fbpx
มองปรากฏการณ์คนสามจังหวัดภาคใต้เชียร์ตาลีบัน: สำนึกร่วมของผู้ถูกกดขี่ การปลดแอก และความหลากหลายในกลุ่มมุสลิม

มองปรากฏการณ์คนสามจังหวัดภาคใต้เชียร์ตาลีบัน: สำนึกร่วมของผู้ถูกกดขี่ การปลดแอก และความหลากหลายในกลุ่มมุสลิม

พิมพ์ชนก พุกสุข และสมคิด พุทธศรี เรื่อง

DSC_6183_small ภาพประกอบ

เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแล้วหลังจากกลุ่มตาลีบันประกาศชัยชนะในการยึดอำนาจเหนือกรุงคาบูลในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ส่งกองทัพเข้าไปประจำการอย่างยาวนานร่วมสองทศวรรษ

ปฏิกิริยาต่อการเข้ายึดอำนาจของตาลีบันและการถอนกำลังของกองทัพสหรัฐฯ นั้นหลากหลาย โลกได้เห็นภาพผู้คนหนีออกนอกประเทศ ขึ้นเครื่องบินด้วยความจุเต็มจำนวนเพื่อไปแสวงหาชีวิตยังที่แห่งใหม่ พร้อมกันกับที่มีชาวอัฟกันจำนวนไม่น้อยที่แสดงความยินดีต่อการจากไปของกองทัพสหรัฐฯ อันหมายถึงการได้ปลดแอกตัวเองออกจากการปกครองของประเทศอื่นนานนับ 20 ปี ซึ่งสภาวะอย่างหลังนี้ไม่ได้ปรากฏขึ้นแต่ในกลุ่มชาวอัฟกันที่สนับสนุนตาลีบันเท่านั้น หากแต่อยู่ในแววตา อยู่ในน้ำเสียงของคนมุสลิมในเขตแดนอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งคนในสามจังหวัดชายแดนใต้จำนวนไม่น้อย

ไม่ใช่แค่การเมืองของการปลดแอกจากรัฐมหาอำนาจ (ที่มาจากภายนอก) เท่านั้น การกลับมามีอำนาจเหนืออัฟกานิสถานของตาลีบันก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงอื่นอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ตาลีบันเคยใช้กฎหมายชารีอะห์ ซึ่งเป็นกฎหมายอิสลามอันเข้มงวดในการปกครองเมื่อครั้งอดีต ตัวอย่างรูปธรรมอันแหลมคมที่ถูกตั้งคำถามทั้งจากภายในอัฟกานิสถานและประชาคมโลกคือ ‘สิทธิสตรีในสังคมมุสลิม’

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าตาลีบันไม่ใช่ตัวแทนของมุสลิมทั้งหมด หากแต่เป็นกลุ่มการเมืองหนึ่งในโลกมุสลิมที่มีความหลากหลายเท่านั้น กระนั้น กระแสเชียร์ตาลีบันของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงข้อถกเถียงเรื่องสิทธิสตรีระหว่างนักวิชาการมุสลิมบางกลุ่มกับกลุ่มสตรีนิยม ก็สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนและอ่อนไหวของการเมืองเรื่องศาสนาในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

ในภาวะที่ฝุ่นเริ่มหายตลบ 101 ชวน อสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และรุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ คณะภาษาและภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนท่ามกลางความเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่อีกครั้งในโลกของศาสนาและการเมือง

การกลับมาเรืองอำนาจของตาลีบันส่งผลต่อโลกมุสลิมอย่างไร

รุสนันท์ – อัฟกานิสถานก็เป็นหนึ่งในพื้นที่มุสลิมซึ่งถูกยึดครองโดยตะวันตก เป็นหนึ่งหลายๆ พื้นที่ในโลกมุสลิมที่การเข้ามาของกองกำลังต่างชาตินั้นทำให้เกิดปัญหา อันที่จริง ความรู้สึกและมุมมองของโลกมุสลิมที่มีต่อการยึดอัฟกานิสถานของตาลีบันมีหลากหลายมาก แต่ส่วนใหญ่ก็ออกไปในแนวทางการแสดงความยินดี ซึ่งต้องแยกออกเป็นสองเรื่อง คือยินดีที่กองกำลังต่างชาติจะออกไปแล้ว แต่จะเห็นด้วยกับตาลีบันไหมนั้นเป็นอีกกรณีหนึ่ง แต่โดยภาพรวม ส่วนใหญ่เขาก็ยินดีที่ว่าต่อไปอัฟกานิสถานจะได้กำหนดชะตากรรมตัวเอง ออกแบบประเทศ ฟื้นฟูประเทศ และจะได้เป็นอิสระจากต่างชาติเสียที

ส่วนจะส่งผลต่อโลกมุสลิมอย่างไรนั้น อย่างน้อยการกลับมาของตาลีบันไม่ได้กลับมาในทันทีทันใด พวกเขาไม่ใช่รบจนชนะ แต่การกลับมาในครั้งนี้ผ่านการเจรจาและตกลงกันก่อน เพราะสหรัฐฯ เองก็ต้องการออกไปอยู่แล้ว โดยมีแผนถอนทหารออกมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานิบดีบารัค โอบามา ไล่มาถึงโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน การเจรจาได้เกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นตัวกลางในเรื่องนี้อยู่

ที่ผ่านมา ตาลีบันไม่ได้แพ้ เพียงแค่ถอยออกจากส่วนกลาง จากเมืองหลวงไปอยู่รอบนอก และยังทำงานในลักษณะร่วมกันกับมวลชนและชนเผ่าอื่นๆ ในเขตพื้นที่ที่กลุ่มยึดครองและมีอิทธิพล ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อัฟกานิสถานจึงไม่มีความสงบ ทำให้โลกมุสลิมมองว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เข้ามาสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริง และส่วนใหญ่ คนที่รับเคราะห์ก็คือประชาชนชาวอัฟกานิสถานเอง ดังนั้น การเจรจาที่นำไปสู่การวางอาวุธของฝ่ายรัฐบาล การลงจากตำแหน่งของผู้นำที่ยึดโยงกับอำนาจจากภายนอก จึงเป็นสิ่งที่คนมองว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

ส่วนตัวมองว่า การที่ตาลีบันกลับมามีอำนาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดหรือเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการต่อสู้ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่เขาต้องเจออะไรอีกมากมายที่กำลังท้าทาย เช่น กลุ่มคนที่ออกมาต่อต้าน รวมถึงการได้รับการยอมรับจากนานาชาติด้วย เพราะการจะเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมนั้น แน่นอนว่านานาชาติต้องยอมรับ ซึ่งตอนนี้ยังเป็นเรื่องที่ฝุ่นตลบอยู่ และยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ภายใต้การยินดีต่อการจากไปของทหารสหรัฐฯ หรือการเอาใจช่วยตาลีบัน เราสามารถอธิบายต่อภาพเหตุการณ์คนหนีออกจากอัฟกานิสถานจนแน่นเครื่องบินได้ไหม

รุสนันท์ – คนจำนวนไม่น้อยยังยึดติดกับภาพเดิมๆ สมัยที่ตาลีบันมีอำนาจเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งมีการออกกฎหมายอย่างเข้มงวดจนดูเป็นกลุ่มสุดโต่ง ไม่เป็นที่ยอมรับของหลายๆ ประเทศ แต่ขณะนี้ก็มีทั้งประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับตาลีบัน ซึ่งอธิบายยากว่าคนที่ยังสนับสนุนตาลีบันเป็นคนกลุ่มไหน และทำไมถึงพอใจ เขาอาจพอใจที่จะอยู่ใต้การปกครองของตาลีบัน แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่มีความสุข ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เคยทำงานให้กองทัพของสหรัฐฯ กองกำลังของ NATO (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) หรือคนที่มีความขัดแย้งกับตาลีบันมาก่อนอยู่แล้ว อย่างกลุ่มชีอะห์ที่ตั้งกลุ่มต่อต้านตาลีบันก็เริ่มจับอาวุธ และอีกกลุ่มก็คือ ISIS-K ที่เพิ่งก่อเหตุระเบิดที่สนามบิน ด้วยความไม่พอใจที่ตาลีบันไปตกลงทำสัญญา ประนีประนอมกับต่างชาติมากเกินไป รวมถึงการมีเป้าหมายต้องก่อตั้งรัฐอิสลามซึ่งจะกินพื้นที่อัฟกานิสถานด้วย นี่จึงอาจเป็นค่ขัดแย้งใหม่ของตาลีบัน

การคาดเดาไม่ได้และมองไม่เห็นอนาคตเป็นปัจจัยที่ทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจออกนอกประเทศ หลายคนเคยทำงานกับสหรัฐฯ มีความรู้ความสามารถ เป็นศาสตราจารย์ วิศวกร หมอหรือล่าม ในสภาวะที่บ้านเมืองระส่ำระสาย คนกลุ่มนี้มองว่าอยู่ไปก็ไม่มีอนาคต ไม่รู้จะสงบเมื่อไหร่ ความจำเป็นเร่งด่วนของชีวิตคือความปลอดภัยกับการได้มีงานทำ พวกเขาจึงอยากออกไปอยู่ข้างนอกจนเกิดอัตราสมองไหลเยอะมาก

อสมา – ส่วนตัวไม่ได้มองว่าการขึ้นมาเป็นรัฐบาลของตาลีบันเป็นเรื่องระหว่างตาลีบันกับกลุ่มการเมืองต่างๆ มากเท่ากับเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

ในทางภูมิศาสตร์การเมือง อัฟกานิสถานเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของของมหาอำนาจอย่างจีนหรือรัสเซีย ในขณะที่พื้นที่ใกล้กันอย่างปากีสถานก็สนับสนุนสหรัฐฯ ถ้าถามว่าโลกมุสลิมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ยังตอบยาก เพราะต้องยอมรับว่าการเมืองของโลกมุสลิมแยกไม่ออกจากการแข่งขันของชาติมหาอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและน่าจับตามองอย่างมาก

รุสนันท์ – พอพูดถึงตาลีบัน ประเด็นจะไม่ใช่อยู่แค่ในอัฟกานิสถาน แต่หมายรวมถึงการเข้ามาของจีนและรัสเซียด้วย ตัวอย่างหนึ่งคือโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน ที่เป็นการเชื่อมเส้นทางของเอเชียกลางทั้งหมดไปยุโรป ปรากฏว่าพื้นที่ต่างๆ ที่จีนจะเข้าไปสร้างต้องผ่านประเทศมุสลิมหลายประเทศ เช่น อิหร่าน ซึ่งถูกสหรัฐฯ และชาติตะวันตกต่างๆ คว่ำบาตรมานานนับสิบปี จึงต้องจับมือกับจีนและรัสเซีย หรือปากีสถาน ซึ่งช่วงหลังๆ ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับจีน เพราะจีนเข้าไปลงทุนจำนวนมาก

คำถามสำคัญคือ โลกมุสลิมจะวางตัวอย่างไร จะไปอิงทางตะวันตกหรือจะมาทางจีน นี่จึงเป็นเวทีของสองค่ายมหาอำนาจ

ภายหลังจากที่ตาลีบันพาสหรัฐฯ ออกไปได้ ก็เกิดแรงเชียร์จากกลุ่มมุสลิมจำนวนหนึ่งในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ของไทย ปรากฎการณ์นี้สะท้อนอะไร

อสมา – ประเด็นนี้ยังไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพหรือเชิงปริมาณ แต่ก็สามารถจับกระแส เห็นวาทกรรม ข้อความหรือท่าทีเหล่านี้ได้จากโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะ Facebook หรือ Clubhouse จะเห็นได้ถึงท่าทีของนักวิชาการมุสลิมไทยหรือมุสลิมชายแดนใต้ ที่ไล่เฉดไปตั้งแต่โปรตาลีบัน ดีใจที่ตาลีบันเข้ามาปลดแอกอัฟกานิสถานจากสหรัฐฯ ได้ จนกระทั่งเฉดอ่อนๆ ที่เห็นอกเห็นใจกลุ่มตาลีบัน และพูดถึงที่มาที่ไปว่าทำไมเกิดตาลีบัน รัฐบาลเก่าก่อนที่จะมาเป็นรัฐบาลตาลีบันสร้างความเสียหายไว้อย่างไร ช่วงที่กระแสแรงๆ เราก็เห็นว่ามีการเปิด Clubhouse คุยเรื่องตาลีบัน และยังนำไปสู่วงคุยย่อยๆ ตามมามากมายหลายวาระด้วยกัน จนกลายเป็นว่าไม่ได้พูดกันแต่เรื่องการเมืองอัฟกานิสถานเท่านั้น แต่ยังพูดถึงสิทธิสตรี LGBTQ+ และอีกหลายๆ ประเด็น

ในการถกเถียงระหว่างฝั่งมุสลิมสามจังหวัดที่เชียร์ตาลีบันและฝั่งข้างนอกที่ตั้งคำถามและตกใจกับการที่คนสามจังหวัดสนับสนุนตาลีบัน มีข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วสังคมไทยอาจไม่ได้รู้จักตาลีบันในเชิงลึกมากนัก ส่วนใหญ่รู้จักผ่านสื่อหรือผ่านบทวิเคราะห์ของนักวิชาการที่ติดตามศึกษาเรื่องการเมืองตะวันออกกลางมาตลอดและมีความรู้เรื่องนี้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว เรายังไม่ค่อยเข้าใจพลวัตของตาลีบันในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะรู้ในเรื่องพื้นฐาน เช่น ตาลีบันเป็นใคร เคยทำอะไรมาบ้าง แต่แทบไม่ได้มีงานศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างชัดเจนเป็นระบบ

ส่วนตัวไม่แน่ใจนักว่า คนสามจังหวัดชายแดนใต้ที่รู้สึกเห็นอกเห็นใจหรือยินดีที่ตาลีบันครองอำนาจ รู้จักอัฟกานิสถานและตาลีบันมากน้อยแค่ไหน เอาเข้าจริง หลายคนอาจเห็นแค่ว่าอัฟกานิสถานเป็นอีกดินแดนมุสลิมที่ถูกครอบงำโดยจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกา หรือเห็นแค่ว่าคนอัฟกานิสถานส่วนใหญ่ยากจนและลำบาก เป็นต้น ในทำนองเดียวกัน คนที่วิจารณ์ตาลีบันก็อาจไม่ได้รู้จักตาลีบันมากดีพอ เมื่อการถกเถียงร้อนแรงขึ้น กระแส Islamophobia (โรคหวาดกลัวอิสลาม) ก็ตามมา คนเริ่มตั้งแง่กับอิสลามมากขึ้น Clubhouse บางห้องจึงเปิดมาเพื่อจะด่าอิสลามโดยใช้ตาลีบันเป็นสารตั้งต้น หรือเวลาเถียงกันเรื่องตาลีบันกับสตรีก็จะไม่ค่อยเกี่ยวกับตาลีบันโดยตรงนัก แต่กลายเป็นการถกกันเรื่องอิสลามกับสิทธิเสรีภาพ หรืออิสลามกับ  LGBTQ+ และสิทธิสตรีเสียมากกว่า

พูดอีกแบบคือการถกเถียงมีแนวโน้มที่จะทำให้ตาลีบันกลายเป็นภาพตัวแทน (representation) ของอิสลาม ซึ่งถือว่าทรงพลังมาก เพราะภาพตัวแทนเป็นผลผลิตของความหมายในกระบวนการคิด ความเชื่อ ความรู้สึก และอุดมการณ์ ซึ่งผ่านการสื่อสาร และภาพตัวแทนเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงโลกความคิด โลกจินตนาการและโลกความจริงไว้ด้วยกัน

ถ้าคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชียร์ตาลีบันมองว่า ตาลีบันคือภาพแทนของอิสลาม คุณค่าที่พวกเขาแชร์ร่วมกันคืออะไร เพราะปัญหาสามจังหวัดชายแดนคงไม่ใช่การเป็นรัฐอิสลามเหมือนที่ตาลีบันเป็นแน่ๆ   

อสมา – สิ่งที่เกิดขึ้นคงไม่ได้ออกมาในรูปแบบของการที่คนสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องการกฎหมายชารีอะห์หรือเรียกร้องต้องการรัฐอิสลามอย่างเต็มรูปแบบ แต่สิ่งคนมุสลิมแชร์ร่วมกันคือ ‘คุณค่าแบบอิสลาม’ (Islamic value)

ในด้านหนึ่งคนมุสลิมเชื่อว่า ชารีอะห์เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้มา ในโลกของผู้ศรัทธาเราปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เป็นที่มาของความถูกต้อง (justification) และความชอบธรรม (legitimacy) อย่างไรก็ตาม การจัดวางชารีอะห์ในฐานะสถาบันทางสังคมก็มีได้หลายแบบ คนที่สนับสนุนตาลีบันในสามจังหวัดคงไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้นว่าอยากเป็นรัฐอิสลามเต็มรูปแบบเลยทีเดียว

รุสนันท์ – ในสายตาของมุสลิมจำนวนไม่น้อย สภาพสังคมโดยรวมของสามจังหวัดชายแดนใต้เองก็เสื่อมลงด้วย นี่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ ปัญหาสังคม อาทิ ยาเสพติด ความเสื่อมทางศีลธรรม ฯลฯ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า คนไม่ได้ยึดตามหลักศาสนาอีกต่อไป

มองในมุมเปรียบเทียบ ตอนที่ตาลีบันถือกำเนิดมาจากจากกลุ่มนักเรียนศาสนาที่มัดเราะซะฮ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนศาสนาคล้ายนักเรียนปอเนาะบ้านเรา พอคนกลุ่มนี้จบออกมาแล้วก็พบว่าสภาพสังคมเลวร้าย จึงคิดฝันสร้างรัฐในอุดมคติของตนขึ้นมา ในแง่หนึ่งคนสามจังหวัดที่สนับสนุนตาลีบันเองก็แชร์ความรู้สึกนี้คล้ายๆ กัน เพราะสภาพสังคมเสื่อมทราม ความเหลื่อมล้ำ ความเอารัดเอาเปรียบ การปล่อยกู้กินดอกเบี้ย หรือทุกอย่างที่ศาสนาห้ามเกิดขึ้นหมดในพื้นที่ เลยมองว่าต้องมีกฎระเบียบบางอย่างที่จะเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

พูดให้ถึงที่สุด การมองว่าสังคมเลวร้ายและอยากเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นฐานคิดที่คนสนับสนุนตาลีบันเชื่อ ในโลกทัศน์ของเขา สังคมที่เขาอยู่ตอนนี้อาจไม่ได้แตกต่างจากอัฟกานิสถานเท่าไหร่ในแง่ของการต้องการความเปลี่ยนแปลงใหญ่ แต่นี่เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นเท่านั้น

คล้ายกับว่ารัฐหรืออำนาจจากภายนอกไม่สามารถสร้างสังคมที่ดีให้กับคนในพื้นที่ได้ อย่างนั้นหรือเปล่า

อสมา – ประเด็นหนึ่งที่ผู้คนแชร์ร่วมกันคือความรู้สึกถูกกดขี่จนคนนอก รัฐไทยขึ้นชื่อเรื่องการควบคุมพลเมืองอยู่แล้วไม่ว่ากับกลุ่มไหนก็ตาม เช่น สมัยก่อนก็มีนโยบายรัฐนิยมที่ห้ามประชาชนกินหมาก สั่งให้สวมหมวก การกำหนดหน้าที่พลเมือง ฯลฯ แต่คนในพื้นที่อื่นๆ อาจไม่ต้องเจอแรงปะทะกับมิติทางศาสนาเหมือนคนในสามจังหวัดภาคใต้ เช่นปกติแล้ว คนมุสลิมคลุมผมหรือสวมหมวกกาปิเยาะห์ด้วยศรัทธาของเขา แต่การไปบังคับเครื่องแต่งกายเขา ก็เหมือนว่าเขาถูกลิดรอนสิทธิ และเกิดรู้สึกว่าความเชื่อความศรัทธาของตัวเองถูกปฏิเสธ

รุสนันท์ – การกดทับจากรัฐไทยมีมาตลอดในประวัติศาสตร์ ถ้าไล่ดูมาตรการรัฐในแต่ละช่วงจะเห็นชัดว่าต้องการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (assimilation) ในอดีตมีการทำให้ประชาชนในพื้นที่ตรงนั้นที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา ภาษา ต้องอยู่ภายใต้นโยบายตามที่รัฐกำหนด เช่น การไม่ให้พูดภาษามลายูในโรงเรียน

นอกจากนี้ รัฐยังมองพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ ‘แย่’ เป็นพื้นที่รองรับให้ข้าราชการที่ทำความผิดจากพื้นที่อื่นลงไปทำงานเพื่อลงโทษ ดังนั้นคนสามจังหวัดภาคใต้จึงคิดมาตลอดว่า ส่วนกลางเอาคนชั่วๆ ไปลงพื้นที่เขาทั้งนั้น กลายเป็นสถานที่เก็บความเลวร้าย

การกดขี่ในยุคสมัยนี้ไม่ใช่การกดขี่ในแบบที่เราเคยเห็นในยุคอาณานิคม ไม่เหมือนตอนดัตช์ยึดครองอินโดนีเซีย ที่ไปยึดทรัพย์สินผู้คน แต่เกิดขึ้นในลักษณะอื่นๆ ตัวอย่างหนึ่งคือการที่ผู้นำทางศาสนา เช่น หะยีสุหลง (หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา – ผู้นำทางศาสนาและการเมืองของปาตานี) ที่ยื่นข้อเสนอเจ็ดประการในการปกครองสี่จังหวัดภาคใต้ สุดท้ายก็ถูกทำให้หายตัวไป

มองไปในประวัติศาสตร์ก็เห็นชัดอยู่ แต่ในชีวิตประจำวันการกดทับเหล่านี้ยังดำรงอยู่อย่างเข้มข้นขนาดไหน

อสมา – ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ระยะใกล้นี้ เหตุการณ์ที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิก็มีเสมอมา ทุกวันนี้ เด็กผู้ชายมุสลิมซึ่งเป็นลูกศิษย์เรา ขี่มอเตอร์ไซค์ไปเจอด่าน ก็จะรู้สึกว่าถูกจับจ้อง ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากรัฐ ทั้งโดนเรียกดูบัตรประชาชน และถูกถ่ายรูป นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ความไม่มั่นคงในพื้นที่อย่างการจับกุม ปิดล้อม ตรวจค้น หรือเชิญคนไปที่ค่าย บางหมู่บ้าน เด็กผู้ชายครึ่งหมู่บ้านเคยถูกนำตัวไปค่าย แล้วคิดดูว่าเด็กที่เติบโตภายใต้ประกาศกฎอัยการศึกมาตั้งแต่ปี 2547 จะรู้สึกว่าถูกกดขี่หรือเป็นพลเมืองชั้นสองกันมากขนาดไหน ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องเล่าเชิงในประวัติศาสตร์ของคนรุ่นก่อนๆ เลย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมสำนึกของผู้ถูกกดขี่จึงเกิดขึ้น

สำนึกของความเป็นผู้ถูกกดขี่เกี่ยวโยงไปกับทุกเรื่อง หากเป็นคนต่างวัฒนธรรม ก็อาจจะรู้สึกว่านี่เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่มีร่วมกัน แต่ในอัตลักษณ์หรือสำนึกของความเป็นมุสลิมแบบสามจังหวัด พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาเป็นมุสลิม เป็นพี่น้องผู้ศรัทธาที่ถูกกดขี่มาเหมือนกัน จึงมีความรู้สึกสะเทือนอารมณ์กว่าคนทั่วไป 

รุสนันท์ – การอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมา 17 ปี รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คนต้องเจอกับการเชิญตัวไปรีดเค้นข้อมูล หรือการซ้อมทรมานต่างๆ ตลอดมา สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการยากที่จะไปลบล้างความรู้สึกของพวกเขาว่าไม่ได้ถูกกดขี่ เพราะเขาเห็นด้วยตาตัวเองมาโดยตลอด ไม่ใช่แค่จากคำบอกเล่า แล้วคนกลุ่มนี้ก็เชื่อมตัวเองเข้ากับพื้นที่มุสลิมอื่นๆ ทั่วโลกที่มีปัญหา โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญ จึงได้เห็นว่าตัวเองมีประสบการณ์คล้ายคลึงกันกับคนอีกหลายพื้นที่ เช่น กาซ่า-ปาเลสไตน์ อัฟกานิสถาน และมณฑลซินเจียง-จีน และประเทศมุสลิมก็มองเหตุการณ์ของมุสลิมที่ยังถูกกดขี่เหล่านี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่พวกเขาต้องพูดออกไป  

กระนั้น คนที่ศึกษามุสลิมก็รู้ดีว่า การเมืองมุสลิมมีความซับซ้อนมาก ไม่ว่าจะเป็นการถกเถียงระหว่างนิกาย แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองที่หลากหลาย ก็ล้วนเป็นที่ถกเถียงกันอยู่กระทั่งในโลกมุสลิมเอง สำนึกร่วมของมุสลิมอยู่ตรงไหนภายใต้การเมืองของตาลีบันและการเมืองโลก

อสมา – เมื่อไหร่ที่ความคิด คุณค่า จินตนาการ และความฝันของปุถุชนไปอยู่ในเกมการเมืองโลกที่เล่นโดยมหาอำนาจ ความซับซ้อนและความย้อนแย้งมักเกิดขึ้นเสมอ เพราะจินตนาการความเป็นอุมมะห์วาฮิดะ (การเป็นประชาชาติเดียวกัน) ของคนมุสลิมมักขัดแย้งกับการเมืองที่อยู่บนฐานของผลประโยชน์และอำนาจ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ การที่ชุมชนมุสลิมบางกลุ่มหวังว่าการที่ตาลีบันจับมือกับจีนจะช่วยต้านทานตะวันตกได้ แต่ก็เกิดความย้อนแย้งว่า ตาลีบันต้องยอมจับมือกับจีน ทั้งที่เป็นผู้กดขี่บังคับชาวอุยกูร์ให้ออกจากศาสนาอิสลาม เพื่อความอยู่รอดในเวทีระหว่างประเทศ

รุสนันท์ – ใช่ ย้อนแย้งมาก ตอนนี้ตาลีบันเองก็ถูกคาดหวังให้แก้ปัญหาต่างๆ ให้ได้ ทั้งที่ตอนนี้เขาเองก็มีปัญหามากมาย ในภาพใหญ่ตาลีบันกุมอำนาจได้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เช่น ตำรวจ ยังคุมอะไรได้จำกัด คนที่มองว่าตาลีบันเข้ามาเป็นฮีโร่ปลดแอกอาจต้องใจเย็นแล้วหยุดคิดนิดหนึ่ง เพราะการเข้ามาของจีนมีข้อตกลงชัดว่า ตาลีบันว่าต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในที่เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งส่วนตัวก็ผิดหวังที่ได้เห็นว่าในท้ายที่สุด ตาลีบันก็คำนึงถึงคือผลประโยชน์ของประเทศเขาเป็นหลัก แม้จะต้องไปเหยียบบนน้ำตาของพี่น้องอุยกูร์ก็ตาม

อสมา – นักวิชาการมุสลิมหลายคนเสนอว่าให้จับตาดูไปก่อน อย่าเพิ่งโจมตีหรือวิจารณ์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นการเห็นอกเห็นใจตาลีบัน หรือเป็นการมองเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องให้โอกาสตาลีบันสร้างประเทศก่อน

ตาลีบันยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมากในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ แม้อิสลามอาจเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างชาติและสร้างความชอบธรรม แต่พลวัตการเมืองในประเทศ ความเป็นชนเผ่าที่ภายในที่มีกลุ่มอำนาจทางการเมืองติดอาวุธในประเทศ ก็อาจทำให้ต้องใช้ไม้แข็งและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญพอๆ กับอิสลามในการสร้างชาติคือเงินและทรัพยากร ที่ผ่านมา ไม่มีงานศึกษาเรื่องตาลีบันอย่างจริงจังว่าพวกเขามีความคิดในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างไร จะหารายได้จากไหน และกระจายทรัพยากรอย่างไร และแน่นอนว่าการสร้างชาติยังต้องใช้แรงสนับสนุนจากมหาอำนาจ และชาติอื่นๆ อีกหลายชาติ ถ้ามองในเชิงยุทธศาสตร์ ตาลีบันก็ต้องยอมอ่อนลงเพื่อเวทีต่างประเทศ

คิดว่าถึงที่สุด ภายใต้การสนับสนุนตาลีบันเช่นนี้ สร้างความสั่นไหวหรือแรงกระเพื่อมให้กับการต่อสู้ในพื้นที่สามจังหวัดหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะในมิติของการสู้รบด้วยกองกำลัง

รุสนันท์ – คิดว่าน่าจะไม่ อย่างไรเสีย ตาลีบันก็เป็นกองกำลังที่มีอาวุธ และอัฟกานิสถานก็เป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ ซึ่งแตกต่างจากไทยมาก ถึงแม้ว่าในสามจังหวัดจะมีการต่อสู้ด้วยอาวุธด้วยก็ตาม แต่กองกำลังและอาวุธที่มีเมื่อเทียบกับตาลีบันแล้วแตกต่างกันมาก

ถึงแม้ที่ผ่านมา คนสามจังหวัดอาจพยายามต่อสู้เพื่อจะกลับคืนสู่คุณค่าของอิสลามหลากหลายแบบ แต่สังคมของสามจังหวัดก็ไม่เหมือนกับอัฟกานิสถาน ความยากลำบากของผู้คนอัฟกานิสถานจัดว่าสูงกว่า สามจังหวัดอาจมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีสงครามแบบที่ต้องหวาดระแวงคาร์บอมบ์ตอนออกไปตลาด เลยคิดว่าแนวคิดเรื่องความรุนแรงต่างๆ ไม่น่าถูกซื้อ

ที่ผ่านมาเคยมีกลุ่ม BRN (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) ที่พยายามปลดแอกรัฐปาตานี กรณีนี้สามารถเทียบเคียงกรณีปลดแอกเช่นนี้ได้ไหม

รุสนันท์ – ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว การก่อเกิดขึ้นมาของ BRN คือเพื่อต่อสู้กับรัฐไทย และกอบกู้เอกราชของปาตานี ที่ต่างกันอีกอย่างคือระบอบการปกครองที่เขาจะนำมาใช้หากว่าได้เอกราช ซึ่งเท่าที่ศึกษามา เขาก็จะตั้งใจจะใช้ระบอบประชาธิปไตยนะ ไม่ได้ใช้การปกครองในลักษณะอย่างตาลีบัน

อสมา – ตัวเองไม่ใช่คนสามจังหวัดชายแดนใต้และถือว่ามีระยะที่ไกลจาก BRN เยอะ แต่จากการพูดคุยกับคนสามจังหวัด เขาบอกว่าจริงๆ แล้ว มวลชนของ BRN มีมากกว่าที่คิด โดยเป็นมวลชนที่ฐานอุดมการณ์ สำนึกร่วมเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่ามวลชนเหล่านั้นสนับสนุนการใช้ความรุนแรง หรือเห็นด้วยกับปฏิบัติการของ BRN ไปทุกครั้ง ต้องขอขีดเส้นใต้ประเด็นนี้

มันเป็นสำนึกร่วมกันในอุดมการณ์ชาตินิยมและความรู้สึกของการเป็นผู้ถูกกดขี่หรือเป็นพลเมืองชั้นสอง พวกเขาอยากเป็นตัวของตัวเอง แต่ไม่ได้แปลว่าเขาเห็นด้วยกับเหตุการณ์ความรุนแรงจาก BRN ทั้งหมด ส่วนตัวไม่คิดว่าพลวัตของสังคมวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนใต้จะไปสุดขั้วทางด้านศาสนาอย่างตาลีบัน

‘อิสลาม’ ในชีวิตคนจริงๆ ไม่ใช่อิสลามที่แข็งทื่อ เพราะตัวบทที่ใช้กันส่วนใหญ่ล้วนผ่านการตีความโดยผู้รู้และนักวิชาการอิสลาม และแต่ละพื้นที่ของโลกก็ไม่ได้มีบริบทสังคมวัฒนธรรมและสำนักความคิด (school of thought) ทางอิสลามที่เหมือนกันร้อยเปอร์เซนต์ เพียงแต่หลักใหญ่ใจความในแต่ละเรื่องไม่ต่างกัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีสำนักอิสลามที่แตกต่างแยกย่อยออกไปอีก

สิ่งที่มั่นใจอย่างหนึ่งคือ พลวัตทางสังคมวัฒนธรรมของชายแดนใต้ในไทยไม่มีทางไปถึงแบบที่อัฟกานิสถานเป็น ส่วนหนึ่งเพราะเขาเป็นสังคมชนเผ่า ขณะที่บ้านเราเป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันค่อนข้างเยอะ

บริบทแบบไหนที่ทำให้อัฟกานิสถานต่างจากไทยมากๆ

รุสนันท์ – สังคมบ้านเรามีความหลากหลาย ไม่ได้มีแต่คนมุสลิมมลายู แต่มีคนพุทธและคนจีนด้วย ขณะที่อัฟกานิสถานเป็นสังคมแบบชนเผ่าที่ยังยึดกับธรรมเนียม ประเพณีของเผ่าค่อนข้างเยอะ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานจำนวนมากไม่ได้มีบัญญัติไว้ในอิสลามเลย แต่เป็นวัฒนธรรมแบบชนเผ่า เช่น การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ ซึ่งอันที่จริงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ตามหลักศาสนาอิสลาม เป็นสิ่งต้องห้ามร้ายแรงเสียด้วยซ้ำ  

เรื่องนี้เชื่อมโยงกับประเด็นภาพตัวแทน สังเกตว่าการกระทำของมุสลิมบางกลุ่มมักถูกนับเป็นตัวแทนของอิสลามโดยอัตโนมัติ ซึ่งแปลกไปจากศาสนาอื่นมาก เช่น นาย ก. นับถือศาสนาพุทธก็จะไม่ถูกมองว่านี่คือนายพุทธ แต่ถ้าเป็นอิสลาม เวลาใครคนหนึ่งคนใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่ทำการใดๆ ไม่เป็นไปตามหลักศาสนา ก็จะโดนโจมตีที่ศาสนา ไม่ได้มองที่ตัวบุคคล อย่างเรื่องการฆ่ารักษาเกียรติซึ่งเกิดขึ้นที่ปากีสถาน คนก็ไม่ได้มองว่าเป็นชนเผ่าหรือหมู่บ้านนั้นทำ แต่กลับมองว่าทำไมอิสลามโหดร้ายกับผู้หญิงเช่นนี้ นี่คือมันมีความเป็นตัวแทนซึ่งติดมา 

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องคุย ถกเถียง และทำความเข้าใจมากขึ้นว่า สิ่งที่ตาลีบันกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ การบังคับผู้ชายให้ไว้หนวดเครายาวๆ หรือการใช้กฎหมายต่างๆ อย่างเข้มงวดมากนั้น ไม่ใช่ว่าคนด่าตาลีบัน แต่ด่าอิสลาม แล้วคนก็ไปมองว่าตาลีบันคือตัวแทนอิสลาม นี่คือสิ่งที่ต้องระวังทั้งสองฝั่ง ฝั่งคนข้างนอกที่มองเข้าไปก็ต้องพยายามทำความเข้าใจว่าแต่ละสิ่งเป็นที่อิสลามหรือเป็นที่ตัวบุคคลกันแน่ ขณะที่ฝั่งมุสลิม ก็ยิ่งต้องระวัง เพราะคนข้างนอกมักมองเราในฐานะตัวแทน

ยกตัวอย่างศาสนาที่สอนเรื่องคนดี มันไม่ใช่แค่คนดีในแบบที่คุณแค่ทำดีของคุณไป แต่ต้องมีการห้ามปรามการทำความชั่วและสนับสนุนการทำความดี การทำประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย ต่อให้คุณบอกว่าฉันเป็นคนเคร่งครัดในศาสนาอย่างไร ไว้เครายาวแค่ไหนหรือคลุมหน้าคลุมตาแบบใด แต่ถ้าคุณไม่มีน้ำใจหรือทำหน้าที่ที่มีต่อสังคม ก็ไม่ได้ถือว่าคุณเป็นคนดีโดยสมบูรณ์หรือตามกรอบที่ศาสนาบอกไว้ เราจึงยิ่งต้องระวังมากในการพูดหรือการกระทำ เพราะเราคือตัวแทนของศาสนาเราหรือในนามของอิสลาม

การที่ตาลีบันเป็นภาพตัวแทนของอิสลาม ทำให้ข้อถกเถียงว่าด้วยสิทธิสตรีและ LGBTQ+ ร้อนแรงและแหลมคมมากขึ้นด้วย จริงๆ แล้วเราควรทำความเข้าใจประเด็นสิทธิสตรีและ LGBTQ+ ในอิสลามอย่างไร

อสมา – ส่วนตัวสนใจเรื่องสิทธิสตรีในอิสลามอยู่แล้ว การที่คนเรามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ มีความมั่นคงปลอดภัย มีเสรีภาพและความยุติธรรม เป็นพื้นฐานเรื่องสิทธิในอิสลาม ไม่เห็นว่ามันขัดต่อสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เรื่องสิทธิและเสรีภาพในอิสลามเป็นระบบความคิดชุดหนึ่งที่ไม่สามารถวางสวมไปอยู่ในสิทธิมนุษยชนสากลได้ มันมีทั้งส่วนที่ตรงกันและไม่ลงรอยกัน เวลาถกเถียงกันเรื่องนี้ บางคนอาจอ่อนไหวหรืออินมากเป็นพิเศษเพราะเป็นเรื่องของศาสนา แต่ส่วนตัวต้องการเสนอว่าหลักการและแนวทางสิทธิเสรีภาพของทั้งสองระบบคิดไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามกันหรอปะทะกันโดยสิ้นเชิง แต่ทั้งสองระบบมีส่วนที่สอดคล้องหนุนเสริมกันอยู่มาก

ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันเรื่องนี้ในโลกออนไลน์อย่างร้อนแรงมาก หากกรอบสิทธิเสรีภาพแบบอิสลามกับสิทธิมนุษยชนสากลไม่ได้ต่างกันอย่างที่บอก อะไรคือจุดที่ทำให้ข้อถกเถียงร้อนแรงขนาดนี้

อสมา – คนเน้นจุดต่างมากกว่าจุดที่สอดคล้อง เท่าที่สังเกต ฝั่งมุสลิมก็ยืนยันจากตัวบทและขอบเขตของอิสลาม ขณะที่ฝั่งเสรีนิยมหรือคนที่ไม่ได้เป็นมุสลิมก็จะบอกว่าทำไมอิสลามเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยหรือทันโลกไม่ได้ ซึ่งพูดให้ถึงที่สุด ส่วนตัวคิดว่าเปลี่ยนยาก แต่มันสามารถที่จะสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์ เข้าอกเข้าใจ และเคารพซึ่งกันและกันได้ 

ตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องสมรสเท่าเทียม การที่มีกลุ่มมุสลิมมาแสดงตัวปฏิเสธกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ส่วนตัวมองว่า มุสลิมไม่จำเป็นต้องไปแสดงออกว่าปฏิเสธสิ่งนี้ เพราะนั่นไม่ใช่เรา การแต่งงานของอิสลามก็มีเงื่อนไขแบบอิสลาม ไม่มีเรื่องการสมรสเพศเดียวกัน ถ้าคุณจะแต่งงานในหลักการและรูปแบบอิสลามก็เป็นไปตามนั้น แต่ประเทศไทยไม่ได้มีแต่คนมุสลิม เพราะฉะนั้นการมีกฎหมายนี้ถือว่าเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ไม่มีเหตุผลให้มุสลิมต้องไปทะเลาะหรือไปห้ามไม่ให้คนอื่นสมรสเท่าเทียม ไม่จำเป็นต้องข้ามเขตไปด่าคนต่างความเชื่อกัน นั่นเป็นเรื่องของเขา เราเพียงแค่ยืนยันความเชื่อในขอบเขตของฝั่งเราเท่านั้น

เวลาคนส่วนใหญ่ถกกันในประเด็นนี้ มักจะใช้บริบทของอัฟกานิสถานและตาลีบันมาเป็นตัวแทนถกเถียงจนเป็นเหมือนสงครามตัวแทน มุสลิมก็มักใช้ตาลีบันเป็นตัวแทนต่อสู้และถกเถียงในสิ่งที่เชื่อ โดยไม่ทันคิดว่าหลายอย่างที่ตาลีบันทำก็ไม่ตรงกับสิ่งตัวเองเชื่อ จนกลายเป็นการไปเผลอยืนยันว่าแนวคิดแบบอิสลามไปด้วยกันไม่ได้กับสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ ในขณะที่อีกฝั่งก็คิดว่า ตาลีบันคือภาพแทนของมุสลิมเช่นกัน จนเกิดความคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะวิพากษ์มุสลิมให้ถึงแก่น

ดังนั้น ในปรากฏการณ์ข้อถกเถียงในสังคมไทยเนื่องมาจากรัฐบาลตาลีบันขึ้นครองอำนาจนั้น คนส่วนใหญ่ถ้าไม่นับนักวิชาการเรื่องตะวันออกกลางศึกษา มักไม่ได้สู้หรือเถียงกันเรื่องตาลีบันหรืออัฟกานิสถานอย่างจริงจัง แต่มักเป็นการต่อสู้ทางความคิดกันในฐานะภาพตัวแทน ที่เราแบกคุณค่าสิ่งที่เราเชื่อถือแตกต่างกันมาปะทะกัน

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือเวลามีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิผู้หญิงหรือ LGBTQ+ ในอิสลาม คนที่ตอบมักเป็นนักวิชาการผู้ชาย เกิดจากอะไร

รุสนันท์ – อาจจะไม่มีคนไปถามผู้หญิงหรือเปล่า (หัวเราะ) ตามหลักอิสลาม ผู้หญิงกับผู้ชายต่างก็มีบทบาทของตัวเอง อย่างเรื่องครอบครัวที่คนนอกมักจะมองว่าครอบครัวมุสลิมกดขี่ผู้หญิง แต่ในรายละเอียดแล้ว ผู้หญิงในครอบครัวสบายกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ เพราะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเรื่องการหุงหาอาหารก็เป็นเรื่องของผู้ชาย การหาเลี้ยงครอบครัวก็ผู้ชาย ส่วนเรื่องการศึกษาที่ตาลีบันถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะจากการไปห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือ ที่จริงแล้วตามหลักอิสลาม ก็ส่งเสริมให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับผู้ชาย

หรืออย่างเรื่องการแต่งกายของผู้หญิงที่เป็นที่ถกเถียงกันมาก ส่วนตัวคิดว่าข้อถกเถียงสามารถก่อรูปอย่างสร้างสรรค์ได้ ในขณะที่มุสลิมที่เคร่งครัดอาจมองว่า เหตุผลที่ให้ผู้หญิงต้องคลุมหน้าทั้งหมดก็เพื่อปกป้องอันตรายจากการถูกจ้องมอง ถูกล่วงละเมิดด้วยสายตาหรือด้วยอะไรก็ตามแต่ แต่หากโจทย์คือการปกป้องผู้หญิง อีกมุมหนึ่งที่ต้องพูดคือ ผู้ชายก็ต้องไม่มีสิทธิล่วงละเมิดผู้หญิงแม้ในระดับสายตา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขัดกับอิสลามเลย และในศาสนายังกำหนดด้วยซ้ำว่า ผู้ชายต้องลดสายตาลงต่ำ ไม่จ้องมอง ต่อให้ผู้หญิงจะแต่งตัวมาแบบไหน ปกปิดหรือเปิดเผยก็ตาม

อสมา – การปกปิดใบหน้าผู้หญิงและการดึงผ้ามาคลุมศีรษะเป็นเรื่องของการตีความ อิสลามมีการให้ความเห็นและการตีความโดยผู้รู้ ทำให้ประเทศมุสลิมอาจจะมีการคลุมศรีษะในรูปแบบที่แตกต่างกัน มีผู้รู้บางคนบอกว่าการดึงผ้าคลุมศีรษะมาคลุมนั้นไม่ได้บอกว่าคลุมแบบไหน และเป้าหมายของการดึงผ้ามาคลุมศีรษะนั้นก็เป็นเรื่องความสำรวมตน (modesty) โดยที่การสำรวมตนไม่ใช่เรื่องที่กำกับเฉพาะผู้หญิง แต่กำกับผู้ชายด้วย การคลุมฮิญาบมันไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงถูกบังคับใช้กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมตามลำพัง แต่ผู้ชายก็ต้องสำรวม จะมองผู้หญิงอย่างละลาบละล้วงก็ไม่ได้เหมือนกัน

ถ้าบอกว่าตาลีบันกลายเป็นภาพแทนของมุสลิมและอิสลามไปแล้ว มันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของมุสลิมในไทยไหม

รุสนันท์ – เป็นหน้าที่ของนักวิชาการ สื่อ และชาวมุสลิมที่จะต้องอธิบายประเด็นนี้ให้กระจ่าง ต้องทำให้คนเห็นว่ามุสลิมมีหลากหลาย และตาลีบันเป็นแค่กลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่มุสลิมทั้งหมด แถมเป็นส่วนน้อยด้วยซ้ำ และในอดีต ตาลีบันก็มีปัญหากับกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อันที่จริงตาลีบันแข็งกร้าวต่อทุกกลุ่ม แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ก็อ่อนลง ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่ากลุ่มไหนถูกหรือกลุ่มไหนผิด อย่างตาลีบันที่เป็นที่ถกเถียงกันมากก็ยังไม่ชัดเจนว่าแนวทางการปกครองจะเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญหน้าตาแบบไหน เป็นไปได้สูงว่าจะใช้ชารีอะห์ แต่จะระดับไหนก็ยังบอกไม่ได้ จะเหมือนในอดีตหรือจะมีอะไรปรับเปลี่ยนไหม ตอนนี้ก็ยังไม่รู้

อสมา – มุสลิมบ้านเราอาจต้องจับตามองและถามตัวเองดีๆ ว่าสนับสนุนอะไร เพราะอะไร การที่ตาลีบันเคลมว่าใช้ชารีอะห์ ซึ่งมุสลิมยอมรับว่าเป็นสัจธรรม ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ตาลีบันถูกต้องชอบธรรมสมบูรณ์แบบไปโดยอัตโนมัติ เพราะเราต้องอย่าลืมว่าชารีอะห์กับการปฏิบัติใช้ชารีอะห์นั้นแตกต่างกัน 

ชารีอะห์คือกฎเกณฑ์ที่พระเจ้าประทาน มอบลงมาให้ เป็นสัจธรรมที่ผู้ศรัทธาไม่ปฏิเสธ แต่การปฏิบัติใช้ชารีอะห์มีการออกแบบโดยผู้รู้อิสลาม เราไม่ได้ปฏิเสธความรู้ของผู้ทรงความรู้ แต่เรามีสิทธิที่จะตรวจสอบ ตั้งคำถามและพิจารณา ต้องตระหนักว่าการปฏิบัติใช้ชารีอะห์ของดินแดนมุสลิมทั้งหลายบนโลกนี้แตกต่างกัน ไม่เคยมีประเทศไหนใช้เต็มรูปแบบ มีการตีความมีการปฏิบัติใช้ที่แตกต่างกันด้วยซ้ำ ตาลีบันเองก็อาจจะใช้ชารีอะห์ในทางที่ต่างไปจากประเทศอื่นๆ ก็ได้ 

ส่วนตัวไม่ได้มองตาลีบันเป็นตัวร้ายแบบขาวดำ พวกเขาคือผลผลิตทางสังคมวัฒนธรรมของพลวัตการเมืองในอัฟกานิสถาน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ว่าสนับสนุนหรือโปรตาลีบัน เพราะเชื่อว่าการใช้อำนาจใดก็ตามที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย หรือไม่มีการตรวจสอบทัดทานอำนาจได้นั้นย่อมเป็นอันตราย และไม่ได้หมายความว่าการเป็นคนที่เคยถูกกดขี่จะไม่กดขี่เพื่อนพี่น้องของตัวเองเสมอไป

อำนาจฉ้อฉลเสมอไม่ว่ามันจะอยู่ในมือของใคร และไม่ว่ามันจะอยู่หรือไม่อยู่ในนามของศาสนาใดก็ตาม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save