fbpx
“แรงงานต้องออกมาสู้เพื่อชนชั้นตัวเอง” ศรีไพร นนทรีย์

“แรงงานต้องออกมาสู้เพื่อชนชั้นตัวเอง” ศรีไพร นนทรีย์

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพถ่าย

 

 

‘แรงงาน’ เป็นคนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากจากวิกฤตโควิดต่อเนื่องมาถึงปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะที่กิจการจำนวนมากต้องปิดตัว ทำให้เกิดการเลิกจ้าง ลดวันทำงาน ยกเลิกโอที หรือปลดพนักงานบางส่วน สร้างความเดือดร้อนโดยตรงยังกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้คนจำนวนมากตกงาน ส่งผลต่อไปถึงครอบครัวของพวกเขาที่ขาดรายได้

ในสถานการณ์เช่นนี้ กิจการที่มีสหภาพแรงงานยังสามารถสร้างอำนาจต่อรองระหว่างแรงงานกับนายจ้าง เพื่อลดผลกระทบของคนทำงาน และเพื่อไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมได้

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวในภาพใหญ่ของสังคม มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาคแรงงานบางกลุ่มได้เข้าร่วมเรียกร้องปัญหาสิทธิแรงงาน โดยยืนยันจุดยืนร่วมกับนักศึกษาว่า หนทางสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ของแรงงานและทุกคนในสังคมต้องเริ่มจากการเรียกร้องให้เกิดสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

101 พูดคุยกับ ศรีไพร นนทรีย์ เจ้าหน้าที่จัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) ถึงผลกระทบในชีวิตแรงงานที่เกิดขึ้นจากโควิดและสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ไปจนถึงการต่อสู้ของภาคแรงงานที่มีส่วนยึดโยงกับการเรียกร้องประชาธิปไตย

 

แรงงานในช่วงโควิด

อะไรคือปัญหาใหญ่ที่แรงงานเผชิญนับตั้งแต่เกิดโควิด จนมาถึงปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน

หนักที่สุดตอนนี้คือมีคนงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก พอโควิดมา แรงงานถูกสั่งหยุดงาน โดยใช้พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 ที่ให้จ่ายเงินเดือน 75% แล้วรัฐมนตรีหม่อมเต่า (ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล-อดีต รมว.แรงงาน) ไปเปิดช่องให้ฝ่ายนายจ้างเลิกจ้างชั่วคราว แล้วให้แรงงานไปใช้เงินประกันการว่างงานจากประกันสังคม 62%

เงินที่คนงานควรจะได้รับหายไปเยอะมาก ปกติค่าแรงรายวันพวกเราก็น้อยกันอยู่แล้ว หลายคนต้องเพิ่มการทำงานด้วยการทำโอที แต่พอยุคโควิดนอกจากค่าโอทีไม่ค่อยมีแล้ว ค่าจ้างที่ควรจะได้ก็น้อยลงไปอีก

เราไม่สามารถรู้ได้ว่าโควิดจะไปเมื่อไหร่ หลายธุรกิจในภาคบริการก็ปิดตัวไปพอสมควร คนงานถูกเลิกจ้างเยอะมาก แม้แต่คนงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือผลิตวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับเครื่องบินในย่านรังสิต ก็มีปัญหาเช่นกัน มีคนงานที่ถูกเลิกจ้างจากโรงงานซ่อมชิ้นส่วนเครื่องบินซึ่งนายจ้างเป็นชาวต่างชาติ เขายังไม่ปิดถาวรแต่จะต้องเลิกจ้างลูกจ้างหมดเลย เพราะเขาไปต่อไม่ไหว

 

ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้เข้าถึงการเยียวยาของรัฐไหม เข้าใจว่าส่วนใหญ่มีเงินประกันสังคมรองรับ

ใช่ค่ะ รัฐกู้เงินไปจากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่มาก คนที่ส่งเงินประกันสังคมก็พอได้เงินอยู่แม้จะไม่ถ้วนหน้า เช่น ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ก็ไม่ได้หมดทุกคน แล้วรัฐบาลอาจมองว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นั้นมีค่าจ้างอยู่ แต่มันมีช่องว่างว่าเมื่อถูกเลิกจ้างชั่วคราวแล้วไปรับเงินประกันสังคม 62% เขาก็ไม่ได้รับเงินเยียวยาอื่นเลย หลายคนมีภาระ มีครอบครัว มีลูกที่ต้องส่งเสียให้เรียน หรือว่าแรงงานข้ามชาติก็ถูกหักประกันสังคมเช่นกัน แต่เขาก็ไม่ได้สิทธิตรงนี้

 

ส่วนแรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบแค่ไหน

ส่วนใหญ่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโซนก่อสร้างหรือในภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกพิจารณาให้ออกจากงาน จากนั้นจึงเป็นซับคอนแทรค และพนักงานประจำ

แรงงานข้ามชาติมีปัญหาหนักพอสมควร ในหลายที่ไม่มีสหภาพแรงงานไว้คอยปกป้องเขาด้วย เราได้ไปช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติกลุ่มหนึ่ง ก่อนโควิดถูกนายจ้างโกงค่าจ้าง ไม่ได้เงินสักบาทเดียว กำลังจะฟ้องร้องกัน พอโควิดมา นโยบายรัฐมีการจัดการกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติเพราะกลัวจะเป็นตัวแพร่เชื้อ คนที่ไม่มีใบอนุญาตจะถูกผลักออกนอกประเทศหมด สิทธิต่างๆ ที่เขาควรจะได้ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้เลย แล้วเราก็ติดต่อเขาไม่ได้เลย เพราะเขากลัว ไม่รู้ว่าเขากลับบ้านไหม ถูกจับหรือเปล่า หรือไปหลบซ่อนกันอยู่ที่ไหน

 

เข้าใจว่าแรงงานข้ามชาติไม่สามารถรวมตัวกันในลักษณะสหภาพได้ แล้วมีกลไกอะไรช่วยคุ้มครองดูแลเขา

กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ระบุไว้ว่า แรงงานข้ามชาติสามารถเป็นสมาชิกสหภาพได้ แต่ไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานเองได้ และหลายสหภาพในประเทศไทยมีข้อบังคับที่ยังไม่ก้าวหน้ามากพอ เขากำหนดว่าสมาชิกสหภาพต้องเป็นคนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย จึงเป็นการปิดกั้นแรงงานข้ามชาติให้ไม่สามารถเข้ามาร่วมได้ แล้วแรงงานข้ามชาติเองก็ไม่สามารถก่อตั้งสหภาพแรงงานได้เอง เพราะกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เขียนไว้ว่าคนที่จะมาก่อตั้งต้องมีเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย

การรวมตัวของแรงงานข้ามชาติจะทำได้ รัฐบาลต้องเซ็นรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่จะทำให้คนงานและภาคประชาชนรวมตัวกันได้ง่ายกว่า ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนก็สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อเรียกร้องต่อรองได้ นอกจากต้องเซ็นอนุสัญญาแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ไม่ได้เปิดเรื่องการรวมกลุ่มหรือสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ไว้ ดังนั้นถ้าจะให้ดีรัฐธรรมนูญต้องถูกเปลี่ยนด้วย เพื่อรองรับการรวมกลุ่มหรือการเจรจาต่อรองให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จะทำให้ภาคประชาชนทุกหน่วยงาน ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มคนยากจน สามารถรวมกลุ่มเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหรือเจ้าของกิจการนั้นๆ ได้

 

สถานการณ์ตอนนี้แม้โรคระบาดคลี่คลายขึ้น หลายธุรกิจกลับมาเปิดแล้ว แต่สภาพเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานแค่ไหน

สภาพความเป็นจริงในปัจจุบันคนงานยังถูกเลิกจ้างอยู่เรื่อยๆ แม้จะเป็นครึ่งปีหลังที่โควิดเข้ามาแต่เรายังไม่มีวัคซีน และโควิดไม่ใช่โรคที่เกิดเฉพาะในประเทศไทย หลายโรงงานไม่สามารถส่งออกได้ วัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามาผลิตในไทยก็ไม่สามารถนำเข้ามาได้เพราะโรคระบาด

ปัญหาของโรคระบาดส่งผลกับคนงานในระยะยาว คิดว่าปีนี้ยังไม่เห็นแสงสว่าง ยังไม่เห็นว่าคนงานจะมีชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร การมีชีวิตดีขึ้นคือมีงานทำเป็นปกติ มีโอทีทำ ทุกอย่างเข้าสู่ระบบแบบเดิมก่อนโควิดมา ซึ่งก่อนโควิดจะมาเมื่อปีก่อนเศรษฐกิจก็ไม่ดี เริ่มมีการเลิกจ้างเกิดขึ้นแล้ว แต่จะให้เศรษฐกิจดีเลยนั้นต้องใช้เวลาฟื้นฟู ปีหน้าก็ยังไม่มั่นใจว่าชีวิตพวกเราจะดีขึ้นไหม

ที่สำคัญคือเด็กที่จะจบใหม่อีกเป็นแสนคนก็ต้องการงานทำ ปัจจุบันมีผู้ใช้แรงงานอายุเยอะจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้หางานทำยากมากยิ่งขึ้น ปีหน้าก็คงยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มาก ตราบใดที่รัฐบาลไม่คิดแก้ไขจริงจัง เท่าที่เห็นนโยบายที่ออกมามันเอื้อนายทุนทั้งหมด ไม่ได้พูดถึงลูกจ้างเลย พวกเราก็พยายามเรียกร้องกันว่าให้จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนในมาตรา 33 ด้วย เพราะเขาไม่ได้กินแค่ปากท้องเดียว ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเลย

 

แรงงานในช่วงโควิด

 

ในสภาพที่หลายบริษัทหรือโรงงานมีการเลิกจ้าง ลดเงิน หรือลดวันทำงาน สหภาพแรงงานมีบทบาทในการต่อรองมากแค่ไหน

องค์กรที่มีสหภาพแรงงานจะมีการต่อรองค่อนข้างสูง เท่าที่ทราบยังไม่ได้ยินว่าบริษัทไหนที่มีสหภาพแรงงานแล้วคนงานต้องไปรับเงินประกันสังคม 62% อย่างโรงงานแถวรังสิต นายจ้างจะใช้มาตรา 75 คือจ่ายเงิน 75% สหภาพแรงงานก็ไปต่อรองกับนายจ้างว่าให้ใช้มาตรา 75 แต่ส่วน 25% ที่หายไปขอให้ลูกจ้างได้ใช้วันหยุดพักร้อนหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์มาทดแทน ซึ่งโดยทั่วไปนายจ้างมักให้ใช้เป็นวันๆ ไป จะไม่มีการแบ่งเสี้ยวแบ่งเศษแบบนี้ บางโรงงานที่ทำงานเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง นายจ้างก็ช่วยจ่ายเงินเยียวยาให้ลูกจ้างเอง หัวละ 15,000 บาท

นอกจากนี้มีการพูดคุยกันเรื่องเลิกจ้างมากขึ้น บางสหภาพก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งได้ นายจ้างบางแห่งฉวยโอกาสช่วงโควิดทำลายสหภาพแรงงานด้วยการเลิกจ้างคณะกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน เรื่องนี้เกิดขึ้นที่สระบุรี แม้ว่าโรงงานอาจได้รับผลกระทบอยู่บ้างแต่ไม่ได้เจ๊ง ซึ่งเขามีแผนย้ายที่ตั้งโรงงานอยู่แล้ว และลูกจ้างยินยอมย้ายตามมาที่ใหม่ แต่ปรากฏว่านายจ้างเลิกจ้างทั้งหมด

บางสหภาพสามารถต่อรองให้ชะลอการเลิกจ้างได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดการเลิกจ้างได้จริงๆ เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ แต่ฝ่ายลูกจ้างก็มองว่านายจ้างมีกำไรสะสม หลายโรงงานใหญ่ได้กำไร 2,500-5,000 ล้านบาทมาโดยตลอด ทำไมเวลานี้ถึงไม่เอากำไรสะสมมาจุนเจือลูกจ้างหรือมาจุนเจือธุรกิจของตัวเองบ้าง คือไม่ควักออกมาเลย ไม่พูดถึงกำไรสะสมเลย พูดถึงแต่สถานการณ์ปัจจุบัน

 

จะสามารถพูดได้ไหมว่าในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ บริษัทที่มีสหภาพแรงงานจะช่วยปกป้องผลประโยชน์คนทำงานจนได้ผลออกมาดีกว่าบริษัทที่ไม่มีสหภาพ ให้ผ่านวิกฤตไปด้วยกันโดยที่บริษัทยังโอบอุ้มคนทำงานไว้อยู่

จริงๆ ก็ชัดเจนพอสมควร ถ้าเปรียบเทียบการเลิกจ้างระหว่างบริษัทที่มีกับบริษัทที่ไม่มีสหภาพแรงงาน อย่างโรงงานที่สระบุรีที่นายจ้างต้องการล้มสหภาพแรงงาน เขาไม่ได้จ่ายแค่ค่าชดเชยตามกฎหมายอย่างเดียว แต่จ่ายค่าเสียหายให้โดยที่ลูกจ้างไม่ต้องฟ้องอีก 28 เดือน ในขณะที่เรามีหลานทำงานโรงแรมแถวสุขุมวิท นายจ้างให้ออกโดยไม่ได้อะไรเลย ถ้าอยากได้ต้องไปฟ้องเอา อำนาจการต่อรองต่างกันมาก เราได้รับการร้องทุกข์เยอะมากว่าคนงานถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้อะไร ต้องพากันไปฟ้องร้องหรือไปเรียกร้อง และต้องช่วยบอกเขาว่าจะไปต่อรองกับนายจ้างอย่างไร

 

มองพลังของสหภาพแรงงานต่างๆ ที่มีอยู่ตอนนี้อย่างไร เพราะช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤต ส่วนใหญ่เสียงที่เราได้ยินในปัญหาแรงงานคือจากฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายนายทุน แต่สังคมไม่ได้ยินเสียงของแรงงานมากเท่าที่ควร

แรงงานต้องออกมาพูดมากขึ้น เวลาพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ เราจะรู้ว่าแรงงานถูกกระทำแต่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงนัก มันเชื่อมโยงกับการเมืองด้วย กระแสทางการเมืองตอนนี้เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นการเมืองตอนนี้ร้อนระอุมาก ประเด็นแรงงานก็ค่อนข้างตกไปพอสมควร ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แรงงานก็ต้องออกมาพูดเรื่องของตัวเองให้มากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ผู้ใช้แรงงานควรมาร่วมกับนักศึกษา ใช้เวทีเหล่านี้ส่งเสียงถึงปัญหาของตัวเอง จะกลายเป็นประเด็นให้กับรัฐบาลชุดนี้ได้คิดว่าจะต้องแก้ไขอะไร

รัฐบาลชุดนี้เคยพูดถึงเรื่องนโยบายค่าจ้าง เราก็ต้องติดตามว่าในเมื่อคุณสัญญากับประชาชนไว้แล้วว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลจะจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 400 บาท เราก็ต้องออกมาทวงสัญญา แต่แรงงานบางส่วนกลับมีพฤติกรรมส่งเสริมรัฐบาลแบบนี้ด้วย เราต้องแยกแยะกันให้ได้ว่าสิ่งไหนควรสิ่งไหนไม่ควร

 

มองขบวนการแรงงานในภาพรวมมีความตื่นตัวเรื่องการออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยกันแค่ไหน

ปัจจุบันสายแรงงานยังไม่เด่นชัดเท่าช่วง กปปส. ที่ขึ้นเวทีเป็นขบวนการชัดเจน ตอนนี้ที่ออกมามีเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและสมัชชาแรงงานแห่งชาติ แต่ยังไม่วงกว้างมากพอ การมีส่วนร่วมยังน้อยอยู่ ถ้าคนงานคิดว่าตัวเองมีปัญหาก็ควรออกมาพูดร่วมกัน มาชูป้ายในที่ชุมนุม มั่นใจว่านักศึกษาไม่ปิดกั้นอยู่แล้ว เป็นอิสระที่ทุกคนจะมาชูป้ายปัญหาให้รัฐบาลหรือผู้คนในสังคมรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตพวกเราบ้าง ถ้าทุกคนออกมาช่วยกันพูดคิดว่ารัฐบาลน่าจะให้ความสนใจและความสำคัญมากกว่านี้ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน

 

หากต้องพูดคุยกับกลุ่มแรงงาน จะอธิบายว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นผลบวกต่อการเรียกร้องสิทธิแรงงานอย่างไร

แรงงานต้องคิดว่าที่ผ่านมาคุณออกมาต่อสู้ทางการเมืองเพื่อชนชั้นตัวเองหรือออกมาเพื่อฝ่ายที่ปกครองเรา ถ้าคิดว่าออกมาเพื่อตัวเอง คุณก็สามารถจะก้าวออกมาได้ทุกเวลาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าชนชั้นปกครองจะเป็นใคร ดังนั้นในยุคนี้ก็เช่นกัน เราควรออกมาเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง เช่น ถ้าเรามองว่ารัฐธรรมนูญไม่ก้าวหน้า เป็นรัฐธรรมนูญที่กินไม่ได้ มีผลต่อเรื่องค่าจ้าง มีผลต่อเรื่องการนำเสนอกฎหมายของผู้ใช้แรงงาน ทำไมเราไม่ออกกันมา มันเกิดอะไรขึ้น เราจะออกมาเพียงเพราะผู้นำแรงงานบางคนพูดว่า เราต้องออกมาเพราะเรารักสถาบันฯ แค่นั้นเหรอ ตกลงคุณจะสู้เพื่อตัวเองหรือคุณจะสู้เพื่อใคร ถ้าจะสู้เพื่อตัวเองต้องพร้อมออกมาตลอดเวลาไม่ว่ารัฐบาลยุคไหน แล้วออกมาพูดเรื่องของตัวเองให้ชัด ไม่ใช่ออกมาแค่เป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น

 

ที่ผ่านมามีหลายสหภาพแรงงานออกมาสนับสนุนแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลดีกับพวกเขาเหล่านั้นยังไง

อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก เราเคยร่วมงานกับผู้นำแรงงานเหล่านั้นตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เราเคยพูดกันถึงเรื่องโรงเรียนการเมือง ปัญหาชนชั้น ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่พอมาถึงวันหนึ่งมันกลายเป็นการกลับคำ เป็นความเห็นแก่ตัวในการเอาลูกจ้างภาคเอกชนเป็นเครื่องมือสร้างฐานให้ตัวเองสู่เวทีทางการเมือง หลายคนทำงานสหภาพจนเกษียณแล้วไม่รู้จะทำอะไรก็เข้าสู่เวทีการเมือง อยู่ที่ว่าคนงานจะตามทันหรือไม่

สหภาพแรงงานเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ประชาธิปไตย กรรมการสหภาพแรงงานต้องถูกโหวตจากที่ประชุมใหญ่ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องใช้เสียงส่วนมาก ทุกคนเรียนรู้พื้นฐานเหล่านี้มา แต่กลับมาเป็นเครื่องมือให้เผด็จการ หรือเรียกเผด็จการมารัฐประหาร

นี่ไม่ใช่แค่เรื่องที่น่าเสียใจ แต่เป็นเรื่องที่น่าอับอายมากสำหรับการเรียกตัวเองว่านักสหภาพแรงงาน ไม่ใช่ว่าเขาเรียนรู้อะไรไม่ได้ แต่เขาเอาสิ่งที่เรียนรู้มาใช้เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง เพื่อเข้าสู่การทำงานระดับรัฐสภาเท่านั้น

 

แท็กซี่ช่วงโควิด

 

ข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิแรงงานของกลุ่มแรงงานที่สนับสนุนแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตรงกับข้อเรียกร้องของเราไหม

อันที่จริงหลายข้อตรงกัน เช่นการเรียกร้องให้ลงนามในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพียงแต่ว่าเขาเรียกร้องจริงจังไหม เวลารัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมเซ็นเขาก็ไม่เคยปริปากพูด หรือมีการเข้าสู่อำนาจแบบไม่ได้ใช้กระบวนการประชาธิปไตย เขาก็เลือกที่จะเงียบ จะปริปากพูดต่อเมื่อฝั่งตรงข้ามขึ้นมาเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าเขาทำเพื่อตัวเองเท่านั้น เขาไม่ได้นึกว่าคนงานจะได้อะไร โดยเฉพาะลูกจ้างเอกชนที่ส่วนใหญ่รับค่าจ้างรายวัน ในฐานค่าจ้างขั้นต่ำ หรือหากเขาจะพูดเรื่องโครงสร้างค่าจ้าง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ตอบสนอง เขาก็ไม่เคยออกมาพูด

เมื่อพูดถึงชนชั้นกรรมาชีพ ศัตรูที่แท้จริงคือชนชั้นศักดินา แต่แรงงานอีกกลุ่มกลับเลือกไปยืนเคียงข้างศักดินา กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มคน ไม่ใช่ผลประโยชน์ร่วมของคนหมู่มากหรือของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด เรามองไม่เห็นเลยว่าคนงานจะได้ประโยชน์อย่างไร แม้เขาจะพูดเรื่อง ILO หรือโครงสร้างค่าจ้าง แต่พฤติกรรมที่เป็นมันไม่ใช่ เพราะชนชั้นปกครองปัจจุบันกดแรงงานอย่างมหาศาล คุณเรียกเขาเข้ามาแล้วพอเขาทำไม่ถูกใจคุณออกมาไล่เขาไหม ก็เปล่าเลย หลายคนก็ไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงแรงงานด้วยซ้ำ ผู้นำไม่ได้จริงใจกับผู้ใช้แรงงานจริงๆ มองแค่ผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น

 

ข้อเรียกร้องของม็อบนักศึกษา เมื่อมองจากขบวนการแรงงานแล้วเห็นจุดร่วมอย่างไร

นักศึกษาแต่ละกลุ่มมีข้อเรียกร้องค่อนข้างแตกต่างกัน แต่สอดรับกันระดับหนึ่ง เรามองด้วยความชื่นชม นักเรียนนักศึกษากล้าหาญมากในการแสดงออก ถ้าข้อเรียกร้องของนักศึกษาสามารถสู้แล้วทำให้เป็นจริงได้ ชีวิตคนจนจะได้ลืมตาอ้าปากพอสมควร ผู้ใช้แรงงานก็เรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งรัฐต้องดูแลตั้งแต่ในท้องจนถึงเชิงตะกอน เงินที่จะมาดูแลเรามองถึงภาษีอัตราก้าวหน้า ซึ่งผู้ใช้แรงงานก็จ่าย คนจนก็จ่าย แต่ที่สำคัญคนรวยที่มีที่ดินว่างเปล่าเยอะแยะต้องจ่ายหนักเป็นพิเศษ แต่ปัจจุบันมีการละเว้นภาษีต่างๆ ข้อเรียกร้องของนักศึกษาหากทำได้สำเร็จมีแนวโน้มที่ไทยจะเริ่มต้นรัฐสวัสดิการ ประชาชนทั่วไปจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ช่องว่างทางสังคมจะลดลง

เราควรเข้าร่วมสนับสนุนลูกหลานให้เดินหน้าต่อไปได้ และควรสู้ร่วมกันแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ ไม่ทอดทิ้งกัน

 

ข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน ให้ยุบสภา และให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หากจะคุยกับขบวนการแรงงาน เรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะทำยังไงให้เขาเห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมันกินได้จริงๆ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เราโหวตโนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เวลาพูดถึงรัฐธรรมนูญกินได้ในสายแรงงานก็อดไม่ได้ที่จะพูดเรื่องค่าจ้าง มันไม่มีการพูดถึงเรื่องโครงสร้างค่าจ้างที่เป็นธรรมอยู่เลยว่าเราจะอยู่อย่างไรโดยที่ไม่ต้องทำงานหนัก ไม่ต้องทำโอที อันนี้อาจเป็นรายละเอียด แต่จะเขียนอย่างไรให้ครอบคลุม ให้ชีวิตของผู้ใช้แรงงานหรือชีวิตของประชาชนดีขึ้น ไม่ใช่เขียนเหมือนจะดีแต่มีกำกับท้ายให้ไปเจอทางตัน

ที่สำคัญคือเรื่องสิทธิการรวมตัวกันต้องสอดรับกับขบวนการภาคประชาชนที่จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือนำเสนอปัญหาของตัวเองได้ ไม่ใช่ว่าเราออกมาแล้วเดี๋ยวทหารตำรวจมา ถูกเรียกไปเข้าค่าย ไปโรงพัก โดนคดี มันไม่แฟร์

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มาจากภาคประชาชน แต่มาจาก คสช. ซึ่งเอาปืนมาจี้ เป็นรัฐบาลที่มาจากการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่เอง ใครมาพูดเรื่องประชามติกลับถูกจับหมด แต่ฝั่งตัวเองจะพูดอย่างไรก็ได้ไม่ถูกคดีอะไร เมื่อไม่แฟร์ตั้งแต่ต้นก็ไม่ควรมาบังคับใช้กับประชาชนทุกคน นี่เป็นเหตุผลที่เราควรต้องร่างกันใหม่ทั้งหมด หลายคนเมื่อพูดถึงว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาหรือผลกระทบอย่างไรกับผู้ใช้แรงงานหรือคนรากหญ้า ก็ปรากฏว่าถูกจับ แล้วหลังการลงประชามติ รัฐธรรมนูญก็ถูกดึงเอาไปแก้ไขโดยไม่ผ่านเสียงประชาชน สิ่งเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรม จึงจำเป็นที่จะต้องร่างใหม่โดยประชาชน เพื่อประชาชน

 

ในเวทีแรงงานมักพูดกันถึงรัฐสวัสดิการ การผลักดันประเด็นนี้สำคัญกับแรงงานอย่างไร และมันเป็นไปได้ยากหรือเปล่า

หลายคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นได้แค่ความฝัน แต่ย้อนมองอดีตเรื่องประกันสังคมเราก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ ตอนนั้นเราเรียกร้องให้มีประกันสังคมที่มีต้นแบบจากเยอรมนี ก็ถูกกล่าวหาว่ามันเป็นไปไม่ได้ การเรียกร้องไม่ใช่บอกว่าเราจะเอาอย่างเดียว แต่มีการทำความเข้าใจกับภาคประชาชน ครั้งแรกที่พูดถึงรัฐสวัสดิการมีการพูดทันทีว่าเป็นไปไม่ได้ ปัจจุบันก็ยังพูดแบบนั้นอยู่ แต่เสียงที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้มันน้อยลง

เรามองว่ามันเป็นไปได้ เพียงแต่เราจะกล้าก้าวออกมาไหม หลายคนมองว่ามันไกลตัว ถ้าเป็นคนทำงานที่มีประกันสังคมแล้วอาจไม่ค่อยรู้สึกอะไร แต่พ่อแม่คุณที่เป็นชาวไร่ชาวนาล่ะ ลูกคุณจำเป็นต้องมีสวัสดิการดูแลให้ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีกว่านี้ หรือคุณเองก็อาจคิดว่าสิทธิที่ได้จากประกันสังคมก็ยังไม่ดีเลย เราควรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ไหม

แรงงานวัยใกล้เกษียณยิ่งต้องคิดมาก เงินเกษียณของประกันสังคมมันไม่พอกิน แล้วเราจะไปทำอะไรต่อ บางคนมีที่ดินก็ไปปลูกผักเลี้ยงปลาได้ แต่คนจำนวนมากไม่มีที่ดิน แล้วเขาจะไปทำอะไรกิน บ้านก็ยังต้องเช่า คนงานจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านของตัวเองเพราะเงินไม่พอผ่อน ไม่มีทางออก คนก็แก่ขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนต้องออกมาพูดมากขึ้น เราหวังแค่ว่าต้องมีลูก แล้วลูกต้องกตัญญู ทำไมต้องทำให้ชีวิตตัวเองเป็นภาระลูกหลาน ถ้าเราเรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการ ชีวิตเราก็ไม่จำเป็นต้องไปเป็นภาระใคร เด็กรุ่นใหม่ทำงานก็ต้องเจอค่าจ้างที่ต่ำ ใช่ว่าเขาจะเอาตัวเองรอดได้ง่าย ดังนั้นทุกคนต้องออกมาร่วมเรียกร้องและออกมาพูดให้รัฐเปิดใจรับฟังเรื่องรัฐสวัสดิการและจัดสวัสดิการกับประชาชนได้จริง

ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ ในช่วงโควิดประชาชนถูกสั่งให้หยุดงานเขาก็ยังอยู่ได้ ต่างจากเราที่ถูกให้หยุดงานแล้วได้เงินเดือนจากบริษัทบ้างก็ยังไม่พอเลย ชัดเจนว่าประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการกับประเทศเราที่ไม่เป็นรัฐสวัสดิการมันแตกต่างกันอย่างไรในการใช้ชีวิต

 

ขณะที่เราส่งเงินประกันสังคมทุกเดือน แต่สุดท้ายพอเกษียณ เงินนี้ก็ไม่มากพอจะทำให้มีชีวิตที่มั่นคงได้โดยไม่พึ่งพาคนอื่น ประกันสังคมควรพัฒนาอะไรเพิ่มเติม

ถ้าเป็นไปได้อยากให้ประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ เพราะตอนนี้รัฐควบคุมทิศทางทุกอย่าง พอรัฐประหารก็เปลี่ยนบอร์ดประกันสังคม เอาคนที่คิดว่าควบคุมได้เข้าไปนั่ง คนจำนวนมากก็วิจารณ์เรื่องการบริการจากโรงพยาบาลเมื่อใช้สิทธิประกันสังคม

เรื่องประกันการว่างงาน ถ้าลาออกเองได้เงินเดือน 30% 3 เดือน ถูกเลิกจ้างได้ 50% 6 เดือน แต่ถ้าถูกเลิกจ้างแบบมีความผิด ประกันสังคมไม่จ่ายเงินประกันว่างงานแม้แต่บาทเดียว ลูกจ้างอาจมีความผิดจริง เขาไม่ได้ค่าชดเชย แล้วทำไมจึงไม่ได้เงินประกันการว่างงานอีก เราไม่ได้ปกป้องคนผิด แต่อย่าลืมว่าที่ผ่านมาเขาต้องจ่ายเงินประกันสังคมมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการตอบแทน เงินประกันการว่างงานกรณีอื่นๆ ก็ยังน้อยเกินไป

คนชอบมองว่าการเพิ่มสิทธิประโยชน์จะทำให้คนขี้เกียจ ลาออกมากินเงินว่างงานอยู่กับบ้าน มันเป็นไปไม่ได้ คนงานส่วนใหญ่ได้เงิน 9,000 บาทหรือต่ำกว่านั้น เงินแค่ 30% จะอยู่ได้ยังไงโดยไม่ต้องทำอย่างอื่น

เงินชราภาพก็ต้องมีการปรับปรุง ผู้ประกันตนมาตรา 39 คำนวณออกมาแล้วจะได้เงินชราภาพน้อยมาก ประมาณ 800-1,000 บาท ถ้าประกันสังคมจ่ายแค่นี้ ในอนาคตผู้ประกันตนจะอยู่อย่างไร

คนอาจบอกว่าเราใช้เงินแบบฮวบฮาบไม่ได้ อีกหน่อยคนสูงวัยจะมากขึ้น และต้องใช้เงินชราภาพมากขึ้น เงินชราภาพจะอยู่ได้ไม่นานเกิน 40 ปี ระหว่างนี้เรามาพูดถึงการยกระดับประกันสังคมให้สูงกว่านี้ได้ไหม คุณก็เรียกร้องเป็นรัฐสวัสดิการเสียสิ ให้เหลือกองทุนเดียว ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ สปสช. หรือประกันสังคม เมื่อเป็นรัฐสวัสดิการก็กลายเป็นกองทุนเดียว ทุกอย่างจะถ้วนหน้าและเสมอภาคกัน

 

สุดท้ายแล้วเราควรสร้างระบบที่สามารถรองรับคนทุกกลุ่มในสังคมได้ ไม่ใช่เฉพาะคนที่อยู่ภายใต้กองทุนประกันสังคม แต่เวลาพูดถึงรัฐสวัสดิการ คำถามใหญ่คือประเทศเราไม่ได้มีเงินขนาดนั้น จะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง

ประเทศอื่นก่อนมาเป็นรัฐสวัสดิการเขาก็ไม่ต่างจากเราตอนนี้ เผลอๆ แย่กว่าด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศที่ร่ำรวยแล้วจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ เราก็ยึดหลักของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ว่าต้องเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าโดยเฉพาะภาษีที่ดิน คนไหนครอบครองที่ดินเยอะแต่ไม่ได้ทำกิน ก็ต้องพูดถึงภาษีที่เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ เอามาจุนเจือคนที่ไม่มี ถ้าเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าแบบนี้ได้ ไม่มีการยกเว้นภาษี รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้แน่ แม้ว่าสภาพในประเทศจะเป็นแบบนี้ อย่าลืมว่าประเทศไทยก็มีคนที่รวยติดอันดับโลก ไม่ใช่ว่าจนกันหมด กลายเป็นว่าคนที่ตักตวงได้ก็ตักตวงไป คนที่ลำบากก็ลำบากกันสุดใจดิ้น ถึงที่สุดก็ฆ่าตัวตาย ในอนาคตคนจนจะหลังชนฝามากกว่านี้ ต้องคิดกันได้แล้วว่าจะทำอย่างไร

ตัวเราเองก็ไม่ได้มีรายได้มาก แต่คิดว่าถ้าวันหนึ่งมีรัฐสวัสดิการแล้วเราต้องจ่ายภาษีหลายสิบเปอร์เซ็นต์ แต่พอเกษียณอายุไม่ต้องนั่งคิดว่าจะหาเงินที่ไหน เพราะมีสวัสดิการรับรองชีวิตเราอยู่แล้ว มีกินไปจนตาย ไม่ต้องดิ้นรนมาก เราก็เอา คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยอาจยังไม่ค่อยเข้าใจนัก แต่ตอนนี้ก็เข้าใจมากกว่าในอดีตมาก กรรมกรในโรงงานหลายคนไม่มีที่ทำกินก็ต้องมองบั้นปลายชีวิตแล้วว่าจะอยู่กันอย่างไร หลายคนจึงให้ความสำคัญเวลาพูดถึงรัฐสวัสดิการ

เชื่อว่าประเทศไทยยังไงก็ทำได้ ถ้าเราเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เพียงแต่ว่าคนที่มีที่ดิน คนที่ร่ำรวย คนที่ตักตวงอยู่ในปัจจุบันก็ควรเปิดใจและนึกถึงคนอื่นบ้าง พวกเราต้องมากำหนดโครงสร้างร่วมกัน เพื่อให้ระบบรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้จริงๆ

 

มีอะไรที่อยากแนะนำรัฐบาลเรื่องปัญหาแรงงาน มีเรื่องไหนที่รัฐบาลควรจะทำก่อน

รัฐบาลไม่ควรใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแบบพร่ำเพรื่อ ตอนนี้เรามีปัญหาเศรษฐกิจ พอนายจ้างมีปัญหา คนที่ได้รับผลกระทบแบบปลายสุดคือผู้ใช้แรงงาน ถ้าจะให้หมดปัญหานี้ไป โดยเฉพาะนายจ้าง SME ก็ควรยกเลิก พ.ร.ก. หรือไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ จริงๆ เราก็ไม่มีการแพร่เชื้อโควิดในประเทศแล้ว

อีกเรื่องคือประเด็นแรงงานอะไรที่เคยสัญญากับประชาชนไว้ก็ควรจะทำ ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องเพิ่ม เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำที่คุณสัญญาไว้ ทำให้ได้ก่อนเถอะแล้วค่อยมาว่ากัน พฤติกรรมในปัจจุบันทำให้รู้สึกว่าเขาไม่น่าเชื่อถือ เขาตักตวงผลประโยชน์แค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้มองปัญหาของคนส่วนใหญ่หรือของผู้ใช้แรงงาน โกหกไปวันๆ แล้วอยู่ได้โดยใช้อำนาจปลายกระบอกปืน มันมีแต่พังกับพัง อยากให้รัฐบาลทบทวนสิ่งเหล่านี้ ต้องใช้อำนาจปลายกระบอกปืนให้น้อยลง หยุดคุกคามประชาชน ให้ประชาชนได้มีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

ข้อเรียกร้องของเรานอกเหนือจากเรื่องปัญหาแรงงานแล้ว เรายังเรียกร้องให้มีการยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่แบบยุติธรรม ซึ่งคิดว่าจะเป็นผลดีกับผู้ใช้แรงงานในอนาคต

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save