fbpx

Thailand Smart City: ความท้าทายของเมืองอัจฉริยะและอนาคตเมืองที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

ไฟทางสว่างอัตโนมัติเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ผู้ขับขี่เลือกเส้นทางขับรถได้ผ่านการตรวจดูความคับคั่งของเส้นทางจราจรผ่านแอปพลิเคชันแผนที่ หรือเจ้าของบ้านเปิดลำโพงในบ้านด้วยคำสั่งเสียง ที่กล่าวมาข้างต้นคือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet of Things (IoT) ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตทั้งในบ้านและนอกบ้านได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เห็นชัดเจนว่า เทคโนโลยีกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงกระทั่งเข้านอน รวมถึงมีส่วนพัฒนาคุณภาพ ทั้งคุณภาพชีวิตในระดับปัจเจก และคุณภาพเมืองที่ปัจเจกชนต้องใช้ชีวิตอยู่

อย่างไรก็ดี แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปเท่าไหร่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายเมืองยังคงเผชิญกับปัญหาเก่าๆ ทั้งเรื่องความปลอดภัย ระบบข้อมูลที่ไม่เอื้อต่อเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งโรคระบาดที่กระทบกับความเป็นเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นที่น่าขบคิดต่อไปจึงเป็นเรื่องที่ว่า เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาเก่าๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมืองให้น่าอยู่และปลอดภัยขึ้นได้อย่างไร

101 ชวนอ่าน ‘ความคิด’ จากวิทยากรหลากหลายภาคส่วน เพื่อหาคำตอบว่า เราจะพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของประเทศไทยอย่างไร รวมไปถึงแนวทางการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการเมือง ปัญหาและอุปสรรคของประเทศไทยในการสร้างเมืองอัจฉริยะ รวมถึงกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากต่างประเทศ

‘การกระจายอำนาจ’ คือหัวใจของเมืองอัจฉริยะ

ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ฉายภาพให้เห็นว่า พื้นที่เมืองเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย ขณะที่การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับเมืองเพื่อให้เกิดความเป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’ ก็เป็นกระแสโลกที่ไม่อาจต้านทานได้ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แต่การจะเกิดเมืองอัจฉริยะขึ้นได้ไม่เพียงอาศัยแค่นโยบายระดับยุทธศาสตร์ชาติอย่างประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนจากบนลงล่าง แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่เมืองอัจฉริยะจะต้องมีรากฐานมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ด้วย

“ถ้าจะเกาให้ถูกที่คันต้องไปถามคนในพื้นที่ สมาร์ตซิตี้ต้องเข้าไปถึงรากหญ้า” 

ภาสกรให้ความเห็นว่า การกระจายอำนาจอย่างแท้จริงเป็นหัวใจสำคัญของการทำเรื่องเมืองอัจฉริยะ สอดคล้องกับ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่มองว่า เมืองอัจฉริยะจะเกิดขึ้นมากน้อย หรือจะอัจฉริยะ (smart) แค่ไหน มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ อุปกรณ์และเครื่องมือ เรื่องข้อมูล รูปแบบการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะในระดับประเทศ หรือจะเป็นระดับท้องที่ท้องถิ่น แต่สิ่งหนึ่งที่ดร.ชัยชนะให้ความสำคัญที่สุดคือ การแก้ปัญหาหรือพัฒนาเมืองจะต้องมีฐานคิดมาจาก pain point ที่ลงไปทำความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง

“ปัจจุบันต้องบอกว่า ประเทศไทยมีความพร้อมค่อนข้างสูงที่จะเข้าสู่สมาร์ตซิตี้ รัฐบาลมีนโยบายให้เดินไป มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ค่อนข้างเพียงพอ โดยเฉพาะมุมของกฎหมาย ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ร.บ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (cyber security) และมี พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ดูแลอยู่ 

“จะเห็นว่าเรามีความพร้อมในเชิงกฎหมายเกือบหมดแล้ว สิ่งที่อาจจะต้องเดินหน้าต่อไปคือ mindset ของประชาชนที่ต้องการทำให้เมืองฉลาดขึ้น ซึ่งรัฐและเอกชนควรจะเข้ามาตอบสนองต่อปัญหา และเดินจับมือไปด้วยกัน” ดร.ชัยชนะกล่าว

สำหรับบทบาทของ DEPA ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการผลักดันเมืองต่างๆ ในประเทศไทย ดร.ภาสกรอธิบายเพิ่มเติมว่า ได้มีการยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และดำเนินการให้มีบริการระบบอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) ซึ่งเป็นบริการบังคับ และมีบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆ อีกอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้าน (Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy) เพื่อขอรับประกาศตราสัญลักษณ์ Smart City Thailand โดยจูงใจให้เมืองดำเนินการด้วยผลประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษีจากทางภาครัฐ

สำหรับระบบอัจฉริยะที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม และความเป็นอยู่ของผู้คนในเมือง ได้แก่ ระบบอัจฉริยะด้าน Smart Living ที่มีตัวชี้วัดทั้งด้านสุขภาพและความปลอดภัยของเมือง เช่น อัตราคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ต่อเด็กและเยาวชนพันคน หรือจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณไปแล้วอย่างจังหวัดภูเก็ต มีการใช้เทคโนโลยีสร้างเมืองปลอดภัย ผ่านการใช้กล้อง CCTV ในการตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร พิมพ์ใบสั่งอัตโนมัติ และใช้เพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรมอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

‘ข้อมูล’ คือรากฐานของเมืองอัจฉริยะ

เนื่องจากข้อมูลมีส่วนสำคัญต่อความอัจฉริยะของเมือง เบื้องหลังของสมาร์ตซิตี้จึงเป็นการรวบรวมข้อมูล (Data Collection) การจัดเก็บเพื่อการวิเคราะห์ (Storage) การวิเคราะห์ (Analysis) และการนำไปใช้ (Usage) เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาบริหารจัดการเรื่องเมือง ซึ่งเทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้เก็บข้อมูลจากหลายแหล่งข้อมูลได้มากขึ้น ทั้งตัวเซนเซอร์ IoT ที่ติดรายล้อมอยู่รอบเมือง ข้อมูลทางดาวเทียม ข้อมูลจากโลกสื่อสังคมออนไลน์ กล้องวงจรปิด CCTV หรือกระทั่งแบบสอบถาม 

อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่เรามักจะได้ยินคำว่า “Data is the new oil” อันเป็นการอุปมาถึง ‘ข้อมูล’ ซึ่งจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาลเหมือนกับน้ำมัน แต่ ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีนและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย มองว่า ข้อมูลเป็นเพียงน้ำมันดิบที่ต้องรอการวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ โดยสิ่งที่ต้องคำนึงเกี่ยวกับข้อมูลไม่ว่าจะทำงานเรื่องเมืองหรือไม่ มี 4 เรื่องหลัก ได้แก่ ความพร้อมใช้ (Availability)  ข้อมูลจะต้องสามารถถูกดึงมาใช้ได้ง่าย พร้อมใช้งาน มีแพลตฟอร์มที่เชื่อมถึงกัน ความคงสภาพ (Integrity) ข้อมูลจะต้องถูกต้อง ครบถ้วน  ความลับ (Confidentiality) ให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาความลับของข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูง เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสุขภาพ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความยินยอมก่อนที่จะใช้ และความรับผิดชอบ (Accountability) ที่หน่วยงานต้องรับผิดชอบต่อการใช้งานข้อมูล

ขณะที่ดร.ชัยชนะมองว่า เรื่องของสิทธิส่วนบุคคล (Privacy) ในประเทศไทย กลายเป็นประเด็นที่ร้อนจนเริ่มอุ่นและเย็นชืด เพราะไทยกำลังขยับให้กฎหมายหลายๆ มาตรามีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ขณะที่หลายบริษัทมีความกังวลที่จะดำเนินตามกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากหลายคำถามก็ยังไม่มีคำตอบ และกลไกที่จะได้มาซึ่งคำตอบอย่างตัวคณะกรรมการคุ้มครองส่วนบุคคลก็ยังไม่ชัดเจน อยู่ระหว่างการประกาศว่าจะเริ่มทำงานได้เมื่อไหร่ ประกอบกับงบประมาณที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรในการทำงานเท่าใดนัก ทำให้หน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนเกิดความกังวลในเชิงปฏิบัติ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดร.ชัยชนะ เห็นว่าภาคเอกชนอาจจะออกมาเป็นผู้นำ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินงานตามกฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (GDPR) อยู่แล้ว คือให้ออกมาสื่อสารกับลูกค้าถึงแนวทางปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับข้อมูล เพื่อสร้างความตระหนักให้กับสาธารณชน และยังเป็นจุดขายเชิญชวนให้มาใช้บริการด้วย

นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลยังมีเรื่องของขั้นตอนการนำไปใช้ที่ต้องคิดให้รอบด้าน ทั้งการพิจารณาเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบ Open Data และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น ระบบร้องเรียนที่ใช้ในการรับข้อมูลและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ร้องเรียน ที่อาจจะใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ (chatbot) มาตอบปัญหาเบื้องต้นผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ได้ แต่ในกรณีของคนที่เข้าถึงไม่ได้ หน่วยงานก็ควรพิจารณาให้มี call center หรือ counter service เพื่อให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

พร้อมกันนี้ ดร.ชัยชนะยังชี้ให้เห็นว่า หลายครั้งประเทศไทยเสียเปรียบประเทศอื่น เนื่องจากเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีมากกว่าผลิตเทคโนโลยี ทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องยาก เช่น การใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวที่ติดอยู่ในซากตึก แต่ว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่อยู่บนโทรศัพท์มือถือถูกเก็บไปอยู่บนระบบปฏิบัติการหรือแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งไม่ใช่บริษัทคนไทย เช่น ข้อมูลที่ถูกเก็บผ่านทาง Facebook

กรณีศึกษาจากต่างประเทศ: เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองปลอดภัย 

เมื่อขยับไปดูสถานการณ์รอบโลก เราพบว่ามีหลายประเทศเริ่มนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชากรของตน เช่น กรณีสำนักงานตำรวจริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เปลี่ยนจากการใช้สัญชาตญาณและประสบการณ์ที่ผ่านมาของตำรวจในการทำงานดูแลรักษาความปลอดภัย เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อมูลสภาพอากาศ โครงสร้างถนน ภาพวงจรปิด หรือข้อมูลอาชญากรรมต่างๆ มาผนวกและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ เพื่อสร้างโมเดลพยากรณ์อาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแม้วิธีนี้จะใช้เวลาค่อนข้างนานในขั้นตอนการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อทำโมเดลที่แม่นยำ แต่ก็ทำให้หลังจากเปิดใช้งานใน 12 เดือน การเกิดอาชญากรรมลดลงไป 30% 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีกรมตำรวจของเมืองเอ็ดมันตัน (Edmonton Police Service) ประเทศแคนาดา ซึ่งมีการใช้ข้อมูลวิเคราะห์และสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่เพื่อให้ช่วยป้องกันภัย จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีสามารถช่วยทำงานเชิงรุกในการป้องกันอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้น

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญคือ ระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) โดยบริษัทอเมริกันที่มีชื่อเสียงในเรื่องนี้ได้แก่ Clearview AI อาศัยช่องของกฎหมาย First Amendment ว่า บริษัทมีสิทธิเก็บข้อมูลที่เป็นสาธารณะของประชาชนมาใช้ในการทำระบบการจดจำใบหน้า และขายซอฟต์แวร์ดังกล่าวให้กับหลายประเทศทั่วโลก แต่ระบบดังกล่าวก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงระหว่างประเด็น ‘การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล’ กับ ‘การป้องกันอาชญากรรมในเมือง’ เพื่อประโยชน์สาธารณะ

อีกประเทศหนึ่งที่มีการใช้ระบบจดจำใบหน้าคือ รัสเซีย ซึ่งมีระบบที่ชื่อว่า FindFace ที่สามารถค้นหาข้อมูลส่วนบุคคลจากภาพถ่ายได้ หรือประเทศจีนก็มีกล้องวงจรปิดทุกมุมเมือง และมีระบบการจดจำใบหน้าที่ชื่อว่า Dahua Face Recognition ซึ่งสามารถตรวจจับใบหน้าเพื่อบ่งบอกข้อมูลส่วนบุคคล เลขบัตรประชาชน ทะเบียนรถ ไปจนถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน 

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าอาจก่อให้เกิดทางสองแพร่ง ระหว่างประโยชน์สาธารณะกับความเป็นส่วนตัวได้ จึงมีความพยายามแก้ปัญหาในเรื่องนี้ออกมา เช่น PimEyes เป็นเทคโนโลยีช่วยระบุว่า มีภาพถ่ายไหนที่บริษัทหรือผู้อื่นสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้เจ้าของภาพรับรู้และสามารถปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของตนเองได้

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเทคโนโลยีหลายบริษัทยังออกมาปกป้องไม่ให้ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในลักษณะที่ผิดหรือกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เพราะระบบอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้กับคนที่มีเชื้อชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแอฟริกา โดยยกตัวอย่างจากการประท้วงและบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา หลังการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ที่หลายรัฐและหลายบริษัทออกมาแบนการใช้ภาพวงจรปิดและเทคโนโลยีจดจำใบหน้าในการระบุตัวคนร้าย

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อการสร้างเมืองอัจฉริยะ

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บีบบังคับให้คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน (work from home) ใช้งานอุปกรณ์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการทำงาน ทำให้ ดร.ภาสกร มองว่า โควิดสามารถเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้เศรษฐกิจดิจิทัลได้ และยังเป็นโอกาสสำคัญของเมืองที่จะหันมาตรวจสอบว่า เมืองมีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอหรือยัง เพื่อจะได้วางแผนใหม่ในการบริหารจัดการเมือง และทำให้คนหันกลับมาคิดถึงรูปแบบการทำงานในสำนักงานและต้นทุนอื่นๆ ในการบริหารจัดการ

นอกจากนี้ ดร.ภาสกร ยังมองว่า เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความไว้ใจ (Trust Economy) จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในเมืองมากยิ่งขึ้น เช่น เรื่องคมนาคมที่อาจจะต้องออกแบบเมืองใหม่ให้สอดคล้องอุปกรณ์เคลื่อนที่ส่วนตัว (personal/micro mobility) ผ่านการทำเลนจักรยาน หรือที่ต่างประเทศจะมีรถขนส่งกึ่งสาธารณะ (Paratransit) เป็นรูปแบบการให้บริการที่มีการผสมผสานระหว่างยานพาหนะส่วนตัวกับการให้บริการสาธารณะ มีรถเมล์ตามความต้องการ (on demand) เหมือนกับรถแดงที่เชียงใหม่ หรือมีการแชร์พาหนะหากผู้ใช้เดินทางผ่านเส้นทางเดียวกัน

“ระบบรถแดงจะเป็นการถามก่อนว่าคุณจะไปไหน และถ้าผ่านเส้นทางเดียวกันเขาก็จะให้เราขึ้นรถด้วย ส่วนถ้าเป็นรถเมล์ตามความต้องการ ตอนนี้ก็จะมีเทคโนโลยีระบบดิจิทัล เป็นระบบการจองล่วงหน้าผ่านทางมือถือแล้ว ข้อมูลเส้นทางก็จะถูกจัดล่วงหน้าด้วยคอมพิวเตอร์ ระบุได้ว่าต้องรับผู้โดยสารที่ไหน อย่างไร” ดร.ภาสกร กล่าวพร้อมทั้งสรุปว่า รูปแบบการเดินทางจะเริ่มเปลี่ยนไป และหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือโควิด-19

ความท้าทายของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับสมาร์ตซิตี้ในไทย

เมื่อพูดถึงการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในเรื่อง ‘เมือง’ ดร.ภาสกรชี้ว่า ไทยยังต้องเจอความท้าทายหลายประการ ทั้งเรื่องโครงสร้างการทำงานของประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวตั้งจากบนลงล่าง ขาดการบูรณาการ ทำให้ยากต่อการเชื่อมต่อข้อมูล

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ดร.ภาสกร ยกตัวอย่างกรณีเทคโนโลยีในการกำกับวินัยจราจรในประเทศไทย ที่แม้จะมีการตรวจจับความเร็วและส่งใบสั่งไปถึงบ้าน แต่อายุความมีเพียง 1 ปีและระบบยังไม่ได้เชื่อมกับกรมการขนส่งทางบก ทำให้โทษปรับไม่รุนแรงและไม่ส่งผลต่อการขับขี่ ทำให้คนมาเสียค่าปรับน้อยมาก ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่ตำรวจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งใบแจ้งค่าปรับทางไปรษณีย์ 

“วิธีการแก้ไขควรจะเป็นการเชื่อมระบบของหน่วยงานราชการให้เข้าถึงกัน และแก้ไขกฎหมายจราจรให้มีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกัน ตำรวจก็ต้องดำเนินการจัดตั้งกองทุนเพื่อเลี้ยงระบบในการส่งใบแจ้งค่าปรับถึงบ้าน” ดร.ภาสกรกล่าว

สอดคล้องกับปฐมาที่เห็นว่า การที่ระบบไม่เชื่อมต่อกันส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชน นอกจากนี้ ปฐมายังมองว่า เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีเรื่องเมือง จะต้องมีลักษณะให้กลับคืนกับประชาชน (give and take) เพื่อไม่ให้ประชาชนมองว่า เทคโนโลยีมีไว้ตรวจจับเพื่อประโยชน์ของภาครัฐอย่างเดียว แต่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นด้วย เช่น การใช้ adaptive traffic signal ในการจัดการสัญญาณไฟจราจร หรือการใช้กล้อง CCTV เพื่อช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น

อีกสิ่งสำคัญคือทัศนคติของคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนที่มุ่งทำกำไรเป็นหลัก หรือฝั่งประชาชนเองก็อาจจะไม่ตระหนักหรือเท่าทันกับการใช้เทคโนโลยี หรือที่ดร.ชัยชนะเปรียบเปรยว่า เรามองกฎระเบียบข้อบังคับเป็น ‘อุปสรรค’ (barrier) ไม่ได้มองเป็น ‘ตัวขับเคลื่อน’ (enabler) เมื่อเป็นเช่นนี้ การทำงานเรื่องเมืองอัจฉริยะจึงต้องมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนมากยิ่งขึ้น (citizen engagement) การมีผู้นำที่ดีมีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงการมีโมเดลทางธุรกิจเพื่อที่จะมีงบประมาณในการทำงานอย่างยั่งยืน


หมายเหตุ: เก็บความจาก Knowledge Sharing Session ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “Designing a Smarter and Safer City” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรม และการพัฒนา หรือ RoLD 2020 : Resilient Leader จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save