fbpx
กวดวิชา กวดขัน กอดความฝัน เกลียดความจริง : ทำความรู้จักความเจ็บปวดของวัยรุ่นที่หลากหลาย

กวดวิชา กวดขัน กอดความฝัน เกลียดความจริง : ทำความรู้จักความเจ็บปวดของวัยรุ่นที่หลากหลาย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หากจะมีเพลงไหนสักเพลงที่บอกเล่าความเป็นวัยรุ่นได้สั้นกระชับและเฉียบคม ‘เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย’ น่าจะเป็นเพลงนั้น

วัยที่เต็มไปด้วยอารมณ์ปรารถนา ใจพลุ่งพล่านจากทั้งความฝันและความกลัว ทั้งต้องแบกรับภาระรับผิดชอบเรื่องการเรียน เพื่อให้มีอนาคตที่ดีตามที่ผู้ใหญ่อยากเห็น ในวันก่อร่างสร้างตัวที่ไม่มีอะไรแน่ชัดสักอย่าง วัยรุ่นกลับต้องรับมือกับหลายอย่างเหลือเกิน – เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย และไม่ง่าย

ไม่ว่าในพื้นที่ไหน ในสังคมไหน วัยรุ่นก็ล้วนมีความเจ็บปวดเป็นของตัวเอง แม้ต่างกันที่รูปแบบและเนื้อหา 101 ชวนทำความรู้จักความเจ็บปวดของวัยรุ่นผ่านมุมมองของวัยรุ่นที่อยู่กันต่างสถานที่และต่างความคิด

พวกเขาทุกข์กับอะไร ฝันถึงสิ่งไหน และอยากบอกผู้ใหญ่ว่าอะไรบ้าง

 

เมื่อ 3.99 คือความเจ็บปวด

 

สำหรับเด็กบางคน การเรียนหนังสือให้ผ่านพ้นไปแต่ละวันอาจเป็นเรื่องสามัญ แต่กับบางคน การไม่ได้เลข 4 ไปประดับบนใบเกรดทุกตัวกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลต่อหัวใจในระดับล้ำลึก ฝ้าย (นามสมมติ) เป็นเด็กแบบนั้น

ฝ้ายเรียนหนังสือเก่งมาตั้งแต่เด็ก ช่วงประถม ฝ้ายเรียนได้เกรด 4.00 ทุกเทอมจนกลายเป็นเรื่องปกติ – เลข 4 เท่านั้นที่มีสิทธิ์อยู่บนใบเกรด พอขึ้นมาเรียนชั้น ม.1 เทอมแรก เกรดของฝ้ายก็ยังเรียบเนียนไร้ที่ติ จนกระทั่งวันนั้นมาถึง วันที่เกรดไม่สมบูรณ์แบบอีกต่อไป เมื่อ ม.1 เทอมสอง มีวิชาหนึ่งหลุดไปเป็นเกรด 3.5 จนสุดท้ายส่งผลให้เกรดเฉลี่ยรวมกลายเป็น 3.99

ฝ้ายบอกว่า 0.01 ที่หายไปคือความผิดหวังอันหนักหน่วงครั้งแรกของชีวิต

“หนูดาวน์นานเหมือนกันนะ ประมาณ 2-3 อาทิตย์ เพราะเพิ่งเจอเป็นครั้งแรก แต่พอทำใจได้ก็บอกตัวเองว่าเดี๋ยว ม.2 ค่อยเอาใหม่ก็ได้ ไม่เป็นไร ก็ผิดหวังมาแล้ว หลังจากนั้นไฟแรง ไปหาหนังสือมาอ่านเยอะแยะไปหมดเลย จากดาวน์ก็เลยพุ่งขึ้นมาว่าไม่ได้แล้ว ต้องทำได้ แต่พอขึ้น ม.2 เทอมแรก เกรดเฉลี่ยก็ 3.99 นะ ไปตกวิชาใหม่ ส่วนวิชาเดิมที่เคยตกหนูได้ที่ 2 ของสายชั้น”

เหตุผลที่เกรดตกในวิชาใหม่เป็นเพราะฝ้ายลืมเขียนชื่อในสมุดส่งงาน จนทำให้ไม่มีคะแนนช่วย ฝ้ายเล่าไปหัวเราะไป แม้จะเคยเจ็บปวด แต่เมื่อเวลาผ่าน ฝ้ายก็ทำใจกับมันได้สบายแล้ว

“หนูโกรธตัวเองมากกว่าว่าทำไมไม่เขียนชื่อ ไม่งั้นก็ได้เกรด 4 ไปแล้ว แต่พอเคยได้ 3.99 แล้วมาได้อีกรอบก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเกรดไม่ได้ตัดสินชีวิตเราขนาดนั้น หนูต้องขอบคุณอาจารย์ ม.1 ที่เขาให้หนู 3.5 ทำให้หนูเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วเกรดไม่ได้เป็นตัวตัดสินเรา แค่เรียนได้แล้วก็หาทางของตัวเองให้เจอก็พอแล้ว” ฝ้ายว่า

ตอนนี้ฝ้ายอยู่ชั้น ม.3 ปรับตัวเองจากเด็กที่ทุกอย่างต้องเพอร์เฟ็กต์ ให้กลายเป็นคนมองโลกสบายๆ ขึ้น ฝ้ายยอมรับว่าความผิดหวังกับเกรดครั้งแรกทำให้แข็งแกร่งขึ้น

ฝ้ายชอบเรียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก “ถ้าเรียนหนังสือ หนูไม่ต้องพยายาม แต่กับการสอบ หนูพยายามมาก” ฝ้ายบอก

“ช่วงสอบกลางภาค หนูตั้งใจมาก เพราะอยากจบแบบเกรดสวยๆ มีแพสชันแบบนี้ ถามว่าหนักมั้ย ก็หนัก พอ ม.3 เรียนเยอะขึ้นด้วย เรียนเพื่อเอาไปสอบ” ตัวฝ้ายเองก็เหมือนเด็กไทยหลายคนที่ต้องเรียนกวดวิชาควบคู่ไปกับการเรียนในโรงเรียนด้วย แม้จะชอบการเรียนแค่ไหน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่หนักหนาสาหัส เพราะการสอบเป็นด่านสำคัญในการเรียนหนังสือที่ต้องผ่านไปให้ได้

“หนูเข้าใจแหละว่าเด็กที่ไปเรียนพิเศษ เพราะความรู้ในโรงเรียนไม่พอ ต้องเรียนเพื่อที่จะเอาไปสอบเข้า ม.ปลาย หนูเรียนหมดเลย ชีวะ เคมี ฟิสิกส์ พอใกล้สอบก็ต้องมาอ่านหนังสือ จดสรุป จดเยอะมากๆ คือตั้งใจมากๆ ถามว่าเหนื่อยมั้ย เหนื่อย นอนเที่ยงคืนตีหนึ่ง แล้วชอบตื่นไปโรงเรียนเช้า ตื่นตี 4 หนูนอนน้อยมาก ขอบตาดำเป็นหมีแพนด้าเลย หนูง่วง แต่พยายามบอกตัวเองว่าอีกนิดเดียวก็จบแล้ว หนูเชื่อว่าถ้าหนูทำอะไรสุด มันก็น่าจะสุด แต่คะแนนกลางภาคก็ออกมาดี”

แม้ฟังดูแล้วจะเป็นเรื่องน่าเหน็ดเหนื่อย แต่ฝ้ายบอกว่าทั้งหมดนี้ฝ้ายกดดันตัวเอง พ่อแม่ไม่ได้บังคับขนาดนั้น แต่ถึงอย่างนั้น ฝ้ายกำลังเจอจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต เมื่อต้องตัดสินใจว่าจะเรียนสายอะไรในชั้น ม.ปลาย แน่นอนว่าก่อนหน้านี้ทุกคนคาดหวังให้ฝ้ายเรียนสายวิทย์-คณิต เพื่อปูทางไปสู่อาชีพหมอ อาชีพที่เด็กเรียนเก่งทุกคนมักจะถูกคาดหวังให้เป็นจากผู้ใหญ่ แต่ฝ้ายเพิ่งรู้ตัวไม่นานว่าฝ้ายไม่ได้อยากเป็นหมอ และยิ่งไปกว่านั้นวิชาที่ฝ้ายชอบคือภาษาจีน นั่นทำให้เธอเบนเข็มไปทางสายศิลป์ภาษา

“ตอนแรกพ่อแม่อยากให้เป็นหมอ อยากให้เรียนสายวิทย์คณิต เขาก็ถามว่าเรียนศิลป์ภาษาไปแล้วจะต่ออะไรได้ จะไปเรียนที่ไหน หนูก็อธิบายให้ฟังว่าถ้าหนูเรียนศิลป์จีนที่โรงเรียนเดิม หนูมีโอกาสได้ทุนไปเรียนที่จีน ยิ่งเป็นภาษาที่หนูชอบก็น่าจะไปกันได้ พอเปิดใจคุย เขาก็โอเค”

“ก่อนหน้าที่จะบอกเขา หนูคิดจนร้องไห้เลย หนูเรียนสายวิทย์มาตลอด เพื่อนทุกคนยังบอกเลยว่าหนูเรียนพิเศษเกี่ยวกับสายวิทย์มาตลอดเลย แล้วจู่ๆ จะไปพลิกเรียนศิลป์ภาษา แล้วที่เรียนมาจะเอามาทำอะไร แต่หนูกลับมองอีกแบบหนึ่ง ที่เรียนมาเราก็เอามาใช้เป็นความรู้ของเรานั่นแหละ เป็นความรู้ประดับตัวเราไป ถ้าเราเลือกแล้ว ก็เลือก

“ทำใจนานนะ ตั้งคำถามว่าเราเกิดมาเพื่อสายศิลป์จริงๆ เหรอ ถ้าจบสายศิลป์ไปจะทำอะไรดี ก็เหมือนที่พ่อแม่คิดนั่นแหละ ว่าจบสายศิลป์ไปจะทำอะไรได้ หนูคิดไม่ออก จนหนูไปปรึกษาอาจารย์ที่โรงเรียน แล้วก็ปรึกษาอา พอรู้ว่ามันมีทางไป หนูเลยตัดสินใจได้ เพราะเราอยากทำงานเจอคน ท่องเที่ยวเจอโลก หนูคิดภาพตัวเองตอนโตเป็นแบบนั้น”

แม้จะฟังดูราบรื่น แต่เมื่อลองมองเข้าไปแล้ว ฝ้ายเป็นเพียงเด็กอายุ 15 ที่ต้องรีบตัดสินอนาคตตัวเองเพียงเพราะระบบการศึกษากำหนดทางเดินของคนเอาไว้อย่างจำกัด

“หนูไม่ชอบการแข่งขันแล้ว แข่งไปมีแค่คำว่าแพ้กับชนะ ถ้าหนูไม่ชนะ หนูก็แพ้ แล้วก็ต้องมานั่งเครียดทั้งวัน ไม่ไหว”

ในช่วงหลังมานี้ ฝ้ายเริ่มตั้งคำถามกับระบบการศึกษาว่าสุดท้ายแล้วเรียนไปทำไม เราเรียนเพื่อสอบ หรือเรียนเพื่อรู้กันแน่

“หนูเคยถามคำถามนี้กับทุกคนว่า ที่เรียนอยู่ทุกวันนี้เรียนไปทำไม ก็คุยกันว่าเรียนเพื่อเอาไปสอบ สำหรับหนูก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ถ้าสมมติให้เทียบชีวิตที่เรียนหนังสือกับไม่เรียนหนังสือ มันมีค่าเท่ากัน เพราะทุกวันนี้หนูหาความรู้เอาในอินเทอร์เน็ตก็ได้ ก็เลยคิดว่าทุกวันนี้เรียนก็เพื่อใช้สอบ คงไม่ได้เอามาใช้มากขนาดนั้น ไม่มีผลกับชีวิตเรามากขนาดนั้น”

ฝ้ายเสนอว่าที่โรงเรียนควรมีสอนวิชาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การคิดวิเคราะห์ รวมถึงทักษะการใช้ชีวิตในสังคมที่ช่วยให้เด็กออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้อย่างมีคุณภาพ

“หนูนึกถึงการศึกษาฟินแลนด์ เขาไม่ได้มองว่าการศึกษาสำคัญ แต่มองว่าชีวิตสำคัญ เขาถึงให้มีเรียนกี่คาบต่อวันเอง แล้วที่เหลือก็เป็นวิชาทางเลือก ไม่เหมือนประเทศไทยเรียน 8 คาบต่อวัน คาบนึง 50 นาที อย่างคณิตศาสตร์ ของห้องหนูเรียน 5 คาบต่อสัปดาห์ ทั้งที่ปกติเรียน 4 คาบต่อสัปดาห์ ที่เกินมาเพราะอาจารย์ที่มาสอนวิชาว่างต้องไปติวสอบ 5 วิชาสามัญของพี่ ม.6 เขาเลยเอาคาบนั้นมาใส่เป็นคณิตศาสตร์แทน เราต้องเรียนหนักขนาดนั้นไปเพื่ออะไร”

เวลาเพียงไม่กี่ปี นับแต่วันที่ฝ้ายผิดหวังกับเกรดครั้งแรก ฝ้ายก็ตั้งคำถามกับการเรียนการสอบ แต่ถึงอย่างนั้นฝ้ายก็ยังชอบเรียนหนังสือ และนั่งหน้าห้องเป็นประจำ ฝ้ายเคยเจอคำถามจากผู้ใหญ่หลายคนว่าทำไมไม่ทำแบบนั้น ทำไมไม่ทำแบบนี้ รวมถึงเพื่อนรอบตัวฝ้ายอีกหลายคนที่ถูกคาดหวังอย่างเข้มข้นจากพ่อแม่ ว่าต้องเดินตามทางที่พวกเขาขีดให้เท่านั้น ฝ้ายมองว่านี่ไม่ใช่วิถีที่ควรเป็นเท่าไรนัก

“อยากให้ผู้ใหญ่รับฟังเด็กมากกว่านี้ ไม่อยากให้เอาการตัดสินของผู้ใหญ่ไปตัดสินชีวิตของเด็ก เพราะเด็กโตไป เขาจะมีชีวิตของเขา ชีวิตเด็กไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ โตไปเขาทำงาน ผู้ใหญ่ไม่ได้ไปทำงานแทนเขา แล้วคุณไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินว่าเขาโตไปเขาจะเป็นอันนี้นะ คุณควรให้เขาเลือกทางเดินของเขาเอง ถ้าเขาโตไป เขาทำงานที่เขาชอบคือจบเลย ถ้าสมมติคุณบอกว่าคุณเลือกอนาคตที่ดีให้เขา แต่เป็นอนาคตที่เขาไม่มีความสุข ชีวิตเกิดมาเพื่อทำอนาคต ทำอาชีพที่ไม่มีความสุขอย่างนั้นเหรอ มันไม่ใช่”

 

ความฝันที่ไม่มีคำตอบ

 

ไม่ใช่ทุกคนหรอก ที่จะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และยิ่งหนักไปกว่านั้น หากเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยากทำอะไรกันแน่

ในหมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำโขง ผู้คนส่วนใหญ่ที่อยู่ที่นั่นเป็นคนแก่และเด็ก คนวัยทำงานบางส่วนเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ เหลือวัยรุ่นอยู่ประปราย ในวันหยุด พวกเขารวมกลุ่มกันขับมอเตอร์ไซค์ บ้างรวมกลุ่มกันเล่นเกม บ้างรวมกลุ่มกันเตะตะกร้อ

แอน (นามสมมติ) คือหนึ่งในวัยรุ่นที่ยังอยู่ที่หมู่บ้านนั้น เธอเกิดที่นี่ อยู่มาจนถึงวันนี้ที่อายุ 19 ปี แอนเรียนชั้นประถมในโรงเรียนเล็กๆ ของหมู่บ้าน แล้วเข้าไปเรียนชั้นมัธยมต้นในตัวอำเภอที่ห่างออกไปหลายสิบกิโลฯ พอจบชั้น ม.ต้น แอนก็ตัดสินใจไม่เรียนต่อโรงเรียนเดิม แต่เลือกเรียน กศน. จนจบชั้นมัธยมแทน ตอนนี้เธออยู่บ้านคอยดูแลพ่อแม่ ไม่ได้ทำอาชีพอะไรจริงจัง

ครอบครัวเธอและญาติพี่น้องปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก ส่วนพ่อของเธอลงไปจับปลาที่แม่น้ำโขงบ้าง แต่ในช่วงหลัง กระแสน้ำผันผวนจากการสร้างเขื่อนตลอดสายแม่น้ำโขง ทำให้การจับปลาไม่แน่นอนนัก รายได้จากการขายปลาจึงไม่แน่นอนตามไปด้วย

แอนเป็นคนพูดน้อย และมักจะขลุกตัวอยู่กับเด็กๆ แถวบ้าน เพราะไม่ค่อยสนิทกับเพื่อนวัยเดียวกันในหมู่บ้าน มีเพื่อนสนิทที่เคยเรียนด้วยกันตอน ม.ต้น ที่อยู่คนละหมู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้ไปมาหาสู่กันบ่อยนัก

“หนูสนิทกับคนหนึ่ง เป็นรุ่นพี่ แต่เขาไปทำงานแล้วที่กรุงเทพฯ เลยไม่เหลือใคร” แอนบอก

แอนตั้งใจว่าอยากทำไร่ทำนาช่วยพ่อแม่ และเคยพยายามอยากเรียนจับปลา แต่พ่อไม่ยอมสอน

“หนูจับปลาไม่เป็น เคยขอให้พ่อสอน แต่พ่อไม่สอน เขาคงกลัวจะโดนหางเรือฟาด เพราะแรงหนูไม่มาก มันต้องใช้แรงเยอะ” แอนพูดพลางมองออกไปที่แม่น้ำโขง ชีวิตประจำวันของเธอคือตื่นมาช่วยงานบ้านพ่อแม่ เดินเลาะอยู่แถวบ้านข้างๆ เล่นกับน้องๆ หากมีเวลาว่างก็ดูคลิปวิดีโอและเล่นเกม

ก่อนหน้านั้นในวัยเด็ก แอนมีความฝันว่าอยากเข้ากรุงเทพฯ แต่พอไปเจอจริงๆ ตอนไปอยู่กับพี่สาวที่ทำงานที่กรุงเทพฯ แอนอยากกลับบ้านทันที

“กรุงเทพฯ รถเยอะ แล้วไปอยู่กับพี่สาวกว่าจะได้นอน พี่พานอนดึก รถก็เยอะ เสียงก็ดัง เลยไม่ชอบ” แอนเล่า

“พี่เขาก็คงไม่ชอบแหละ แต่ว่าต้องหาเงิน ส่วนหนูอยู่บ้านดูแลพ่อแม่ ตอนแรกหนูบอกว่าจะไป แต่พี่บอกว่าไม่ต้องไปหรอก ให้อยู่ดูแลพ่อแม่นั่นแหละ แม่ก็เทียวไปหาหมอ เป็นหลายโรค พ่อก็ขับรถมอ’ไซค์ไม่เป็น หนูขับรถมอ’ไซค์เป็นคนเดียวในบ้าน เลยต้องคอยขับรถพาแม่ไปหาหมอในเมือง”

รายได้หลักของที่บ้านมาจากเงินที่พี่สาวไปทำงานที่กรุงเทพฯ ส่งกลับมาให้ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลด้วย ส่วนแอนที่เป็นน้องสาวต้องคอยดูแลพ่อแม่ที่บ้านเกิด แววตาและวิธีพูดของแอนเรียบนิ่ง ไม่เปิดเผยความเจ็บปวด และไม่แม้กระทั่งฉายแววตาของความสุขความหวัง ราบเรียบนิ่งลึกเหมือนแม่น้ำโขงไหลเอื่อยในวันที่ฝนไม่ตก

เรื่องกังวลเดียวของแอนตอนนี้คือกลัวแม่ป่วย “ไม่อยากให้แม่ยกของหนักๆ กลัวทรุดลงอีก” แอนบอก เพราะเคยผ่านช่วงเวลาที่แม่ป่วยหนักนอนโรงพยาบาลกว่าหนึ่งเดือน โชคดีที่ตอนนี้แม่อาการดีขึ้นมากแล้ว

ในวันที่เราคุยกัน พ่อของแอนไปไร่ ส่วนแม่ล้างหน่อไม้อยู่ที่บ้าน ถ้าหาได้เยอะก็มีเอาไปขายบ้าง แต่ส่วนมากก็เก็บไว้กินเอง ส่วนแอนนั่งเล่นกับหลานวัยเตาะแตะ ชีวิตคืนวันผันผ่านไปแบบนี้วันแล้ววันเล่า เมื่อถูกถามถึงความต้องการในชีวิต แอนเงียบไปนาน ก่อนจะยิ้มแล้วบอกว่า “ตอบไม่ได้”

เบื้องหลังรอยยิ้มและแววตานิ่งเฉยนั้นยากจะเดาได้ว่าจริงๆ เธอคิดอะไรอยู่ อาจสุขมาก ทุกข์น้อย หรืออาจไม่รู้สึกอะไรเลย

ความเงียบเข้าครอบครองพื้นที่สนทนาเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่รถขยายเสียงจะขับผ่านมา เสียงพิณแคนของเพลงลูกทุ่งอีสานดังไปทั่วบริเวณ ท่อนร้องที่ว่า “อ้ายฮักเขาตอนได๋ เจ้าแนมหน้าอ้ายแล้วถามคำนี้” จากเพลง อ้ายฮักเขา ตอนเจ้าบ่ฮัก ของมนต์แคน แก่นคูน ทำให้บรรยากาศคึกคักขึ้นมา แอนบอกว่านักร้องอีสานที่ชื่นชอบคือ ลำเพลิน วงศกร เจ้าของเพลงดังอย่าง ห่อหมกฮวกไปฝากป้า และ รำคาญกะบอกกันเด้อ

“ส่วนมากฟังเพลงลูกทุ่ง ฟังบอดี้สแลมบ้าง แต่ฟังน้อย” แอนบอก

แอนยังคงมีชีวิตวัยรุ่นในโลกอินเทอร์เน็ต เธอดูซีรีส์ ดูคลิปยูทูบ ท่องโซเชียล และเล่นเกมออนไลน์ ขณะที่ในชีวิตจริงก็ยังมีหน้าที่ช่วยดูแลพ่อแม่ และคอยช่วยงานเท่าที่ทำได้ แม้เพื่อนวัยเดียวกันจะมีน้อย แต่แอนก็ดูจัดการกับภาวะแบบนั้นได้ดี

ไม่ใช่แค่แอน แต่ยังมีเด็กตามชนบทอีกมากที่อยู่บ้าน ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา และไม่ได้อยู่ในระบบการทำงาน บางคนอาจตัดสินใจจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ บางคนก็เลือกเพราะความจำเป็นของครอบครัว คำถามสำคัญก็คือ นี่เป็นการตัดสินใจที่เกิดจากการมีทางเลือกที่เพียงพอแล้วหรือยัง

 

หากถอยออกมามองอีกหน่อย ภาพหนึ่งที่ชัดเจนขึ้นคือไม่ว่าความเจ็บปวดนั้นจะเป็นเรื่องส่วนบุคคลแค่ไหน ล้วนมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่เบื้องหลังเสมอ – ก่อนที่เราจะเหนื่อย เรามีทางเลือกเพียงพอแล้วหรือยัง

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save