคยกับทัศนะทางการเมืองที่หล่นออกมาเป็นระยะ พร้อมจังหวะ ‘ฟันธง’ แบบหนักแน่น—แม่นบ้าง ไม่แม่นบ้าง

ในวาระที่งานสัปดาห์หนังสือกำลังขยับที่ทางใหม่ และภูมิทัศน์การเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ผมชวนธนาพลสนทนายาวๆ โดยแยกเป็นสองทาง

ทางหนึ่งว่าด้วย ‘ฟ้าเดียวกัน’ กับการเมืองไทย อีกทางว่าด้วยการเมืองไทยในสายตา ‘ธนาพล’

เมื่อสองทางนี้เคลื่อนมาบรรจบกัน บทสนทนาที่เกิดขึ้นจึงเป็นการค่อยๆ ไต่ไปบนประเด็นที่ทั้งสามัญและอ่อนไหวที่สุดในสังคมไทย

 

 

อยากทราบจุดกำเนิดคร่าวๆ ของ ‘ฟ้าเดียวกัน’

ปกติผมก็เป็นคนอ่านหนังสืออยู่บ้าง และมีความคิดที่จะทำหนังสืออยู่ในหัวมาตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา พอเรียนจบมา ช่วงนั้นเป็นวาระครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาฯ เราก็ไปช่วยเขาทำหนังสือ เป็นฝ่ายหาข้อมูล แล้วก็ช่วยทำนิทรรศการบ้าง ทีนี้ช่วงประมาณปี 2542-2543 อ.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ตอนนั้นแกอยู่ที่สถาบันพัฒนาการเมือง แกก็ชวนเราไปทำหนังสือ เป็นช่วงที่ได้เจอชัยธวัช ตุลาธน เป็นรุ่นน้องนักศึกษา ซึ่งชัยธวัชก็เป็นเพื่อนกับธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) อีกที พอผ่านไปสักพัก ก็มีความคิดว่าจะทำวารสารกัน

โมเดลที่จะทำ ฟ้าเดียวกัน ในตอนนั้น ประมาณปี 2544 คุยกันสามคน มีผม ชัยธวัช และธนาธร ไปคุยกันที่ตึกช้าง ก็นั่งวางแผนกัน คุยโมเดลธุรกิจกันเรียบร้อยว่าภายในหนึ่งปี จะทำอะไรยังไงได้บ้าง จนกระทั่งได้มาทำจริงๆ คือช่วงเดือนตุลาคม 2545 ตอนนั้นผมกับชัยธวัชออกจากงาน ส่วนธนาธรก็เริ่มไปดูแลธุรกิจของเขาแล้ว

 

โมเดลที่ว่า เป็นยังไง

โมเดลธุรกิจที่วางไว้มีอยู่สามขา ขาแรกคือขาสำนักพิมพ์ วิธีคิดในการทำสำนักพิมพ์ของเรา คือ แทนที่จะไปดูว่าใครประสบความสำเร็จ เราก็ไปดูว่าใครเจ๊งบ้าง ดูให้รู้ว่าเจ๊งเพราะอะไร เฮ้ย อันนี้เจ๊งเพราะขาดเงิน อันนี้เลิกทำเพราะสถานการณ์การเมืองมันเปลี่ยน หรือบางทีคนทำก็หมดแพชชั่น เราไปไล่ดูตัวอย่างเหล่านี้เพื่อที่จะไม่เดินตามรอยนั้น ในขาแรกนี้เราประเมินไว้แล้วว่า ถ้าไม่กำไรก็ไม่เป็นไร คือกำไรก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่แปลกใจ

ขาที่สอง มาจากการที่เราสามคนก็เป็นแอคทิวิสต์กันมาก่อนอยู่แล้ว เราเรียกขานี้ว่า การหนุนเสริมการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ถามว่าทำอะไรบ้าง ก็อย่างเช่น เวลามีประท้วง มีชุมนุม ถ้ามีใครขอให้ช่วย เราก็ไปช่วยทำทุกอย่างที่เป็นสื่อ

ส่วนขาที่สาม คือทำธุรกิจ ไล่ตั้งแต่การทำหนังสือที่เราถนัดกันอยู่แล้ว เริ่มจากพื้นฐานอย่างการรับจ้างจัดเลย์เอาท์ ไปจนถึงการรับเหมาทำทั้งเล่มเลย อีกอย่างที่รับทำก็คือนิทรรศการ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเนื้อหา อาศัยว่าก่อนหน้านั้นผมเคยรับทำนิทรรศการให้หลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์เสรีไทย ที่บึงกุ่ม

นี่คือสามขาทางธุรกิจ ที่ทำให้ฟ้าเดียวกันอยู่ได้ ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ถ้าเอาแค่ขาของการทำหนังสือจริงๆ มันอยู่ไม่ได้หรอก พูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่ทำมา ไม่เคยมีปีไหนที่อยู่ได้ด้วยการทำหนังสือล้วนๆ เลย

 

ขาที่เป็นสำนักพิมพ์ วางแผนยังไง ตั้งใจทำวารสารอย่างเดียวก่อน หรือจะทำหนังสือเล่มควบคู่กันไปด้วย

เราวางไว้ว่า ฟ้าเดียวกัน จะเป็นวารสารรายสามเดือน หนึ่งปีออกสี่เล่ม ส่วนหนังสือเล่มก็ทำควบคู่กันไป วางไว้ว่าอย่างน้อยหนึ่งไตรมาสต้องมีหนึ่งเล่ม ซึ่งสุดท้ายก็ไม่เป็นจริงหรอก (หัวเราะ)

ต้องเท้าความก่อนว่า การที่เราบอกว่าจะทำหนังสือวิชาการ คำถามที่เกิดขึ้นคือเราเป็นใคร ถ้ามองดูในแวดวงตอนนั้น ก็มีสำนักพิมพ์วิภาษา คบไฟ แล้วก็มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ นอกนั้นก็ไม่มีแล้ว คำถามที่เราถามกับตัวเองคือ เราเป็นใครวะ จู่ๆ จะมาทำหนังสือแบบนี้ อีกคำถามก็คือ ในมุมของนักเขียนที่เขามีต้นฉบับ ทำไมเขาต้องเอามาพิมพ์กับฟ้าเดียวกัน

ตอนนั้นเราก็คิดง่ายๆ เลย เอาแรงงานเข้าแลกก็ได้วะ ก่อนหน้านั้นผมเคยอ่านบทความของอาจารย์วีระ สมบูรณ์ ที่พูดถึงความสำคัญของการทำดรรชนี แกอ้างจากนักคิดฝรั่งคนหนึ่ง บอกว่าใครทำหนังสือแล้วไม่มีดรรชนี ขอให้ตายแล้วตกนรกขุมเท่าไหร่ก็ว่าไป (หัวเราะ) เราก็เอามาคิดต่อว่า เราจะรับประกันว่าจะดูแลต้นฉบับให้อย่างดี ที่สำคัญคือจะทำดรรชนีให้ ซึ่งเอาเข้าจริง ทำยากมากนะ แล้วใช้เวลาเยอะ ถ้าทำง่ายๆ ทุกสำนักพิมพ์คงทำกันหมด แล้วการที่เราทำ ไม่ใช่ว่าทำเพื่อให้มันมีอย่างเดียว แต่อยากทำให้มันฟังก์ชันด้วย

อีกทางหนึ่งที่เราพยายามทำ เพื่อแก้โจทย์ว่า ทำไมเขาต้องเอาต้นฉบับให้เรา เพราะเราเองก็แทบไม่มีต้นทุนอะไรเลย คือการพยายามไปคุย กับคนให้เยอะที่สุด เพื่อสร้างแบรนด์ของเรา ทำให้เขาเห็นความแตกต่างของเรา

ทีนี้พอมีวารสารออกมาเล่มแรก มีนาคม 2546 ก็ถือว่าฮือฮาระดับนึง ตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย วิธีการโปรโมตของเราก็คิดซื่อๆ เลย จะทำยังไงให้คนรู้ ผมก็ลิสต์รายชื่อคนที่คิดว่าเขาน่าจะสนใจจากเครือข่ายที่เราพอมีอยู่ ส่งไปให้เขาเลย แล้วก็เขียนจดหมายปะหน้าว่าถ้าสนใจอยากสมัครสมาชิก ต้องทำอะไรยังไงบ้าง

แล้วโดยเนื้อหาที่เราทำเล่มแรก คือเรื่องการเมืองภาคประชาชน เราเห็นว่ามันมีเบื้องหลังวิธีคิดอันนึงแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการไหนหรือกลุ่มไหน เวลาเดินขบวน เราจะเห็นเขาชูรูปในหลวงอยู่ด้วยเสมอ เมื่อเห็นภาพนี้ เราก็นึกย้อนไปถึงภาพของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ซึ่งในเล่มก็จะพูดถึงมุมนี้ด้วย มีบทสัมภาษณ์อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ชื่อว่า ‘การเมืองภาคประชาชน : ผ้าซับน้ำตา ภายใต้โลกาภิวัตน์’ ที่ชี้ให้เห็นว่า ถึงที่สุดแล้ว ในการเมืองไทยที่มันเป็นจริง มันยังมีบทบาทของสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องอยู่เสมอ โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นกันชน ที่คอยกันไม่ให้ประชาชนกับรัฐมาชนกันเอง

ตอนนั้นเราตั้งราคาขายไว้ต่ำมาก คือเล่มละ 80 บาท แล้วเราก็พยายามหาสมาชิก ทั้งนำเสนอแบบรายปี 300 บาท คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่คือคนไม่กล้าสมัครกัน เพราะกลัวว่าจะทำไม่ถึง อันนั้นก็เข้าใจได้

 

หลักในการคัดสรรและนำเสนอเนื้อหาของ ฟ้าเดียวกัน คืออะไร

ฟ้าเดียวกันไม่ใช่สำนักคิด เราไม่มีความสามารถที่จะเสนอทฤษฎีหรืออะไรทำนองนั้น แต่เราก็ตามอ่านอยู่ว่าใครเสนออะไรยังไงบ้าง เครื่องมืออย่างหนึ่งที่เราใช้คือข้อสงสัย เพราะเราเชื่อว่าคำตอบมันอยู่ที่คำถาม คำถามก็มาจากข้อสงสัย ข้อสงสัยก็เริ่มมาจากการไม่เชื่อ หรือคุณอาจจะเชื่อก็ได้ แต่ไม่ควรเชื่อแบบ 100%

เราตั้งคำถามกับการเมืองภาคประชาชน ตั้งคำถามกับรัฐธรรมนูญ ตั้งคำถามกับสันติวิธี ตั้งคำถามกับทักษิณ ผ่านรูปแบบของการไปหาบทความมาบ้าง ไปสัมภาษณ์บ้าง สปิริตในการทำงานของเราคือเริ่มจากการไม่เชื่อ

หลักๆ คือเรารู้สึกว่ามันยังไม่มีหนังสือที่เราอ่านแล้วแฮปปี้ อันนี้น่าจะเป็นหลักคิดของพวกเราก็ว่าได้ ถ้าคุณอยากได้ คุณก็ต้องลงมาทำเอง ถามว่าปัญหาสังคมช่วงนั้นมีอะไรบ้าง ช่วงปี 2544-2545 ก็ไล่ตั้งแต่เรื่องการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ไปจนถึงการเมืองเชิงโครงสร้าง

เวลาเราพูดถึงปัญหาการเมืองไทย มันไม่ได้มีแต่เรื่องของนักการเมืองอย่างเดียว การเมืองไทยมีอะไรซับซ้อนกว่าสิ่งที่เห็นแค่พื้นผิว มันมีเรื่องอำนาจนอกระบบ มีการเมืองเชิงวัฒนธรรม รวมถึงบทบาทและตัวละครอื่นๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ช่วงนั้นผมจำได้ว่า ทหารไม่ได้มีบทบาทมากขนาดนี้ เอาแค่ผบ.ทบ. ในปี 2546 ที่วารสารออกมา ชื่ออะไรคนยังจำไม่ได้เลย แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่เฟื่องฟูมากคือบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งต่อเนื่องมาจากหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ยุคนี้เพลงภาพที่มีทุกบ้านเริ่มปรากฏแล้ว

ณ วันเวลานั้นคนอาจยังมองไม่เห็น ความสนใจเรื่องบทบาทสถาบันกษัตริย์ ในฐานะองค์กรทางการเมืองหนึ่ง ไม่ว่าจะเรียกว่ามีสถานะเหนือการเมือง หรืออะไรยังไง ยังมีไม่เยอะ คนหนึ่งที่โดดขึ้นมาก็คืออาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นอกนั้นก็มีของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล บ้าง รวมถึงความระหว่างบรรทัดของนักวิชาการอีกหลายๆ คน แต่ถ้าเราขยับไปดูโลกของภาษาอังกฤษ จะเห็นเลยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่มีการพูดกันมานานแล้ว

การที่เราสนใจและอยากเสนอเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะเราไม่เห็นด้วยหรืออยากปฏิเสธบทบาทของสถาบันที่ว่านี้ แต่เรารู้สึกว่า คุณไม่สามารถทำเหมือนสถาบันนี้ไม่อยู่ในสมการของการเมืองไทยได้ ไม่ว่าอย่างไรสถาบันกษัตริย์ก็คือตัวแสดงหนึ่งแน่ๆ แล้วเมื่อไรก็ตามที่คุณจะวิเคราะห์การเมืองไทย คุณต้องนำปัจจัยนี้มาวิเคราะห์ด้วย ดังที่เราเปิดเล่มด้วยเรื่องการเมืองภาคประชาชน ซึ่งดูเหมือนไม่เกี่ยว แต่ก็เกี่ยวพันกับสถาบันอย่างแนบแน่น

อีกเรื่องที่เราตั้งใจว่าจะทำ มาจากความรู้สึกที่ว่าข้อถกเถียงหลายอย่าง ถ้าคุณอยู่ในโลกของภาษาไทยอย่างเดียว มันไม่ได้ไปไกลเท่าไหร่ ซึ่งถ้าคุณไปอ่านงานของฝรั่ง เขาไปไกลกว่านั้นแล้ว พูดง่ายๆ ว่าหลายเรื่อง งานวิชาการไทยยังตามไม่ทันของฝรั่ง ดังนั้นภารกิจอย่างหนึ่งของเราในการทำสำนักพิมพ์ คือการเอาความรู้เรื่องไทยศึกษาในระดับสากล ให้กลับมาสู่สังคมไทย รูปแบบหนึ่งก็คือการแปล แปลหนังสือ แปลบทความวิชาการต่างๆ

 

 

จำได้ว่าพอทำไปสักพัก ฟ้าเดียวกันมีเว็บบอร์ดของตัวเองด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คึกคักอยู่เหมือนกัน

ใช่ๆ เราทำฟ้าเดียวกันเล่มแรก ตอนปี 2546 ถัดมาช่วงปี 48-49 ก็เริ่มมีเว็บบอร์ด ด้านหนึ่งคือเอาไว้ประชาสัมพันธ์กับขายหนังสือนี่แหละ แต่อีกด้านเราก็อยากทำให้มันไปไกลที่สุดด้วย ไกลที่สุดของความเป็นเว็บบอร์ดคืออะไร ก็คือต้องไม่มีเซ็นเซอร์ ใครอยากเขียนอะไร คอมเมนต์อะไร ทำได้หมด นั่นคืออุดมคติ แต่โอเค ถึงเวลาเราก็ต้องกรองอยู่ดี

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นตอนนั้นคือ ข้อเขียนหลายๆ อย่าง มันไปไกลกว่าหนังสือพิมพ์แน่ๆ โดยพื้นที่ โดยฟังก์ชันของมัน อย่างคุณปิยบุตร แสงกนกกุล เขาก็เขียนมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว หรืออาจารย์สมศักดิ์ก็เป็นขาประจำ ประกอบกับที่มันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย เฟซบุ๊กยังไม่มา แต่การเข้าถึงองค์ความรู้ ส่งต่อความรู้ต่างๆ ก็เริ่มย้ายมาอยู่ในออนไลน์แล้ว เริ่มแจกไฟล์กันแล้ว หลังไมค์บ้าง ผ่านอีเมลบ้าง ตั้งกรุ๊ปบ้าง

นั่นคือยุคแรกๆ ที่ทำสำนักพิมพ์ คือเริ่มจากวารสาร แล้วก็หนังสือเล่ม แต่ถึงเวลาทำจริงๆ มันไม่เป็นอย่างที่คิดหรอก ไม่ง่ายขนาดนั้น จากที่วางไว้ว่าปีละ 8 เล่ม แล้วพอผ่านไปสัก 5 ปี เดี๋ยวก็คงมีเล่มที่ต้องรีปริ้นท์ใหม่ สุดท้ายมันก็ไม่เป็นจริงหรอก ก็ต้องบาลานซ์ทั้งสามขาว่าจะเอายังไง ต้องมีการกู้หนี้ยืมสิน เป็นธรรมดาของการทำธุรกิจ

 

ทุกวันนี้ ยังใช้โมเดลสามขาแบบเดิมอยู่มั้ย

ยังใช้อยู่ครับ ต้องสามขาอยู่แล้ว ไม่งั้นไม่รอด

 

แสดงว่าแง่หนึ่งก็ยังเวิร์กอยู่ เพราะก็อยู่มาได้ 15-16 ปีแล้ว

แง่หนึ่งก็คิดว่าเวิร์กนะ อย่างเวลาได้ฟังวิธีคิดคนอื่น บางสำนักพิมพ์อยู่ได้ด้วยหนังสือล้วนๆ ผมก็ทึ่งนะ ออกปีละเป็นสิบเล่ม แต่สุดท้ายถ้าพูดภาษาแบบนักเศรษฐศาสตร์ ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเลือกเส้นทางการพัฒนาแบบไหน (หัวเราะ) คุณจะเอาแบบฝูงห่านบิน หรือแบบก้าวกระโดด อะไรก็ว่าไป

อย่างเล่มของอ.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด (ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย) ที่เพิ่งออกมาเมื่อต้นปี ใช้เวลาทำสิบปีนะ กว่าจะได้ออก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความบ้าบิ่นของเราด้วย คือทุกฟุตโน้ตที่อ้าง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในหอจดหมายเหตุ เรากลับไปเช็คต้นทางทุกอันเลย ปรากฏว่าพอทำไปสักระยะ หอจดหมายเหตุเปลี่ยนระบบใหม่ ใช้รหัสการสืบค้นแบบเดิมไม่ได้ ก็ต้องไปงมกันใหม่ ซึ่งสุดท้ายก็โอเค เพราะการที่คุณได้กลับไปอ่านต้นฉบับจริงๆ มันช่วยให้งานรัดกุมขึ้นด้วย รวมทั้งประสบการณ์ในการทำงานแปลด้วย

แน่นอนว่าถ้ามองในเชิงเศรษฐศาสตร์ วิธีทำงานแบบนี้ก็อาจไม่คุ้มค่าเท่าไหร่ เพราะเล่มเดียวคุณใช้เวลาทำสิบปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าความคุ้มของคุณคืออะไรด้วย

 

ความคุ้มค่าของฟ้าเดียวกัน คืออะไร วัดจากอะไร

ถ้าความคุ้มเรื่องเม็ดเงินทางธุรกิจ ก็คงไม่คุ้ม แต่ถ้าเราประเมินว่า ถึงที่สุดถ้าเล่มนี้ได้พิมพ์ออกมา สิบปีผ่านไป ยี่สิบปีผ่านไป เราอาจไม่ต้องแก้มันอีกแล้ว มันอาจจะคุ้มในระยะยาว ขณะเดียวกัน การที่คุณจะทำหนังสือเป็นสิบปีอย่างนี้ได้ คุณก็ต้องมีขาอื่นๆ มาซัพพอร์ต ไม่งั้นมันก็เจ๊ง

เราไม่ใช่นักบุญอยู่แล้ว เราทำธุรกิจ เราก็เซ็งลี้ เราคิดว่าเราจะมอบสินค้าที่ดีที่สุดให้กับสังคม ความคุ้มของการทำหนังสือด้านปัญญามันไม่ได้วัดที่ตัวเงินหรือกำไรอย่างเดียว แต่ถ้าคุณสามารถทำให้ประเด็นที่คุณนำเสนอ เกิดการต่อยอดได้กับคนอ่าน กับสังคม อาจไม่ต้องชมก็ได้นะ เอาไปด่าก็ได้ คิดยังไงเห็นยังไงก็ด่ามา เราถือว่าคุ้ม หนังสือที่ไม่คุ้มที่สุดคือหนังสือที่หายต๋อม ไม่มีคนพูดถึงเลย

ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า อะไรที่คนไม่พูดถึงเลย หรือไม่ถูกนำไปใช้อะไรเลย มันคือความสูญเปล่า

 

เอาเข้าจริง โจทย์นี้ก็ยากเหมือนกัน การทำหนังสือให้คนพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อ มีหลักการหรือวิธีคิดยังไงในการทำแต่ละเล่ม

ข้อแรกคือเราเชื่อว่ามีผู้อ่าน ใครที่บอกว่าหนังสือวิชาการไม่มีคนอ่าน เราไม่เชื่อ ถ้าเป็นแบบนั้นแปลว่ามันยังไม่มีหนังสือที่ดีพอรึเปล่า

เราไม่ได้บอกว่าเราทำหนังสือที่ดีได้นะ แต่เราคิดว่าอย่างน้อยๆ หนังสือที่เราทำออกมามันต้องมีคนอ่าน ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์ได้ประมาณนึง ต่อให้คุณพิมพ์ปีนี้ ถ้าหนังสือมันฟังก์ชันจริง มันดีจริง ปีนี้อาจขายไม่ได้ แต่อีก 3 ปี 5 ปี ถ้าประเด็นนี้มันบูมขึ้นมา หรือวนกลับมา มันอาจขายได้ก็ได้

ยกตัวอย่างหนังสือของอาจารย์สมศักดิ์ ‘ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง’ ตอนพิมพ์ปี 2544 โดยสำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึกของ อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ขายได้ไม่เท่าไหร่หรอก แต่พอวันเวลาผ่านไป มันขายได้ เพราะมันมีคำตอบสำหรับบางอย่างอยู่ ถ้าสถานการณ์เปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ถ้าหนังสือคุณยังตอบคำถามบางอย่างได้อยู่ คนก็กลับมาอ่านอยู่ดี และอาจจะมากกว่าตอนที่พิมพ์ครั้งแรกก็ได้ หนังสือดีๆ หลายเล่มในโลกก็เป็นเช่นนี้

 

แล้วคุณประเมินยังไงว่าหนังสือแบบไหน เนื้อหาแบบไหน ที่คนจะย้อนกลับมาอ่านในสักวัน

ความฟลุ๊คมั้ง (หัวเราะ) บางเรื่องเราก็พอมองออก เช่นหนังสือของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง แกเขียนบทความชิ้นแรกวิวาทะว่าด้วยสมุดปกเหลือง ตอนปี 2544 เราก็มองว่า เฮ้ย เรื่องนี้มาแน่นอน ก็เลยคิดต่อยอดเป็นชุด ‘กษัตริย์ศึกษา’ ตอนที่คิดชื่องานชุดนี้ ผมนั่งไล่ฟังเพลงพระราชนิพนธ์หลายรอบ (หัวเราะ) ถามว่าทำไมถึงรู้ว่ามาแน่ แง่หนึ่งก็เหมือนแทงหวย แต่อีกแง่เราก็เห็นว่ามันมีพื้นฐานอยู่ว่าถ้าจะพูดถึงปัญหานี้ คุณไม่พูดเรื่องนี้ไม่ได้

ถึงที่สุด มันอยู่ที่ว่าคนอ่านเป็นใคร อาจไม่จำเป็นต้องเยอะก็ได้ แต่กลุ่มที่มีอยู่ อาจเป็นกระบอกเสียงที่ส่งต่อหรือพูดถึงหนังสือเราให้ไปสู่คนวงกว้างมากขึ้นก็ได้ ผมมองว่าสื่อแต่ละประเภทมีช่องทางสื่อสารและกลุ่มเฉพาะของมันอยู่

 

ปัจจุบัน ธนาธรยังคงเป็นนายทุน-ท่อน้ำเลี้ยงให้ฟ้าเดียวกันหรือไม่ และมีอิทธิพลต่อการผลิตเนื้อหาของฟ้าเดียวกันแค่ไหน อย่างไร

ธนาธรน่าจะมีผลอย่างเดียวต่อฟ้าเดียวกัน คือตอนที่เริ่มก่อตั้ง เราคิดร่วมกันว่าเราอยากได้เนื้อหาแบบไหน ออกแบบองค์กรอย่างไร ซึ่งถ้านับจากปี 2544 ถึงตอนนี้ก็จะ 20 ปีแล้ว เวลา 20 ปี ผมคิดว่าแต่ละคนก็มีเส้นทางเป็นของตัวเอง เขาเปลี่ยนจากแอคทิวิสต์ เป็นนักธุรกิจ แล้วเป็นนักการเมือง ส่วนผมก็ยังอยู่ที่เดิม ในด้านเนื้อหาผมคิดว่าเราโตพอที่จะให้เกียรติซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงไม่มีผลต่อการผลิตเนื้อหาของฟ้าเดียวกันแต่อย่างใด หรือถ้าจะมีผลอย่างไร ผมคิดว่าคนอ่านจะเป็นคนตัดสินเอง

 

 

ฟ้าเดียวกัน นำเสนอเรื่องสถาบันกษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้สำคัญยังไง

สำคัญมาก เพราะถึงที่สุดคุณจะไม่สามารถเข้าใจการเมืองไทยได้เลย ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้ มันคือ Elephant in the room คุณมองไม่เห็นมันไม่ได้ ใครก็รู้ว่าเรื่องนี้สำคัญ สมมติถามเล่นๆ ว่า ใครคิดว่าสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยไม่สำคัญบ้าง ผมว่าไม่มีใครกล้ายกมืออยู่แล้ว ทุกคนรู้ว่ามันสำคัญ

แล้วถ้าคุณไปอ่านงานวิชาการของฝรั่ง ที่เขียนเกี่ยวกับเมืองไทย ก็แทบไม่มีเล่มไหนที่ไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย แต่สำหรับคนไทยที่อยู่ในสังคมไทย เราก็พอรู้กันว่ามันมีเส้นอยู่ ถ้าคุณบอกว่าสำคัญ แต่พูดไม่ได้ อย่างน้อยแปลว่าคุณก็ยังตระหนักว่ามันสำคัญ หรือจะบอกว่าละไว้ในฐานที่เข้าใจ ก็ยังดีกว่าบอกว่าไม่สำคัญเลย

 

ในเมื่อเห็นว่ามันสำคัญ แต่ด้านหนึ่งก็มีเส้นในการพูดถึงเรื่องนี้ ฟ้าเดียวกันมีวิธีการพูดหรือสื่อสารประเด็นนี้ยังไง

โดยส่วนตัว ผมไม่ค่อยชอบคำว่า ‘พูดแบบนักวิชาการ’ เท่าไหร่ เพราะถึงคุณไม่ใช่นักวิชาการ คุณก็ควรจะพูดได้

ถามว่าฟ้าเดียวกันพูดแบบไหน ผมใช้คำว่าพูดแบบให้เกียรติกันแล้วกัน ข้อแรกคือมันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแน่ๆ ตราบใดที่ประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญ ยังไงสถาบันกษัตริย์ก็ถือเป็นหนึ่งในสถาบันทางการเมืองแน่ๆ เพราะมีเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญ อยู่ในหมวด 2 ด้วยซ้ำ

เรามองว่านี่คือส่วนหนึ่งของสถาบันทางการเมืองของไทย แต่จะพูดถึงในมิติไหนบ้าง มิติการเมือง มิติเศรษฐกิจ มิติศิลปะวัฒนธรรม อะไรก็ว่าไป คุณจะบอกว่าเรื่องอื่นๆ สำคัญกว่าก็ได้ เช่น คุณบอกว่าตอนนี้เรื่องทรัพยากรสำคัญกว่า ไม่มีปัญหา แต่อย่ามาบอกว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญเลย อาจสำคัญเป็นอันดับสอง อันดับสามก็ได้ เพราะถึงที่สุดแล้วเราปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือปัจจัยที่มีความสำคัญและมีบทบาทต่อการเมืองไทย

 

จากกรณีล่าสุด ที่ฟ้าเดียวกันประกาศเปิดรับต้นฉบับในวาระ ‘100 ปี ซีพี’ และได้รับจดหมายเตือนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เรื่องการนำโลโก้ของซีพีไปดัดแปลงและใช้ในเชิงพาณิชย์ อยากทราบกระบวนการคิดว่า ตอนได้รับจดหมายฉบับดังกล่าว คุณประเมินสถานการณ์ยังไง แล้วคิดกันยังไงถึงปรับออกมาเป็นรูป ซีพี เวอร์ชั่น ‘แพคแมน’ อย่างที่เราเห็นกัน

ตอนเห็นจดหมายจากฝ่ายกฎหมายซีพี โดยไม่ต้องเปิดดูผมก็พอจะรู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราไม่กลัว แต่คิดว่าความยุ่งยากเกิดขึ้นกับคนเขียนของเราแน่นอน คุณเล่นขู่แบบนี้ก็ต้องมีคนถอยบ้างแหละ ส่วนฟอนต์แพคแมน คือฟอนต์ ดีบี ทอย เอ็กส์ จริงๆ แล้วโลโก้ซีพี ถ้าเราไปดูมันก็คือแพคแมนเพิ่มมา 1 กลีบนั่นแหละ คุณไปเอากลีบบัวออกมันก็คือแพคแมนแล้ว

 

เรื่องซีพี สำคัญยังไงต่อสังคมไทย พอจะเทียบเคียงว่าเป็น Elephant in the room เหมือนเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้ไหม 

ซีพีสำคัญแน่นอน หนึ่งคือเรื่องขนาดของธุรกิจที่ใหญ่มาก แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับการดำเนินธุรกิจของซีพี และความสัมพันธ์กับรัฐบาลในแต่ละชุด อย่างในอดีตที่เราเห็นรัฐมนตรีซีพี ในความหมายว่ามีรัฐมนตรีหรือข้าราชการประจำหลายคนที่เคยทำงานให้ซีพี แล้วมาเป็นรัฐมนตรี หรือออกจากรัฐมนตรีแล้วไปทำงานให้ซีพี

แน่นอนว่าซีพีไม่ได้มีกฎหมาย ม.112  แต่เครือข่ายทางธุรกิจของซีพี และการใช้กระบวนการกฎหมายปิดปาก ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย

 

ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลังความขัดแย้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ฟ้าเดียวกันถูกโจมตีจากฝั่งหนึ่งว่าเป็นพวกล้มเจ้า ล้มล้างสถาบัน คุณมองเรื่องนี้ยังไง

ส่วนตัวผมไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เรารู้ว่าเราทำอะไร อยู่ตรงไหน

ถ้าดูในเชิงการเมือง เราคิดว่าเราอยู่ที่เดิม เราเป็นเหมือนเดิม แต่เวลาผ่านไป บางคนที่ครั้งหนึ่งเคยชมเรา อาจเปลี่ยนมาด่าเราก็ได้ หรือคนที่เคยด่ามาตลอด อาจไม่ได้ชม แต่รู้สึกว่าอยากหันมาคุยกันได้ ผมว่าเราไม่ได้เปลี่ยน ส่วนคนอื่นจะเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขา

 

ที่บอกว่าไม่เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนยังไง

หนึ่ง เราไม่เอาอำนาจนอกระบบแน่ๆ เราเคารพเสียงของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้ามาจากการเลือกตั้งแล้วเราต้องมอบอำนาจให้ 100% วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เลย เราไม่ทำแบบนั้น เอาเข้าจริงมันคือเรื่องพื้นฐานที่สุดของระบบเสรีประชาธิปไตยด้วยซ้ำ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นเลย

ในทางกลับกัน คนที่เคยเชื่อในเสรีประชาธิปไตย เคยรับไม่ได้กับทักษิณ แต่มาวันหนึ่ง ดันบอกว่าต้องเชียร์รัฐประหาร เพราะทักษิณมันเลวร้ายกว่า ผมถามง่ายๆ เลยว่า ใครล่ะที่เปลี่ยน ตัวผมยังยืนอยู่ที่เดิม จุดยืนทางการเมืองของเราคือเสรีประชาธิปไตย เราไม่เปลี่ยนแน่ๆ

 

ถ้าให้ลองวิเคราะห์คนที่เปลี่ยน คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร

ผมว่ามันคือการแสดง เอาง่ายๆ ว่าผมบอกได้เลยว่าแกนนำพันธมิตรฯ บางคน เช่นคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่มีทางเชื่อเรื่องนี้ หรืออย่างคุณพิภพ ธงไชย ที่ครั้งหนึ่งเคยทำเรื่องการศึกษาเด็ก เชียร์ปรีดี พนมยงค์ เคยพูดให้ผมได้ฟังกับหูว่าปัญหาของบ้านเมืองเราคือวัฒนธรรมศักดินา จู่ๆ วันหนึ่งก็บอกว่าทักษิณมันเลวร้ายกว่า ผมว่ามันคือการแสดง จริงๆ เขารู้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร หรือถ้าย้อนไปตอนเด็กๆ ที่ผมเป็นนักศึกษา หากจะหาอาจารย์สักคนที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์แบบฮาร์ดคอร์ คนนั้นคืออาจารย์ภูวดล ทรงประเสริฐ แล้ววันหนึ่งแกก็ไปขึ้นเวทีพันธมิตรฯ  แล้วชี้หน้าคนที่ไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรว่าล้มเจ้า แบบนี้ถามว่าเปลี่ยนมั้ย

อย่างผมเอง ผมไม่เคยทำตัวแบบนั้นแน่ๆ แล้วปัจจุบันก็ไม่ทำ ถามว่าคนเหล่านั้นเขาเปลี่ยนเพราะอะไร ผมว่าวิธีคิดของคนเหล่านี้ก็คือ ‘ทุนสามานย์ – ศักดินาล้าหลัง’ คือศักดินาล้าหลังเดี๋ยวมันก็พัง ทุนสามานย์แม่งเลวร้ายกว่า ดังนั้นเราต้องสามัคคี ศักดินาล้าหลังจะโค่นล้มทุนนิยมสามานย์ แค่นี้แหละ

 

 

แล้วถ้าถามในมุมกลับว่า ทำไมทักษิณถึงกลายมาเป็นปีศาจร้ายแห่งยุคสมัย

อยู่ที่ว่าจะใช้กรอบอะไรมอง ถ้าใช้กรอบแบบนักการเมืองทะเลาะกัน ก็อาจมองได้ว่า คุณแพ้ไปแล้วนี่หว่า ออกนอกประเทศไป ก็จบ เหมือนจอมพล ป. ถูกรัฐประหาร ไปเมืองนอกก็จบ สฤษดิ์ตาย ถนอมถูกไล่ออกไป ก็จบ สุจินดาก็จบ ถ้าใช้กรอบของนักการเมืองทะเลาะกัน ก็จบตรงนี้

แต่ถ้าเปลี่ยนเลนส์ใหม่ว่าปัญหาของทักษิณไม่ใช่แค่เรื่องนักการเมืองทะเลาะกัน แต่อาจเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นรึเปล่า

ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ทักษิณขึ้นมาได้ด้วยรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งผมเห็นด้วยว่ามันเป็นระบบกึ่งประธานาธิบดี นั่นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งผ่านระบบปาร์ตี้ลิสต์ เป็นครั้งแรกที่เสียงประชาชน เสียงของความนิยมในตัวผู้นำ ได้รับการนับ ที่ผ่านมาก่อนหน้านั้นไม่เคยมีการนับ ไม่เคยมีระบบ one man one vote ด้วยซ้ำ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะว่ายังไง ทักษิณบอกว่าผมมาจาก 11 ล้านเสียง นี่คือครั้งแรกที่คำว่า ‘ประชาชนทุกหมู่เหล่า’ ถูกนับจริงๆ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2540 ยังทำให้เกิดภาวะของนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็งมาก การจะอภิปรายนายกฯ ได้ คุณต้องมีอย่างต่ำ 201 เสียงจาก 500 เสียง ส่วนบัญชีรายชื่อของพรรคไหนที่คะแนนไม่ถึง 5% ก็ปัดตกแล้วเอาคะแนนไปรวมพรรคใหญ่ พูดง่ายๆ คือมีหลายขั้นตอนมากที่ช่วยสร้างทักษิณให้ยิ่งใหญ่เกินจริง แต่อีกมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษิณสามารถส่งมอบนโยบายได้จริง จากการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก

ขณะเดียวกัน การที่ทักษิณได้ 11 ล้าน ผมมองว่ายังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเท่าปัจจัยในฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเล่นการเมืองในระบบ นั่นคือเมื่อคุณแข่งขันทางการเมืองไม่ได้ คุณสู้ไม่ได้ คุณเลยไปเอาอำนาจนอกระบบมา ประเด็นคืออำนาจนอกระบบไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้ ตราบที่นักการเมืองยังเล่นในกติกา การที่อำนาจนอกระบบเข้ามาได้ เพราะมีนักการเมืองในระบบที่ไม่เล่นตามกติกา คุณไปบอยคอตเลือกตั้ง นั่นคือการหาช่องให้เกิดรัฐประหาร ใครๆ ก็อ่านออก

หลังจากนั้น มันก็เป็นการชนกันของสิ่งที่เรียกว่าระบบ ประชาสัมพันธ์ vs ประชานิยม พูดง่ายๆ คือสถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยการประชาสัมพันธ์ เพราะสถาบันกษัตริย์ไม่ได้มีกำลังคน ไม่ได้มีงบประมาณ ถามว่าประชาสัมพันธ์ผ่านอะไร ก็เช่นโครงการพระราชดำริ ซึ่งก็คือ showcase อย่างนึง เช่นกรณีหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (โครงการพอ.สว.) ที่เป็นแพทย์ออกหน่วย ซึ่งจริงๆ คือแพทย์วันหยุด เดือนสองเดือนคุณถึงออกหน่วยครั้งนึง ไปออกวันนึงก็ได้สักสองหมู่บ้าน ประเด็นอยู่ที่ว่าพอมีการไปออกหน่วย มันก็มีการออกทีวี พอมีการออกทีวี อย่างน้อยคนก็เชื่อว่าระบบนี้เป็นระบบที่ดูแลผู้คนได้นะ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขแบบนี้อยู่นะ และส่งผลให้คนคิดว่านโยบายนี้อยู่ใต้ร่มพระบารมี

ขณะที่ทักษิณทำ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่จำเป็นต้องมีพอ.สว.เลย โรงพยาบาลก็อยู่ที่เดิมนั่นแหละ มีงบประมาณลงไปให้ แล้วคนก็ไปรักษาในราคาที่ถูกลง นี่คือประชานิยม สองระบบนี้ไม่ได้มีปัญหากันมากนัก แต่ประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งแล้วไปร่วมมือกับการเมืองภาคประชาชนที่เอียงขวาแบบพันธมิตร ใช้ปัจจัยเรื่องสถาบันมาร่วมล้มรัฐบาล

ถามว่าจะล้มทักษิณได้ยังไง ตอนเลือกตั้งปี 2548 ทักษิณได้ 370 กว่าเสียง ประชาธิปัตย์มี 90 กว่าเสียง ต่อให้ชาตินึงก็ไม่มีทางชนะ ก็เลยต้องบอยคอตเลือกตั้ง ให้ทหารเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วคุณก็ยังแพ้อีก แล้วก็บอยคอตเลือกตั้งอีกในปี 2557 แต่คราวนี้ทหารไม่เอาประชาธิปัตย์แล้ว กูลุยเองเลย

 

ถ้าวิเคราะห์ในมุมของประชาธิปัตย์ จากการพยายามดึงอำนาจนอกระบบมาเอี่ยวหลายครั้ง ถึงวันนี้คิดว่าประชาธิปัตย์มีพัฒนาการ หรือได้บทเรียนอะไรบ้าง

ผมว่าอย่างน้อยคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) กับไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) เขาก็ได้เรียนรู้นะ ส่วนจุรินทร์ (ลักษณวิศิษฎ์) นี่ไม่แน่ใจ ต้องบอกก่อนว่าผมนี่แฟนพันธุ์แท้ประชาธิปัตย์นะครับ ตามไปฟังคุณชวน หลีกภัย ปราศรัยตั้งแต่ปี 2529 ผมว่าผมเป็นคนที่รู้เรื่องประชาธิปัตย์ดีคนหนึ่งล่ะ (หัวเราะ)

ถามว่าปัจจุบันผมมองยังไง ผมมองว่าประชาธิปัตย์ยังแพ้ไม่พอ อาจต้องรอครั้งหน้า ให้เหลือสัก 30 เสียง ถึงจะปรับตัว ปัจจุบันที่ได้มา 50 เสียงนี่ยังเยอะไป

ความเป็นประชาธิปัตย์ มาจากสองส่วนใหญ่ๆ หนึ่งคือมาจากระบบราชการ ซึ่งไม่สามารถคิดอะไรนอกกรอบได้จริงๆ สองคือมาจากพวกทนาย ก็คือนายหัวชวนของเรานี่แหละ ไม่ใช่ว่าทนายเป็นอาชีพที่ไม่ดีนะ แต่จุดด้อยคือมันเป็นอาชีพที่สู้กันด้วยโวหาร เพื่อโน้มน้าวให้คนเชื่อ ซึ่งจะหลอกคนได้สักกี่ครั้ง

ในสนามการเมืองคุณใช้โวหารอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีผลงานที่จับต้องได้ออกมาด้วย ซึ่งผมมองว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้คิดเรื่องนี้อย่างเพียงพอ อีกเรื่องคือไม่ว่าจะผ่านเวลาไปแค่ไหน ภาพลักษณ์ที่ออกมาก็มักจะเป็นพิมพ์นิยมแบบนี้เสมอ

 

แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด แม้จะได้แค่ 50 เสียง สุดท้ายประชาธิปัตย์ก็ยังหาที่ทางให้ตัวเองได้อยู่ดี อย่างคุณชวน หลีกภัย ก็ได้เป็นประธานสภา

พูดแบบโหดๆ เลยนะ ผมว่าคุณชวนแกเอาตัวรอด ชิ่งไปเป็นประธานสภา อภิสิทธิ์ก็เลยซวยไป ต้องยอมลาออก เพราะไม่อย่างนั้นก็ต้องไปโหวตเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ

ถึงที่สุดถ้าประชาธิปัตย์ยังไม่รู้สึกว่าที่ผ่านมาคือความล้มเหลว คือความพ่ายแพ้ เอาง่ายๆ ว่าเลือกตั้งครั้งหน้า เทียบกับภูมิใจไทยก็ได้ ผมว่าภูมิใจไทยจะแซงประชาธิปัตย์ แซงแน่นอน 100% เพราะทุกวันนี้ภูมิใจไทยมีแต่จะเติบโตในภาคใต้ ถามว่าแล้วประชาธิปัตย์จะอยู่ตรงไหน ถ้ายังไม่ปรับตัว ผมว่าประชาธิปัตย์จะเป็นเหมือนพรรคชาติไทยในยุคที่ร่วงโรย

 

แล้วพรรคอนาคตใหม่ล่ะ ถือเป็นตัวแปรสำคัญแค่ไหนในการเมืองไทยถัดจากนี้

ปฏิเสธไม่ได้หรอก ยังไงก็สำคัญ แต่ดูแล้วก็ยังมีความเสี่ยง แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของผู้นำของอนาคตใหม่ มีผลมาก แล้วด้วยระบบเลือกตั้งแบบนี้ มันยิ่งหนุนเสริมภาวะผู้นำยิ่งกว่าระบบปี 2540 อีก เพราะการมีบัตรใบเดียว ในทางหนึ่งผมว่ามันยิ่งบีบให้คนต้องเลือก สมมติผมเป็นฝ่ายที่ไม่เอาอนาคตใหม่ ยังไงผมก็ต้องตีหัวผู้นำอยู่แล้ว

โอเค เขาอาจพูดได้ว่าเป็นพรรคของมวลชน ไม่ใช่พรรคของธนาธร อะไรก็ว่าไป แต่ถึงที่สุดผมว่าคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม เขาไม่แคร์หรอก จะพูดอะไรพูดไปเถอะ แต่กูจะทุบมึงอะ ไม่มีประเทศไหนหรอกที่ศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่งศาลฎีกา จะตั้งเอง ชงเอง ตบเองขนาดนี้ กรณีธนาธรนี่เห็นชัดมาก ไม่ต้องคิดซับซ้อนเลย ทิศทางแบบนี้คือต้องเด็ดหัวแน่นอน แต่จะเด็ดได้รึเปล่าก็อีกเรื่อง หรือเด็ดแล้วต้องใช้ต้นทุนขนาดไหน ก็อีกเรื่อง เพราะวิธีคิดแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับทักษิณมารอบนึงแล้ว

พูดง่ายๆ ว่า คุณทำให้ทักษิณ จากเดิมที่เป็นนักการเมือง หรือเป็นนักเลือกตั้งก็ว่าได้ กลายมาเป็นผู้นำของปีกประชาธิปไตยในช่วงเวลาหนึ่งได้ ส่วนธนาธร เขาชูประชาธิปไตยมาก่อนอยู่แล้ว ถ้าคุณยังใช้วิธีเดิมๆ อีก แล้วเขาจะกลายเป็นอะไร จะไปไกลกว่านี้มั้ย ไกลแค่ไหน ไม่มีใครรู้

 

 

ถ้าให้ลองเปรียบเทียบ ธนาธร กับ ทักษิณ คุณเห็นความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ถ้าในแง่ของการเข้าสู่การเมือง ทักษิณมีสองเฟส เฟสแรกคือช่วงที่อยู่พรรคพลังธรรม ประมาณปี 2536-2537 จากนั้นช่วงปี 2538 ไม่รู้มีใครจำได้มั้ย ทักษิณบอกจะแก้ปัญหาจราจรใน 6 เดือน มาแบบนักโฆษณาเลย ชูเรื่องปัญหาจราจรเป็นจุดขาย แต่ทำไม่ได้จริงหรอก พูดง่ายๆ ว่าเป็นตัวตลกด้วยซ้ำ คนยังไม่เห็นศักยภาพทักษิณเลย

พอปี 2539 ทักษิณก็ชิ่ง ไม่ลงเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็ไปลงสมัคร สสร. เชียงใหม่ ระบบตอนนั้นคือให้คัดมาจังหวัดละ 10 คน แล้วให้ ส.ส. กับ ส.ว. ในสภาเลือก ทักษิณยังไม่ได้รับเลือกเลย

สำหรับผม คนชนะมันโม้ได้หมดแหละ ผมตามทักษิณมาตั้งแต่แรก คือสุดท้ายเขาสร้างมิติใหม่ทางการเมืองได้จริง แต่ผมรู้สึกว่าคนให้เครดิตทักษิณเกินจริงไปเยอะมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากความผิดพลาดของประชาธิปัตย์ด้วย ซึ่งมีผลต่ออารมณ์ของผู้คน ลำพังถ้าคุณเก่งอย่างเดียว ไม่พอหรอก ตราบใดที่อีกฝ่ายไม่พลาด

การที่ทักษิณขึ้นมาได้ มีหลายอย่างประจวบเหมาะกันพอดี จังหวะเวลาก็ได้ มู้ดอารมณ์ของคนที่เบื่อประชาธิปัตย์ก็ได้ คุณสามารถดึงนักการเมืองเก่าๆ มารวมกันได้ คุณมีนโยบายที่น่าสนใจ หลายๆ ปัจจัยมันรวมกัน ไม่ใช่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง

ใครที่บอกว่า นโยบาย 30 บาททำให้ทักษิณชนะ ผมถามว่ามันจะเป็นไปได้ยังไง ถ้าคุณไม่ได้มีอดีต ส.ส. เข้ามาร่วมด้วย ตอนเลือกตั้งปี 2544 ทักษิณยังไม่ได้มีพาวเวอร์หรือใหญ่โตขนาดนั้น แต่หลังเลือกตั้ง แล้วส่งมอบนโยบายได้ นั่นคืออีกเฟสหนึ่ง

ส่วนธนาธร ถ้าเทียบคะแนนจากการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ทักษิณได้ 11 ล้าน ธนาธรได้ 6 ล้านกว่า และได้คะแนนมาโดยที่ไม่มีอดีต ส.ส. เลย ไม่มีหัวหน้ากลุ่ม ไม่มีคนอย่างสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ถ้าถามผม ผมบอกไม่ได้ว่าใครเก่งกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ คือเส้นทางการเข้าสู่การเมือง ทั้งการสะสมทุนทางเศรษฐกิจ การสะสมทุนทางการเมือง มันคนละเรื่องเลย

อีกเรื่องที่ต่างกันคือ ทักษิณไม่ใช่คนที่ชนชั้นนำรู้สึกว่าอันตรายเลย จนกระทั่งนโยบายของทักษิณเริ่มผลิดอกออกผล และได้รับความนิยมสูงมากๆ เอาง่ายๆ ว่าการที่ทักษิณรอดคดีซุกหุ้น มีคนวิเคราะห์ว่าพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) เป็นคนวิ่งให้ด้วยซ้ำ เพราะถ้าไปดูรายชื่อคนที่โหวตให้ทักษิณรอดคดี ก็เป็นลูกป๋าตั้งหลายคน แล้วการที่ทักษิณหลุดคดีซุกหุ้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถส่งมอบนโยบายได้อย่างรวดเร็ว

แล้วต้องอย่าลืมว่า กว่าทักษิณจะกลายเป็นปีศาจ ใช้เวลานานนะ ทักษิณเล่นการเมืองครั้งแรกปี 2537 เป็นส.ส.ครั้งแรกปี 2538 กว่าทักษิณจะเป็นปีศาจทางการเมืองของชนชั้นนำได้ ใช้เวลาเกือบสิบปี แล้วก่อนหน้าที่จะเป็นปีศาจ ทักษิณเคยเป็นความหวังของชนชั้นนำด้วยซ้ำ ในแง่ของการพาเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากวิกฤต 2540 ในแง่นี้ก็ต้องยกนิ้วให้ เพียงแต่ว่าพอคุณแก้ปัญหาได้ คุณส่งมอบนโยบายได้ ความนิยมคุณเพิ่มขึ้น ขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างประชาธิปัตย์เริ่มออกนอกเส้นทาง พอสองอย่างมาจับมือกัน ทักษิณก็ถูกยำตีน

แต่กับธนาธร ความเกลียดธนาธรนี่เกิดขึ้นตั้งแต่ที่เริ่มตั้งพรรคแล้ว ถูกไหม ถูกยำตีนมาตั้งแต่แรก แต่ถามว่า ขนาดคุณโดนมาแบบนั้น พอเลือกตั้งคุณยังได้มาตั้ง 6 ล้านกว่า บอกไม่ได้หรอกว่าใครเก่งกว่ากัน แต่ความต่างคือคนหนึ่งเข้ามาด้วยความหวังในการกอบกู้เศรษฐกิจ อีกคนนี่มาแบบฝ่าดงตีน

 

คิดว่าอนาคตใหม่จะเผชิญชะตากรรมอะไรต่อจากนี้ พอจะคาดเดาได้ไหม ในฐานะที่คุณเองก็รู้จักกับธนาธรมานานด้วย

ผมว่าการเมืองไทยมันไม่ได้อยู่ที่ความสามารถของตัวบุคคลอย่างเดียว แต่มีหลายปัจจัยมาก ถามว่าอนาคตใหม่จะเป็นยังไงต่อ จะไปได้ไกลมั้ย ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากคือก่อนหน้านี้เราคุ้นเคยกับรัชสมัยของ ร.9 มาเป็นเวลานานมาก 70 ปี แต่ตอนนี้รัชสมัยก็เปลี่ยนไปแล้ว แล้วมันยากที่จะคาดเดาอะไรได้

เรื่องหนึ่งที่เราอยากทำอยู่เหมือนกัน คือการไปดูว่ากรอบคิดอะไรที่เคยใช้ได้ในสมัย ร.9 พอมาถึงรัชสมัยปัจจุบัน มันยังใช้ได้มั้ย กรอบคิด เน็ตเวิร์ค โมนากี้ ของดันแคน แมคคาโกร์  กรอบคิดแบบ ชาวนากับการเมือง ที่แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ เคยเสนอไว้เรื่องชนบทไทยยังใช้ได้มั้ย กษัตริย์นิยมล้นเกิน ของธงชัย วินิจจะกูล ดีฟ สเตท ของ เออเชนี เมรีโอ ยังใช้ได้มั้ย หรือแม้แต่ ระบอบประยุทธ์ ที่ประจักษ์ ก้องกีรติ และวีระยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร เสนอ ก็ยังใช้ข้อมูลและปัจจัยหลายอย่างในกรอบของรัชสมัยที่แล้ว

ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีใครหยิบมาทบทวนว่าเป็นยังไง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ยังไม่มีงานที่วิเคราะห์รัชสมัยใหม่ออกมาให้เห็น ทั้งๆ ที่ใครก็รู้ว่ามันไม่เหมือนเดิม

เอาง่ายๆ ว่าตอนนี้ ไม่มีใครสามารถฟันธงอะไรได้เลย อย่างผมเอง คนก็ชอบแซวกันขำๆ ว่าชอบฟันธง ผมจะบอกอย่างนี้ คือการเมืองไทยเนี่ย ทุกคนสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยได้หมด เพราะบรรดาผู้เชี่ยวชาญแบบเดิมมันก็ทายผิดกันทั้งนั้น เอาแค่ผลเลือกตั้งนี่ก็ผิดกันถล่มทลาย คุณลองไปไล่ดูเล่นๆ ก็ได้ว่า มีใครทายว่าประชาธิปัตย์จะได้ 50 บ้าง  ฉะนั้นมันไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรอก ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญได้หมดเลย

การที่เป็นแบบนี้ เพราะมันยังไม่มีโมเดลอะไรที่ขึ้นรูปมาได้ และใช้ในการฟันธงได้เป๊ะๆ ดังนั้นก็เดาไปเถอะ ฟันธงไปเดี๋ยวก็ถูกเอง (หัวเราะ)

 

แต่การอยู่ในยุคสมัยที่คาดเดาอะไรไม่ได้ แง่หนึ่งก็ถือว่าน่ากังวลรึเปล่า

แน่สิ ตอนนี้ใครที่รู้สึกว่าเบื่อการเมืองนี่ไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว เพราะยุคสมัยนี้เป็นยุคที่โคตรน่าตื่นเต้นที่สุดในทางการเมืองเลย เทียบกับยุคคุณชวนก็ได้ นั่นเป็นยุคที่น่าเบื่อสุดๆ เพราะเป็นยุคที่ไม่มีคู่แข่งทางการเมืองเลย มันเห็นเลยว่าอภิปรายยังไงคุณก็รอดอยู่แล้ว ถ้าไม่สะดุดขาตัวเอง

ในทางกลับกัน ยุคนี้ถ้าคุณตื่นมา บางวันมีสามเหตุการณ์ให้คุณเซอร์ไพรส์ ส่วนหนึ่งเพราะมันมีสื่อที่หลากหลายด้วย ถ้าเป็นสมัยก่อน มีเคสอย่างธรรมนัส พรหมเผ่าโผล่มา เขาคงบอกว่าแน่จริงมึงไปตรวจสอบดิ ไปหาเอกสารมาสิ แต่ยุคนี้มันทำได้หมด นี่คือยุคที่น่าตื่นเต้นที่สุดยุคหนึ่งแล้ว เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะออกมาหน้าไหน แง่หนึ่งก็หมายความว่า ทุกคนมีโอกาสหมด กระทั่งพรรคหนึ่งเสียงอย่างมงคลกิตติ์ยังมีโอกาสเลย

 

คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเร็ววันมั้ย

ผมมองว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ปัญหาคือพอเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว มันมีข้อเสนอทางการเมืองอะไร จากเซลล์แมนคนไหน ยกตัวอย่างพฤษภาปี 2535 คุณบอกว่าคุณขับไล่ทหารออกไปได้ แต่มันไม่มีข้อเสนอหลังจากนั้นว่าจะปฏิรูปทหารยังไง สุดท้ายทหารเลยกลับมาได้อีก

เอาเข้าจริง ภายใต้วิกฤตอะไรก็ตาม คนไม่ค่อยตัดสินใจด้วยเหตุผลเท่าไหร่หรอก พูดง่ายๆ ว่ามีอะไรก็หยิบมาใช้ก่อน บางครั้งอาจขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพมากกว่าเนื้อหาด้วยซ้ำ

 

ปัญหาคือเราไม่ค่อยมีเซลล์แมน?

มี เรามีเทคโนแครตต่างๆ นี่แหละที่เป็นเซลล์แมน และพร้อมจะเสียบอยู่ตลอดเวลา แต่ปัญหาคือมันไม่ค่อยมีความคิดใหม่ๆ ที่จะยกมาเสนอ ยกตัวอย่างเรื่องปฏิรูปการศึกษา คุณไปไล่ดูชื่อคนที่ทำเรื่องปฏิรูปการศึกษา เป็นคนเดิมมากี่สิบปีแล้ว มันจะมีคนอยู่กลุ่มนึงที่ชีวิตนี้ทำอยู่เรื่องเดียว ทำแบบเดียวมาตลอด แล้วถ้าไม่ตายไปซะก่อนเขาก็จะอยู่ไปเรื่อยๆ

ปัญหาคือมันไม่มีความคิดใหม่ๆ มาเปรียบเทียบ เช่น เราไม่มีนักปฏิรูปกองทัพ ถึงเวลาคนเดิมๆ ก็ออกมาบอกว่า เราต้องไม่เอารัฐประหารแล้ว แต่ข้างในกองทัพนี่ไม่ถูกแตะเลย ทั้งที่ในช่วงหนึ่ง กองทัพอ่อนมาก หลังสุจินดาเป็นต้นมา คุณจำได้มั้ยว่าผบ.ทบ. ชื่ออะไรบ้าง จนกระทั่งสนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหารปี 2549 การที่ผบ.ทบ. ถูกย้าย ไม่เคยเป็นข่าวหน้าหนึ่งเลยหลังจากปี 2535

ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผบ.ทบ. ปีไหน คนยังจำไม่ได้เลย เพราะไปเกาะโต๊ะขอตำแหน่ง ในทางกลับกัน หลังจากสนธิ บุญยรัตกลิน ขึ้นมา คนก็จำได้เกือบหมดแล้ว บิ๊กโน่นบิ๊กนี่ ใครขึ้นมายังไง เป็นข่าวหมด ประเด็นของผมคือ เมื่อถึงจังหวะที่มีการเปลี่ยนแปลง มันต้องมีข้อเสนอทางการเมืองที่ใช้ได้

 

 

ถ้าเรื่องสถาบันกษัตริย์คือช้างตัวใหญ่ที่อยู่กลางห้องนี้ ในประเทศนี้ แน่นอนว่าคนในประเทศก็ย่อมมองเห็นว่าช้างตัวนี้เป็นยังไง ประเด็นคือสิทธิเสรีภาพในการพูดถึงช้าง มีเส้นแบ่งมั้ยว่าอยู่ตรงไหน และมีความต่างจากรัชสมัยก่อนหน้านี้ยังไง

เส้นมันมีอยู่แล้ว (หัวเราะ) พูดแบบสุดโต่งหน่อยคือ ไม่มีใครในประเทศนี้ที่สามารถบอกว่าตัวเองเป็น republic ได้ เอาง่ายๆ คือทุกคนต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพียงแต่ว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของแต่ละคนคืออะไร แบบที่มีกษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดเหมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือแบบที่กษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ไม่ยุ่งกับการเมือง แล้วการเมืองก็ไม่ยุ่งกับกษัตริย์

ถ้าใช้คำที่อาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) บอก ก็คือมันอยู่คนละเลนกัน แต่ละเลนอาจขยายใหญ่หรือหดเล็กลงได้บ้าง แต่จะไม่มีการข้ามเลนกัน ถ้าข้ามก็แปลว่าชนกัน ปัญหาตอนนี้อยู่ที่การนิยามคำนี้แหละ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าของแต่ละคนเป็นยังไง

ผมยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเลย สมัยทักษิณ จะมีคำที่คนพูดกันว่า ‘รักในหลวง ห่วงทักษิณ’ หมายความว่าเขาก็ยังอยู่กันได้ คือเขายังรักในหลวง แต่กับนักการเมืองเขาก็ห่วงทักษิณ แล้วอยู่มาวันหนึ่ง สนธิ ลิ้มทองกุล ขึ้นปราศรัย แล้วพูดทำนองว่า ประชาชนต้องเลือกว่าคุณจะเอาระบอบทักษิณ หรือคุณจะเอาสถาบัน

คำถามของผมคือ เฮ้ย คุณเป็นใครวะ มาพูดแบบนี้ได้ยังไง อันนี้พูดออกอากาศด้วยนะ ประเด็นคือถ้าคุณจะพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจริงๆ คุณต้องจัดการกับสนธินะ ปล่อยให้เขาพูดแบบนี้ไม่ได้

 

ประเด็นคือยุยงให้คนเลือก ทั้งที่ไม่ต้องเลือกก็ได้

ใช่ ถามว่าแล้วเป็นความผิดของใคร เป็นความผิดทักษิณ หรือเป็นความผิดของฝ่ายขวาที่ปล่อยให้สนธิเล่นเกมแบบนี้

ส่วนตัวผมมีทฤษฎีอยู่อย่างหนึ่งว่า ในประเทศนี้ไม่มีใครสามารถใช้สถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองได้ ถ้าไม่ได้รับอนุญาต ใครเป็นคนอนุญาตไม่รู้ แต่คุณจะเอามาใช้แบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้แน่ๆ

 

ในฐานะที่คุณทำเรื่องกษัตริย์ศึกษามาอย่างต่อเนื่อง คิดว่าวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาสถาบันกษัตริย์ให้มั่นคงคืออะไร

ต้องทำให้อยู่เหนือการเมือง หมายความว่าถ้าคุณมายุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศ ไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง ยังไงก็ต้องมีคนด่า เพราะการเมืองไม่มี win-win หรอก ต้องมีคนได้คนเสีย ฉะนั้นวิธีรักษาสถาบันกษัตริย์ที่ดีที่สุด คือต้องไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง นี่คือเรื่องพื้นฐานที่สุด

ประเด็นคือ คุณกลับปล่อยให้คนอย่างสนธิออกมาบอกว่า จะเลือกกษัตริย์หรือทักษิณ คุณปล่อยให้พระมหากษัตริย์กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับนักการเมืองได้อย่างไร ปรากฏการณ์แบบนี้สะท้อนว่าไม่มีรอยัลลิสต์ในประเทศนี้ พวกราชนิกูลที่ไปอยู่กับสนธินี่แหละที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์พัง

 

หากมองด้วยกรอบที่คุณว่ามา คนที่รักสถาบันมากที่สุดอาจเป็นกลุ่มนิติราษฎร์รึเปล่า

ใช่ ผมว่าฝ่ายเจ้าที่มีสติปัญญากับนิติราษฎร์ เขาแชร์กันด้วยซ้ำ เพราะเขาเข้าใจ แต่ฝ่ายนิยมเจ้าที่โง่เขลาที่สุดก็คือกองเชียร์สนธิ ลิ้มทองกุล นี่แหละ ฟันธงเลย แล้วใครที่เชียร์สนธิ แปลว่าคุณก็รับได้กับตรรกะของสนธิ ที่เอาพระมหากษัตริย์มาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมันทำไม่ได้

เอาง่ายๆ ว่าต่อให้คนอังกฤษเกลียดบอริส จอห์นสัน แค่ไหน แต่จะบอกให้คนเลือกระหว่างควีน อลิซาเบธ กับบอริส จอห์นสัน ทำได้มั้ย เอามั้ย รอยัลลิสต์ที่ไหนมันจะยอมให้ทำแบบนี้ แต่ในประเทศนี้ที่มีคนยอมให้สนธิทำแบบนี้ แปลว่าไม่มีรอยัลลิสต์

 

ถ้าให้ประเมินอนาคตถัดจากนี้ คุณคิดว่าจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นจากอะไร

ผมว่ารัฐประหารแบบที่ผ่านมา ที่ต้องล้มรัฐบาล ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วต้องให้ในหลวงเซ็น แบบนั้นจะเกิดขึ้นยากแล้ว เพราะต้นทุนสูงมาก แล้วคราวนี้คุณฉีกรัฐธรรมนูญของตัวเองด้วยนะ

ที่สำคัญคือในยุคของรัชกาลที่ 9 ถ้าใช้คำของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ คือมันมีสิ่งที่เรียกว่า ภูมิพล คอนเซนซัส อยู่ ก็คือมีในหลวง ร.9 เป็นเสมือนอนุญาโตตุลาการคนสุดท้าย ในการคลี่คลายความขัดแย้ง หรือในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของบ้านเมือง แต่ผมไม่แน่ใจว่าในรัชสมัยใหม่นี้ จะยังมีภาวะแบบนั้นอยู่มั้ย

แต่ถ้าให้มองเกมการเมืองในสภา ผมไม่คิดว่าฝ่ายค้านจะล้มรัฐบาลได้ นอกจากว่ารัฐบาลจะล้มกันเอง แล้วถ้าพูดในฐานะแฟนพันธุ์แท้ประชาธิปัตย์ ผมฟันธงเลยว่า ประชาธิปัตย์จะไม่อยู่จนวันสุดท้ายของประยุทธ์แน่ๆ เพราะถ้าขืนอยู่จนวันสุดท้าย เลือกตั้งครั้งหน้ามีแต่เจ๊ง ต้องอย่าลืมว่าที่ผ่านมากี่สมัย ประชาธิปัตย์นี่เป็นนกรู้มาตลอด เขาหาทางชิ่งได้เสมอเพื่อรักษาตัวเขาไว้

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมว่าน่าจะเป็นปัจจัย คือคนมีความคับแค้นเรื่องส.ว.เยอะนะ จากปฏิกิริยาในวันโหวตเลือกนายกฯ กระทั่งปฏิกิริยาที่สะท้อนออกมาในพานไหว้ครู พูดง่ายๆ คือคนเขารู้กันหมดแล้วว่าประยุทธ์เลือกส.ว.เข้ามาในสภา เพื่อให้มาโหวตตัวเอง

ครั้งหน้าผมว่าไม่ง่ายแล้วที่จะใช้วิธีเดิมอีกครั้ง ผมฟันธงเลย ส.ว. จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ เอาง่ายๆ ว่าสมมติประยุทธ์ลาออก แล้วให้เลือกนายกฯ ใหม่ ยังไม่ต้องถึงกับยุบสภานะ แล้วถ้าคนเห็นอยู่แล้วว่า ส.ว. 250 คน ยังไงก็ต้องโหวตประยุทธ์ให้กลับมา หมากแบบนี้จะเรียกให้คนออกจากบ้านแน่นอน

 

จากวันแรกที่ทำ ‘ฟ้าเดียวกัน’ จนถึงตอนนี้ ผ่านมาประมาณ 16 ปี คิดว่าจะทำไปเรื่อยๆ ไหม

ยังอยากทำต่อไปเรื่อยๆ เรายังมีต้นฉบับที่อยากพิมพ์อยู่อีกมากมาย ตราบใดที่ยังไหวก็คงทำอยู่ แล้วทุกวันนี้เราก็ยังเจอนักอ่านหน้าใหม่เรื่อยๆ ซึ่งมีทั้งเด็กรุ่นใหม่ ทั้งคนมีอายุ แล้วเล่มที่เขาหยิบ บางทีก็ไม่ใช่เล่มใหม่ล่าสุดนะ พวกเล่มเก่าๆ ก็ยังขายได้อยู่เสมอ อย่างที่บอกไปตอนแรกว่า หลายเรื่องมันยังไม่เชย ยังมีคนที่อยากอ่านอยู่ มันยังให้คำตอบบางอย่างได้อยู่

 

ชื่อ ‘ฟ้าเดียวกัน’ มาจากไหน

มาจากชื่อหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ‘เจ้าข้า ฟ้าเดียวกัน’ ถามว่าทำไมต้องเป็นชื่อนี้ พูดง่ายๆ คือเราเชื่อในความเป็นสากลนิยม  อีกข้อคือคำว่าเจ้าข้าฟ้าเดียวกัน มันก็สื่อถึงความเท่าเทียม อยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน เป็นคนเหมือนกัน

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save