fbpx

เรื่องน่ายินดี (?) ท่ามกลางความขัดแย้งภูมิศาสตร์โลกบาดาล

สืบเนื่องจากบทความที่ผมเคยเผยแพร่ใน the101.world เรื่อง ‘ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลกบาดาล: จุดเปราะบางบนพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ‘ ที่ผมเล่าเรื่องโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหม่ในท้องทะเลโดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลหลวง (High Seas) บริเวณพื้นที่ (The Area) และพื้นดินท้องทะเล (International Seabed) รวมถึงความเปราะบางของระบบนิเวศและผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้น จากการแสวงหาผลประโยชน์จากการทำเหมืองแร่บนและใต้พื้นดินท้องทะเล รวมไปจนถึงการแสวงหาแหล่งพลังงาน และแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบ Carbon Capture and Storage (CCS) ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในปี 2025 หากแต่องค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น องค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority: ISA) กลับได้รับจัดสรรงบประมาณต่ำมาก จนไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการทำการศึกษาวิจัยในระบบนิเวศที่ซับซ้อนและห่างไกลเหล่านี้ได้ ขณะที่ทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อย่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law Of the Sea: UNCLOS) ที่แม้จะมีประเทศภาคีที่ให้สัตยาบันเพื่อให้ UNCLOS มีผลบังคับใช้แล้วเป็นจำนวนถึง 168 ประเทศ แต่สหรัฐอเมริกากลับยังไม่ได้ร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล นี่จึงอาจเป็นชนวนความขัดแย้งที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ก้นทะเลลึกกลายเป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งทั้งต่อระหว่างรัฐต่อรัฐ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติต่อไป

แต่ขณะนี้มีเรื่องน่ายินดีเกิดขึ้น นั่นคือ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสหประชาชาติสามารถสรุปผลการเจรจา ‘สนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยทะเลหลวง’ (The United Nations High Seas Treaty) ได้แล้ว

สนธิสัญญาใหม่นี้จะทำให้เกิดการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas: MPAs) ในทะเลหลวง ซึ่งจำเป็นต่อการปฏิบัติตามพันธสัญญาสากลของความตกลงความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง-มอนทรีออล (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: GBF) ที่สรุปผลไปเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ในการประชุม 2022 United Nations Biodiversity Conference โดยมีการตั้งเป้าหมายเพื่อปกป้องอย่างน้อย 30% ของพื้นที่ทะเลหลวงภายในปี 2030

สนธิสัญญายังกำหนดให้ทั่วโลกต้องมีการประเมินผลกระทบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวง ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจะได้รับการสนับสนุนในการเข้าร่วมในเพื่อดำเนินการตามสนธิสัญญาฉบับใหม่ โดยประเทศพัฒนาแล้วต้องมีการเสริมสร้างศักยภาพที่แข็งแกร่งและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล นอกจากนี้ สนธิสัญญาที่หาข้อสรุปร่วมกันมาได้นี้ยังกำหนดแนวทางการรับทุนสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน และส่วนที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการสร้างกลไกที่เป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทร

ทุกอย่างดูเหมือนจะสามารถสรุปจบลงตัวได้อย่างดี หากแต่ผู้เขียนยังคงมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

  1. ต้องอย่าลืมว่า ขั้นตอนปัจจุบันคือการสรุปผลการเจรจา ซึ่งเจรจาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1994 แต่การสรุปผลการเจรจาไม่ได้หมายถึงการบังคับใช้ (implementation) โดยการที่ The United Nations High Seas Treaty จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีรัฐภาคีอย่างน้อย 60 รัฐให้สัตยาบัน (ratified) ซึ่งนั่นทำให้เรายังไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนได้ว่าเมื่อไหร่สนธิสัญญานี้จะเกิดการบังคับใช้ได้จริง ต้องอย่าลืมว่าในอดีต กว่า UNCLOS จะได้รับการให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้ก็ล่วงเข้าไปปี 1994 ทั้งๆ ที่ตัวกฎหมายได้สรุปผลการเจรจาไปตั้งแต่ปี 1982 หรือใช้เวลาถึง 12 ปีกว่าจะมีผลบังคับใช้ ในขณะที่ต้องอย่าลืมว่าใบอนุญาตในการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลได้ออกไปแล้วกว่า 21 ใบอนุญาตและจะเริ่มต้นทำเหมืองได้ตามคาดการณ์ในปี 2025
  2. ถึงแม้จะมีประเทศภาคี UNCLOS ถึง 168 ประเทศ และทั้งหมดก็ร่วมอยู่ในกระบวนการเจรจาเพื่อร่าง The United Nations High Seas Treaty หากแต่ประเทศมหาอำนาจที่มีทั้งเทคโนโลยี ทรัพยากร (ทั้งมนุษย์และเงินทุน) รวมทั้งมีส่วนได้ส่วนเสียเป็นอย่างยิ่งในการรักษาดูแลและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทรัพยากร อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังคงไม่ได้ร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ก็ยังคงไม่ได้เป็นภาคีที่จะร่วมกันคุ้มครองดูแลอนุรักษ์ทะเลหลวงต่อไป
  3. ประเด็นความท้าทายที่สุดสำหรับผลในทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรในทะเลหลวงร่วมกันได้อย่างยั่งยืน นั่นคือในความเป็นจริง พื้นที่ที่จะได้รับความคุ้มครองภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าวมีขนาดพื้นที่ที่เล็กน้อยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ทะเลหลวงซึ่งมีอยู่ทั่วทั้งโลก โดยหากพิจารณาจากภาพที่ 1 ซึ่งแสดงพื้นที่ทะเลหลวงด้วยพื้นที่สีน้ำเงิน ซึ่งมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมพื้นผิวส่วนใหญ่ของโลก กับภาพที่ 2 แผนที่แสดงพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas: MPAs) เราจะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้ The United Nations High Seas Treaty คือพื้นที่เพียงส่วนน้อย ประมาณ 26,146,645 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นเพียง 7.2% ของพื้นที่ทะเลหลวงทั้งหมดเพียงเท่านั้น
ภาพที่ 1: พื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economics Zone แสดงโดยพื้นที่สีฟ้า) และพื้นที่ทะเลหลวง (High Seas แสดงโดยพื้นที่สีน้ำเงิน)
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/High_Seas_Treaty#/media/File:Exclusive_Economic_Zones.svg

ภาพที่ 2: แผนที่แสดงพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Areas: MPAs, พื้นที่สีน้ำเงินเข้ม)
ที่มา: https://mpatlas.org/

แน่นอนว่า สนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยทะเลหลวง (The United Nations High Seas Treaty) คือจุดเริ่มต้นอันถูกต้องดีงามที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างหนักของหลายภาคส่วน หลายประเทศ หลายบุคลากรสำคัญ ภายใต้ข้อจำกัดทางความขัดแย้งระหว่างประเทศในมิติภูมิรัฐศาสตร์ หากแต่ความตั้งใจจริงในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และระบบนิเวศที่เปราะบางหากแต่มีความสำคัญที่สุดต่อมนุษย์ ยังคงต้องการการผลักดันสนับสนุน และความจริงใจจากทุกๆ ประเทศต่อไป


อ้างอิง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save