fbpx

‘สู่ศตวรรษใหม่ พรรคคอมมิวนิสต์จีน’ กับ สิทธิพล เครือรัฐติกาล

1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศจีนจัดงานเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริก ในวาระครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ หลังผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย จนกระทั่งพาจีนทะยานขึ้นสู่ความเป็นหนึ่งในมหาอำนาจชั้นนำของโลกได้อย่างทุกวันนี้

ในห้วงเวลา 1 ศตวรรษ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยิ่งใหญ่เกรียงไกรขึ้นหลายเท่าตัว แต่นั่นก็มาพร้อมกับความท้าทายที่ใหญ่หลวงขึ้นทั้งจากภายในและภายนอก

101 ชวน รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยถึงพัฒนาการตลอด 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน พร้อมมองอนาคต ความท้าทาย และความฝันอันทะเยอทะยานของพรรค ก่อนเดินหน้าสู่ศตวรรษใหม่

YouTube video

:: จาก 1921 ถึง 2021
ย้อนมองพัฒนาการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ::

เมื่อพูดถึงการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องย้อนกลับไปในช่วงยุคหลังการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงโดยซุนยัตเซ็น สภาวะทางการเมืองของจีน ณ ขณะนั้นเป็นสภาวะทางการเมืองที่ไร้เอกภาพจนทำให้เกิดการถกเถียงกันระหว่างปัญญาชน และกลายเป็นยุคขบวนการวัฒนธรรมใหม่หรือขบวนการ 4 พฤษภาคม การนำแนวคิดหลายอย่างมาถกเถียงกันและความสำเร็จของการปฏิวัติรัสเซียล้วนเป็นที่มาของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1921 

ในช่วงแรกพรรคคอมมิวนิสต์ร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋งเพื่อปราบปรามขุนศึก แต่หลังจากที่เจียงไคเช็กขึ้นเป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งก็ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์กลายเป็นพรรคนอกกฎหมายและต้องเดินทางไกลเพื่อหนีการปราบปรามของพรรคก๊กมินตั๋ง (Long March) แต่ทั้งสองพรรคกลับมาร่วมมือกันอีกครั้งในปี 1937 เพื่อสู้รบกับญี่ปุ่น พรรคคอมมิวนิสต์อาศัยจังหวะนี้ขยายฐานที่มั่นในชนบทและได้แรงสนับสนุนจากผู้คนในชนบทเป็นอย่างมาก หลังจากสงครามต่อต้านญี่ปุ่นจบลงไม่นานก็เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคก๊กมินตั๋งขึ้น ก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จะได้รับชัยชนะไปในปี1949 ทำให้เจียงไคเช็กต้องย้ายเมืองหลวงไปกรุงไทเป  

หลังจากปี 1949 การเปลี่ยนแปลงของสาธารณรัฐประชาชนจีนแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ได้แก่ ‘ยุคเหมา’ และ ‘หลังยุคเหมา’  

ลักษณะสำคัญของยุคของเหมาคือ mass mobilization เหมามองว่าการปฏิวัติต้องซึมลึกเข้าไปในวิถีชีวิต เห็นได้จากการปลุกระดมให้ประชาชนทำกิจกรรมต่างๆ  แต่ในช่วง ‘หลังยุคเหมา’ ผู้นำรุ่นที่สองอย่างเติ้งเสี่ยวผิงได้ยุติแนวคิดการส่งออกการปฏิวัติและหันมาใช้นโยบายปฏิรูป เติ้งมองว่าการสร้างลัทธิสังคมนิยมไม่จำเป็นต้องใช้การปลุกระดมมวลชนแบบยุคเหมา แต่สามารถใช้กลไกทางตลาดมาปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งผู้นำจีนจนถึงปัจจุบันก็ยังคงดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศต่อไป

สำหรับปัจจัยที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนประสบความสำเร็จมีด้วยกัน 3 ปัจจัย อย่างแรกคือความชอบธรรมที่มาจากความสามารถในการดำเนินนโยบายที่เห็นผล (performance legitimacy)  โดยพรรคมีผลงานที่จับต้องได้และประชาชนเห็นว่าประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง ความชอบธรรมจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้  อย่างต่อมาคือกลไกเชิงอุดมการณ์ ผู้นำพรรคตั้งแต่ยุคเหมาจนถึงสีจิ้นผิงยืนยันว่าไม่ได้ทิ้งลัทธิสังคมนิยม พรรคมีความสามารถในการตีความลัทธิมาร์กซ์-เลนินให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนไปและพยายามสร้างเรื่องเล่าว่าพรรคเป็นทางเลือกเดียวที่สร้างประเทศจีนใหม่และทำให้จีนอยู่รอดได้ในเวทีโลก อย่างสุดท้ายคือกลไกเชิงปราบปรามหรือการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการวิจารณ์พรรค

ความชอบธรรมที่มาจากความสามารถในการดำเนินนโยบายที่เห็นผล (performance legitimacy) กลไกเชิงอุดมการณ์ และกลไกเชิงปราบปราม คือสามกลไกหลักที่ทำงานร่วมกันและทำให้พรรคอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้

:: ระเบิดเวลาภายใต้ความสำเร็จของพรรคในยุคสีจิ้นผิง ::

เป้าหมายสูงสุดของสังคมนิยมในความคิดของสีจิ้นผิงคือการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันและจีนต้องออกไปมีบทบาทในระดับโลก ไม่ใช่แค่มุ่งแต่การปฏิรูปภายใน ซึ่งเป็นความคิดที่แตกต่างจากผู้นำรุ่นก่อน ถ้าเราดูจากเอกสารของพรรคว่าด้วยการอธิบายแนวคิดสังคมนิยมของสีจิ้นผิงจะพบว่าการมีกองทัพระดับโลก(world-class military) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ ในเมื่อการปฏิรูปต้องพึ่งพาโลกภายนอก จีนจึงจำเป็นต้องมีกองทัพระดับโลกเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีน เราจะเห็นได้ว่าในยุคสีจิ้นผิงจีนมีฐานทัพในต่างประเทศ เช่น ตามประเทศในทวีปแอฟริกา สังคมนิยมในยุคสีจิ้นผิงแสดงให้เห็นถึงการปฏิรูปภายนอกประเทศเพื่อตอบสนองการปฏิรูปภายในอีกที

ด้านความสำเร็จของสีจิ้นผิงคือการขจัดกลุ่มทางการเมืองออกไปจากพรรค การเผด็จอำนาจของสีจิ้นผิงทำให้จีนผลักดันนโยบายออกมาได้รวดเร็วกว่ายุคก่อน แต่จุดอ่อนที่สำคัญของพรรคคือการรวมอำนาจไว้ที่บุคคลเดียว (dominant leadership) สำหรับเติ้งมองว่าการรวมอำนาจไว้ที่บุคคลเดียวจะส่งผลให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ดังนั้นจึงพยายามกระจายอำนาจให้เป็นแบบผู้นำรวมหมู่ (collective leadership) โดยเน้นการเจรจาระหว่างกลุ่มเพื่อให้ได้ฉันทามติ  แต่สีจิ้นผิงได้ทำลายกลุ่มต่างๆ และกลายเป็น dominant leader เห็นได้จากการตีพิมพ์สารนิพนธ์ของผู้นำออกมาถึงสามฉบับในขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่  

จุดอ่อนอีกอย่างคือปัญหาการสืบทอดอำนาจ ตั้งแต่ปี1997 มีธรรมเนียมจำกัดอายุของสมาชิกโปลิตบูโรว่าต้องอายุไม่เกิน 70 ปีในวันที่โหวตเลือกและมีการกำหนดว่าอายุไม่ควรเกิน 68 ปีในภายหลัง  ในช่วง 20 ปี ก่อนหน้านี้เราจะพอมองออกได้ว่าใครน่าจะเป็นเลขาธิการพรรคคนต่อไป แต่การที่สมาชิกโปลิตบูโรในปัจจุบันมีอายุไล่เลี่ยกับสีจิ้นผิงสะท้อนว่าสีจะอยู่เป็นเลขาธิการพรรคต่อไป ความไม่ชัดเจนเรื่องการสืบทอดอำนาจอาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบอบเผด็จการ (authoritarian)

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีอยู่ได้เกิน 2 สมัยนั้นมีนัยสำคัญ 2 เรื่อง 1. การเกิดแรงเสียดทานทางการเมืองหรือความไม่พอใจระหว่างสมาชิกระดับสูง เพราะการที่สีจิ้นผิงอยู่ต่อ เท่ากับว่าสีต้องการรักษาเก้าอี้ตัวเองไว้เพื่อให้เครือข่ายของตัวเองได้อยู่ต่อ ซึ่งอาจจะทำให้เครือข่ายอื่นไม่พอใจ 2. ปัญหาด้านนโยบายต่างประเทศ สีจิ้นผิงจะต้องทำผลงานเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าแม้เขาจะอยู่ต่อแต่ประเทศก็ยังคงมีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเราจะเห็นจุดยืนด้านการต่างประเทศของสีที่ก้าวร้าว (assertive) มากขึ้น เห็นได้จากที่สีพูดในการเดินสวนสนามเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า “จีนจะไม่รุกรานใครก่อน แต่ถ้าใครมารังแกจีนจะต้องศีรษะแตกและเลือดไหลโชน”  ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความสำคัญที่สีต้องการสื่อสารต่อประชาชนว่าตนเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีภารกิจยิ่งใหญ่ที่ต้องทำต่อ

:: ความฝันอันยิ่งใหญ่ของพรรค ::

ถ้าอิงจากโซเชียลมีเดียในจีน มุมมองของประชาชนทั่วไปที่มีต่อพรรคและผู้นำค่อนข้างไปในทางบวก ประชาชนส่วนมากวิจารณ์ไปที่การดำเนินนโยบาย แต่การวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์หรือเรื่องการผูกขาดอำนาจของสีจิ้นผิงยังไม่ได้เป็นความคิดกระแสหลักในหมู่คนจีน ดังนั้นคนจีนยังมองพรรคในด้านบวก มองปัญหาการบริหารงานที่เกิดขึ้นว่าไม่ใช่เพราะพรรคผูกขาดอำนาจ แต่เป็นปัญหาด้านการดำเนินนโยบายมากกว่า

สังคมมีกินมีใช้แบบรอบด้านหรือที่เรียกว่า “เสี่ยวคังเซ่อฮุ่ย” (小康社会) เป็นสิ่งที่เติ้งเสี่ยวผิงตั้งเอาไว้ว่า ภายในต้นศตวรรษที่ 20 จีนจะต้องบรรลุความเป็นสังคมแบบมีกินมีใช้แบบรอบด้าน ภายหลังทางการจีนได้ตั้งตัวชี้วัดขึ้นมาคือการกำหนดให้ประชาชนมีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่าสี่พันหยวน ซึ่งจีนได้ใช้ตัวชี้วัดนี้ในการประกาศว่าจีนประสบความสำเร็จในการขจัดความยากจนในปีที่ผ่านมา แต่การที่พ้นเส้นความยากจนไม่ได้หมายความว่าปัญหาอื่นๆ ได้หมดไป เพราะจีนยังประสบความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ จีนวางเป้าหมายในปี 2035 ว่า GDP ต้องโตขึ้นจากปัจจุบันอีกหนึ่งเท่าตัว การจะไปถึงเป้าหมายนั้น จีนจะต้องมีการเติบโตของ GDP ไม่ต่ำกว่า 3.5% ต่อปี ซึ่งจีนเองก็รู้ว่านี่เป็นเรื่องท้าทาย

ดังนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับปัจจุบันของจีนจึงตั้งเป้าเพื่อตอบสนองเรื่องนี้โดยพยายามชูเรื่อง ‘การหมุนสองวง’ (dual circulation) หรือการอาศัยฟันเฟืองจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ (domestic and external circulation) ถ้าสังเกตจากในระยะหลัง สีจิ้นผิงมองว่าจีนควรพึ่งการผลิตและบริโภคในประเทศมากกว่า เพราะฟันเฟืองจากต่างประเทศค่อนข้างแปรปรวน เห็นได้จากการที่สหรัฐฯ ตั้งมาตรการกีดกันสินค้าจีนไปสู่ตลาดตะวันตก ส่วนเป้าหมายในปี 2049 หรือที่จีนเรียกว่า ‘การฟื้นฟูประชาชาติ (national rejuvenation)’ คำนี้มีนัยที่สำคัญมากในด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ซึ่งหมายถึงจีนจะทวงคืนสิทธิอันชอบธรรมที่สูญหายไปในช่วงเวลาที่จีนถูกต่างประเทศรุกราน (century of humiliation)  ซึ่งจีนต้องใช้เวลา 100 ปีในการฟื้นฟูประชาชาติ นั่นหมายความว่าในปี 2049 จีนจะต้องรวมชาติโดยแก้ไขปัญหาอธิปไตยของไต้หวันและข้อพิพาทในทะเลจีนให้จบ

:: ภาพลักษณ์ในแบบที่จีนต้องการ ::

จีนพูดตลอดเวลาว่าจะไม่ทำตัวแบบมหาอำนาจในอดีตและมองว่าการทะยานของจีนเป็นการฟื้นฟูสถานะอันชอบธรรม  เพราะก่อนสงครามฝิ่นจีนมีสถานะเป็นศูนย์กลางโลกแต่ถูกต่างชาติรุกราน ดังนั้นจีนต้องการจะสื่อว่าตนต้องการคืนทวงสถานะการเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นขี้ข้าของจีน ซึ่งต่างจากที่คนภายนอกมองว่าจีนเป็น expansionist power 

จีนมีปัญหาในการสื่อสารและสร้างภาพลักษณ์ เนื่องจากมุมมองที่แตกต่างกัน โดยจีนมองว่าเขาเป็นมหาอำนาจมาก่อนและมีสิทธิที่จะทวงคืนความชอบธรรม แต่ต่างชาติมองว่าจีนกำลังขยายอำนาจในแบบของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นความขัดแย้งในเชิงโลกทัศน์ (clash of worldview) จีนเองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ เห็นได้จากการที่สีจิ้นผิงย้ำว่าต้องปรับปรุงการสื่อสารเพื่อให้ต่างชาติเข้าใจจีนอย่างถูกต้องมากขึ้น ปัญหาคือแม้ว่าวิธีการสื่อสารอาจปรับปรุงได้ แต่เนื้อหาสาระยังเหมือนเดิม เช่น กรณีทะเลจีนใต้ จีนยืนยันว่ายินดีที่จะเจรจากับประเทศคู่พิพาท แต่ทุกประเทศต้องยอมรับหลักการเรื่องกรรมสิทธิ์ของจีน นี่ถือเป็นความขัดแย้งเชิงโลกทัศน์มากกว่าเรื่องผลประโยชน์ไม่ลงตัวหรือความขัดแย้งทางยุทธศาสตร์

นอกจากนี้ นโยบายต่างประเทศในยุคสีจิ้นผิงสะท้อนถึงความสำเร็จในการปฏิรูปภายในและความมั่นใจในการออกไปผจญภัยในต่างประเทศ เดิมทีเติ้งพูดถึงเรื่อง keep low profile หรือการมุ่งไปที่การปฏิรูปในประเทศในสองทศวรรษแรก แต่ตอนนี้สถานะทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนต่างไปจากเดิม ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นจีนจึงจำเป็นต้องมีนโยบายรักษาผลประโยชน์ของตนเองในภูมิภาคต่างๆ อย่างเรื่องการตั้งฐานทัพเรือในจิบูตี จีนมองว่าการมีฐานทัพเรือดังกล่าวก็เพื่อคุ้มครองเรือสินค้าของจีนและนานาชาติจากโจรสลัด หรือในอีกแง่นึงอาจกล่าวได้ว่าจีนกำลัง provide public goods

ในส่วนของ Belt and Road Initiative (BRI) นั้น เริ่มต้นได้ดีเพราะมีหลายประเทศร่วมลงทุนเป็นสมาชิกของธนาคารเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของเอเชีย (AIIB) แต่ผลของโควิดทำให้โครงการใน BRI ต้องชะลอไป เพราะประเทศในแถบเส้นทางต้องปรับนโยบายการลงทุนใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะงักลง อย่างไรก็ตาม จีนยังคงต้องผลักดัน BRI หรือโครงการในลักษณะนี้ต่อไปเพื่อลดการพึ่งพาจากสหรัฐฯ 

ด้านการเมืองระหว่างประเทศหรือความมั่นคง จีนมีแนวโน้มที่จะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นภัยคุกคามของสหรัฐฯ เช่น เกาหลีเหนือ จะเห็นได้ว่าเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตึงเครียด จีนจะใช้ความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับสหรัฐฯ ทันที ยามที่สหรัฐฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก

:: เส้นทางของจีนสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ::

มีความเป็นไปได้สูงมากที่จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ เห็นได้จากการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่อยากชวนมองเรื่องความสำเร็จของการเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ ตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการเสริมอำนาจแบบแข็ง (hard power) และอำนาจแบบอ่อน (soft power) แต่ในกรณีของจีนแม้อำนาจแบบแข็งจะไม่มีปัญหามากนัก แต่ในด้านอำนาจแบบอ่อนยังเป็นปัญหาที่น่าคิดต่อ 

ถ้าเทียบกับสหรัฐฯ แล้ว ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ดึงดูดผู้คนให้อยากไปใช้ชีวิตที่นั่น แต่กลับกันจีนสามารถเป็นจุดหมายปลายทางของคนทั่วโลกได้มากแค่ไหน นี่ยังเป็นคำถามอยู่ ฉะนั้นอยากชวนมองว่าการจะขึ้นเป็นมหาอำนาจได้ นอกจากอำนาจแบบแข็งแล้ว จีนยังต้องเดินทางอีกไกลในการพัฒนาอำนาจแบบอ่อน ถึงแม้ว่าจีนจะพยายามปรับภาพลักษณ์  แต่ด้วยการที่เป็นประเทศสังคมนิยม คนส่วนมากจึงมองว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า นอกจากนี้ จีนพยายามผลักดันระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ขึ้นมา เพราะมองว่าระเบียบเดิมที่เขียนโดยสหรัฐฯ ยังมีจุดอ่อน  จีนจึงต้องการเสนอ alternative international order ดังนั้นโลกาภิวัตน์จากจีนเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง 

สำหรับประเทศไทย เรายืนอยู่ตรงกลางเพราะเราเป็นพันธมิตรกับทั้งสองฝ่าย แต่การทูตเพื่อเอาตัวรอดอย่างเดียวคงไม่พอ ไทยควรเป็นประเทศที่ชักจูงประเทศอาเซียนให้มีจุดยืนร่วมกันในความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เช่น เมื่อใดที่เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ควรมาตกลงเจรจากันในแพลตฟอร์มของอาเซียน เพราะนอกจากจะลดความตึงเครียดในภูมิภาคแล้ว ยังยกระดับการทูตไทยด้วย แต่การจะทำอย่างนั้นได้ ไทยจะต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศด้วย ซึ่งก็เป็นโจทย์ยากของประเทศไทยในขณะเดียวกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save