fbpx
ลึก กว้าง ไกล ลายเซ็นใหม่ที่บ่มจากโคตรเหงาของ 'SUNTUR'

ลึก กว้าง ไกล ลายเซ็นใหม่ที่บ่มจากโคตรเหงาของ ‘SUNTUR’

ภาวิณี คงฤทธิ์ เรื่อง

พิมพ์ใจ พิมพิลา ภาพ

ภาพ 'Big Window (the loneliest whale)' จากนิทรรศการ Zero Decibel โดย SUNTUR
ภาพ ‘Big Window (the loneliest whale)’ จากนิทรรศการ Zero Decibel โดย SUNTUR

“แม่งโคตรเหงาเลย” คือประโยคที่ใครหลายคนอุทานออกมายามได้ดูงานเพนต์ติ้งของ ‘SUNTUR’

ตัวละครเล็กๆ ท่ามกลางพื้นหลังแสนกว้างใหญ่ วางอยู่บนใจกลางผืนผ้าแคนวาส คือลายเซ็นอันใหม่ของนักวาดภาพประกอบชื่อดังอย่าง ซันเต๋อ – ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล

จากนักวาดภาพประกอบผู้บุกเบิกคาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนหัวโต น่ารัก สดใส เรียกได้ว่าถ้าย้อนกลับไปสัก 5 ปีที่แล้ว เราสามารถพบเห็นเหล่าการ์ตูนของเขาแฝงตัวอยู่ตามสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่เคสโทรศัพท์มือถือ ยันสินค้าคอลเลคชั่นพิเศษ

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ชื่อของ SUNTUR ก็เงียบไป เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาลาออกจากวงการโฆษณา เปลี่ยนโหมดชีวิต พกเงินไปหนึ่งก้อนและเดินตามอิสรภาพสู่มหานครนิวยอร์ก

ซันเต๋อ - ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล

ซันเต๋อ - ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล

2 ปีครึ่งในนิวยอร์กทำให้เขาพบพานความรู้สึกแห่งยุคสมัยที่เรียกว่าความเหงา ก้อนความรู้สึกเล็กๆ ที่ปลุกความเป็นลูซเซอร์ในตัวเขาขึ้นมา

ทว่าประสบการณ์ที่นิวยอร์กมอบให้ กลับทำให้เขาค้นพบเฉดสีใหม่ที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง เป็นเฉดสีที่ช่วยระบายความคิดความรู้สึก รวมถึงตัวตนของเขาได้กระจ่างขึ้น

วันเวลาของอาร์ทิสต์ค่อยๆ ฉานฉาย นักวาดภาพประกอบหนุ่มกลับมาพร้อมสไตล์การวาดรูปแนวใหม่ ที่จุดประกายให้คนเสพออกท่องไปกับจินตนาการอันกว้างไกล

101 อดไม่ได้ที่จะขอให้เขาละมือจากฝีแปรงชั่วครู่ เพื่อมาสนทนากันว่าเพราะเหตุใด ชายหนุ่มที่นิยามว่าตัวเองเป็นคนที่เคยเพลย์เซฟ ถึงกล้าพาตัวเองออกจากเซฟโซนไปสู่พรมแดนใหม่ และทำไมเขาวันนี้ถึงต้องขอบคุณตัวเขาในอดีต

ซันเต๋อ - ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล

ทำไมถึงเลือกไปนิวยอร์ก

ตอนนั้นเราทำงานมาได้ห้าปี ก็มีความคิดเหมือนคนทั่วไปเลยคืออยากลองไปอยู่ต่างประเทศดู อยากมีอิสระกับเขาดูบ้าง สุดท้ายเราเลยตัดสินใจลาออก ที่เราเลือกไปนิวยอร์กเพราะ หนึ่งมันเป็นเหตุผลที่ดีในการจะออกจากงาน ทั้งกับการบอกเจ้านายและบอกตัวเอง ว่าเราไม่ได้ออกเฉยๆ นะ เราออกเพื่อไปหาประสบการณ์ใหม่ (หัวเราะ)

สองคือเรามีเพื่อนอยู่ที่นั่น และสุดท้ายคือนิวยอร์กเป็นเมืองที่ไม่มีวันหลับ ซับเวย์วิ่งตลอด 24 ชั่วโมง มีงานศิลปะดีๆ จากทั่วทุกมุมโลกมาจัดแสดงตลอดเวลา เป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางงานศิลปะ ไม่ว่าจะมีงานชิ้นไหนเขาก็จะเอามาลงที่นี่ มันเป็นที่ที่เปิดโอกาสให้เราได้เห็นงานของศิลปินระดับโลก ถ้ารอดูที่ไทยคงไม่มีวันได้ดูแน่ๆ

 

ตอนนั้นคาดหวังกับการไปใช้ชีวิตใหม่แค่ไหน

เอาจริงๆ เราใช้ชีวิตชิลมากเหมือนกันนะ เราคิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่ได้ต้องการอะไรจากมันเยอะ เราอยากให้เป็นช่วงเวลาที่เราได้ไปเรียนรู้ ได้ไปใช้ชีวิต ได้ไปเห็นอะไรเยอะๆ แล้วเก็บมาใช้ แล้วเราก็ได้มาจริงๆ

แต่ถ้าถามว่า แล้วมันมีความสุขตลอดเวลาไหม ก็ไม่ เราเชื่อว่าคนไปอยู่ที่นั่นมันจะมีความเศร้า ความเหงาเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ สมมติเรื่องเพื่อน ที่ไทยเรามีอยู่ร้อยคน แต่พอไปอยู่นิวยอร์กมันเหลือแค่สิบคน มันบังคับให้เราต้องรู้จักกัน

ช่วงแรกที่อยู่ที่นั่นเรารู้สึกเป็นลูซเซอร์เลยเว้ย อยู่เมืองไทยเรามีคนรู้จัก มีงาน แต่ไปอยู่ที่โน่นคือเราเป็น no one เอาจริงๆ อาจยิ่งกว่า no one อีก เราเป็นเอเชีย ไม่มีใครสนใจเราหรอก ไอ้ความที่คิดว่าตัวเองเก่ง พอไปถึงนิวยอร์กมันพังจนไม่เหลืออะไรเลย กูไม่ใช่คนเก่ง กูเป็นลูซเซอร์แบบสุดๆ เราคิดอย่างนั้นจริงๆ นะ

แต่สุดท้ายเราก็คิดได้ว่า ไม่เป็นไร อุตส่าห์มาถึงที่นี่แล้ว กูจะลองใช้ชีวิตแบบลูซเซอร์ดู เท่าที่กูจะไหว เพราะมันไม่มีอะไรจะเสียแล้ว มันเหมือนเราได้ย้อนกลับไปตอนที่เริ่มทำงานใหม่ ออกไปดูโน่นดูนี่ ใช้ชีวิตให้สนุกพอ

ตลอดเวลาที่เราอยู่นิวยอร์ก เราได้ไปเห็นอะไรเยอะขึ้น สมมติถ้าเราจะวาดคน เราเป็นคนเอเชียเราก็วาดแนวนี้มาตลอด แต่เราไม่เคยคิดเลยว่าวันนึงเราจะวาดคนผิวสี วาดคนใส่เสื้อหนาว หรือวาดฉากที่หิมะตกในงานของเรา การที่เราพาตัวเองออกไปดูเยอะ มันช่วยให้เราได้เห็นความหลากหลาย แล้วข้อมูลพวกนี้มันเข้ามาอยู่ในหัวเรา แบบไม่ได้คิดว่าต้องจำเพื่อไปวาดนะ แต่เหมือนเก็บใส่ลิ้นชักของเราไว้ แล้ววันไหนที่เราจะวาด เราก็แค่ดึงสิ่งที่เราเห็นออกมาใช้

จากแค่อยากหาประสบการณ์ ทำไมถึงเข้าสู่โลกเพนท์งานเต็มสูบ และกลับมาจัดนิทรรศการด้วย

ตอนแรกเราก็ไปเรียนคอร์สภาษาทั่วไป แต่หลังจากนั้นเราเปลี่ยนไปลงเรียนศิลปะ มันมีโรงเรียนศิลปะที่ชื่อว่า Pi Art Center เป็นโรงเรียนศิลปะที่ไม่ได้ให้ปริญญาหรือใบรับรองอะไรเลย แต่เขาให้วีซ่าให้เราอยู่นิวยอร์กต่อได้ เราเลยมาลงเรียนเพนท์ติ้งที่นี่ จำได้เลยว่าเขาไม่สอนอะไรเราเลย เขาปล่อยให้เราได้ทำเอง มีสตูดิโอรวมไว้ให้นั่งทำงาน ตอนนั้นเราเริ่มชอบการเพนท์ติ้งแล้ว บวกกับตัดสินใจแล้วด้วยว่าจะมาจัดนิทรรศการที่ไทย ก็คือนิทรรศการ ‘Zero decibel’ ช่วงเวลานั้นก็จะหมดไปกับการเพนท์ติ้งงานของตัวเอง

แต่ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นคนที่เพนท์งานบนผ้าแคนวาสบ่อยๆ ปกติงานภาพประกอบที่ผ่านมาจะเป็นการวาดในกระดาษก่อน แล้วไปรีทัชในคอมพิวเตอร์ แต่การวาดภาพบนแคนวาสมันอิดิทไม่ได้ ถ้าทำผิดเราก็ต้องแก้ในนั้นเลย และต้นทุนของค่าอุปกรณ์ก็สูงมาก เฟรมไม้ชิ้นนึงราคาหลายพันบาท แล้วเราเป็นคนใช้ของดีหมด เพราะไม่รู้ว่าตัวเองฝีมือดีหรือเปล่า ก็เลยลงทุนกับอุปกรณ์ ถ้ามันไม่ดีจะได้ไม่ต้องโทษอย่างอื่นแล้ว โทษแค่ตัวเอง (หัวเราะ) ฉะนั้นพอมันแพงหมดทุกอย่าง เราเลยตั้งใจมาก เราจะไม่ทำเฟรมนี้เสียเด็ดขาด เพราะการทำเสียเท่ากับเราต้องทิ้งเฟรมนี้ไปเลย

เราโคตรตั้งใจกับนิทรรศการนั้น กูให้แบบเต็มที่ เดินไปซื้อเฟรมเอง แบกขึ้นซับเวย์ แบกไปที่สตูดิโอทำงาน เพราะมันเป็นพื้นที่ส่วนรวม ถ้าเราทำไม่เสร็จ เราทิ้งอุปกรณ์เละเทะไว้ไม่ได้ สมมติเราเหลือเวลาทำงานอีกแค่สองชั่วโมง ต้องรีบเก็บของให้เสร็จก่อนจะมีคนอื่นมาใช้ต่อ เก็บเสร็จก็ยกเฟรมขึ้นซับเวย์กลับบ้าน วันไหนที่อากาศหนาว วันนั้นเราจะสงสารตัวเองมาก

ซันเต๋อ - ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล

แล้วเคยมีโมเมนท์แบบว่า พอ หยุด ไม่ทำแล้วบ้างไหม

ไม่มีครับ จะมีแค่ว่า พอแล้ว ไปนอนก่อน แต่ตื่นมากูก็ต้องทำใหม่ ก็ต้องวาดใหม่ ไม่มีโมเมนต์ว่าพอแล้ว เลิกวาดรูป ไม่เคยคิดเลย เพราะคิดเสมอว่ากูจะวาดจนกว่ากูตายอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด เราทิ้งมันไม่ได้

ดูท่าตอนนี้กำลังหลงเสน่ห์การวาดภาพบนแคนวาสอย่างเต็มเปา

ใช่ครับ (หัวเราะ) อย่างงานภาพประกอบทั่วไป เรารู้อยู่แล้วว่ามีโจทย์แบบนี้ เราก็ทำไปจนกว่าลูกค้าจะพอใจ จบงานกูได้เงิน แต่อันนี้มันไม่มีลูกค้า เราเป็นคนคิดเองว่าควรจะจบงานได้หรือยัง บางรูปแก้เป็นเดือนเลยก็มี วาดเสร็จตอนแรกก็ชอบแล้วนะ แต่พอมานอน ตื่นขึ้นมา ไม่ได้ว่ะ ต้องกลับมานั่งแก้จนเราพอใจ

มีงานชิ้นนึงที่เราชอบมาก ชื่อภาพว่า “i’m coming home” เราวาดภาพนี้ตอนตัดสินใจจะกลับมาเมืองไทย เป็นภาพนกบินกลับบ้านโดยที่ในปากคาบปลาไว้ตัวนึง ตอนที่วาด เรานึกถึงตัวเราเองว่า ถึงเวลาทิ้งอิสระที่เคยได้ ถึงเวลาที่ต้องกลับบ้าน กลับมาดูแลพ่อแม่ของเราได้แล้ว แต่เราต้องไม่กลับไปมือเปล่า

ซันเต๋อ - ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล

ยุคหนึ่งงานของคุณเป็นงานน่ารัก สดใส ใกล้ และเก็บรายละเอียด แต่มาวันนี้มันกลายเป็นอีกแบบ ความคิดเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนี้คืออะไร

อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมีมันก็ได้’ หลังๆ มานี้ เราจะคิดแบบนี้กับทุกอย่างในชีวิต เราซื้อเสื้อผ้าน้อยลง เวลาจะซื้อทีก็คิดว่ามันจำไปไหมวะ เน้นสีเรียบๆ มากขึ้น หรืออย่างเสื้อฮาวายก็อาจจะไม่จำเป็นสำหรับเราแล้วในตอนนี้ แต่ก็ยังมีบ้างที่ซื้ออะไรไม่จำเป็นอยู่ (หัวเราะ) แล้วถ้าพูดถึงตัวงาน เรารู้สึกว่าทุกอย่างที่เราใส่ในงานเพราะมันจำเป็น และมันพอแล้ว

เราไม่จำเป็นต้องวาดเยอะๆ ก็ได้ จะโชว์สกิลเหรอ ไม่จำเป็น ไม่ได้ทำให้ภาพสวยขึ้นมา เรารู้สึกว่างานทุกชิ้นของเราตอนนี้มีปรัชญาซ่อนอยู่ ในรูปที่เหมือนจะไม่มีอะไร เหมือนจะวาดน้อยมาก แต่ว่าจริงๆ มันมีความคิดหรือสิ่งที่เราใส่เข้าไปอยู่ในงานเสมอ สำหรับเราแค่นี้มันพอแล้ว มันเล่าเรื่องแล้ว

ซันเต๋อ - ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล

ในขณะที่คนอื่นพยายามหาเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่คุณเลือกทิ้งมันและสร้างอันใหม่ขึ้นมา ไม่กลัวคนจำไม่ได้เหรอ

เรากลัวนะ เมื่อก่อนเราจะวาดหัวโต ตา จมูก มีเส้นชัดๆ แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง เรารู้เลยว่าถ้าเรายังวาดแบบเดิมต่อไป เราทำเพราะอยากได้ตังค์ ไม่ได้ทำเพื่อความภูมิใจของเราเลย จำได้เลยว่าเราเคยเสนองานแบบใหม่ไป ลูกค้าตอบกลับมาว่า “อันนี้มันไม่ใช่ซันเต๋อ” ตอนนั้นก็คิดเลยนะ มันจะไม่ใช่งานกูได้ยังไง ก็กูวาด (หัวเราะ)

ช่วงแรกจะเป็นอย่างนี้ เพราะคนไม่ชินว่าเป็นงานเรา ทุกอย่างต้องใช้เวลา ถามว่าเสียดายไหมที่ต้องทิ้งงานเก่าไป เราไม่เสียดาย เพราะเรารู้สึกว่างานสไตล์นั้นไม่ได้จำเป็นกับชีวิตเราอีกแล้ว กูทิ้งได้ กูไปทำอะไรที่กูอยากทำดีกว่า พอหลังๆ มานี้คนก็จำงานใหม่เราได้ ถ้าเราเชื่อว่างานชิ้นใหม่มันดีและทำมันอย่างเต็มที่ ต่อให้วาดแบบใหม่มาเลย ยังไงก็ต้องมีคนชอบมัน แต่ก่อนที่คนจะชอบ เราต้องชอบมันก่อน ไม่งั้นเราจะวาดไปเพื่อเงินอย่างเดียว แต่จะไม่ได้ภูมิใจกับมันเลย ฉะนั้นเราเลยไม่เสียดาย

ไม่ว่าจะงานแบบไหนก็ล้วนเป็น ‘ซันเต๋อ’ ทั้งหมด ?

มันเหมือนเด็กคนหนึ่งที่ยังไงก็ต้องโตขึ้น เด็กคนนั้นไม่สามารถแต่งตัวแบบเดิมได้ตลอดเวลา ช่วงเวลานั้นมันคงเหมาะกับการแต่งตัวแบบนั้นที่สุดแล้ว แต่ตอนนี้มันผ่านมาสิบปีแล้ว จะให้กลับไปแต่งแบบนั้นก็คงไม่ได้ เราก็เป็นตัวเราคนใหม่ แล้วเรารู้สึกว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่งเราเคยทำให้คนยุคนั้นหันมาวาดรูปตามเราได้ เวลาดูในอินสตาแกรมก็จะเห็นคนวาดแนวๆ เดียวกันกับเรา แต่ตอนนี้ไม่มีใครวาดแล้ว เพราะมันเลยยุคนั้นมาแล้ว (หัวเราะ)

แล้วงานที่ดีสำหรับคุณเป็นยังไง

งานที่ดีสำหรับเรา ต้องทำให้คนดูงานรู้สึกอะไรสักอย่าง จะรู้สึกว่ามันสวยมากจนหยุดมองไม่ได้ก็ได้ หรือได้ความคิดอะไรกลับไปจากภาพ โดยส่วนตัวถ้าทำได้ถึงขนาดนี้จะมีความสุขมาก เพราะวาดให้สวยก็วาดได้ วาดให้เหมือนก็วาดได้ แต่วาดให้คนรู้สึกตามไปกับภาพอันนี้ยากมาก

ซันเต๋อ - ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล

เคยลองแอบคิดไหมว่าอีก 10 ปีข้างหน้า สไตล์วาดรูปของคุณอาจจะเปลี่ยนอีก

คิดว่าเปลี่ยน ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปยังไง แต่เราว่ามันจะเปลี่ยน อาจเป็นเพราะเราเป็นคนไม่ยึดติด ไม่จำเป็นที่เราจะต้องวาดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต เพราะเราคิดเสมอว่าอยากจะพัฒนาตัวเอง ถ้าเราวาดแนวเดิมไปสิบปีเราก็เบื่อ คนอื่นอาจจะทำได้ ยิ่งวาดยิ่งอยากเก็บสไตล์ไว้ แต่สำหรับเรา ถ้าเมื่อไหร่มันเบื่อเราต้องหาทางไปต่อ เราไม่อยากยึดติดกับสไตล์ว่าวันนี้ต้องวาดอย่างนี้ ก่อนหน้านี้เราก็วาดสีน้ำ ตอนนี้ก็ชอบวาดด้วยสีอะคริลิค ต่อไปอาจเป็นสีน้ำมันก็ได้ใครจะไปรู้

แล้วเห็นภาพตัวเองอย่างไรในอนาคต

ภาพตอนแก่ของเราเหรอ เราว่าเราคงไม่ได้รับทำภาพประกอบแล้ว คงจะนั่งเพนท์รูปอยู่ที่บ้าน แล้วให้คนที่อยากซื้อผลงานเราเข้ามาซื้อ เราว่าตอนนั้นเราคงสู้เด็กๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะธรรมชาติของงานภาพประกอบ จะมองหาความใหม่อยู่ตลอดเวลา เช่น ถ้าไปลงหนังสือแล้วลูกค้าพูดว่า ‘คนนี้ใช้เยอะแล้ว’ เขาก็ต้องหาลายเส้นใหม่ แต่สำหรับงานเพนท์ติ้ง นอกจากความใหม่ เขายังมองหาความขลังของศิลปิน ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งผ่านประสบการณ์เยอะ งานยิ่งแพง เราคิดว่าวันหนึ่งถ้าเป็นไปได้ เราคงเป็นศิลปินที่นั่งวาดรูปอยู่ในบ้าน แล้วให้คนเข้ามาดูงานในสตูดิโอของเรา ถ้าเป็นได้นะ (ยิ้ม)

 

สมมติว่าย้อนเวลากลับไปหาซันเต๋อในยุคที่วาดการ์ตูนน่ารักสดใสได้ มีอะไรอยากจะบอกกับเขาไหม

จริงๆ น่าจะไปขอบคุณมากกว่า ขอบคุณมากที่เคยวาดแอ๊บแบ๊วขนาดนั้น (หัวเราะ) ขอบคุณที่ขยันมากๆ ในตอนนั้น เพราะถ้าตอนนั้นเราไม่ได้ขยันมากขนาดนั้น เราก็คงต้องมาเหนื่อยตอนอายุเท่านี้ ขอบคุณที่มึงทำให้กูหมดแล้ว ตอนนี้กูอยู่ในจุดที่กูพยายามเลือกงานให้ตัวเอง อย่างเมื่อก่อนใครเข้ามารับหมดเลย ทำยังไงก็ได้ให้ผลงานเราออกมาเยอะที่สุด

จำได้ว่าเราเคยรับโปรเจคหนึ่ง ทำ MV ที่เป็นรูปวาด ตอนนั้นทำอะไรไม่เป็นเลย ทำแอนิเมชั่นไม่ได้ ต้องให้เพื่อนช่วยทำแอนิเมชั่นให้ เราก็วาดๆ ไป เวลาก็น้อยมาก ตอนนั้นเราเครียดจนกินข้าวไม่ได้เลย ใจสั่นแบบตึกๆ เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่า ทำไมเพลงแค่สี่นาทีถึงยาวนานขนาดนี้ เป็นอารมณ์ที่ถามตัวเองเลยนะว่ากูกำลังทำอะไรอยู่วะ แต่กูรับมาแล้ว ยังไงก็ได้ต้องทำให้มันจบเร็วที่สุด

ถ้าเลือกได้ เราไม่อยากเอาตัวเองไปอยู่ในจุดนั้นแล้ว จุดที่ตื่นเต้น กดดัน แต่ตอนนั้นเราต้องทำเพราะมันเป็นการพยายามสร้างโอกาสให้ตัวเอง แต่ตอนนี้ก็พยายามเลือกงานมากขึ้น ถ้างานไหนที่เราไม่อยากทำจริงๆ เราลองเรียกเงินก่อน ถ้าเงินมันคุ้มที่ทำ ก็จะทำ แต่ถ้าเขาสู้ไม่ไหวเราก็จะไม่เสียใจ เพราะว่าทำไปมันก็ไม่สบายใจ

เราอยากได้ความสบายใจด้วย งานอาจไม่ต้องเยอะมากแต่เป็นงานที่มีคุณภาพ และเราได้โฟกัสงานนั้นจริงๆ น่าจะดีกว่า แต่ก็ยังรับงานอยู่นะครับ ยังติดต่อเข้ามาได้ เงินก็ยังต้องใช้อยู่ (หัวเราะ)

ซันเต๋อ - ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save