ธิติ มีแต้ม เรื่อง
– 1 –
ในบรรดานักดนตรีที่เราฟังเพลงพวกเขาและชื่นชมด้วยกัน แม่ของลูกบอกว่า Eddie Vedder นักร้องนำและมือกีตาร์คณะ Pearl jam ดูเป็นคนหล่อที่ไม่เก๊กหล่อ
พ่อแอบขำในใจ และจะขอข้ามประเด็นนี้ไป เพราะยากเหลือเกินที่จะอภิปรายให้ลูกฟังถึงเรื่องความหล่อหรือไม่หล่อของใครต่อใคร
สำหรับพ่อ, ทุกเวลาที่เกิดความรู้สึกแปลกแยกกับใครต่อใคร หรืออยากหนีไปจากที่ๆ คุ้นเคย เพลงของ Vedder จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่อัตโนมัติในส่วนลึก
มันทั้งโอบกอด ปลอบโยน และชักชวนให้กลับไปปะทะทั้งนามธรรมและรูปธรรมใหม่
จะว่าไป เสียงของเขาที่ออกโทนทุ้มใหญ่ สำรากเล็กๆ และบางครั้งก็โหยไห้ตามสไตล์ดนตรี Grunge Rock ก็เหมาะกับตัวเขา ราวกับเกิดมาเพื่อมัน
Vedder ได้แรงบันดาลใจจากศิลปินรุ่นพี่หลายคน ตั้งแต่ Jim Morrison, Bruce Springsteen, Led Zeppelin, The Who, Pink Floyd, Bob Dylan, Neil Young
เขาเคยเป็นเด็กปั๊ม เด็กเสิร์ฟ เดินทางห่างบ้านตั้งแต่เด็กเพราะครอบครัวแตกแยก ต้องระหกระเหินย้ายเมืองไปเรื่อยๆ บางครั้งต้องต้องหยุดเรียนเพื่อหารายได้ยังชีพตัวเอง
ช่วงทศวรรษที่ 80 เขาเริ่มแต่งเพลงเอง แม้ว่าต้องทำงานเป็นยามไปด้วยก็ตาม แต่สายตาของ Jack Irons อดีตมือกลอง Red Hot Chili Peppers เห็นศักยภาพในทางดนตรีของเขา จึงเริ่มชักชวนเข้าสู่วงการเพลง โดยสร้างความคุ้นเคยแรกเริ่มกับวง Temple of the dog ที่ Chris Cornell นักดนตรีในดวงใจพ่ออีกคนอยู่ร่วมด้วย ก่อนจะขยับมาอยู่กับ Pearl jam เต็มตัว และก็แจ้งเกิดได้ตั้งแต่อัลบั้มแรกในปี 1991 อัลบั้ม Ten
Vedder เปลือยวัยเด็กตัวเองด้วยการเขียนเพลงขึ้นมาชุดหนึ่งในอัลบั้มนี้เพื่อสะท้อนความทรงจำตัวเองที่เคยถูกแม่ปิดบังความจริงที่ว่าพ่อของเขาไม่ใช่พ่อแท้ๆ แต่เป็นพ่อเลี้ยง ส่วนพ่อจริงๆ ได้ตายไปแล้ว เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏอยู่ในเพลง Alive อันโด่งดัง

– 2 –
อันที่จริง Vedder อาจถูกจดจำในฐานะศิลปินร็อกดาษดื่นเท่านั้น ถ้าเขาไม่ได้แสดงออกถึงความเป็นขบถในตัวออกมา
ปี 2018 เขาแต่งเพลง Can’t deny me เป็นเพลงที่ต่อต้านนโยบายผู้อพยพของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังจากเห็นภาพร่างศพพ่อและลูกวัย 2 ขวบ นอนคว่ำหน้าเสียชีวิตริมฝั่งแม่น้ำรีโอแกรนด์ ที่กั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก
Vedder เคยบอกว่า ทรัมป์ควรจะได้ยินเพลงนี้ แม้ว่าเขาจะไม่ฟังเพลงหรือไม่อ่านหนังสือก็ตาม
ยังไม่นับที่หลายครั้งระหว่างอยู่บนเวทีคอนเสิร์ต เขาก็วิพากษ์วิจารณ์ความป่าเถื่อนของรัฐบาลอิสราเอลที่เข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์อย่างไม่ไยดี
ทว่าหากพูดถึงผลงานเพลง ส่วนที่ทั้งพ่อและแม่ชอบมากที่สุดไม่ใช่เพลงในนามคณะ Pearl jam ไม่ใช่ความเกรี้ยวกราดระหว่างเพอร์ฟอร์มบนเวที แต่เป็นผลงานอัลบั้ม Into the Wild เพลงประกอบภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ออกฉายเมื่อปี 2007
Into the Wild สร้างจากสารคดีบันทึกชีวิตของคนหนุ่มจากแคลิฟอร์เนียนาม Christopher McCandless ที่หันหลังในสังคมอันคุ้นเคยและเดินหน้าเข้าสู่ป่ากว้างที่อลาสกา เพื่อชำระล้างปมวัยเด็กของเขาที่เติบโตมาด้วยการถูกกดดันจากครอบครัวทุกทาง แต่ด้วยความบ้าบิ่นและอหังการ์ของ McCandless เอง ทำให้เขาต้องจบชีวิตในซากรถบัสกลางป่าในวัยเพียง 24 ปี เนื่องจากพลาดกินพืชมีพิษเข้าไป
คนที่รักในชีวิตกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจเลือกเข้าป่าของ McCandless ย่อมไม่ปฏิเสธหนังเรื่องนี้
ก่อนจะถูกสร้างเป็นหนัง Sean Penn ผู้กำกับได้ซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านจบในรวดเดียว และเขาก็รู้ทันทีว่าต้องทำหนังเรื่องนี้ให้ได้ Penn รีบติดต่อไปที่ John Krakauer และพวกเขาได้มีโอกาสพูดคุยกันกับครอบครัว McCandless
สิ่งที่ตกผลึกร่วมกันมันคือความซึมลึกเข้าไปในใจของ McCandless เกี่ยวกับความต้องการของมนุษย์ที่อยากข้ามผ่านขีดจำกัดของตัวเองไปให้ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กหนุ่มที่ทะเลาะกับพ่อแม่แล้วหนีออกจากบ้าน แต่คือความพยายามค้นหาทางของตัวเองซึ่งมีอยู่ในตัวของคนทุกคน
ระหว่างเตรียมโปรดักชั่น Penn คิดถึงเพลงที่จะมาประกอบหนังเรื่องนี้ เขามีแนวเพลงในใจอยู่บ้างแล้ว อาทิ Hey Hey My My ของ Neil Young, Miles from Nowhere ของ Cat Stevens หรือ Simple Man ของ Lynyrd skynyrd แต่สุดท้ายเขาก็คิดถึง Vedder

Penn ขอให้ Vedder บรรเลงออกมาอย่างอิสระ ซึ่งเขาใช้เวลาเพียงไม่นานก็ทำเพลงสำเร็จ
Vedder บอกว่า “มันเป็นเรื่องไม่ซับซ้อนอะไรนัก เรื่องราวมันอยู่ตรงหน้า ไม่มีทางที่จะทำเป็นอย่างอื่น ผมค้นหาอารมณ์ตรงนั้น ค้นหาอารมณ์ที่ใกล้เคียงที่สุด”
แล้วมันก็ประสบความสำเร็จ กลายเป็นอัลบั้มในดวงใจใครหลายคน และขึ้นหิ้งหลายรางวัล
สำหรับเรา, เพลง Society นั้นฝังอยู่ในใจเสมอ เสียงกีตาร์โปร่งสับคอร์ดง่ายๆ แล้ว Vedder ก็ค่อยๆ ฮัมเสียงในคอออกมาก่อนที่จะเริ่มต้นประโยคว่า
Oh, it’s a mystery to me
We have a greed with which we have agreed
And you think you have to want more than you need
Until you have it all you won’t be free
Society, you’re a crazy breed
Hope you’re not lonely without me
When you want more than you have
You think you need
And when you think more than you want
Your thoughts begin to bleed
I think I need to find a bigger place
Because when you have more than you think
Society, you’re a crazy breed
Hope you’re not lonely without me
Society, crazy indeed
Hope you’re not lonely without me
There’s those thinking, more-or-less, less is more
But if less is more, how you keeping score?
Means for every point you make, your level drops
Kinda like you’re starting from the top
You can’t do that
Society, you’re a crazy breed
Hope you’re not lonely without me
คำว่า Society ที่เปล่งออกมาจากคอของ Vedder มันไม่ใช่ “สังคม” ในความหมายเฮงซวยหรือเส็งเคร็งระยำ แต่เป็น “สังคม” ที่เขาช่างเข้าอกเข้าใจ มันให้อารมณ์ไปทาง “สังคมเอ๋ย” มากกว่า
และตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้จบในวัยหนึ่ง อาจได้คำตอบทำนองว่า McCandless ช่างกล้าหาญที่จะแสวงหาจิตวิญญาณของตัวเอง ยอมละทิ้งความสะดวกสบายกับสังคมเดิม แม้ว่าเขาจะพบจุดจบที่ไม่คาดคิดก็ตาม
แต่การดูรอบที่สอง รอบที่สามในแต่ละช่วงวัย เราไม่ได้โฟกัสอยู่ที่ McCandless แล้วอีกต่อไป เขาอาจเป็นเพียงหนึ่งในชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในแรงบันดาลใจแห่งวัยหนุ่ม แต่เรากลับโฟกัสที่ “สังคม” มากขึ้น
“สังคม” แบบไหนกันที่อาจจะทั้งผลักไสใครต่อใคร และขณะเดียวกันมันก็ให้พื้นที่สิทธิเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิต จะดีจะเลวก็สุดแล้วแต่สังคมยอมรับ
– 3 –
อย่างที่บอกลูกไปช่วงต้น ทุกเวลาที่เกิดความรู้สึกแปลกแยกกับใครต่อใคร หรืออยากหนีไปจากที่ๆ คุ้นเคย เพลงของ Vedder จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่อัตโนมัติในส่วนลึก
มันทั้งโอบกอด ปลอบโยน และชักชวนให้กลับไปปะทะทั้งนามธรรมและรูปธรรมใหม่
โดยเฉพาะเพลง Society อย่างน้อยที่สุด มันชวนให้พ่อ (และอาจไม่ใช่พ่อคนเดียว) คิดถึงสังคมที่เราต่างยอมรับความต่างของกันและกัน สังคมที่ไม่ให้สิทธิ์สัตว์เถื่อนเข้าควบคุมชีวิตคนปกติสามัญ กระทั่งสังคมที่ให้สิทธิเสรีภาพและโอบอุ้มคนที่แตกสลายทางคุณค่าภายในตัวเอง
แล้วอะไรล่ะคือหมุดที่เราจะปักลงไปร่วมกัน หากมันจะแทรกซึมลงไปในดินแล้วงอกเงยออกมาเป็นสังคมแบบที่เราอยากเห็น
ยุคสมัยของพ่อ เอาเฉพาะแผ่นดินที่พ่ออาศัยอยู่ เรายังไม่เคยถามหากันจริงๆ จังๆ เลย ทุกครั้งที่มีคำถาม ก็จะมีคนบางกลุ่มฉวยขโมยความคิดความฝันของพวกเราไป แล้วบังคับยัดเยียดหยิบยื่นให้ในสิ่งที่เราไม่ต้องการ
จะว่าไปแล้วเรายังหลุดไม่พ้นสังคมที่ใครมีพละกำลังมากกว่า มีอาวุธมากกว่า คนนั้นก็ได้อำนาจไป
แต่เราเชื่อว่าในอนาคต คำตอบจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นป่าหรือสังคม
____________________________
อ่านคอลัมน์ เมื่อเวลามาถึง ทั้งหมดต่อ ที่นี่