fbpx

San Francisco: เอไอ พลังงานสะอาด และอนาคตที่เป็นดิสโทเปีย

เห็นอนาคตโลกที่ซานฟรานซิสโก

ว่ากันว่า ใครอยากเห็นอนาคตก่อนคนอื่นให้ไปเยือนเมืองซานฟรานซิสโก เพราะนี่คือเมืองที่ก้าวหน้ามากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี

แล้วอนาคตแบบไหนที่เราเห็นที่ซานฟรานซิสโกในปี 2023

สำหรับผู้เขียนที่เพิ่งมีโอกาสได้ไปเยือน สิ่งที่เป็นจุดสังเกตมากที่สุดคือ ป้ายโฆษณาใหญ่ในเมืองที่เห็นได้ชัดระหว่างนั่งรถ ซึ่งมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ระหว่างทาง และป้ายโฆษณาดิจิทัลตามสนามบิน เท่าที่เห็นด้วยตา 70-80% ของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ทั้งแบบอนาล็อกและดิจิทัลจะโฟกัสอยู่เพียงแค่ 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ เอไอ (Artificial Intelligence) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) และพลังงานสะอาด

ไม่ใช่แค่ป้ายโฆษณาเท่านั้น ธุรกิจบริการจำนวนมากก็ต้องคอยบอกกล่าวกับผู้บริโภคโดยตรงว่า บริการที่พวกเขากำลังได้รับอยู่นั้นปล่อยคาร์บอนแค่ไหน ใช้พลังงานสะอาดแล้วหรือไม่ หากบริการไหนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เช่น อินเทอร์เน็ตในโรงแรม ก็ต้องคอยบอกย้ำให้ลูกค้ามั่นใจว่า พวกเขากำลังได้รับการปกป้องจากภัยไซเบอร์อย่างเต็มที่

สำหรับคนที่อยู่ในย่านดาวน์ทาวน์ รถยนต์ไร้คนขับกลายเป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวันที่สามารถเห็นได้ทุก 15-20 นาที ในยามค่ำคืน ใครที่เป็นคนต่างถิ่นและไม่คุ้นเคยกับนวัตกรรมประเภทนี้ ก็อาจเผลอตกใจเมื่อต้องเห็นรถยนต์ที่ไม่มีทั้งคนขับและคนนั่ง ขับมาจอดตรงสี่แยกที่กำลังรอข้ามถนน

พลังงานสะอาดเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เมืองซานฟรานซิสโกนำมาใช้อย่างจริงจัง ‘รถราง’ (cable car) ที่วิ่งมาตั้งแต่ปี 1873 และเป็นสัญลักษณ์ของเมืองซานฟรานซิสโกที่ยังมีการใช้งานเชิงอนุรักษ์ ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ระบบขนส่งมวลชนหลัก เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า และเรือโดยสารก็เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนกว่า 90% แล้ว และรัฐบาลท้องถิ่นคาดว่าจะเปลี่ยนไปใช้พลังหมุนเวียนได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2025

ไม่ใช่แค่พลังงานสะอาดเท่านั้น เมืองซานฟรานซิสโกยังลงทุนกับระบบการจัดการน้ำเสียให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสุดๆ ทั้งการลดการปล่อยคาร์บอนและการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวได้ว่า สิ่งล้ำๆ ที่หลายคนเคยอ่านในหนังสือ เราสามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้จริงที่เมืองซานฟรานซิสโก

“ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องปกติของซานฟรานซิสโกและแคลิฟอร์เนียร์ พวกเราเปิดรับสิ่งใหม่และพยายามที่จะอยู่หัวขบวนของการเปลี่ยนแปลงเสมอ เท่าที่ผมจำได้ เมืองนี้ล้ำกว่าที่อื่นๆ ตั้งแต่ที่เราเป็นหัวขบวนในวัฒนธรรม LGBTQ ในช่วงทศวรรษ 1970 และยิ่งโดดเด่นมากขึ้นเมื่อบริษัทเทคโนโลยีอย่างอินเทล กูเกิล และแอปเปิลถือกำหนด ถ้าคุณไปถามนักท่องเที่ยวที่มาเยือนที่นี่ นอกจากจะไปสะพานโกลเดน เกตและคุกอัลคาทราซแล้ว ทุกคนก็มีแพลนอยากไปเที่ยวกูเกิลกับแอปเปิลกันทั้งนั้น” ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียที่อยู่ซานฟรานซิสโกมาตลอดเกือบ 50 ปีกล่าว

เดาได้ไม่ยากนักว่า ซานฟรานซิสโกและย่านโดยรอบเป็นเมืองที่เศรษฐกิจดีติดอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา ข้อมูลจาก U.S. Bureau of Economic Analysis (BEA) ชี้ว่า ในปี 2021 เศรษฐกิจซานฟรานซิสโกและย่านโดยรอบมีมูลค่าสูงถึง 236 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 289,900 เหรียญสหรัฐฯ นับเป็นเมืองที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดเป็นอันดับสามในสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะเลือกซานฟรานซิสโกเป็นสถานที่ในการจัดประชุมเอเปค 2023 ภายใต้ตีม Innovation, Sustainability, Inclusivity เพราะเมืองแห่งนี้มี ‘โชว์เคส’ ที่ตอบโจทย์ทั้งครบทุกด้าน

ความเงียบที่ซ่อนอยู่ในซานฟรานซิสโก

แม้จะคึกคักด้วยโฆษณาและแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ภาพย้อนแย้งที่เกิดขึ้นคือ ย่านใจกลางเมืองของซานฟรานซิสโกกลับเงียบเหงาเป็นอย่างมาก ไม่มีความคึกคักใด ร้านรวงส่วนใหญ่ปิด และติดป้ายขายหรือให้เซ้งต่อ

ขนาดไชน่าทาวน์ที่ปกติแล้วอยู่ในเมืองไหนก็คึกคัก กลับเงียบเหงาในซานฟรานซิสโกอย่างน่าประหลาดใจ

“นี่ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น เมืองซานฟรานซิสโกร้างมาพักใหญ่แล้ว ยิ่งมาเจอกับโควิด-19 ยิ่งแย่มากเลย ขนาดคนจีนในไชน่าทาวน์ยังย้ายออกเลย” เจ้าของร้านขายอาหารเวียดนามในไชน่าทาวน์ตอบคำถาม เมื่อถูกถามว่าช่วงนี้ทำไมเมืองถึงดูเงียบเหงาเช่นนี้

ความเห็นของคนขายเฝอถูกยืนยันด้วยข้อเท็จริงทางสถิติ ซึ่งชี้ว่า ซานฟรานซิสโก เป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดเมืองหนึ่งในสหรัฐอเมริกา โดยระหว่างปี 2019-2021 อัตราการว่างงานในเมืองสูงถึง 6.4% โดยคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนที่ทำงานในภาคบริการ

แม้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะกลับมาเติบโตอย่างร้อนแรงหลังโควิด แต่ข่าวร้ายมีอยู่ว่า ซานฟรานซิสโกเป็นหนึ่งในเมืองที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าที่สุดในประเทศ โดยฟื้นตัวกลับมาได้ราว 30% เท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

คนขายเฝอไม่ได้แลกเปลี่ยนแค่ข้อมูลของเมืองเท่านั้น หากแต่ยังเตือนแขกผู้มาเยี่ยมเยือนว่า ให้ระมัดรังในการเดินในเมืองยามกลางคืน เพราะเริ่มมีการปล้นและชิงทรัพย์ถี่ขึ้นจากกลุ่มคนไร้บ้านที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของเมืองไปแล้ว

หากดูด้วยตา คนไร้บ้านในย่านดาวน์ทาวน์ซานฟรานซิสโกแทบจะมีอยู่ทุกแยกถนน แต่จะเห็นได้เยอะเฉพาะในช่วงหลังข้าวเย็นเท่านั้น

งานวิจัยของ มาร์กอต คุตเชล (Margot Kushel) แห่ง University of California ชี้ว่า สหรัฐอเมริกามีคนไร้บ้านราว 171,000 คน ซึ่งทำให้ปัญหาคนไร้บ้านกลายเป็นปัญหาระดับชาติ แต่ในบรรดาทั้งหมดนี้คนไร้บ้านในแคลิฟอร์เนียคิดเป็นประมาณ 30% ของคนไร้บ้านทั้งหมด และจำนวนมากอาศัยอยู่ในดาวน์ทาวน์ซานฟรานซิสโก ในขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่าง Sam Francisco Chronicle รายงานว่า คนไร้บ้านในซานฟรานซิสโกอาจมีจำนวนมากถึง 20,000 คน

ข้อค้นพบที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ คนไร้บ้านประมาณครึ่งหนึ่งในซานฟรานซิสโกไม่ใช่คนว่างงาน หากแต่เป็นคนทำงานในภาคบริการที่ทำงานอย่างหนักและขยันขันแข็ง แต่ปัญหาคือ รายได้ของพวกเขาไม่เพียงพอต่อการเช่าบ้านในเมืองแห่งนี้ กล่าวคือ หากต้องการเช่าบ้าน (ห้องขนาดเล็ก) เพื่ออยู่ในซานฟรานซิสโก ครัวเรือนหนึ่งควรจะต้องมีรายได้อย่างน้อย 1,400 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน โดยที่ค่าเช่าจะคิดเป็นประมาณ 700-800 เหรียญสหรัฐฯ แต่คนครัวเรือนไร้บ้านในซานฟรานซิสโก มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 960 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ คนไร้บ้านอีกครึ่งหนึ่งที่มีปัญหาในการทำงานนั้นไม่สามารถหางานทำได้ด้วยเหตุผลด้านความสามารถและอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้ในระยะยาวคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะใช้ยาเสพติด มีปัญหาสุขภาพจิต และการก่ออาชญากรรม

อนาคตที่เป็น ‘ดิสโทเปีย’

ปัญหาคนไร้บ้านในซานฟรานซิสโก แยกไม่ออกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำระดับโลก และโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีเทคโนโลยีเป็นพลังขับเคลื่อน

การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำที่สุดในโลกส่งผลให้ซานฟรานซิสโก (และเมืองรอบๆ) ดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากทั่วโลกเข้ามาอยู่ในเมือง แรงงานเหล่านี้ทำงานในบริษัทชั้นนำ ได้ค่าตอบแทน และมีกำลังซื้อที่สูงมาก และกลายเป็นแรงผลักสำคัญให้ค่าเช่าบ้านภายในเมืองเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

แม้ในยามที่โควิด-19 ระบาด และเศรษฐกิจพื้นฐานของเมืองถดถอย แต่แรงงานทักษะสูงเหล่านี้กลับแทบไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจดิจิทัลและพลังงานสะอาดกลับเป็นภาคธุรกิจที่ขยายตัวได้ดีด้วยซ้ำ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถูกซ้ำเติมด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ตลอดทศวรรษ 2010s การเติบโตทางเศรษฐกิจของซาน ฟรานซิสโกนับว่ามีความครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเป็นเมืองที่มี ‘inclusive growth’ เป็นอันดับ 4 จาก 192 เมืองทั่วสหรัฐฯ ตลอดปี 2010-2019 ตามการจัดลำดับของ Brooking Institute

เรื่องนี้สะท้อนว่า ยิ่งเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เท่าไหร่ ความเปราะบางที่เกิดก็อาจจะยิ่งสูงมากเท่านั้น

นี่เป็นโจทย์ที่ต้องขบคิด

ไม่ใช่แค่เฉพาะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย


หมายเหตุ: การเดินทางครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าร่วม Foreign Press Center Security and Economic Prosperity in the Indo-Pacific Region reporting tour 2023 ซึ่งสนับสนุนโดย Foreign Press Center, US Department of State อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีอิสระอย่างเต็มที่ในการเลือกนำเสนอเนื้อหาและความคิดเห็น และไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับผู้สนับสนุนแต่อย่างใด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save