fbpx
'สิงโตนอกคอก' กับมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

‘สิงโตนอกคอก’ กับมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

 

 

“แซนดี้ไม่เคยเข้าใจว่าแบบนั้นมันยุติธรรมตรงไหน แต่ดูเหมือนมันเป็นธรรมชาติที่คนตาดำจะต้องแข็งแกร่งกว่าพวกเธอ ดุจดั่งสิงโตที่แข็งแกร่งกว่าลูกแกะน้อย”

 

‘สิงโตนอกคอก’ คือหนึ่งในเรื่องสั้นที่ถูกรวบรวมไว้ในผลงานรวมเรื่องสั้นในชื่อเดียวกันของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ไปเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ส่งให้จิดานันท์กลายเป็นนักเขียนที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลนี้

เรื่องสั้นที่ถูกรวบรวมไว้ในสิงโตนอกคอก ล้วนมีลักษณะแบบดิสโธเปียน (dystopian) กล่าวคือเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหลากหลายโลกสมมติที่ผู้เขียนสร้างขึ้น โดยโลกสมมติต่างๆ จะถูกออกแบบให้มีลักษณะที่สะท้อนปัญหาบางประการในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น เมืองที่มีฤดูหนาวอันโหดร้ายยาวนาน และมีทางรอดเพียงทางเดียวคือการยอมเผาหนังสืออันล้ำค่า สังคมที่ผู้คนถูกตัดสินความชั่วและประหารชีวิตด้วยไพ่ประจำตัว ความรักและการพลัดพรากที่เกิดขึ้นระหว่างคอมพิวเตอร์แสนอัจฉริยะด้วยกัน

เรื่องสั้นที่อาจกล่าวได้ว่าโดดเด่นที่สุดในผลงานของจิดานันท์เล่มนี้ ก็คือเรื่อง ‘สิงโตนอกคอก’ นั่นเอง เล่าถึงโลกที่ประกอบไปด้วยมนุษย์สองเผ่าพันธุ์ กลุ่มแรกมีนัยน์ตาสีดำ และอีกกลุ่มมีนัยน์ตาเป็นสีขาว

“มนุษย์ที่มีดวงตาตรงกลางเป็นสีขาวแทนสีดำ เกิดขึ้นครั้งแรกบนโลกเมื่อสามร้อยปีก่อนเนื่องจากการกลายพันธุ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มนุษย์เผ่าตาขาวมีสถานะด้อยกว่าเผ่าตาดำที่มีอยู่ก่อนมาตลอด พวกเขาอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ว่าคนตาขาวมักจะถูกกีดกันหรือไม่ก็รังแก นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิต่างๆ ในสังคมน้อยกว่าคนตาดำด้วย”

จิดานันท์ใช้โลกสมมติดังกล่าวเล่าถึงปัญหาการกดขี่และทางเลือกจริยธรรมของมนุษย์ เธอใช้วิธีเล่าโดยมีเรื่องราวซ้อนทับกันอยู่ เริ่มต้นจากการกล่าวถึง ‘นิกสัน’ มนุษย์ตาขาวที่กำลังหนีจากการไล่ล่าของกลุ่มมนุษย์ตาดำ เขาได้หลบเข้าไปอยู่ในบ้านร้างแห่งหนึ่ง และได้พบกับหนังสือเล่มเล็กที่บันทึกเรื่องราวของ ‘แซนดี้’ เด็กสาวที่เป็นมนุษย์ตาขาวเช่นเดียวกับเขา

ในช่วงเวลาก่อนที่ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์สองเผ่าพันธุ์จะลุกลามใหญ่โตไปเป็นสงคราม แซนดี้ถูกรังแกที่โรงเรียนโดยกลุ่มเด็กตาดำ การรังแกจบลงเมื่อเธอได้รับความช่วยเหลือจากคุณครู ผู้ซึ่งถือโอกาสนำเอานิทานเรื่องสิงโตกับลูกแกะมาเล่าให้เด็กๆ ฟัง

นิทานเล่าถึงสิงโตตัวหนึ่งที่รู้สึกแปลกใจ เมื่อได้มองเห็นลูกแกะที่คอยเฝ้ามองก้อนเมฆอย่างมีความสุข ความประหลาดใจแปรเปลี่ยนไปเป็นความอยากรู้จัก สิงโตเข้าไปพบลูกแกะเพื่อขอเป็นเพื่อน แต่ลูกแกะกลับวิ่งหนีไปด้วยความกลัว ต่อมาสิงโตกลับมาพบลูกแกะตัวเดิมอีกครั้งโดยบังเอิญ เมื่อมันถูกเพื่อนในฝูงบังคับให้ล่าเหยื่อ สิงโตขย้ำลูกแกะจนตายไปพร้อมๆ กับที่ลูกแกะกล่าวร้องว่า เพราะเช่นนี้นั่นล่ะ เราถึงเป็นเพื่อนกันไม่ได้

แต่คุณครูก็เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ฉากจบที่สิงโตฆ่าลูกแกะนั้น อันที่จริงเป็นฉากที่ถูกแก้มาในภายหลัง นิทานฉบับที่ผู้ประพันธ์แต่งไว้แต่ต้นเล่าว่า เมื่อสิงโตรู้ว่าลูกแกะนั้นเป็นตัวเดียวกับที่ตนเองเคยพบและขอเป็นเพื่อนด้วย ก็ตัดสินใจไม่ฆ่าลูกแกะ แม้จะต้องยอมถูกเพื่อนสิงโตด้วยกันเองเกลียดชังก็ตาม คุณครูกล่าวสรุปบทเรียนจากนิทานให้พวกเด็กตาดำฟังว่า “เราไม่ต้องทำร้ายคนที่ตาขาวก็ได้นะ”

นิทานเรื่องสิงโตกับลูกแกะสร้างความปั่นป่วนโกลาหลให้กับความคิดของเด็กๆ ตาดำในห้อง ร้อนจนผู้ปกครองต้องรวมตัวกันบุกมาที่โรงเรียนเพื่อรุมประณามครูที่สอนเรื่องเลวร้ายไร้ศีลธรรมให้กับเด็กๆ คุณครูถูกยัดเยียดข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกมากมาย โดยเฉพาะข้อหาว่าต้องการทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และสุดท้ายครูก็ถูกฆ่าตาย

 

จริยธรรมบนฐานของความเข้าใจผู้อื่น

 

เราจะมีความเห็นใจต่อมนุษย์ที่ถูกกดขี่ มนุษย์ที่เกิดมาด้อยกว่า รวมไปถึงกลุ่มคนที่ถูกกีดกันให้เป็น ‘คนอื่น’ ในสังคมได้อย่างไร เป็นคำถามที่แฝงอยู่ในเรื่องสิงโตนอกคอก

บันทึกของแซนดี้เล่าต่อไปถึงช่วงเวลาถัดมา ที่มนุษย์ตาขาวยอมรับไม่ได้อีกต่อไปกับการถูกข่มเหงโดยมนุษย์ตาดำ พวกเขาลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้ ภัยจากสงครามที่เกิดขึ้นทำให้แซนดี้พลัดพรากจากครอบครัว เธอหลบหนีการไล่ล่าจนมาหลบอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง และก็พบเข้ากับเทรย์ เด็กชายตาดำผู้เคยเป็นหัวหอกในการกลั่นแกล้งเธอเมื่อครั้งอยู่ในโรงเรียน

แต่การพบกันครั้งนี้เทรย์กลับเข้าช่วยเหลือเธอ เขาสารภาพให้เธอฟังว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนในวันนั้น ได้เปลี่ยนแปลงความคิดของเขาไปตลอด

“ครูถามฉันว่าทำไมฉันต้องรังแกคนอื่น ฉันบอกว่ามันเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกัน ครูเลยถามฉันว่า ไม่มีใครเลือกเกิดได้ใช่มั้ย ฉันบอกว่า ใช่ ครูถามต่อไปว่า งั้นถ้าหากว่าฉันเกิดมามีตาสีขาว ฉันจะรู้สึกอย่างไร ฉันต้องยอมรับสิ่งนี้ใช่มั้ย ฉันบอกว่า ใช่ ถ้าฉันมีตาสีขาว ฉันต้องยอมพวกตาดำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ฉันไม่อยากมีตาสีขาวเลย เพราะฉันไม่อยากโดนแบบนั้น แล้วครูก็ตอบกลับมาว่า ไม่มีคนตาขาวคนไหนที่อยากมีตาสีขาวเหมือนกันแหละ เพราะไม่มีใครหรอกที่อยากจะโดนแบบนั้น…”

นับจากวันนั้น เทรย์จึงตั้งมั่นว่าเขาอยากจะมีส่วนช่วยปกป้องคนตาขาว ดั่งสิงโตที่ช่วยปกป้องลูกแกะ เขาฝันอยากจะถูกกล่าวขานว่าเป็น ‘เพื่อน’ ของเหล่าคนที่อ่อนแอกว่า และหวังว่าความฝันของเขาจะมีส่วนช่วยหยุดสงคราม

แง่มุมที่ถูกถ่ายทอดในสิงโตนอกคอก สะท้อนถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับจริยธรรมของมนุษย์ คำถามหนึ่งที่มักจะถูกถามอยู่บ่อยครั้งก็คือ จริยธรรมนั้นมีที่มาจากอะไร คำตอบจากเรื่องราวข้างต้นชวนให้ผู้เขียนนึกไปถึงคำอธิบายต่อประเด็นดังกล่าวโดย อดัม สมิธ (Adam Smith)

แม้จะถูกจดจำในฐานะบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ที่จริงแล้วอดัม สมิธ ยังผลิตผลงานที่ถ่ายทอดแนวคิดไว้หลากหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านจริยศาสตร์ นอกจากผลงานที่เป็นที่รู้จักอย่าง The Wealth of Nations เขายังมีผลงานที่สำคัญอีกชิ้นก็คือ The Theory of Moral Sentiments ซึ่งอธิบายว่าอะไรคือรากฐานของจริยธรรมในมนุษย์ และมนุษย์จะตัดสินใจอย่างมีจริยธรรมได้อย่างไร

สมิธอธิบายว่ารากฐานของจริยธรรมนั้นมาจากการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม การเติบโตผ่านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ช่วยให้มนุษย์มีความสามารถที่จะคิดจินตนาการได้ถึงความรู้สึกนึกคิดของเพื่อนมนุษย์คนอื่น มนุษย์สามารถคิดได้ในลักษณะการ “ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา” เพื่อให้เข้าใจถึงความเจ็บปวดที่จะเกิดกับคนที่ต้องประสบเคราะห์กรรมต่างๆ

ความสามารถในการจินตนาการได้ว่าหากเราลองเป็นเขาบ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร เป็นพื้นฐานที่ช่วยให้มนุษย์พัฒนาความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เช่น หากเราลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นพ่อที่ต้องสูญเสียลูกไปให้กับภาวะสงคราม เราเองก็คงเข้าใจได้ถึงความเลวร้ายจากสงครามและไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้น

ในเรื่องสิงโตนอกคอก การทวงถามจากครูถึงเด็กตาดำอย่างเทรย์ว่า หากเขาเองต้องเกิดมามีตาสีขาวบ้าง จะรู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ก็เป็นการทวงถามที่ช่วยปลุกความเห็นอกเห็นใจคนอื่นในตัวเทรย์ จนทำให้เขาต้องเปลี่ยนสำนึกทางจริยธรรมของตนเองไป

อย่างไรก็ตาม สมิธอธิบายต่อไปว่า การมีเพียงความเห็นอกเห็นใจนั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้มนุษย์สามารถตัดสินใจอย่างมีจริยธรรมได้ เนื่องจากความเห็นอกเห็นใจอาจถูกบดบังไปโดยการยึดติดกับกรอบทางสังคม เช่น จารีต ประเพณี รวมไปถึงบรรทัดฐานต่างๆ ข้อจำกัดเหล่านี้ก็เหมือนเหตุที่คุณครูเจ้าของนิทานสิงโตกับลูกแกะต้องประสบ เมื่อพยายามสร้างความเห็นอกเห็นใจในหมู่เด็กๆ เขากลับถูกมองว่ากำลังพยายามทำลายจารีตที่ดีงามในสังคม จนต้องเผชิญการลงทัณฑ์ถึงแก่ชีวิต

ดังนั้น การที่มนุษย์คนหนึ่งจะตัดสินใจอย่างมีจริยธรรมได้ นอกจากความสามารถในการจินตนาการถึงความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นๆ แล้ว เขายังจะต้องพยายามพาตนเองออกจากเงื่อนไขทางสังคมที่อาจนำมาซึ่งอคติต่างๆ ด้วย เพื่อให้เกิดมุมมองที่เป็นกลางมากที่สุด

สมิธย้อนมาอธิบายถึงการตัดสินทางจริยธรรมว่าจะต้องใช้เงื่อนไขเดียวกัน การที่มนุษย์จะตัดสินใจอย่างมีจริยธรรมได้นั้น เขาจะต้องพยายามจินตนาการถึงคนๆ หนึ่งที่มีความเป็นกลางต่อเงื่อนไขทางสังคมต่างๆ และลองคิดว่าหากคนที่เป็น ‘ผู้ชมที่ปราศจากอคติ’ (Impartial Spectator) นั้นมาอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตัวเอง เขาจะรู้สึกกับความคิดหรือการกระทำของเราอย่างไร

หากการกล่าวถึง ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของอดัม สมิธ กลายมาเป็นหัวใจของแนวคิดเรื่องกลไกตลาด ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายให้กับโลกใบนี้ การกล่าวถึง ‘ผู้ชมที่ปราศจากอคติ’ ก็เป็นหัวใจของแนวคิดทางจริยศาสตร์ของสมิธเช่นกัน แต่น่าเสียดายที่แนวคิดจริยศาสตร์ของสมิธกลับเป็นที่รู้จักน้อยกว่ามาก

 

มุมมองต่อความเหลื่อมล้ำของอดัม สมิธ

 

หลังจากได้อ่านเรื่องราวของแซนดี้จบลง ความเหนื่อยล้าก็พานิกสันให้หลับไป เขาสะดุ้งตื่นมาพบว่าตนเองกำลังอยู่ในวงล้อมของทหารที่กำลังไล่ล่าเขา นิกสันหวาดกลัว แต่แล้วเขาก็พบว่าในกลุ่มทหารที่กำลังจะสังหารเขาอยู่ กลับมีคนๆ หนึ่งที่เขาจดจำได้อยู่ลางๆ คนๆ นั้นแอบกล่าวกลับเขาว่า

“แกชื่อนิกสันใช่ไหม ฉันจำแกได้จากแผลเป็นที่คางนั่น เราเคยเป็นเพื่อนกันตอนเด็กๆ ไง… ทุกครั้งที่ออกล่าคนตาขาว ฉันอยากทิ้งปืนเหลือเกินนิกสัน อยากทิ้งปืนแล้วตะโกนว่า ฉันอยากเป็นเพื่อนกับคนพวกนี้ ฉันอยากรู้ว่าเขาชอบอ่านหนังสือเรื่องอะไร เขาชอบท้องฟ้าในฤดูร้อนมั้ย ชอบฟังวิทยุหรือเปล่า”

เหมือนดังเรื่องราวของลูกแกะกับสิงโตและแซนดี้กับเทรย์ ในช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตาย นิกสันกลับได้พบ ‘เพื่อน’ จากคนละเผ่าพันธุ์ และความโชคดีนี้ก็อาจทำให้เขารอดชีวิตไปได้

ความสำคัญของการเป็น ‘เพื่อน’ ในการก้าวข้ามความแตกต่างและขัดแย้ง ชวนให้ผู้เขียนนึกไปถึงอีกแง่มุมหนึ่งของอดัม สมิธ ที่คนทั่วไปมักจะไม่ทราบเลย ก็คือบทบาทของเขาต่อแนวคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำ

ซามูเอล ไฟร์แชคเกอร์ (Samuel Fleischacker) นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์แนวคิดเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ (distributive justice) กล่าวถึงอดัม สมิธ ว่า อาจถือได้ว่าเป็นนักคิดที่มีคุณูปการมากที่สุดคนหนึ่งต่อพัฒนาการของมุมมองที่เห็นความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญ

ไฟร์แชคเกอร์อธิบายถึง The Wealth of Nations ว่าคนทั่วไปมักจะไปสนใจคำอธิบายของสมิธเกี่ยวกับเงินทอง การค้า และความมั่งคั่ง แต่เนื้อหาในงานชิ้นนี้ที่มีความก้าวหน้าที่สุดจริงๆ กลับอยู่ที่มุมมองต่อคนยากจน สมิธอธิบายถึงคนยากจนด้วยมุมมองที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากที่เป็นอยู่ในบริบทแวดล้อมเขา

ในสังคมยุโรปยุคต้นคริสตศตวรรษที่ 18 ของสมิธนั้น มุมมองหลักต่อคนยากจนก็คือ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไร้คุณภาพ ไร้ศีลธรรมในการใช้ชีวิต ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีแนวคิดว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างไร มีแต่แนวคิดว่าจะควบคุมความไร้ศีลธรรมของพวกคนยากจนอย่างไร การจัดการปัญหาความยากจนไม่ได้หมายถึงการช่วยลดความยากจน แต่หมายถึงการควบคุมคนยากจนไม่ให้ไปก่อปัญหากับคนอื่นๆ ในสังคม

ในบริบทความคิดเช่นนี้ สมิธกลับนำเสนอมุมมองที่แทบจะตรงกันข้าม ว่าคนที่อยู่ในภาวะยากจนนั้น ที่จริงก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีศักยภาพจะทำอะไรได้ดีไม่ต่างไปจากคนอื่นๆ

เขาเล่าเปรียบเทียบคนที่เป็นนักปราชญ์และคนรับใช้ ว่าแท้ที่จริงพวกเขาอาจแตกต่างกันแค่โอกาสที่ได้รับในด้านการศึกษาและการบ่มเพาะนิสัย สมิธอธิบายว่าคนยากจนมักไม่ได้ขี้เกียจและยังต้องทำงานหนักอยู่เสมอ แต่ปัญหาก็คือ พวกเขาได้รับส่วนแบ่งในมูลค่าการผลิตที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของตนเองน้อยเกินไป

“อันที่จริงพวกเขาต้องคอยแบกโครงสร้างสังคมทั้งหมดเอาไว้ คอยเติมเต็มความสะดวกสบายให้กับคนอื่นๆ แต่กลับได้รับส่วนแบ่งไปสู่ตนเองน้อยมาก และชีวิตยังถูกบดบังไว้ไม่ให้มีใครมองเห็น” (อดัม สมิธ จาก Lectures on Jurisprudence)

อดัม สมิธ ปรับภาพของการมองคนยากจนเสียใหม่ ว่าเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทัดเทียมกันกับคนอื่นทุกคน การเปลี่ยนมุมมองนี้โยงอยู่กับแนวคิดทางจริยธรรมที่สมิธนำเสนอ สมิธชักชวนให้คนที่อ่านงานของเขาลองถอนตัวเองออกจากบริบทที่มีการแบ่งแยกคนรวยหรือจน เหนือกว่าหรือด้อยกว่า แล้วลองมองไปที่มนุษย์คนหนึ่งที่ต้องอยู่ในภาวะความยากจน พร้อมกับตั้งคำถามว่า ใครก็ตามควรจะต้องตกอยู่ในภาวะเช่นนั้นหรือไม่ สมิธเชิญชวนให้ลองคิดไปถึงประสบการณ์ที่คนยากจนต้องประสบ ว่าหากเป็นเราเองที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนั้นบ้างจะรู้สึกอย่างไร

ที่สำคัญกว่านั้น สมิธยังชวนให้เราลองจินตนาการดูว่า หากมนุษย์ที่ต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายเหล่านั้นเป็น ‘เพื่อน’ ของเรา หรือเป็นญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดกับเรา เราเองยังจะอยากให้พวกเขาต้องอยู่ในสภาวะแบบนั้นหรือ หากคำตอบคือไม่ ก็ไม่ควรจะมีใครที่ต้องประสบกับภาวะความยากจน และเราก็คงอยากให้เพื่อนในจินตนาการของเรานั้นมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี ได้รับการดูแลสุขภาพ และมีระบบที่ช่วยป้องกันพวกเขาจากความเสี่ยงต่างๆ ที่จะดึงให้ตกไปสู่ความยากจน

การเปลี่ยนมุมมองต่อคนยากจนของอดัม สมิธ ส่งผลสำคัญต่อการปรับแนวคิดเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) หัวใจของการปรับเปลี่ยนดังกล่าวก็คือการมองมนุษย์ว่าต่างก็มีคุณค่าเท่าเทียมกัน และมุ่งแสวงหาระบบสังคมที่จะช่วยให้มนุษย์ได้บรรลุศักยภาพที่แต่ละคนมี ซึ่งอิทธิพลของมุมมองใหม่นี้ ช่วยวางรากฐานทางความคิดให้เกิดการเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเกิดการพัฒนาระบบสวัสดิการในเวลาต่อมา

ในช่วงท้ายของเรื่อง เพื่อนของนิกสันกล่าวกับเขาก่อนจากลากันว่า “บางคืน ฉันนอนครุ่นคิด ในสังคมของคนตาดำ มีเพียงฉันคนเดียวหรือที่เป็นแบบนี้ มีอีกกี่คนที่คิดเหมือนฉัน… ฉันทรมาน อยากออกจากสังคมที่วิปลาสนี้ ไปอยู่กับพวกเธอ เหมือนกับสิงโตตัวนั้น… สักวัน ฉันจะทิ้งปืนและปฏิเสธคำสั่งให้ออกล่า หวังว่าในวันนั้น…จะมีคนอื่นๆ ที่กล้าพอจะลุกขึ้นปฏิเสธบ้าง…เมื่อนั้น เราคงมีหวังจะจบสงคราม”  

การปรับเปลี่ยนมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำก็เช่นกัน แม้ยุคสมัยของอดัม สมิธ จะผ่านมาหลายร้อยปี แต่การชักชวนให้คนส่วนใหญ่ลองปรับทัศนคติของตนเองต่อคนที่ด้อยกว่า ให้พวกเขาลองมองเหล่าคนยากจนที่เคยเป็นอื่น ให้กลายเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ต่างก็ควรได้รับโอกาสมีชีวิตที่ดี ก็ยังคงเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสังคมในหลายประเทศอยู่ต่อไป

 


 

อ้างอิง

  1. จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท. 2560. สิงโตนอกคอก. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ: แพรวสำนักพิมพ์
  2. Brown, Viviene. 2016. ‘The Impartial Spectator and Moral Judgment’. Econ Journal Watch. 13(2). 232–248
  3. Fleischacker, Samuel. 2004. A Short History of Distributive Justice. Cambridge MA: Harvard University Press
  4. คำกล่าวถึงคนยากจนของอดัม สมิธ มาจาก Lectures on Jurisprudence หน้า 341 อ้างอิงไว้ใน Fleischacker, S. 2004 หน้า 38

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022