fbpx
Shellworks : พลาสติกชีวภาพจากเปลือกกุ้งเหลือทิ้งในจานคุณ

Shellworks : พลาสติกชีวภาพจากเปลือกกุ้งเหลือทิ้งในจานคุณ

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคนผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ใครจะไปคิดว่าไอเดียของการผลิตพลาสติกครั้งแรกเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 เกิดขึ้นเพราะใจรักโลก บริษัทผลิตลูกบิลเลียด กีฬายอดฮิตในสหรัฐอเมริกา ณ เวลานั้น ประกาศมอบเงินรางวัลให้ใครก็ได้ที่สามารถคิดค้นวัสดุใหม่มาทดแทนงาช้าง ที่ถูกนำมาใช้ผลิตลูกบิลเลียดจนช้างในแอฟริกาเฉียดสูญพันธุ์

ลูกบิลเลียดแบบดั้งเดิม ผลิตจากงาช้าง
ลูกบิลเลียดแบบดั้งเดิม ผลิตจากงาช้าง

หลังจากการค้นพบพลาสติกของนายจอห์น เวสลีย์ ไฮเอตต์ ผู้คว้ารางวัลในครั้งนั้น มนุษยชาติก็ไม่ได้ใช้พลาสติกทดแทนแค่งาช้างอีกต่อไป มันถูกใช้ทดแทนแก้ว ไม้ เหล็ก ยาง และลองหันมองรอบตัวคุณดู พลาสติกกลายเป็นวัสดุที่เป็นส่วนประกอบในแทบทุกผลิตภัณฑ์ไปแล้ว

พร้อมกัน วิทยาศาสตร์ก็ค่อยๆ พบความจริงว่าวัสดุแสนทนทาน ราคาถูก ใช้งานเวิร์ค ที่ถูกสร้างจากความรักโลก แท้จริงแล้วคือตัวร้ายทำลายโลกไปพร้อมกัน เพราะเมื่อใดที่มันถูกทิ้งเป็นขยะ คุณสมบัติที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ทำให้กระบวนการย่อยสลายของมันยาวนานชนิดที่ใช้งานรุ่นทวด และย่อยสลายหมดในรุ่นเหลน

ขวดพลาสติก ขยะ รีไซเคิล กองขยะ ในแม่น้ำ

ใช่ อย่างที่เรารู้ว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตขยะพลาสติก ผู้คนเริ่มตื่นตัวกับกองขยะพลาสติกใหญ่เท่าภูเขาและลอยคว้างแน่นมหาสมุทรอย่างไม่มีวี่แววจะย่อยสลายไปง่ายๆ นวัตกรในโลกที่ลุกขึ้นสู้กับปัญหานี้ แบ่งออกเป็นสองทีมใหญ่ๆ ทีมหนึ่งคิดหาวิธีการเปลี่ยนขยะพลาสติกไร้ประโยชน์รอวันสลายให้กลายเป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณค่า หรือที่เรารู้จักกันในกระบวนการที่ชื่อว่า ‘recycle’

ส่วนอีกทีม กำลังคิดวิธีทำให้พลาสติกชิ้นต่อไปและต่อไปที่กำลังจะถูกผลิตออกมา เป็นมิตรกับโลกใบนี้มากขึ้น เพื่อใช้มันทดแทนพลาสติกแบบเดิม

และ ‘พลาสติกชีวภาพ’ หรือ ‘Bioplastic’ คือหนึ่งในวิธีที่เราพูดถึง

แนวคิดง่ายนิดเดียวครับ หนึ่ง เปลี่ยนต้นทางการผลิตจากสารสังเคราะห์เป็นวัสดุจากธรรมชาติ ทั้งพืชและสัตว์ (ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่มีเหลือล้น)

สอง เมื่อถึงปลายทางในวันที่มันเป็นขยะ จะสามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ (Biodegradable)

พลาสติก รีไซเคิล

พลาสติกชีวภาพไม่ใช่เรื่องใหม่ ตอนนี้โลกเรามี (ซ้าย) Potato Plastic ส้อมพลาสติกจากนักออกแบบ Pontus Törnq เกิดจากส่วนผสมที่เรียบง่ายคือแป้งมันฝรั่งกับน้ำ ย่อยสลายได้เองภายในเวลาสองเดือน (กลาง) ขวดน้ำที่ผลิตโดยนำแป้งที่สกัดจากสาหร่ายกับน้ำ และทำให้เย็นตัวลงอย่างรวดเร็วในเบ้าหล่อเย็น ผลงานจากนักออกแบบไอซ์แลนด์ Ari Jónsson ขวดจะรักษารูปทรงเมื่อบรรจุน้ำ และจะเริ่มย่อยสลายทันทีที่ขวดว่างเปล่า ,(ขวา) Reebok Cotton + Corn ดูเผินๆ เหมือนรองเท้ากีฬาทั่วไป แต่วัสดุที่ใช้ผลิตมาจากธรรมชาติ 75 เปอร์เซ็น ตัวรองเท้าทำจากผ้าฝ้าย พื้นรองเท้าที่ปกติผลิตจากพลาสติกเปลี่ยนมาผลิตจากน้ำมันละหุ่ง นี่คือตัวอย่างของพลาสติกชีวภาพส่วนหนึ่งเท่านั้น จะเห็นว่าพลาสติกชีวภาพจะถูกใช้กับผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือ Single – use เป็นส่วนใหญ่

ในระหว่างที่นวัตกรและนักออกแบบกำลังขบคิดว่าวัสดุตั้งต้นในการผลิตพลาสติกควรจะเป็นอะไรและอะไรอีก สี่นักออกแบบจากสถาบันสำคัญของโลกศิลปะอย่าง Royal College of Art และ Imperial College ได้คิดค้นชุดเครื่องมือ ที่อาจทำให้ผู้มีใจรักในการกินอาหารทะเลอย่างกุ้งเผา กุ้งกระเทียม กุ้งอบวุ้นเส้น ฯลฯ (พอก่อน ถ้ายกตัวอย่างมากกว่านี้จะเริ่มหิวแล้ว) รู้สึกว่าตัวเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลก เพราะเครื่องมือที่ว่าสามารถเปลี่ยนให้กองเปลือกกุ้งในจานคุณ กลายเป็นของใช้พลาสติก แบบ Single – use

กุ้งคืออาหารทะเลที่คนทั่วโลกบริโภคติด top 10 แทบทุกปี นักออกแบบ Ed Jones, Insiya Jafferjee, Amir Afshar และ Andrew Edwards จึงคิดว่าเปลือกที่เหลือในจานน่าจะทำอย่างอื่นได้มากกว่าลงถังขยะ

กุ้ง

พลาสติกชีวภาพจากความอร่อยนี้ประกอบขึ้นจากน้ำส้มสายชู บวกกับโพลิเมอร์ชีวภาพที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่าง ไคติน เส้นใยที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในเปลือกสัตว์ทะเลอย่างกุ้งหรือปู ถ้าเคยใครได้ยินสารชื่อ ไคโตซาน สารสกัดจากไคตินที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก อาจทราบว่าราคาของมันแสนแพง นักออกแบบกลุ่มนี้เลยต้องหาวิธีสกัดออกมาด้วยตัวเองเป็นเวลาหลายสัปดาห์

Shellworks ประกอบด้วยเครื่องจักรกลชื่อน่ารักทั้งหมด 5 ชิ้นได้แก่ Shelly, Sheety, Vaccy, Dippy และ Drippy เพื่อใช้แปรรูปเปลือกกุ้งเหล่านี้เป็นวัสดุหน้าตาและคุณสมบัติแตกต่างกัน เครื่องแรกและเครื่องหลักคือ Shelly ใช้เพื่อคัดแยกไคตินออกจากเปลือกกุ้ง เปลี่ยนให้กลายเป็นวัสดุโพลิเมอร์ ส่วนเครื่องมืออีกสี่ชิ้นที่เหลือใช้ในการแปรรูปให้วัสดุนี้มีคุณสมบัติแตกต่างกันไป เช่น Sheety ใช้เพื่อทำให้วัสดุกลายเป็นแผ่นบาง  Vaccy ใช้สำหรับขึ้นรูปด้วยความร้อนแบบสุญญากาศ เปลี่ยนรูปทรงได้ตามเบ้าหลอม  Dippy คือเบ้าหล่อร้อนที่ชุบลงในวัสดุเหลว เมื่อปล่อยให้แห้งเราก็จะได้ถ้วยหรือบรรจุภัณฑ์ นอกจากจะเปลี่ยนรูปวัสดุกลายเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ยังสามารถกลับมาอยู่ในรูปของเหลวได้อีกรอบ ด้วยเครื่องสุดท้ายที่ชื่อ Drippy

Shellworks

จะเห็นว่าคุณสมบัติและสีของวัสดุที่สกัดออกมาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาไปใช้ทำผลิตภัณฑ์อะไร

ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ

ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจากเปลือกกุ้งเป็นได้ตั้งแต่กระถางต้นไม้ ถุงใส่อาหาร หรือแม้แต่ซองบรรจุยา

ดีไซเนอร์ที่ข้ามพรมแดนกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งสี่ กำลังพัฒนาวิธีการผลิตรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับลักษณะของพลาสติกชีวภาพชนิดใหม่นี้ พวกเขาอยากให้มันเข้าถึงได้มากขึ้น และจะยิ่งดีหากมีนักออกแบบคนอื่นๆ หยิบวัสดุรวมถึงกระบวนการผลิตวัสดุชนิดใหม่จากไคโตซานไปใช้

อีกหน่อยใครสั่งกุ้งเผามากินจนอิ่ม คงต้องเบรกพนักงานไม่ให้ทิ้งเปลือกกุ้งในจาน แถมขอถุงใส่กลับบ้านพอดีพี่จะเอาไปแปรรูปเป็นกระถางต้นไม้อะน้อง !

อ้างอิง

Shellworks turns discarded lobster shells into recyclable bioplastic objects

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save