fbpx
ชิงสุกก่อนห่าม?: ซูการ์โนถูกลักพาตัวบังคับให้ประกาศเอกราช

ชิงสุกก่อนห่าม?: ซูการ์โนถูกลักพาตัวบังคับให้ประกาศเอกราช

Frans Mendur ภาพถ่ายประกอบ

ประกาศ
พวกเราชาวอินโดนีเซียขอประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย
เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการถ่ายโอนอำนาจและอื่นๆ ถูกจัดการด้วยวิธีที่รอบคอบและในระยะเวลาอันสั้นที่สุด

จาการ์ตา, 17 สิงหาคม 1945
ตัวแทนชาวอินโดนีเซีย

Proklamasi
Kami bangsa Indonesia dengan ini menjatakan kemerdekaan Indonesia.
Hal2 jang mengenai pemindahan kekoeasaan d.l.l., diselenggarakan dengan tjara seksama dan dalam tempoh jang sesingkat-singkatnja.

Djakarta, 17 – 8 – ’05
Wakil2 bangsa Indonesia.

ย้อนกลับไปเมื่อ 76 ปีที่แล้ว วันที่ 17 สิงหาคม 1945 เวลา 10.00 น. ซูการ์โน (Soekarno) ได้ประกาศเอกราชของชาติ ‘อินโดนีเซีย’ ณ ที่พำนักของเขาบนถนน Pegangsaan Timur กรุงจาการ์ตา เป็นเวลาเพียง 2 วันหลังญี่ปุ่นประกาศความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาในวันที่ 6 สิงหาคม และนางาซากิในวันที่ 9 สิงหาคม

ภาพการประกาศเอกราชอินโดนีเซียที่ซูการ์โนยืนอ่านคำประกาศเอกราช โดยมีโมฮัมหมัด ฮัตตา (Mohammad Hatta) ยืนอยู่เยื้องๆ ทางเบื้องซ้ายของซูการ์โน และด้านหลังเป็นกลุ่มนักชาตินิยมเยาวชน น่าจะเป็นภาพที่ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ ตลอดจนผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์อินโดนีเซียเคยเห็นชินตามากที่สุดภาพหนึ่ง เป็นภาพที่ทรงพลังเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของความต้องการเป็นอิสระปลดแอกชาติจากการปกครองของอาณานิคม แต่ข้างหลังภาพนั้นมีเบื้องหลังที่น่าสนใจ

ภาพ: ซูการ์โนประกาศเอกราชอินโดนีเซีย (Proklamasi)
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Proclamation_of_Indonesian_Independence

ด้วยความที่การประกาศเอกราชกระทำด้วยความเร่งด่วน ทำให้มีการแก้ไขคำในร่างคำประกาศเอกราช ในร่างแรกที่เขียนด้วยลายมือของซูการ์โนมีการขีดฆ่าคำแล้วเขียนใหม่ คำที่ถูกขีดฆ่าออกคือ คำว่า ‘penyerahan’ (การส่งมอบ) เปลี่ยนเป็น ‘pemindahan’ (การถ่ายโอน) และ ‘dioesahakan’ (ถูกกระทำ) เปลี่ยนเป็น ‘diselenggarakan’ (ถูกจัดการ)

ที่มา: http://cagarbudaya.kemdikbud.go.id/cagarbudaya/detail/PO2014031700002/naskah-proklamasi-kemerdekaan-bangsa-indonesia-tulisan-tangan-soekarno

หลังจากนั้นมีการแก้ไขคำประกาศเอกราชเล็กน้อย ซึ่งถูกพิมพ์โดย Mohamad Ibnu Sayuti Melik

จุดต่างมีอยู่เพียงนิดเดียวจากร่างด้านบน คือจากคำว่า ‘hal2’ (เรื่องต่างๆ) เขียนเต็มเป็น ‘hal-hal’ คำว่า ‘tempoh’ เปลี่ยนเป็น ‘tempo’ (เวลา) และ ‘wakil2 bangsa Indonesia’ (ตัวแทนชาวอินโดนีเซีย) เปลี่ยนเป็น ‘Atas nama bangsa Indonesia’ (ในนามของชาวอินโดนีเซีย) ดังนี้

Proklamasi

Kami bangsa Indonesia dengan ini menjatakan kemerdekaan Indonesia. Hal-hal jang mengenai pemindahan kekoeasaan d.l.l., diselenggarakan dengan tjara seksama dan dalam tempo jang sesingkat-singkatnja. Djakarta, hari 17 boelan 8 tahoen 05

Atas nama bangsa Indonesia.

Soekarno/Hatta.

การยึดครองของญี่ปุ่นกับเส้นทางสู่เอกราชของอินโดนีเซีย

ย้อนไปก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ในช่วงต้นทศวรรษ 1940s อินโดนีเซียยังอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ เอกราชของอินโดนีเซียส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้เพราะการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเริ่มเข้ายึดครองอินโดนีเซียในต้นปี 1942 แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาเพียง 3 ปีที่ญี่ปุ่นยึดครองอินโดนีเซีย แต่ก็มีนโยบายที่ส่งผลต่อชาวอินโดนีเซียไม่น้อย

ในด้านการเมืองการปกครอง ญี่ปุ่นสนับสนุนให้คนพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการทำงานกับรัฐบาลที่ปกครองคนพื้นเมืองมากขึ้น คนพื้นเมืองได้เข้าไปทำงานแทนที่ตำแหน่งซึ่งเคยเป็นของชาวยุโรปมาก่อน และที่สำคัญคือญี่ปุ่นได้ก่อตั้งกองกำลังของคนพื้นเมืองขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เนเธอร์แลนด์ไม่เคยทำมาก่อน ในยุคก่อนหน้านั้นมีทหารรับจ้างจากบางกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่ใช่ตั้งเป็นกองกำลัง ซึ่งต่อมากองกำลังคนพื้นเมืองที่ญี่ปุ่นตั้งขึ้นนี้ได้พัฒนากลายมาเป็น ‘กองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย’ หลังจากที่อินโดนีเซียประกาศเอกราช

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังส่งเสริมให้สำนึกความเป็นชาตินิยมของคนอินโดนีเซียชัดเจนขึ้นและสามารถแสดงออกได้มากขึ้น ญี่ปุ่นอนุญาตให้ได้สัญลักษณ์ของความเป็นชาตินิยมได้ เช่น ธงขาวแดง ภาษาอินโดนีเซีย เป็นต้น นักชาตินิยมคนสำคัญหลายคนเช่น ซูการ์โน, โมฮัมหมัด ฮัตตา และกี ฮาจาร์ เดวันตอรอ (Ki Hadjar Dewantoro) ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นในตอนแรก เพราะมองว่าญี่ปุ่นจะช่วยอินโดนีเซียได้เอกราช

ญี่ปุ่นเริ่มคิดถึงการให้เอกราชแก่อินโดนีเซียเมื่อสถานการณ์สงครามเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยในวันที่ 1 มีนาคม 1945 ได้จัดตั้ง ‘คณะกรรมการตรวจสอบการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย’ (Badan Penyelidik Usaha-Usaha Persiapan Kemerdekaan) ขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับอภิปรายถึงการเตรียมการเพื่อไปสู่เอกราชของอินโดนีเซีย ซึ่งก็มีการถกเถียงกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่ารูปแบบของรัฐชาติอินโดนีเซียควรเป็นแบบใด นอกจากนี้ยังมีการร่างรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย ท่ามกลางแนวคิดทางการเมืองที่หลากหลายในช่วงเวลานั้น

วันที่ 1 มิถุนายน 1945 ซูการ์โนเสนอ ‘หลักปัญจสีลา’ (Pancasila) เพื่อให้เป็นหลักปรัชญาของชาติ และเพื่อประนีประนอมกับแนวคิดทางการเมืองที่หลากหลาย ปัญจสีลาประกอบด้วย

  1. เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว
  2. ยึดมั่นในหลักมนุษยนิยม
  3. ยึดมั่นในเอกภาพของอินโดนีเซีย
  4. ยึดมั่นในประชาธิปไตย
  5. ยึดมั่นในความยุติธรรมทางสังคม

หลักปัญจสีลาได้รับการตอบรับในแง่บวกในขณะนั้น และในปัจจุบัน ปัญจสีลาก็ยังมีความสำคัญและยังเป็นอุดมการณ์หลักของประเทศอินโดนีเซีย

ต่อมา วันที่ 7 สิงหาคม 1945 หนึ่งวันหลังสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา ‘คณะกรรมการตรวจสอบการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย’ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘คณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย’ (Panitia Persiapan Kemerdekaan Indonesia) เป็นการแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นสนับสนุนอย่างจริงจังให้อินโดนีเซียเป็นเอกราช

ซูการ์โน, ฮัตตา (ในฐานะผู้นำของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย) และ ราจิมัน เวโยดีนิงรัต (Radjiman Wedyodiningrat) (อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย) เดินทางไปยังเมืองดาลัต ประเทศเวียดนาม เพื่อพบกับจอมพลฮิซาอิจิ เทระอุจิ (Hisaichi Terauchi) ผู้นำสูงสุดญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้นำอินโดนีเซียทั้งสามคนได้รับการแจ้งว่ากองทัพญี่ปุ่นใกล้จะพ่ายแพ้และจะมอบเอกราชให้กับอินโดนีเซียโดยกำหนดวันได้รับเอกราชวันที่ 24 สิงหาคม 1945 ในขณะเดียวกัน ที่อินโดนีเซียเอง บรรดานักชาตินิยมใต้ดินนำโดยซูตัน ชาห์รีร์ (Sutan Syahrir) ก็ได้รับข่าวว่าญี่ปุ่นยอมแพ้แล้วและต่างพร้อมจะประกาศเอกราชอินโดนีเซียเองโดยปฏิเสธเอกราชที่ญี่ปุ่นจะมอบให้

14 สิงหาคม 1945 ซูการ์โน ฮัตตา และราจิมัน เวโยดีนิงรัต เดินทางกลับอินโดนีเซีย ซูตัน ชาห์รีร์ได้เร่งให้ซูการ์โนประกาศเอกราช เพราะเห็นว่าญี่ปุ่นยอมแพ้แล้วและการไม่เร่งประกาศเอกราชจะนำไปสู่ความแตกแยกของกลุ่มนักชาตินิยมอินโดนีเซียที่สนับสนุนและต่อต้านญี่ปุ่น ซูการ์โนยังไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นได้ยอมแพ้จริงๆ และเห็นว่าการประกาศเอกราชอินโดนีเซียในเวลานั้นอาจจะนำไปสู่การนองเลือดได้ และยังได้สำทับว่า ซูตัน ชาห์รีร์ไม่มีสิทธิประกาศเอกราช เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย ในขณะที่ ซูตัน ชาห์รีร์โต้ว่า คณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซียเป็นองค์กรที่ญี่ปุ่นสร้างและการประกาศเอกราชโดยคณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซียก็เป็นแค่ ‘ของขวัญ’ จากญี่ปุ่นเท่านั้น

หลังการประกาศยอมแพ้ของญี่ปุ่น ซูตัน ชาห์รีร์ และพรรคพวกได้รับข่าวว่าญี่ปุ่นจะส่งคืนอำนาจการปกครองเหนืออินโดนีเซียให้ฝ่ายสัมพันธมิตร กลุ่มนักชาตินิยมเยาวชนจึงเร่งเร้าให้นักชาตินิยมรุ่นใหญ่รีบประกาศเอกราช แต่ซูการ์โนและนักชาตินิยมรุ่นใหญ่ยังคงรีๆ รอๆ และปรึกษากับนายทหารใหญ่ญี่ปุ่น จากนั้นจึงตกลงกันว่าจะมีการประชุมกันในวันที่ 16 สิงหาคม 1945 ในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย เพื่ออภิปรายกันเกี่ยวกับการประกาศของอินโดนีเซีย ทว่าการประชุมในเช้าวันนั้นไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากซูการ์โนและโมฮัมหมัด ฮัตตาหายตัวไป

นักชาตินิยมรุ่นใหม่ไฟแรงลักพาตัวซูการ์โน

เมื่อเริ่มเห็นว่าเส้นทางไปสู่เอกราชของอินโดนีเซียหยุดชะงัก ขณะที่ซูการ์โนและนักชาตินิยมรุ่นใหญ่ก็มีท่าทีลังเล เช้าตรู่วันที่ 16 สิงหาคม 1945 บรรดานักชาตินิยมเยาวชนนำโดยคาแอรุล ซาเละห์ (Chaerul Saleh), ซูการ์นี (Sukarni) และ วีคานา (Wikana) ลักพาตัวซูการ์โนพร้อมด้วยฟัตมาวาตี (Fatmawati) ภรรยาของเขา และกุนตูร์ (Guntur) บุตรชายวัย 9 เดือน รวมทั้งโมฮัมหมัด ฮัตตา ไปยังเริงงัสเดิงกล็อก (Rengasdengklok) เขตอำเภอการาวัง (Karawang) ชวาตะวันตก ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ต้องการให้ซูการ์โนกับฮัตตาถูกครอบงำโดยญี่ปุ่น บรรดานักชาตินิยมเยาวชนยังยืนยันกับซูการ์โนว่าญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามแล้ว โดยบรรดานักต่อสู้อินโดนีเซียพร้อมต่อต้านญี่ปุ่นไม่ว่าจะต้องเสี่ยงแค่ไหนก็ตาม จึงเกิดเป็นสโลแกนว่า “merdeka atau mati” ซึ่งมีความหมายความว่า “เอกราชหรือไม่ก็ตาย”

ในขณะเดียวกัน ที่จาการ์ตาก็มีการเจรจากันระหว่างตัวแทนนักชาตินิยมเยาวชนกับนักชาตินิยมรุ่นใหญ่ ในที่สุด อะห์หมัด ซูบาร์โจ (Achmad Soebardjo) ตัวแทนนักชาตินิยมรุ่นใหญ่ก็เห็นด้วยกับการประกาศเอกราชที่จาการ์ตา จึงส่งคนไปรับซูการ์โนกับฮัตตากลับมายังจาการ์ตา

สถานการณ์วันที่ 16 สิงหาคมเต็มไปด้วยการถกเถียงอย่างร้อนแรงระหว่างนักชาตินิยมอินโดนีเซียและฝั่งผู้บังคับบัญชากองทัพญี่ปุ่นประจำอินโดนีเซีย ฝั่งหลังได้รับคำสั่งจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้รักษาความเรียบร้อยภายในอินโดนีเซียและไม่ได้รับอนุญาตให้ช่วยเตรียมการการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย ทำให้ซูการ์โนและฮัตตาผิดหวังมาก และขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นและอย่าขัดขวางการทำงานของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย ในที่สุด บรรดานักชาตินิยมอินโดนีเซียได้ใช้บ้านพักของพลเรือเอกทาดาชิ มาเอดะ (Tadashi Maeda) ในการประชุมของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย และการร่างประกาศเอกราชก็เกิดขึ้นที่นั่นเช่นกัน

ร่างประกาศเอกราชเขียนด้วยลายมือของซูการ์โน โดยคณะร่างประกอบไปด้วยซูการ์โน, ฮัตตา และซูบาร์โจ การร่างประกาศเอกราชเริ่มราวเวลาตีสองและเสร็จตอนตีสี่ โดยซูการ์โนและฮัตตาเป็นผู้ลงนามในร่างคำประกาศเอกราชดังกล่าวในฐานะตัวแทนของชาวอินโดนีเซีย จากนั้น เช้าวันรุ่งขึ้นซูการ์โนก็อ่านคำประกาศเอกราช และเขาก็ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ส่วนฮัตตาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี 

บ้านพักของพลเรือเอกทาดาชิ มาเอดะ ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์การจัดทำคำประกาศเอกราช
ที่มา: https://www.kompas.com/sains/read/2021/08/17/070300923/kisah-perumusan-teks-proklamasi-kemerdekaan-indonesia-di-rumah-laksamana?page=all

จิตวิญญาณของการปฏิวัติแห่งชาติ

อาจกล่าวได้ว่าหากไม่มีนักชาตินิยมเยาวชนที่ ‘ใจร้อน’ อยากให้อินโดนีเซียประกาศเอกราชโดยเร็วที่สุด วันประกาศเอกราชหรือวันชาติอินโดนีเซียอาจจะไม่ใช่วันที่ 17 สิงหาคม 1945 และแม้ว่าหลังจากการประกาศเอกราชแล้ว เจ้าอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ไม่ยอมรับและพยายามกลับเข้าไปยึดครองอินโดเซียอีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่การทำสงครามต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซียยาวนานถึง 4 ปี ในที่สุด เนเธอร์แลนด์ก็ยอมรับและยอมให้เอกราชอย่างสมบูรณ์แก่อินโดนีเซียในวันที่ 27 ธันวาคม 1949 จนในปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างอินโดนีเซียกับเนเธอร์แลนด์ถึงการยอมรับวันประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย โดยฝ่ายอินโดนีเซียต้องการให้ทุกฝ่ายยอมรับวันประกาศเอกราชของอินโดนีเซียว่าคือวันที่ 17 สิงหาคม 1945 ไม่ใช่ 27 ธันวาคม 1949

แม้ว่าการประกาศเอกราชของอินโดนีเซียจะกระทำด้วยความรีบร้อนดังปรากฏหลักฐานจากร่างคำประกาศเอกราชที่เขียนด้วยลายมือของซูการ์โนที่มีการขีดฆ่า และแม้ว่าหลังจากนั้นจะเกิดการนองเลือดในการทำสงครามอย่างหนักหน่วงกับเนเธอร์แลนด์ แต่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศไม่เคยตำหนิการกระทำของนักชาตินิยมเยาวชนผู้ลักพาตัวซูการ์โนและฮัตตาว่าเป็นการกระทำที่ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ และเห็นพ้องต้องกันว่า การมีเอกราชสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เป็นความภาคภูมิใจของชาวอินโดนีเซียเมื่อได้เฉลิมฉลองวันชาติวันที่ 17 สิงหาคมในทุกปีที่เวียนมาถึง และชาวอินโดนีเซียพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องจิตวิญญาณของ ‘การปฏิวัติแห่งชาติ’ เอาไว้ทั้งในทางดีและทางไม่ดี ดังจะได้เห็นได้จากการจัดการกับภัยคุกคามต่อการปฏิวัติของชาติ อย่างเช่นการปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียอย่างรุนแรง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียถูกมองและถูกกล่าวหาว่าต้องการทำลายการปฏิวัติแห่งชาติ จากการอยู่เบื้องหลังการพยายามทำรัฐประหารวันที่ 30 กันยายน 1965

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save