fbpx

เยียวยาหรือทารุณกรรม? Take Care of Maya

โกรธ คับแค้น และหม่นเศร้าสะเทือนใจ คือความรู้สึกของผมหลังจากดู Take Care of Maya จบ ถัดมาคืออยากป่าวร้องเชิญชวนทุกคนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักให้ดูหนังเรื่องนี้

Take Care of Maya เป็นสารคดีปี 2023 สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ทาง Netflix กำกับโดยเฮนรี โรสเวลต์

จุดเด่นแรกสุดของสารคดีเรื่องนี้ คือการใช้วิธีนำเสนอเหมือนหนังที่เป็นเรื่องแต่ง มีเหตุการณ์เข้มข้นชวนติดตามมากมาย จนพูดได้ว่าราวกับเป็นพล็อตเรื่องที่เขียนบทออกมาได้อย่างเก่งกาจช่ำชอง ทั้งดึงดูดสะกดตรึงตั้งแต่ต้นจนจบ ดำเนินเรื่องกระชับฉับไว เต็มไปด้วยฉากดรามาดีๆ อยู่ตลอดเวลา ตัวบุคคลหลักๆ ผู้เกี่ยวข้อง ชวนให้นึกถึงตัวละครเด่นๆ ในหนังปกติทั่วไป และที่สำคัญคือเป็นสารคดีที่ตั้งใจเร้าอารมณ์อย่างเต็มที่ (โดยการตัดต่อลำดับดับภาพและใส่ดนตรีประกอบ)

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นสารคดีที่มีพระเอก นางเอก และผู้ร้าย มีฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อ และฝ่ายที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงรังแกกัน (โดยถูกกฎหมาย) อย่างโหดร้ายเหี้ยมเกรียม

Take Care of Maya เปิดฉากด้วยการเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัวโควัลสกี

แจ็ค โควัลสกี พนักงานดับเพลิง ได้พบกับบีเอตา หญิงสาวชาวโปแลนด์ซึ่งอพยพมายังอเมริกาตั้งแต่อายุ 16 ปี ฝ่าฟันความยากลำบากต่างๆ ทั้งเรื่องภาษาและชีวิตความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ จนกระทั่งเรียนจบวิทยาลัย ได้งานทำเป็นพยาบาลในห้องสวนหลอดเลือดหัวใจที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยลอโยลา

แจ็คกับบีเอตาต่างตกหลุมรักกันตั้งแต่แรกพบ และแต่งงานกันหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งคู่ปรารถนาอยากมีลูก แต่กลับพบอุปสรรคสำคัญคือภาวะมีบุตรยาก หลายปีผ่านไป ความเพียรพยายามของทั้งสองถึงประสบผล ครอบครัวโควัลสกีมีลูก 2 คน คือ มายา ผู้เป็นลูกสาว และไคล์ ลูกชาย

มองเผินๆ ครอบครัวโควัลสกีแลดูเหมือนครอบครัวในฝัน เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ ทั้งฐานะการเงินที่มั่นคง มีบ้านสวยน่าอยู่ในย่านพำนักอาศัยที่ดี ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยา พ่อ แม่ ลูก รักใคร่กลมเกลียวอบอุ่น

เป็นเช่นนั้นตลอดมาจนถึงช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิปี 2015 เมื่อมายาอายุ 10 ขวบ จู่ๆ เธอก็ล้มป่วย แรกเริ่มอาการดูเหมือนเป็นโรคหอบหืด หลังจากรักษาตัว เปลี่ยนโรงพยาบาลหลายแห่ง สภาพร่างกายของมายายิ่งทรุดหนัก เธอขยับเคลื่อนร่างกายไม่ได้ ร่างกายช่วงล่างมีสภาพกล้ามเนื้อบิดเกร็ง จนอยู่ในท่วงท่าฝืนธรรมชาติ เจ็บปวดตามร่างกายในลักษณะแสบร้อนเหมือนโดนลวกหรือไฟไหม้ และยิ่งทวีความรุนแรงเมื่อเกิดการกระทบสัมผัส (แม้จะเป็นการแตะเนื้อต้องตัวเบาๆ ระดับความเจ็บกลับเหมือนโดนมีดทิ่มแทง)

หมอหลายๆ คนจนปัญญาวินิจฉัยว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และเป็นอาการป่วยของโรคใด บีเอตาผู้เป็นแม่และมีอาชีพพยาบาล จึงใช้เวลาหลังเลิกงานค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต โดยพิมพ์อาการป่วยที่เกิดกับลูกสาว จนกระทั่งพบชื่อของ ดร.แอนโทนี เคิร์กแพทริก ผู้เชี่ยวชาญการรักษาผู้ป่วยที่ประสบความทุกข์ทรมานใกล้เคียงกับอาการของมายา

ดร.เคิร์กแพทริกวินิจฉัยว่า มายาป่วยเป็นโรค CRPS (complex regional-pain syndrome) หรือ ‘กลุ่มอาการป่วยเฉพาะบริเวณแบบซับซ้อน’

โรคดังกล่าวสามารถบำบัดรักษาด้วยเคตามีน ซึ่งมีสรรพคุณโดยทั่วไปเป็นยาเสพติดออกฤทธิ์หลอนประสาท ทำให้ผู้เสพรู้สึกเป็นสุข เคลิบเคลิ้ม เกิดภาพฝัน หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือเสพในปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อสมองจนเป็นอันตราย แต่ดร.เคิร์กแพทริกอธิบายว่า เคตามีนมีคุณสมบัติเหมากับการรักษาโรค CRPS เพราะสามารถกระตุ้นการทำงานของสมองและรีเซ็ตทุกอย่างใหม่

กระนั้น การทดลองรักษามายาด้วยเคตามีนในปริมาณน้อยไม่ประสบความสำเร็จ อาการเจ็บปวดต่างๆ ยังคงเดิม ดร.เคิร์กแพทริกจึงเสนอหนทางรักษาใหม่ คือการทำให้มายาเกิดภาวะโคมาด้วยเคตามีน อันหมายถึงการให้ยาแก่ผู้ป่วยในปริมาณมากถึง 50 เท่าของปกติ

และที่เดียวในโลกที่ยินยอมให้มีการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวคือประเทศเม็กซิโก

ครอบครัวโควัลสกีตัดสินใจยอมเสี่ยงเข้าทำการรักษาซึ่งอาจทำให้มายาเป็นอันตรายถึงชีวิต ด้วยความคิดว่าหากปฏิเสธและปล่อยให้เป็นไปตามกรรมวิธีเดิม อาการของเด็กหญิงมีแต่จะเลวร้ายย่ำแย่หนักและทุกข์ทรมานแสนสาหัสมากขึ้นตามลำดับ

มายาเข้ารักษาตัวที่เม็กซิโก ตกอยู่ในสภาพโคมาเป็นเวลา 6 วัน หลังจากฟื้นตัว สภาพร่างกายของเธอดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่วงบนและการขยับแขนกลับมาเป็นปกติ ขณะที่ร่างกายท่อนล่างยังไม่สามารถเดินได้ แต่อาการกล้ามเนื้อบิดเกร็งก็ลดน้อยลง สามารถนั่งรถเข็น ใช้ชีวิตนอกบ้าน และกลับไปเรียนได้อีกครั้ง (ก่อนหน้านั้นในช่วงที่ร่างกายเลวร้ายสุดขีด มายาไม่สามารถออกนอกบ้านได้เลย เพราะแค่สัมผัสอากาศภายนอก ก็เกิดอาการไออย่างรุนแรง)

อันที่จริง มายาควรรักษาตัวกับ ดร.เคิร์กแพทริกต่อเนื่องไปอีก แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องเดินทางไปมาระหว่างฟลอริดากับเม็กซิโก ทำให้ครอบครัวโควัลสกีไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ ดร.เคิร์กแพทริกจึงแนะนำหมออีกคนในอเมริกา ซึ่งสามารถใช้สิทธิประกันจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ (แต่การรักษาของหมอที่รับช่วงก็มีข้อจำกัดตรงที่สามารถใช้เคตามีนในปริมาณแต่เพียงน้อย)

อย่างไรก็ตาม อาการของมายานั้นดีวันดีคืน แม้เกิดผลข้างเคียงอยู่บ้างในช่วงแรก นั่นคือการสูญเสียความทรงจำระยะสั้นเล็กน้อย และสายตาพร่ามัวในบางครั้ง จากปากคำของมายาในเวลาต่อมา เธอกล่าวว่ายินดีและยอมรับกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น รวมถึงพึงพอใจกับอาการปวดที่ยังมีอยู่ อย่างน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงที่เจ็บถึงขีดสุด มันก็ยังทุเลาไปมาก จนสามารถใช้ชีวิตอย่างไม่ทรมานและกลับมามีความสุขได้

ช่วงเวลาที่เรื่องร้ายคลี่คลายผ่านพ้นไป และทุกสิ่งทุกอย่างหวนคืนกลับมาเป็นครอบครัวแสนสุขอีกครั้ง กินเวลาประมาณหนึ่งปี

วันที่ 7 ตุลาคม 2016 พร้อมๆ กับที่เกิดพายุเฮอริเคนในฟลอริดา อาการป่วยของมายาก็ย้อนมาเยือนอีกครั้งอย่างรุนแรงสาหัส จนต้องนำส่งห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล Johns Hopkins All Children’s

ขณะนั้น บีเอตาผู้เป็นแม่ยังไม่เลิกงาน คนนำส่งโรงพยาบาลคือแจ็กผู้เป็นพ่อ การติดต่อสื่อสารระหว่างหมอประจำห้องฉุกเฉินกับผู้ปกครองของผู้ป่วยจึงเกิดขึ้นผ่านการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ (เนื่องจากบีเอตาทำงานเป็นพยาบาลจึงมีความรู้ทางการแพทย์ สามารถอธิบายอาการป่วยและการรักษาในอดีตได้ดีกว่าสามี)

ปัญหาคือหมอประจำห้องฉุกเฉินและหมอห้องไอซียูไม่รู้จักหรือเคยได้ยินเกี่ยวกับโรค CRPS มาก่อน การสนทนาซึ่งควรจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือปรึกษาหารือกันเพื่อรักษาคนไข้ จึงกลายเป็นการพูดคุยที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ยิ่งเมื่อได้เผชิญหน้าพูดคุยกันโดยตรงในเวลาต่อมา ความไม่ลงรอยระหว่างบีเอตากับหมอก็ยิ่งเพิ่มทวีมากขึ้น

ทางฝ่ายโรงพยาบาลลงความเห็นว่า บีเอตาแสดงออกอย่างก้าวร้าว จู้จี้จุกจิก เรียกร้องและคาดคั้นให้หมอทำตามที่เธอต้องการ รวมถึงคำบอกเล่าเกี่ยวกับการรักษามายาด้วยเคตามีนก็ชวนให้นึกระแวงสงสัยว่าอาจเข้าข่ายการกระทำทารุณเด็ก

2 วันต่อมา ดร.แนนซี สมิธ กุมารแพทย์การล่วงละเมิดเด็ก จากหน่วยงานคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ก็เดินทางมาที่โรงพยาบาล สอบถามพูดคุยกับแจ็กและมายา

การพูดคุยเกิดขึ้นจบลงภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที

เรื่องราวที่ปรากฏในเวลาต่อมา คือ ดร.แนนซี สมิธ ทำรายงานเสนอต่อโรงพยาบาลและศาล ลงความเห็นว่ากรณีของมายา มีแนวโน้มเข้าข่าย Munchausen syndrome by proxy (MSBP) เป็นพฤติกรรมที่บุคคลหนึ่งสร้างเรื่อง, กล่าวเกินจริง หรือ ทำให้เกิดปัญหาทางกายหรือสุขภาพแก่ผู้ที่อยู่ในการดูแลโดยเฉพาะเด็ก เพื่อเรียกร้องความสนใจ

พูดอย่างย่นย่อ ดร.แนนซี สมิธ กล่าวหาว่าบีเอตากระทำทารุณเด็กด้วยวิธีทางการแพทย์ และเป็นไปได้ว่ามายาแกล้งป่วย

ศาลจึงมีคำสั่งให้มายาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ พ่อแม่ไม่สามารถเข้าเยี่ยมลูกโดยไม่ได้รับอนุญาต ในกรณีนี้บีเอตาถูกห้ามเข้าพบลูกอย่างเด็ดขาด (และนานๆ ครั้งจึงมีโอกาสได้คุยโทรศัพท์กับลูกสาว โดยมีเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกส่งตัวมาดูแลคนไข้ รับฟังและควบคุมการสนทนาอย่างเข้มงวด) ขณะที่แจ็กได้รับอนุญาตเป็นบางครั้ง โดยต้องยินยอมทำตามเงื่อนไขข้อห้ามต่างๆ มากมาย

สารคดีเรื่อง Take Care of Maya มีความยาว 1 ชั่วโมง 44 นาที เหตุการณ์ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนั้น เป็นใจความตกราวๆ ครึ่งชั่วโมงแรกเท่านั้นนะครับ ส่วนเหตุการณ์ที่เหลือ เล่าคร่าว ๆ ได้ว่าประกอบไปด้วยเนื้อหา 3 ส่วน

ส่วนแรก คือการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมของครอบครัวโควัลสกี ซึ่งถูกพรากลูกสาวไปอย่างไม่เป็นธรรม โดยระบบและกฎหมายที่ให้อำนาจและสิทธิต่างๆ แก่รัฐและโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ อำนาจอันล้นเหลือเหล่านี้กลายเป็นอคติและความอยุติธรรมที่สามารถทำร้ายผู้บริสุทธิ์อย่างโหดร้าย

การต่อสู้และความขัดแย้งข้างต้นนำไปสู่เหตุการณ์บางอย่าง ซึ่งทำให้ทุกชีวิตของสมาชิกครอบครัวโควัลสกีไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมได้อีกเลย เป็นบาดแผลทางใจถาวรติดตัวทุกคน และไม่มีความยุติธรรมใดๆ ในโลกนี้สามารถชดใช้ได้อย่างคู่ควร

เรื่องราวถัดมา คือการขุดคุ้ยเจาะลึกให้เห็นว่ากรณีแบบที่ครอบครัวโควัลสกีประสบพบเจอไม่ใช่เหตุการณ์แรกและเหตุการณ์เดียว แต่มีผู้คนอีกมากมายในอเมริกาต้องรับทุกข์ประสบเคราะห์จากการพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการป่วย แต่แล้วกลับตาลปัตร ต้องกลายเป็นจำเลย ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อแม่ที่กระทำทารุณลูกเสียเอง โดยการสรุปความเห็นของหมอและเจ้าหน้าที่หน่วยคุ้มครองสิทธิเด็ก (และผู้ตกเป็นเหยื่อบางคนก็มีคู่กรณีตรงกันคือ ดร.แนนซี สมิธ)

บางครอบครัวถึงขั้นติดคุกติดตาราง บางคนกับตกเป็นเป้าเกลียดชังของเพื่อนบ้านจากเหตุอื้อฉาวที่เกิดขึ้น และอีกสารพัดสารพัน

เรื่องราวช่วงสุดท้าย ว่าด้วยการที่ครอบครัวโควัลสกีตัดสินใจยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโรงพยาบาล

ตรงนี้สามารถเล่าเพิ่มเติมได้ว่า เพื่อให้มีโอกาสได้ตัวลูกกลับคืนมา ครอบครัวผู้เสียหายเกือบทั้งหมดมักยินยอมเซ็นและทำตามข้อตกลงร่วม (เช่น เข้ารับคำปรึกษาเรื่องชีวิตคู่, ทำการบำบัดเกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์โกรธ ฯลฯ) แต่สาระสำคัญของการเซ็นยินยอมนี้คือไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดกับโรงพยาบาลและหน่วยคุ้มครองสิทธิเด็ก

ครอบครัวโควัลสกีกลับไม่เซ็นยินยอมทำข้อตกลงดังกล่าว พวกเขาเดินหน้าทำการฟ้องร้อง เนื้อหาส่วนนี้จะลงเอยอย่างไรต้องติดตามกันเองนะครับ แต่มันเข้าสูตรหนังขึ้นโรงขึ้นศาล courtroom drama ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างคนตัวเล็กๆ ที่ไร้กำลังอำนาจกับยักษ์ใหญ่ที่เพียบพร้อมทุกด้าน ทั้งกำลังทุนทรัพย์ มือกฎหมายระดับหัวกะทิ และความโน้มเอียงเข้าข้างฝักฝ่ายเดียวกันของกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนำพาไปพบกับเรื่องเศร้าคราวเคราะห์น่าสะเทือนใจของครอบครัวโควัลสกีแล้ว เป้าหมายสำคัญของสารคดีเรื่อง Take Care of Maya คือการเปิดเปลือยให้เห็นถึงความบิดเบี้ยววิปริตของระบบ ซึ่งควรจะทำหน้าที่คุ้มครองและเกื้อหนุนให้ชีวิตผู้คนเป็นสุข ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นตรงกันข้ามในระดับที่กล่าวได้ว่าเลวร้ายจนถึงที่สุด มีจุดอ่อน ช่องโหว่มากมายในระบบ ทั้งจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างความไม่รู้ไม่เข้าใจ การตัดสินเรื่องสำคัญระดับคอขาดบาดตายด้วยความรู้สึกส่วนตัวแบบผิวเผิน ไม่ละเอียดรัดกุมเพียงพอ พื้นฐานการตัดสินของศาล ซึ่งพร้อมคล้อยตามเชื่อฟังทัศนะจากทางโรงพยาบาลมากกว่าฝั่งผู้เสียหาย ด้วยเหตุผลที่ทั้งง่ายและตื้น เพียงแค่บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยวิชาชีพ ฯลฯ

Take Care of Maya เป็นสารคดีที่นำเสนอเพียง ‘ด้านเดียว’ คือ แจกแจงรายละเอียดเฉพาะฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อและถูกกระทำ ขณะที่หน่วยงานคุ้มครองสิทธิเด็กและโรงพยาบาลปฏิเสธการปรากฏตัวและไม่ยินยอมให้สัมภาษณ์ เรื่องราวของฝั่งคู่ขัดแย้งของครอบครัวโควัลสกี จึงมีให้เห็นเพียงส่วนบันทึกภาพการสอบปากคำเพื่อการต่อสู้ในชั้นศาลเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้สารคดีเรื่องนี้ไม่แบนจนกลายเป็นการ ‘ฟังความฝ่ายเดียว’ ก็คือ นิสัยส่วนตัวที่เป็นคนละเอียดถี่ถ้วนของบีเอตา เธอจดบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เก็บอีเมล์ทุกฉบับที่ติดต่อกับหมอตั้งแต่มายาเริ่มป่วย รวมทั้งบันทึกเสียงพูดคุยทางโทรศัพท์กับใครต่อใครเอาไว้ครบถ้วน (บันทึกการสนทนาเหล่านี้ จำนวนไม่น้อยทำให้ผู้ชมทราบว่า ผู้ร้ายของเรื่องนั้นร้ายจริงอย่างน่าสะพรึงกลัว) ซึ่งหนังใช้บันทึกเสียงพูดคุยเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินเรื่อง (ประกอบกับภาพถ่ายจำลองเหตุการณ์) ได้อย่างลื่นไหล

ในแง่ความเข้มข้นทางอารมณ์ Take Care of Maya แทบไม่ต่างจากหนังดรามาดีๆ เรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นและทำให้ติดตามด้วยความเจ็บปวดสะเทือนใจมากๆ ก็คือ หนังกระตุ้นเตือนให้ผู้ชมตระหนักอยู่ทุกขณะว่า เรื่องราวเหลือเชื่อยิ่งกว่านิยายนั้น ‘เป็นเรื่องจริง’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save