fbpx

อย่าลืมว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร: สมบัติ บุญงามอนงค์ ส่งเสียงจากถนนถึงคนในสภา

ท่ามกลางการเมืองหลังเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการเจรจาต่อรองของเหล่าผู้มีอำนาจ เสียงของประชาชนดูคล้ายจะไร้ความหมาย โดยเฉพาะเมื่อ ส.ว. ไม่โหวตเห็นชอบพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามมติของประชาชนจนนำมาสู่เกมทางการเมืองที่ประชาชนเป็นเพียงตัวประกอบฉาก

สมบัติ บุญงามอนงค์ หนึ่งใน ‘แกนนอน’ จึงชักชวนภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวในปฏิบัติการ ‘พร้อม’ สวมรองเท้าผ้าใบลงสู่ท้องถนนอีกครั้ง เพื่อส่งเสียงกดดันผู้มีอำนาจและ ส.ว. ในการจัดตั้งรัฐบาลผ่านการแปรอักษร ‘ค’ ซึ่งหมายถึง “คิด คิด สิ คิดดีๆ คิดให้ออก คุณคิดว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของใคร คิดนะคิด” ในม็อบ #พร้อม และแปรอักษร ‘ห’ ที่สื่อความหมายถึง “เห็นหัวประชาชน” ในม็อบ #พร้อม2

101 ชวน หนูหริ่ง – สมบัติ บุญงามอนงค์ อ่านสถานการณ์การเมืองไทย การเคลื่อนไหวของประชาชนมีส่วนในการกำหนดทิศทางการเมืองภาพใหญ่อย่างไร และอะไรคือข้อสอบของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-one Ep.305 ‘พร้อม’ สู่การเมืองเฟสใหม่ กับ สมบัติ บุญงามอนงค์ ออกอากาศวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

YouTube video

ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเป็นต้นมา อะไรคือสิ่งที่ทำให้หงุดหงิดใจที่สุด

หงุดหงิดที่สุดก็คือเรื่องที่ ส.ว. โหวตสวนมติมหาชนในวันที่ 13 ก.ค. 2566 อันนั้นผมปรี๊ดเลย ผมไม่คิดว่าเขามีสิทธิที่จะทำแบบนั้น ประชาชนไปทำหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง และผลทางการเมืองก็ชัดมาก แต่สิ่งที่ ส.ว. ทำคือขวางกระแสธาร และไล่สั่งสอนประชาชน เป็นคนกำหนดสเป็ก กำหนดเงื่อนไขว่านโยบายไหนเอา-ไม่เอา คนไหนเอา-ไม่เอา พรรคไหนเอา-ไม่เอา หลักการว่าด้วยเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนมันกลับตาลปัตรหมดเลย อย่าคิดว่าประชาชนเสียเวลาไม่กี่วินาทีไปเลือกตั้งนะครับ ก่อนเลือกตั้งเรานั่งตามนโยบาย คิดพิจารณา เราใช้พลังงานไปเยอะมาก ดังนั้นพอมีใครสักคนที่เป็นลูกติด คสช. มาทำตัวแบบนี้ ทำให้ผมหงุดหงิดมาก


คุณอยู่ในแวดวงการเมืองมานาน การที่กลไกของ ส.ว. ซึ่งถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการใช้อำนาจทางการเมืองเป็นเรื่องที่เกินคาดหมายหรือ

แม้ผมจะเข้าใจว่าบริบททางการเมืองในสังคมไทยเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ว่าผมไม่สามารถยอมรับและไม่เคารพกระบวนการที่นอกเหนือไปจากกระบวนการประชาธิปไตย และที่สำคัญสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือน ส.ว. ตบหน้าประชาชน ต่อให้มีคนเคยตบหน้าคุณมาก่อน เวลาโดนตบอีกครั้ง คุณก็ยังรู้สึกโกรธเหมือนเดิม เขาทำให้สิ่งที่เราเชื่อในรูปแบบการปกครองประชาธิปไตยถูกบดขยี้ ถูกทำลาย และถูกด้อยค่าอย่างไม่ใยดี อย่างที่ ส.ว. บางคนให้สัมภาษณ์สื่อว่าเขาไม่จำเป็นต้องฟังความเห็นประชาชน

ผมรับรู้ถึงแรงกระแทกที่ ส.ว. กระทำต่อต่อประชาชน และผมเชื่อว่ามีคนเจ็บแบบผมเยอะมาก เราไม่ควรก้มหน้าก้มตาและบ่นงึมงำ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในต่างประเทศ มีคนบนถนนเป็นหลักล้านไปแล้ว ประเทศไทย เราเป็นไพร่ทาสกันมานาน เรารวมตัวกันไม่ติด และเราไม่มีวัฒนธรรมการแสดงออกให้คนที่ทำกับประชาชนรู้สึกว่ามันทำไม่ได้ คนพวกนี้ยังมั่นใจอยู่ตลอดเวลาว่าเขามีสิทธิทำได้ เขาไม่มีสำนึกเลยนะ ซึ่งมันตลก เพราะอย่างนั้นผมต้องหาวิธีการสร้างสำนึก สื่อสารไปว่าให้เห็นหัวประชาชนบ้าง


ตั้งแต่การเลือกตั้งจนถึงตอนนี้ อะไรที่ทำให้ที่รู้สึกว่าชีวิตมีความหวัง

การที่คนออกไปเลือกตั้งจำนวนมาก ในหน่วยเลือกตั้งผมเห็นครอบครัวที่ประคองผู้สูงอายุเข้าคูหา แล้วผลที่ออกมามันชัดมากเลยว่าประชาชนมีเอกภาพว่าเอาหรือไม่เอาอะไร ผมเห็นความพ่ายแพ้ของฝั่งอำนาจนิยมแบบหมดรูปเลย เรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า สังคมพร้อมที่จะเดินหน้าและเปลี่ยนแปลงแล้ว เพียงแต่ว่ามีคนจำนวนหนึ่งไม่พร้อม และตอนนี้เราก็กำลังเล่นชักเย่อกัน


มาถึง ณ ตอนนี้คุณมองเกมการเมืองอย่างไร

เวลาพูดเรื่องนี้ผมมีความจำกัด เหมือนมีคนมาถามว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นยังไง ผมคิดว่าสังคมอยู่ระหว่างการวิเคราะห์และโน้มน้าวไปในทางที่ตัวเองคิดและเชื่อ ตอนนี้ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ในทุกความเป็นไปได้ มีความพยายามตระเวนหาความเป็นไปได้และหาจุดที่ลงตัวที่สุดในเรื่องนี้ ดังนั้นผมไม่รู้หรอกว่าผลจริงๆ จะเป็นยังไง ผมมีหน้าที่เพียงแค่ว่าทำให้พลังของประชาชนที่อยู่นอกสภา ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสามารถสร้างดุลยภาพและทำให้การเมืองในสภาเคลื่อนไปในทิศทางที่ควรจะเป็น โฟกัสของผมอยู่ที่การรวบรวมผู้คนและพลังกดดันภายนอก ไม่ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองที่ได้รับฉันทมติไป หรือแม้แต่พวก ส.ว. ที่ไม่มีความยึดโยงอะไรจากประชาชนเลยเป็นตัวกำหนดเกมอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าประชาชนสามารถแสดงออกอย่างมีเอกภาพจะกดดัน ส.ว. หรือพรรคการเมืองให้อยู่ในร่องในรอย


คาดหวังกับนักการเมืองอย่างไรบ้าง

คาดหวังว่าเขาจะทำสิ่งที่เขาพูดก่อนเลือกตั้ง อาจจะมีอะไรที่แตกต่างไปจากสิ่งที่พูดและสัญญากันไว้ก่อนเลือกตั้ง แต่จะต้องเป็นการกระทำที่อยู่บนข้อเท็จจริงและไม่หลุดจากหลักการ หมายความว่ายืดหยุ่น แต่ต้องไม่เสียหลักการ และไม่ทำให้สิ่งที่สื่อสารกันไว้ในตอนต้นบิดพริ้ว เช่น การจัดตั้งรัฐบาลประชาชน สมมติว่าติดขัดเรื่องตัวเลขที่จะต้องให้ได้ 376 เสียง ถ้ามีการเจรจาต่อรองและหาข้อตกลงกันก็อาจจะเป็นเรื่องที่เราพอจะเข้าใจได้ว่ามันอาจไม่ได้มีแค่ 8 พรรคการเมือง แต่จะต้องไม่แตกสลายจนอธิบายไม่ได้ว่าตกลงนี่เป็นสูตรพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจริงๆ หรือเปล่า พูดตรงๆ อย่างพรรคภูมิใจไทยก็ยังเป็นเรื่องที่ยังพอเข้าใจได้ แต่ถ้ามากกว่านั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ เพราะไม่ใช่เรื่องที่ผมคาดหวัง ไม่ใช่เรื่องที่พรรคการเมืองสัญญากับเราไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง


มีบทวิเคราะห์และรายงานข่าวออกมาว่าพรรคเพื่อไทยสื่อสารไปยังพรรคก้าวไกลว่าพรรคอื่นๆ ไม่อยากร่วมงานกับก้าวไกล แม้จะยอมถอยมาตรา 112 แล้วก็ตาม คุณอยากสื่อสารอะไรกับพรรคเพื่อไทยบ้าง

หลักการสำคัญที่สุดและยังสามารถทะลุทะลวงข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ปัจจุบันได้ คือผมพยายามจะเสนอประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญมาตรา 3[1] ผมศึกษาเรื่องนี้มาดีพอสมควร และผมพร้อมดีเบตหรืออภิปรายกับ ส.ว. หรือมีใครจะมาโต้แย้ง ผมก็ยินดีจะอธิบาย เราสามารถใช้หลักการประชาธิปไตยและแนวทางรัฐธรรมนูญผ่าวิกฤตได้เลย

ประการแรก ต้องอธิบายก่อนว่า ส.ว. ชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งผมเรียกว่าลูกติด คสช. ประการที่สอง การที่ ส.ว. มานั่งอยู่ในรัฐสภาแล้วสามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ มาจากคำถามพ่วงท้ายในประชามติ และคำถามพ่วงท้ายนั้นเขียนเหตุผลว่าเพื่อการปฏิรูปประเทศ และการปฏิรูปประเทศได้จบเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ภารกิจจบแล้ว แต่วาระ ส.ว. ยังไม่จบ เขาอยู่ 5 ปี ตอน ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีปี 2562 เขาให้สัมภาษณ์เป็นเสียงเดียวกันทั้งหมดว่าต้องเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะว่าพลเอกประยุทธ์ได้เสียงเกินครึ่งจากสภาผู้แทนราษฎร มีความชอบธรรม ต่อให้เป็นชื่ออื่นที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ส.ว. ก็ไม่มีสิทธิโหวตอย่างอื่น ดังนั้นในปี 2562 ส.ว. 249 คน โหวตให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นแนวทางเดียวกันโดยให้เหตุผลเดียวกัน แต่พอปี 2566 ส.ว.ไม่ได้วางกรอบตัวเองในแบบปี 2562 ส.ว. มีทั้งโหวตสวนและโหวตไม่ออกความเห็น

ประเด็นก็คือ ส.ว. มีสิทธิโหวตขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือเปล่า และการที่มานั่งโหวตนายกรัฐมนตรี เป็นการใช้สิทธิตามการลงประชามติคำถามพ่วงท้าย ซึ่งให้ทำเพียงแค่การปฏิรูปการเมืองให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ เขาไม่ได้มีสิทธิมากกว่านั้น


แล้วหน้าที่ที่แท้จริงของ .ว. ตอนนี้คืออะไร

ส.ว. มีหน้าที่ดูว่าคนที่ถูกเสนอชื่อขึ้นมามีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ เช่น มีอายุเกิน 35 ปีหรือเปล่า เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยตั้งแต่การเกิดไหม เป็นผู้ที่จบการศึกษาตั้งแต่วุฒิปริญญาตรีหรือเทียบเท่าหรือไม่ เคยถูกดำเนินคดีในทางอาญาหรือมีฟ้องร้องกันอยู่หรือเปล่า หากไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามในรัฐธรรมนูญ ส.ว. มีสิทธิแค่โหวตเห็นชอบ เพราะทันทีที่ ส.ว. โหวตไม่เห็นชอบจะถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 จึงเป็นเหตุว่า ส.ว. ไม่สามารถทำเกินอำนาจหน้าที่ได้

ถ้าแปดพรรคการเมืองเดินตรงๆ แล้วสู้ด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ก็อาจมีการโต้แย้งว่ามีมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญนะ เราก็ต้องไปดูเรื่องศักดิ์ของกฎหมายว่าอันไหนสูงกว่า มาตรา 272 เป็นประเด็นทางเทคนิค และเป็นแค่บทเฉพาะกาล ในขณะที่มาตรา 3 เป็นจิตวิญญาณของรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และคุณยังมีมาตรา 5 วรรค 2 [2] ว่าด้วยธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

สมมติว่าเกิดเดดล็อก เสนอชื่อใครไปเขาก็ไม่รับ ตั้งรัฐบาลไม่ได้สักทีก็ไปใช้มาตรา 5 วรรค 2 ปกติที่ผ่านมาเราเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาฯ ก็เรียกประชุมว่าบัดนี้ประเทศไปไม่ได้แล้ว เพื่อที่จะฝ่าวิกฤตการณ์นี้ไปให้ได้ก็ให้มีการใช้ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในมาตรา 5 วรรค 2 ก็ให้เลือกกันในสภาผู้แทนฯ ต้องกาแค่ 251 เสียง คุณต้องนำประชาชน อธิบายให้คนรับหลักการนี้ และคุณไม่ต้องไปนั่งเจรจาส่งตัวแทนไปอ้อนวอน ส.ว. ให้ช่วยโหวตหน่อย คุณชนะการเลือกตั้งและอำนาจนี้เป็นของประชาชน


นี่คือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้บนหลักการนิติรัฐ-นิติธรรม แต่ทุกวันนี้เราอยู่ในประเทศที่ในที่สุดจะมีตัวชี้ขาดหรือกระบวนการบางอย่างที่อาจจะทำให้ผิดเพี้ยนไป แบบนี้ควรทำอย่างไร

ประชาชนต้องเชื่อก่อนว่าตกลงแล้วอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ถ้าคุณเชื่อจริงๆ ว่าประเทศนี้เป็นของคุณก็แสดงความเชื่อนั้นออกมา ผมเชื่อว่าประเทศนี้ต้องเป็นของประชาชน ดังนั้นเวลาที่ผมแสดงออก ผมไม่มีความกังวลเลย ผมท้า ส.ว. ให้มาดีเบตเรื่องมาตรา 3 กับผม ผมจะชี้ว่าการกระทำของ ส.ว. ในวันที่ 13 ก.ค. เป็นการกระทำที่เกินอำนาจหน้าที่ เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่เป็นการแสดงถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่อรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นการสถาปนาอำนาจใหม่เหนืออำนาจการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

คุณปล่อยให้คนพวกนี้กำหนดเกมอยู่ตลอดเวลา แล้วคุณไปไล่ตามเกมที่เขากำหนด เช้าวันนี้บอกว่าถ้ายอมถอยมาตรานี้ก็จะให้ ต่อมาก็บอกว่าถ้าตัดพรรคนี้ไปเดี๋ยวจะโหวตให้ แล้วต่อมาบอกว่าคนนี้ก็จะไม่เอานะ ต้องไปหาคนอื่นที่สเป็กดี ทำไม ส.ว. ไม่ระบุไปเลยว่าต้องการใคร พอคุณเลือกเสร็จเรียบร้อยช่วยบอกผมด้วยว่าตกลงอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร คนไทยที่ไปเลือกตั้งเป็นใครในระบบการปกครองที่คุณสถาปนาขึ้นมา ช่วยบอกสถานะจริงๆ ของผมหน่อยจะได้วางตัวถูก ผมคิดว่าผมเป็นเจ้าของประเทศ ผมเข้าใจผิดใช่ไหม


คุณบอกว่าในต่างประเทศถ้าเป็นแบบนี้คนออกมาชุมนุมเป็นล้านแล้ว แปลว่าคนไทยโกรธไม่พอหรือเปล่า การชักชวนผู้คนออกมาแสดงความพร้อมที่ผ่านมาสะท้อนอะไรบ้าง

จริงๆ คนโกรธมากนะ แต่การออกมาชุมนุมมีหลายปัจจัยที่จะทำให้คนออกมา คือ 1. ระดับความโกรธ 2. เป็นรูปแบบที่จะสามารถนำไปสู่เป้าหมายได้หรือเปล่า 3. คนที่ชวนออกมาคือใครในทางการเมือง 4. พวกเขามีความคุ้นเคยกับการแสดงออกในรูปแบบนี้หรือไม่

แม้ว่าผมจะเป็นนักการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็มีความจำกัดอยู่ระดับหนึ่ง ในหลายปีที่ผ่านมา ผมก็ลดบทบาทไปพอสมควร ดังนั้นเวลาผมออกไปอีกครั้ง บางคนก็อาจมองว่าไอ้นี่เป็นใคร ต้องการอะไร คนที่ร่วมการชุมนุมกับผมรู้ว่าผมพยายามจะพุ่งตรงไปที่ไหนและจะใช้วิธีการอะไร แต่บางคนก็อาจไม่เข้าใจสิ่งที่ผมพูด ผมไม่ได้เป็นบุคคลที่มีพาวเวอร์พอจะดึงคนหลายแสนออกมา ผมต้องใช้เวลาพอสมควร เพื่อจะทำ snowball effect ไม่รู้จะทันหรือเปล่า แต่ผมสัญญาณไปถึง ส.ว. พรรคการเมือง และประชาชนทั่วไป อย่างน้อยคุณก็บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เถอะว่าในห้วงเวลาที่คนพวกนี้เหิมเกริมหักล้างอำนาจของประชาชน มีประชาชนกลุ่มหนึ่งพร้อมออกมายืนยันว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน


คิดอย่างไรที่มีคนจำนวนหนึ่งยังไม่ตัดสินใจออกไป เพราะไม่อยากสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร

ผมออกแบบรูปแบบกิจกรรมป้องกันเรื่องพวกนี้ไว้ การไม่กล้าออกไปม็อบ คู่ต่อสู้สำคัญที่สุดคือตัวเอง ผู้ปกครองในสังคมไทยติดตั้งวิธีคิดแบบนี้ไว้ในชุดวิธีคิดของเราเรียบร้อยแล้ว คุณต้องปลด ต้องรื้อสร้างวิธีคิดเดิม ชนชั้นปกครองเขาใส่วิธีคิดเหล่านี้อยู่ในระบบการศึกษา ในวัฒนธรรม ในสื่อมวลชน ในวิถีชีวิต ใส่มันลงไปให้คุณสยบยอม นี่คือความสามารถของฝ่ายอำนาจนิยมที่เขาสอดแทรกความคิดพวกนี้อยู่ในสมอง ผมรื้อออกไปหมดแล้ว

รูปแบบกิจกรรมที่ผมทำ ผมหลบเลี่ยงการเผชิญหน้าที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งเอาเป็นเหตุในการจะทำอะไรพิสดาร ม็อบที่ผ่านมา ผมไปแจ้งการชุมนุมและขอตำรวจว่าช่วยเอา คฝ. ให้อยู่ห่างจากพวกผมในระดับที่สายตามองไม่เห็น เขาก็เห็นด้วย แล้วผมรับปากว่าจะไม่มีการนำพามวลชนเข้าไปในพื้นที่ล่อแหลมหรือสร้างความกังวล ทุกอย่างถูกวางแผนเป็นระบบและสื่อสารอย่างชัดเจนว่าจะเป็นไปตามที่เราตกลงกันทั้งหมด


ที่ผ่านมาคุณมีการโพสต์ถึงนายแบก-นางแบกที่ออกมาโจมตีม็อบ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวไหม

ถ้านายแบกกับนางแบกเป็นคู่ต่อสู้ ผมจะออกอาวุธ กำหนดทิศทางปลายหอก-ปลายดาบไปที่เขา แต่นายแบกและนางแบกพวกนี้เป็นมิตรสหายที่ร่วมต่อสู้กับผมมาระหว่างการเป็นเสื้อแดง ผมไม่มีเจตนาจะต่อสู้กับพวกเขาเลย ผมไม่มีเจตนาจะเผชิญหน้ากับคนกลุ่มนี้ แต่ผมถูกคนเหล่านี้ตั้งข้อสังเกตและแซะ บางคนก็กล่าวหาผมในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลเลย และผมรู้สึกว่ามันผิดปกติมาก

เราไม่ใช่เป็นคู่ขัดแย้งกัน คนที่คุณจะต้องเอาปลายดาบ-ปลายหอกส่องไปคือเผด็จการ คนที่ทำให้กระบวนการซับซ้อนและหลุดออกจากหลักการ ผมไม่มีเจตนาที่จะต่อสู้กับคนพวกนี้ ถึงจุดหนึ่งผมก็เพียงแค่ปัดป้องเพียงเล็กน้อย แต่ผมจะไม่รบราต่อสู้กับนายแบกกับนางแบก

บางคนบอกว่าผมละทิ้งพวกเขาไปอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง ผมไม่รู้ว่าการกระทำใดทำให้เขาเชื่อแบบนั้นช่วยระบุให้ชัดเจน ถ้าผมทำผิดก็ช่วยบอกผมหน่อย ผมไม่เข้าใจและผมไม่ได้เปลี่ยนไป ผมอยู่ในจุดยืนหลักการนี้โดยตลอดเลยตั้งแต่ต้น ผมเลือกเพื่อไทยใบหนึ่ง ผมเลือกก้าวไกลใบหนึ่ง


มองคนเสื้อแดงตอนนี้อย่างไร

ขบวนการเสื้อแดงเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาต่อการยึดอำนาจปี 2549 และต่อสู้กับเผด็จการมาโดยตลอด ขบวนการเสื้อแดงมีเป้าหมายเชิงอุดมคติ แต่มวลชนจำนวนมากเป็นคนรักทักษิณ เมื่อเขามาต่อสู้ในนามคนเสื้อแดง ระหว่างทางของการต่อสู้ก็ผ่านหลายเหตุการณ์สำคัญ ทั้งปี 2552, 2553, 2557 การผ่านหลายสมรภูมิทำให้มวลชนที่ใส่เสื้อแดงยกระดับขึ้นมาเป็นนักรบเสื้อแดง มีอุดมคติที่เข้มข้น จึงมีคำพูดเรื่องการก้าวข้ามทักษิณ แต่ความจริงไม่ใช่ว่าจะก้าวข้ามกันทั้งหมด และการก้าวข้ามทักษิณไม่ได้แปลว่าเทหรือทิ้งทักษิณนะ แต่มีความหมายว่าเขาจะยึดสิ่งใดเป็นเรื่องหลัก

คนพวกนี้สวมเครื่องแบบเสื้อสีแดง เป็นเครื่องแบบของนักรบเพื่อประชาธิปไตย-ต่อสู้เผด็จการ เมื่อการเมืองมีวิวัฒนาการ ต่อมาก็มีพรรคก้าวไกล เสื้อแดงจำนวนหนึ่งกลายเป็นผู้บุกเบิกและเป็นรากฐานให้พรรคก้าวไกล ในขณะที่คนเสื้อแดงอีกส่วนยังเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย แล้วอีกพวกก็คือคนประเภทผม คือเลือกทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล

ประเด็นก็คือการนิยามว่าเสื้อแดงคืออะไร เสื้อแดงไม่เท่ากับเพื่อไทย และเสื้อแดงไม่เท่ากับก้าวไกล เสื้อแดงคือเสื้อแดงที่ต่อสู้กับเผด็จการ พอตอนนี้เสื้อแดงแบ่งไปสนับสนุนสองพรรค แล้วเกิดความพยายามจะบอกว่าเสื้อแดงต้องเท่ากับพรรคไหน นี่คือการแย่งชิงความหมายของเสื้อแดงกัน


วิเคราะห์อนาคตของคนเสื้อแดงอย่างไร

คนเสื้อแดงก็เป็นคนเสื้อแดง มันผ่านสมรภูมินั้นไปแล้ว ส่วนคุณจะไปเลือกพรรคไหนก็เรื่องของคุณ มันจำกัดไม่ได้ เช่นที่คนเดือนตุลาไม่เป็นของพรรคไหนเลย หรือคนพฤษภา 2535 ไม่เป็นคนของพรรคไหน มันไม่เกี่ยวกัน มันมีเสื้อแดงที่ไปเลือกพรรคนี้ แล้วก็มีเสื้อแดงไปเลือกอีกพรรคหนึ่งก็เท่านั้นเอง จิตสำนึกของประชาชนมีพลวัต มันผ่านกระบวนการเรียนรู้แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้นปัจจัยที่นำไปสู่การเรียนรู้จะเป็นตัวกำหนดเองว่าเสื้อแดงจะไหลไปทางไหน


คิดอย่างไรกับความแตกแยกของมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน อะไรคือความขัดแย้งหลักและจะกลับมารวมตัวกันได้ไหม

การที่เขาสนับสนุนคนละพรรคและในอนาคตสองพรรคนี้จะเป็นคู่ต่อสู้ที่แท้จริงในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ต่างคนต่างมองเห็นว่าทั้งคู่จะเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง แต่ทุกวันนี้คู่ต่อสู้ที่แท้จริงไม่ใช่สองพรรคนี้ แต่คือผลพวงจากอำนาจนอกระบบและเผด็จการที่ยึดอำนาจเรา คุณมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เหรอ มันไปแล้วเหรอ มันไม่มีอยู่จริง มันอ่อนแอเหรอ ไม่ใช่หรอก เขากำลังฉวยโอกาส เสี้ยมให้เราแตกกัน และทำให้เราแบ่งเป็นสอง


หลายคนมองว่าการเมืองในความเป็นจริงต้องต่อรอง คำนึงถึงข้อจำกัดในโลกจริง ส่วนการเมืองเชิงอุดมการณ์ก็เป็นเรื่องไร้เดียงสา เราจะบาลานซ์การเมืองในโลกจริงกับอุดมการณ์อย่างไร

ในกรณีนี้คนออกจากหลักการนั้นไร้เดียงสา คุณอยู่ในรัฐธรรมนูญที่เขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน คุณไปเลือกตั้งแล้วได้เสียงมาขนาดนี้ แล้วคุณยังจะออกจากจุดที่แข็งที่สุด นี่คือความไร้เดียงสา ถ้าคุณยืนได้มั่นบนฐานนี้มันจะแข็งแกร่งมากเลยและคุณจะตอบทุกคำถามได้ ถ้าคุณไม่ยืนบนหลักประชาธิปไตย คุณจะยืนตรงไหน


ในสายตาของคุณ ความผิดพลาดและจุดอ่อนของพรรคก้าวไกลคืออะไร

1. พรรคก้าวไกลไม่ได้เตรียมตัวเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล ท่วงทำนองที่ออกมาทั้งหมดเป็นพระรองหมดเลย 2.คุณได้ฉันทมติจากประชาชนมากที่สุดในบรรดาทุกพรรคการเมือง แต่คุณยังไปหาเสียงพบปะมวลชน คุณไม่ยืนหนักแน่นในแนวทางรัฐธรรมนูญอย่างที่ผมพูดไป ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้หลักการประชาธิปไตยและใช้แนวทางรัฐธรรมนูญในการต่อสู้ คุณไม่ได้ยึดถือสิ่งนี้ คุณไม่เอามวลชนของคุณไปกดดันหรือไปให้คนเห็นว่ามันต้องเป็นแบบนี้ คิดอยู่แค่สูตรคณิตศาสตร์ ถกกันเรื่องตัวเลขว่าจะรวมเสียงกันได้เท่าไหร่ แต่ทำไมคุณไม่นำประชาชนให้พุ่งไปที่การปักธงเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ผมเข้าใจว่าเขาชุลมุนนะ แต่ถ้าจะให้วิจารณ์ก็คือเรื่องนี้ คุณไปอ้อนวอนไอ้พวกนั้นมันไม่มีผล คุณต้องบอกว่ามันไม่มีสิทธิทำ


แฟนคลับเพื่อไทยมักบอกว่าคนจนเดือดร้อนรอไม่ได้ จึงอาจจะต้องจับมือกับพรรคลุง-พรรคที่สืบทอดอำนาจของทหาร คิดว่าเหตุผลนี้เป็นจริงแค่ไหนและจะนำไปสู่อะไร

ผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการเมืองปากท้องนะ ยิ่งจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วยิ่งดี ผมเห็นด้วยว่าไม่ควรยื้อ 10 เดือน เพียงแต่วิธีการมันไม่ต้องออกจากจุดยืน คุณอาจจะอ้างว่ามันอาจจะแก้ปัญหาปากท้องได้ แต่มันจะส่งผลต่อขบวนประชาธิปไตยที่สะสมโมเมนตัมมาตลอดที่ผ่านมา มิตรสหายที่เคยร่วมรบร่วมต่อสู้ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะเกิดคำถามใหญ่มาก และมันจะพังพินาศเลย ต้นทุนของมันแพงมาก

ถ้าจะแก้ปัญหาปากท้องให้จัดตั้งรัฐบาลได้เร็วก็กลับมายึดเรื่องมาตรา 3 แล้วถ้าเรื่องมาตรา 3 ไปไม่ได้ คุณก็เสนอชื่อให้หมดเลย หารายชื่อมาใหม่ว่าจะเอาบุคคลนอกแล้วจะจัดตั้งได้ไหม ถ้าจัดตั้งไม่ได้ก็เป็นมาตรา 5 วรรค 2 ให้ทำตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็เอาสภาผู้แทนฯ เลือกนายกฯ ไป

ก้าวไกลอย่าไปเสียศักดิ์ศรีกับ ส.ว. เวลาคุณไปคุกเข่า นั่นคือการเอาประชาชนไปคุกเข่าต่อหน้าลูกติดเผด็จการ คุณเอาศักดิ์ศรีของประชาชนที่เรามอบหมายให้คุณไปก้มหัวให้พวกนั้น เพื่อไทยก็อย่าไปเจรจาต่อรอง คุณออกจากหลักการไม่ได้ และไม่ใช่แค่ว่าผมเอาแต่ใจนะ ผมเสนอแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม


ในฐานะที่คุณเป็นคนที่ได้รับความอยุติธรรมจากระบอบรัฐประหาร คุณมองการกลับบ้านของคุณทักษิณในระบบการเมืองปัจจุบันอย่างไร

ผมเห็นด้วยที่คุณทักษิณควรจะได้กลับบ้าน และก็ควรจะให้ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม ถ้ากลับมาเมืองไทย เราไม่ควรให้คุณทักษิณอยู่เลี้ยงหลานอย่างเดียว ควรเอามาใช้ประโยชน์ในการบริหารประเทศ เป็นที่ปรึกษาหรืออะไรก็แล้วแต่ เขาเป็นคนที่มีศักยภาพที่จะช่วยเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องการบริหารได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ว่าอย่าให้การกลับมาของคุณทักษิณเป็นเงื่อนไขที่จะต้องแลกกับการที่ฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลพิสดาร ระดับที่เรียกว่าไม่เป็นรัฐบาลประชาชน ไม่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตย

ปิดฉากสงครามนี้ด้วยบันทึกทางประวัติศาสตร์การกลับมาที่สง่างาม คุณทักษิณจะกลายเป็นบุคคลทางการเมืองที่เราสามารถบันทึกตอนท้ายชีวิตของคุณทักษิณอย่างสวยงามได้ โดยที่ไม่ไปข้องเกี่ยวหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทำให้การจัดตั้งรัฐบาลให้ผิดเพี้ยนไปกว่านั้น ผมภาวนาว่าคุณทักษิณจะได้กลับบ้าน

References
1 วรรค 1 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ วรรค 2 รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาตและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
2 เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save