fbpx

เจาะกระแส มองอนาคต Cryptocurrency กับ สถาพน พัฒนะคูหา

กระแสสกุลเงินคริปโต (Cryptocurrency) กำลังร้อนแรงจนเป็นที่จับตาของแวดวงเศรษฐกิจทั่วโลก ด้วยมูลค่าตลาดรวมที่พุ่งทะลุ 2.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ตลอดปีที่ผ่านมา หลายสกุลเงินก็กำลังพากันทำมูลค่าทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

101 ชวน สถาพน พัฒนะคูหา CEO และผู้ก่อตั้ง Smart Contract Blockchain Studio มาร่วมพูดคุยถึงหลากหลายกระแสของโลก Cryptocurrency พร้อมมองอนาคตและความท้าทาย เมื่อสกุลเงินดิจิทัลกำลังขยับขยายอิทธิพลในแวดวงเศรษฐกิจ และคืบคลานเข้าสู่ชีวิตผู้คนในหลายมิติมากขึ้น


YouTube video


:: รู้จัก Cryptocurrency I’m ::


เงินคริปโต


ปัจจุบันเราใช้เงินที่เรียกว่า fiat currency เป็นเงินที่รัฐบาลสั่งว่า ‘นี่คือเงิน’ ถ้าดูวงจรการกำเนิดและการใช้งาน ในประเทศไทยมี พ.ร.บ.เงินตรา กำหนดว่าต้องมีเงินสำรองเท่าไหร่เพื่อออกเงิน เมื่อเงินออกมาแล้ว ต้องไปอยู่ที่ธนาคารก่อน แล้วเราค่อยไปเอาเงินที่ธนาคารผ่านการถอนเงินหรือโอนเงินไปที่ต่างๆ ส่วนธนาคารมีหน้าที่บันทึกการใช้งานว่าเลขบัญชีนี้ถอนเงิน โอนเงินไปเท่าไหร่ เมื่อก่อนเราไม่สามารถโอนเงินข้ามธนาคารกันได้ หรือถ้าโอนต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ปัจจุบันไม่เสียแล้ว เพราะมีตัวกลางเป็นบริษัท National ITMX ให้บริการพร้อมเพย์ หรือมีบริษัทให้บริการโอนเงินข้ามประเทศ

ในวงจรของเงินแบบ fiat currency ทั้งในเชิงกายภาพและดิจิทัลต้องผ่านตัวกลางจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะนาคาร ไม่ว่าธนาคารกลางที่เป็นตัวกลางออกเงิน ธนาคารพาณิชย์บันทึก transaction ที่เกิดขึ้น หรือมีเครือข่ายที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางของตัวกลางอีกที ตัวกลางเหล่านี้ต้องทำให้ทุกคนเชื่อถือว่าทำหน้าที่ได้ถูกต้อง ไม่ผิดพลาด

แต่ Cryptocurrency ต่างออกไป คือใช้ Blockchain เป็นตัวกลางแทน ตั้งแต่การสร้างเงิน บันทึกธุรกรรมทางการเงิน โอนย้ายเงิน ก็ทำบน Blockchain ซึ่งในเทคโนโลยี Blockchain มีเทคโนโลยีหลายอย่าง แต่หลักๆ ที่ใช้คือเทคโนโลยี Cryptography เราถึงเรียกเงินสกุลนี้ว่า Cryptocurrency

Cryptocurrency ทำได้หลายอย่าง หนึ่งคือเป็นที่เก็บรักษามูลค่า (store of value) สังเกตได้ว่าช่วงหลังๆ มีกองทุน บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แบ่งเงินมาถือใน Cryptocurrency ก็พิสูจน์ได้ว่าคนยอมรับข้อนี้ สองคือเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) แต่ยังทำได้ไม่ดีมากนัก อีกคุณสมบัติคืออาจชำระหนี้ได้ในอนาคต


:: DeFi กับการเปลี่ยนโลกเศรษฐกิจและธนาคาร ::


DeFi คือ


DeFi คือ Decentralized Finance เป็นการใช้ DApps สร้างบริการด้านการเงินบน Blockchain ครึ่งหนึ่งของ DeFi เป็นการให้บริการทางการเงินในรูปแบบปกติ แต่เมื่อบริการดังกล่าวมาอยู่บนโลก decentralize แล้วก็สามารถเกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ๆ ได้อีก

ปัจจุบันมีการทำระบบแลกเงิน หรือ SWAP เช่น ถ้าเรามีเหรียญ A แต่อยากใช้เหรียญ B เราสามารถใช้บริการ SWAP ซื้อขายแลกเงิน หรือสามารถนำเงิน A ไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อยืม B มาใช้ก่อนได้ ใช้ B เสร็จ ก็นำไปคืนเพื่อถอน A กลับมา ต่างจากธนาคารหรือคนให้บริการทางการเงินต่างๆ ที่ต้องมีเงินติดตัวเพื่อแลกเงิน พอเป็น DeFi ใครก็สามารถกู้ยืมเงินได้ เกิดระบบเศรษฐกิจที่เราเรียกว่า Lending Pool หรือ Farming ต่อได้อีก

สิ่งที่ DeFi จะมาเปลี่ยนโลกธนาคารคือ Open Finance เนื่องจากโลก Cryptocurrency อยู่บนเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเปิด มีความโปร่งใส ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ฉะนั้นจึงเป็นระบบไฟแนนซ์ที่ใครก็ได้สามารถเข้ามาสร้างระบบ จินตนาการระบบการเงินที่ดีกว่า หรือเจาะกลุ่มที่ธนาคารมองว่ามีผู้ใช้งานนิดเดียวไม่คุ้มค่าการลงทุนบริการ แต่มากพอจะสนับสนุนระบบนี้

มันจะเข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดของธนาคาร ซึ่งธนาคารก็มีการปรับตัวเข้าหาสิ่งนี้แตกต่างกัน เช่น บางธนาคารลงทุนในบริษัททำ DeFi Cryptocurrency หรือบางธนาคารก็ลงมือทำเอง จนเกิดเป็นศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า CeDeFi จากเดิมมี Centralize Finance เป็นโลกการเงินที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน DeFi คือ Decentralize นี่คือ CeDeFi เป็นคนที่เป็น Centralize ใช้วิธีแบบ DeFi


:: เจาะกระแสร้อน คริปโตมาแรง ::



การที่ราคา Cryptocurrency ขึ้นมาอย่างรุนแรง รวดเร็ว และได้รับการยอมรับมากในขณะนี้ ผมว่ามันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระดับโลก เพราะถ้าเราย้อนดู จะเห็นว่าคนกลุ่มหน้าใหม่ที่เข้ามาลงทุนในคริปโตส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน เป็นกองทุน หรือบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาซื้อมากขึ้น ช่วงประมาณกลางปีที่แล้ว เราจะเริ่มเห็นเทรนด์หนึ่งในบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์การลงทุน บอกว่าให้แบ่งพอร์ตการลงทุนส่วนหนึ่งมาถือ Cryptocurrency บ้าง ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาของตลาด Cryptocurrency ทั้งมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) ทั้งราคาขึ้นไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงปลายปีถึงตอนนี้

มันทำให้เห็นว่าความเสี่ยงของสินทรัพย์อื่นเพิ่มสูงขึ้น อย่างที่เราทราบกันดีว่าความเสี่ยงในการลงทุน Cryptocurrency ค่อนข้างสูง แต่การที่เขามาลงทุนตรงนี้ส่วนหนึ่งย่อมเป็นเพราะความเสี่ยงอื่นๆ สูงขึ้น จนทำให้คริปโตเริ่มคุ้มค่าที่จะลงมากขึ้น อย่างที่สองคือแสดงให้เห็นถึงการยอมรับคุณสมบัติเก็บรักษามูลค่า (store of value) ของ Cryptocurrency โดยคนเชื่อว่ามันอาจจะเสี่ยง แต่อย่างน้อยในระยะยาวก็สามารถสะสมมูลค่าเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต

ผมคิดว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงฝั่งเทคโนโลยีตามมาด้วย เพราะเทคโนโลยีนี้ได้รับการยอมรับ มีคนเข้ามามากขึ้น กลายเป็นว่าภาคธุรกิจก็จะยอมรับมากขึ้น ทั้งในแง่การรับเอา Cryptocurrency ไปเป็นสกุลเงินซื้อขาย หรือนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้งานในภาคธุรกิจ

แต่ในการเปลี่ยนแปลงนี้ก็นำปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย เช่น เมื่อมีเงินลงทุนเข้ามามากขึ้น ก็ทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังไม่เข้าใจความเสี่ยงเหล่านี้ดีมากนักเข้ามา แล้วซื้อตามข่าว ตามคนดัง หรือซื้อโดยไม่เข้าใจวิธีการดูแลรักษาความปลอดภัยคีย์ของตัวเองเกิดขึ้นได้


:: คริปโตลดความเหลื่อมล้ำ(?) ::


คริปโต เหลื่อมล้ำ


Cryptocurrency หรือ DeFi ให้ประกันเรื่อง democratize service ใครก็ได้สามารถเข้ามาเปิดใช้บริการได้ เช่น เราเปิดบัญชีโดยไม่ต้องมีเงินเลยแม้แต่บาทเดียวก็ได้ กี่บัญชีก็เปิดได้ คนอยู่ไกลไม่ต้องเดินทาง แค่มีอินเทอร์เน็ตก็พอแล้ว สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้  

แต่สิ่งที่ตามมาคือคนที่จะเข้าถึงสิ่งนี้ได้ต้องมีอินเทอร์เน็ต มีอุปกรณ์ เช่น มือถือ โน้ตบุ๊ก เพื่อเข้าถึงบริการ และที่สำคัญ ต้องมีเวลาที่จะมาศึกษาทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ผมจึงมองว่ายังอีกห่างไกลพอสมควรกว่าเทคโนโลยี Cryptocurrency, DeFi หรือ NFT จะมาเติมเต็มเรื่อง democratize financial service แต่ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะแปลว่าอย่างน้อยเรามีเครื่องมือที่ให้บริการทางการเงินในต้นทุนที่ต่ำลง และทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น นี่น่าจะเป็นอีกสเต็ปหนึ่ง และในระยะยาว ผมเชื่อว่าจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำที่ดีได้ด้วยเทคโนโลยีนี้


:: ความท้าทายในการกำกับดูแล ::


กำกับดูแลคริปโต


เทคโนโลยี Cryptocurrency ไม่มีข้อผูกมัดว่าต้องทำในไทยเท่านั้น ผมสร้าง service DeFi ตัวหนึ่ง ใครบนโลกก็ใช้ได้ หรือในขณะเดียวกัน มีชาวต่างชาติหรือใครสักคนอยู่บน Blockchain แล้วสร้าง service DeFi มา ผมอยู่ประเทศไทยก็ใช้ได้ตราบใดที่เครือข่าย Blockchain เชื่อมโยงถึงกัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าตราบใดที่มีอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้

ความท้าทายคืออำนาจในการกำกับดูแลที่ขึ้นอยู่กับขอบเขตของประเทศหรือขอบเขตของอำนาจรัฐจะไม่สามารถข้ามไปควบคุมประเทศอื่นหรือตามไปปิดกั้นได้ ทำให้วิธีคิดในการกำกับดูแลอาจต้องเปลี่ยนไป เพราะไม่ได้กำกับด้วยขอบเขตประเทศแล้ว เราจะป้องกันอย่างไร ในเมื่อแง่หนึ่งก็ไม่ใช่การหลอกลวงด้วย คนในประเทศเรารับรู้ว่าเขาอยู่ต่างประเทศ รู้ว่าเสี่ยงแต่ก็เต็มใจวิ่งไปใช้บริการแบบเสี่ยงๆ ทั้งที่เราบอกแล้วว่าเราไม่สามารถตามไปปกป้องคุ้มครองคุณได้

อีกความท้าทายหนึ่งคือเทคโนโลยีเปลี่ยนไปรวดเร็วมาก ก่อนหน้านี้ ถ้าเราย้อนกลับไป 2-3 ปีก่อน จะมีช่วง ICO (Initial Coin Offerring) บูม หรือการคิดโปรเจกต์ Blockchain ขึ้นแล้วนำมาระดมทุนผ่านตัว Blockchain สิ่งนี้มีผลต่อคนทั่วไป เพราะเป็นการระดมทุนจากคนที่อาจไม่ได้มีความรู้หรือเข้าใจความเสี่ยงเรื่องเทคโนโลยีมากนัก บางคนถูกหลอกลวงให้ลงทุนในโปรเจกต์ที่เชิดเงินหนี ผู้กำกับดูแลก็ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมา พอตั้งเสร็จ คนกลับเลิกทำ ICO ไปแล้ว ทุกวันนี้คนหันมาทำ DeFi, Initial Farm Offering หรือ Launch Pool อื่นๆ กฎเกณฑ์นั้นจึงไม่มีประโยชน์อะไร

ฉะนั้น ผู้กำกับดูแลอาจต้องมองว่าจะดูแลสิ่งนี้ที่ทำได้ยากมากอย่างไร และอีกประเด็นคือจะดูแลอย่างไรไม่ให้ปิดกั้นนวัตกรรม ถ้าปิดกั้น เราอาจจะปกป้องคนกลุ่มหนึ่งที่อาจเป็นเหยื่อ แต่จะเกิดการหาประโยชน์จากความแตกต่างในการกำกับดูแล (Regulatory Arbitrage) และสร้างอีกปัญหาหนึ่งคือบริษัทหรือทีมงานที่มีศักยภาพออกไปต่างประเทศเพื่อจดทะเบียน เพราะหลายประเทศมีกฎหมายที่เฟรนด์ลี่กับคริปโตมาก เช่น มอลตา ลักเซมเบิร์ก สิงคโปร์ อังกฤษ

นอกจากนี้ ความเสี่ยงบนโลกเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ได้จำกัดแค่ BlockChain หรือคริปโต หน้าตามันเปลี่ยนไปทุกวัน เพราะฉะนั้น ผู้กำกับดูแลต้องเข้าใจความเสี่ยงรูปแบบใหม่ คิดใหม่ และไม่ปิดกั้นนวัตกรรม 

ตอนนี้ผู้กำกับดูแลหลายประเทศใช้วิธีทำ sandbox คือเปิดกระบะทรายให้คนมาทดลอง เพื่อจำกัดความเสียหายแล้วเขามอนิเตอร์ได้ด้วยว่าเทคโนโลยีนี้จะสร้างความเสี่ยงแบบใหม่ขึ้นมาอย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่ง sandbox ที่ดีก็ไม่ควรเข้ายากหรือออกยากจนเกินไป ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการกีดกันคนตัวเล็กๆ ที่มีความสามารถแต่ไม่มีแรงทำรีพอร์ตส่งทุกเดือน หรือต้นทุนการเข้าถึง sandbox ที่สูงจะเกินไปทำให้สุดท้ายคนหนีไปประเทศอื่นอยู่ดี


:: อนาคตคริปโตที่โตได้มากกว่านี้ ::


อนาคตคริปโต


ผมเชื่อว่าอนาคตคริปโตจะเป็นทางเลือกในการลงทุนมากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ วิธีการใช้งานมันยังค่อนข้างยาก วิธีการประเมินความเสี่ยง การหาขนาดของตลาด หรือการจัดการความเสี่ยงบน Cryptocurrency หรือ DeFi หรืออื่นๆ ยังไม่สมบูรณ์มากนัก ผมมองว่าในอนาคต การเปลี่ยนแปลงคือน่าจะเป็น investment grade มากกว่านี้ เพราะเงินที่อยู่บนโลก DeFi ยังเล็ก เราอาจจะเห็นว่ามันใหญ่ เห็นว่าเติบโตรวดเร็ว แต่ถ้าเปรียบเทียบกับปริมาณเงินในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดทองคำ ตลาดตราสารอนุพันธ์ ยังห่างไกลอีกมาก

ฉะนั้น ถ้า Cryptocurrency อยากโตมากกว่านี้ มันจำเป็นต้องมีความเป็น investment grade มากกว่านี้เพื่อให้คนที่มองว่ามีความเสี่ยงสูงมากเกินไปสามารถเข้ามาลงทุนในตลาดของคริปโต และ DeFi ได้ ซึ่งจะทำให้มูลค่าตามราคาตลาด (market cap) จำนวนผู้ใช้งานมากขึ้น นำมาสู่เรื่องการใช้งานในชีวิตจริง

ทุกวันนี้คริปโตและ DeFi ยังไม่หลอมรวมเข้ากับโลกจริงมากนัก สุดท้ายต้องแลกกลับมาเป็นเงินบาท ต่อให้ร้านค้าบางร้านบอกว่ารับคริปโต แต่เวลาไปซื้อวัตถุดิบมาขาย จ่ายภาษี ก็ยังต้องใช้เงินบาทอยู่ เพราะฉะนั้น การหลอมรวมกันระหว่างโลก off-chain กับ on-chain ยังไม่สมบูรณ์มากนัก แต่มี Blockchain หลายโปรเจกต์พยายามเชื่อมโลกสองโลกนี้ และมีรัฐบาลหลายประเทศพยายามทำ เช่น เกาหลีใต้ ที่ตั้งเมืองปูซานเป็นสมาร์ตซิตี้ และทดลองนำคริปโตมาใช้ในเมืองได้ ซึ่งเป็นมูฟเมนต์ที่น่าสนใจ

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save