fbpx
สุภาพบุรุษนักฝัน Sherlock Jr.

สุภาพบุรุษนักฝัน Sherlock Jr.

‘นรา’ เรื่อง

 

บันทึกไว้ว่า 1 ใน 3 ของหนังที่ฉายรอบสุดท้าย วันสุดท้ายของโรงภาพยนตร์ลิโด เมื่อค่ำคืนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ได้แก่ Sherlock Jr. ซึ่งอยู่ในโปรแกรมเทศกาลหนังเงียบครั้งที่ 5

เป็นการเลือกหนังปิดท้ายโรงภาพยนตร์ในตำนานได้อย่างเหมาะเจาะ สมศักดิ์ศรี และคลาสสิคเหลือหลาย ทั้งความเกี่ยวโยงบางส่วนของเนื้อหาในเรื่องที่มีโรงหนังเป็นฉากหลังสำคัญ บรรยากาศในจอ-นอกจอที่ชวนให้รู้สึกถวิลถึงอดีต และเหนืออื่นใดคือ คุณค่าความยอดเยี่ยมของตัวหนัง

นี่เป็นเพลงหงส์สั่งลาของลิโด ด้วยการฉายหนังที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของโลกภาพยนตร์ และเป็นอีกเกียรติประวัติของโรงหนังแห่งนี้

 

Sherlock Jr. เป็นผลงานปี ค.ศ. 1924 กำกับและนำแสดงโดยบัสเตอร์ คีตัน 1 ใน 4 ของดาราตลกผู้ยิ่งใหญ่ยุคหนังเงียบ (อีก 3 คนคือ ชาร์ลี แชปปลิน, ฮาโรลด์ ลอยด์ และแฮร์รี แลงดอน)

เมื่อผ่านยุคหนังเงียบ ล่วงพ้นจนถึงปัจจุบัน กาลเวลาก็ทำหน้าที่คัดสรรกลั่นกรองกระทั่งเหลือผู้โดดเด่นเพียงแค่ 2 คือ แชปปลินกับคีตัน ทั้งคู่มักจะได้รับการกล่าวขวัญถึงเทียบเคียงกันอยู่เสมอ ว่าใครเก่งกว่าเหนือกว่ากัน และยังคงเป็นหัวข้อถกเถียงที่ไม่มีบทสรุป เนื่องจากทางตลกของทั้งสอง แตกต่างกันมาก และดีกันไปคนละแบบ

งานของแชปปลินเป็นเด่นในท่วงทีลีลาแบบ ‘หัวเราะร่าน้ำตาริน’ ขณะที่คีตันมาทาง ‘หวาน ตลก เร้าใจ’ เป็นการผสมผสานระหว่างอารมณ์ขัน ฉากแอ็คชันตื่นเต้นลุ้นระทึก บนท้องเรื่องที่เป็นรักโรแมนติค

ขณะที่วัดประเมินผ่านวิธีการทางศิลปะ แชปปลินเก่งฉกาจฉกรรจ์ไม่มีใครทาบติด ในการนำเอาเทคนิคของละครเวทีมาใช้กับหนังได้อย่างมีฤทธิ์เดชเต็มประสิทธิภาพ ส่วนงานของคีตันก็เต็มไปด้วยการบุกเบิกสร้างสรรค์เทคนิคใหม่ๆ ทางภาพยนตร์ จนกลายเป็นแบบอย่างสำหลักสำคัญให้แก่หนังรุ่นหลังๆ มากมาย โดยเฉพาะตระกูลหนังแอ็คชัน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า แทบทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฎเป็นตัวเป็นตนจนถึงปัจจุบันในกลุ่มหนังประเภทนี้ บัสเตอร์ คีตันเป็นผู้คิดค้นบัญญัติและวางรากฐานไว้ก่อนแล้วเกือบจะครบทุกกระบวนท่า

ผมชอบงานของแชปปลินมากเท่าๆ กับคีตัน และคิดว่าช่วงรุ่งเรืองบนความเป็นคู่แข่งระหว่างทั้งสอง ต่างเสริมส่งเกื้อหนุนกัน จนทำให้ตลกในยุคหนังเงียบ เกิดเป็นภาพรวมที่เพริศแพร้วสมบูรณ์แบบ

กล่าวเฉพาะบัสเตอร์ คีตัน มีเอกลักษณ์โดดเด่นในหนังของเขาอยู่ 2 ประการ อย่างแรกเป็นวิธีการแสดง ซึ่งตีสีหน้านิ่งเฉยราบเรียบตลอดเวลา ไม่เคยยิ้ม ร้องไห้ หรือสะท้อนอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้นให้เห็นบนใบหน้า (ยกเว้นการแสดงออกทางแววตาในบางครั้ง) แต่ผู้ชมก็สามารถตระหนักและแจ้งใจได้ทันทีว่า ตัวละครที่เขาสวมบทบาทกำลังทุกข์สุข สมหวัง ผิดหวัง หรือกำลังรู้สึกนึกคิดเช่นไร ผ่านท่าทางและการเคลื่อนไหว ในระดับที่ยกย่องเชิดชูกันว่า ‘เป็นนายของภาษากาย’

บุคลิก ‘ตลกหน้าตาย’ นี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเน้นให้ตัวละครของเขา มีความแปลกแยกแตกต่างจากผู้อื่น มีความเป็นคนนอกอยู่กรายๆ รวมทั้งเปลี่ยวเหงาและโรแมนติค

เอกลักษณ์ต่อมา คือ ความสามารถการเล่นฉากแอ็คชันโลดโผนเสี่ยงตาย หรือขั้นเบาะๆ ก็เสี่ยงต่อการเจ็บเนื้อเจ็บตัว ในแบบที่นักดูหนังยุคนี้คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีจากหนังของเฉินหลงและจา พนม รวมทั้งการริเริ่มทำในสิ่งที่เรียกว่าออกแบบคิวบู๊ตั้งแต่เมื่อ 90 กว่าปีที่แล้ว

Sherlock Jr. ได้รับการยกย่องให้ติดกลุ่มเป็นหนึ่งในผลงานเด่นของบัสเตอร์ คีตัน และเป็นงานที่ครอบคลุมลักษณะเด่นข้างต้นเอาไว้อย่างครบครัน

ตัวหนังมีความยาวเพียงแค่ 45 นาที เนื้อเรื่องว่าด้วยชายหนุ่มผู้มีอาชีพเป็นคนฉายหนัง ซึ่งมีความใฝ่ฝันใหญ่ๆ ในชีวิตอยู่ 2 ประการ อย่างแรกคือ การชนะใจหญิงสาวที่เขาหลงรัก อย่างต่อมาคือ เขาหวังใจไว้ว่าอยากเป็นยอดนักสืบแบบเชอร์ล็อค โฮล์มส์

แล้ววันหนึ่งความฝันทั้งสองก็เกี่ยวโยงเป็นเรื่องเดียวกัน เกิดเหตุลักขโมยนาฬิกาพกในบ้านของหญิงสาว จนพระเอกของเราได้โอกาสออกโรง แสดงความสามารถในเชิงสืบสวนสอบสวน แต่แทนที่จะสืบหาตัวคนร้ายได้สำเร็จ การณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เมื่อหลักฐานทุกอย่างผูกมัดให้เขาตกเป็นผู้ต้องสงสัยเสียเอง มิหนำซ้ำเมื่อพยายามจะสะกดรอยตามคนร้ายตัวจริง กลับพลาดพลั้งเสียทีจนแทบเอาตัวไม่รอด

 

 

ชายหนุ่มกลับไปทำงานฉายหนังในสภาพผู้แพ้ แล้วก็หลับฝันไปว่า ได้เผชิญกับเหตุลักขโมยแบบเดียวกัน และตัวเขาผู้เป็นยอดนักสืบที่เก่งที่สุดในโลก เจ้าของสมญา ‘เชอร์ล็อค จูเนียร์’  ก็ใช้ความสามารถเข้าคลี่คลายคดีจนลุล่วง ต่อกรกับกลุ่มคนร้ายอย่างห้าวหาญโลดโผนโจนทะยาน เสี่ยงภัยต่างๆ นานา จนกระทั่งทุกอย่างลงเอยด้วยดี แล้วก็โดนปลุกให้ตื่นมาพบกับชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง

ความน่าประทับใจเบื้องต้นของ Sherlock Jr. ได้แก่ พล็อตเรื่องง่ายๆ แต่เต็มไปด้วยความช่างคิด การดำเนินเรื่องกระชับฉับไว มีรายละเอียดรัดกุมถี่ถ้วน และมีความบันเทิงแบบสนุกครบรส ทั้งตลกขบขัน ตื่นเต้นเร้าใจ และซาบซึ้งโรแมนติค

ตัวเรื่องของ Sherlock Jr. สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ช่วงต้นที่เป็นเหตุการณ์ปกติทั่วไปในชีวิตจริง ทำหน้าที่ปูพื้นความเป็นมา แนะนำตัวละคร รวมถึงเล่าสถานการณ์โดยรวมทั้งหมด (ซึ่งจะนำมาเล่าย้อนอีกแบบในช่วงที่เป็นความฝัน)

ช่วงต้นนี้เป็นการเล่าเรื่องตามปกติทั่วไป แต่ก็มีแก๊กตลกเจืออยู่เป็นระยะๆ และมีอย่างน้อย 2 ครั้งที่หนังเล่นกับอารมณ์ขันง่ายๆ (ซึ่งผู้ชมยุคนี้คุ้นตาจากหนังหลายๆ เรื่อง) แต่บัสเตอร์ คีตันก็โชว์ความแม่นยำของจังหวะปู ชง แล้วตบทิ้งท้ายได้อย่างเฉียบขาดเหนือความคาดหมาย รวมทั้งอีกหนึ่งฉากแอ็คชันบนหลังคารถไฟ (ซึ่งทำให้คีตันได้รับบาดเจ็บในขณะถ่ายทำฉากนี้)

ทีเด็ดทีขาดและความล้ำสมัยจนน่าอัศจรรย์มาปรากฏเต็มๆ ในช่วงที่ 2 เริ่มจากการหลับฝัน แล้วใช้เทคนิคซ้อนภาพ เห็นบัสเตอร์ คีตันที่กำลังนั่งหลับ และอีกคนที่อยู่ในความฝัน เฝ้าดูภาพเคลื่อนไหวบนจอหนังที่กำลังฉาย (เรื่อง ‘หัวใจและไข่มุก’) แล้วจู่ๆ หน้าตาของนักแสดงบนจอก็เปลี่ยนจากดารามาเป็นหญิงสาวที่เขาหลงรัก พ่อของเธอ และใครต่อใครอื่นที่เขาคุ้นเคยในชีวิตจริง จนถึงจุดหนึ่งเหตุการณ์บนจอหนังก็เข้าคราวคับขัน ทำให้พระเอกของเราไม่อาจทนเฉยดูดายได้อีกต่อไป จึงต้องรีบถลันออกจากห้องฉายเข้าไปปะปนในหมู่ผู้ชม แล้วท้ายที่สุดก็วิ่งแน่วเข้าไปในจอหนัง เพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องราวให้กลับจากร้ายกลายเป็นดี

 

 

Sherlock Jr. ได้ชื่อว่าเป็นหนังเรื่องแรกๆ ของโลก ที่มีฉากและเรื่องราวเกิดขึ้นในโรงหนัง และเป็นคราวประเดิมที่ล้ำไปไกล ด้วยการเป็น ‘หนังซ้อนหนัง’

ทั้งยังเหนือล้ำอีกขั้น ด้วยการก้าวข้ามเล่นกับแง่มุมเรื่องโลกแห่งความเป็นจริงกับความเป็นมายาของโลกในหนัง จนกลายเป็นต้นแบบความคิดให้วูดดี อัลเลนทำหนังเรื่อง The Purple Rose of Cairo (ว่าด้วยตัวละครบนจอหนัง ละจากบทบาทของตนเอง เดินออกมาสู่ชีวิตจริง, The Icicle Thief (หนังอิตาเลียน ว่าด้วยผู้กำกับที่เห็นผลงานของตนเองโดนปู้ยี่ปู้ยำในการออกอากาศทางโทรทัศน์ โดนตัดโฆษณาคั่นอย่างไม่เข้าใจ กระทั่งเหตุการณ์ในหนังเริ่มเฉไฉผิดเพี้ยน ทำให้ผู้กำกับต้องเดินทางเข้าไปในผลงานของตนเอง เพื่อกอบกู้แก้ไขให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยดังเดิม) รวมทั้งหนังญี่ปุ่นอย่าง Tonight at Romance Theater ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ฉายส่งท้ายโรงภาพยนตร์ลิโด (เรื่องนี้ว่าด้วยเจ้าหญิงในหนังผจญภัยผู้เบื่อหน่ายเหตุการณ์ซ้ำซาก จนหลบหนีข้ามมิติมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง พบรักที่เต็มไปด้วยอุปสรรคกับชายหนุ่มคนหนึ่ง)

คีตันเคยเปิดเผยว่า ไอเดียแรกสุดของ Sherlock Jr. นั้น เขาต้องการทำหนังสั้นง่ายๆ ที่มีเพียงแค่ฉากเหตุการณ์ตัวละครเดินทะลุเข้าไปในจอหนัง แล้วต่อมาจึงค่อยๆ พัฒนาขยายเรื่องราวห้อมล้อม จนท้ายที่สุดก็กลายเป็นหนังที่มีพล็อตฉลาดล้ำดังเช่นที่ปรากฎ

ความน่าทึ่งของฉาก ‘เดินเข้าไปในหนัง’ มีให้เห็นกันตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยภาพกว้างแสดงบรรยากาศในโรง เห็นภาพเคลื่อนไหวบนจอ วงดนตรีบรรเลงสด และผู้ชม แล้วจู่ๆ ตัวละครที่คีตันแสดงก็เดินดุ่มเข้าไปในจอ (โดยไม่เห็นร่องรอยสะดุดหรือการตัดภาพใดๆ และยังโชว์ความเหนือชั้นด้วยการเดินออกมา แล้วกลับเข้าไปอีก)

 

 

แล้วโดยความต่อเนื่องปราศจากการตัดภาพนี้ ผมหมายถึงว่า ผู้ชมอย่างเราๆ ท่านๆ ยังคงเห็นเป็นภาพในโรงหนัง จอภาพยนตร์มีขอบดำเป็นเฟรมสี่เหลี่ยม เห็นวงดนตรีอยู่เบื้องหน้าถัดไปไม่ไกล และผู้ชมนั่งดูกันแน่นขนัด แต่ภาพบนจอหนังที่กำลังฉาย ซึ่งบัสเตอร์ คีตันเดินเข้าไปอยู่ในนั้น กลับเต็มไปด้วยการตัดภาพครั้งแล้วครั้งเล่า

เป็นการตัดภาพในลักษณะที่เรียกว่า form cut ยึดเอาความต่อเนื่องของคีตันเป็นหลัก แต่เปลี่ยนฉากหลังไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา และสร้างอารมณ์ขันแพรวพราวได้อย่างชาญฉลาด

จนจบจากฉากโชว์ ‘มนต์ขลังทางภาพยนตร์’ แล้ว หนังก็บรรณาการความบันเทิงขนานใหญ่ ด้วยฉากแทงพูล (ซึ่งลูกหนึ่งบนโต๊ะคนร้ายแอบนำระเบิดมาปะปน) ที่สนุกครื้นเครงมาก ตามติดมาด้วย 2 ทริคช็อตที่ราวกับมายากลชั้นดี และยังคงเป็นความลับมาจนถึงบัดนี้ว่าทำได้ยังไง

ฉากแรกเป็นภาพบัสเตอร์ คีตันพุ่งตัวออกจากหน้าต่าง ผ่านอุปกรณ์ที่ผู้ชมทราบอยู่ก่อนแล้วว่าภายในคืออะไร? แล้วแปลงกายเป็นผู้หญิงไปโดยฉับพลัน (ฉากนี้วางมุมกล้องให้เห็นกันจะๆ) อีกฉากต่อเนื่องถัดกัน คีตันโดนสมุนวายร้ายไล่ล่ากระทั่งจนมุม แต่ผู้ช่วยของยอดนักสืบ ได้มาดักรอเตรียมให้ความช่วยเหลือในคราบหญิงเร่ขายของมีกระบะสินค้าห้อยคอ คีตันกระโจนพรวดเข้าไปในกระบะนั้น และหายลับไร้ร่องรอย ขณะที่ผู้ช่วยก็ก้าวเดินด้วยรูปร่างปกติไม่น่าจะมีใครหลบซ่อนอยู่ในนั้นได้ แล้วท้ายที่สุดคีตันก็เผยตัวออกมาจากด้านหลังประตูและผนังที่อยู่เบื้องหลัง

ทั้ง 2 ช็อตนี้ ดำเนินความตั้งแต่ต้นจนจบ โดยปราศจากการตัดภาพ

ไคลแม็กซ์ของหนังเป็นฉากแอ็คชันขับรถไล่ล่าที่โชว์ความสามารถของนักแสดงและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบคิวบู๊ อย่างไม่ออมหรือขยักฝีมือกันเลย ทั้งตลก น่ารัก ตื่นเต้น หวาดเสียว และมีลีลากลิ่นอายเกินจริงแบบหนังการ์ตูน ผสมรวมกันครบรส ก่อนจะจบทิ้งท้ายในแบบที่ฉากจบของหนังเจมส์ บอนด์นิยมทำจนเป็นขนบ

เมื่อหนังพาผู้ชมกลับสู่ส่วนที่เป็นโลกความจริง บทจบของ Sherlock Jr. ก็กลายเป็นหนังรักโรแมนติค

Sherlock Jr. เป็นหนังที่ครบเครื่องทั้งความสนุก พล็อตง่ายๆ แต่แยบยลหลายชั้น คุณภาพทางด้านงานสร้างและการบุกเบิกทางศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดองค์ประกอบภาพ การตัดต่อลำดับภาพ และการใช้ภาษาหนังเล่าเรื่องด้วยภาพ (งานของคีตันเป็นหนังเงียบที่ขึ้นข้อความคำบรรยายหรือบทสนทนาค่อนข้างน้อยเพียงเท่าที่จำเป็น) ที่สำคัญคือ มีความเด่นชัดถนัดถนี่ด้านความคิดสร้างสรรค์หลายๆ อย่าง ตั้งแต่การผูกวางเค้าโครงเรื่อง การเล่นกับสถานการณ์ง่ายๆ ให้กลายเป็นความพิเศษใส่ไข่ รวมทั้งภาพน่าตื่นตื่นใจที่ทำให้ผู้ชมต้องดูไปอุทานไปด้วยความยกย่องคารวะ

ประการสุดท้าย ภายใต้เนื้อเรื่องง่ายๆ เบาสมอง และมีลักษณะพาฝัน Sherlock Jr. ได้นำเสนอแง่มุมประเด็นที่กลายเป็นหัวใจสำคัญของ ‘หนังซ้อนหนัง’ จำนวนมากมายที่สร้างกันในเวลาต่อมา นั่นคือ ความจริงกับภาพลวงตาในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกมายา ซึ่งบางครั้งก็ขัดแย้งตรงข้าม บางครั้งก็เหลื่อมซ้อนปนเปกันจนยากจะจำแนกแยกแยะ (แน่นอนว่า ด้วยความเป็นหนังตลก ข้อจำกัดในยุคหนังเงียบ รวมถึงความเก่านานของระยะเวลาที่สร้าง ประเด็นต่างๆ เหล่านี้อาจไม่ได้เสนออย่างลงลึกถี่ถ้วนเท่าหนังยุคหลังๆ แต่ในฐานะงานรุ่นบุกเบิก งานชิ้นนี้เป็น ‘ผู้มาก่อน’ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณูปการอย่างล้นเหลือ)

มีเรื่องที่ผมแปลกใจอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ เสียงตอบรับเมื่อหนังเรื่องนี้ออกฉายในปี 1924 หนังล้มเหลวในด้านรายได้ (ผู้ชมยุคนั้นไม่ค่อยรู้สึกตลกกับงานชิ้นนี้) ขณะที่เสียงวิจารณ์ออกมาทางก้ำกึ่ง มีทั้งคำชื่นชมและคำติเตียน

ผมเดาเอานะครับว่า อาจเป็นเพราะหนังมีความสดใหม่และหลายสิ่งหลายอย่างผิดจากขนบคุ้นเคยในหนังเงียบทั่วไปขณะนั้น จึงทำให้มันกลายเป็นหนังที่ ‘มาก่อนกาล’ ไปโดยไม่เจตนา

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านวันเวลาอันเนิ่นนาน Sherlock Jr. ก็ค่อยๆ กลายเป็นที่รักของนักดูหนังทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และไม่มีวี่แววว่าจะหยุดหย่อน ในปี 2000 American Film Institute ได้คัดสรรประกาศรายชื่อ AFI’s 100 Years…100 Laugh หรือหนังอเมริกันที่ตลกและยอดเยี่ยมตลอดกาลจำนวนหนึ่งร้อยเรื่อง จากหนังตลกทุกรูปแบบแนวทางทุกยุคสมัย Sherlock Jr. เป็นหนังที่มีอายุเก่าแก่สุดที่อยู่ในรายชื่อนี้ และอยู่ในอันดับที่ 62 (ขณะที่งานคลาสสิคร่วมสมัยอย่าง Fargo ของพี่น้องโคเอนอยู่ในอันดับที่ 93)

ในปี 2012 Sherlock Jr. ได้รับเลือกให้อยู่ในอันดับที่ 61 ของหนังที่มีการตัดต่อลำดับภาพยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล โดยสมาชิกของ Motion Picture Editors Guild

Sherlock Jr. มาฉายในเทศกาลหนังเงียบเพียงแค่ 2 รอบ แต่ข่าวดีก็คือ เป็นหนังที่สามารถหาดูได้โดยสะดวกในช่องทางออนไลน์ และมีให้ดูแม้กระทั่งใน Youtube

ส่วนข่าวร้ายก็คือว่า การดูผ่านช่องทางนี้ โดยปราศจากบรรยากาศของการบรรเลงดนตรีสด ปฏิกิริยาของผู้ชมจำนวนมากขณะดู และความเต็มตาของภาพที่ปรากฏบนจอใหญ่ ผ่านการบูรณะฟิล์มจนคมชัด ทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้การดูตามลำพัง ตกหล่นย่อหย่อนอรรถรสไปเยอะพอสมควร

 

อย่างไรก็ตาม นี่คือหนังที่นักดูหนังสมควรหาโอกาสดูให้ได้สักครั้งในชีวิตนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save