fbpx
Silence คุณค่าของความเงียบ

Silence คุณค่าของความเงียบ

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่อง

ช่วงที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ร่วมสนทนากับคนในแวดวงการศึกษาหลายกลุ่ม ประเด็นหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของเราคือเรื่องทักษะที่จำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ บ่อยครั้งที่การพูดคุยจบลงโดยการยอมรับกันกว้างๆ ว่าการคิดเชิงวิพากษ์ การทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหา ความรอบรู้ในโลกดิจิทัล คือเป้าหมายหลักของการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน แต่ไม่นานมานี้ผมพบว่าทักษะล้ำค่าอีกประการหนึ่งที่เรามองข้ามไปเสมอก็คือ การเงียบ

ใช่ครับ ผมคิดว่าเด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่อย่างเราๆ ควรถูกแนะนำให้รู้จักกับความเงียบกันให้มากขึ้น และไม่ใช่เพียงรู้จัก แต่ยังต้องหัด ‘เงียบ’ ให้เป็นด้วย

ความเงียบอยู่ไหนและสำคัญอย่างไร?

ผมอยากชวนคิดต่อยอดจากหนังสือ Silence: In the Age of Noise (แปลไทยโดยคุณวรรธนา วงษ์ฉัตร) ความเรียงเชิงปรัชญาของอาร์ลิง คอกเก (Erling Kagge) นักสำรวจชาวนอร์วีเจียนผู้เดินทางพิชิตสามขั้วโลก (เหนือ ใต้ และเอเวอเรสต์) ได้ตั้งแต่อายุสามสิบต้นๆ

เงียบ Silence in the age of noise
ภาพจาก readery.co

ผู้เขียนพาเราไปทบทวนความหมายอันแยบคายของความเงียบในต่างท่วงทำนองของชีวิต โดยอาศัยประสบการณ์การเดินทางสำรวจดินแดนต่างๆ ของโลก แต่งแต้มด้วยบทสนทนากับนักคิดนักปรัชญาเป็นหมุดนำทางที่ทั้งน่าคิด ชวนสงสัย และควรตั้งคำถามไปพร้อมๆ กัน

ข้อดีคือคอกเกไม่ได้วางท่าเป็น ‘ผู้ (หลงคิดว่าตนเอง) รอบรู้’ ซึ่งคอยสั่งสอนคนทั้งหลายให้พบหนทางที่แท้จริงของชีวิตเช่นที่เราอาจพบได้ในปากคำของเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือไลฟ์โค้ชคนแล้วคนเล่า

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ชวนเชื่ออย่างซื่อๆ เช่นผู้หลงใหลในการเดินทางบางคนที่มักทึกทักเอาว่า การท่องโลกเป็นหนทางเดียวเท่านั้นในการเรียนรู้ความหมายที่แท้จริงของชีวิต ดังนั้นจึงหมิ่นแคลนคนที่ฝักใฝ่การลงหลักปักฐาน และหลงผิดว่าอีโก้ที่ใหญ่คับฟ้าคือสิ่งเดียวกันกับสายตาที่กว้างไกล

กลับกัน หนังสือพูดคุยกับเราอย่างเป็นมิตรเกี่ยวกับแง่มุมที่เรียบง่ายทว่าลึกซึ้ง แม้บางส่วนจะโรแมนติไซส์ความเงียบจนน่าหงุดหงิดไปบ้าง แต่ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่สิ่งที่ผมเชื่อ แต่เป็นสิ่งที่เราต่างค้นพบด้วยวิธีการของเราเอง […] พวกเราทุกคนล้วนมีหนทางของเราเอง” ในการทำความรู้จักกับความเงียบ (111)

คอกเกเล่าให้เราฟังว่าท่ามกลางความไพศาลของแอนตาร์กติกา ความเวิ้งว้างของอาร์กติกหรือแปฟิซิก ความมืดมิดของอุโมงค์ใต้ดินเมืองนิวยอร์ค หรือในขณะที่เรากำลัง “วิ่ง ทำอาหาร มีเซ็กส์ เรียนหนังสือ พูดคุย ทำงาน หาแนวคิดใหม่ อ่านหนังสือ หรือเต้นรำ” (47) ความเงียบปรากฏอยู่ในทุกหนทุกแห่ง

เขาจำแนกความเงียบในชีวิตเราออกเป็นสองลักษณะกว้างๆ คือความเงียบจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและความเงียบที่อยู่ภายในตัวเรา

อย่างหลังนี่เองที่เขาเห็นว่าน่าสนใจที่สุด เพราะมันเป็น “ความเงียบที่พวกเราแต่ละคนต้องสร้างขึ้น ผมไม่ได้พยายามสร้างความเงียบสงบสงัดรอบตัวผมอีกต่อไปแล้ว ความเงียบที่ผมไล่ล่าคือความเงียบที่อยู่ภายใน” (25)

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าความเงียบสองแบบนี้สัมพันธ์กันมากเกินกว่าจะคิดถึงอย่างใดอย่างหนึ่งแบบโดดๆ เพราะสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบย่อมเปิดโอกาสให้เราค้นพบความเงียบภายในได้ง่ายกว่าสภาพที่อึกทึกวุ่นวาย และในเมื่อเราอยู่ในโลกที่ทั้งครึกโครมและฉับไว คอกเกจึงเห็นว่าเรา “ไม่สามารถรอให้มันเงียบเองได้ … คุณต้องสร้างความเงียบของคุณขึ้นมาเอง” (50) ไม่ว่าจะด้วยการ “ตัดใจ ปิดโทรศัพท์ นั่งลง ไม่พูดอะไร หลับตา สูดลมหายใจให้เต็มปอดสองครั้ง และพยายามคิดถึงอะไรบางอย่างนอกเหนือจากสิ่งที่คิดตามปกติ ทางเลือกคือ ไม่คิดอะไรทั้งสิ้น คุณอาจเรียกวิธีการนี้ว่า นั่งสมาธิ ฝึกโยคะ มีสติ หรือแค่มีสามัญสำนึก” (68)

แต่แม้จะยืนยันว่าเราทุกคนสามารถค้นพบความเงียบภายในได้ตลอดเวลา “แม้ในยามที่เราแวดล้อมด้วยเสียงที่ดังอย่างสม่ำเสมอ” (25) คอกเกกลับยอมรับอยู่ในทีว่าเมื่อต้องหวนมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ การเงียบก็กลายเป็นเรื่องยากลำบากขึ้น หลายครั้ง “ถ้าผมไม่สามารถพบเจอความสงบนิ่งท่ามกลางชีวิตในเมือง ผมจะโหยหาความเงียบมาก และจะต้องกลับไปหาธรรมชาติให้บ่อยขึ้น” (26)

ความย้อนแย้งในตัวเองนี้ชวนให้เราคิดว่า หรือจริงๆ แล้วการจำแนกความเงียบออกเป็นสองลักษณะเป็นเรื่องฉาบฉวยเกินไป เพราะไม่มีความเงียบภายในใดๆ จะเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความสัมพันธ์กับภายนอก นอกจากนี้ การสร้างและค้นหาภาวะที่เงียบสงัดล้วนแต่มีราคาต้องจ่ายมากน้อยต่างกันไป พูดอีกอย่างคือการได้มาซึ่งความเงียบมักต้องอาศัยต้นทุนบางอย่างเสมอ

ชีวิตที่ปั่นป่วน ร้อนรน และขาดแคลนคงยากจะเงียบสงบเมื่อเทียบกับชีวิตที่ไม่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำและ ‘มี’ มากพอจะเงียบได้

ธรรมชาติที่เงียบอาจไม่ใช่สัญญาณที่ดีเสมอไป ขณะเดียวกัน การมุ่งหน้าหาความเงียบด้วยการออกเรือเดินทาง เข้าถ้ำอยู่ป่า หรือกระทั่ง “ตัดสินใจไม่ตอบข้อความหรือไม่รับโทรศัพท์เมื่อมันดัง โยนความคาดหวังที่ไม่สำคัญสำหรับคุณ จากเพื่อนร่วมงาน เครือข่ายธุรกิจและครอบครัวไปให้คนอื่นแทน หรือไม่ก็เพิกเฉยไปเลย” (59) ล้วนแต่เป็นหลักฐานว่าในบางกรณี ความเงียบอาจกลายเป็นความหรูหราที่แท้จริง เพราะมัน “เป็นเรื่องของสถานะและความสุขที่น้อยคนจะมีสิทธิ์เอื้อมถึง” (58)

แม้ “ความเงียบคือ การตัดออก และลดอะไรบางอย่างลง เหนืออื่นใด ความเงียบคือประสบการณ์ที่สามารถได้มาฟรีๆ และไม่จำเป็นต้องแทนที่มันด้วยสินค้าหรูๆ ของฤดูกาลต่อไป” (58-59) แต่ความเงียบในหลายกรณีไม่เคยฟรี และเงื่อนไขชีวิตนั่นเองที่ฉุดรั้งให้หลายคนกลายเป็นคนแปลกหน้าของความเงียบ

“คนในระดับล่างมักถูกบังคับให้ต้องทนเสียงอึกทึกในที่ทำงานมากกว่าคนระดับบน และบ้านของพวกเขาก็ไม่ได้หุ้มฉนวนปิดกั้นเสียงของเพื่อนบ้าน เศรษฐีอาศัยอยู่ในที่ที่มีเสียงอึกทึกน้อยกว่า อากาศดีกว่า รถของพวกเขาแล่นเงียบกว่า เช่นเดียวกับเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า พวกเขามีเวลาว่างมากกว่า กินอาหารที่สะอาดและดีต่อสุขภาพมากกว่า ความเงียบกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำที่เปิดโอกาสให้คนไม่กี่คนมีชีวิตที่ยืนยาวกว่า แข็งแรงกว่า และเต็มเปี่ยมกว่าคนส่วนใหญ่” (60)

ปัจจุบันงานวิจัยด้านมลภาวะทางเสียงในหลายประเทศทั่วโลกยืนยันประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความดังของเสียงกับข้อมูลเชิงประชากรของสหรัฐอเมริกาในปี 2558 พบว่าชุมชนในเขตคนรวยเงียบสงบกว่าย่านของคนจน ย่านที่ผู้อยู่อาศัยมีรายได้เฉลี่ย 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี มีเสียงรบกวนดังกว่าย่านที่ผู้อยู่อาศัยมีรายได้เฉลี่ย 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี อยู่ราว 2 เดซิเบล ขณะที่ชุมชนของคนผิวดำมีเสียงดังกว่าชุมชนของคนกลุ่มอื่นกว่า 4 เดซิเบล

ความแตกต่างตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมลพิษทางเสียงที่มากเกินไปสัมพันธ์กับปัญหาเชิงพฤติกรรมและสุขภาพ ตั้งแต่การนอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย ทำภารกิจในชีวิตประจำวันได้ไม่เต็มที่ ไปจนถึงเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

ความเงียบดำรงอยู่ทุกหนทุกแห่งแม้แต่ในที่ที่เสียงดังสม่ำเสมอ ไม่มีใครเถียง แต่คงไร้เดียงสาไปหน่อยหากเราเชื่อสนิทใจว่าการใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบ เนิบช้า และอยู่กับธรรมชาติเป็นเพียงเรื่องส่วนตัว ขึ้นอยู่กับปัจเจก และคนทุกคนต้องทำได้ โดยไม่เคยระวังระไวและใส่ใจต่อเงื่อนไขในชีวิตของคนอื่นมากพอ

ในแง่หนึ่ง ความเงียบจึงเป็นทักษะที่เราต้องฝึกฝนเพราะสภาพแวดล้อมโดยปกติของเราไม่เคยเงียบ และไม่ใช่ทุกคนจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบได้ง่ายๆ ขณะเดียวกันความเงียบเองก็เป็นสิทธิ์เพราะเราควรได้รับการันตีเช่นกันว่าจะได้ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เสียงไม่ได้ดังจนกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขขั้นพื้นฐาน สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความเงียบ

แต่เราทำเช่นนั้นไปเพื่ออะไร?

คอกเกเห็นว่า เหตุผลที่ความเงียบและการเรียนรู้ที่จะเงียบสำคัญยิ่งในโลกปัจจุบัน ก็เพราะแท้จริงแล้วความเงียบไม่เคยเงียบ แต่มันพูดบางอย่างกับเราอยู่ตลอดเวลา “การพูดคือสิ่งที่ความเงียบควรทำ มันควรพูด และคุณก็ควรคุยกับมันเพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่แฝงเร้นของมัน” (10)

ในโลกที่ตัวตนเราถูกท้าทายและเหวี่ยงไปมาด้วยจังหวะเวลาชีวิตที่เร่งรีบ ดูเหมือนความเงียบจะคอยกระซิบให้เราพูดคุยกับตัวเอง หยุดชะงักและนึกสงสัยว่าจริงๆ แล้วอะไรบ้างคือสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตเรา ความเงียบ “ไม่ใช่การเพิกเฉยต่อสิ่งรอบตัว แต่ตรงกันข้าม มันเป็นการพยายามมองโลกให้ชัดเจนขึ้นอีกนิด เป็นการคงมั่นบนเส้นทางและพยายามรักชีวิตของคุณ” (33)

ในโลกที่เราสามารถแสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องไตร่ตรองมากนัก ผู้คนปล่อยตัวเองให้หลากไหลไปตามกระแสเชี่ยวกรากของข้อมูล ข่าวสาร และเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้เราหวาดกลัวว่าจะพลาดอะไรดีๆ ไปหากไม่ได้กดติดตาม (45) ความเงียบทำหน้าที่คล้ายหินก้อนใหญ่ให้เราเกาะไว้เพื่อหยุดพักหายใจ

การชะลอและหยุดคิดมีประโยชน์มากเพราะช่วยให้เราประเมินสถานการณ์และตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นและเป็นไปอย่างมีความหมาย ความเงียบชวนให้เราสำรวจตัวเองให้ถี่ถ้วนเพราะไม่เช่นนั้นเราจะ

“เสียโอกาสอย่างมากที่จะมีชีวิตที่เต็มเปี่ยมกว่านี้ คุณไม่ยอมสำรวจความสามารถของตัวเอง คุณปล่อยให้ตัวเองว่อกแว่ก คุณไม่เคยหยุด แต่หันเหไปกับเสียง กับความคาดหวัง และกับภาพต่างๆ แทนที่จะจดจ่อกับสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ในวินาทีนี้ และสิ่งที่คุณอาจทำให้ต่างจากเดิม ผมไม่ได้บอกว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องง่าย แต่มันอาจคุ้มค่ากับความพยายาม” (48)

ในโลกที่ผู้คนรักที่จะส่งเสียงและได้ยินเสียง ความเงียบจึงกลายเป็นสิ่งล้ำค่า เพราะ “มันเป็นการเข้าไปในสิ่งที่คุณกำลังทำ เป็นการมีประสบการณ์ตรง ไม่ใช่เอาแต่คิด เป็นการยอมให้แต่ละช่วงเวลามีความสำคัญมากพอ เป็นการไม่ใช้ชีวิตผ่านประสบการณ์ของผู้อื่นหรือสิ่งอื่น เป็นการปิดกั้นโลกออกไป และสร้างความเงียบของคุณเอง” (47)

ความเงียบทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างเต็มเปี่ยม

คอกเกยกตัวอย่างแนวคิดทางปรัชญา งานศิลปะ รวมถึงหลักคำสอนของศาสนามากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ความเงียบมีประโยชน์ลึกซึ้งอีกประการหนึ่ง คือเป็นหนทางในการเข้าถึงความจริงของชีวิต

“พระเยซูกับพระพุทธเจ้าทรงเดินทางเข้าไปในความเงียบเพื่อจะรู้ว่าพระองค์ควรใช้ชีวิตอย่างไร พระเยซูเสด็จเข้าป่า พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นภูเขาและลงแม่น้ำ พระเยซูทรงเตรียมพระองค์ในความเงียบเพื่อพระเจ้า แม่น้ำได้สอนพระพุทธเจ้าให้ทรงรู้จักได้ยินและฟังด้วยหัวใจที่สงบนิ่งและด้วยความคิดที่เปิดกว้างรอคอย […]

อริสโตเติลและเพลโต นักปรัชญาโบราณ กล่าวถึงความรู้เกี่ยวกับนิรันดรและความจริงว่าเป็นสิ่งที่ไร้ถ้อยคำ เพลโตเรียกมันว่า อาเรตัน [arrheton] ‘ไม่สามารถพูดได้’ และอริสโตเติลเรียกมันว่า อานิว โลกู [aneu logou] ซึ่งแปลว่า ‘ปราศจากคำพูด’ นักปรัชญาทั้งสองกล่าวว่า ณ จุดสิ้นสุดของคำพูด คือการเปิดสู่โอกาสที่จะเข้าใจความจริงอันยิ่งใหญ่ได้ในทันที” (70-71)

เพราะในวินาทีที่เราหยุดพูดเท่านั้นที่เราจะมีโอกาสรับฟัง เมื่อเราฟัง เราเปิดกว้าง เมื่อเราเปิด เรารับ ‘รู้’

ฌ็อง-ลุค น็องซี (Jean-Luc Nancy) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า การรับฟังเป็นการกระทำทางจริยศาสตร์อย่างหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่เราเงียบและรับฟัง ตัวเรากำลังแสดงความเคารพและใส่ใจต่อผู้ที่กำลังพูด

คิดในทางกลับกัน การด่วนสรุปโดยไม่ทันได้ฟังและการขัดคอปิดปากไม่ให้คนอื่นพูดจึงเป็นปัญหาในทางจริยศาสตร์ พอๆ กับที่มันทำให้เราเบี่ยงเบนออกจากความเป็นจริง เพราะเมื่อเราไม่รับฟังก็ยากจะรู้ได้ว่าความจริงเป็นเช่นไร เมื่อเราไม่รู้ก็แก้ไขอะไรไม่ถูก เสี่ยงต่อการเข้าใจผิด และยิ่งถลำลึกลงไปในหุบเหวของความไม่รู้นั้นมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมคิดว่าความเงียบที่ว่านี้ไม่ใช่ความเงียบภายในหรือภายนอกที่กล่าวไว้ในหนังสือ แต่เป็นความเงียบอีกลักษณะหนึ่ง เป็นความเงียบ ‘ของ’ ตัวเราเอง ความเงียบที่เราสร้างขึ้นเพื่อคนอื่น เพื่อฟังเสียงของคนที่จำเป็นต้องพูด เพื่อเรียนรู้ให้มากขึ้น เพื่อตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิ์นี้เป็นพื้นฐาน สิทธิ์ที่จะช้า จะพัก จะเงียบ และใคร่ครวญความหมายในชีวิตของตนเอง เราเงียบเพื่อไม่ยอมให้ความเงียบเป็นของหรูหราหรือสิ่งล้ำค่าเฉพาะของใครบางคน

ความเงียบแบบสุดท้ายนี้จึงสำคัญมาก แต่ก็เป็นความเงียบที่เข้าถึงได้ยากที่สุดด้วย

เพราะแม้เราจะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ในสถานที่ที่เงียบสงบ หรือฝึกฝนจิตใจให้ร่มเย็นและอ่อนโยนเพียงใด ก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะเป็นคนที่เปิดกว้างและพร้อมรับฟังเสียงของผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ที่กำลังทุกข์ร้อนกว่าเรา มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มด้วยว่าเมื่ออิ่มเอมกับความเงียบภายในและภายนอกจนได้ที่ เราจะหลงสถาปนาตัวเองเป็นครูบาอาจารย์ที่ตื้นเขินพอจะตัดสินว่าปัญหาใดๆ ในชีวิตคนอื่นล้วนแต่เป็นเรื่องส่วนตัวและมีสาเหตุจากการไม่รู้จักกับการ ‘เดินทางภายใน’

ความเงียบของตัวเราจึงไม่อาจได้มาลำพังด้วยการถูกบังคับให้ทำสมาธิ กำหนดลมหายใจ หรือถูกข่มให้เงียบแบบไทยๆ คือหวาดกลัวการแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าตั้งคำถาม และพินอบพิเทากับความอยุติธรรมตามวัฒนธรรมของการ ‘อยู่เป็น’

หากแต่เป็นทักษะที่จำต้องได้รับการฝึกฝนผ่านวิธีการอื่นๆ เช่น การออกไปเรียนรู้ชีวิตและประสบการณ์ที่เจ็บปวดและไม่เป็นธรรมภายในสังคมที่บางคนถูกปลุกปั้นและหล่อหลอมให้ ‘เสียงดัง’ กว่าคนอื่นๆ

ในคลาสเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองครั้งหนึ่ง ผมชวนนักเรียนคิดเกี่ยวกับปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสังคมจากกรณีศึกษาต่างๆ ท้ายคาบผมให้นักเรียนชมคลิปวีดิโอสั้นๆ เกี่ยวกับ ‘ปั่กปั่ก’ อาหารปรุงใหม่จากเศษอาหารที่เก็บจากกองขยะเพื่อนำมาขายให้กับคนยากคนจนในฟิลิปปินส์

หลังดูคลิปนั้นจบ ผมลองถามนักเรียนในห้องว่ารู้สึกอย่างไร ท่ามกลางความเงียบหลายวินาที คำตอบหนึ่งค่อยๆ ผุดขึ้นเบาๆ เหมือนฟองอากาศ “พูดไม่ออกเลยค่ะ” นักเรียนคนหนึ่งบอก

ผมเห็นด้วยกับคักเกอว่า “ความเงียบจะโรยตัวลงมาเวลาที่คุณพินิจพิจารณาผลงานศิลปะอันยิ่งใหญ่ และพยายามเข้าใจสิ่งที่จิตรกรอยากจะสื่อ” (94) หรือในขณะที่เราซึมซาบรสชาติของประสบการณ์ “ระหว่างที่อยู่ไกลโพ้นบนพื้นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกา หรือใต้เมืองแมนฮัตตัน หรือเดินรอบกรุงออสโล หรือระหว่างเดินทางไปออฟฟิศ หรือนั่งบนเก้าอี้ในบ้าน” (108)

แต่คำตอบของนักเรียนคนนั้นทำให้ผมเข้าใจมากขึ้นว่า ความเงียบยังปรากฏในสถานการณ์อื่นได้อีก นั่นคือในขณะที่เราเพ่งพินิจถึงความทุกข์ยากและเจ็บปวดของผู้อื่นด้วยความใส่ใจ

บาดแผลของแต่ละคนรวดร้าวต่างกันไปและเราไม่มีทางจะพรรณนาได้อย่างถูกต้องว่าคนอื่นนั้นทุกข์ร้อนอย่างไร แต่เพราะอย่างนั้น การตกอยู่ในภวังค์ของการเผชิญโลกที่ไม่ได้งดงามอย่างที่เราเคยเชื่อนั้นจำเป็นมาก เพราะเมื่อเราพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นยากต่อการอธิบาย โหดร้ายกว่าที่เราคิด รุนแรงกว่าสิ่งที่เราเคยรู้และเข้าใจ เราจะเงียบเพราะยากจะพูด เงียบเพราะเราไม่รู้ และการรู้ตัวว่าไม่รู้นั่นเองคือเงื่อนไขที่จำเป็นที่สุดต่อการเรียนรู้ให้มากขึ้น

ความเงียบแบบสุดท้ายนี้จึงอาจไม่ได้นำเราไปสู่ความสงบสุขแบบที่ได้รับจากการเดินทางท่องโลกหรือพินิจพิจารณาจิตใจภายใน แต่มันเชื่อมโยงเราเข้ากับผู้อื่น ผลักเราไปไกลกว่าตัวเอง และช่วยให้เราทำความเข้าใจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมจึงคิดว่าในยุคที่เราเชียร์ให้เด็กๆ กล้าพูดกล้าถามกล้าสงสัย ทักษะสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มักถูกละเลยไปอาจเป็นการรู้จักเงียบให้เป็น เงียบเพื่อทบทวนว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต และเงียบเพื่อรับฟังให้มากขึ้นเพราะคำตอบในเรื่องบางเรื่องไม่ได้ง่ายดายอย่างที่เคยเข้าใจ

จังหวะจะโคนของการเรียนรู้ที่พึงปรารถนาจึงควรต้องผสมผสานสุ้มเสียงของความคิดเห็นที่ไม่ถูกปิดปากให้เงียบ เข้ากับช่วงเวลาแห่งการเงียบเพื่อใคร่ครวญและคิดคำนึงถึงคำถามที่ยากต่อการตอบ ต่อปรากฏการณ์ที่ท้าทายความเชื่อพื้นฐานที่เราคุ้นเคย ต่อความจริงที่ว่าโลกนี้โหดร้าย ไม่น่ารัก และโดยมากแล้วไม่เป็นธรรม

ความเงียบไม่ใช่ศัตรูของการเรียนรู้หรอกครับ การเงียบไม่เป็นต่างหากทำให้เราไม่อาจเรียนรู้อะไรได้เลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save