fbpx

ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลกบาดาล: จุดเปราะบางบนพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงพื้นที่ภูมิศาสตร์ใหม่ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งใหม่ โดยได้กล่าวถึงพื้นที่ ‘โลกไซเบอร์'[1] ในบทความตอนนี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้คุณผู้อ่านได้รู้จักกับสนามความขัดแย้งครั้งใหม่ในโลกบาดาล โดยเริ่มต้นจากการตั้งคำถามสำคัญคือ

ในโลกเรามีทรัพยากรแร่ธาตุ สินแร่ อยู่มากที่สุด ณ ที่ไหน? คำตอบคือ ‘ในแมกมา’ (magma) หรือหินหนืดที่อยู่ในชั้นเนื้อโลก (mantle) ที่อยู่ระหว่างชั้นเปลือกโลก (crust) ซึ่งเป็นชั้นบนสุด และชั้นแก่นโลก (core) ซึ่งอยู่ชั้นล่างสุด

คำถามต่อมาคือ แล้วที่ไหนคือที่ที่สามารถนำสินแร่เหล่านี้มาใช้งานได้โดยมีต้นทุนต่ำที่สุด? คำตอบคือ ‘บนพื้นดินท้องทะเล’ (seabed) โดยเฉพาะในส่วนที่ลึกมากและอยู่ห่างไกลจากชายฝั่งมากๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ เมื่อเปลือกโลกมีการสั่นไหว โดยเฉพาะเมื่อมีการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำ หรือการเลื่อนตัวของเปลือกโลกที่ยังไม่เสถียร รวมทั้งช่อง ปล่องต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากใต้พื้นทะเลลึก แมกมาที่ปะทุขึ้นมา อันเรียกว่าลาวา (lava) จะสัมผัสกับน้ำทะเลในก้นทะเลลึกซึ่งมีอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ ทำให้ลาวาเหล่านี้แข็งตัวในทันที เราเรียกกระบวนการนี้ว่า การตกผลึกตามธรรมชาติ (crystallization) ซึ่งทำให้เกิดผลึกของแข็งในสารละลายเนื้อเดียว อันเกิดมาจากวัตถุดิบตั้งต้นทั้งที่อยู่ในสถานะของเหลวและในสถานะก๊าซ เมื่อสารละลายอิ่มตัวอย่างยิ่งยวดจากตัวถูกละลาย (solute) ซึ่งในธรรมชาติสามารถละลายได้ดีในตัวทำละลาย (solvent) ที่มีอุณหภูมิสูง โดยในที่นี้คือแร่ธาตุ (= solute) ที่ละลายอยู่ในหินหนืด (= solvent) ดังนั้น เมื่อสารละลายอุณหภูมิสูงดังกล่าวเย็นตัวลง จึงก่อให้เกิดการแยกตัวของสาร จนเกิดเป็นผลึกของแข็ง ตามกระบวนการตกผลึกตามธรรมชาติ โดยที่แร่ธาตุแต่ละชนิดมีจุดเยือกแข็งไม่เท่ากัน

ดังนั้นในวัตถุที่มองเห็นคล้ายๆ กับก้อนหินที่วางอยู่เกลื่อนกลาดบนพื้นดินท้องทะเลเหล่านี้ แท้จริงแล้วคือโคบอลต์ (cobalt) ที่เป็นแร่ธาตุจำเป็นสำหรับผสมลงในเหล็กกล้าที่ต้องการคุณสมบัติในการทนความร้อนสูง และ/หรือ แรงกดดัน แรงบิดที่สูง นอกจากโคบอลต์แล้ว ยังมีนิกเกิล (nickel) ที่ใช้ในการผสมเพื่อสร้างโลหะไร้สนิม ทนต่อการกัดกร่อน ใช้เคลือบผิวงานโลหะต่างๆ และที่จำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต นั่นคือเป็นแร่ธาตุที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งยังใช้เป็นส่วนผสมในการผลิต Shape Memory Alloys ซึ่งใช้ในการหุ่นยนต์บางชนิด นี่เป็นเพียง 2 ตัวอย่างของสินแร่แร่ธาตุที่พบมากบนพื้นดินท้องทะเล

ภาพ 1: สินแร่แร่ธาตุบนพื้นดินท้องทะเล
ที่มา: https://www.marinelink.com/news/subsea-mining-race-effects-unclear-481046

และคำถามที่อาจจะสำคัญที่สุดก็คือ แล้วเราจะสามารถเข้าไปทำเหมืองแร่ต้นทุนต่ำ เพียงแค่เข้าไปเก็บก้อนสินแร่เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้เลยหรือไม่? คำตอบคือ ‘ได้’ แต่ไม่ง่ายนัก และต้นทุนก็อาจจะไม่ได้ต่ำเสมอไป รวมทั้งยังต้องเข้าใจถึงผลกระทบที่จะตามมาอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ภาพใต้ท้องทะเลนี้มาจากบริเวณที่เรียกว่า เขตพื้นที่คลาเรียน คลิปเปอร์ตัน (Clarion Clipperton Zone: CCZ) ซึ่งเป็นพื้นที่ประมาณ 4.4 ล้านตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่าอาณาเขตของประเทศไทย 8.5 เท่า) ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกกันว่าทะเลหลวง (High Seas) และบริเวณพื้นที่ (The Areas) ใจกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก

ภาพ 2: เขตพื้นที่คลาเรียน คลิปเปอร์ตัน (Clarion Clipperton Zone: CCZ)
ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Clipperton_Fracture_Zone#/media/File:Location_of_the_Clarion_Clipperton_Zone.png

พื้นที่ทะเลหลวงคือพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปนอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) และบริเวณไหล่ทวีป นั่นหมายถึงระยะทางมากกว่า 200 ไมล์ทะเล หรือมากกว่า 370.4 กิโลเมตรนอกชายฝั่ง และหากกล่าวถึงพื้นดินท้องทะเลอาจต้องหมายถึงพื้นที่ดินที่อยู่นอกเขตไหล่ทวีปที่เรียกว่า The Area ซึ่งห่างจากชายฝั่งมากกว่า 350 ไมล์ทะเล หรือกว่า 648.2 กิโลเมตร โดยทั้งทะเลหลวงและ The Area (พื้นดินท้องทะเลนอกเขตไหล่ทวีป) เป็นพื้นที่เปิดให้แก่รัฐทั้งปวง ไม่ว่ารัฐชายฝั่ง (coastal states) หรือรัฐไร้ฝั่งทะเล (landlocked states) ให้เสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation) เสรีภาพในการบิน (freedom of overflight) เสรีภาพในการทำประมง (freedom of fishing) รวมทั้งการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ นั่นทำให้ต้องมีหน่วยงานระหว่างประเทศเข้ามาทำหน้าที่ดูแล เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ ซึ่งรวมถึงการอนุรักษ์พื้นที่เหล่านี้เอาไว้ เนื่องด้วยความเปราะบางของระบบนิเวศในพื้นที่ทะเลลึกเหล่านี้ซึ่งเรามีองค์ความรู้น้อยมาก

เขตพื้นที่ CCZ ไม่ใช่เพียงพื้นที่เดียวในโลกที่มีศักยภาพ แต่หากพิจารณาในแผนที่ต่อไปนี้ จะเห็นได้ว่า พื้นที่ศักยภาพที่สามารถพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญในอนาคต ยังมีกระจายทั่วทั้งโลก พื้นที่ศักยภาพสูงเหล่านี้อยู่ในระดับความลึกตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป เป็นพื้นที่ที่มีแร่โลหะก้อนโพลีเมทัลลิก (Polymetallic Nodule) ที่มักกระจุกตัวอยู่รอบๆ บริเวณปล่องน้ำร้อนมหาสมุทรที่ความลึก 1,400-3,700 เมตรใต้ทะเล การก่อตัวของแหล่งซัลไฟด์ขนาดใหญ่ (massive sulfide) หมายถึงพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสินแร่ต่างๆ อาทิ เงิน ทอง ทองแดง โคบอลต์ แมงกานีส และสังกะสี แต่ในเมื่อส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีใครครอบครองและเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ แล้วใครจะทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์ รวมทั้งระงับข้อพิพาท ตลอดจนสร้างสรรค์เครื่องมือต่างๆ ในการป้องกันไม่ให้สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศถูกทำลายเกิดกว่าที่ธรรมชาติจะรับสภาพได้

นั่นจึงทำให้ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) มีการก่อตั้งองค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority: ISA) ขึ้นมาในปี 1994 และมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงคิงส์ตัน เมืองหลวงของประเทศจาเมกา โดยตลอดเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ISA ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาใต้ทะเลลึก หากมีการเปิดพื้นที่ให้มีการทำเหมืองใต้ทะเลได้ โดยอาศัย CCZ เป็นพื้นที่ศึกษา ซึ่งแน่นอนว่าต้องการองค์ความรู้ชั้นสูง เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก และที่สำคัญที่สุดคือเงินทุนสนับสนุน (ISA ได้รับเงินทุนสนับสนุนเพียงปีละ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ในปี 2022) ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เรายังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศที่เปราะบางและซับซ้อนนี้น้อยจนเกินไป ใครจะไปรู้ว่าหากมีการไปรบกวนให้เกิดการปนเปื้อน ทำลายระบบนิเวศเหล่านี้ หายนะใดจะเกิดขึ้นบ้าง รวมทั้งหากเชื้อโรคที่ซ่อนตัวอยู่ในทะเลลึกเหล่านี้ถูกดึงขึ้นมาบนพื้นผิวพร้อมกับสินแร่ จะมีหลักประกันอะไรทำให้เราแน่ใจได้ว่า การระบาดครั้งใหญ่จะไม่เกิดขึ้น

ภาพ 3: แผนที่ของพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งทรัพยากรแร่สำคัญ
ที่มา: https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fmars.2017.00418/full

ในขณะที่การศึกษาและองค์ความรู้ยังไม่ได้รับการพัฒนาไปมากนัก รวมทั้งพื้นที่เหล่านี้ยังถูกกำหนดให้เป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ (common heritage of mankind หรือ res communis humanitatos, UNCLOS, Part XI, Section 2) ซึ่งหมายถึงหลักการที่ว่า การเข้าไปครอบครองและแบ่งพื้นทะเลที่อยู่นอกเขตอำนาจรัฐนั้นกระทำไม่ได้ จึงต้องมีกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับกิจกรรมการสำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนรวมนี้ โดยต้องมีการแบ่งผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งแยกตามสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศต่างๆ ต้องมีเสรีภาพในการเข้าถึง การใช้ และการเดินเรือ อีกทั้งการใช้พื้นทะเลต้องเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายในทางสันติเท่านั้น และจะต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ

แต่การวางแผนเพื่อจัดสรรพื้นที่ในการทำเหมืองกลับเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมๆ กับที่ภาคเอกชนและรัฐบาลของหลายประเทศก็พร้อมที่จะลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีได้เกิดขึ้นและมีการทดลองแล้ว โดยคาดว่าภายในปี 2025 การทำเหมืองในพื้นที่ใต้ทะเลจะเกิดขึ้น

โดยในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ISA ได้ทำสัญญาจัดสรรพื้นที่เพื่อสำรวจและพัฒนาต่อไปเป็นเหมืองแร่โลหะก้อนโพลีเมทัลลิก (Polymetallic Nodule) และซัลไฟด์ขนาดใหญ่ (Massive Sulfide) ไปแล้วกับองค์กรต่างๆ ของทั้งรัฐและเอกชน จำนวน 21 องค์กร ดังนี้

  1. Yuzhmorgeologya (รัสเซีย)
  2. Interoceanmetal Joint Organization (IOM) (องค์กรความร่วมมือระหว่างบัลแกเรีย คิวบา สโลวาเกีย สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ และรัสเซีย)
  3. รัฐบาลเกาหลีใต้
  4. China Ocean Minerals Research and Development Association (COMRA) (จีน)
  5. Deep Ocean Resources Development Company (DORD) (ญี่ปุ่น)
  6. Institut français de recherche pour l’exploitation de la mer (IFREMER) (ฝรั่งเศส)
  7. รัฐบาลอินเดีย
  8. Federal Institute for Geosciences and Natural Resources of Germany (เยอรมนี)
  9. Nauru Ocean Resources Inc (นาอูรู)
  10. Tonga Offshore Mining Limited (ตองกา)
  11. G-TECH Sea Mineral Resources NV (เบลเยียม)
  12. Marawa Research and Exploration Ltd (คิริบาส)
  13. Ocean Mineral Singapore Pte Ltd (สิงคโปร์)
  14. UK Seabed Resources Ltd (สหราชอาณาจักร)
  15. Cook Islands Investment Corporation (หมู่เกาะคุก)
  16. China Minmetals Corporation (จีน)
  17. China Ocean Mineral Resources Research and Development Association (จีน)
  18. รัฐบาลโปแลนด์
  19. Japan Oil Gas and Metals National Corporation (ญี่ปุ่น)
  20. Ministry of Natural Resources and Environment of the Russian Federation (รัสเซีย)
  21. Companhia De Pesquisa de Recursos Minerais (บราซิล)

Website Ship Expert Technology ได้ประเมินผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศใต้ทะเลไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

  • หายนะของโลกใต้น้ำที่ไม่อาจย้อนกลับ เครื่องจักรที่ขุดค้นแร่จะก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ เสียงรบกวนและแสงไฟ ส่งผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่และสิ่งมีชีวิตบริเวณก้นมหาสมุทรที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างร้ายแรงการไถหน้าดินขุดค้นแร่ก่อให้เกิดตะกอนฟุ้งกระจายเป็นวงกว้าง สามารถอุดตันระบบหายใจของเหล่าสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลได้ อีกทั้งการปล่อยสารพิษจากเรือของเหมืองแร่บนผิวน้ำก็จะเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลในบริเวณกว้างหลายร้อยหลายพันกิโลเมตรเลยทีเดียว
  • สิ่งมีชีวิตในทะเลลึกจะสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์อาศัยอยู่แค่ในพื้นที่จำเพาะใต้ทะเลเท่านั้น การทำเหมืองแร่จะทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยเพียงแห่งเดียวของมัน เท่ากับทำลายล้างสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นให้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ด้วยพื้นที่ก้นสมุทรเกิดจากการก่อตัวสะสมหลายล้านปี เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า มันจะสามารถฟื้นตัวกลับมาดังเดิมได้หรือไม่
  • สูญเสียพันธมิตรต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) สัตว์ทะเลและพืชใต้น้ำเป็นตัวช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้มหาสมุทร ทำให้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศช้าลง การที่เราไปรบกวนระบบนิเวศของมันอาจเป็นการรบกวนกระบวนการเหล่านั้นด้วยเช่นกัน
  • การทำลายห่วงโซ่อาหารทางทะเล ผลการวิจัยของกรีนพีซ (Greenpeace) พบว่าการขุดค้นแร่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์บางชนิด จนไปกระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบห่วงโซ่อาหาร
  • ทำลายล้างโลกที่น่าพิศวง ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้ค้นพบมัน การศึกษาโลกใต้น้ำนั้นเรียกได้ว่า เรายังแทบไม่รู้จักมันเลย มีสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่ถูกค้นพบหรือธรรมชาติที่เรายังไม่รู้จักมันด้วยซ้ำ มันคุ้มแล้วหรือที่จะทำลายโลกใต้น้ำเหล่านั้น ก่อนที่เราจะรู้จักมัน

เมื่อกล่าวถึงการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อีกหนึ่งความพยายามของมนุษย์ในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใต้ทะเลลึกก็เกิดขึ้น นั่นคือเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ซึ่งเป็นกระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ และ/หรือ ก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร โดยไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ พื้นที่เป้าหมายที่ต้นทุนต่ำที่สุดในการสร้างแหล่งกักเก็บก๊าซเหล่านี้คือหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่หมดอายุการใช้งานแล้ว หรือถูกดูดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจนหมดแล้ว เหลือเพียงกะเปราะช่องว่างขนาดใหญ่ที่เป็นโพรงใต้พื้นดินท้องทะเลในชั้นหินใต้ดิน แน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวจะทำให้มนุษย์สามารถป้องกันไม่ให้ก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลถูกปลดปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ

แต่กระบวนการดังกล่าวก็ต้องการแท่นอัดกลับ ซึ่งคล้ายๆ แท่นขุดเจาะน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติ แต่ทำงานในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือแทนที่จะดูดขึ้นมา กลับเป็นการอัดกลับเข้าไปโดยใช้ความดันที่ไม่สูงจนเกินไป และไปกักเก็บก๊าซเหล่านี้ในชั้นน้ำเกลือใต้ดิน ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องลงทุน รวมทั้งต้องมีระบบบริหารจัดการ การติดตาม และตรวจสอบก๊าซเรือนกระจกที่ถูกกักเก็บอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซเหล่านี้รั่วไหลออกมาและทำปฏิกริยากับน้ำทะเลจนกลายเป็นสารพิษที่ทำลายระบบนิเวศ

ในปัจจุบัน หากโครงการเหล่านี้อยู่ภายในทะเลอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งก็คงจะได้รับการดูแลตรวจสอบอย่างดีเพื่อจะป้องกันหายนะที่จะเกิดขึ้นกับประเทศตนเอง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ หากไปดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ในพื้นที่ทะเลหลวง หรือใน The Area ซึ่งมีองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่ได้มีศักยภาพเพียงพอในการจับตาเฝ้าระวัง ประเทศที่ต้องการคาร์บอนเครดิต โดยลงทุนต่ำและไม่มีธรรมาภิบาล ก็อาจไปดำเนินการโครงการ CCS ที่อันตรายและไม่มีมาตรฐาน

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากพิจารณาเพิ่มเติมในมุมของภูมิรัฐศาสตร์ เรายังจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โลกบาดาลหรือพื้นดินท้องทะเลที่อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่นำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ เพราะนี่คือพื้นที่ที่สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล หากแต่กลับมีการบังคับใช้กฎหมายที่แทบจะทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะหากพิจารณารายชื่อประเทศที่เข้าคิวขอใช้พื้นที่ส่วนกลางเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตนแล้ว เราจะพบว่า มหาอำนาจที่มีทั้งทุนทรัพย์ เทคโนโลยี และความต้องการแร่ธาตุเหล่านี้มหาศาลกลับไม่ได้รวมอยู่ในรายชื่อดังกล่าวด้วย ซึ่งประเทศนั้นคือสหรัฐอเมริกา

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลจัดสรรพื้นที่อย่าง ISA เกิดขึ้นจาก UNCLOS ซึ่งต้องอย่าลืมว่า ถึงแม้จะมีประเทศภาคีที่ให้สัตยาบันเพื่อให้ UNCLOS มีผลบังคับใช้แล้วถึง 168 ประเทศ แต่สหรัฐอเมริกายังไม่ได้ร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล นี่จึงอาจเป็นชนวนความขัดแย้งที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ก้นทะเลลึกกลายเป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งทั้งต่อระหว่างรัฐต่อรัฐ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติต่อไป


เอกสารอ้างอิง

References
1 อ่านเพิ่มเติมได้ทาง Cyberspace: ภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจใหม่ และความขัดแย้งในอนาคต https://www.the101.world/cyberspace-geo-political-economy/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save