fbpx
เซอกิเยฟ พาสาด (Sergiev Posad) : นครศักดิ์สิทธิ์แห่งรัสเซียนออร์โธดอกซ์

เซอกิเยฟ พาสาด (Sergiev Posad) : นครศักดิ์สิทธิ์แห่งรัสเซียนออร์โธดอกซ์

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่องและภาพ

 

ในธรรมเนียมคริสตศาสนาแบบรัสเซียนออร์โธดอกซ์ มีเมืองหนึ่งที่สำคัญมาก เรียกได้ว่าเทียบเท่ากับวาติกันของคาทอลิก คือเซอร์กิเยฟ พาสาด (Се́ргиев Поса́д) เมืองที่ก่อตั้งขึ้นจากการเป็นโบสถ์และสำนักสงฆ์โบราณอายุ 700 ปีและได้รับความนับถือต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะทรุดโทรมลงในยุคโซเวียต

 

 

เซอร์กิเยฟ พาสาด เป็นที่ตั้งของมหาวิหารพระตรีเอกานุภาพแห่งเซนต์เซอร์กิอุสลาฟรา (Holy Trinity Church Complex of Saint Sergius Lavra) คำว่า ลาฟรา (Ла́вра) นี้ แปลตรงตัวว่ากลุ่มของถ้ำที่นักบวชใช้อาศัย แปลความหมายแฝงคือ สำนักสงฆ์ของบาทหลวงออร์โธดอกซ์ ซึ่งเดิมทีแล้วอาศัยในถ้ำตามนอกเมือง ต่อมาใช้คำว่าลาฟราในฐานะเขตโบสถ์ที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ซึ่งมีไม่กี่แห่งในอาณาเขตของออร์โธดอกซ์ที่ได้รับสถานะลาฟรานี้ เช่น ลาฟราแห่งภูเขาอาโธสในกรีซ, มาร์ ซาบา ลาฟรา ในเยรูซาเลม, เคียฟ เปเชิร์สก์ ลาฟรา ในยูเครน เป็นต้น

กลุ่มมหาวิหารเซนต์เซอร์กิอุสลาฟรานี้ มีที่มาจากนักบุญเซอร์กิอุสแห่งราโดเนซก์ หรือ เซอร์เกย์ ราโดเนซกี้ ผู้เผยแผ่คริสตศาสนาและสวดอวยพรให้แก่เจ้าชายดมิทรี ดอนสกอย แห่งมอสควา ซึ่งรบเอาชนะพวกตาตาร์แห่งกองทัพข่านทองคำ (Golden Horde) ที่สมรภูมิทุ่งคูลิโคโว ทำให้คริสต์นิกายออร์โธดอกซ์แผ่ขยายในวงกว้างในดินแดนมอสควานรุส ซึ่งเจริญเติบโตมาเป็นรัสเซียในเวลาต่อมา เหล่าเจ้าชายและราชวงศ์รุสจึงนับถือบูชากันมาก

 

 

ประวัติของนักบุญเซอร์กิอุส ว่าไปก็คล้ายๆ พระวัดป่าไทย คือบวชแล้วออกไปธุดงค์อยู่ป่าอยู่เขาในถ้ำที่เขตเมืองพาสาด ใกล้ๆ กับมอสโก บำเพ็ญเพียรภาวนาจนมีตบะแก่กล้า อ้างว่าได้รับสารพระแม่ประจักษ์ (Marian apparition) คือเทวทูตมาแจ้งข่าวการปรากฏของพระแม่มารี แล้วเมื่อมีภัยศึกสงคราม ก็มาเจิมน้ำมันให้พรเจ้าชายนักรบทั้งหลาย แล้วกลับไปอยู่ป่าอยู่ถ้ำเหมือนเดิม

พอเซนต์เซอร์กิอุสมรณภาพ เมืองป่าเมืองถ้ำที่ท่านเคยพำนัก ก็เจริญขึ้นมากลายเป็นแหล่งแสวงบุญของผู้ศรัทธา และราชวงศ์รัสเซียก็ได้อุปถัมภ์คริสตจักร สร้างเป็นมหาวิหารขึ้นในราวศตวรรษที่ 15 และได้ขยายต่อเติมมาโดยตลอด จนกลายเป็นเมืองใหญ่ เมืองศักดิ์สิทธิ์ของรัสเซียนออร์โธดอกซ์ โดยอัครสังฆบิดรแห่งมอสโก (Patriarch of Moscow) อันเป็นประมุขของรัสเซียนออร์โธดอกซ์จะพำนักและบำเพ็ญกรณียกิจทางศาสนาในมหาวิหารที่นี่ จนกระทั่งย้ายสังฆบัลลังก์ไปอยู่ในมอสโก ภายหลังพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ทรงสร้างมหาวิหารพระมหาไถ่ (Cathedral of Christ the Saviour หรือ Храм Христа Спасителя) เสร็จในปี 1882

 

 

ภายในกลุ่มมหาวิหาร ประกอบด้วยอาสนวิหารแม่พระรับขึ้นสู่สวรรค์ (Assumption Cathedral) ซึ่งอุทิศถวายแด่พระแม่มารีอันเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอัครสังฆบิดร มีจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่งดงาม, ศาลาการเปรียญแห่งนักบุญเซอร์กิอุส (Refectory of St.Sergius) เป็นหอฉันของบาทหลวงและแม่ชี ซึ่งใช้เป็นสถานที่รับรองแขกและจัดพิธีกรรมกับฆราวาส ประดับประดาด้วยแท่นบูชาทองคำและเป็นโถงอาคารที่กว้างขวางที่สุดในรัสเซียยุคเก่า, วิหารนักบุญยอห์นผู้ประกอบศีลจุ่ม (Church of the Nativity of St.John the Baptist) เป็นทรงโดมหัวหอมทอง 5 ยอด อันเป็นลักษณะแบบรัสเซียยุคกลางโดดเด่นเป็นสง่า และวิทยาลัยสงฆ์ (Ecclesiastical Academia) ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่อบรมบาทหลวงออร์โธดอกซ์หลักของรัสเซีย

ในสมัยปฏิวัติโซเวียต ศาสนาถูกกดขี่และทำลาย เมืองเซอร์กิเยฟพาสาดและมหาวิหารถูกทิ้งร้างและยึดทรัพย์สินเข้าเป็นของรัฐ เปลี่ยนชื่อเมีองเป็น Zagorsk และซบเซาลง

ภายหลังโซเวียตล่มสลาย รัสเซียออร์โธดอกซ์ฟื้นฟูขึ้น เมืองเซอร์กิเยฟพาสาดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแสวงบุญของชาวรัสเซีย ด้วยสถาปัตยกรรมสมัยศตวรรษที่ 14-17 ที่เหลือรอดและบูรณะใหม่อย่างงดงามราวเมืองเทพนิยาย ภายในวิหารตกแต่งทองเหลืองอร่ามอลังการแบบบาร็อค-ร็อคโคโค

 

 

แต่เนื่องจากยังเป็นโบสถ์อารามที่มีพระนักบวชอยู่ตามปกติ จะมีพิธีกรรมสลับกันไปในทุกวันแต่ละเวลา มีสังฆภัณฑ์คริสต์ขายบูชายังกะพระเครื่องไทย มีชุดนักบวชและเครื่องมือต่างๆ มากมาย เข้าไปแล้วจะรู้สึกเหมือนอยู่แถวๆ ย่านบ้านบาตรเสาชิงช้า

ในอารามมีขนมปังโบราณที่อบตามแบบเก่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ราคาถูกมากชิ้นละสิบรูเบิล อร่อยใช้ได้ และยังมีน้ำผึ้งอัดลมของโบสถ์ขาย อร่อยมากด้วยเหมือนกัน

 

 

หน้าหมู่มหาวิหาร มีร้านอาหารรัสเซียแบบดั้งเดิมชนบท ชื่อร้านรุสสกี้ ดวอริก โฆษณาว่าเปิดมาตั้งแต่สมัยซาร์ รสชาติดีราคาย่อมเยากว่าในมอสโกมาก โดยเฉพาะสลัดซาร์ที่ใช้เนื้อปูกับแซลมอนราดน้ำสลัด และพาฟโลวาผลไม้หวานกรอบนอกนุ่มในกำลังพอดี

ค่าเข้าชม 500 รูเบิล เดินทางจากมอสโกโดยรถไฟท้องถิ่น 1 ชั่วโมงครึ่ง ขึ้นรถที่สถานี yaroslavskiy ลงสถานี sergiev posad ขึ้นรถไฟท้องถิ่นรัสเซียแล้วจะคิดถึงรถไฟไทย มีคนมาขายอาหารขายไฟฉายหนังสือพิมพ์ราวกับรถไฟท้องถิ่นสายแม่กลอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save