fbpx
เมื่อ ‘ความยั่งยืน’ คือเงื่อนไขใหม่ที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลและอีเว้นต์

เมื่อ ‘ความยั่งยืน’ คือเงื่อนไขใหม่ที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลและอีเว้นต์

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

หลายวันที่ผ่านมา วงร็อกแถวหน้าของโลกอย่าง Coldplay เปิดตัวอัลบั้มใหม่ ‘Everyday Life’ พร้อมประกาศว่าจะไม่ทัวร์คอนเสิร์ตอัลบั้มนี้ เหตุผลก็เพราะคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีคือส่วนหนึ่งของการทำลายโลก ด้วยการสร้างก๊าซคาร์บอนและขยะพลาสติกมหาศาลทุกครั้งที่มีการจัดงาน และจะไม่ทัวร์คอนเสิร์ตไปอีกอย่างน้อยสองปี จนกว่าจะหาวิธีจัดคอนเสิร์ตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

อีเว้นต์และเทศกาล คือช่วงเวลาแห่งความสนุก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างขยะมหาศาล ยกตัวอย่างเทศกาลดนตรีระดับโลกที่จัดขึ้นในอเมริกาอย่าง Coachella มีขยะที่เกิดจากการจัดงานหนึ่งวันกว่า 100 ตัน ถ้านึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงเครื่องบินโบอิ้งที่บรรจุคนเต็มลำ ทั้งหมดนั่นแหละคือขยะ !

เทศกาลดนตรี ณ Coachella - The United States of America
ที่มาภาพ kcrw.com / Photo by Benjamin Gottlieb

นอกจากนี้ การจัดเทศกาลไซส์นี้ขึ้นมาหนึ่งครั้ง ต้องใช้พลังงานจากเครื่องปั่นไฟถึง 250 เครื่อง รวมๆ น้ำมันที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเผาผลาญเพื่อจ่ายพลังงานให้หนึ่งเทศกาลอยู่ที่ประมาณ 16,000 แกลลอน หน่วยงาน Powerful Thinking เคยคำนวณว่าการจัดงานอีเว้นต์และเทศกาลดนตรีในอังกฤษแค่เพียงปีเดียว ต้องใช้น้ำมันถึง 5 ล้านลิตร ยังไม่รวมเชื้อเพลิงที่ใช้ในการก่อสร้าง ขนส่ง และเดินทางมายังเทศกาลอีกมหาศาล นี่คือสิ่งที่โลกต้องเสียไปเพื่อแลกกับความสนุกสนานในช่วงเวลาพิเศษของมนุษย์ตัวเล็กๆ

พอฟังแบบนี้ หลายคนคงเข้าใจ Chris Martin แห่ง Coldplay ขึ้นมาทันที การเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงเหมือนเป็นสัญญาณที่ส่งถึงผู้จัด รวมถึงนักออกแบบอีเว้นต์และเทศกาลทั่วโลกให้หันมาคิดถึงความยั่งยืน’ (Sustainability) ในการจัดอีเว้นต์และเทศกาลมากขึ้น

หลายปีมานี้ ผู้จัดอีเว้นต์และเทศกาลในต่างประเทศ เริ่มคิดกับงานหนึ่ง มากกว่าแค่ให้งานออกมาสวยสนุกและน่าประทับใจ แต่ต้องทำให้งานที่ออกมาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดด้วย

Zero waste – Leave no trace : ไม่นำเข้าไม่เอาออก

การจัดการเทศกาลในต่างประเทศ เช่น Glastonbury ที่ประเทศอังกฤษ นอกจากจะออกนโยบายแบนขวดพลาสติก 100% และมีจุดกดน้ำดื่มภายในงานบริการให้ ยังออกแบบระบบแยกขยะ ที่ทำให้ขยะประเภทเศษอาหารสามารถนำไปย่อยสลายภายในพื้นที่หลังงานจบ ลดปริมาณขยะที่ต้องขนส่งไปทิ้งลงได้

แต่นอกจากขยะที่เกิดจากผู้ชมแล้ว ขยะที่เกิดจากการจัดงานเองก็ไม่น้อย ลองคิดภาพอีเว้นต์หรือเทศกาลทั่วไป ภายในงานเต็มไปด้วยป้ายบอกทาง เครื่องหมายบอกโซน แผนที่ภายในงาน ตั๋ว ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยการผลิตจำนวนมากและกลายเป็นขยะในที่สุด การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น ระบบนำทางด้วยป้ายบอกทาง AR (Augmented Reality) ในมือถือ หรือ การสร้างแอปพลิเคชันที่ช่วยบอกข้อมูลภายในงาน จึงช่วยลดขยะในส่วนนี้ไปได้ไม่น้อย 

ขยะจากการจัดงาน

เทคโนโลยี AR เพื่อการนำทาง
ป้ายบอกทาง (Wayfinding) ในอีเว้นต์มักจะกลายเป็นขยะหลังงานจบในเวลาอันรวดเร็ว การใช้ป้ายบอกทางด้วยเทคโนโลยี AR เป็นอีกทางเลือกเพื่อลดปริมาณขยะ / ที่มา mpagraphics.com avrspot.com
Coachella apps ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ
Coachella apps ช่วยอำนวยความสะดวก เช่น นำทาง, บอกตารางศิลปินที่กำลังขึ้นเล่น ไปจนถึงซื้อสินค้าภายในเทศกาล Coachella เพื่อลดการผลิตป้ายอำนวยความสะดวก /ที่มา newsmov.biz

Carbon Neutral : คาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์

อย่างที่บอกไปว่าการจัดเทศกาลหนึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาลจากเครื่องปั่นไฟและการขนส่ง หลายเทศกาลที่พยายามปรับตัวให้เป็นเทศกาลที่ Carbon Neutral (มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์) จึงหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และเลือกสถานที่จัดงานที่สามารถเดินทางถึงด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดการใช้พลังงานน้ำมัน

เทศกาลดนตรีอย่าง Burning Man หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการใช้เครื่องปั่นไฟ
เทศกาลดนตรีอย่าง Burning Man หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการใช้เครื่องปั่นไฟ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ / Photo by Dave Marr

ในอเมริกา US Green Buildings Council มีการให้ใบรับรอง ‘LEED-certified venue’ หรือ สถานที่จัดงานที่มีการจัดการด้านพลังงานที่ได้มาตรฐาน เช่น มีระบบประหยัดไฟ ประหยัดน้ำ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ ซึ่งอาคาร สนามกีฬา หรือศูนย์แสดงสินค้าที่ได้การรับรองนี้ จะถูกเลือกใช้เป็นสถานที่จัดงานก่อนเป็นอันดับแรก

Mercedes-Benz Stadium
Mercedes-Benz Stadium สนามกีฬาที่ได้รับการรับรอง LEED-certified venue จะเห็นว่ามีการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานใช้ในสนามกีฬา
Photo Courtesy AMB Group

Reduce to Produce : ลดเพื่อเพิ่ม

นอกจากเทศกาลดนตรี เทศกาลแสงก็เป็นอีกรูปแบบการจัดงานที่ใช้พลังงานสิ้นเปลืองมหาศาล โดยเฉพาะในช่วงปลายปีแบบนี้ ใกล้ๆ บ้านเราอย่างสิงคโปร์จึงออกแบบเทศกาลแสงให้เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น i Light Singapore คือเทศกาลศิลปะแสงไฟประจำปีที่จัดขึ้นบริเวณ Marina Bay โดยองค์กรพัฒนาเมืองสิงคโปร์ (Urban Redevelopment Authority) เทศกาลนี้เขานิยามตัวเองว่าเป็นเทศกาลเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในแต่ละปีจะกำหนดให้ศิลปินแสงที่มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างวัสดุรีไซเคิล เราจะเห็นงานศิลปะแสงสวยๆ ที่พอเข้าไปดูใกล้ๆ แล้วพบว่าสร้างจากขวดนม ขยะพลาสติก กระป๋องคุกกี้ แหจากชาวประมง ฯลฯ รวมถึงรณรงค์ให้ศิลปินใช้ชนิดไฟที่ประหยัดพลังงานมาสร้างผลงาน

i Light Singapore i Light Singapore i Light Singapore

ilightsingapore.sg

นอกจากสร้างงานศิลปะที่เพิ่มปริมาณขยะน้อยที่สุด นโยบายความยั่งยืนของ i Light Singapore ยังลามไปถึงการทำข้อตกลงกับผู้เกี่ยวข้อง โดยในช่วงเวลาของการจัดงานราวหนึ่งเดือน ผู้จัดงานขอความร่วมมือให้ห้างสรรพสินค้าและสำนักงานในละแวกที่มีงานศิลปะแสงไปติดตั้ง ลดการใช้แสงไฟลงครึ่งหนึ่งและปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศขึ้น นอกจากเพื่อชดเชยพลังงานที่ใช้ไปกับผลงานศิลปะแล้ว พอไฟรอบๆ มืด งานศิลปะก็ยิ่งสวยขึ้นโดยอัตโนมัติ นักท่องเที่ยวก็แห่กันมา ร้านรวงแถบนั้นก็ขายดีขึ้น ความร่วมมือของคนในย่านก็เลยดีขึ้นในทุกปี เรียกว่าวินกันทุกฝ่าย

Upcycling : อย่าเพิ่งรีบกลายเป็นขยะ

อย่างที่รู้กันว่างานอีเว้นต์และเทศกาลนั้น บางครั้งก็อาจจะยาวนานเป็นสัปดาห์ แต่บางทีก็เกิดขึ้นแค่ภายใน 1-2 วัน สิ่งที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้ในงาน จึงมีประโยชน์เพียงเวลาสั้นๆ ก่อนจะกลายเป็นขยะด้วยเวลาอันรวดเร็ว สิ่งที่นักออกแบบอีเว้นต์สามารถทำได้ คือการเลือกใช้วัสดุที่มีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้อย่างอื่นต่อ

เล่าจากประสบการณ์ตรง ทีมของเราเคยทำงานอีเว้นต์ที่ต้องใช้วัสดุเป็นผ้าใบจำนวนมหาศาล เพื่อสร้างเป็น facade (ผิวภายนอกอาคาร) ตามปกติเมื่องานจบลง ผ้าใบทั้งหมดจะถูกรื้อถอนและกลายเป็นขยะ แต่ในงานนี้ สถาปนิกผู้ออกแบบ อย่าง Park+Associates นำวัสดุผ้าใบมาเปลี่ยนกลายเป็นกระเป๋าผ้า ทำให้อายุการใช้งานผ้าใบยาวขึ้นอีก แถมยังเป็นของที่ระลึกที่ทำให้ทีมงานอมยิ้มเมื่อได้รับ

กระเป๋าผ้า จากผ้าใบรีไซเคิล

ปัจจุบันมีเทศกาลในประเทศไทยอย่าง Wonderfruit ที่ไม่เพียงแต่นำแนวคิดของความยั่งยืนมาใช้ในการจัดการภายในเทศกาล แต่ออกแบบประสบการณ์ภายในเทศกาลให้เป็นเหมือนสังคมจำลองที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองชีวิตบนแนวคิดของความยั่งยืน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งต่อวิธีคิดไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้จบแค่ภายในเทศกาล

Wonderfruitfest
ที่มาภาพ http://facebook.com/wonderfruitfest/

ในฐานะที่ทีม Eyedropper Fill เองก็อยู่ในบทบาทนักออกแบบประสบการณ์ในงานอีเว้นต์และเทศกาลดนตรี  การจะพลิกให้อีเว้นต์และเทศกาลในประเทศไทยนั้น ‘Sustainable’ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะงานงานหนึ่งเกิดขึ้นจากองค์ประกอบที่หลากหลาย ตั้งแต่สปอนเซอร์ ผู้จัด นักออกแบบ ออแกไนเซอร์ ไปจนถึงช่างก่อสร้าง รวมถึงองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ชมและผู้เข้าร่วมงาน

สิ่งที่หน่วยเล็กๆ อย่างนักออกแบบจะทำได้ คือการให้ความรู้ เพื่อให้ทุกฝ่ายเติบโตทางความคิดไปพร้อมกัน และสร้างสรรค์งานที่ท้าทายความเคยชินเดิมๆ เพื่อเปลี่ยนภาพงานอีเว้นต์และเทศกาล จากมหกรรมแห่งการล้างผลาญ ให้เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และทำลายโลกน้อยที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save