fbpx
ธีวินท์ สุพุทธิกุล : เอ็กซเรย์ 'ญี่ปุ่น' ภายใต้ศักราชใหม่

ธีวินท์ สุพุทธิกุล : เอ็กซเรย์ ‘ญี่ปุ่น’ ภายใต้ศักราชใหม่

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรียบเรียง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในปีค.ศ. 1945 ที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่พ่ายแพ้ และถูกฝ่ายผู้ชนะที่นำโดยสหรัฐฯ เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ จำกัดบทบาทไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพ การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ทำให้ตลอดกว่า 70 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเปลี่ยนอัตลักษณ์ตัวเองจาก ‘จักรวรรดิ’ กลายมาเป็น ‘ชาติที่รักสงบ (Peaceful Nation)’ และยังคงเชื่ออย่างนั้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน

แม้จะมองว่าตนเอง ‘รักสงบ’ แต่ญี่ปุ่นนั้นยังคงอยู่บนเส้นทางชาติมหาอำนาจเสมอ นับจากความพ่ายแพ้ครั้งนั้น ญี่ปุ่นละทิ้งบทบาทด้านการทหาร มุ่งหันกลับมาพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ และสร้างชาติใหม่จนได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมาหลายทศวรรษ

แต่ในปัจจุบัน การเมืองระหว่างประเทศมีความผันผวนจนเกินจะคาดเดา ญี่ปุ่นต้องเจอกับความผันผวนของระเบียบโลกไม่ต่างจากชาติอื่น และเจอกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของการเมืองภายใน ซี่งนับเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่ญี่ปุ่นในสถานะมหาอำนาจต้องเผชิญ

101 ชวน ผศ.ดร.ธีวินท์ สุพุทธิกุล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่น มาร่วมสำรวจความท้าทายของญี่ปุ่นในมิติต่างๆ ตั้งแต่การเมืองภายใน ที่ทางในบริบทโลก ไปจนถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของสังคมญี่ปุ่นที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

 

 

การเมืองและพลวัตภายในสังคมญี่ปุ่น

 

การเลือกตั้งของญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ จะเลือกตั้งครั้งละครึ่งสภาในทุกๆ 3 ปี ซึ่งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (วันที่ 21 กรกฎาคม 2019) ญี่ปุ่นเพิ่งจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สภาสูง) ไป โดยพรรคที่ได้รับชัยชนะ และครองเสียงข้างมาก คือพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party – LDP) ของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ซึ่งเป็นพรรคที่ใหญ่และอยู่มายาวนานที่สุด การเลือกตั้งส.ว.ครั้งนี้สะท้อนอะไรบ้าง

สิ่งที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่สื่อกับคนญี่ปุ่นตั้งตาลุ้นอยู่ในการประกาศผลการเลือกตั้งคือ พรรครัฐบาล ซึ่งไม่ใช่แค่พรรค LDP อย่างเดียว แต่รวมพรรคร่วมด้วย จะสามารถได้เสียงถึงสองในสามของสภาสูง (Super majority) หรือไม่ แต่ปรากฏว่า เสียงที่ได้ออกมายังไม่ถึงสองในสาม

ถามว่าทำไมเขาถึงลุ้นกัน เพราะว่าอาเบะกำลังชูประเด็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ จริงๆ เขาตั้งเงื่อนเวลาไว้ว่า อยากจะดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญภายในปีค.ศ. 2020 นี้ให้ได้ แต่กฎในการแก้รัฐธรรมนูญคือ ต้องได้เสียงสองในสามจากทั้งสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และวุฒิสภา (สภาสูง) จึงจะผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แล้วถึงให้ประชาชนลงมติ แต่เราจะเห็นว่า เสียงที่ได้มายังไม่ถึงสองในสาม ความฝันหรือสิ่งที่อาเบะประกาศมาตลอดจึงอาจเป็นไปได้ยาก

 

ราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง มีดารานักแสดงอาวุโสของญี่ปุ่นออกมาโฆษณากระตุ้นการเลือกตั้ง คือประชดว่าคนรุ่นใหม่ไม่ต้องไปเลือกตั้ง เพราะว่าเรื่องพวกนี้ไม่เกี่ยวกับคุณ โดยหวังว่าจะทำให้คนสนใจการเมืองมากขึ้น แต่สถิติกลับบอกว่า คนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งมีแค่ 49% เท่านั้น ยิ่งหากนับเฉพาะคนรุ่นใหม่ยิ่งน้อย เพราะออกมาใช้สิทธิกันแค่ 31% ลดลงจากการเลือกตั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้วกว่า 14%

อันนี้อาจมองได้หลายแบบ แล้วแต่คนจะตีความ แต่ผมมองว่า คนญี่ปุ่นอาจจะคิดว่า พวกเขาไม่มีตัวเลือกอื่น และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่น่าสนใจ เพราะสุดท้าย พรรครัฐบาลจะนอนมาแน่นอน จริงๆ แล้วหลายคนมองว่า รัฐบาลพยายามสนับสนุนให้คนออกมาเลือกตั้ง แล้วถ้าคนออกมาเลือกตั้งเยอะ อาจจะทำให้พรรคฝ่ายค้านได้เปรียบขึ้น เพราะจะทำให้เสียงสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านเข้ามาอยู่ในกระบวนการเลือกตั้งมากขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อคนออกมาใช้สิทธิน้อย ก็บ่งบอกถึงความชอบธรรมของรัฐบาลได้ คือแม้รัฐบาลจะได้ผู้แทนไปเป็นส.ว. แต่อาจมองได้ว่า เสียงสนับสนุนเบื้องหลังผู้แทนเหล่านี้น้อย พวกเขาจึงไม่อาจอ้าง mandate หรืออ้างได้ว่า คนญี่ปุ่นให้การยินยอมพวกเขาให้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งอาเบะพยายามบอกว่า การที่พรรค LDP ชนะการเลือกตั้ง เท่ากับว่าประชาชนเห็นด้วยกับนโยบายหลายอย่างของเขา ซึ่งตรงนี้ก็อาจนำมาอภิปรายหรือเป็นข้อถกเถียงได้บ้าง

แต่อย่างที่บอกไปตอนแรกว่า ผลที่ออกมาก้ำกึ่ง คนอาจจะมองไม่เห็นตัวเลือกอื่น นอกจากพรรครัฐบาล ก็ทำให้ทำงานไปง่ายๆ เพราะแม้การมีเสียงกึ่งหนึ่งในวุฒิสภาจะผ่านกฎหมายอะไรไม่ยาก แต่ก็ยังแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้

 

เท่ากับว่า คนญี่ปุ่นไม่ได้ไม่แยแสทางการเมืองหรือเปล่า

ผมไม่คิดว่าคนญี่ปุ่นไม่แยแสทางการเมืองนะครับ เพราะว่าตอนนี้ พวกเขามีประเด็นให้กังวลไม่น้อย ซึ่งอาจสะท้อนออกมาจากโฆษณาที่กล่าวไป ญี่ปุ่นมีหลายเรื่องให้ต้องคิดถึง และหลายเรื่องกระทบความมั่นคงของประเทศ เช่น จะจัดการกับภัยคุกคามอย่างเกาหลีเหนือ หรือจีนที่กลายเป็นมหาอำนาจและแข็งกร้าวกับญี่ปุ่นอย่างไร แม้แต่ประเด็นการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งตอนนี้พยายามจะกดดันญี่ปุ่นให้ยอมสหรัฐฯ มากขึ้น อีกอย่าง ตอนนี้สหรัฐฯ มุ่งหาผลประโยชน์ของตนมากขึ้น อาจจะคาดการณ์ยากว่า นโยบายของเขาจะไปทางไหนกันแน่ หรือจะหันไปหาเกาหลีเหนือแล้ว

 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงครั้งหน้า พรรค LDP ยังแข็งแกร่ง กลมเกลียวกันอยู่หรือเปล่า

ในเชิงเปรียบเทียบ ผมว่าเขายังแข็งแกร่งอยู่ ตอนนี้คนญี่ปุ่นอาจจะมองว่า พรรคฝ่ายค้าน [พรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น (Democratic Party of Japan: DJP)] ไม่ใช่ตัวเลือกที่ทำให้คนญี่ปุ่นมั่นใจเสียทีเดียว เพราะจริงๆ พรรคฝ่ายค้านเคยขึ้นมาบริหารประเทศช่วงปีค.ศ. 2009-2012 ที่ผ่านมา ตอนนั้น พวกเขาโดนวิจารณ์เยอะมากในเรื่องความไม่มีประสบการณ์ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างที่คนญี่ปุ่นคาดหวังไว้

อย่างไรก็ตามผมมองว่า ตอนนั้นพรรคฝ่ายค้านก็เจอวิบากกรรมอยู่ คือได้รับเสียงสนับสนุนแบบถล่มทลาย เท่ากับว่าความคาดหวังย่อมสูงตามไปด้วย ปัญหาที่พรรคฝ่ายค้านตอนนั้นต้องเผชิญ เริ่มจากปัญหาเรือจีนปะทะเรือยามฝั่งของญี่ปุ่น และรัฐบาลไม่สามารถจัดการประเด็นการทูตได้ อ่อนข้อให้จีนมากเกินไปจนโดนคนวิจารณ์ อีกปัญหาคือในปีค.ศ. 2011 ญี่ปุ่นเจอสึนามิถล่มภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และต้องพยายามฟื้นฟูวิกฤตนั้น ซึ่งประชาชนก็รู้สึกไม่พอใจ เลยหันกลับไปเลือกพรรค LDP ในการเลือกตั้งครั้งถัดมา

 

ถ้าไม่นับพรรค LDP กับพรรคฝ่ายค้าน มีพรรคอิสระหรือทางเลือกที่สามไหม

มีครับ แต่ก็จะเป็นพรรคเล็กทั้งนั้น ย้อนกลับไปช่วงที่พรรคฝ่ายค้านเป็นรัฐบาล ตอนนั้นญี่ปุ่นพูดถึงระบบการเมืองของตนว่า กำลังเปลี่ยนมาคล้ายการเมืองสหรัฐฯ หรือไม่ คือพรรคใหญ่สองพรรคแข่งขันกันแบบพรรคเดโมแครต (Democrat) กับพรรคริพับลิกัน (Republican) ของสหรัฐฯ ส่วนของญี่ปุ่นจะมีพรรค LDP กับพรรคฝ่ายค้าน

แต่พอพรรคประชาธิปไตยขึ้นมาบริหารประเทศ แล้วประชาชนไม่พอใจ ก็เกิดหมดศรัทธาไป กลายเป็นว่าฝ่ายค้านที่เป็นพรรคใหญ่แตกกระจายไปเป็นพรรคเล็กๆ ย่อยๆ หลายพรรค ซึ่งพรรคเหล่านี้ก็รับประกันประชาชนไม่ได้ว่า จะบริหารประเทศได้อย่างพรรค LDP ที่มีประวัติการบริหารมานาน

 

แล้วเสียงสนับสนุนหลักของพรรค LDP กับพรรคร่วมรัฐบาลมาจากไหน

มีหลายกลุ่ม เช่น เสียงของพรรค LDP มาจากกลุ่มธุรกิจ หรือแต่เดิม กลุ่มเกษตรกรตามพื้นที่ชนบทก็เลือก LDP เหมือนกัน ส่วนปัจจุบันนี้ก็มีหลายประเด็นที่น่ากังวล เช่น ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในทางการทูต หรือเรื่องที่ว่าจะจัดการกับจีนอย่างไร ผมเลยคิดว่า ประชาชนหลายคนสนใจและมองว่า พรรค LDP อาจจะเชี่ยวชาญและมีนโยบายที่สอดคล้องกับความจริงมากกว่า

 

อย่างในช่วงสึนามิ หลายคนบอกว่า พรรค LDP รู้ระบบกลไกราชการ น่าจะจัดการได้ดีกว่า

อาจเป็นไปได้ แต่ก็พูดยาก เพราะถ้าพรรค LDP เจอสถานการณ์แบบนั้น ก็อาจจะทำให้ประชาชนไม่พอใจได้เหมือนกัน

 

ในตอนนี้ ประชาชนยังสนับสนุนพรรค LDP อยู่ไหม เพราะในการเจรจาฉบับใหญ่ๆ ในช่วงที่ผ่านมา เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership – TPP) ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรญี่ปุ่นอยู่พอสมควร

ผมคิดว่าตอนนี้ญี่ปุ่นอาจมองว่า การจะปกป้องตลาดสินค้าเกษตรของตนเองทำไม่ได้เหมือนสมัยก่อนแล้ว เพราะมีแรงกดดันจากภายนอกเยอะ อย่างญี่ปุ่นพยายามจะเปิดเสรี และเป็นตัวตั้งตัวตีในการวางกรอบ TPP ซึ่งจริงๆ แล้ว กรอบนี้อาจทำให้ญี่ปุ่นต้องปฏิรูปในภาคการเกษตรพอสมควร เช่น ลดภาษีลงเป็นขั้นๆ เพื่อที่จะเปิดเสรีให้มากยิ่งขึ้น ในเรื่องนี้ พรรค LDP สัญญากับเกษตรกรว่า จะเข้าไปช่วยเหลือ แต่พรรคก็มองว่า ต้องมีการปฏิรูปบางอย่างในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวมานาน และการปฏิรูปในภาคเกษตรทำให้มีการแข่งขันอย่างจริงจัง สินค้าจากภายนอกก็สำคัญมาก

ในความคิดของผม พรรค LDP พยายามจะใช้ข้ออ้างว่า มีแรงกดดันจากภายนอกเรื่องการเปิดเสรีการค้ากับประเทศอื่น รวมถึงสหรัฐฯ ที่เข้ามากดดันกระบวนการทางเศรษฐกิจภายใน ก็อาจทำให้เกษตรกรต้องปรับตัวตาม จากเดิมที่เป็นแปลงผลิตเล็ก ก็อาจจะต้องทำให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนกฎหมาย ทำให้การเกษตรเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ตรงนี้ฐานการเมืองก็เปลี่ยนไปแล้วเหมือนกัน

 

มีคนบอกว่า แต่ก่อนสังคมญี่ปุ่นไม่ได้เหลื่อมล้ำมากขนาดนี้ โดยเฉพาะเรื่องฐานะหรือสินทรัพย์ แต่ปัจจุบัน นโยบายของพรรค LDP โดยเฉพาะอาเบะโนมิกส์ (Abenomics) โดนวิจารณ์ว่า ธุรกิจใหญ่ได้ประโยชน์ และยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมญี่ปุ่นกว้างขึ้น

รัฐบาลพยายามอธิบายว่า ให้ช่วยอุตสาหกรรมก่อน และรัฐบาลก็พยายามผลักดันบริษัทใหญ่ๆ ที่จ้างประชาชนให้เพิ่มเงินเดือนให้ โดยบอกว่า การปฏิรูปอาเบะโนมิกส์จะค่อยๆ ลงไปสู่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้น เหมือน Trickle Down Theory ที่บอกว่า คนในสังคมมีหลายระดับชั้น ซึ่งมีความสามารถในการรับการพัฒนาได้ไม่เท่ากัน แต่ทรัพยากรในการพัฒนามีอยู่อย่างจำกัด จึงควรเริ่มพัฒนาจากกลุ่มคนมีความพร้อมหรือได้เปรียบก่อน เพื่อให้ผลของการพัฒนาค่อยๆ กระจายลงมายังกลุ่มชนชั้นกลาง และคนยากจนในสังคมตามลำดับ

แต่กระบวนการยังช้าอยู่มาก และบริษัทต่างๆ ก็เผชิญปัญหาของเขาอยู่เหมือนกัน ต้องแบกรับเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ไม่บรรลุเรื่องที่ว่าให้ความมั่งคั่งกระจายตัวไปให้ประชาชน จึงเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น แน่นอนว่า รัฐบาลพูดแบบนี้ก็เหมือนให้ประชาชนรอดู แต่รอนานไปก็เหมือนไม่ได้แก้ปัญหาอยู่ดี แล้วอย่างที่เรารู้กันว่า ปลายปีนี้จะเพิ่มภาษีเป็น 10% ก็จะเป็นภาระอีก คือเขาอาจจะมีข้อยกเว้นสำหรับนักท่องเที่ยวให้ขอ Refund tax ได้ แต่เวลาเรากินหรือใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ก็ต้องเสียภาษีไปโดยปริยาย

 

เวลาขึ้นภาษี คนจะกังวลว่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ไม่ขึ้นภาษีก็ไม่ได้

ใช่ครับ เพราะในแง่หนึ่ง การเพิ่มภาษีก็เป็นความจำเป็นของภาครัฐในการเพิ่มรายได้ เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการจัดการปัญหาสังคม ซึ่งปัญหาที่ญี่ปุ่นเผชิญตอนนี้คือ สังคมผู้สูงอายุ ต้องเตรียมเรื่องสวัสดิการ เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับผู้เกษียณอายุ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็เป็นหนี้มากมายอยู่แล้ว จึงต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น นี่ก็เป็นสาเหตุแต่ต้นแล้วที่ต้องเพิ่มภาษี แต่ต้องบอกก่อนว่า การเลื่อนภาษีนี่เลื่อนมาหลายปีแล้ว เพราะแนวคิดจะขึ้นภาษีเริ่มมาตั้งแต่สมัยพรรคฝ่ายค้านเป็นรัฐบาลแล้วด้วยซ้ำ

 

 

ญี่ปุ่นกับความท้าทายใหม่ในเวทีระหว่างประเทศ

 

ในตอนนี้ ญี่ปุ่นยังเหลือสถานะอะไรในโลกอีกไหม

ถามแบบนี้คนญี่ปุ่นอาจจะอึ้งนิดหนึ่งนะครับ (หัวเราะ) เพราะตอนนี้ ญี่ปุ่นก็พยายามจะวางตัวให้โลกเห็นว่า ตนมีบทบาทเหมือนกัน แต่ด้านเศรษฐกิจอาจจะลดลง เพราะโดนจีนแซงหน้าไปแล้ว คือญี่ปุ่นเคยเป็นต้นแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เป็นปาฏิหาริย์ในช่วงทศวรรษที่ 70-80 แต่พอมาทศวรรษที่ 90 ญี่ปุ่นกลับกลายเป็นบทเรียนที่ประเทศต่างๆ ต้องเรียนรู้ว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวนานนับทศวรรษแบบนี้

แต่ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาติด้อยพัฒนา ญี่ปุ่นก็พยายามจะคงสถานะอยู่ และยังมีเรื่องการเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เช่น กรอบพันธมิตรกับสหรัฐฯ หรือกรอบสถาบันระหว่างประเทศ เช่น อาเซียน (ASEAN) จะเห็นว่าญี่ปุ่นคอยผลักดันอยู่ ซึ่งในตอนนี้ นโยบายของญี่ปุ่นเป็นแบบเชิงรุก (Pro active) คือจะไม่ปล่อยให้ตัวเองลอยไปตามยถากรรมของโลก แต่จะเข้ามามีนโยบายเชิงรุกมากขึ้นในประเด็นต่างๆ

 

แนวร่วมอินโด-แปซิฟิก (Quadrilateral Security Dialogue – Quad) ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเชิงรุกไหม

อันนี้ชัดเจนครับ คือญี่ปุ่นพยายามสนับสนุนนโยบายนี้อยู่ แม้สหรัฐฯ จะเป็นแกนนำ แต่ถ้าเราไปอ่านหนังสือของนักวิชาการ หลายคนให้เครดิตนายกฯ อาเบะว่า เขาให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงของสองมหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก มาแต่ไหนแต่ไร เพราะจริงๆ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คำนึงถึงผลประโยชน์ในเชิงการเข้าถึงทรัพยากรโลกอยู่แล้ว แล้วสองมหาสมุทรนี้ก็เป็นเส้นทางเดินเรือที่นำพลังงานและทรัพยากรจากภาคพื้นทวีปเข้ามาสู่ญี่ปุ่น ตัวอาเบะเองก็เคยเสนอแนวคิดการมองภูมิศาสตร์ให้เชื่อมกันตั้งแต่เป็นนายกฯ สมัยแรก (ค.ศ.2006-2007) แต่พอทรัมป์เข้ามา ก็มาใช้คำว่า อินโด-แปซิฟิก ซึ่งมันคือนโยบายที่ต่อเนื่องมาจากนโยบายมุ่งเข้าหาเอเชีย (Pivot to Asia) ของโอบามา แต่ทรัมป์ไม่เอาชื่อของโอบามา เลยได้มาเป็นชื่อนี้แทน แต่ก็ไม่ทิ้งตะวันออกกลางที่สหรัฐฯ เคยเข้าไปมีบทบาทมาก่อนหน้านี้

 

แนวร่วมอินโด-แปซิฟิก แตกต่างจากเอเชีย-แปซิฟิก ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้อย่างมาก นักรัฐศาสตร์เห็นนัยยะอะไรจากยุทธศาสตร์นี้ของญี่ปุ่น

นี่คือการดึงเอามหาอำนาจที่อยู่ในภูมิภาคนี้เข้ามามีส่วนร่วม และแน่นอนว่า สหรัฐฯ เล็งเห็นผลโดยมีเป้าหมายคือการคานอำนาจกับจีน ส่วนคำว่าอินโดในที่นี้อาจหมายถึงอินเดีย เรามองเป็นมหาสมุทรอินเดียก็ได้ หรือจะมองเป็นตัวแสดงก็ได้ ซึ่งอินเดียก็มีศักยภาพพอที่จะเป็นมหาอำนาจด้านนี้เหมือนกัน

ขณะเดียวกัน อินเดียก็กังวลบทบาทของจีนที่ขยายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียใต้อยู่เหมือนกัน มันเลยเป็นความสนใจและความกังวลร่วมกัน หรือที่เรียกได้ว่า common interest ว่าเราจะเข้ามาจัดการหรือสอดส่องดูแลพฤติกรรมของจีนอย่างไรดี ตรงนี้ญี่ปุ่นมองว่าเป็นประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ของตนเหมือนกัน เพราะญี่ปุ่นก็เกรงกลัวและไม่มั่นใจกับท่าทีของจีนเช่นกัน

 

แต่แน่นอนว่า ถ้าจีนเห็นแบบนี้ย่อมไม่พอใจมาก ผนวกกับการที่อินเดียเคยเสนอว่า จะเข้ามาลาดตระเวนในภูมิภาคนี้ด้วย อาจารย์คิดว่าจีนกับญี่ปุ่นจะรับมือซึ่งกันและกันอย่างไร

สองประเทศนี้มีเรื่องบาดหมางกันหลายเรื่อง และมีความไม่เชื่อใจ (Mistrust) ระหว่างกันด้วย สิ่งที่ญี่ปุ่นพยายามทำคือ คานอำนาจกับจีน แต่เขาเข้าใจว่า ถ้าคานอำนาจกันโดยตรง ญี่ปุ่นไม่มีศักยภาพพอจะสู้จีนได้ การที่มีมหาอำนาจหลายฝ่ายเข้ามาจึงอาจจะช่วยยั้งจีนไว้ได้ คือคงไม่ได้สกัดกั้นการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีนหรอก แต่ประเด็นคือ ญี่ปุ่นกังวลกับท่าทีบุ่มบ่ามและทำตามอำเภอใจของจีน มองว่าจีนอาจพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ (Status quo) หรือกลัวว่าจีนจะใช้กำลังขยายอำนาจ ญี่ปุ่นจึงพยายามรับมือโดยการดึงเอามหาอำนาจหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องในกิจการของภูมิภาค

 

ในฐานะนักรัฐศาสตร์ อาจารย์มองว่าวิธีนี้ของญี่ปุ่นเป็นอย่างไร มีจุดอ่อนตรงไหนหรือไม่ เพราะถ้ายิ่งดึงตัวแสดงเข้ามา อาจจะยุ่งยากมากกว่าหรือเปล่า

ถูกต้องครับ เพราะจริงๆ ก็ยังไม่แน่ชัดว่า ในกลุ่มอินโด-แปซิฟิก ต่างฝ่ายต่างต้องการอะไร เราพูดถึง Quad แต่อย่าลืมตัวแสดงหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเรียกเป็นตัวแสดงหนึ่งได้หรือไม่ ก็คืออาเซียน ซึ่งพยายามจะเข้าไปมีส่วนร่วมหรือส่วนเกี่ยวข้องในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เพราะอาเซียนไม่อยากให้ตัวเองถูกทอดทิ้งหรือถูกละเลยไป

 

อย่างในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ที่ผ่านมา จะเห็นว่าอินโดนีเซียพยายามผลักดันเรื่องนี้มาก แต่สิงคโปร์กลับไม่คิดอย่างนั้น

แนวความคิดอินโด-แปซิฟิกจะไม่ชัดเมื่อมีตัวแสดงหลายตัว และต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายและความรู้สึกว่าจีนเป็นภัยคุกคามแตกต่างกัน ดังนั้น ก็จะมีแนวทางจัดการกับจีนต่างกัน บางมหาอำนาจไม่อยากดำเนินการที่จะเป็นการยั่วยุมากเกินไป บางมหาอำนาจมองว่าต้องแข็งกร้าว เช่น สหรัฐฯ มองจีนเป็นคู่อริ (Rival) อย่างชัดเจน แต่อาเซียนคงไม่อยากไปปลุกปั่น เพราะสมาชิกอาเซียนหลายฝ่ายก็ยังมองจีนว่าเป็นผลประโยชน์อยู่ และไม่อยากจะให้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นการยั่วยุหรือทำให้จีนโกรธเคืองขึ้นมา

สำหรับญี่ปุ่น ผมว่าเขาก็พยายามรักษาสมดุลตรงนี้ คือไม่อยากให้สหรัฐฯ แสดงท่าทียั่วยุจีนจนเกินไป เพราะจะส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนในภูมิภาคนี้ เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้ใกล้ชิดกับจีนเท่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ญี่ปุ่นถือเป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับความวุ่นวายในภูมิภาค นี่เป็นข้อที่ญี่ปุ่นกังวลอยู่ไม่น้อย

 

ถ้าจำกัดวงให้แคบลงอีก คือดูเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน) อาจารย์มองเห็นอะไร ญี่ปุ่นยังมีสถานะอะไรหลงเหลืออยู่ไหม เพราะตอนที่มีการเจรจากันระหว่างทรัมป์กับคิมจองอึน (ผู้นำเกาหลีเหนือ) ประธานาธิบดีมุนแจอินของเกาหลีใต้ยังดูมีบทบาทมากกว่าญี่ปุ่นเลย

จริงๆ ญี่ปุ่นก็มีความเกี่ยวข้องอยู่แล้วในฐานะพันธมิตรของสหรัฐฯ แต่ญี่ปุ่นกำลังเจอกับการลดบทบาทของตนเองลง คือลดอิทธิพลลงในเชิงเปรียบเทียบ ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ จะเห็นว่าญี่ปุ่นเผชิญกับประวัติศาสตร์ที่เข้ามาหลอกหลอนตลอด เราจะเห็นความบาดหมางของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ หรือกับจีนที่มีประเด็นสงครามประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ไม่มั่นใจในอนาคต เพราะเราไม่รู้ว่า จีนจะมีท่าทีแข็งกร้าวหรือเป็นภัยคุกคามญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหน เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือ

ส่วนประเด็นที่ว่า ญี่ปุ่นอยู่ตรงไหนในเรื่องเกาหลีเหนือ แต่เดิม ญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยเท่าไหร่กับการที่สหรัฐฯ เข้าหาเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ญี่ปุ่นมองว่าตนจัดการกับประเด็นนี้มานานแล้ว และอาจจะมองว่าทรัมป์มาใหม่ และมองยุทธศาสตร์ตรงนี้ง่ายเกินไป ญี่ปุ่นคิดว่า ไม่ว่าจะเจรจากับเกาหลีเหนือกี่รอบ กี่รูปแบบ พฤติกรรมเขาก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการขจัดนิวเคลียร์ไปจริงๆ ไม่ใช่ว่าแค่ทรัมป์จัดการประชุม Summit กับเกาหลีเหนือแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อย

หลายฝ่ายบอกว่า ญี่ปุ่นมองสถานการณ์แบบ realistic ที่สุด คือมองแบบจริงที่สุดและไม่โลกสวย เพราะปัญหานี้มีมากี่ทศวรรษแล้วล่ะ มันไม่ง่ายกับการเปิดประชุม Summit แล้วเกาหลีเหนือก็หันมาทำตามที่นานาชาติต้องการ เพราะฉะนั้นญี่ปุ่นจึงบอกสหรัฐฯ ว่าเราควรจะกดดันต่อไป

อีกประเด็นที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่ยอมเกาหลีเหนือง่ายๆ ไม่ใช่แค่เพราะเรื่องขีปนาวุธหรืออาวุธนิวเคลียร์อย่างเดียว แต่ยังมีประเด็นที่เกาหลีเหนือลักพาตัวคนญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 70-80 ด้วย อันนี้สังคมญี่ปุ่นสนใจมาก และคนญี่ปุ่นก็กดดันรัฐบาลมาก เมื่อใดที่เปิดความสัมพันธ์หรือเจรจากับเกาหลีเหนือต้องมีเรื่องนี้ผูกติดไปด้วย ผมคิดว่ารัฐบาลอาเบะไม่สามารถจะดิ้นหลุดจากแรงกดดันของสาธารณชนในญี่ปุ่นได้ ทั้งเรื่องนิวเคลียร์ และเรื่องการลักพาตัว ที่พวกเขาต้องการให้เกาหลีเหนือแก้ไขอย่างจริงจังและจริงใจ

 

ถ้าบอกว่าญี่ปุ่นมองโลกแบบ realistic แต่สำหรับทรัมป์ การดำเนินนโยบายทางการทูตหรือแม้แต่เรื่องในประเทศของเขา ไม่ได้เป็นอะไรที่เราสามารถอธิบายด้วยเหตุและผลได้ เพราะฉะนั้น ทรัมป์จึงไม่สนใจว่าผลการประชุมกับเกาหลีเหนือจะออกมาเป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน

จะบอกว่าไม่สนใจหรือไม่มียุทธศาสตร์อะไรเลยคงไม่ใช่ ประเด็นอยู่ที่ว่าเป้าหมายของเขาคืออะไร อาจจะเป็นการอ้างความสำเร็จของตนเอง ที่ส่งผลต่อความชอบธรรมต่อการเมืองภายในประเทศ แต่เรื่องนี้อาจจะกระทบกับพันธมิตรของตนเอง อย่างญี่ปุ่นก็กังวลว่า สหรัฐฯ จะจริงจังแค่ไหน ทำไมเกาหลีเหนือยื่นข้อเสนอเล็กน้อย ที่เหมือนเป็นการหลอกด้วยซ้ำ ก็ฮุบกับดักแล้ว อันนี้ก็ตีความได้หลายแบบ

จริงๆ แล้วทรัมป์อาจมีกลยุทธ์ของเขาเหมือนกัน คือเขาจะชนะอะไรล่ะ หรืออาจมองได้ว่า ทรัมป์จะหันไปเผชิญหน้ากับจีนอย่างจริงจังไหม ถ้ามีเกาหลีเหนือคอยเป็นปฏิปักษ์และคอยสร้างความกังวลอยู่ เขาก็อาจจะไม่สามารถเผชิญหน้ากับจีนได้อย่างจริงจัง เพราะฉะนั้น ทรัมป์อาจมองว่า เกาหลีเหนือไม่ใช่ศัตรูตัวฉกาจ ก็เล่นเกมแบบนี้ไปให้ได้ประโยชน์ แล้วลุยจีนดีกว่า มองแบบนี้ก็ได้เช่นกัน

 

นับจากนี้ เราจะเห็นอะไรจากญี่ปุ่นในกรณีของเกาหลีเหนือ

ญี่ปุ่นคงไม่อยากถูกโดดเดี่ยวตัวเองออกไปเสียทีเดียว เขาอาจจะต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของตนเองเหมือนกัน เพราะสุดท้าย เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ญี่ปุ่นจะไม่สามารถเป็นผู้กำหนดเกมได้ทั้งหมด แต่สหรัฐฯ เป็นตัวกำหนดที่สำคัญ ซึ่งญี่ปุ่นอาจจะต้องโอนอ่อนผ่อนตามกับสถานการณ์นี้ อาจต้องเปิดการเจรจากับเกาหลีเหนือก่อนก็ได้ แทนที่จะกดดันให้เกาหลีเหนือต้องแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นไปก่อน ญี่ปุ่นอาจจะตะล่อมเกาหลีเหนือว่า ให้มาช่วยแก้ปัญหาร่วมกัน เปิดความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แล้วค่อยมาเคลียร์กันเรื่องลักพาตัว แบบนี้ก็เป็นได้

 

ในทางเศรษฐกิจการเมืองโลก เมื่อจีนเติบโตขึ้นมา ญี่ปุ่นก็เรียกได้ว่าลดลงในเชิงเปรียบเทียบด้วย แล้วญี่ปุ่นจัดการอย่างไรกับการเติบโตและการคุกคามของจีน

จริงๆ แล้ว ญี่ปุ่นมองว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเป็นประโยชน์กับตนเองและเอเชียโดยรวม ถ้าเรามองว่าประเด็นด้านเศรษฐกิจเป็นประเด็นแบบ win-win เพราะช่วงแรกญี่ปุ่นไปลงทุนในจีนเยอะมาก และให้ความช่วยเหลือจีนมาตลอด

 

เช่นการที่บริษัท Nippon steel ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลก ไปช่วยทำให้โรงงานของจีนเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น (Industrialised)

ญี่ปุ่นทำแบบนั้นก็เพราะเขามีความหวังเหมือนกัน เนื่องจากตามทฤษฎีภาวะทันสมัย (Modernisation theory) มองว่า เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนจะเรียกร้องเรื่องการเมืองและเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จีนอาจเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการไปสู่ระบอบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และแน่นอนว่า เป็นมิตรกับญี่ปุ่นมากขึ้น เพราะญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือจีน

แต่อย่างที่เราเห็นว่า มันไม่เป็นแบบนั้นเลย เพราะก่อนหน้านี้ จีนเก็บเรื่องข้อพิพาทของตนกับญี่ปุ่นไว้ก่อน เพราะเห็นความสำคัญในการสร้างสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่น เช่น เรื่องปัญหาข้อพิพาทเกาะเซนกากุ (จีนเรียกว่าเกาะเตียวหยู) ที่กำลังเป็นประเด็นตอนนี้ แต่ก่อนผู้นำจีนบอกว่า ให้วางปัญหาไว้บนหิ้งก่อน แล้วค่อยให้คนรุ่นหลังมาเจรจา แต่ตอนนี้มันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะเห็นว่าจีนใช้ความมั่งคั่งของตนส่งเสริมแสนยานุภาพทางทหาร และขยายอำนาจทางทะเลออกไปยิ่งขึ้น

อีกอย่างหนึ่ง เป้าหมายสำคัญของจีนอาจเป็นการคานอำนาจกับสหรัฐฯ มากกว่า แต่ก็ทำให้ญี่ปุ่นรู้สึกวิตกกังวลไปด้วย เพราะจีนยังใช้ประเด็นสงครามกับญี่ปุ่นเป็นเครื่องมือปลุกปั่นกระแสชาตินิยมในจีนตลอดมา ผู้นำญี่ปุ่นมีแนวคิดว่า ผู้นำจีนใช้เรื่องญี่ปุ่นสร้างฐานความชอบธรรมให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน คือปลุกปั่นให้เกิดกระแสรักชาติ ชาตินิยม ซึ่งนั่นทำให้เป้าหมายที่ญี่ปุ่นเข้าไปให้ความช่วยเหลือกับจีนก่อนหน้านี้ไม่บรรลุตามความหวังที่วางไว้ ตอนนี้ญี่ปุ่นเลยหันมาใช้แนวทางแบบคานอำนาจ ถ่วงดุลอำนาจกับจีนมากขึ้น โดยการเข้าหาพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ

 

การที่ญี่ปุ่นเข้าหาสหรัฐฯ เช่นนี้ จะทำให้ความอ่อนไหวในภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคง สูงขึ้นไหม

ญี่ปุ่นก็คงต้องพยายามรักษาสมดุลอยู่ เพราะสหรัฐฯ ก็เป็นปัญหากับญี่ปุ่นเช่นกัน โดยเฉพาะในสมัยทรัมป์ เราจะเห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ได้แสดงท่าทีของการเป็นมหาอำนาจที่พอใจ หรือพยายามรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค แต่กลับพยายามยุแหย่ ยั่วยุ ปลุกปั่น ให้เกิดความวุ่นวาย ญี่ปุ่นมองเรื่องนี้ว่าจับทางยาก และแม้ญี่ปุ่นอยากจะคานอำนาจกับจีน แต่ก็ไม่ต้องการที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ในระดับยั่วยุ และทำให้จีนรู้สึกว่าต้องสร้างความแข็งแกร่งของตนมากขึ้น เลยกลายเป็นว่า ญี่ปุ่นยิ่งรู้สึกเกรงกลัวจีนมากขึ้นด้วย

 

ที่บอกว่า ญี่ปุ่นพยายามไม่สุดโต่งในการเป็นปฏิปักษ์กับจีน หมายความว่าอย่างไร แล้วจีนรู้สึกไหม

ญี่ปุ่นใช้ 2 ทาง คือใช้วิธีผูกมิตรในทางหนึ่ง และถ่วงดุลอำนาจด้วย มันเป็นยุทธศาสตร์แบบเผื่อทางหนีทีไล่เอาไว้ เพราะไม่อาจมั่นใจได้ว่า จีนจะมาแนวไหน ขณะที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ผูกติดกับจีนอยู่ไม่ใช่น้อย คือพึ่งพากันแบบ win-win อย่างที่บอกว่า ญี่ปุ่นเห็นการที่จีนเจริญรุดหน้าในทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องดี แต่จะทำอย่างไรไม่ให้จีนมีท่าทีคุกคาม หรือรู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นศัตรูจนเกินไป

 

 

เราสามารถพูดได้ไหมว่า ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เราไม่เคยเห็นผู้นำญี่ปุ่นไปศาลเจ้ายาสุกุนิ (Yasukuni Shrine) ซึ่งเป็นศาลที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อทหารที่ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 เลย เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของเรื่องนี้

อาจจะได้ครับ แต่ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ญี่ปุ่นจะเอาประเด็นเรื่องนี้เข้ามาผสมโรงกับความวุ่นวายที่มีอยู่ก่อนแล้ว คือในปีค.ศ. 2013 ที่โอบามายังเป็นประธานาธิบดีอยู่ อาเบะก็ยังไปที่ศาลเจ้า เราต้องดูสถานการณ์ว่า ในตอนนั้นจีนกับญี่ปุ่นทะเลาะกันใหม่ๆ ในเรื่องเกาะเซนซากุ (เตียวหยู) เพราะญี่ปุ่นประกาศซื้อเกาะจากเอกชนมาเป็นของรัฐในปีค.ศ. 2012 จีนจึงประกาศอาณาเขตพิสูจน์ป้องกันทางอากาศ (Air Defense Identification Zone) บริเวณพื้นที่ทะเลจีนตะวันออก คลุมมาถึงเกาะเซนกากุ ซึ่งอาเบะไปเยือนศาลเจ้าหลังจากจีนประกาศเขตนี้ ตรงนี้ เป็นการตอบโต้ของญี่ปุ่นต่อจีน โดยใช้สัญลักษณ์ศาลเจ้าเป็นการยั่วยุ

แต่หลังจากนั้น อาเบะกับจีนพยายามเข้าหากันมากขึ้น คือไม่อยากให้ภาวะตึงเครียดแบบนี้ดำเนินเรื่อยมา เราจะเห็นว่า อาเบะมีท่าทีผ่อนปรนกับจีนมากขึ้น แน่นอนว่าการเยือนไปศาลเจ้าจะทำให้วิกฤตปะทุขึ้นมาอีก และทำให้คนจีนออกมาประท้วงได้เช่นกัน

 

ทำไมเราไม่เห็นญี่ปุ่นมีท่าทีผ่อนปรนแบบนี้กับเกาหลีใต้บ้าง

ถ้าพูดภาษาทั่วไป ญี่ปุ่นอาจจะรำคาญหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้มีประเด็นทางประวัติศาสตร์หลายเรื่อง เช่น หญิงบำเรอ (Comfort women) ซึ่งเป็นสตรีที่ถูกบังคับให้มาปรนเปรอความสุขทางเพศให้ทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นกับอดีตประธานาธิบดีพัคฮึนเฮทำข้อตกลงกันในปลายปีค.ศ. 2015 แล้วว่าจะจัดการปัญหานี้ให้สิ้นสุด และจะไม่รื้อฟื้นขึ้นมาอีก ระดับรัฐบาลตกลงกันเรียบร้อยแล้ว แต่ระดับประชาชนไม่ยอม และมองว่าข้อตกลงนี้เป็นการแสดงว่าญี่ปุ่นไม่ได้สำนึก และไม่จริงใจที่จะทบทวนปัญหาประวัติศาสตร์ของตนเท่าไหร่ ทำให้เกิดกระแสประชาชนลุกฮือต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นมา

อีกปัญหาถัดมาเกิดขึ้นในปีที่แล้ว ที่ศาลสูงสุดของเกาหลีใต้พิพากษาให้บริษัทญี่ปุ่น ที่เคยใช้แรงงานแบบบีบบังคับในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองคาบสมุทรเกาหลี ต้องทำการชดเชย ซึ่งญี่ปุ่นบอกว่า ตนเองมีข้อตกลงกับเกาหลีใต้มาตั้งสมัยปีค.ศ. 1965 ซึ่งเป็นช่วงที่เปิดความสัมพันธ์ใหม่หลังสงครามว่า จะยุติเรื่องนี้ และญี่ปุ่นเองก็ได้จ่ายเงินชดเชยให้รัฐบาลเกาหลีใต้ไปแล้ว แต่ทำไมยังนำเรื่องนี้ขึ้นมาอีก คือในมุมญี่ปุ่นอาจจะมองว่าประเด็นนี้เกิดขึ้นหลายรอบแล้ว

แต่ในมุมเกาหลีใต้อาจมองว่า ญี่ปุ่นควรแสดงคำขอโทษที่จริงใจ เลยเป็นปัญหาที่ไม่สิ้นสุดสักที และยิ่งทะเลาะกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ความรู้สึกชาตินิยมของทั้งสองประเทศพลุ่งพล่าน คนญี่ปุ่นเลยมองว่าการตอบโต้เกาหลีใต้เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว ดูได้จากโพลที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใช้มาตรการการค้ากับเกาหลีใต้ ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ก็ตอบโต้กลับด้วยการประท้วงและแบนสินค้าญี่ปุ่นในประเทศ ทำให้ปัญหามีความซับซ้อนขึ้น เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างรัฐ แต่เกิดความไม่พอใจในระดับประชาชนของทั้งสองฝ่ายด้วย

 

เป็นไปได้ไหมว่า การที่คนเกาหลีใต้กับคนญี่ปุ่นสนับสนุนรัฐบาลตนเองในการตอบโต้ครั้งนี้ เพราะมองว่าภัยคุกคามหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีเหนือดูไม่ได้เป็นประเด็นมาก ถ้าสมมติเกิดการยิงขีปนาวุธทดสอบขึ้นมาจริงๆ ปฏิกิริยาอาจจะไม่เป็นแบบนี้

น่าจะเป็นอย่างนั้นด้วย โดยเฉพาะฝ่ายเกาหลีใต้ มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า การที่ประเด็นข้อตกลงเรื่องหญิงบำเรอบรรลุได้ ก็เป็นเพราะปัญหาเกาหลีเหนือนี่แหละ เนื่องจากตอนนั้นเกาหลีเหนือยิงหรือทดสอบขีปนาวุธอยู่บ่อยๆ เกาหลีใต้จึงมองว่า ต้องมีพันธมิตรช่วยกดดันเกาหลีเหนือ

แต่หลังจากทรัมป์เปิดความสัมพันธ์ และมีการประชุมสุดยอดกับผู้นำเกาหลีเหนือ ทำให้ประเด็นเกาหลีเหนือไม่ได้เป็นปัญหากับรัฐบาลเกาหลีใต้ขนาดนั้น คนอาจจะมองบทบาทหรือความจำเป็นของญี่ปุ่นลดลง และนำเรื่องญี่ปุ่นมาปลุกปั่นกระแสชาตินิยมในประเทศ

 

เป็นเพราะว่าเกาหลีใต้ใกล้จะเลือกตั้งด้วย

ใช่ครับ เพราะมีหลายคนในเกาหลีใต้ตีความว่า รัฐบาลใช้ประเด็นญี่ปุ่นเข้ามาสร้างความชอบธรรมและเบี่ยงเบนปัญหาเศรษฐกิจภายในของตนอยู่เหมือนกัน

 

ถ้าเป็นแบบนี้ ก็มีโอกาสที่สงครามการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะจบลงแบบไม่ดี

ผมคิดว่ามีโอกาสเจรจากันอยู่ และเราอย่าลืมสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะไม่สบายใจนักที่เห็นพันธมิตรทั้งสองของตนทะเลาะกัน และมีความตึงเครียดขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ อาจต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยกดดันในท้ายที่สุด เหมือนที่เคยทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในสมัยประธานาธิบดีโอบามา

 

ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นอ่อนไหวของญี่ปุ่นไปอีกสักพักไหม

ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีรอบนี้สะท้อนอะไรบางอย่างออกมา อย่างหนึ่งคือ การลดลงของความสำคัญและบทบาทของญี่ปุ่นในเชิงเปรียบเทียบ เพราะถ้าญี่ปุ่นมีความสำคัญ และอยู่ในสายตาของจีนและเกาหลีใต้ ประเด็นเรื่องญี่ปุ่นจะไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปลุกปั่นชาตินิยมในประเทศของตนเลย อย่างที่ผมบอกว่า ที่ผ่านมาประเด็นปัญหาใหญ่ๆ ถูกซุกเอาไว้หมด เช่น กรณีเกาะเซนกากุ ก่อนหน้านั้นจีนต้องการความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากญี่ปุ่น แต่ตอนนี้ญี่ปุ่นไม่ได้สำคัญขนาดนั้นแล้ว นี่ก็สะท้อนถึงอิทธิพลที่ลดลงของญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำให้รัฐบาลและคนญี่ปุ่นรู้สึกไม่ดีแน่นอน

 

นี่เลยกลับมาที่คำถามว่า ญี่ปุ่นยังเหลือสถานะอะไรในโลกบ้าง

ผมคิดว่าหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบาย พยายามจะแสดงตัวตนของตนเองออกมาให้มากขึ้นในเวทีต่างๆ

 

สหรัฐฯ ดูจะเป็นพันธมิตรที่สำคัญของญี่ปุ่น แล้วญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ เหมือนกันไหม

สำคัญครับ และญี่ปุ่นก็พยายามแสดงให้สหรัฐฯ เห็นว่าตนสำคัญ โดยการปรับตัวต่างๆ นานา อาจพูดได้ว่าเป็นการเอาใจสหรัฐฯ อะไรที่ยอมได้หรือทำให้สหรัฐฯ พอใจ ญี่ปุ่นก็ทำ รวมถึงการจัดการกับระบบกฎหมายต่างๆ ที่เคยเป็นอุปสรรคสำคัญด้วย นี่อาจจะยากหน่อย แต่ก็เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

แต่เดิม การเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นแบบไม่เท่าเทียม คือสหรัฐฯ ต้องเข้ามาปกป้องคุ้มครองเมื่อญี่ปุ่นถูกโจมตีด้วยศัตรู การโจมตีญี่ปุ่นเท่ากับการโจมตีสหรัฐฯ ด้วย แต่ถ้าสหรัฐฯ ถูกโจมตี ญี่ปุ่นไม่มีเงื่อนไขหรือหน้าที่ใดๆ ที่จะไปปกป้องสหรัฐฯ เลยกลายเป็นเหมือนว่า ญี่ปุ่นอยู่ในฐานะรัฐในอารักขาของสหรัฐฯ โดยที่ญี่ปุ่นไม่สามารถและไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือถ้าสหรัฐฯ ถูกโจมตี แต่ในสมัยอาเบะ ญี่ปุ่นเปลี่ยนแนวทางโดยบอกว่า ถ้าสหรัฐฯ ถูกชาติอื่นโจมตี ญี่ปุ่นสามารถให้ความช่วยเหลือและใช้กำลังปกป้องสหรัฐฯ ได้

 

ถ้าเช่นนั้น ญี่ปุ่นก็จะไม่ได้มีแค่กองกำลังป้องกันตนเอง (Japan Self-Defense Forces – JSDF) ซึ่งจะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญด้วย

เป็นคำถามที่ดีครับ คือญี่ปุ่นไม่ได้ยอมทั้งหมด แต่วางเงื่อนไขเหมือนกันว่า ถ้าญี่ปุ่นจะช่วยเหลือสหรัฐฯ การโจมตีนั้นต้องเป็นภัยคุกคามต่อญี่ปุ่น เท่ากับต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป อย่างน้อยสหรัฐฯ ต้องเรียกร้องความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นก่อน แล้วญี่ปุ่นจึงมาพิจารณาว่า การที่สหรัฐฯ โดนโจมตีกระทบความมั่นคงของตนแค่ไหน ถ้าไม่กระทบ ญี่ปุ่นจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง

 

ถ้ามอง ณ จุดนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้ญี่ปุ่นสามารถทำเรื่องนี้ได้มากเพียงใด

ตอนนี้ญี่ปุ่นยังไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ที่ทำแบบนี้ได้ในช่วงที่ผ่านมาคือตีความใหม่ว่า ไม่ต้องโจมตีญี่ปุ่นโดยตรง และหลายครั้งที่การโจมตีประเทศที่ใกล้ชิดกับเรา อาจส่งผลเท่ากับเป็นภัยคุกคามเราได้เหมือนกัน ญี่ปุ่นจึงขยายนิยามคำว่า การป้องกันตนเอง ให้หมายรวมถึงการป้องกันชาติอื่นที่เป็นพันธมิตรหรือใกล้ชิดกับญี่ปุ่นด้วย เพราะหลายครั้งที่เมื่อโจมตีประเทศใกล้เคียงเราจนประเทศนั้นล่มไป เราก็จะเป็นรายต่อไป แล้วเราจะรอภัยคุกคามเราโดยตรงทำไม ก็ช่วยประเทศใกล้ชิดเราจัดการกับภัยคุกคามก่อนไม่ดีหรือ

 

ถ้าแค่ตีความรัฐธรรมนูญใหม่แล้วสามารถทำแบบนี้ได้ ทำไมญี่ปุ่นถึงต้องพยายามแก้รัฐธรรมนูญด้วย เพราะดูเหมือนประชาชนก็ไม่ได้สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้

ส่วนหนึ่งผมคิดว่า การแก้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง เพราะอาเบะเป็นฝ่ายขวา (อนุรักษนิยม) ซึ่งมองว่า รัฐธรรมนูญนี้ถูกต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ร่างให้ตอนที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม สหรัฐฯ คือผู้กะเกณฑ์ให้มีมาตรา 9 คือห้ามมีทหาร ให้เลิกสงคราม พอมาถึงปัจจุบัน ก็เห็นชัดว่า พรรคมองการแก้รัฐธรรมนูญเป็นการปิดฉากการแพ้สงครามของญี่ปุ่น ทั้งที่จริงๆ แล้วในทางปฏิบัติ ญี่ปุ่นมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะจัดการกับประเด็นเหล่านี้

 

หลังจากตีความมาตรา 9 แล้ว เงื่อนไขการใช้กำลังร่วมกัน (Collective Self-Defense) กับพันธมิตร จะมีแนวโน้มอย่างไรในอนาคต ถ้ามองบนพื้นฐานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกในปัจจุบัน

อย่างที่ผมบอกว่า มีการตีความใหม่ให้ญี่ปุ่นยอมรับแนวคิดนี้ ที่บอกว่าญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้เข้าไปช่วยเหลือสหรัฐฯ หรือใช้กำลังช่วยเหลือยามที่พันธมิตรถูกโจมตีได้ คือแนวคิดการป้องกันตนเองร่วม (Collective Self-Defense) ซึ่งอย่างที่บอกไปแล้วว่า ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้หลักแบบที่นานาชาติเข้าใจกันทั่วไป แต่กำหนดว่า การโจมตีชาติพันธมิตรหรือชาติใกล้ชิดอื่น จะต้องกระทบกับความอยู่รอดและความมั่นคงของญี่ปุ่นโดยตรงด้วย

 

ใครเป็นคนพิจารณาว่า ญี่ปุ่นจะเข้าช่วยเหลือพันธมิตรที่ถูกโจมตีหรือไม่ และต้องใช้เสียงเท่าไหร่

รัฐบาลเป็นผู้พิจารณา แต่อาจมีการอภิปรายในรัฐสภาเช่นเดียวกัน เพราะเงื่อนไขการป้องกันตนเองร่วม ต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาด้วย นี่จึงไม่ใช่เงื่อนไขที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องช่วยเหลือสหรัฐฯ ในทุกกรณี แต่ญี่ปุ่นจะพิจารณาเป็นรายกรณีไปว่ากระทบกับความมั่นคงของตนหรือไม่

 

คำว่า ‘พันธมิตร’ หมายรวมถึงประเทศไหนบ้าง หรือญี่ปุ่นต้องประกาศว่าประเทศใดบ้างที่นับเป็นพันธมิตร

เป็นคำถามที่ดีมากครับ นี่เป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน และญี่ปุ่นก็บอกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นสหรัฐฯ ชาติเดียวด้วย เพราะพันธมิตรในนิยามความหมายที่รัฐบาลออกมาเพื่อใช้กับแนวคิดป้องกันตนเองร่วมคือ เป็นรัฐที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น แต่ก็ไม่แน่ใจว่า เกณฑ์ของความใกล้ชิดคืออะไร ในเชิงภูมิศาสตร์ ต้องมีการค้าระหว่างกัน หรือต้องมีสนธิสัญญาร่วมแบบที่ญี่ปุ่นมีกับสหรัฐฯ นี่เป็นส่วนที่คลุมเครือ แต่ก็ทำให้ยืดหยุ่นด้วย

แต่ความยืดหยุ่นดังกล่าวอาจมีปัญหาว่า ถ้าสหรัฐฯ โจมตีแล้วมากดดันญี่ปุ่น ญี่ปุ่นอาจจะตัดสินใจยาก สหรัฐฯ อาจบอกว่าการโจมตีเกี่ยวกับญี่ปุ่น ทั้งที่จริงๆ อาจไม่เกี่ยว ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ว่าสหรัฐฯ กำลังเริ่มจัดตั้งกองกำลังนานาชาติขึ้นในตะวันออกกลาง เพราะมีประเด็นความตึงเครียดกับอิหร่านอยู่ ในญี่ปุ่นก็เริ่มมีการถกเถียงกันแล้วว่า จะส่งกองกำลังป้องกันตนเองไปร่วมในกองกำลังนานาชาตินี้ไหม แต่จะมองจากมุมไหนก็มีเงื่อนไขปิดไว้ทั้งนั้น ซึ่งอาจทำให้ญี่ปุ่นบาดหมางกับสหรัฐฯ หรือไม่ เพราะในขณะที่สหรัฐฯ กำลังเรียกร้องให้นานาชาติช่วยกันกดดันอิหร่านอยู่ ก็คงอยากจะเห็นญี่ปุ่นทำอะไรบางอย่างเหมือนกัน ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือญี่ปุ่นซื้อน้ำมันจากอิหร่านอยู่ด้วย

 

ทรัมป์โจมตีญี่ปุ่นว่าเป็น Free rider (กลุ่มที่ไม่ทำอะไร แต่ได้ประโยชน์มาฟรีๆ) ในเรื่องความมั่นคง ข้อโจมตีนี้สมเหตุสมผลหรือไม่ และญี่ปุ่นมองเรื่องนี้อย่างไร

ทรัมป์อยากให้ความสัมพันธ์หลายอย่างเป็นแบบเท่าเทียม แต่ต้องเข้าใจว่า สถานะของญี่ปุ่นเป็นชาติที่ละเลิกสงคราม นี่เป็นตัวตน เป็นอัตลักษณ์ของญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามเป็นต้นมา ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงมีเงื่อนไขกฎหมายในประเทศของตนที่จะยึดมั่นในสันติภาพ แล้วอย่าลืมว่า คนที่กะเกณฑ์ให้ญี่ปุ่นเลิกสงครามก็คือสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้ญี่ปุ่น แต่ถ้าเราติดตามความคิดเห็นของทรัมป์ จะพบว่าเขาไม่ฟังเหตุผลนี้หรอก ซึ่งอันนี้ก็เป็นปัญหาอยู่

 

สหรัฐฯ พอใจสภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ไหม และถ้าญี่ปุ่นเข้ามาช่วยสหรัฐฯ ที่มีปัญหา จะทำให้สถานะของญี่ปุ่นดูดีขึ้นไหมในการเมืองระหว่างประเทศ

จริงๆ ตรงนี้เป็นความกังวลถึงภัยคุกคามต่อญี่ปุ่นเป็นหลัก และอีกอย่างคือเพื่อคานอำนาจกับจีน เป็นการทำให้บทบาทหน้าที่ระหว่างสมาชิกที่เป็นพันธมิตรเท่าเทียมกันมากขึ้น และทำให้เห็นว่าระบบพันธมิตรแข็งแกร่ง เพื่อให้ชาติศัตรูอย่างจีนรู้ว่า สหรัฐฯ จะเข้ามาคุ้มครองญี่ปุ่น จีนจึงไม่ควรเข้าไปคุกคามหรือ take action อะไรกับญี่ปุ่น นี่เป็นแนวทางป้องปราม ขู่อีกฝ่ายไม่ให้กล้าทำอะไรตั้งแต่ต้น

 

ญี่ปุ่นทำให้เห็นว่า เป็นประเทศประชาธิปไตยที่สามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเป็นโมเดลที่แตกต่างจากจีน แล้วโมเดลการพัฒนาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นแบบไหน โดยเชื่อมโยงกับการปกครองแบบประชาธิปไตย 

จริงๆ เรื่องนี้มีทั้งส่วนที่เกี่ยวข้อง และส่วนที่ผมไม่แน่ใจว่าจะโยงกันได้ขนาดไหน แต่โมเดลของญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษในทางเศรษฐกิจอยู่เหมือนกันตรงที่ว่า แต่เดิมแนวทางการพัฒนาของญี่ปุ่นเป็นแบบสามเหลี่ยมเหล็ก (Iron triangle) ที่ฝ่ายธุรกิจสามารถเข้าถึงฝ่ายการเมือง คือพรรค LDP ได้ และเข้าถึงข้าราชการหรือระบบราชการได้ด้วย การที่เป้าหมายของญี่ปุ่นตอนนั้นคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็เหมือนกับว่า ตัวเลขแสดงในสามเหลี่ยมเหล็กมุ่งไปในประเด็นเดียวกันหมด ถามว่าสะท้อนถึงประชาธิปไตยไหม ผมว่าตรงนี้สะท้อนถึงการเกื้อหนุนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันมากกว่า

อีกอย่างหนึ่ง ตอนนี้ญี่ปุ่นไม่ใช้โมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจเหมือนสมัยก่อนแล้ว เพราะในยุค 90 ที่เกิดฟองสบู่ ทำให้เกิดการคาดการณ์เพื่อเก็งกำไรต่างๆ ที่ดินในโตเกียวแพงขึ้นมหาศาล และตอนนี้มันพังลงอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นจึงต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภาวะเงินฝืดมาจนถึงปัจจุบัน เลยทำให้โครงสร้างแบบสามเหลี่ยมเหล็กถูกตั้งคำถามเหมือนกัน

 

 

เก็บตกจากญี่ปุ่น

 

ญี่ปุ่นไม่มีกองทัพ แต่ก็เจริญและมีความมั่นคงได้ เพราะอะไร 

ประเด็นนี้ต้องพูดถึงแนวนโยบายที่เรียกว่า ‘ลัทธิโยชิดะ (Yoshida Doctrine)’ 3 ข้อซึ่งญี่ปุ่นยึดถือ เพื่อจะกลับขึ้นมามีสถานะและจัดการกับปัญหาหลังสงครามของตนเองได้

ข้อหนึ่งคือไม่ยุ่งเกี่ยวกับการทหาร ปล่อยให้สหรัฐฯ เข้ามาคุ้มครอง ส่วนญี่ปุ่นจะทุ่มเทความสนใจและงบประมาณไปกับเรื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตอนนั้นนายกฯ โยชิดะพูดชัดเจนว่า ญี่ปุ่นจะไม่มีกองกำลังใดๆ ด้วยซ้ำ แม้แต่เพื่อป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นแนวคิดสุดโต่งมากๆ เมื่อเป็นแบบนี้ ญี่ปุ่นจึงเล่นบทบาทแบบ low profile ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่เข้าไปมีข้อเกี่ยวข้องหรือข้อขัดแย้งกับชาติอื่นๆ และแม้ว่าในยุคนั้นจะมีสหภาพโซเวียตที่เป็นภัยคุกคามอีกฝั่งอยู่ ญี่ปุ่นก็พยายามจะรักษาสมดุลไม่ให้เป็นศัตรูกับสหภาพโซเวียตมากเกินไปด้วย

 

ทำไมคนญี่ปุ่นชอบลาออก

อันนี้น่าสนใจนะครับ คือการรับผิดชอบเรื่องต่างๆ ของเขาจะใช้วิธีการลาออก ซึ่อาจต่างจากไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจเข้าไปอีกในประเด็นนี้คือ เวลาผู้นำหรือผู้กำหนดนโยบายลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบอะไรบางอย่าง สังคมญี่ปุ่นก็ไม่ได้มองว่า เป็นเรื่องที่ดีทั้งหมด แต่มีข้อวิจารณ์เหมือนกันว่า เป็นธรรมเนียมที่ง่ายเกินไปไหม เป็นการหนีหรือทิ้งปัญหาหรือเปล่า และเมื่อวิธีนี้เป็นแนวทางที่ใช้กันเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดการทบทวนเหมือนกันว่า การทำแบบนี้โอเคไหม

แต่พอมาเปรียบเทียบสังคมไทย ซึ่งไม่เคยทำแบบนี้ แต่วิธีของเราคือไม่ได้ยอมรับหรือแสดงความรู้สึกผิดชัดเจน ก็ปรากฏว่า เราอาจต้องการแบบที่ญี่ปุ่นทำให้เราเห็น นี่ก็เป็นข้อแตกต่างอีกอย่างของทั้งสองสังคมครับ

 

แต่ก่อน เราจะมีภาพว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต แต่หลังๆ จะเห็นว่าญี่ปุ่นมีกรณีโกงเยอะมาก รวมถึงบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาล เรื่องแบบนี้บอกอะไรเรา

อย่าคาดหวังกับญี่ปุ่นมากเกินไป เพราะสังคมไหนๆ ก็มีปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเสมอ แต่ที่น่าสนใจคือ เขาจัดการกับประเด็นเหล่านี้อย่างไรมากกว่า เช่น การออกมาขอโทษ มีระบบตรวจสอบที่ทำให้เห็นว่าเกิดการโกงจริง และเปิดเผยการโกงนั้นออกมา รวมถึงมีผู้รับผิดชอบหรือผู้ที่ต้องเข้ามาชดใช้ ผมคิดว่านี่เป็นกระบวนการที่เราเรียนรู้จากเขาได้

 

สังคมแบบชายเป็นใหญ่ในญี่ปุ่นบั่นทอนประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าไม่หรือบั่นทอน เป็นเพราะอะไร

ถ้าเราบอกว่า ความเท่าเทียมเป็นเกณฑ์หนึ่งในการวัดประชาธิปไตย ผมก็คิดว่ามันสำคัญครับ แต่เราต้องเข้าใจว่า สังคมญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนไปเยอะแล้วเหมือนกัน สมัยนี้เราจะเห็นว่า มีการพูดถึงจำนวนของส.ส.หญิง หรือผู้สมัครหญิง เช่น การเลือกตั้งส.ว. ที่ผ่านมา มันเลยกลาย mindset แบบหนึ่งเหมือนกันว่า ญี่ปุ่นต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบันนี้ ผู้หญิงต้องเข้ามามีบทบาทและเป็นผู้บริหารมากขึ้น ซึ่งอาจอธิบายได้หลายอย่าง ส่วนหนึ่งคือแรงกดดันจากนานาชาติ และญี่ปุ่นก็เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่โดนวิจารณ์มาตลอด เห็นได้ชัดว่า ญี่ปุ่นพยายามแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนไปตามบรรทัดฐานระหว่างประเทศตรงนี้

ขณะเดียวกัน ตอนนี้ญี่ปุ่นเริ่มเห็นความสำคัญของผู้หญิงมากขึ้น ว่าเป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหาประชากรแรงงานที่ลดลง โดยดึงเอาแรงงานที่เป็นศักยภาพแฝงอยู่ขึ้นมา หลายครั้งที่คนญี่ปุ่นมีธรรมเนียมว่า ถ้าเป็นภรรยาแล้วก็ให้ทำหน้าที่ภรรยาแบบสุดโต่งไปเลย จัดการงานบ้าน และให้สามีทำงาน แต่ตอนนี้เราจะเห็นความพยายามดึงเอาศักยภาพแฝงตรงนี้ออกมามากยิ่งขึ้น แม้แต่ในกองกำลังป้องกันตัวเอง

 

มีคนวิจารณ์การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยผู้หญิง (Womenomics) ว่าเป็นนโยบายที่ไม่สำเร็จ อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร

ญี่ปุ่นมีประเด็นเรื่องสังคมชายเป็นใหญ่และการแบ่งบทบาทหน้าที่ของชายหญิงชัดเจนจนเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้ฝังลึก และสะท้อนออกมาในลักษณะของการกีดกัน ดูถูกศักยภาพของผู้หญิง

บางทีจะมีการที่ส.ส. หลุดปากออกมาว่า ผู้หญิงต้องทำงานบ้าง หรือเป็นเครื่องจักรผลิตทายาท หรือมองว่าผู้หญิงไม่มีลูกเป็นคนไร้ค่า วิธีคิดแบบนี้ก็ยังมีอยู่ เห็นชัดว่าเป็นทัศนคติที่ฝังลึกในสังคม และการจะแก้ไขทัศนคติเหล่านี้คงต้องใช้เวลา คงไม่บรรลุแค่การออกนโยบายมาเป็นสโลแกนเฉยๆ แต่ต้องเป็นนโยบายที่มีการส่งเสริมกันในระยะยาว

 

การ์ตูนยังเป็นสื่อสร้างชาติ และมีอิทธิพลต่อเด็กๆ ในญี่ปุ่นอยู่หรือไม่

ถ้าพูดถึงการสร้างชาติ ผมคิดว่ามันยังเป็นเครื่องมือในทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งเหมือนกัน ญี่ปุ่นก็พยายามส่งเสริมธุรกิจเหล่านี้ออกมา และส่งออกไปในประเทศต่างๆ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการทูตวัฒนธรรมด้วย ยิ่งตอนนี้ญี่ปุ่นมองเรื่องการส่งออกวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวว่าเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจของตน ผมเลยคิดว่าการ์ตูนยังสำคัญอยู่ แต่คำว่าสร้างชาติ อาจไม่ใช่ในความหมายเหมือนช่วงฟื้นฟูประเทศจากการแพ้สงคราม แต่ผมคิดว่าก็ยังเป็นของที่ขายได้อยู่

ส่วนที่ถามว่ามีอิทธิพลต่อเด็กไหม ผมว่าการ์ตูนในสังคมญี่ปุ่นไม่ใช่สำหรับเด็กอย่างเดียว แต่ทุกคนอ่านการ์ตูนหมด และการ์ตูนก็เป็นสื่ออย่างหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาอะไรได้ง่ายๆ อย่ามองแค่ว่าการ์ตูนเป็นสื่อบันเทิง ในญี่ปุ่นการ์ตูนเป็นหลายอย่าง ทั้งสื่อในการส่งความคิดและข้อมูลในรูปแบบที่ง่าย ย่อยให้คนเข้าใจได้ง่าย แม้แต่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 9 ก็ยังมีการส่งเสริมในรูปแบบการ์ตูน รวมถึงสอนประวัติศาสตร์ เรื่องที่เข้มข้นจริงจัง ก็มีการนำเสนอผ่านมังงะเหล่านี้ด้วย

 

ญี่ปุ่นมองไทยอย่างไร สนใจมากแค่ไหนกับความเป็นประชาธิปไตยของไทย หรือสนใจไทยในแง่มุมไหนเป็นพิเศษ 

จริงๆ แล้ว หลักประชาธิปไตยถือว่าเป็นหลักคุณค่าสำคัญของญี่ปุ่นเหมือนกัน เราจะเห็นว่าข้อหนึ่งในเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ คือ การส่งเสริมการสร้างประชาธิปไตย (Democratisation) รวมถึงเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน ล่าสุดมีเรื่องการเคารพความเท่าเทียมทางเพศด้วย

 

ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้มีปัญหากับการมีปฏิสัมพันธ์ขั้นปกติกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารทั้งสองชุดที่ผ่านมา เช่น ช่วงคมช. ก็ลงนามความตกลงหุ้นส่วนไทยญี่ปุ่น (JTEPPA) ส่วนช่วงรัฐบาลคสช. ก็มีความสัมพันธ์แนบแน่นมาก

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ญี่ปุ่นมองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และโดยพื้นฐานแล้ว ญี่ปุ่นไม่ใช่ชาติที่จะกดดันชาติไหนให้เป็นประชาธิปไตย ในอดีตเราก็ไม่เคยเห็นเขาดำเนินการจริงจัง หลายครั้งที่ญี่ปุ่นถูกวิจารณ์เรื่องนี้ หลักการที่บอกว่าเป็นคุณค่า จะช่วยเหลือต้องมีเงื่อนไข ก็ถูกมองว่าเป็นแค่ฉากหน้าเท่านั้น เพราะญี่ปุ่นช่วยเหลือพม่ามาโดยตลอด

แต่ญี่ปุ่นก็บอกว่า เขามีหลักปรัชญาของเขา หรือถ้าพูดในเชิงลบคือ เขาก็มีข้ออ้างของเขาเหมือนกัน เช่น กรณีพม่าอาจจะบอกว่า พม่าก็เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยในที่สุด แม้จะมีปัญหาอะไรอยู่ก็ตามในตอนนี้ ญี่ปุ่นก็อาจมองว่ามันเป็นความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นยืนยันอยากจะให้พม่ามาโดยตลอด คือเขาอาจใช้วิธีต่างจากสหรัฐฯ ที่บอกว่าคุณจะเปิดการเจรจา มีความสัมพันธ์อันดีกับเรา ก็เป็นประขาธิปไตยสิ แต่ญี่ปุ่นจะใช้วิธีอยู่กับประเทศนั้นๆ และแอบกดดันจากเบื้องหลังว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยขึ้นมา ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นจะง่ายขึ้น

ญี่ปุ่นไม่ต้องตีสองหน้าว่าทางหนึ่งเรายึดคุณค่าประชาธิปไตย แต่คุณกลับมามีความสัมพันธ์อันดีกับชาติที่มีข้อสงสัยว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่แน่นอนว่า ถ้าไทยเป็นประชาธิปไตยแบบเห็นชัด จะทำให้ความสัมพันธ์ง่ายขึ้น ตรงที่หลักอุดมการณ์ตรงกัน เพราะญี่ปุ่นพูดเสมอว่า ตนเองส่งเสริมประชาธิปไตย

 

แต่สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปก็ไม่ได้กดดันอะไรมากมาย ขอแค่มีการเลือกตั้ง จากนั้นก็ตกลงกันเหมือนเดิมตามปกติ

แน่นอน เพราะผลประโยชน์แห่งชาติของเขาย่อมสำคัญกว่าอยู่แล้ว

 

สังคมภายนอกญี่ปุ่นไม่เคยรู้สึกว่าระบอบกษัตริย์หรือสถาบัน มีความสำคัญกับคนญี่ปุ่น แต่ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนรัชสมัย จะเห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จริงๆ แล้วเรื่องนี้ในสังคมญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

สถาบันจักรพรรดิในญี่ปุ่นอยู่ในสถานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชาติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ญี่ปุ่นใช้มาหลังสงคราม ถือว่าลดอำนาจของสถาบันจักรพรรดิลงไปมากทีเดียว แต่เดิมจักรพรรดิเป็นผู้นำสูงสุดในทางการเมือง เป็น Supreme authority แต่ช่วงหลังสงคราม หลายคนบอกว่าคนญี่ปุ่นต่อสู้ในสงครามเพื่อจักรพรรดิ จักรพรรดิจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ในการที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สงคราม และเป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยมด้วย ดังนั้น จักรพรรดิในช่วงหลังสงครามมาจึงควรจะมีบทบาทที่น้อยลง คือเป็นแค่ในเชิงสัญลักษณ์ มีบทบาทในเชิงสังคม เชิงพิธีการมากกว่า

แต่ผมคิดว่า การเปลี่ยนรัชสมัยเป็นเรื่องคนญี่ปุ่นรู้สึกตื่นเต้นหรือตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แน่นอนว่าสื่อก็เล่น ประโคมความสนใจกันเยอะ เพราะมีหลายเรื่องที่คนญี่ปุ่นสนใจ เช่น รัชสมัยใหม่จะชื่อว่าอะไร มีให้คนได้ลุ้นกัน เขามีการตั้งคณะกรรมการ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ หรือนักภาษาศาสตร์มาคัดเลือกรายชื่อ ว่าจะมาจากไหน มีความหมายอะไร ทำให้สังคมตื่นเต้นและตื่นตัว แต่สถาบันจักรพรรดิก็ยังมีสถานะเป็นสัญลักษณ์อยู่ และไม่ได้มีความสำคัญในลักษณะเดียวกับที่เราเห็นในประเทศไทย

 

อาจารย์คิดว่าตอนนี้พื้นที่แถบโทโฮคุ (Tohoku) ซึ่งเป็นภูมิภาคที่อยู่ทางเหนือของเกาะฮอนชู มีความปลอดภัยหรือไม่ แล้วทำไมรัฐบาลถึงพยายามจะส่งคนกลับไปอยู่ที่นั่น รวมถึงพยายามส่งออกอาหารด้วย ตรงนี้สะท้อนอะไรในหลักคิดของรัฐบาล

ผมไม่แน่ใจว่าปลอดภัยหรือยัง อาจจะต้องรอผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาตอบ ส่วนหลักคิดของรัฐบาลคือ Reconstruction คือเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ตรงนั้นให้คนสามารถกลับไปอาศัยอยู่ได้ และฟื้นฟูชุมชนที่เคยมีอยู่ในพื้นที่นั้นให้กลับคืนมา แต่แน่นอนว่า คงมีคนกล้าๆ กลัวๆ อยู่ แม้กระทั่งกับคนญี่ปุ่นเอง จึงจะเกิดปัญหาในการทำให้ความคึกคักหรือเงินทุนไหลไปยังพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการหลายอย่างในการส่งเสริมให้พื้นที่แถบนั้นกลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ อาจมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว อีกอย่างหนึ่งคือกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดในปีค.ศ. 2020 ก็มีสโลแกนเป็น Reconstruction เหมือนกัน คือเป็นการฟื้นฟู

 

หน่วยราชการ พรรค LDP และกลุ่มอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกัน ทำให้คนอาจจะไม่ไว้ใจนัก

นโยบายการใช้นิวเคลียร์คงเป็นนโยบายที่รัฐบาลพรรค LDP ยึดอยู่ว่าต้องใช้ต่อไป แต่ที่ผ่านมา ก็มีความพยายามในการออกมาตรการต่างๆ มาดูแลและจัดการให้ดียิ่งขึ้น เพราะปัญหาภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ คงจะเป็นบทเรียนอย่างหนึ่งให้ญี่ปุ่นนำมาแก้ไข หากต้องการจะใช้เทคโนโลยีต่อไป ไม่เช่นนั้นญี่ปุ่นต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก แต่พลังงานนิวเคลียร์ทำให้ญี่ปุ่นพึ่งตนเองได้มากขึ้น

 

คำถามสุดท้าย อาจารย์ชอบและไม่ชอบอะไรในสังคมญี่ปุ่น

จริงๆ ตอบยาก เพราะผมไปอยู่ในญี่ปุ่นเป็นเวลานานมาก ถ้าจะพูดเรื่องที่ชอบหรือไม่ชอบก็เล่าไม่จบ แต่อย่างหนึ่งที่ผมชอบที่สุด อาจคล้ายกับที่คนไทยคนอื่นชอบเวลาไปถึงญี่ปุ่น คือความเป็นระเบียบ ความสะอาด และความตั้งใจของคนญี่ปุ่น

เวลาทำอะไร เขาดูเหมือนจะทำให้สุดโต่งถึงที่สุด ตอนผมไปเรียนก็รู้สึกว่าได้ทัศนคติ perfectionist แบบนี้มา แต่ไม่ได้หมายความว่า คนญี่ปุ่นจะเป็นแบบนี้ทุกคน สังคมเขามีความหลากหลาย เมื่อเราไปเห็นหรือไปอยู่ตรงนั้นนานๆ จะเห็นว่ามีคนหลายประเภทหลายแบบ แต่แน่นอนว่านี่เป็นคุณค่าที่ปรากฏและฉายออกมาจากการไปอยู่ที่ญี่ปุ่น เป็นคุณค่าที่เราสัมผัสได้

ส่วนสิ่งที่ไม่ชอบคือ บางครั้งคนญี่ปุ่นจะเข้มงวดจนถึงขั้นหวาดระแวงเยอะมาก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการตรวจสอบที่ผลักดัน (push) ให้เราเช็กโน่นเช็กนี่ จนบางครั้งทำให้กลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจ เหมือนคนที่จะออกจากบ้านแล้วต้องเช็กว่าปิดไฟกับแก๊สแล้วหรือยัง แล้วก็ต้องกลับมาเช็กอีกที หลายครั้งที่การทำงานกับคนญี่ปุ่นเป็นแบบนี้ ทำให้กระบวนการทำงานมีความยิบย่อยไปหมด และทำให้ยุ่งยาก โดยเฉพาะจากมุมมองของคนไทย ที่หลายครั้งต้องการอะไรง่ายๆ ก็มีเหมือนกันที่รู้สึกว่ามันมากจนเกินไปรึเปล่า

 


ถอดความจากรายการ 101 one-on-one Ep.79 ‘อ่านการเมืองญี่ปุ่น’ กับ ธีวินท์ สุพุทธิกุล ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save